มวยไทย ศิลปะการป้องกันตัวสะเทือนโลก - มวยไทย ศิลปะการป้องกันตัวสะเทือนโลก นิยาย มวยไทย ศิลปะการป้องกันตัวสะเทือนโลก : Dek-D.com - Writer

มวยไทย ศิลปะการป้องกันตัวสะเทือนโลก

แม่ไม้มวยไทยและประวัติศาสตร์โดยสังเขป

ผู้เข้าชมรวม

1,752

ผู้เข้าชมเดือนนี้

3

ผู้เข้าชมรวม


1.75K

ความคิดเห็น


2

คนติดตาม


2
เรื่องสั้น
อัปเดตล่าสุด :  8 มิ.ย. 49 / 09:21 น.


ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้
ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ

    มนุษย์รู้จักคำว่า "ต่อสู้" ตั้งแต่มนุษย์เริ่มเกิดลืมตามาดูโลก ต้องต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวเองและแม้แต่กับตัวเองก็มิได้ละเว้นจะต้องสู้ ต้องต่อสู้กับธรรมชาติและภัยของธรรมชาติสิงสาราสัตว์ที่มุ่งร้ายหมายชีวิต หรือที่มนุษย์จะมุ่งเอาชีวิตเพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับยังชีวิตบางครั้งมนุษย์ก็ต่อสู้กันเอง เพื่อสิทธิในการครอบครองเป็นเจ้าของ เพื่อเสรีภาพ เพื่อป้องกันตนเองหรืออื่นๆ การต่อสู้ดังกล่าวอาจจะต้องใช้กำลังกายกำลังใจและกำลังความคิดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

     

     


    มนุษย์จะต่อสู้เพื่อวัตถุประสงค์ใดก็แล้วแต่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการต่อสู้ ความอยู่รอดของชีวิตจากการต่อสู้มนุษย์ก็ได้พยายามคิดค้นวิธีการต่อสู้ เพื่อป้องกันให้ถึงแก่ชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้น หรือเมื่อทั้งสองฝ่ายมีอาวุธคู่มือการทำร้ายกันก็ทำได้ลำบากต่างก็ต้องเกรงซึ่งกันและกันมนุษย์ก็พยายามใช้ความคิดที่จะหาหนทางเอาชนะ เอาชีวิตของคู่ต่อสู้ให้ง่ายและรวดเร็ว ป้องกันชีวิตตนเองให้ปลอดภัยมากขึ้นพยายามคิดค้นศึกษา ทดลอง ดัดแปลงแก้ไข เพื่อหาแนวทางที่จะต่อสู้และป้องกันตัวทั้งที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ ทำให้เกิดศิลปะการต่อสู้และป้องกันตัวขึ้นมา

     

     

    มนุษย์ในแต่ละซีกโลกหนึ่ง หรือแต่ละภาคของโลก ต่างก็มีวิธีการต่อสู้และป้องกันตัวเป็นของตนเอง และแตกต่างกับการต่อสู้ของมนุษย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ทั้งนี้เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวแตกต่างกัน เช่น มนุษย์ในแถบขั้วโลกมีหิมะน้ำแข็งจับอยู่ตลอดปีหรือมีอากาศหนาวจัด การแต่งกายจะต้องแต่งด้วยเสื้อผ้าหนาๆ เพื่อป้องกันความหนาวที่จะมาทำอันตรายต่อผิวหนัง ความคล่องตัวในการเตะต่อยไม่ค่อยมีการต่อสู้มักจะใช้ประโยชน์จากเครื่องแต่งกายที่หนา โดยการจับรั้งเพื่อทำการทุ่ม หรือใช้ขอบเสื้อส่วนที่เป็นปกและคอเสื้อรัดคอหรือใช้เกี่ยวพันไม่ให้คู่ต่อสู้เคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของการต่อสู้ป้องกันตัวแบบจับทุ่ม ได้แก่ ยูโด มวยปล้ำ ไอคิโด

     

     

