ลำดับตอนที่ #1
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : ... ลิขสิทธิ์คืออะไร ? ...
ลิขสิทธิ์คืออะไร?
ลิขสิทธ์คือการแสดงความเป็นเจ้าของต่อชิ้นผลงานใดๆ ลิขสิทธิ์ของงานเขียน คือการแสดงสิทธิ์เป็นเจ้าของงานเขียนเหล่านั้น ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (มาตรา 8-10) เจ้าของงานเขียนจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นโดยอัตโนมัติ ยกเว้นงานเขียนนั้นเกิดจากการรับจ้างเขียน หรือได้มีการตกลงไว้เป็นอย่างอื่น
การเป็นเจ้าของลิขสิทธ์งานเขียน ทำอะไรได้บ้าง?
การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หมายถึง เรามีอำนาจ ในการอนุญาตให้มีการตีพิมพ์งานเขียนนั้นออกเป็นหนังสือ หรืออนุญาตให้เอางานเขียนนั้นไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ทำละคร ทำภาพยนตร์ เป็นส่วนหนึ่งของพลอตโฆษณา ตามที่ตกลงกันไว้กับผู้ขออนุญาตใช้สิทธิ์ และเรามีสิทธิ์คิดค่าอนุญาตแยกเป็นกรณีๆ ไป โดยไม่ผิดกฎหมาย เช่น อนุญาตให้พิมพ์หนังสือกับ สนพ. ก ก็จะมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์เฉพาะการพิมพ์ เมื่อหนังสือเล่มนั้นจะมีการดัดแปลงไปทำละคร ก็จะมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อทำละครกับบริษัทผู้ทำละครอีกต่างหาก โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ (หรือผู้เขียน)
ไม่ต้องขออนุญาต สนพ. ก ก่อน เนื่องจากเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในกรณีที่ต่างกัน
การโอนสิทธิ์ และการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์?
คำสองคำนี้ต่างกัน หากนักเขียนท่านใดทำสัญญาให้พิจารณาในเอกสารการทำสัญญาให้ถี่ถ้วน
การโอนสิทธิ์
หมายถึงการยกสิทธิ์ทั้งหมดในงานเขียนนั้นให้กับผู้ที่ได้รับโอน สิทธิ์ขาดภายหลังจากการโอนจะเป็นของผู้รับโอน มิใช่ของผู้เขียนอีกต่อไป ผู้รับโอนสามารถจะไป ดำเนินการใดๆ ก็ได้เสมือนเป็นเจ้าของสิทธิ์นั้นเอง
สำหรับคำว่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ์นั้น
หมายถึง การอนุญาตให้ผู้ได้รับอนุญาต (เช่น สนพ. ก) กระดำใดๆ ตามสัญญาเท่านั้น (เช่น อนุญาตให้พิมพ์เป็นหนังสือ) ภายในเวลาที่กำหนดในสัญญา หากหมดระยะเวลาสัญญาดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกอนุญาตไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อได้ อีก และสิทธิ์ก็ยังตกเป็นของผู้เขียนเช่นเดิม
ค่าลิขสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือ?
ค่าลิขสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือมีหลายแบบตามแต่ตกลงกัน สนพ.
โดยทั่วไปเท่าที่เจอก็มี 3 แบบ ดังนี้
1. เหมาจ่ายด้วยการซื้อสิทธิ์ขาดครั้งเดียว : สำหรับบาง สนพ. ที่มีชื่อไม่ดังนัก หรือโดยปกติจะพิมพ์แค่ครั้งเดียวของทุกๆ เล่ม มักจะขอซื้อ สิทธ์สิทธิ์ของการพิมพ์หนังสือนั้นขาดเพียงครั้งเดียว เป็นราคาเหมาจ่ายเพียงครั้งเดียว ราคาที่จ่ายจะคิดให้ประมาณ 10 % ของยอดขาย คูณด้วยจำนวนพิมพ์ เช่น ราคาเล่มละ 120 บาท พิมพ์ 3,000 เล่ม ราคาการซื้อสิทธิ์ขาดก็คือ 10% x 3,000 x 120 = 36,000 บาท
2. จ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามยอดขายจริง : โดยคิดค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 10-15 % ขึ้นกับความมีชื่อเสียงของนักเขียน และคำนวณค่าลิขสิทธิ์ จากยอดที่ขายได้ ส่วนใหญ่ สนพ. จะจ่ายเป็นรายเดือน หรือราย 3 เดือน เช่น หนังสือราคาขายเล่มละ 120 บาท จ่ายค่าลิขสิทธิ์ 10 % ใน 3 เดือนแรกขายหนังสือเราได้ 100 เล่ม ก็จะได้เงิน 10% x 100 x 120 = 1,200 บาท/3เดือน ซึ่งในอีก 3 เดือนต่อมา สนพ. ก็จะคำนวณยอดขายและเงินส่งให้เรามาอีกครั้ง ตามยอดขายจริงที่เราขายได้ ลักษณะการทำสัญญาแบบนี้จะดีในกรณีที่หนังสือขายได้มากๆ และผู้เขียนจะมีรายได้อย่างต่อเนื่อง
3. จ่ายค่าลิขสิท์ตามยอดพิมพ์ : โดยค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายจะประมาณ 8-10 % สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ และเกิน 10 % สำหรับนักเขียนที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และคำนวณการจ่ายเงินตามยอดที่พิมพ์ เช่น หนังสือราคาเล่มละ 120 บาท พิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 3,000 เล่ม และ ค่าลิขสิทธิ์ 10 % การจ่ายเงินในการพิมพ์ครั้งที่ 1 คือ 10% x 3,000 x 120 = 36,000 บาท และหากมีการพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 อีก ในจำนวนเท่าเดิม ก็จะได้รับค่าลิขสิทธิ์อีก 36,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการพิมพ์ซ้ำ ก็จะไม่รับค่าลิขสิทธิ์เพิ่ม
4. การคิดค่าลิขสิทธิ์แบบผสมผสาน : นักเขียนที่มีชื่อเสียง อาจทำการตกลงกัน สนพ. ด้วยการคิดแบบผสมผสานระหว่าง วีธีที่ 1 และ 3 ได้ โดยอาจจะมีค่าเหมาจ่ายในขั้นต่อ และค่าลิขสิทธิ์ที่คิดจากยอดพิมพ์อีกต่างหาก และ % นั้นสูงต่ำ ตามการตกลงกันระหว่าง สนพ. และนักเขียน
แบบไหนดีที่สุด?
