คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการตัดเย็บ [1]
อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการตัดเย็บ
อุปกรณ์และเครื่องมือการตัดเย็บ เป็นสิ่งที่ช่วยให้งานตัดเย็บมีความละเอียด เรียบร้อย รวดเร็วและได้ผลดี อุปกรณ์และเครื่องมือที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ต้องมีการทำความสะอาด และควรเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อยู่เสมอ เพราะงานตัดเย็บต้องใช้ฝีมือ มีความละเอียดเรียบร้อย มีความประณีตและมีความเที่ยงตรงเป็นหลักสำคัญ ซึ่งการใช้และการถนอมเครื่องมือเป็นการฝึกนิสัยของคนเป็นช่างที่ดี ดังนั้นจึงควรรู้จักอุปกรณ์ทุกชนิด เพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมตามชนิดของผลงานและดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน ดังนี้
1. อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดตัวและการสร้างแบบ
การสร้างแบบตัดต้องใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง อุปกรณ์ที่ใช้วัด มีหลายชนิดที่มีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งออกแบบให้เหมาะกับงานเฉพาะอย่าง ได้แก่
1.1 สายวัด สายวัดที่มีขายในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด เช่น ผ้าเทป ไฟเบอร์กราส พลาสติก เป็นต้น สายวัดที่ดีควรทำด้วยวัสดุไม่ยืด ไม่หด สามารถใช้ได้ทั้งหลักนิ้วและ
วิธีการใช้ ใช้วัดตัวเพื่อทราบขนาดสัดส่วนของบุคคลและสร้างแบบเสื้อผ้า การอ่านสายวัดหลักนิ้ว แบ่งเป็น 8 ช่อง นิยมอ่านเป็นเศษส่วน ดังนั้น 1 ช่อง อ่านว่า เศษ 1 ส่วน 8, 2 ช่อง อ่านว่าเศษ 1 ส่วน 4, 3 ช่องอ่านว่า เศษ 3 ส่วน 8 เป็นต้น การอ่าน สายวัดหลักเซนติเมตร แบ่งเป็น 10 ช่อง นิยมอ่านเป็นทศนิยม ดังนี้ 1 ช่อง อ่านว่า .1, 2 ช่อง อ่านว่า .2, 3 ช่อง อ่านว่า .3, 4 ช่อง อ่านว่า .4, 5 ช่อง อ่านว่า .5 เป็นต้น
การเก็บดูแลรักษา ห้ามใช้สายวัดแทนเชือกผูกเอว เพราะจะทำให้สายวัดบิดเบี้ยว เสียรูปและควรเก็บรักษาสายวัดโดยวิธีการแขวน เพราะจะทำให้สายวัดอยู่ในสภาพเดิมไม่เสียรูป สะดวกต่อการใช้งาน
1.2 ไม้บรรทัด ที่ใช้งานตัดเย็บมี 3 ขนาด คือ ขนาดยาว 12 นิ้ว ขนาดยาว 18 นิ้ว และขนาดยาว 24 นิ้ว สำหรับไม้บรรทัดยาว 12 นิ้ว ใช้สำหรับขีดเส้นระยะสั้น เช่น เส้นไหล่ เส้นบ่า เป็นต้น ไม้บรรทัดยาว 18 นิ้ว และ 24 นิ้ว ใช้สำหรับ ขีดเส้นที่เป็นเส้นยาวในการสร้างแบบตัดเพื่อความสะดวก ควรมีไม้บรรทัดอย่างน้อย 2 อัน คือ ขนาดยาว 12 นิ้ว และขนาดยาว 18 นิ้ว หรือ 24 นิ้ว ไม้บรรทัดที่เป็นพลาสติกใสจะสะดวกต่อการใช้เพราะเห็นรอยเส้นด้านล่างชัดเจน