    สำหรับมนุษย์ที่เกิดในบริเวณอากาศอบอุ่นและค่อนข้างร้อน การแต่งกายจะแต่งด้วยเสื้อผ้าที่บาง ไม่รุ่มร่าม มีความคล่องตัวในการเตะต่อยดีการต่อสู้จึงมักจะอาศัยการเตะต่อย ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของการต่อสู้ป้องกันตัว แบบเตะต่อย เช่น มวยไทย มวยสากล เสี้ยวลิ้มของจีนคาราเต้ของญี่ปุ่น หรือเทควันโดของเกาหลี เราจะสังเกตเห็นว่า ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวบางประเภทจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน เช่นแขนงวิชาการเตะต่อย อาจกล่าวว่า ศิลปะประเภทนี้ก็อาจจะกล่าวได้ยาก เพราะการคิดค้นทดลองฝึกฝน มักจะเลียนแบบธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความคล้ายคลึงกันจึงย่อมจะเป็นไปได้

     

     

    มนุษย์ได้พยายามคิดค้นการต่อสู้มือเปล่าเพื่อให้ตนเองปลอดภัยจากสิ่งรอบข้าง โดยใช้อวัยวะของร่างกายเป็นอาวุธเข้าต่อสู้ เช่น มือและเท้า กำหนดระเบียบแบบแผนมีหลักเกณฑ์ในการต่อสู้สิ่งต่างๆ รวมกันเรียกว่า "มวย"

     

     

    บรรพบุรุษมีความเฉลียวฉลาดในการคิดค้น ดัดแปลงและพลิกแพลงในการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น มือ, เท้า, เข่า, ศอก และศีรษะเข้าต่อสู้ป้องกัน ปิดป้องส่วนที่อ่อนแอของร่างกายได้เป็นอย่างดี วิธีการต่อสู้และป้องกันตนเองของไทย ซึ่งจะหาการต่อสู้ของชาติอื่นมาเทียบไม่ได้ การต่อสู้มือเปล่าของไทยเป็นศิลปะแห่งการต่อสู้ประจำชาติ เรียกว่า "มวยไทย"

     

     

    มวยไทยเป็นศิลปะของการต่อสู้ป้องกันตัวได้จริงสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในการต่อสู้และในการกีฬา ศิลปะประเภทนี้บรรพบุรุษของชาติไทยใช้อบรมสั่งสอนสืบทอดกันมาให้ดำรงอยู่ตลอดไป บรรดาชายฉกรรจ์จะได้รับการสั่งสอนฝึกฝนศิลปะประเภทนี้อย่างจัดเจนทั้งสิ้น การใช้อาวุธรบสมัยโบราณ เช่น กระบี่ กระบอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ นักรบไทยจะนำไปประกอบการต่อสู้ที่มีชั้นเชิงสูง เดิมมักจะฝึกสอนกันเฉพาะบรรดาเจ้านายชั้นสูงนับตั้งแต่พระมหากษัตริย์และขุนนางฝ่ายทหารเท่านั้น

     

     

    ต่อมาจึงแพร่หลายไปถึงสามัญชน ได้รับการถ่ายทอดวิทยาการจากครูอาจารย์ ซึ่งเดิมเป็นยอดทหารขุนพล ยอดนักรบของชาติมาแล้วได้ละเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต พยายามถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ศิษยานุศิษย์ และสืบเนื่องมาจากไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ครูอาจารย์ที่สอนอยู่ในเพศบรรพชิตจึงทำให้มวยไทยกับศาสนาพุทธมีความสัมพันธ์กันจนแยกไม่ออก ซึ่งจะสังเกตได้จากก่อนการชก นักมวยจะมีการไหว้ครู ร่ายมนต์คาถาตามร่างกายก็มีเครื่องรางของขลัง เช่น ผ้าประเจียดรัดแขน หรือมงคลสวมศีรษะ เป็นต้น

     

     

    มวยไทยเริ่มขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏ และไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใดแต่เท่าที่ได้ปรากฏนั้นมวยไทยได้เกิดขึ้นมานานแล้ว และอาจเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับชาติไทยด้วยซ้ำ เพราะมวยไทยนั้นเป็นศิลปะประจำชาติของไทยเราจริงๆ ยากที่ชาติอื่นจะเลียนแบบได้

     

     

    มวยไทยในสมัยก่อนเท่าที่ทราบจะมีการฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร เพราะในสมัยก่อนไทยเราได้มีการรบพุ่งและสู้รบกันกับประเทศเพื่อนบ้านบ่อยๆ การสู้รบในสมัยนั้นยังไม่มีปืนจะสู้กันมีแต่ดาบทั้งสองมือและมือเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้การรบพุ่งก็ต้องมีการประชิดตัว คนไทยเห็นว่าการรบด้วยดาบนั้นเป็นการรบพุ่งที่ประชิดตัวมากเกินไป บางครั้งคู่ต่อสู้อาจจะเข้ามาฟันเราได้ง่ายขึ้น ทำให้แพ้คู่ต่อสู้ได้

