ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    นักเรียนหมอขอเมาท์

    ลำดับตอนที่ #12 : เมาท์เรื่องเรียน : ภาษาอังกฤษ ม.ปลาย

    • อัปเดตล่าสุด 6 มิ.ย. 53


    วิชาภาษาอังกฤษ ม.ปลาย


                ภาษาอังกฤษถือว่าเป็นอะไรที่สำคัญสำหรับตอนนี้มากที่สุด เพราะว่าโลกเราตอนนี้เปิดกว้างมากด้วยระบบการสื่อสารแบบทั่วโลกทำให้ต้องมีอะไรที่เป็นกลางใช้ในการสื่อสาร  “ภาษาอังกฤษ” ก็เหมือนกับภาษาที่เป็นกลางใช้ติดต่อสื่อสารได้กับคนทั่วทั้งโลกให้เราได้เข้าใจกัน ดูท่าทางเป็นทางการมากเลย แต่มันก็จริงอย่างที่ว่านะครับ เพราะว่าถ้าเราไม่รู้ภาษาอังกฤษ ก็แทบจะบอกได้เลยว่าเราเสียเปรียบคนที่เก่งอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง เพราะภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ใช้ได้ไปจนวันตายเลยนะน้องๆ และก็เอาไปใช้ได้ทุกเวลาด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งการเรียนหมอก็จะต้องมีการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน ไม่ว่าจะเป็นศัพท์เฉพาะทางการแพทย์ หรือการอ่านบทความ หรือหนังสือที่ทั้งหมดล้วนแต่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยทำให้เราเข้าใจรายละเอียดได้อย่างชัดเจนที่สุด ^^

                เรามาเริ่มกันที่เนื้อหาของวิชาภาษาอังกฤษกันเลยดีกว่า ... ตามปกติแล้วการเรียนภาษาอังกฤษของแต่ละโรงเรียนนั้นจะแตกต่างกันไปตามเนื้อหาที่โรงเรียนต้องการเน้น แต่ถ้าเรามาดูกันจริงๆ ภาษาอังกฤษก็แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ที่เราจะได้เรียนกัน นั่นก็คือ



    1 )
    Reading >> “การอ่าน” ไม่ว่าจะเป็นอ่านคำศัพท์ อ่านบทความ อ่านประโยค นอกจากอ่านได้แล้วก็ต้องแปลความหมายได้ด้วย ดังนั้นในส่วนนี้เราก็จะมารู้จักคำศัพท์ต่างๆ มากมายที่โถมเข้ามาทุกวัน และต้องหัดที่จะตีความว่าผู้เขียนต้องการจะสื่อสารอะไรกับคนอ่าน




    2 ) Writing >> “การเขียน” ในส่วนนี้เราก็จะรู้จักการแต่งประโยคขึ้นมา หรือในบางทีก็แต่งบทความขึ้นมาดังนั้นสิ่งที่เราควรรู้ก็คือ Grammar หรือไวยากรณ์นั่นเอง ว่าคำไหน ประโยคไหน จะต้องใช้ Grammar อย่างไรจึงจะถูกต้อง ทำให้คนอ่านหรือคนฟังเข้าใจ



    3 ) Listening >> “การฟัง” เกิดขึ้นจากการที่เรารู้ความหมายจากการอ่าน และ การเขียนมาก่อนก็จะพัฒนามาสู่การฟังที่เราจะต้องฟังให้ออกว่า คนพูดต้องการจะสื่อสารอะไรกับเราบ้าง ต้องการอะไรจากเรา เป็นทักษะที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันมากเลย อย่างเช่น ดูหนังต่างประเทศเราก็แทบไม่ต้องเหล่ตามองดู Subtitle เลย (แต่พี่ก็ยังคงมองเกือบทั้งเรื่อง - -) หรือการฟังเพลงทำให้เราเข้าใจความหมายของเพลงได้ รวมถึงการฟังข่าวภาษาต่างประเทศทำให้เราก้าวตามทันโลก



    4 ) Speaking >> “การพูด” ทีนี้จากที่เราเป็นฝ่ายรับอย่างเดียว ก็ถึงเวลาเป็นผู้สื่อสารออกไป
    เองบ้าง น้องบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ระหว่างเดินเที่ยว รอรถเมล์แล้วมีฝรั่งมาถามทางบ้าง ถ้าเรามีทักษะในส่วนนี้เราก็จะสามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนที่ยากมาก เพราะเราจะต้องมีทักษะทั้งการฟังที่ดี และการเข้าใจความหมายจากทักษะอื่นๆ ข้างต้นด้วยเช่นกัน

