หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
9 ก.ย. 55
80 %
4 Votes  
#71 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
วิจารณ์ TomBoy ห้ามใจไม่ให้เผลอรัก

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 19 ม.ค. 56
TomBoy ห้ามใจไม่ให้เผลอรัก นวนิยายรักหวานแหวว ผลงานของ ปิ่นโต ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 15 แล้ว เป็นเรื่องราวความรักของวอฟเฟิล สาวทอมบอยที่หลงรักจุ๊บแจง หญิงสาวที่เป็นเพื่อนสนิทของตนมาตั้งแต่รู้จักกันครั้งแรกขณะที่เรียนชั้น ม. 2 ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อวอฟเฟิลกลับมาและพบกันอีกครั้ง และทั้งคู่เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเดียวกัน วอฟเฟิลจะสามารถสานสัมพันธ์รักกับจุ๊บแจงได้หรือไม่ และความรักครั้งนี้จะกลายเป็นความรักข้างเดียวหรือไม่ก็ต้องตามลุ้นกันต่อไป

นวนิยายเรื่องนี้ไม่ต่างจากนวนิยายแนวหวานแหววเรื่องอื่นๆ นัก และยังมีข้อด้อยคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องโดยผ่านบทสนทนาเป็นหลัก นวนิยายเรื่องนี้ก็มีปริมาณของบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย การเขียนนวนิยายที่ดีควรมีสัดส่วนของบทบรรยายมากกว่าบทสนทนา เนื่องจากบทบรรยายจะเป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินเรื่องเพื่อบรรยายเหตุการณ์ สถานที่ ฉาก บุคลิก ลักษณะ และนิสัยตัวละคร จากการที่ ปิ่นโต เน้นจุดเด่นของเรื่องที่ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของของตัวละคร ที่มักเป็นความรู้สึกที่ต้องซ่อนเร้นไว้ในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกพิเศษที่
วอฟเฟิลมีให้กับจุ๊บแจง วอลเฟิลยังไม่แน่ใจความรู้สึกที่จุ๊บแจงมีต่อตน ถ้าจะแสดงออกอย่างที่ใจคิดก็อาจจะเสียจุ๊บแจงไปตลอดกาลก็ได้ จึงเลือกที่จะซ่อนเร้นความรู้สึกรักไว้ในใจและคบเธอในฐานะเพื่อนสนิทต่อไป ขณะเดียวกันจุ๊บแจงก็เริ่มมีความรู้สึกแปลกๆ ที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อวอฟเฟิลเข้าใกล้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงหลัง หรือแม้แต่ตูมตามที่พยายามตามจีบจุ๊บแจงทั้งๆ ที่รู้ว่าเธอไม่รัก และรู้ทั้งรู้ว่าจุ๊บแจงกับวอฟเฟิลมีความรู้สึกตรงกัน เพียงแต่ทั้งคู่ไม่กล้าแสดงออกให้อีกฝ่ายรับทราบ ผู้วิจารณ์เห็นว่าหาก ปิ่นโต สามารถนำเสนออารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของตัวละครผ่านบทบรรยายแทนบทสนทนาให้มากขึ้น ก็จะถ่ายทอดความรู้สึกในใจและเหตุผลในความรักตัวละครได้หนักแน่นชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ คล้อยตาม และเห็นใจตัวละครแต่ละตัวที่ต้องตกอยู่ในวังวนของความรักในครั้งนี้มากขึ้น

ประการต่อไป คือ ความสมจริง การสร้างจุดเริ่มต้นความรักของวอฟเฟิลที่มีต่อจุ๊บแจง โดยให้เหตุผลพียงแค่ว่าวอฟเฟิลประทับใจในความสดใสน่ารักของจุ๊บแจงเท่านั้น ดูไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้วอฟเฟิลรักมั่นและผูกพันกับจุ๊บแจงได้มากถึงขนาดที่ว่า แม้จะต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศกับครอบครัวนานถึง 3 ปี เมื่อกลับมาเมืองไทยก็หาโอกาสที่จะสานสัมพันธ์ในความรักนี้ต่อไป โดยส่วนตัว ผู้วิจารณ์เห็นว่า ปิ่นโต ควรจะต้องขยายการปูเรื่องในช่วงต้นให้มีความละเอียดมากขึ้น โดยอาจจะต้องสร้างเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญพอที่เป็นจุดเริ่มต้นในความรักมั่นครั้งนี้ มากกว่าเท่าที่เล่าไว้ในเรื่องว่าทั้งคู่แค่พบกันในห้องเรียน และบางครั้งก็มาทำงานต่อที่บ้านของจุ๊บแจง ขณะเดียวกันก็อาจต้องเพิ่มบทบรรยายความรู้สึกของวอฟเฟิลเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลหรือเข้าใจความประทับใจที่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นรักแท้ที่ฝังใจวอฟเฟิลจนไม่อาจลืมจุ๊บแจงได้ นอกจากนี้ ความไม่สมจริงอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ การให้จุ๊บแจงได้รับคัดเลือกเป็นนางเอกละครเวทีของคณะต้องแสดงบทจูบจริงๆบนเวที ทั้งๆ ที่มีอาจารย์ของคณะเป็นผู้ควบคุมการแสดง ผู้วิจารณ์เห็นว่า แม้ว่าเนื้อหาของละครจะเป็นเรื่องราวความรักของวัยรุ่น แต่ไม่น่าที่กำหนดให้มีฉากที่พระเอกจะต้องจูบนางเองจริงๆ บนเวที เพราะการแสดงดังกล่าวในสถานศึกษายังถือว่าเป็นความประพฤติล่อแหลมต่อศีลธรรมอันดีได้ และหากจะมีฉากดังกล่าวก็เป็นฉากที่แสดงหลอกๆ แทนการจูบจริงก็ได้

ในประเด็นเกี่ยวกับพัฒนาการของเรื่อง พบว่าแม้ว่าเรื่องนี้จะเขียนถึงตอนที่ 15 แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเรื่องจะยังพัฒนาไปไม่มากนัก เพราะเน้นอยู่เพียงแค่ชีวิตประจำวันของวอฟเฟิล จุ๊บแจง และเพื่อนๆ ขณะเดียวกันเรื่องส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่กับการแอบรัก เข้าใจผิด งอน หึง ง้อ และคืนดีระหว่างวอฟเฟิล จุ๊บแจง และตูมตาม ในที่นี่เห็นว่า ปิ่นโต สามารถที่จะพัฒนาให้เรื่องน่าสนใจขึ้น โดยไม่ต้องวนอยู่ในประเด็นเดิมๆ ได้ หากมุ่งไปที่การสร้างและพัฒนาปมปัญหาที่สร้างขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้เรื่องราวทวีความเข้มข้นขึ้น ก่อนที่จะคลี่คลายปัญหา เพื่อที่จะนำไปสู่ตอนจบของเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้เห็นว่า ผู้เขียนได้สร้างปมปัญหาใหญ่ๆ ที่น่าสนใจไว้แล้วอย่างน้อย 2 ประการ คือ จุ๊บแจงจะยอมรับความรักที่ผิดไปจากค่านิยมของสังคมครั้งนี้ได้หรือไม่ กับ ปมความรักสามเส้าระหว่าง วอฟเฟิล จุ๊บแจง และตูมตาม ก็จะทำให้เรื่องดูน่าติดตามและมีมิติมากกว่าที่จะสนใจเฉพาะประเด็นปัญหาย่อยๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของตัวละครดังที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่า ปิ่นโต กำลังจะเปิดตัวคู่รักใหม่อีกหนึ่งคู่ คือตูมตามกับมินท์ แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคู่กัดกันก็ตาม แต่ตอนนี้ทิศทางเรื่องเปลี่ยนไป โดยมินท์เริ่มสงสารและเห็นใจตูมตามมากขึ้น ขณะเดียวกันตูมตามก็เริ่มมองเห็นมินท์ในมุมมองอื่นที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งดำเนินเรื่องของความรักของคนทั้งคู่ขนานไปพร้อมๆ กับโครงเรื่องหลักที่ตั้งใจไว้ก็น่าจะช่วยให้เรื่องมีความซับซ้อนมากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ คำผิด พบว่าในนวนิยายเรื่องนี้มีคำผิดเป็นจำนวนมาก เช่น อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตสาห์ สเปค เขียนเป็น เสป็ค เขี้ยว เขียนเป็น เคี้ยว ประบ่า เขียนเป็น ปะป่า คอนเสิร์ต เขียนเป็น คอมเสริ์ต รังเกียจ เขียนเป็น รังเกลียด พึมพำ เขียนเป็น พรึมพรำ อ๋อ เขียนเป็น ออ เหรอ / หรือ เขียนเป็น หรอ พร้อมเพียง เขียนเป็น พร้อมเพรียง เออ เขียนเป็น ออ นี่ เขียนเป็น นิ จับสลาก เขียนเป็น จับฉลาก โคตร เขียนเป็น โครต หอบแฮกๆ เขียนเป็น หอบแฮๆ และ เป็นอย่างไร หรือ เป็นไง เขียนเป็น เปงไง นอกจากนี้จะพบว่า ปิ่นโต มักจะมีปัญหากับการเขียนคำที่ใช้วรรณยุกต์ตรี หรือไม้ตรี เช่น เนี้ย เขียนเป็น เนี้ยะ คร้าบ เขียนเป็น คร๊าบ ค้า เขียนเป็น ค๊า นะ เขียนเป็น น๊ะ น้า เขียนเป็น น๊า ด้วยเหตุนี้จึงอยากฝากกฎง่ายที่จะช่วยได้คือ ตัวอักษรในภาษาไทยที่จะสะกดกับวรรณยุกต์ตรี และจัตวา ได้มี 9 ตัวเท่านั้น ซึ่งเป็นอักษรกลางทั้งหมด คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ ตัวอักษรอื่นที่นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถใช้ได้ อีกทั้งยังมีบางคำที่ใช้คำขยายผิดความหมาย เช่น ถือของอีรุงตุงนัง (ในที่นี้คำว่าอีรุงตุงนัง ก็ว่าสะกดผิดด้วยเขียนผิด คำที่ถูกต้องเขียนว่า อีนุงตุงนัง หมายถึง พันกันยุ่ง หรือ รุงรัง) ควรใช้เป็น ถือของพะรุงพะรัง แทน (พะรุงพะรัง หมายถึง ระเกะระกะ หรือ ปะปนกันรุงรัง) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า ปิ่นโต จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องการสะกดคำให้มากขึ้น เพราะหากลงปริมาณคำผิดลงได้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเรื่อง ขณะเดียวกันจะช่วยให้เรื่องน่าอ่านมากขึ้นด้วย

-----------------------

     
 