     

     

    ต่อมาเมื่อในหมู่ทหารได้รับการฝึกถีบ เตะแล้ว มีผู้คิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะใช้การถีบ และเตะนั้นมาเป็นศิลปะสำหรับการต่อสู้ด้วยมือได้ จึงได้มีผู้ที่คิดจะฝึกหัดการต่อสู้ป้องกันตัวสำหรับการใช้แสดงเวลามีงานเทศกาลต่างๆ ไว้อวดชาวบ้าน และเป็นของแปลกสำหรับชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้มานานเข้าชาวบ้านหรือคนไทยได้เห็นการถีบ-เตะอย่างแพร่หลายและบ่อยเข้า จึงทำให้ชาวบ้านมีการฝึกหัดมวยไทยกันมากจนถึงกับตั้งเป็นสำนักฝึกกันมากมายแต่สำนักที่ฝึกมวยไทยก็ต้องเป็นสำนักดาบที่มีชื่อดีมาก่อนและมีอาจารย์ดีไว้ฝึกสอน ดังนั้นมวยไทยสมัยนั้นจึงฝึกเพื่อมีความหมาย 2 อย่างคือ

     

     

    1. เพื่อไว้สำหรับสู้รบข้าศึก

     

    2. เพื่อไว้ต่อสู้ป้องกันตัว

     

     

    สมัยอาณาจักรน่านเจ้า

     

     

    พ.ศ. 1291 พระเจ้าพีล่อโก๊ะ ได้รวบรวมอาณาจักรไทยขึ้น เรียกว่า อาณาจักรน่านเจ้า และมีกษัตริย์ที่เข้มแข็งปกครองอยู่นาน ไทยต้องทำสงครามกับจีนอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็เป็นมิตรบางครั้งก็เป็นศัตรูกัน ในสมัยนั้นมีการฝึกใช้อาวุธบนหลังม้า รู้จักใช้หอก ใช้ง้าว ในสมัยล้านนาไทยได้มีวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว และวิชาเจิ้ง (การต่อสู้แบบจีนชนิดหนึ่งคล้ายๆ มวยจีน) การรบเพลงอาวุธและตำราพิชัยสงคราม จะสังเกตเห็นว่าการต่อสู้ในสมัยนี้ส่วนมากจะใช้อาวุธ เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราช การต่อสู้ด้วยมือเปล่าก็มีอยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะใช้ระยะประชิดตัว และนิยมการเลียนแบบจากจีน

     

     

    สมัยกรุงสุโขทัย

     

     

    พ.ศ. 1781-1921 ในสมัยสุโขทัยนี้การต่อสู้ด้วยมือเปล่าด้วยวิชามวยไทยก็มีใช้อยู่ในการต่อสู้กับข้าศึก ส่วนใหญ่ก็ยังใช้อาวุธชนิดต่างๆ เพื่อการกอบกู้ประเทศชาติ สถานที่ที่เป็นสำนักประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยแบ่งออกเป็น

     

     

    1. วัด จากครูอาจารย์ที่บวชเป็นพระภิกษุมีฝีมือในการต่อสู้

     

    2. บ้าน จากผู้มีความรู้เป็นผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้กุลบุตร กุลธิดาที่สนใจ

     

    3. สำนักราชบัณฑิต ให้เรียนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว มีการใช้อาวุธบนหลัง ช้าง วัว ควาย

     

     

    นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมือง เช่น ระบำ รำ เต้น กีฬาว่าว จากพงศาวดารโยนกพูดถึงเรื่องการล่าสัตว์ว่า พระเจ้าเม็งรายกับพระเจ้ารามคำแหงได้ทรงช้างออกไปล่าสัตว์กับพวกพรานและข้าราชบริพาร ซึ่งเป็นสัตว์ประเภท กวาง หมู ไก่ อีเก้ง นก ฯลฯ เป็นต้น

     

     

    สมัยกรุงศรีอยุธยา

     

     

    พ.ศ. 1893 - 2310 สมัยนี้ยังมีการถ่ายทอดวิชาการต่างๆ มาจากสมัยสุโขทัยกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การล่าสัตว์ การคล้องช้าง การฟ้อนรำ และการละเล่นต่างๆ และวัดยังคงเป็นสถานที่ให้ความรู้ทั้งวิชาสามัญและฝึกความชำนาญในเชิงดาบกระบี่ กระบอง กริช มวยไทย ธนู เป็นต้น