                ทั้งหมดที่พี่พูดมาล้วนแต่ใช้ทักษะหลักๆ คล้ายกันคือความรู้ในเรื่องของ “คำศัพท์ (Vocabulary)” และ “ไวยากรณ์ (Grammar)” ทั้งสิ้นเพราะฉะนั้นน้องๆ ก็ควรที่จะรู้เรื่อง Grammar ว่าภาษาอังกฤษมีการใช้อย่างไร ได้บ้างคำไหนต้องอยู่กับคำไหน และ Vocabulary ที่รู้ว่าคำไหนแปลว่าอะไร เพื่อจะนำทักษะทั้งสองนี้ไปใช้ได้อย่างถูกต้องดังนั้นเราก็ต้องหาวิธีที่จะ พิชิตทั้ง Vocabulary และ Grammar ให้ได้ก่อนนั่นเอง

                เริ่มกันที่ “Grammar” หรือ ไวยากรณ์กันก่อนเลยอย่างที่พี่บอกก็คือ จะเป็นวิธีการใช้คำเพื่อมาทำให้เป็นประโยคอย่างถูกต้องแล้วก็สมบูรณ์ วิธีที่ดีที่สุดนั้นก็คือให้เราลองจำเป็นประโยคตัวอย่างไปเลย แล้วเวลาเราจะเอามันมาใช้ก็ให้นึกว่าตรงส่วนไหนมันคือคำชนิดใด ต้องวางไว้ตรงไหนของประโยค ก็จะช่วยได้มากขึ้น แต่พี่ก็ยังคิดว่า Grammar บางทีก็ต้อง “ถึก” ท่องมันไปเลย เพราะไม่ยากและไม่มากเท่ากับ “Vocabulary” ที่มีจำนวนมากมายหลายล้าน ไหนจะต้องจำตัวสะกดต่างกันไม่มากก็จะเปลี่ยนความหมายไปซะแล้ว หรือ คำที่ความหมายเหมือนกันอีกมากมายพี่มีวิธีมาแนะนำน้องๆ ดังนี้ คือ

                            วิธีแรก  “จำเป็นกลุ่ม”     วิธีนี้คือให้น้องเอาคำที่ความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันมาอยู่ไว้ในกลุ่มเดียวกันแล้วเราก็ลองท่องไปเป็นกลุ่มๆ ที่ความหมายมันใกล้ๆ กัน อาจจะเอามาเรียงให้จังหวะสอดคล้องกันเพื่อความง่ายในการจำก็จะยิ่งดีมาก แล้วพอเราเจอคำศัพท์พวกนั้นในบทความหรือข้อสอบเราก็จะได้ความหมายของคำศัพท์เหล่านั้นอย่างแน่นอน  

                            วิธีที่สอง  “รากศัพท์”    วิธีนี้แทนที่น้องๆ จะใช้การท่องอย่างเดียว เราก็มาลดภาระของการท่องด้วยการเดา การเดาคำศัพท์นี้ใช้ได้เพราะคำศัพท์ภาษาอังกฤษประกอบด้วยรากศัพท์ และคำนำหน้าและคำลงท้าย (Prefixes & Suffixes) กลายเป็นคำศัพท์ ถ้าเรารู้จักรากศัพท์ รู้จักคำหน้าและคำลงท้ายแล้ว ความหมายของคำศัพท์ก็ง่ายมากที่จะเดาได้


                เมื่อเราพร้อมแล้วเราก็มาเจอกับข้อสอบกันเลยดีกว่าส่วนใหญ่แล้วข้อสอบไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็จะไมได้เน้น Listening เท่าไหร่ (ยกเว้นบางกรณี) ส่วน Speaking ก็จะมาในรูปแบบบทสนทนา (Conversation) ก็มีไม่มากเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเน้นไปทาง Reading และ Writing มากกว่า เราลองมาดูกันเลย . . .