ใครแต่ง : Ureion
17 ม.ค. 57
80 %
6 Votes  
#72 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Demon Prince ผมนี่แหละจะเป็นราชาปีศาจ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 12 มี.ค. 56
นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Demon Prince ผมนี่แหละจะเป็นราชาปีศาจ ผลงานของ Ureion ซึ่งเพิ่งจะโพสต์ถึงตอนที่ 12 เป็นเรื่องราวของ เทรส เอฟราลอฟ เจ้าชายลำดับ 3 ของราชวงศ์เอฟราลอฟ ราชวงศ์แห่งผู้กล้าที่ปราบ
ซอรันจ้าวปีศาจและผนึกซอรันไว้ แต่เจ้าชายเทรสกลับเป็นผู้ที่ปลดปล่อยซอรันโดยบังเอิญ ซอรันจะยึดร่างของเทรสเพื่อจะกลับมาเป็นจ้าวปีศาจอีกครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่าร่างของเทรสคือสัญลักษณ์ของผู้กล้า ที่สามารถสะกดซอรันให้อยู่ในร่างของเขาได้อีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ เทรสจึงมีความคิดอยากจะเป็น “ราชปีศาจ” โดยอาศัยพลังปีศาจของ
ซอรันกรุยทาง เขาจึงหนีออกจากพระราชวัง และเปลี่ยนชื่อเป็นทรอนโลดแล่นไปในโลกกว้าง เพื่อสั่งสมประสบการณ์และสะสมกำลังเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นราชาปีศาจต่อไป

แม้ว่า Demon Prince ผมนี่แหละจะเป็นราชาปีศาจ จะมีโครงเรื่องหลัก (main plot) เกี่ยวกับเทรสและเส้นทางของการจะขึ้นเป็นราชาปีศาจที่เด่นชัด แต่ในเรื่องนี้ก็มีโครงเรื่อยย่อย (sub plot) ที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเทรส เรื่องของรีลกับเส้นทางของการเป็นผู้กล้า
เอลล่า คู่หมั้นสาวของเทรสที่ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เมื่อทั้งคู่มาพบกันในครั้งนี้ เอลล่ากลับติดตามทรอน (ชื่อปลอมของเทรส) โดยไม่คาดสายตา เพียงต้องการให้เขาขอโทษเธออย่างจริงใจ ลิซ่า สาวน้อยกำพร้าลูกครึ่งปีศาจที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเทรส ในเรื่องนี้ Ureion สามารถที่จะผสานโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ขณะเดียวกันโครงเรื่องย่อยๆ จำนวนมากเหล่านี้ยังช่วยสนับสนุนโครงเรื่องหลักให้เด่นชัด น่าสนใจ และน่าติดตามมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ Ureion ยังเพิ่มความน่าติดตามของเรื่องด้วยการสร้างปริศนาและความลับไว้เป็นระยะๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ให้กับผู้อ่านที่จะติดตามต่อไปว่าปริศนาเหล่านี้จะคลี่คลายอย่างไร และความลับที่ปกปิดไว้จะเปิดเผยอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอลล่าเมื่อ 8 ปีก่อนที่เธอไม่อยากกล่าวถึง เหตุใดเจ้าชายเทรสถึงต้องถูกแยกออกจากพระมารดาเพื่อให้มาใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง สิ่งสำคัญที่พวกคีลอฟต้องการคืออะไร ซึ่งทำให้ฝ่ายเซฟิมแห่งราชวงศ์เอฟราลอฟเกรงว่าพวกเขาจะเอาชีวิตของเจ้าชายเทรสมาเป็นเครื่องต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาครอบครอง อีกทั้งในตอนจบแต่ละตอน Ureion ยังสามารถทิ้งท้ายไว้อย่างน่าติดตาม และกระตุ้นให้ผู้อ่านรอคอยที่จะอ่านตอนต่อไป เช่น เปิดตัวละครใหม่ๆ บางตัวที่น่าสนใจ ฉากการต่อสู้ที่ฝ่ายพระเอกกำลังจะเพลี่ยงพล้ำ เปิดปริศนาหรือคำถามที่จะต้องรออ่านเฉลยในตอนต่อไป

ความน่าสนใจประการต่อไป คือ การสร้างตัวละคร โดยเฉพาะกลุ่มตัวละครหลักๆ ที่ทยอยเปิดตัวมาตั้งแต่ต้นเรื่อง ตัวละครแต่ละตัวต่างมีลักษณะเฉพาะตนที่โดดเด่น และยังคงลักษณะเฉพาะเหล่านั้นไว้อย่างเหนียวแน่นและชัดเจน ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำ เข้าถึงตัวละครเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเทรส เจ้าชายที่ฉลาดหลักแหลม ไร้พลังเวท ต้องอาศัยพลังปีศาจจากซอรัน ไว้ผมปกปิดใบหน้าที่หล่อเหลาของตน และแต่งตัวปอนๆ จนคนส่วนใหญ่ที่เห็นเขาต่างดูถูก เพราะคิดว่าเป็นขอทาน การที่ซอรันที่มีพลังปีศาจที่สูงส่ง แต่ไม่สามารถที่จะสำแดงตัวเองได้ ต้องรอจนกระทั่งเทรสหมดสติไปก่อน รีล ชายหนุ่มหล่อเหลา แต่หย่อนมารยาท โดยเฉพาะมารยาทบนโต๊ะอาหาร แต่มีฝีมือสูงส่งและเปี่ยมด้วยพละกำลัง อีล ผู้ติดตามปกป้อง อารักขาเอลล่า ที่มีฝีมือฉกาจ และซื่อสัตย์อย่างยิ่ง ลิซ่า สาวน้อยลูกครึ่งปีศาจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และ เอลล่า สาวสวย ร่ำรวย ไม่เคยตกระกำลำบาก ใจอ่อน เอาแต่ใจตัวเองเป็นที่สุด และตามคอยเฝ้าเทรสทุกฝีก้าว เพราะกลัวเขาจะหาทางหนีไปจากเธอ แม้ว่า Ureion จะมีตัวละครเด่นๆ อยู่หลายตัว แต่ก็ยังคงเฉลี่ยบทบาทให้กับตัวละครทุกตัวได้อย่างทั่วถึง และให้แต่ละตัวต่างก็มีบทบาทในเรื่องในทุกตอน โดยไม่ทอดทิ้งตัวละครตัวหนึ่งตัวใดไปเลย

แม้ว่า Ureion จะสร้างความน่าติดตามและความตื่นเต้นในเรื่องด้วยฉาก สถานการณ์ และสร้างตัวละครใหม่ๆ ที่กลายมาเพื่อนในกลุ่มเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งในทางหนึ่งกลวิธีเช่นนี้กระตุ้นให้ผู้อ่านกระหายใคร่รู้ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป เพราะว่าผู้อ่านไม่สามารถคาดเดาทิศทางเรื่องได้เลย แต่ในอีกทางหนึ่ง Ureion ก็ต้องพึงระวังด้วยเช่นกันว่า การสร้างความน่าสนใจของเรื่องด้วยการเปิดตัวละครใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นนี้อาจะทำให้เรื่องนี้มีตัวละครจำนวนมากเกินความจำเป็น และในตอนท้ายๆ อาจจะต้องประสบปัญหาที่จะต้องพยายามกำจัดตัวละครที่ไม่ค่อยมีความสำคัญออกไปจากเรื่องก็เป็นได้

Ureion นับว่ามีความสามารถในการบรรยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากการต่อสู้ ที่บรรยายได้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายอาวุธ พลังเวทที่ตัวละละครใช้ และขณะที่ฉากต่อสู้ทวีความรุนแรงและดุเดือดขึ้น ก็บรรยายได้อย่างกระชับ ฉับไว ซึ่งการบรรยายเช่นนี้ช่วยเสริมอารมณ์ผู้อ่านขณะอ่านได้ จนผู้อ่านสามารถจินตนาการหรือสร้างภาพการต่อสู้ราวกับกำลังชมการต่อสู้เหล่านั้นด้วยตาตนเอง ส่วนบทสนทนาก็ทำได้เป็นอย่างดี เพราะบทสนทนาที่ใช้ช่วยขับเน้นให้ผู้อ่านรับรู้ถึงอุปนิสัย และช่วยสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัวให้เด่นชัดมากขึ้น

ทว่านวนิยายเรื่องนี้มีข้อด้อยที่เห็นชัดใน 2 ประการ คือ Ureion มักจะสอดแทรกการอธิบายความหมายของคำบางคำลงไปในเรื่อง โดยใช้คำว่าหมายเหตุก่อนที่จะอธิบายความหมายของคำนั้นๆ โดยแทรกลงไประหว่างที่เรื่องกำลังดำเนินอยู่ ซึ่งทำให้ข้อความในส่วนนี้แปลกแยกจากเนื้อเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่ ในทางหนึ่งการแทรกหมายเหตุในเรื่องสามารถกระทำได้ โดยแทรกในลักษณะของเชิงอรรถท้ายเรื่อง หรืออีกวิธีหนึ่งที่เหมาะสมมากกว่า คือ พยายามหาทางแทรกความหมายดังกล่าวไว้ในเนื้อเรื่อง โดยเพิ่มคำอธิบายดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง เช่น อาจจะให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งไม่รู้จักสิ่งนั้น และถามเป็นคำถามขึ้นมา และให้ตัวละครตัวหนึ่งตัวใดอธิบายให้ฟัง หรือการแทรกคำอธิบายเป็นส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผู้เขียนก็ได้

ข้อด้อยประการที่สอง คือ คำผิด ซึ่งมีทั้งที่เขียนผิด เช่น บังลังก์ เขียนเป็น บังลังค์ กะเทาะหิน เขียนเป็น เทาะหิน ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ เฮ้ เขียนเป็น เห้ เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน ฮะๆ เขียนเป็น หะๆ ผลาญ เขียนเป็น พลาญ พนักงาน เขียนเป็น พนังงาน โคตร เขียนเป็น โครต ม้าง หรือ มั้ง เขียนเป็น ม๊าง ปีติ เขียนเป็น ปิติ โห เขียนเป็น โหว เคาน์เตอร์ เขียนเป็น เคาเตอร์ เฮ้อ เขียนเป็น เห้อ เปอร์เซ็นต์ เขียนเป็น เปอเซนต์ เฮ เขียนเป็น เห เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทมนต์ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา กำลัง เขียนเป็น กับลัง เหลาะแหละ เขียนเป็น หละแหละ ร้อนรน เขียนเป็น ร้อนลน สงสัย เขียนเป็น สงใส เกล็ดน้ำแข็ง เขียนเป็น เกร็ดน้ำแข็ง (เกร็ด ใช้กับ เกร็ดความรู้) ข้าวบ่าย เขียนเป็น ข่าวบ่าย การใช้คำพ้องเสียงผิด เช่น เพิ่งตื่น (เพิ่ง มักใช้นำหน้าคำกริยา หมายถึง ดำเนินกริยานั้นไปไม่นาน) เขียนเป็น พึ่งตื่น (พึ่ง หมายถึง อาศัย พักพิง) การใช้คำผิดความหมาย เช่น แสงสว่างสีดำ (สีดำคือส่วนที่ทึบแสง ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดแสงสว่างได้) ถ้าบรรยายสีดำ ควรใช้ว่า เงาสีดำ สำรอกเลือดออกมา (สำรอก หมายถึง ขย้อนออกจากปาก ส่วนใหญ่จะใช้ขยายความกริยาของสัตว์) ควรใช้ว่า กระอักเลือดออกมา (กระอัก หมายถึง ทะลักออกจากคอ) คุ้มครองเจ้าชายเหลาะแหละ (เหลาะแหละ หมายถึง ไม่จริงจัง ไม่แน่นอน เอาแน่ไม่ได้) ควรใช้เป็น คุ้มครองเจ้าชายหละหลวม (หละหลวม หมายถึง สะเพร่า มักง่าย) เห (เห หมายถึง เบน เฉ) หากต้องการใช้เพื่อแสดงความแปลใจควรใช้ว่า เอ๊ (เอ๊ เป็นคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงความ สงสัย ไม่แน่ใจ) และการใช้ลักษณะนามผิด เช่น แครอทสองผล ควรใช้ว่า แครอทสองหัว