     

     

    พ.ศ.1901 - 2173 ประชาชนในกรุงศรีอยุธยานิยมเล่นกีฬากลางแจ้งกันมาก โดยเฉพาะการเล่นว่าว จนต้องออกกฎมลเฑียรบาล ห้ามประชาชนเล่นว่าวเหนือพระราชฐาน

     

     

    พ.ศ. 2174 - 2233 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนับว่าเจริญที่สุด เพราะมีกีฬาหลายอย่าง เช่น การแข่งขันเรือ การชกมวย

     

     

    สมัยพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ พระองค์ชอบกีฬาชกมวย ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปที่ตำบลราดรวด พระองค์พร้อมด้วยมหาดเล็กอีก 4 คน แต่งกายแบบชาวบ้านนอกไปเที่ยวงานมหรสพ แล้วพระองค์ก็สมัครชกมวย โดยไม่เกี่ยงว่าคู่ต่อสู้จะเป็นใคร พอทางสนามรู้ว่าพระองค์เป็นนักมวยมาจากอยุธยาจึงได้จัดนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญเท่าที่มีอยู่ ซึ่งได้แก่นายกลางหมัดมวย นายใหญ่หมัดเหล็ก และนายเล็กหมัดหนัก ชกกับพระเจ้าเสือ พระองค์ชกชนะทั้งสามคนรวด

     

     

    พระองค์ได้ฝึกฝนให้เจ้าฟ้าเพชร และเจ้าฟ้าพร พระราชโอรสให้สามารถในกระบี่กระบองและมวยปล้ำ

     

     

    ในสมัยนั้นใครมีเพลงดาบดีและเก่งทางรบพุงนั้น จะต้องเก่งทางมวยไทยด้วย เพราะเวลารบพุ่งนั้นต้องอาศัยมวยไทยเข้าช่วยด้วย ดังนั้น วิชามวยไทยในสมัยนั้นจึงมุ่งหมายเพื่อที่จะฝึกฝนเพลงดาบ และวิชามวยไทย เพื่อที่จะให้ตัวเองเข้าไปรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร

     

     

    แต่เมื่อพ้นจากหน้าที่สงครามแล้ว มีการชกมวยกันเพื่อความสนุกสนาน และมีการพนันกันระหว่างนักมวยที่เก่งจากหมู่บ้านหนึ่ง กับนักมวยที่เก่งจากอีกหมู่บ้านหนึ่งมาชกกัน ในหน้าที่มีงานเทศกาล หรือเกิดการท้าทายกันขึ้นและมีการพนันขันต่อกัน มวยในสมัยนั้นชกด้วยหมัดเปล่าๆ ยังไม่มีการคาดเชือก

     

     

    พ.ศ. 2310 หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก คนไทยถูกจับไปเป็นเชลยมาก และเมื่อไปถึงพม่าก็จัดมหาเจดีย์ใหญ่เพื่อฉลองชัยชนะ สุกี้พระนายกองก็ได้คัดเลือกนายขนมต้มส่งไปชกมวยที่พม่าด้วย นายขนมต้มซึ่งได้ใช้วิชามวยไทยต่อสู้กับพม่าถึง 10 คน และพม่าได้แพ้นายขนมต้มหมดทุกคน จนถึงกับพระเจ้ากรุงอังวะตรัสชมเชยว่า คนไทยถึงแม้จะไม่มีอาวุธในมือ มีเพียงมือเปล่า 2 ข้าง ก็ยังมีพิษรอบตัว เสร็จแล้วพระเจ้ากรุงอังวะได้มอบเงินและภรรยาให้ 2 คน เป็นรางวัลแก่นายขนมต้ม นายขนมต้มจึงได้เปรียบเสมือนบิดาผู้สอนมวยไทย เพราะทำให้ไทยมีชื่อเสียงเกี่ยวกับวิชามวยไทยเป็นอันมากในสมัยนั้น และชื่อเสียงได้เลื่องลือมาจนถึงสมัยปัจจุบัน อนึ่ง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มวยไทยชกกันด้วยการ "คาดเชือก" เรียกว่า มวยคาดเชือก ซึ่งใช้เชือกหรือผ้าพันมือ บางครั้งการชกอาจถึงตายเพราะเชือกที่คาดมือนั้นบางครั้งใช้น้ำมันชุบเศษแก้วละเอียดชกตรงไหนเป็นแตกได้เลือด จะเห็นว่าสมัยนี้การชกมวยคาดเชือกมีอันตรายมาก

