คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : บทนำ
“ปีนี้เราจะไปไหนกันดี”
ปลัดเป๊ะ ประธานรุ่นที่ 94 แห่งโรงเรียนล้นรัก ถามขึ้นในที่ประชุม
ถึงแม้จะดูเป็นการเป็นงาน
แต่ที่จริงที่ประชุมก็เป็นห้องอาหารเล็กๆแห่งหนึ่ง มีเพื่อนร่วมรุ่นมาชุมนุม เกือบ
50 คน เพื่อ สังสรรค์ซะมากกว่า
“ เราไปเลี้ยงอาหารกลางวันที่บ้านเด็กกำพร้า
หรือ บ้านพักคนชราไหม” ปิ่นเพื่อนสนิทของผม กล่าวขึ้น
กิจกรรมพวกนี้ จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆปี ก็ประธานรุ่นผมนี่สิ ดันใจบุญ แถมเพื่อนอีกๆหลายคน
ก็ยังทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ เลยค่อนข้างที่จะเหนียวแน่นไปทางด้านนี้ อย่างปีที่แล้ว
ก็จัดกิจกรรมออกค่าย ไปทาสีห้องสมุด และร่วมกันบริจาคหนังสือ อายุจะปาเข้าเลข 3 ละ
บางคนนี่เริ่มบ่นปวดเข่าบ้าง ปวดหลังบ้างก็มี
“ไปบ้านเด็กกำพร้า
ดีมะ แล้วเราก็ไปจัดโชว์ มายากล กับเล่านิทาน ด้วยไรงี้” เพื่อนอีกคนเสนอ
หลายๆคนเริ่มจับกลุ่ม นินทา เอ้ย! ปรึกษา จนได้ข้อสรุป ว่าปีนี้ เราจะไปบ้านเด็กกำพร้า
เมื่อเวลาล่วงเลย จนถึงวันเวลาตามนัดหมาย พวกเรา ประมาณ 30 คน
ก็เคลื่อนขบวนไปบ้านเด็กกำพร้าเพื่อนๆบางส่วนที่ติดงาน ก็ช่วยด้วยการ
บริจาคทุนทรัพย์ ขนม หรือของเล่น
เมื่อเราก็ไปถึงบ้านเด็กกำพร้า
ผอ.ศูนย์ ออกมาต้อนรับ ในช่วงเช้านั้นพวกเรามีการโชว์มายากล และกิจกรรมบนเวทีมากมาย
ทั้งเต้น ทั้งเล่น ทั้งแจกของเล่น ส่วนผมนั้น อยู่ฝ่ายบัญชีของรุ่น
ส่วนมากก็จะอยู่หลังฉาก ปล่อยให้คนที่ตลกเขาทำหน้าที่ไป
สถานสงเคราะห์ที่นี่
เป็นสถานสงเคราะห์ ที่ดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 7 – 18 ปี โดยส่วนมากเด็กๆ จะอยู่ในวัย
8 – 12 ปี เพราะ เด็กๆบางส่วนนั้น มีพ่อแม่บุญธรรม แล้วจะจากบ้านไป
“เด็กๆจะหมุนเวียนเรื่อยๆค่ะ
มีการรับเด็กใหม่และจำหน่ายเด็กออก เพื่อไม่ให้ล้นกับจำนวนเตียงของเด็ก
โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200 คน ค่ะ” ครูพี่เลี้ยงคนหนึ่งให้ข้อมูลกับผม
ที่ดูแลความเรียบร้อยอยู่ข้างๆ
เวลาประมาณเกือบเที่ยง