อย่างไรก็ดี นวนิยายเรื่องนี้นับว่ามีความน่าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องให้คาดเดาไม่ได้ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด ตัวละครที่มีสีสันโดดเด่นเฉพาะตัว และเรื่องยังเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ครบรส ไม่ว่าจะเป็นความสนุก ความตื่นเต้นในการผจญภัยและต่อสู้ ความรัก ความโศกเศร้า ความลึกลับด้วยปมปริศนา และความตาย หาก Ureion แก้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเรื่องได้ ก็จะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น



---------------------------------------------------------

     
 
ใครแต่ง : preme v.
1 ก.พ. 58
80 %
3 Votes  
#73 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ Dizzy Story : คืนชีพอหังการ์ราชามังกร

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 22 มี.ค. 56
นวนิยายแฟนตาซีขนาดสั้น 13 ตอนจบ (รวมบทนำ และตอนพิเศษ 1 ตอน ) เรื่อง Dizzy Story : คืนชีพอหังการ์ราชามังกร ของ VANDOY เป็นเรื่องราวของชาเดย์ มังกรดำอายุสี่พันปี ที่เพิ่งจะเป็นอิสระจากการถูกมนตรร์สะกดของศิลาผลึกจิตทำให้กลายเป็นหินมานานถึงสองพันปีด้วยฝีมือ เลโอนาร์ด อัศวินขาว ผู้เก่งกาจที่สุดในยุคนั้น แต่การกลับมามีชีวิตใหม่ของชาเดย์ในครั้งนี้ โชคชะตาก็นำพาเขาได้กลับไปพบกับเลโอนาร์ด คู่แค้นเก่าของตน ซึ่งบทสรุปการเผชิญหน้าระหว่างคู่อริในครั้งนี้จะเป็นอยางไร ก็คงต้องอ่านนิยายเรื่องนี้กันเอง

VANDOY เลือกใช้กลวิธีการเปิดเรื่องที่น่าสนใจ ด้วยฉากที่มนตร์สะกดชาเดย์กำลังค่อยๆ คลายออก จนเขาเป็นอิสระในที่สุด แล้วถึงจะเล่าย้อนถึงสาเหตุที่ทำให้เขาต้องถูกผนึกเป็นหินในครั้งนี้ ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อไป ซึ่งช่วยทำให้เรื่องดูน่าสนใจและน่าติดตาม ขณะเดียวกันก็ยังทิ้งปริศนาที่ชวยติดตามไว้ด้วย นั้นคือ เมื่อดำเนินไปได้ 1-2 ตอน ชาเดย์ก็สัมผัสดวงจิตของ เลโอนาร์ด ศัตรูคู่แค้นเมื่อสองพันปีก่อนของเขาได้เป็นระยะๆ และบางครั้งก็เห็นเงาร่างของเลโอนาร์ด้วย แต่เขายังไม่มีโอกาสได้เผชิญหน้ากันตรงๆ จนเกือบจบเรื่องที่ VANDOY ค่อยเฉลยว่าแท้ที่จริงแล้ว ดวงจิตของเลโอนาร์ดซ่อนตัวอยู่ที่ใด ซึ่งต้องยอมรับว่า VANDOY สามารถหลอกทั้งชาเดย์ และผู้อ่านได้อย่างแนบเนียบ เพราะไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าดวงจิตของเลโอนาร์ดจะอยู่ที่นั่น

การสร้างตัวละครนับเป็นจุดเด่นประการสำคัญที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้น่าติดตาม จะเห็นได้ว่าตัวละครหลักๆ ในเรื่องมีอยู่ไม่กี่ตัว แต่ว่าตัวละครทุกตัวต่างมีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน ชวนจดจำ ไม่ว่าจะเป็น แมร์เซเดส หัวหน้าหน่วยองครักษ์หญิงที่มีหน้าที่ดูแลองค์รัชทายาท ที่กล้าหาญ ยอมตายเพื่อปกป้องรัชทายาท มีฝีมือในการยิงธนูยอดเยี่ยม และมีบุคลิกที่ทำให้ชาเดย์รู้สึกเกรงใจ องค์รัชทายาทจิม เด็กที่อยากรู้อยากเห็น มีพลังเวทสูง เป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ และติดชาเดย์มากจนาขาต้องมาทำหน้าที่พี่เลี้ยงคอยดูแลจิม ฃ อัลแบร์ อัศวินขาว ที่มีคุณสมบัติของการเป็นอัศวินอย่างครบถ้วน รักษาสัจจะ และรักและห่วงใยน้องสาวมาก และ ชาเดย์ มังกรดำ ปากร้าย แต่ใจดี มีฝีมือ รักความยุติธรรม และชอบช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน โดยเฉพาะชาเดย์ นับได้ว่าเป็นตัวละครที่สร้างสีสันให้เรื่องน่าติดตามได้มากที่สุด

นอกจากนี้จะพบว่า VANDOY มีความสามารถในการสร้างทั้งบทสนทนาและบทสนทนา เพราะบทบรรยายที่ละเอียด ทั้งการบรรยายลักษณะของตัวละคร บรรยาย ฉาก บรรยากาศ รวมทั้งการเดินทาง การต่อสู้ และการหลบหนีได้อย่างมีชีวิตชีวา อันช่วยให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการภาพตามได้นับเป็นกลวิธีสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยให้นิยายแฟนตาซีเรื่องนี้ชวนให้อ่านและน่าติดตาม ขณะเดียวกันบทสนทนาที่ใช้ก็ช่วยให้เสริมให้ผู้อ่านเข้าใจและเข้าถึงตัวละครในเรื่องได้มากขึ้น เพราะบทสนทนาเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็ช่วยนำเสนออุปนิสัย ความคิด และอารมณ์ของตัวละครได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาเดย์ จะพบว่าส่วนใหญ่ผู้อ่านรู้จักตัวตนของชาเดย์ผ่านบทสนทนามากกว่าบทบรรยาย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การที่ VANDOY ขึ้นย่อหน้าใหม่บ่อยครั้ง จนทำให้นวนิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยย่อหน้าสั้นๆ ประมาณ 2-3 บรรทัดโดยตลอด และบางครั้งความในย่อหน้าหนึ่งๆ ยังไม่จบขึ้นย่อหน้าใหม่แล้ว จึงเห็นว่า VANDOY ควรจะรอให้ความจบเนื้อความก่อนแล้วจึงจะขึ้นย่อหน้าใหม่ ก็จะช่วยให้การบรรยายเหล่านั้นเรียงร้อยต่อกันไปอย่างลื่นไหล โดยไม่มีการขึ้นย่อหน้าใหม่มาขัดจังหวะให้การบรรยายในตอนนั้นๆ จนทำให้ขาดอรรถรสในการขณะอ่าน

Dizzy Story : คืนชีพอหังการ์ราชามังกร มีการดำเนินเรื่องที่กระชับ ฉับไวทำให้เรื่องน่าติดตาม จึงต่างจากนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ ที่มักจะเป็นนิยายขนาดยาว แต่การเขียนที่กระชับเช่นนี้ก็ทำให้เกิดข้อชวนสงสัยสำหรับผู้อ่านด้วยเหมือนกัน เพราะจากที่อ่านมาจนถึงตอนที่ 12 นั้นพบว่าผู้เขียนยังไม่ได้อธิบายเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ที่มีผลต่อเรื่องในครั้งนี้ นั่นคือข้อตกลงระหว่างปู่ของชาเดย์ที่ทำไว้กับเลโอนาร์ดคืออะไร และ เหตุใดเผ่าพันธุ์มังกรถึงต้องอาศัยอยู่แต่เฉพาะในเกาะกลางทะเลเหนือ ไม่สามารถข้ามมายังแผ่นดินของมนุษย์ได้ ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่า VANDOY อธิบายไว้ในตอนที่ 13 ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่องหรือไม่ เนื่องจากตอนที่ 13 ถูกลบไปแล้ว

สำหรับชื่อเรื่อง Dizzy Story : คืนชีพอหังการ์ราชามังกร โดยส่วนตัวเห็นว่า VANDOY น่าจะต้องการสื่อความว่า เรื่องยุ่งเหยิงในการคืนชีพของชาเดย์ ราชามังกรจอมอหังการ์ ซึ่งก็นับว่าชื่อเรื่องสามารถสื่อความเรื่องราวที่นำเสนอได้เป็นอย่างดี เพราะนับตั้งแต่ชาเดย์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ชีวิตของเขาก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่แสนจะสับสนวุ่นวาย แต่สิ่งที่ยังเป็นข้อกังขาอยู่หลังจากอ่านเรื่องจบ คือ ยังสงสัยความเป็นราชาของชาเดย์ จนรู้สึกว่า ชาเดย์ ดูจะเป็นผู้ที่สถาปนาความเป็นราชามังกรให้กับตนเอง เพราะเขาเองผู้ประกาศว่า “ข้า...ชาเดย์ ราชันห์แห่งมังกรทั้งหลายกลับมาแล้ว” และนอกจากการประกาศของชาเดย์ในตอนต้นแล้วก็ยังไม่มีตอนใดในเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าชาเดย์เป็นราชามังกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่ชาเดย์ไปที่เกาะกลางทะเลเหนืออันเป็นที่ชุมนุมของมังกร ซึ่งเดิมครอบครัวเขาก็อาศัยอยู่ที่นั่น แต่บัดนี้คงมีแต่ปู่ของเขาเท่านั้นที่อยู่ที่เกาะแห่งนั้น การเดินทางไปในครั้งนี้ ชาเดย์ได้พาร่างมีสต์ (ลูกมังกรขาวที่ต้องถูกกำจัด เพราะตามความเชื่อของเผ่าพันธุ์มังกรนั้น มังกรขาวเป็นอันตรายต่อเผ่าพันธุ์จึงต้องร่วมกันกำจัดตั้งแต่แรกเกิด) หนีมากับเขาด้วย ทำให้ปู่และมังกรอีกจำนวนหนึ่งออกตามล่าเขา จนเขาต้องหนีตายกลับมาแผ่นดินใหญ่ด้วยร่างกายที่สะบักสะบอม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่าชาเดย์เป็นเพียงมังกรหลงฝูงตัวหนึ่งที่แยกตัวออกมาอยู่ลำพังในแผ่นดินใหญ่เท่านั้น หรือความเป็นราชามังกรของชาเดย์อาจจะเปิดเผยไว้ในบทที่ 13 ซึ่งเป็นตอนจบของเรื่อง