     

     

    สมัยกรุงธนบุรี

     

     

    พ.ศ. 2314 พม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่และได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย (นายทองดี ฟันขาว) จึงนำทัพออกตะลุมบอนกับพม่าจนดาบทั้งสองหัก และป้องกันเมืองไว้ได้ พระยาพิชัยเป็นผู้มีฝีมือในเรื่องการชกมวย กระบี่กระบอง และฝีมือในการรบ พระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) จึงได้ให้ไปครองเมือง พิชัย จากการต่อสู้ของพระยาพิชัยจนดาบหัก และสามารถป้องกันเมืองพิชัยไว้ได้นี้ประชาชนจึงเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหัก

     

     

    ในสมัยกรุงธนบุรี มีการเล่นกีฬามวยไทย กระบี่กระบองแข่งเรือ ว่าว ตะกร้อ หมากรุก ชักเย่อ

     

     

    สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (สมัยปัจจุบัน)

     

     

    พ.ศ. 2325 ในระยะต้น คือ รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ไทยทรงโปรดการกีฬามากเช่นสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ลูกยาเธอหลายพระองค์หัดเล่นกระบี่กระบอง ส่วนใหญ่ประชาชนก็นิยมเล่นกีฬากันมากโดยฝึกกันตามบ้านและสำนักต่างๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งผู้ที่มีฝีมือในทางกีฬาต่างๆ ให้เป็นหัวหน้าในการจัดกีฬา ให้มียศและตำแหน่งด้วยเช่น หมื่นมวย แม่นหมัด ขุนชงัด ชิงชก เป็นผู้ดำเนินการจัดกีฬา กีฬาไทยที่ได้รับการยกย่องส่งเสริมมีดังนี้

     

     

    1. กีฬาว่าว จัดให้มีการแข่งขันว่าวชิงถ้วยพระราชทานพระองค์ทรงโปรดเกล้าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพร่างระเบียบการแข่งขันว่าว และตราเป็นข้อบังคับ เรียก กติกาว่าว สนามหลวง พระองค์ยังดำริที่จะตั้งสมาคมกีฬาสยามขึ้น

     

     

    2. จัดให้มีการแข่งขันกีฬากระบี่กระบอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักกระบี่กระบองที่มีความสามารถ พระองค์ได้ส่งเสริมให้มีการฝึกหัดและจัดแข่งขันกันอย่างกว้างขวาง

     

     

    3. จัดให้มีการแข่งขันกีฬามวยไทย รัชกาลที่ 5 พระองค์มีความชำนาญในกีฬามวยไทยจึงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยขึ้นทั้งในชนบทและในกรุง

     

     

    4. จัดให้มีการแข่งขันกีฬา รัชกาลที่ 5 ได้จัดให้มีการแข่งขันกรีฑานักเรียนและครูขึ้น โดยจัดครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2440 บริเวณท้องสนามหลวง โดยมีกระทรวงธรรมการเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินงาน

     

     

    ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มวยไทยก็มีการฝึกฝนกันตามสำนักฝึกต่างๆ และมีการฝึกกันอย่างกว้างขวาง จนถึงสมัยกรุงเทพฯก็มีเวทีมวยที่จัดให้มีการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน เช่น เวทีสวนเจ้าเชษฐ์ และเวทีสวนกุหลาบ ซึ่งการชกในสมัยนี้ก็ยังมีการคาดเชือกกันอยู่ จนในตอนหลังนวมได้เข้ามาแพร่หลายในไทยการชกกันในสมัยหลังๆ จึงได้สวมนวมชกกัน แต่การชกก็ยังเหมือนเดิม คือ ยังใช้การถีบ เตะ ชก ศอก เข่า อยู่เช่นเดิมดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

     

     

    หลักเกณฑ์ในการจัดการแข่งขัน และกรรมการผู้ชี้ขาดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นไปหาหลักฐานไม่ได้ แต่พอจะจับเค้าโครงเรื่องนี้ได้ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา การแข่งขันชกมวยในสมัยต่างๆ ซึ่งนับว่าครึกโครมและมีผู้นิยมชมชอบมาก ซึ่งพอจะแยกกล่าวได้มีอยู่ 5 สมัยด้วยกัน คือ