ผมก็เริ่มวุ่นวายกับการจัดอาหาร ให้กับเพื่อนๆ ที่เหนื่อยอ่อนจากการฟัดกับเด็ก ใช้คำว่าฟัดได้เลยครับ เด็กที่นี่ คุ้นชินกับคนภายนอกมาก เพื่อนๆหลายคนหิวโซเลยครับ ส่วนเด็กๆนะเหรอ เข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยมากครับ
ที่นี่เขาฝึกเด็กได้ดีจริงๆ
“เหนื่อยหน่อยนะดิน
มีอะไรให้เราช่วยมั้ย” เป๊ะ ถามขึ้นมาขณะผมหอบข้าวของพะรุงพะรัง
พร้อมเดินเข้ามาช่วยถือของ
“ก็เดิมๆป่ะ
ก็ทำทุกปี” ผมตอบแบบขอไปที
“เดิมๆเหรอ
อือเนาะ เราก็ขอให้ดินช่วยทุกปีเลย ถ้าขาดดินไป เราคงอยู่ไม่ได้แน่เลย ว่ามะ” หึย
ผมขนลุก กับคำพูดของเป๊ะ แต่ก็นึกยิ้มในใจ นี่สินะ เหตุผลที่ผมยอมเหนื่อยทุกปี
ในขณะที่ผมกำลังง่วนนั้น
ผมไม่ได้สังเกตเห็นเจ้าตัวน้อยทั้งสอง ที่เดินเข้ามาใกล้
“น้าครับ
น้าทำกระเป๋าตังตก” เด็กชายตัวน้อย ยื่นกระเป๋าให้ผม
มืออีกข้างนั้นก็กุมมือเด็กผู้หญิงตัวน้อย
“หา ของพี่เหรอ โห ถ้าหายไปแย่เลย ขอบคุณนะครับ เจ้าตัวน้อย” ผมขอบคุณเจ้าตัวน้อย เกือบไปแล้วสิ เงินไม่เท่าไหร่ แต่บัตรนี่สิเครียด
ต้องตอบแทนซักหน่อยละ
“กินข้าวเสร็จรึยังครับเนี่ย”
เด็กน้อยผงกหัว
“ไปกินไอติมมั้ย เดี๋ยวพี่ตักให้” ผมเลยแยกกับเป๊ะ ปล่อยให้หอบข้าวของพะรุงพะรังซะเอง หึหึ
เด็กน้อยทั้งสองรับไอศกรีม
แล้วนั่งทานข้างๆผม ใต้ร่มไม้ นอกอาคาร
“อร่อยมั้ย”
ผมถาม ดูเหมือนผมรักเด็กเนอะ ถ้าให้อยู่กับเด็กเล็ก ซัก 5 – 10 นาที ผมก็พอจะได้อยู่นะครับ
แต่ถ้านานกว่านั้น อวตารจอมมารจะออกมา
“ขอบคุณนะครับ
คุณน้า” เด็กชายพูดแสดงความขอบคุณ แต่ในขณะเดียวกันผมก็เริ่มเอะใจ ว่าผมยังไม่ได้ยินเสียงของเด็กหญิงตัวน้อยเลย
“มารยาทดีมากเลยนะครับเนี่ย
เป็นเด็กดีมากเลยน้า” ผมเอ่ยชม
“ค่ะ
คุณพ่อคุณแม่สอนว่า เป็นเด็ก เวลารับของจากผู้ใหญ่ ต้องพูดขอบคุณ”
พอสิ้นเสียงได้ซักพัก เสียงสะอื้นจากเด็กหญิง ก็ดังขึ้น
เช่นเดียวกันเด็กชายก็เริ่มที่จะร้องไห้ ผมวุ่นวายใจมาก นี่ผมไปสะกิดต่อมอะไร
ผมกอดทั้งสองคน ในสมองก็ตื้อไปหมด เด็กๆร้องไห้ประมาณ 10 นาทีก็เริ่มหยุด
ผมก็เลยจูงมือเด็กๆไปส่งให้กับครูพี่เลี้ยง
ตอนบ่าย
เราทำกิจกรรมเล่านิทานให้กับเด็กๆ เด็กเล็กบางส่วนเมื่อได้ฟังนิทาน
ก็หลับ จากนั้นเด็กโตหน่อย
ก็ออกไปทำกิจกรรมบริเวณนอกอาคาร
“ต้องขอโทษนะคะ
คุณคงตกใจ” ครูพี่เลี้ยง ถามผม เราคุยกันอยู่ข้างในอาคาร