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ความสมบูรณ์ของเรื่องนี้ถูกลบเลือนด้วยคำที่สะกดผิดเป็นจำนวนมาก เช่น ของ เขียนเป็น ข้อง ม้ากมาก เขียนเป็น ม๊ากมาก หน่วย เขียนเป็น หน่อย ตะกละตะกลาม เขียนเป็น ตะกละตะกราม อุตสาห์ เขียนเป็น อุส่าห์ แป๊บ เขียนเป็น แปป ยาม เขียนเป็น ยาว ล็อก เขียนเป็น ล๊อก ตั้งแต่ เขียนเป็น ตั่งแต่ ของ เขียนเป็น ชอง สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ เหลือบ เขียนเป็น เลหือบ ตะกุย เขียนเป็น ตะกุก โธ่เอ๊ย เขียนเป็น โถ่เอ๊ย อัลแบร์ เขียนเป็น อลัแบร์ เดียว เขียนเป็น เดี๋ยว ถือ เขียนเป็น ถูก อยู่ เขียนเป็น อยุ่ กะพริบ เขียนเป็น กระพริบ กึ่ง เขียนเป็น กิ่ง ผล็อย เขียนเป็น ผล๊อย ประกาย เขียนเป็น กระกาย สับปะรังเค เขียนเป็น สัปปะรังเค กรู เขียนเป็น หรุ เวท เขียนเป็น เวทย์ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ คำว่า “กระบือ” แทนคำว่า “วัว” อยู่หลายแห่งในบทที่ 10 (นักจับรับจ้าง) ในที่นี้คำสุภาพของ “วัว” คือ “โค” ส่วน “กระบือ” เป็นคำสุภาพของคำว่า “ควาย” เมื่อใช้สลับกันทำให้ผู้อานสับสนในขณะที่อ่านว่าสัตว์ที่ชฃเดย์กำลังต่อสู้อยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นวัวหรือควายกันแน่

จากเหตุที่กล่าวมาข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่า Dizzy Story : คืนชีพอหังการ์ราชามังกร เป็นนิยายแฟนตาซีที่สนุกและน่าติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ VANDOY ทิ้งปมไว้ให้ผู้อ่านติดตามอยากทราบตอนจบว่าสุดท้ายแล้วชาเดย์จะเลือกทางออกอย่างไร และเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร จึงเสียดายที่ลบตอนจบออกแล้ว และไม่ทราบว่าจะติดตามอ่านตอนจบได้ที่ใด

----------------------------------
     
 
ใครแต่ง : Midnight
8 มี.ค. 57
80 %
5 Votes  
#74 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์ มนตราไซเบอร์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 26 มี.ค. 56
มนตราไซเบอร์ โดยคุณ Midnight เป็นนิยายแฟนตาซีผสมกับการสืบค้นคลี่คลายปมความลับ ความรัก มิตรภาพและความอยู่รอดของพวก “วอนเดอร์แบรส” Midnight ผู้เขียนได้โพสต์ไว้ถึงตอนที่ 47 ซึ่งการดำเนินเรื่องน่าจะไปถึงช่วงกลางของเรื่องแล้ว ผู้วิจารณ์มีข้อสังเกตว่าผู้เขียนโพสต์นิยายเรื่องนี้ติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ แต่อยู่ๆ ก็หยุดโพสต์เป็นเวลาที่นาน ผู้วิจารณ์เข้าใจว่าผู้เขียนอาจะกำลัง rewrite นิยายเรื่องนี้ ผู้วิจารณ์จึงจะขอแสดงความคิดเห็นเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เขียนในการ rewrite ครั้งนี้

มนตราไซเบอร์เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพวก “วอนเดอร์แบรส” เป็นกลุ่มผู้ที่มีพลังเวทมนตร์อาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์โดยที่ไม่สามารถที่จะแสดงพลังเวทมนตร์หรือเปิดเผยตัวตนต่อหน้ามนุษย์ได้ ซึ่งมีผู้ปกครองและองค์กรที่ดูแลควบคุมอย่างลับๆ นิโคลัส สคินเทอร์รี่ หรือ นอร์สเด็กหนุ่มกำพร้าวอนเดอร์แบรสเลือดผสมที่ได้รับการอุปการะจากแบล็กวินด์เจ้าของพิพิธภัณฑ์ปีศาจใช้ชีวิตการเป็นนักเรียนและทำงานร่วมกับมนุษย์อย่างปกติ แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้นอร์สต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับแผนการร้ายของอาร์นาโดหนึ่งในสามของผู้ปกครองวอนเดอร์แบรส โดยมีชีวิตของโรซาน แมกคาดัมเพื่อนสาวชาวมนุษย์คนสนิท และแบล็กวินด์ผู้มีพระคุณเป็นเดิมพัน ปฏิบัติการช่วยเหลือโรซานและแบล็กวินด์ทำให้นอร์สและเพื่อนชาววอนเดอร์แบรสอีกสองคนคือ เมลโล่ เคย์เลและนาตาชา เบรธต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับแผนการร้ายของอาร์นาโด ทั้งนี้ผู้เขียนหยุดการไพสต์ไว้แค่นี้ ซึ่งต้องติดตามต่อว่าผู้เขียนจะให้เรื่องดำเนินการต่อไปอย่างไร

ชื่อเรื่อง “มนตราไซเบอร์” ผู้วิจารณ์ขอยอมรับว่าเมื่ออ่านชื่อเรื่องครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องในโลกไซเบอร์หรือโลกเสมือนจริงที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ออนไลน์ เมื่ออ่านไปได้ระยะหนึ่งก็พยายามที่จะหาความเกี่ยวข้องของชื่อเรื่องกับการดำเนินเรื่องซึ่งก็ไม่พบว่าจะมีความเกี่ยวข้องโลกไซเบอร์แต่อย่างใด จนกระทั่งผู้เขียนกล่าวถึงหุ่นยนต์ “ไซบอร์ก” และใช้คำว่า “ไซเบอร์” ในความหมายของประเภทของหุ่นยนต์ที่มีพัฒนาการขั้นสูงกว่า ไซบอร์ก ผู้วิจารณ์ขอแนะนำว่าควรที่จะใช้คำใหม่ หรือสร้างคำขึ้นมาใหม่ เพราะคำว่า “ไซเบอร์” เป็นคำที่มีความหมายอันที่เป็นที่รับรู้ทั่วไป การที่จะนำคำนี้มาใช้ในความหมายอื่นอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้

การดำเนินเรื่องนั้นผู้เขียได้วางโครงเรื่องไว้เป็นอย่างดี พล็อตเรื่องใหญ่คือปฏิบัติการที่นอร์สต้องช่วยเหลือ โรซานและแบล็กวินด์ให้รอดพ้นจากอันตราย โดยๆด้รับความช่วยเหลือจากเมลโลและนาตาชาสองเพื่อนสนิทชาววอนเดอร์แบรส เมื่อทั้งสามสืบหาเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับโรซานและแบล็กวินด์ลึกมากขึ้นก็พบว่ามีความเชื่อมโยงกับแผนการชั่ววร้ายของอาร์นาโดที่จะใช้ไซบอร์กเป็นเครื่องมือในการการปฏิบัติแผนการร้ายในครั้งนี้ ผู้เขียนได้เปิดปริศนาต่างๆ ซึ่งเป็นพล็อตเรื่องย่อยที่จะสนับสนุนพล็อตใหญ่ของเรื่องตั้งแต่ต้นเรื่อง ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับไซบอร์ก หัวใจอสูร(หัวใจนางฟ้า) การตายของนักวิทยาศาสตร์อาวุโส การที่โรซานและพ่อถูกจับตัวไป การป่วยของแบล็กวินด์ การที่ จูลีน่าหนึ่งในผู้ปกครองวอนเดอร์แบรสถูกลอบสังหาร ซึ่งเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับแผนการชั่วร้ายของอาร์นาโด ผู้วิจารณ์ยอมรับว่าแม้ผู้เขียนจะสร้างพล็อตเรื่องย่อยซึ่งเป็นปริศนาที่ตัวละครเอกต้องสืบค้นและคลี่คลายซ้อนกันขึ้นมาหลายเรื่องพร้อมกัน ก็ไม่ทำให้ผู้อ่านนิยายความสับสน แต่กลับสร้างความน่าติดตามให้กับนิยาย เนื่องจากผู้เขียนยังเขียนนิยายไม่จบผู้วิจารณ์จึงยังไม่เห็นการคลี่คลายปริศนาต่างๆ แต่มีแนวโน้มที่ผู้เขียนจะสามารถคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะเปิดเผยปริศนาของโครงเรื่องหลักได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าผู้เขียนจะวางโครงเรื่องได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีข้อบกพร่องในความชัดเจนทั้งที่เกิดจากการเขียนและการที่ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่าจะให้เรื่องดำเนินไปอย่างไร ประเด็นการเขียนที่ขาดความชัดเจน เช่นบทแรกที่ผู้เขียนอธิบาย ไซบอร์กที่มีความสับสนเป็นอย่างมาก แม้ว่าผู้เขียนต้องการที่จะเปิดตัวไซบอร์กซึ่งจะเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง ผู้เขียนพยายามอธิบายว่าไซบอร์กมีลักษณะรูปร่างเหมือนกับมนุษย์ทั่วไป แต่ผู้เขียนได้แบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์อย่างชัดเจนว่า “รูปปั้นหุ่นยนต์เก่า” หรือ “หุ่นตัวนี้พูดกับเขาได้จริงๆ” ผู้เขียนจึงควรระวังการใช้คำเรียกหุ่นยนต์ เช่น “รอบนี้จึงมั่นใจว่าร่างที่ไร้วิญญาณของคนที่อยู่บนเตียงสามารถส่งกระแสจิตของตนเองได้” “คน” ในที่นี่น่าจะหมายถึง “หุ่น” การใช้ลักษณะนามที่เรียกหุ่นยนต์ควรจะใช้คำว่า “ตัว” มากกว่า “คน” และสรรพนามที่เรียกแทนหุ่นยนต์ควรจะใช้ “มัน” ทั้งนี้ผู้วิจารณ์ยังมีความสงสัยว่าทำไมหุ่นยนต์จึงมีวิญญาณได้และตายได้ และวิญญาณของหุ่นนั้นสามารถที่จะติดต่อกับพวกวอนเดอร์แบรสได้อย่างไร (ซึ่งผู้เขียนอาจจะอธิบายในตอนที่ยังไม่ได้โพสต์) ผู้เขียนต้องให้ความสำคัญกับบทแรกของนิยายเป็นอย่างยิ่ง หากตอนแรกมีความสับสนจะทำให้ผู้อ่านไม่ติดตามอ่านตอนต่อไป ข้อบกพร่องที่พบอีกประการหนึ่งคือ การที่ผู้เขียนสมมติประเทศโคแลนด์ว่าตั้งอยู่ในทวีปยุโรป โดยให้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษและทิศตะวันตกของประเทศโคแลนด์อยู่ใกล้กับฝรั่งเศส เมื่อผู้เขียนใช้ฉากประเทศที่มีอยู่ในความเป็นจริงจะต้องคงความถูกต้องตามภูมิศาตร์ ดังนั้นเมื่อประเทศโคแลนด์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอังกฤษ ทิศตะวันตกของประเทศโคแลนด์จะต้องไม่ใช้ประเทศฝรั่งเศส เพราะประเทศฝรั่งเศสตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศอังกฤษ หรือมิฉะนั้นผู้เขียนต้องใช้ฉากหรือสถานที่ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ส่วนประเด็นที่ผู้เขียนยังไม่แน่ใจที่พบในเรื่องของ “วอนเดอร์ แบรส” ที่ในช่วงต้น ผู้เขียนพยายามที่จะไม่ใช้คำว่า “พ่อมด แม่มด” เรียกวอนเดอร์แบรสซึ่งผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าเป็นไปได้ เนื่องจากผู้ที่มีเวทมนตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อมดหรือแม่มดก็ได้ แต่ว่าในช่วงท้ายของการโพสต์ผู้เขียนกำหนดให้พวกวอนเดอร์แบรสเป็นพวกพ่อมดแม่มด ดังนั้รผู้เขียนควรที่จะกำหนดให้แน่ชัดถึงสถานภาพของวอนเดอร์แบรส นอกจากผู้วิจารณ์ยังมีความสงสัยเกี่ยวกับวอนเดอร์แบรสที่ผู้เขียนให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์โดยที่ไม่สามารถที่จะเปิดเผยตนเองและใช้เวทมนตร์ต่อหน้ามนุษย์ได้ และมีองค์กรลับของตนเองในการปกครอง โดยผู้คุ้มครองทั้งสามเป็นผู้ควบคุมเหล่าบรรดาวอนเดอร์แบรส ซึ่งผู้เขียนยังไม่ได้อธิบายถึงที่มาของวอนเดอร์แบรสว่าทำไมต้องดำเนินชีวิตเช่นนี้ (ซึ่งผู้แต่งอาจจะเฉลยในช่วงต่อไป) ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่ง