บางครั้ง นักเขียนหน้าใหม่ก็ไม่สามารถเลือกได้ เพราะ สนพ. แต่ละ สนพ. จะมีนโยบายในการให้ค่าลิขสิทธิ์ที่ต่างกัน ตามความมีชื่อเสียง ของ สนพ. และหตุผลอื่นๆ แต่จากประสบการณ์แล้ว การตกลงตามแบบที่ 3 จะเป็นประโยชน์กับนักเขียน แต่ สนพ. อาจจะต้องรับความเสี่ยงในกรณีที่ หนังสือของเราพิมพ์แล้วขายไม่หมด
ค่าลิขสิทธิ์เรื่องสั้น
เรื่องสั้นมีวิธีการคำนวณลิขสิทธิ์ที่อาจจะแตกต่างจากเรื่องยาวบ้าง เนื่องจากเรื่องสั้น 1 เรื่องของนักเขียน จะต้องไปรวมกับของนักเขียนอื่นๆ ดังนั้นค่าลิขสิทธิ์โดยปกติจะคิดเป็นหน้า โดยมีอัตรา 15-20 หน้า ในราคา 2000-3000 บาท และอาจจะสูงกว่านี้หรือต่ำกว่านี้ ขึ้นอยู่กับ ชื่อเสียงของนักเขียน และ สนพ. บาง สนพ. จะไม่นิยมทำสัญญากับเรื่องสั้น และมักจะจ่ายเงินครั้งเดียว แต่บาง สนพ. ก็จะทำสัญญา และจ่ายใหม่ทุกครั้งที่มีการพิมพ์เพิ่ม ทั้งนี้ นักเขียนควรจะตกลงกัน สนพ. ก่อนที่จะพิมพ์ผลงาน
การละเมิดลิขสิทธิ์
ปัจจุบันการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนมีให้เห็นมากขึ้น มีข่าวคราวตามหน้าเว็บออกมาเนืองๆ ว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียน ไม่ว่าจะเป็นของ งานเขียนที่มีการตีพิมพ์แล้ว และลอกงานเขียนในเว็บและส่ง สนพ. การละเมิดลิขสิทธิ์มีความผิดทางกฎหมาย และเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถ ฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย โดยอาจจะต้องมีการพิสูจน์โดยทางใดทางหนึ่งว่าผู้ถูกละเมิดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นๆ จริง โดยปกตินั้น งานเขียนใดๆ จะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายโดยอัตโนมัติโดยที่เจ้าของงานเขียนไม่ต้องจดลิขสิทธิ์ ดังนั้นการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่ง ที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว ผู้ลอกงานผู้อื่น ก็จะเสียชื่อเสียง และไม่ได้รับการพิจารณาให้พิมพ์ ในเรื่องต่อๆ ไปเพราะ สนพ. ย่อมไม่มั่นใจว่าผู้นั้นจะลอกงานของผู้อื่นอีกหรือไม่
การขยายความคุ้มครองลิขสิทธิ์ของงานที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างเสนอร่างแก้ไข พรบ.ลิขสิทธิ์ โดยมีสาระที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์งานเขียนออนไลน์ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. พรบ. นี้ จะขยายความคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้ทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยคุ้มครองต่องานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต
2. สร้างระบบการจัดเก็บค่าตอบแทนในลิขสิทธิ์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้สร้างสรรค์ทุกฝ่าย และให้ได้มาตรฐานสากล โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรจัดเก็บ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการจัดเก็บค่าตอบแทน และมีคณะกรรมการบริหารการจัดเก็บอีกชั้นหนึ่ง
3. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิด และอัตราโทษ โดยกำหนดให้การละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นความผิดอันยอมความได้ เว้นแต่การละเมิดลิขสิทธิ์ในเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ให้เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ สำหรับบทกำหนดโทษ ให้กำหนด โทษตามพฤติการณ์ความร้ายแรงของการละเมิดเป็น 3 ระดับ (จากน้อยไปมาก)
ซึ่งหากกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์งานเขียนออนไลน์ ก็จะมีความผิดเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ข้อหา จาก ความผิดในการละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์เดิมปี 2537 ซึ่งบังคับใช้ในกรณีลิขสิทธิ์ทั่วไปแล้ว
กรมทรัพย์สินทางปัญญา
http://www.ipthailand.org/dip/index.php
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น