“นิดหน่อยครับ ผมเป็นครูเหมือนกัน ชินกับเด็กละครับ” แต่เป็นครูมัธยมนะครับ เด็กเล็กนี่ไม่ชินเลย
“พอดี
เด็กสองคนนั้น พึ่งมาอยู่ที่นี่ได้ สองวันค่ะ เลยยังไม่ค่อยชิน”
“อ๋อครับ
แกยังเด็กมากเลยนะครับ”
“ค่ะ
แกพึ่ง 5 ขวบ บ้านเดิมอยู่ใกล้ๆที่นี่
พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเมื่อประมาณสามอาทิตย์ก่อนทั้งคู่ ญาติก็เลี้ยงไม่ไหว
แต่ที่นี่เป็นศูนย์ที่ดูแลเด็กตั้งแต่ 7 ปี ขึ้นไป เรากำลังจะส่งต่อแกไป
ศูนย์เล็กอาทิตย์หน้าค่ะ” พอผมได้ฟังก็รู้สาเหตุ ผมคงทำให้เด็กๆคิดถึงพ่อแม่สินะ
ก่อนจะกลับ
ผมแอบเดินไปดูเด็กทั้งสองคนที่กำลังหลับ ความรู้สึกของผมนั้นค่อนข้างสับสน
เด็กทั้งสองคนนั้นน่ารัก ทั้งหน้าตาและนิสัย อันนี้ผมคิดเองนะ
และยังน่าสงสารอีกต่างหาก ความรู้สึกนี้คงติดตามผมไปอีกหลายวันแน่ๆ
วัยของผมนั้นใกล้จะ
เลข 3 เพื่อนๆหลายคนนั้น แต่งงาน และมีเจ้าตัวน้อยเป็นโซ่ทอง
แถมยังเอามาอวดอีกต่างหาก บางทีมันก็ทำให้ผมอิจฉา ส่วนผมนั้นเหรอ เลิกหวังที่จะมีชีวิตคู่ไปแล้ว
แต่วันที่พ่อแม่ผมป่วย ผมก็ได้คิดว่า ถ้าผมป่วยขึ้นมา ใครจะมาดูแลผม
คำถามนี้กวนใจผมมาตลอด
ครั้นจะเอาหลานมาเลี้ยง
เดี๋ยวก็กลับไปหาพ่อแม่มัน เอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงก็กลัว ผมที่วุ่นวายใจนั้น
ก็เอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับพ่อแม่ ที่ให้คำปรึกษากับทุกๆเรื่อง
“เอาที่ลูกสบายใจเถอะ”
หลังจากเราปรึกษากันอยู่นาน
พ่อกับแม่ก็ทำให้ผมตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไป
ห้าวันให้หลังจากงานเลี้ยง
ผมกลับมาที่นี่อีกครั้ง เด็กน้อยทั้งสองที่กวนใจผมตลอดมา
แม้ว่าเราจะคุยกันแค่ไม่กี่ประโยค ในช่วงเกือบเดือนที่ผ่านมาของเขาทั้งสอง
จะรู้สึกยังไง ถ้าเขาจะต้องอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้าต่อไป
ครูพี่เลี้ยงพาเด็กทั้งสองมาพบผมที่ห้องรับแขก
“จำน้าได้มั้ยครับ”เด็กน้อยทั้งสองผงกหัว
“อยากไปกินไอติมกับน้าอีกมั้ย” เด็กน้อยคลี่ยิ้มออกมานิดหน่อย ผมสวมกอดเด็กทั้งสอง
เมื่อคลายอ้อมกอดออก
ผมก็พูดคำที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผมทั้งหมด
“ถ้าหนูสองคนไม่รังเกียจ น้าขอเป็นพ่อของหนูได้ไหม”
ความคิดเห็น