ความสมจริงของเรื่อง ผู้วิจารณ์มีข้อสังเกตว่าผู้เขียนยังขาดการให้รายละเอียดในเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่น ความสัมพันธ์ของนอร์สกับโรซาน นิยายเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องที่สำคัญคือการที่นอร์สพยายามที่จะช่วยโรซานเพื่อนสาวคนสนิทและแบล็กวินด์ผู้มีพระคุณแม้ว่าจะต้องเสี่ยงถึงชีวิตก็ตาม แต่ผู้เขียนปูพื้นความสัมพันธ์ของนอร์สกับโรซานไว้น้อยมาก ซึ่งต่างกับกรณีของแบล็กวินด์ที่ผู้เขียนอธิบายว่าเป็นผู้ที่มีบุญคุณและมีความสำคัญต่อชีวิตของนอร์ส ผู้เขียนจึงควรเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างนอร์สกับโรซานให้มากกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อในการที่นอร์สยอมเสี่ยงชีวิตของตนเองที่จะช่วยเหลือโรซาน และยังจะเป็นการสร้างความประทับใจในตัวละครทั้งสองตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย กรณีที่แบล็กวินด์ต้องล้มป่วยจากอำนาจของภาพวาดเทพธิดาขาวแห่งวอส ทั้งที่แบล็กวินด์เป็นวอนเดอร์แบรสผู้เฒ่าที่มีพลังเวทมนตร์สูงเป็นผู้ที่ทรงภูมิความรู้อย่างมากและเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ปีศาจ ซึ่งต้องรู้เรื่องราวของวัตุโบราณในพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี การที่แบล็กวินด์พลาดเสียท่าให้กับปีศาจจนต้องลมป่วยหนักนั้นต้องมีเหตุผลที่ทำให้ผู้อ่านเชื่อได้มากกว่านี้ เนื่องจากทั้งสองเหตุการณ์จะนำไปสู่การสืบค้นและคลี่คลายปมเรื่องที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด

การบรรยายตัวละคร ผู้เขียนสามารถที่จะบรรยายตัวละครทั้งลักษณะรูปร่าง บุคลิก นิสัย ความคิดของตัวละครได้เป็นอย่างดี แต่การบรรยายฉากและสถานนั้นยังไม่ละเอียดพอที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านเห็นภาพตามได้ โดยเฉพาะในการบรรยายสถาปัตยกรรมของเมือง ซึ่งผู้เขียนใช้คำที่กว้างมาก เช่น บ้านเรือนแบบยุโรป การตกแต่งภายในแบบอังกฤษ ปราสาทยอดแหลม การแก้ปัญหาการอธิบายรูปแบบสถาบัตยกรรมและศิลปะให้มีความสมจริงผู้เขียนควรที่จะศึกษาศิลปะยุคต่างๆ ของยุโรปแล้วเลือกลักษณะเด่นในยุคที่ผู้แต่งเลือกมาอธิบายจะได้ภาพฉากและสถานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังเลือกใช้คำที่ไม่ตรงความหมาย เช่น “เสียงย่างย่องออกมาจากที่ไกลๆ เป็นเสียงฝีเท้าระวัง” คำว่า “ย่างย่อง” นั้นผู้วิจารณ์ไม่เข้าใจความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงอะไร เพราะคำว่า “ย่องย่าง” เป็นการอธิบายการเต้นที่เงียบกริบ ดังนั้นไม่ควรที่จะนำมาใช้ขยายเสียงของฝีเท้าควรจะใช้คำว่า “เหงาะย่าง” “ของโบราณ” ควรใช้คำว่า “วัตถุโบราณ” “ผ้าคลุมกระเพื่อม” ควรใชเป็นผ้าคลุมปลิว,พลิ้ว,สะบัด,ไหว “กองทัพนับสิบ” ควรใช้ว่า “กลุ่มทหารนับสิบ” พรุกพรวดเข้ามา” ควรจะเป็น “วิ่งพรวดเข้ามา” “พุ่งพรวดเข้ามา”

ส่วนคำผิด พบว่าผู้เขียนพิมพ์ผิดน้อยมาก แต่จะมีที่ผู้เขียนเขียนผิดจริงๆ (คำแรกเป็นคำที่เขียนผิด-คำหลังเป็นคำที่ถูกต้อง) ปิ๊กนิ๊ก – ปิกนิก แก็งค์โจร-แก็งโจร โหมกระหนั่ม-โหมกระหน่ำ ปิศาจ-ปีศาจ เซ็งกระตาย-ซังกระตาย ฟุตปาธ-ฟุตบาท ง้ามือ-ง้างมือ รถเกี่ยวข้างโพด-รถตัดข้าวโพด เสื้อโค๊ช-เสื้อโคท เกลี่ยกล่อม-เกลี้ยกล่อม บิ๊กเบิ๊ม-บิกเบิ้ม ตระกร้าทรงกรม-ตระกร้าทรงกลม รวดราย-ลวดลาย ช่างใจ-ชั่งใจ สลัมป์-สลัม ขอโทษขอพวย-ขอโทษขอโพย ชุดกาวน์-ชุดกราวน์
     
 
ใครแต่ง : Alice Devereux/Nan-a(Alice)Hwang
23 ต.ค. 59
80 %
7 Votes  
#75 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
วิจารณ์

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 9 ธ.ค. 56
The Woman in Black ชุดดำสยอง จ้องสิงร่าง นวนิยายแนวระทึกขวัญขนาด 29 ตอนจบ ของ Nan-a (Alice) Hwang นำเสนอเรื่องราวของเด็กนักเรียนมัธยมปลาย 8 คน คือ อลิซ ไรท์, จาง เหมยลี่, เวโรนิก้า เซนโคว่า, เอมิลี่ เพจ, แพทริก คอบป์, ไรอัน เฟนน์, จีโอวานี่ เซรุตติ และ เกเบรียล ฟิชเชอร์ ขณะที่ไปทัศนศึกษาที่เมืองซาเล็ม ซึ่งเป็นเมืองมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแม่มดและการล่าแม่มดมายาวนาน ได้เล่นวีเจอร์ บอร์ด (เกมส์กระดานที่ใช้ติดต่อกับวิญญาณคนตาย) เมื่อเดินทางกลับมายังบ้านที่เมืองจอร์จทาว์น ปรากฏว่าสมาชิกในกลุ่มเริ่มถูกตามล่าและถูกฆ่าไปที่ละคน โดยซาร่าห์ กู๊ดแมน ผู้หญิงชุดดำวิญญาณอดีตแม่มดซึ่งถูกฆ่าที่เมืองซาเล็ม ทางเดียวที่พวกเขาจะเอาชีวิตรอดจากเรื่องเหนือธรรมชาติครั้งนี้ได้ คือ การกำจัดซาร่าห์ก่อนที่จะกลายเป็นฝ่ายถูกฆ่าเสียเอง
นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องได้อย่างน่าสนใจ ละมีความโดดเด่นในเรื่องของจังหวะเวลาที่ผู้เขียนวางไว้ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ในตอนต้นเรื่องซึ่งเป็นการปูเรื่องจะดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบมากนัก แต่เมื่อเริ่มการไล่ล่าของ ซาร่าห์จังหวะของเรื่องก็เปลี่ยนไป โดยจะมีความสั้น กระชั้น กระชับไว และรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องไปกับเนื้อเรื่องที่ทวีคามเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป หรือตามจำนวนเหยื่อที่ถูกกำจัด นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเล่นกับการใช้จังหวะเวลาในการสร้างความน่าสนใจและความน่าตื่นเต้นให้กับเรื่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทอดระยะเวลาเพื่อกระตุ้นเร้าความอยากรู้และเฝ้ารอของคนอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจบตอนที่มักจะทิ้งเรื่องให้หยุดไว้ในจังหวะเวลาสำคัญของในแต่ละเหตุการณ์ เช่น ความเป็นหรือความตายของตัวละคร ขณะเดียวกันเมื่อต้องการสร้างความตื่นเต้นระทึกขวัญสั่นประสาท โดยเฉพาะฉากการไล่ล่าที่ซาร่าห์ออกล่าเหยื่อ เวลาและเนื้อเรื่องในช่วงนั้นก็จะสั้น กระชับ ทำให้ผู้อ่านร่วมลุ้นระทึกไปพร้อมๆ กับตัวละครด้วย นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเพิ่มความน่าติดตามให้กับเรื่อง โดยมักจะสร้างเรื่องล่อหลอกให้ผู้อ่านหลงทางอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกันประเด็นเหยื่อที่ถูกซาร่าห์สิงจริงๆ คือใคร ซึ่งผู้เขียนหักมุมในประเด็นนี้หลายครั้ง จนทำให้ผู้อ่านต้องตามอ่านจนถึงบรรทัดเกือบสุดท้ายก่อนจบจริงๆ ผู้เขียนถึงจะเฉลยว่า เหยื่อที่ซาร่าห์หมายตาไว้ตั้งแต่แรก แท้ที่จริงแล้วใคร
แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะเป็นแนวระทึกขวัญ แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้มุ่งเน้นให้ตัวละครและผู้อ่านต้องอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียด สั่นประสาท และหวาดผวาวิญญาณของซาร่าห์เพียงอย่างเดียว แต่ในเรื่องยังสอดแทรกอารมณ์ต่างๆ คละเคล้ากันไปอย่างหลากหลาย ทั้งมิตรภาพของเพื่อน ความรักระหว่างคู่รัก ความรักของพ่อแม่ ความรู้สึกผิด ความเศร้าเสียใจ ความกลัว ความโกรธ และบางครั้งยังแทรกมุขตลกไว้ด้วย นับว่าเป็นนวนิยายที่ครบรสเรื่องหนึ่ง
The Woman in Black ชุดดำสยอง จ้องสิงร่าง นับเป็นนวนิยายที่ดำเนินตามเค้าโครงของภาพยนตร์สยองขวัญของฮอลลีวูด ที่เน้นความสยดสยองในการฆ่าของวิญญาณแค้นในการฆ่าเหยื่อผู้บริสุทธิ์ที่มักจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ในเรื่องอาจกล่าวได้ว่า ผู้เขียนได้นำวิธีการฆ่าเหยื่ออย่างสุดสยอง (ที่มักพบในเรื่องราวสยองขวัญต่างๆ) มารวบรวมไว้ ทั้งการให้รถบรรทุกชนจนอวัยวะภายในไหลออกมา การให้ตกตึกลงมาจนร่างและสมองแหลกเหลว การให้เหยื่อท้องโป่งจนท้องแตกและมีสัตว์ประหลาดจำนวนมากออกมาจากท้อง การหักคอจนหมุดได้ 360 องศา การเผาทั้งเป็น การควักหัวใจขณะที่เหยือยยังมีชีวิต หรือ การดึงส่วนหัวให้หลุดจากลำตัว อีกทั้ง นวนิยายเรื่องนี้ยังจบเหมือนกับตอนจบของภาพยนตร์แนวสยองขวัญส่วนใหญ่ด้วย ที่มักจะจบเรื่องเมื่อวิญญาณร้ายถูกกำจัดโดยตัวละครที่เหลือรอด แทนที่จะจบเรื่องโดยพัฒนาเรื่องไปให้สุดว่า ตัวละครที่เหลือรอดเหล่านี้จะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปในสังคมได้อย่างไร หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายเหล่านี้มาแล้ว อีกทั้งรูปคดีของทางตำรวจจะเป็นเช่นไร เพราะจากเหตุการณ์ในครั้งนี้มีเหยื่อที่ถูกวิญญาณ
ซาร่าห์ฆ่าตายมากถึง 12 คน และนับว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญ และผู้ตายในครั้งนี้ยังรวมถึงนายอำเภอ ผู้ช่วยนายอำเภอ และตำรวจสาวที่มาสืบคดีนี้ด้วย และผู้ตายอย่างน้อย 2 คนก็ถูกผู้ที่รอดชีวิตเพียงหนึ่งเดียวฆ่าจริงๆ แม้จะอ้างว่าป้องกันตัว และตอนนั้นคนเหล่านี้ถูกผีสิงก็ตาม
การสร้างตัวละครพบว่า ผู้เขียนสามารถที่จะสร้างให้ตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะเด่นเฉพาะของตนอย่างชัดเจน จนทำให้ผู้อ่านจดจำและแยกแยะว่าใครเป็นใคร ทั้งรูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพ นิสัย และความชอบต่างๆ แม้ว่าตัวละครส่วนใหญ่จะมีบทไม่มากนักเมื่อเทียบกับตัวละครที่เป็นผู้ดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อลิซ จีโอวานี่ เวโรนิก้า หรือ
ซาร่าห์ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ได้เฉลี่ยให้ตัวละครแต่ละตัวมีความสำคัญทั้งต่อเรื่องและในบทบาทของตนในสัดส่วนที่พอเหมาะกับความยาวของเรื่อง
ในแง่ของการเขียนนั้นพบว่า ผู้เขียนมีทักษะในการเขียนทั้งบทบรรยายและบทสนทนาได้เป็นอย่างดี ทั้งการใช้คำ การขยายความ และการใช้คำเพื่อสร้างจินตนาการให้ผู้อ่าน จึงทำให้เรื่องราวดำเนินไปอย่างลื่นไหล ส่งผลให้เรื่องราวน่าติดตาม อีกทั้งนวนิยายเรื่องนี้มีการ rewrite เป็นครั้งที่สองแล้วจึงพบคำผิดประปราย เช่น ล็อบบี้ เขียนเป็น ล๊อบบี้ ปรารถนา เขียนเป็น ปราถนา กฎ เขียนเป็น กฏ กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา ล็อก เขียนเป็น ล๊อก กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์ ออฟฟิศ เขียนเป็น ออฟฟิซ หากผู้เขียนแก้ไขคำผิดเหล่านี้ได้ก็จะช่วยให้เรื่องนี้มีความถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น
     