     

     

    1. สมัยสวนกุหลาบ ในสมัยนี้ประชาชนนิยมการชกมวย และชมการแข่งขันชกมวยกันเป็นจำนวนมาก การชกมวยกันในสมัยนี้ยังนิยมการคาดเชือกอยู่ การชกได้กำหนดจำนวนยกไว้แน่นอนแล้ว และมีกรรมการผู้ชี้ขาด ผู้ตัดสินส่วนมากนั่งอยู่ข้างเวที และให้อาณัติสัญญาณให้นักมวยหยุดชกด้วยเสียงหรือนกหวีด

     

     

    2. สมัยท่าช้าง ในสมัยนี้เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ จากคาดเชือกมาเป็นสวมนวม (พ.ศ. 2462) ได้จัดการแข่งขันขึ้นเป็นระยะเวลาพอสมควร สนามก็เลิกไป กรรมการผู้ชี้ขาดในสมัยนี้นับว่ามีชื่อเสียงก็คือนายทิม อติเปรมานนท์ และนายนิยม ทองชิตร์

     

     

    3. สมัยสวนสนุก การจัดการแข่งขันในสมัยนี้ รู้สึกว่าเจ้าของสนามได้จัดการแข่งขัน และได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปีทำให้นักมวยไทยมีชื่อเสียงขึ้นหลายคน เช่น นายสมาน ดิลกวินลาส นายสมพงษ์ เวชสิทธิ์ เป็นต้น กรรมการที่ชี้ขาดการตัดสินในขณะนั้นและนับว่ามีชื่อเสียงควรกล่าวคือ หลวงพิพัฒน์ พลกาย นายสุนทร ทวีสิทธิ์ (ครูกิมเส็ง) และนายนิยม ทองชิตร์

     

     

    4. สมัยหลักเมืองและสวนเจ้าเชษฐ์ การแข่งขันชกมวยในสมัยนี้นับว่าเข้มแข็งดีมาก เพราะทางราชการทหารได้เข้าจัดการเพื่อเก็บเงินบำรุงราชการทหาร คณะกรรมการและนักมวยได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี จนเก็บเงินส่งบำรุงราชการทหารได้เป็นจำนวนมากสมความประสงค์ของราชการทหาร ตลอดจนทำให้นักมวยที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ผล พระประแดง เพิก สิงห์พัลลภ ถวัลย์ วงศ์เทเวศน์ ประเสริฐ ส.ส. และ ทองใบ ยนตรกิจ ได้จัดการแข่งขันอยู่เป็นเวลาหลายปี จึงได้เลิกการแข่งขันเมื่อใกล้ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 กรรมการผู้ชี้ขาดได้ทำการตัดสินอยู่เป็นประจำตลอดนั้น มีอยู่ 3 คนด้วยกันคือนายสังเวียน หิรัญยเลขา, นายเจือ จักษุรักษ์, นายวงศ์ หิรัญยเลขา

     

     

    5. สมัยปัจจุบัน ได้ทำการแข่งขัน ณ เวทีราชดำเนินและเวทีลุมพินีเป็นประจำทุกวันสลับกันไป ยังมีเวทีชั่วคราว เช่นเวทีกองทัพอากาศ เวทีกองทัพเรือ และตามต่างจังหวัดทุกจังหวัดการแข่งขันมีทั้งมวยไทย และมวยสากล ตลอดจนได้จัดส่งให้นักมวยต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน และจัดส่งนักมวยไทยไปแข่งขัน ณ ต่างประเทศในปัจจุบัน

     

     

    มวยไทยเป็นกีฬาที่เก่าที่สุดของเรา และเป็นที่นิยมของประชาชนทุกชั้นทุกสมัย ในชั้นต้นการแข่งขันมวยไทยไม่ได้มีกติการเป็นลายลักษณ์อักษร นายสนามต้องชี้แจงให้นักมวยคู่แข่งขันทราบถึงหลักเกณฑ์ในการแข่งขันนั้นๆ หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้เมื่อใช้กันมากขึ้นก็กลายเป็น จารีตประเพณี ซึ่งใช้เป็นหลักสำหรับการแข่งขันสืบมา

     

     