วิธีการใช้ ใช้สำหรับขีดเส้นในการสร้างแบบ
การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บโดยวิธีแขวน ถ้าเป็นไม้บรรทัดพลาสติกควรระวังไม่ให้เกิดรอยขูดขีด เพราะจะทำให้ตัวเลขระยะวัดเลือนหายไม่สามารถอ่านระยะวัดได้
1.3 ไม้ฉาก มีทั้งชนิดที่ทำด้วยไม้และพลาสติกใส มีความยาวตั้งแต่ 6 เซนติเมตรขึ้นไป มีหน่วยวัดข้างหนึ่งเป็นนิ้ว ข้างหนึ่งเป็นเซนติเมตรเช่นเดียวกับไม้บรรทัด
วิธีการใช้ ใช้สำหรับทำมุมที่ต้องการให้เป็นมุมฉาก หรือขีดเกรนผ้าบนแบบตัด
การเก็บดูแลรักษา ควรจัดเก็บในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บให้เรียบร้อย ถ้าเป็นไม้ฉากที่ทำด้วยพลาสติก ควรระวังรอยขูดขีดและการหัก
1.4 ไม้โค้งสะโพก ใช้ขีดเส้นสร้างแบบที่ต้องการส่วนโค้ง เช่น โค้งสะโพก ตะเข็บข้างของเสื้อและตะเข็บใต้ขากางเกง ควรเรียนรู้วิธีใช้ให้ถูกต้องจะช่วยให้การทำงานสะดวกและ รวดเร็วขึ้น ไม้โค้งสะโพกมีชนิดที่ทำด้วยไม้และพลาสติก ตรงปลายมีรูสำหรับแขวน
วิธีการใช้ ใช้ขีดเส้นสร้างแบบที่ต้องการส่วนโค้ง
การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บโดยวิธีร้อยเชือกแขวนไว้ข้างผนัง
1.5 ยางลบ ยางลบที่ใช้ควรมีคุณภาพดี สามารถลบรอยดินสอได้สะอาด ไม่ควรใช้ยางลบที่หัวดินสอเพราะลบไม่สะอาด
วิธีการใช้ ใช้ลบเส้นที่ต้องการแก้ไขขณะสร้างแบบตัด
การเก็บดูแลรักษา ควรเก็บไว้ด้วยกันกับดินสอใส่ไว้ในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ
1.6 ดินสอ ใช้สำหรับทำเครื่องหมายและขีดเส้นต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างแบบควรเหลาดินสอให้แหลมเพื่อความคมชัดของเส้น ไม่ควรใช้ดินสอที่ไส้อ่อนจนเกินไป จะทำให้ทู่เร็ว ดินสอที่ไส้แข็งเกินไปทำให้กระดาษสร้างแบบขาดได้ง่ายและมองไม่ชัดเจน
วิธีการใช้ ใช้ขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายในการสร้างแบบตัด
การเก็บดูแลรักษา ควรจัดเก็บไว้กับยางลบใส่ไว้ในกล่องอุปกรณ์การตัดเย็บ
1.7 กระดาษสร้างแบบ ควรใช้กระดาษสีขาวหรือสีน้ำตาล มีทั้งชนิดเนื้อบางและ
ชนิดเนื้อหนา ซึ่งมีขายตามร้านขายเครื่องเขียนและร้านขายอุปกรณ์การตัดเย็บ ราคาแผ่นละ 2-3 บาท มีขนาดกว้าง 79 เซนติเมตร ยาว 190 เซนติเมตร
วิธีการใช้ ใช้สำหรับสร้างแบบตัด
การเก็บดูแลรักษา ในกรณีที่ซื้อกระดาษจำนวนมาก ควรเก็บดูแลรักษาโดยการเก็บในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เปียกชื้น วางกระดาษตามแนวนอนโดยทับซ้อนกัน และอย่าให้กระดาษถูกแสง เพราะจะทำให้กระดาษเหลืองกรอบ
Qreaz. 10
ความคิดเห็น