 
ใครแต่ง : Hiyumaru LovekumA
25 ก.ค. 57
100 %
1 Votes  
#76 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
วิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 20 พ.ค. 57
นิยายโรแมนติกแฟนตาซี เรื่อง ปกรณัมเทพประยุทธ์ (Dunya-Anima & Pray) ของ Hiyu maru Love Kuma น่าจะเป็นนิยายเรื่องยาวอีกเรื่องที่ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 16 ซึ่งเป็นเรื่องราวของ ลินด์ สาวน้อยชาวไทยวัย 18 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุทางน้ำ แต่ด้วยความช่วยเหลือของพลังประหลาดทำให้เธอรอดชีวิตมาได้ แต่ต้องมาผจญภัยในอาณาจักรซิมโฟเนีย ดินแดนเวทมนตร์ในฐานะผู้กอบกู้โลกจากมหาสงครามครั้งใหญ่ตามคำทำนาย
ในช่วง 16 ตอนแรกนี้น่าจะเรียกว่าเป็นการเกริ่นนำเรื่องด้วยการปูพื้นฐานของผู้อ่านให้เข้าใจเรื่องราวของอาณาจักรซิมโฟเนีย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ไปพร้อมๆ กับลินด์ที่เธอจึงต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมด้วยการเพิ่มศักยภาพของตน ด้วยการฝึกพลังเวทมนตร์ กับ ปากีรนัม มเหสีของเจ้าชายแอชเชอร์ องค์ชายลำดับที่ 6 ของอาณาจักรแห่งนี้ และฝึกการต่อสู้ กับ เซซิล ดรากูร อัศวินมังกร องครักษ์และพ่อบ้านของเจ้าชายแอชเชอร์
ความเด่นประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ คือ ผู้เขียนสอดแทรกความโรแมนติกเข้าไปในแนวเรื่องแฟนตาซีสงครามได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะในช่วงต้นของเรื่อง เพราะตลอดทั้ง 16 ตอนที่ผ่านมา ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงอารมณ์รักโรแมนติกที่ดูจะเป็นอารมณ์หลักของเรื่องในช่วงนี้ โดยเฉพาะความรักโรแมนติกมีศูนย์กลางที่ตัวละครคิโยะเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความรักของพ่อกำมะลอกับลูกชายระหว่าง เซซิล กับ คิโยะ ที่ต่างแสดงความรักและความห่วงใยกันให้เห็นโดยตลอด ความโรแมนติกในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนสนิท(คิดไม่ซื่อ)ของคิโยะกับยูคง ซึ่งผู้เขียนแอบเขียนในแนว yaoi นิดๆ และ ความโรแมนติกในความ(แอบ)รักระหว่างพี่สาวและน้องชายร่วมโลก ของ ลินด์กับคิโยะ ซึ่งผู้เขียนสามารถพัฒนาให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมและเชื่อในความรักที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขาได้อย่างสนิทใจ ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างความรู้สึกโศกเศร้าและสะเทือนอารมณ์ต่อความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักร่วมกันได้เป็นอย่างดี
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การสร้างอารมณ์โรแมนติกดังกล่าวประสบความสำเร็จ คือ ผู้เขียนสามารถที่จะสร้างตัวละครได้อย่างมีชีวิต ซึ่งตัวละครแต่ละตัวต่างมีบุคลิกลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นและน่าติดตาม ไม่ว่าจะลินด์ สาวช่างฝันที่ต้องมาอยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลกที่ไม่รู้จักท่ามกลางคนแปลกหน้า คิโยะ หนุ่มน้อยหน้าหวาน น่ารัก ช่างอ้อน ผู้อ่อนแอ แต่เปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยน ความจริงใจ และความเอื้ออารี เซซิล นักรบที่เก่งฉกาจ มีทักษะของพ่อบ้านที่ดีเยี่ยม ทั้งยังรัก ห่วง และ หวงคิโยะลูกชายอย่างมาก ยูคุง หนุ่มนักเวทผู้เก่งกาจ ที่มีหน้าที่ดูแลปกป้องคิโยะเพื่อนรักผู้อ่อนแอ
ความเด่นอีกประการหนึ่งในเรื่องนี้คือ การสร้างบทสนทนาและบทบรรยาย ซึ่งผู้เขียนสามารถสร้างทั้งบทบรรยายและบทสนทนาได้อย่างลื่นไหล น่าติดตาม ขณะเดียวกันบทสนทนาและบทบรรยายนี้ยังช่วยเสริมให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวละครและเรื่องราวเพิ่มมากขึ้น และยังสะท้อนบุคลิกลักษณะ อุปนิสัยต่างๆ ของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างชัดเจนและมีสีสันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างสมดุลสัดส่วนระหว่างบทสนทนาและบทบรรยายได้ เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายว่ายังมีคำผิดให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ จึงลดทอนความสมบูรณ์และความถูกต้องของเรื่องลง ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำผิด เช่น กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา รับรอง เขียนเป็น รับลอง สมดุล เขียนเป็น สมดุลย์ เปรต เขียนเป็น เปตร อาวรณ์ เขียนเป็น อาวร ทะนุถนอม เขียนเป็น ถนุถนอม แลบแปลบๆ เขียนเป็น แลบแปรบๆ ทะเลสาบ เขียนเป็น ทะเลสาป กฎหมาย เขียนเป็น กฏหมาย สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ หลงใหล เขียนเป็น หลงไหล ผูกพัน เขียนเป็น ผูกพันธ์ ระลึก เขียนเป็น ระรึก พึมพำ เขียนเป็น พึมพัม ปะติดปะต่อ เขียนเป็น ประติดประต่อ และ การใช้วรรณยุกต์ เช่น สีรุ้ง เขียนเป็น สีรุ่ง ว้าว เขียนเป็น ว๊าว แว้บ เขียนเป็น แว๊บ แว้ด เขียนเป็น แว๊ด แว้ก เขียนเป็น แว๊ก น้า เขียนเป็น น๊า หา เขียนเป็น ห๋า เหงื่อ เขียนเป็น เหงือ ค้า เขียนเป็น ค๊า ฟุต เขียนเป็น ฟุ๊ต เบื้องล่าง เขียนเป็น เบื่องล่าง แหวว เขียนเป็น แหว๋ว ขยับเขยื้อน เขียนเป็น ขยับเขยื่อน
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “ปกรณัมเทพประยุทธ์” แต่เนื้อเรื่องในช่วงนี้ดูยังไม่ให้นำเสนอหรือสื่อความเพื่อเสริมให้เห็นความสัมพันธ์กันระหว่างชื่อเรื่องกับเนื้อเรื่องได้มากนัก เนื่องจากผู้เขียนกล่าวถึงแต่เพียงตำนานมหาเทพที่สร้างโลก และการทำสงครามระหว่างธิดาทั้งสองของมหาเทพ คือ อานิม่า และ พราย แม้ว่าอานิม่าจะชนะ แต่ก็สูญเสียพลัง อีกทั้งยังไม่ได้เชื่อมโยงผลพวงของตำนานมหาสงครามครั้งนั้นกับโลกปัจจุบันว่า อะไรหรือใครที่จะเป็นผู้จุดชนวนสงครามครั้งใหม่ขึ้นมาให้ลินด์ต้องมาเป็นผู้กอบกู้ ทั้งนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่าหากผู้เขียนสามารถที่จะผนวกเรื่องราวของสงครามครั้งใหม่ไปพร้อมๆ กับการดำเนินเรื่องราวความโรแมนติกตั้งแต่ต้นเรื่องก็จะทำให้แกนเรื่องทั้งสองผสานกันได้อย่างแนบสนิทเป็นเนื้อเดียว ก็จะช่วยทำให้แกนเรื่องสำคัญทั้งสองส่วนที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอพัฒนาไปพร้อมกันอย่างแท้จริง ไม่แยกส่วนดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ข้อสังเกตที่เห็นอีกประการหนึ่งคือ การที่ผู้เขียนพัฒนาอารมณ์ร่วมของทั้งตัวละครและผู้อ่านไว้อย่างสูงมากกับการตายของคิโยะ ในตอนที่ 16 และ 16.5 อาจจะเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ผู้เขียนยังไม่เขียนนวนิยายเรื่องนี้ต่อไปอีก จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากหากจะไม่เขียนต่อไปจนจบ เพราะผู้เขียนสามารถเปิดเรื่องไว้ได้อย่างติดตามแล้ว ขณะเดียวกันอารมณ์ร่วมที่สร้างขึ้นมาได้แล้วดังกล่าว นับว่าเป็นการเปิดปริศนาความลับที่ชวนค้นหา ในอีกทางหนึ่งยังเป็นการจุดประกายความน่าติดตามให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดีว่า ผู้เขียนจะนำการตายของคิโยะมาคลี่คลายหรือขยายความเรื่องต่อไปได้อย่างไร ทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาได้คือ ทำให้การตายของคิโยะเป็นชนวนเหตุสำคัญประการหนึ่งอันจะนำไปสู่การอุบัติขึ้นของมหาสงครามที่ได้มีการทำนายเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงน่าติดตามต่อไปว่าผู้เขียนจะพัฒนาและคลี่คลายนวนิยายเรื่องนี้ในทิศทางใดต่อไป
     