    พ.ศ. 2455 ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ซึ่งสำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ได้ทรงนำวิชามวยฝรั่ง (มวยสากล) มาสอนให้แก่คณะครูที่สามัคยาจารย์สมาคมและได้ทรงร่างกติกามวยฝรั่งขึ้น ในไม่ช้ามวยฝรั่งก็ได้แพร่หลายไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรโดยรวดเร็ว

     

     

    พ.ศ. 2462 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้มีการแข่งขันมวยฝรั่งระหว่างนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ส่วนกติกามวยฝรั่งซึ่ง ม.จ.วิบูลย์ สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกูล ได้ทรงร่างขึ้น มีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย และคณะกรรมการจัดการกีฬาของกระทรวงศึกษาธิการได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470

     

     

    พ.ศ. 2470 กระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์จะออกกฎกระทรวง ว่าด้วยเงื่อนไขการอนุญาตให้เล่นการพนันมวยชก มวยปล้ำ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2470 และขอให้กรมพลศึกษาปรับปรุงแก้ไขกติกาเหล่านี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น กรมพลศึกษาเห็นชอบด้วย จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมพลศึกษาร่วมมือกันพิจารณาร่างกติกามวยไทย มวยฝรั่ง และมวยปล้ำขึ้นใหม่จนสำเร็จเมื่อ 10 มีนาคม 2477 และเริ่มใช้กติกาใหม่นี้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2480 เป็นต้นไปและได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2482

     

     

    พ.ศ. 2477 กระทรวงมหาดไทยได้วางข้อบังคับคุ้มครองการแข่งขันชกมวยไทย มวยฝรั่ง เพื่อเป็นการแข่งขันชั่วคราว

     

     

    มวยอาชีพ ทางบริษัทมวยเวทีราชดำเนินได้วางระเบียบข้อบังคับ และกติกาแข่งขันขึ้นโดยได้อาศัยระเบียบข้อบังคับและกติกามวยสากล (อาชีพ) ของประเทศฟิลิปปินส์เข้าเทียบเคียงเพื่อให้เข้ากับระเบียบข้อบังคับของสหพันธ์มวยภาคตะวันออก ซึ่งประเทศไทยเราได้เป็นภาคีอยู่ด้วย ทางเวทีราชดำเนินได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับกติกาใหม่นี้ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2498 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

     

     

    สำหรับในด้านการแข่งขันมวยไทยเป็นมาอย่างไรนั้นขอนำบทความในเรื่อง "จากสวนกุหลาบถึงราชดำเนิน" ของสมิงกระหร่อง ซึ่งได้เขียนไว้ในสมุดภาพบันทึกความวิวัฒนาการของเวทีมวยราชดำเนินดังต่อไปนี้

     

     

    การเขียนเรื่องกีฬามวยไทยกำเนิดขึ้นในสมัยใดนั้นเป็นเรื่องสุดวิสัยของการเขียน กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลของการก่อตั้งกีฬามวยเมืองไทยเป็นเพียงตั้งแต่ยุคสมัยสวนกุหลาบสมัยพระยา "แม็คนนท์เสน" มาจนถึงสมัยเวทีราชดำเนินก็ตกอยู่ในภาวะอันเดียวอย่างที่เราและท่านจะเล่าสู่กันฟังได้เพียงจากความทรงจำบางระยะบางตอนเท่านั้น เพราะว่าความทรงจำของคนเรานั้นมักสั้น เรื่องที่ข้าพเจ้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังนี้ก็เสี่ยงต่อการผิดพลาดได้มากทีเดียว ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็พยายามอย่างที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าจะพยายามทำได้

     

     

    ที่เรียกว่าสนามครั้งนั้นเป็นสนามจริง นายสนามเอาเชือกมากั้นพอเป็นบริเวณเข้า แล้วนักมวยก็คาดเชือกชกกันบนพื้นดิน ใช้จอกหรือกะลาลอยน้ำเป็นมาตรากำหนดเวลาจบครั้งหนึ่งเรียกว่ายกหนึ่ง การต่อสู้ตามความรู้สึกในขณะนั้นก็เรียกว่าตื่นเต้นดี

     

     