    1)
    Reading Comprehension  คือส่วนที่ข้อสอบจะเป็นบทความความยาวหลายย่อหน้ามากๆ แล้วจะมีคำถามต่างๆ เกี่ยวกับบทความที่ให้ เช่น Main idea ของเรื่องคืออะไร หรือให้คนอ่านลองคิดต่อด้วยตัวเอง หลักการพิชิตข้อสอบแบบนี้คือการจับใจความ ซึ่งแต่ละย่อหน้าส่วนใหญ่แล้ว (เน้นนะครับว่าส่วนใหญ่) จะอยู่ที่ประโยคแรก หรือ ประโยคสุดท้ายของย่อหน้านั้นๆ จะช่วยทำให้เราเข้าใจเรื่องได้ง่ายขึ้นแล้วเราค่อยกลับมาอ่านรายละเอียดในแต่ละย่อหน้าอีกครั้งหนึ่ง
    แต่น้องอาจจะมีปัญหาเรื่องคำศัพท์อีก พี่แนะนำว่าให้น้องอ่านแบบผ่านๆ ไม่ต้องเจาะคำศัพท์ทีละตัว คำศัพท์ไหนไม่รู้จักก็ให้ลองอ่านประโยครอบๆ จนจบบางทีก็อาจจะช่วยทำให้เดาคำศัพท์คำนั้นได้เลยด้วยซ้ำไป ^ ^
       
    2) Error Identification  ข้อสอบส่วนนี้ถือว่าเป็นส่วนปราบเซียนมากที่สุดยิ่งในบางที่จะให้หาจุดผิดแล้วแก้ด้วยยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก ส่วนใหญ่แล้วข้อสอบประเภทนี้จะเน้นไปทางด้าน Grammar มากที่สุดโดยข้อสอบจะให้ประโยค มาแล้วจะมีจุดผิด 1 ตำแหน่ง ให้เราเลือกว่าข้อไหนเป็นการใช้ที่ผิดหลัก Grammar ดังนั้นเราก็ต้องหมั่นดูวิธีการใช้ Grammar อย่างที่พี่แนะนำไปแล้วในตอนต้นนะครับ

    3) Vocabulary  ในส่วนนี้ข้อสอบอาจจะออกแบบให้เติมคำลงในช่องว่าง หรืออาจจะให้คำหลักมาแล้วบอกว่าคำที่ความหมายเหมือนกับคำที่ให้มาคือคำไหน หลักการทำก็อย่างที่กล่าวมาข้างต้นนะครับว่า ถ้ารู้จักศัพท์เราก็จะทำได้เลยแต่ถ้าเราไม่รู้จักศัพท์ในตัวเลือกที่ข้อสอบให้มาก็ใช้วิธีการดูรากศัพท์เอานะครับ

    4) Conversation (Situation)  ข้อสอบแนวนี้จะให้สถานการณ์จำลองขึ้นมา หรือ การให้รูปการ์ตูน 2 – 3 ช่องให้เราเติมบทสนทนาให้ครบถ้วน สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ จุดประสงค์ของคู่สนทนาที่กำหนดมาให้ว่าอยู่สถานที่ไหน ต้องการอะไร และอยู่ในสถานภาพอะไร เช่น ลูกค้ากับคนขายของ  พ่อกับแม่   เพื่อนคุยกัน เพื่อให้เราเลือกใช้ประโยคในบทสนทนาได้อย่างถูกต้อง

                ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแนะนำ วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งอย่างที่บอกแล้วว่ามีความจำเป็นมากที่สุด ใช้ได้ยาวนานที่สุด และความรู้มีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่มีวันรู้จบเลย หวังว่าทั้งหมดที่พี่แนะนำคงจะพอช่วยทำให้น้องๆ ได้เทคนิคมากยิ่งขึ้นในการพิชิตวิชาภาษาอังกฤษนะครับ ยังไงพี่ก็อยากจะทิ้งท้ายให้น้องๆ ว่า ถ้าอยากทำให้ภาษาอังกฤษง่ายขึ้นเราก็ต้องหมั่นฝึกฝนอยู่บ่อยๆ นะครับ ลองหยิบหนังสือบทความภาษาอังกฤษมาอ่านบ้าง นั่งท่อง Grammar & Vocab. อยู่บ่อยๆ วันละ 2 – 3 คำ ถ้า 10 วันก็ 30 คำแล้วนะครับ พี่ก็ขอให้น้องโชคดีกับการเรียนการสอบทุกคนนะครับ ^^   


    นศพ.ปริ๊นเตอร์ประจำคณะ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×