 
ใครแต่ง : ริญญดา
4 พ.ย. 66
100 %
2 Votes  
#77 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
วิจารณ์จาก bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 16 มิ.ย. 57
นวนิยายแนวซึ้งกินใจ จำนวน 45 ตอนจบ เรื่อง My Mind ดวงตา ณ ดวงใจ ของ ริญญดา เป็นเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่าง อมลวัทน์ ภมรพรรณ หรือ ออมสาวน้อยที่ตาบอดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ กับ ชลกมล หรือ มายด์ พี่เลี้ยงสาวที่คอยดูแลและเป็นกำลังใจให้ออมดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
My Mind ดวงตา ณ ดวงใจ นับว่าเป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวของการดูแลและการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตาในสังคม ที่มักไม่ค่อยกล่าวถึงตัวละครลักษณะนี้เท่าใดนัก การเขียนเรื่องราวเฉพาะของตัวละครกลุ่มพิเศษกลุ่มนี้ ริญญดา หาข้อมูลเกี่ยวกับผู้พิการทางสายตาและการดูแลมาเป็นอย่างดี จึงสามารถถ่ายทอดให้ผู้อ่านเชื่อได้ ขณะเดียวกันยังเห็นว่า ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องเพื่อสื่อถึงผู้พิการทางสายตามเท่านั้น แต่ต้องการจะถ่ายทอดให้คนรอบๆ ข้างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมให้เข้าใจผู้พิการทางสายตา และเข้าใจวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการให้ความช่วยเหลือพวกเขาในวาระต่างๆ ด้วย ซึ่งนับว่าผู้เขียนประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
ความน่าสนใจประการหนึ่ง คือ การตั้งชื่อเรื่องว่า My Mind ดวงตา ณ ดวงใจ นับเป็นการสรุปแนวคิดหลักของเรื่องที่ ริญญดา ต้องการเสนอไว้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าผู้เขียนล่นคำทั้งคำว่า My Mind ซึ่งสามารถตีความหมายได้ในสองระดับคือ การตีความตามตัวอักษร คือ “หัวใจของฉัน” หรือ “ที่รักของฉัน” และยังมีนัยความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำตีความได้อีกระดับว่า “พี่มายด์ที่รักของฉัน” ก็ได้ ขณะเดียวกัน คำว่า “ดวงตา ณ ดวงใจ” ก็เป็นคำที่ผู้เขียนมักนำมาเล่นสลับกันอยู่แล้วโดยตลอดเรื่องเพื่อสื่อความว่า “ตา” กับ “ใจ” สามารถแทนกันได้ และ “ใจ” ยังมีความสำคัญมากกว่าตาเสียดี เช่น
“ ‘ใจ’ สามารถมองเห็นได้มากกว่า ‘ตา’ ถ้า ‘ใจ’ บอด ต่อให้ ‘ตา’ ดีก็ไม่เห็นอะไรเลย” หรือ “อีกคนให้ดวงตา ไม่แค่ ‘เปิดตา’ ที่มืดบอด แต่ยังช่วย ‘เปิดใจ’ ที่ไร้เรี่ยวแรงให้มีความหวัง มีกำลังใจชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า” เพื่อต้องการจะสื่อแนวคิดของผู้เขียนที่ว่า แม้จะตาบอด แต่ก็สามารถมี “ดวงตา ณ ดวงใจ” ที่ช่วยทำให้มองเห็นความ “รัก” ได้
ผู้เขียนพยายามแทรก ข้อคิด ความรู้สึก และทัศนคติด้านดีในการมองโลกไว้เป็นระยะๆ ทั้งเรื่องของมุมมองความรักทั้งความรักระหว่างคนในครอบครัว คนรักของคนรัก ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และความรักต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งผู้เขียนมักจะใช้ตัวหนาเพื่อเน้นทัศนคติทางด้านดีเหล่านี้อยู่โดยตลอดเรื่อง ในแง่หนึ่ง การแทรกข้อคิดและมุมมองดีๆ ต่อผู้อ่านนับเป็นเรื่องดี แต่หากมากเกินไปก็จะดูเป็นการยัดเยียดให้กับผู้อ่านได้ ขณะเดียวกันผู้อ่านก็อาจรู้สึกเหมือนกับว่าถูกผู้เขียนสอนอยู่ก็ได้ จนทำให้ปฏิเสธไม่สนใจความคิดดีๆ เหล่านี้ก็เป็นได้ จึงเห็นว่าอาจจะต้องเลือกเสมอบางแนวคิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่เด่นจริงๆ เพื่อสร้างความกระทบอารมณ์ให้ผู้อ่านอย่างรุนแรง แม้ว่าเมื่ออ่านเรื่องจบไปแล้วก็ยังจดจำได้ไม่ลืม อีกประการหนึ่ง การแทรกความคิดดีๆ ในเรื่องส่วนใหญ่ ริญญดา มักจะใช้ตัวหนาเพื่อเน้นข้อความ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการที่โจ่งแจ้งเกินไป เพราะมีการสอดแทรกมุมมองดีๆ ต่อชีวิตไว้เป็นระยะๆ โดยตลอดเรื่องอยู่แล้ว (ในเรื่องจึงเต็มไปด้วยตัวหนา) จึงเห็นว่าหากผู้เขียนไม่เน้นข้อความด้วยตัวหนาและใช้ตัวปกติแทน อาจทำให้ข้อคิดเหล่านี้กลืนไปกับเนื้อเรื่อง และจะช่วยลดอคติของผู้อ่านบางคนที่รู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกสอนลงได้
ริญญดา ไม่เพียงแต่กล้าเพียงแต่จะนำเสนอเรื่องราวของผู้พิการทางสายตาและการดูแลเท่านั้น แต่เธอยังกล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวของคนทั้งคู่ผ่านความรักของ “หญิงรักหญิง” ซึ่งเป็นแนวเรื่องที่ไม่ค่อยมีผู้แต่งมากนัก ในเรื่องนี้
ริญญดา เน้นการถ่ายทอดให้ผู้อ่านเห็นพัฒนาการทางอารมณ์ ความรัก และความผูกพันของออมและมายด์ สองตัวละครหลักอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งความใกล้ชิดและความผูกพันของคนทั้งคู่นั้นสามารถที่จะพัฒนาเป็นความรักได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ที่เริ่มต้นสานสัมพันธ์ในครั้งนี้คือ ออม หญิงสาวตาบอดผู้หมดหวังที่จะดำเนินชีวิตต่อไป แต่เมื่อมี มายด์ ผู้เข้าใจและเป็นเสมือนความหวังและหลักที่เธอยึดติดเพื่อให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกันในระหว่างที่เล่าเรื่อง ริญญดา ยังพยายามที่จะให้ผู้อ่านคล้อยตามและยอมรับความรักของคนทั้งคู่ในหลากหลายวิธี ทั้ง การนำเรื่องราวความรักทั้งในหนังสือซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Yes or No” และการเปิดเปลือยความรู้สึกของตัวละครทั้งคู่ ที่ทั้งสองพยายามต่อสู้กับความรู้สึกผิดในความรักครั้งนี้ แม้ว่าท้ายที่สุดพวกเธอยอมทำตามความต้องการของหัวใจมากกว่าก็ตาม ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ริญญดา ฉลาดที่จบนวนิยายเรื่องนี้เพียงแค่ เมื่อตัวละครทั้งคู่รู้ใจและยอมรับใจตัวเอง และพร้อมที่จะต่อสู้ต่ออุปสรรคต่อไป หากเขียนต่อจะยากมากขึ้น เพราะเรื่องจะไม่ได้เป็นเรื่องของตัวละครสองตัวอีกแล้ว แต่จะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติของคนรอบข้าง และค่านิยมของสังคม ริญญดา จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านที่จะตัดสินตอนจบของความรักของคนทั้งคู่นี้เอาเอง
ในเรื่องของกลวิธีการเขียนนั้น ผู้เขียนใช้การเล่นคำ และการสลับตัวอักษร เป็นกลวิธีหลัก เช่น ‘ตาบอด’ กับ ‘ตาดี’ ‘วันพรุ่งนี้’ กับ ‘วันนี้’ ‘กล้า’ กับ ‘กลัว’ ‘ได้แค่รัก’ กับ ‘รักได้แค่’ ‘ทำให้รัก’ กับ ‘รักทำให้’ และ ‘ได้รัก’ กับ ‘รักได้’ นับเป็นกลวิธีที่น่าสนใจ และสามารถสื่อความคิดที่กระทบใจผู้อ่านได้ แต่กลวิธีนี้จะก่อให้เกิดความประทับใจเมื่ออ่านพบในช่วงแรกๆ แต่ในช่วงหลังเมื่อผู้เขียนยังคงใช้กลวิธีนี้ถี่จนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ เรื่อง ซึ่งเมื่อผู้อ่านจับทางได้แล้ว มนตร์ขลังของการสร้างความประทับใจด้วยกลวิธีนี้ก็คลายลงด้วยเช่นกัน จึงเห็นว่า ริญญดา ไม่ความใช้กลวิธีนี้เพียงกลวิธีเดียว แต่อาจต้องการกลวิธีอื่นๆ เพิ่มเข้ามาช่วยสลับกับกลวิธีนี้ก็จะสร้างให้เรื่องมีมิติละน่าสนใจมากขึ้นได้
สำหรับข้อด้อยที่พบคือ ริญญดา การสร้างตัวละครหลักทั้งหมดเป็นอุดมคติมากๆ ซึ่งเป็นตัวละครที่มีความดีรอบด้าน ทั้งบุคลิกลักษณะ รูปร่างหน้า ความคิด และอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ ออม และมายด์ โดยเฉพาะมายด์ ซึ่งเป็นตัวละครที่ยากที่จะเชื่อได้ว่ามีคนที่มีคุณลักษณะครบถ้วนเช่นนี้มีอยู่ในสังคมจริง แม้ว่าในช่วงท้าย ผู้เขียนจะสร้างข้อด้อยให้กับตัวละครตัวนี้แล้วก็ตาม
ประการต่อมาคือ การเน้นอารมณ์และพัฒนาการในเรื่องความรักของออมและมายด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เนื้อเพลง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสื่ออารมณ์ที่ซ่อนเร้นในใจของตัวละครเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับตัวละครด้วย แต่ ริญญดา ใช้กลวิธีนี้ซ้ำมากเกินไป ใช้เพลงมาอธิบายอารมณ์ตัวละครมากถึงประมาณ 4-5 เพลง ซึ่งพบในช่วงกลางเรื่องถึงท้าย ซึ่งทำให้เรื่องไม่กระชับและเหมือนว่าถูกยืดออกไป นอกจากนี้ กลวิธีนี้ยังไม่นิยมนักในการสร้างเรื่อง เพราะหากเรื่องนี้ได้รับการพิจารณาตีพิมพ์อาจติดปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงได้ ทั้งนี้ ผู้วิจารณ์เห็นว่า ริญญดา มีความสามารถในการเขียนทั้งบทบรรยายและบทสนทนาอยู่แล้ว ผู้เขียนน่าจะสร้างบทบรรยายขึ้นมาเองก็จะสื่อความได้ตรงใจของตัวละครได้มากกว่าใช้บทเพลงก็เป็นได้
ความผิดพลาดอีกประการที่พบคือ ชื่อตัวละครที่ใช้ไม่ตรงกัน นั่นคือ ชื่อแฟนเก่าออม จริงๆ แล้วชื่ออะไรกันแน่ เพราะในตอนที่ 1 ผู้เขียนบอกว่าชื่อ “ดอม” แต่ในตอนที่ 36 และ 47 บอกว่าชื่อ “โดม” เช่นเดียวกับลูกเพื่อนสนิทของแม่มายด์ที่แต่งงานนั้น แท้ที่จริงเป็นลูกสาวหรือลูกชายกันแน่ เพราะในบทที่ 46 บอกว่า ลูกสาวเพื่อนสนิท แต่ในบทที่ 47 บอกว่า ลูกชายเพื่อนสนิท จึงเห็นว่าผู้เขียนควรตอบสอบประเด็นนี้อีกครั้ง เพื่อแก้ไขข้อสงสัยเหล่านี้ให้ถูกต้อง
ประการสุดท้ายคือ คำผิด ซึ่งพบประปราย ทั้งนี้พบว่าคำผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้วรรณยุกต์ตรีผิดพลาด เช่น ผ้ม เขียนเป็น ผ๊ม มั้ง เขียนเป็น มั๊ง ครั้บ เขียนเป็น ครั๊บ แว้บ เขียนเป็น แว็บ น้ะ เขียนเป็น น๊ะ (สำหรับการใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวา มีข้อควรจำง่ายๆ คือ รูปวรรณยุกต์ทั้งสองจะใช้เฉพาะกับอักษรกลาง 9 ตัวเท่านั้น คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ) และคำเขียนผิดอื่นๆ เช่น เว็บไซต์ เขียนเป็น เว็ปไซด์ มื้อ เขียนเป็น มิ้อ แท็กซี่ เขียนเป็น แท๊กซี่ หนู (เป็นคำที่มีเสียงจัตวาอยู่แล้ว ไม่ต้องใส่เครื่องหมายจัตวาเพื่อกำกับเสียงอีก) เขียนเป็น หนู๋ เลิก เขียนเป็น เลิ้ก กะทันหัน เขียนเป็น กะทันหัน ปรากฏ เขียนเป็น ปรากฎ สถานทูต เขียนเป็น สถานฑูต อุตส่าห์ เขียนเป็น อุตสาห์ เกรี้ยวกราด เขียนเป็น เกรียวกราด รสชาติ เขียนเป็น รสชาด กาลเทศะ เขียนเป็น กาละเทศะ เดินเหม่อ เขียนเป็น เดินเหมอ หลงใหล เขียนเป็น หลงไหล
     