    แต่ถ้าหากให้ชกกันเดี๋ยวนี้ก็คงถูกคนดูโห่หรือให้กรรมการไล่ลงหรือออกจากเวทีแน่ เพราะกว่าจะชกกันแต่ละครั้งนั้นนานจนเมื่อยตา แต่ก็น่าเห็นใจเนื่องจากหมัดที่ใช้ชกคาดด้วยเชือกแทนสวมนวม อย่างไรก็ดีกีฬามวยเริ่มเข้ามาสู่ระเบียบอย่างจริงจัง ก็เมื่อสร้างเวทีขึ้นกลางสนามฟุตบอลสวนกุหลาบ พื้นใช้ไม้กระยาเลยเสื่อลำแพน หรือเสื่อกระจูดปูทับข้างบน มีการนับยกโดยการจับเวลาเป็นนาทีมีกรรมการคอยห้าม ครั้งแรกเคยใช้กรรมการ 2 คน คนหนึ่งคอยกันฝ่ายแดง อีกฝ่ายคอยกันฝ่ายน้กเงิน คนหนึ่งคือพระยานนท์เสน อีกคนหนึ่งคือพระยานเรนท์ราชาที่เป็นกรรมการตัดสินที่นิยมยกย่องแพร่หลายอยู่ในระหว่างนักมวยและคณะหัวหน้านักมวยทั่วไป

     

     

    สำหรับการชกนั้น ชกกันสลับคู่ เช่น คู่ 1 ชกครบ 1 ยก แล้วก็ลงจากเวที มาให้คู่ 2 ขึ้นไปชกกันเพื่อมิให้คนดูเสียเวลารอคอย พอครบยกก็ลงให้คู่แรกขึ้นชกยกที่ 2 หากยังไม่มีการแพ้ชนะกันก็ให้ชกกลับกันเรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นแสงตะวัน

     

     

    หลักเกณฑ์และกติกาเบื้องต้นอนุญาตให้ซ้ำกันได้ในเวลาล้ม นักมวยตอนนั้นจึงเรียนรู้วิธีต่อสู้รอบตัวทีเดียวเพราะฟาวล์ไม่มี แม้กระทั่งกัดใบหูก็เคยปรากฏ อีกอย่างหนึ่งสมัยนั้นนักเรียนพลศึกษามีมากอยากจะขึ้นชกเป็นการแสดงฝีมือ และสอบไล่มวยไทยไปในตัวเสร็จแต่กลัวเท้าพวกนักมวยต่างจังหวัด จึงตกลงวางหลักกติกาให้มีการใช้ยูยิตสูช่วยด้วย จึงเป็นของธรรมดาที่เราจะเห็นนักมวยต่างจังหวัดซึ่งไม่เคยรู้ยูยิตสูคืออะไร ถูกทุ่มถูกล็อกจนออกปากส่งเสียงร้องเอ็ดตะโรยอมแพ้ให้ลั่นไป นอกจากบางรายอย่าง ประสิทธิ บุญญารมย์ ซึ่งถูกตาทับจำเกราะเตะเสียจนตั้งตัวไม่ติดและสลบคาเท้าไปในที่สุด

     

     

    กติกามวยไทยเราได้รับการทำนุบำรุง ได้รับการปรับปรุงทั้งระเบียบแบบแผน กฎกติกา จรรยา มารยาท และสวัสดิภาพตามแบบสากลนิยม หลายคนที่เคยดูมวยสมัยนั้น และสมัยต่อๆ มาที่หลักเมือง ที่สวนกุหลาบ สนามชัย ท่าช้าง เคยเห็นนักมวยและมิตรสหายชาวเกลอของนักมวยยกพวกตีกันหัวร้างข้างแตก ภายหลังจากการชิงชัย เพราะว่าฝ่ายใดไม่พอใจ ขุ่นแค้นอาฆาตพยาบาท หรือเพียงแพ้พนัน แต่เมื่อได้มาเห็นนักมวยที่หน้าตายับเยิน ตรงเข้าสวมกอดกันหลังจากที่การชกได้ยุติลงและจูงมือเข้าโรงอาหารหรือสุรา เมื่อออกจากสนามก็มักจะตื่นเต้นในความเป็นนักกีฬาที่แสดงแก่กันนั่นเองที่ผลของพลศึกษาในสาขาวิชามวยทั้งแบบไทยและสากล ได้ให้แก่จิตใจของนักกีฬาและประชาชนตลอดยุคแห่งการล้มลุกคลุกคลานของกีฬามวยจากสวนกุหลาบยุคโน้นมาจนถึงเวทีราชดำเนินในปัจจุบัน

     

    ข้อมูลจาก

     

    http://www.siamsport.co.th/

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    คำนิยม Top

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    คำนิยมล่าสุด

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    ความคิดเห็น

    ×