 
ใครแต่ง : คีตาสีเงิน
27 มี.ค. 67
100 %
2 Votes  
#78 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 6 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ต.ค. 57
Forbidden Love สะดุดรักอันตรายนายปีศาจตัวดี

Forbidden Love สะดุดรักอันตรายนายปีศาจตัวดี นวนิยายแฟนตาซีขนาดยาวของ คีตาสีเงิน ที่โพสต์ถึงตอนที่ 19 เป็นเรื่องราวของโรซาลิน แอดเลอร์ หรือ โรแซน แอลลิโอล่า หญิงสาวจากโลกปัจจุบันต้องย้อนเวลากลับมาในโลกอดีตเพื่อกำจัดต้นกำเนิดของปีศาจลูซิเฟอร์ ก่อนที่จะรวมร่างกับคาร์ลอส ไนท์ ชายหนุ่มหล่อผู้เก่งกาจ ประธานนักเรียนของโรงเรียนโฮลี่ลูซ ในอดีต แต่แทนที่จะฆ่า เธอกับตกหลุมรักเขาแทน จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่องราวความรักและแค้นระหว่างเธอและเขาจะลงเอยอย่างไร
นวนิยายเรื่องนี้เปิดฉากด้วยความรุนแรงและโหดเหี้ยม อันเป็นต้นกำเนิดความแค้นต่างๆ ในโลกปัจจุบันที่
ลูซิเฟอร์ จอมปีศาจร้ายกระทำต่อโรซาลีน เพื่อนๆ คนรอบกาย และอาณาจักรที่เธออยู่ การเปิดฉากเช่นนี้ทำให้ผู้อ่านคาดหวังว่าจะพบเรื่องราวของการต่อสู้และการแก้แค้นที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ คีตาสีเงิน กลับหักมุมในเรื่องราวในตอนต่อๆ มาให้กลายเป็นเรื่องราวยอดนิยมแบบโรงเรียนเวทมนตร์ โดยให้โรซาลินกลายมาเป็นนักเรียนชั้นปีที่หกของโรงเรียนโฮลี่ลูซ และกำหนดให้เรื่องดำเนินตามสูตรสำเร็จของโรงเรียนเวทมนตร์ทั่วๆ ไป นั่นคือ การแบ่งนักเรียนออกเป็นคณะหรือหอต่างๆ ในที่นี้แบ่งเป็น 5 คณะ แต่ละคณะจะมีสัญลักษณ์เป็นสีและอัญมณีประจำของตน ซึ่งต่างต้องแข่งขันกันในงานกีฬา และมีการเรียนและกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำร่วมกัน โดยมีแกนเรื่องหลักอยู่ที่เรื่องราวความรักระหว่างนางเอกกับพระเอก ที่เริ่มต้นด้วยความแค้น ความไม่ชอบหน้า ก่อนที่ความน่ารักสดใสของนางเอกจะหลอมละลายความเย็นชาในหัวใจของพระอก กลายเป็นความรักแรกที่เขามอบให้หญิงสาว ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาไม่เคยสนใจผู้หญิงคนใดเลย แม้ว่าเขาจะเป็นที่หมายปองของผู้หญิงเป็นจำนวนมากอยู่ และความดีของพระเอกก็เอาชนะใจนางเอกได้ในที่สุด
แม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่ของเรื่องจะดำเนินตามแนวโรงเรียนเวทมนต์ แต่ คีตาสีเงิน สามารถสร้างความแปลกใหม่และน่าสนใจและทำให้นวนิยายเรื่องนี้ต่างไปจากนวนิยายแนวนี้เรื่องอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ผู้อ่านคาดเดาทิศทางและตอนจบว่าเรื่องจะดำเนินไปเช่นใด นับเป็นเสน่ห์ประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้ เพราะ คีตาสีเงิน มีทางเลือกว่าตอนจบจะจบอย่างไร ไม่ว่าจะจบแบบที่ปูไว้ตั้งแต่แรกคือ คาร์ลอส ไคน์ ต้องถูกฆ่าเพื่อจำกัดหนทางของลูซิเฟอร์ หรือ การหักมุมให้เรื่องกลับไปยังการต่อสู้แก้แค้นดังในตอนเปิดเรื่องอีกครั้ง โดยเปิดโอกาสให้คาร์ลอส ไนท์ รวมร่างกับลูซิเฟอร์สำเร็จ และสร้างความเสียหายให้กับโลกปัจจุบันดังเดิม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เขากลายเป็นคนเลวอาจจะมีสาเหตุหลักมาจากโรซาลีนก็เป็นได้ หรือการจบแบบนิยายความรักทั่วไป ซึ่งคาร์ลอส ไนท์ จะไม่ถูกฆ่า แต่ได้ครองรักกับโรซาลีนที่ตัดสินใจจะอยู่ในโลกอดีตแห่งนี้อย่างมีความสุข จึงจะทำให้คาร์ลอส ไนท์ ในอดีตไม่มีโอกาสรวมร่างกับลูซิเฟอร์ เท่ากับปิดโอกาสไม่มีเขาก่อความเลวร้ายต่างๆ ในโลกปัจจุบันได้ โดยส่วนตัวผู้วิจารณ์คาดว่าตอนจบของเรื่องน่าจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของโรซาลีนเป็นสำคัญ เนื่องจากว่า คีตาสีเงิน ได้ให้ศาสตราจารย์ราฟาเอล เลโกลัส ครูใหญ่ของโรงเรียนเป็นผู้ชี้แนวทางให้โรซาลีนแล้วว่า ให้เธอทำปัจจุบันให้ดี ปล่อยอนาคตเป็นเรื่องของอนาคต และอนาคตจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับปัจจุบัน และเรื่องทั้งหมดก็เน้นที่โลกอดีต จนแทบจะไม่กล่าวถึงโลกปัจจุบันที่เธอจากมามากนัก จนดูเหมือนว่าโลกปัจจุบันนั้นไม่สำคัญ เป็นแค่การสร้างจุดกำเนิดหรือเงื่อนไขของเรื่องนี้เท่านั้นเอง หรือนี่อาจจะตรงกับแนวคิดหลักที่ คีตาสีเงิน อาจใช้เป็นทางออกของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อเปลี่ยนอดีต ปัจจุบันและอนาคตก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยอัตโนมัติ
เมื่อทิศทางของนวนิยายเรื่องนี้ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของ โรซาลีน คีตาสีเงิน จึงเลือกใช้มุมมองของโรซาลีนเป็นมุมมองหลักในการดำเนินเรื่อง ซึ่งนับว่าสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี เพราะโรซาลีนไม่เพียงแต่ทำหน้าที่บรรยายความเป็นไปของโลกอดีต ที่ทั้งเธอและผู้อ่านก็ไม่เคยรู้จักและไม่เคยสัมผัสมาก่อนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ขณะเดียวกันทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสพัฒนาการทางอารมณ์ของตัวละครอย่างใกล้ชิด ทำให้เข้าใจถึงสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของตัวละครได้เป็นอย่างดี ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้อ่านถูกชักจูงให้เห็นใจเธอ และอยากจะช่วยร่วมหาทางออกที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหานี้ไปพร้อมๆ กับเธอด้วย นอกจากนี้ การที่ผู้เขียนมอบทางที่ต่างกันสุดขั้วนี้มาให้เลือก นับเป็นสภาวะที่ยากที่จะตัดสินใจ เพราะขณะที่ผู้อ่านเห็นด้วยกับโรซาลีนว่าจำเป็นต้องรีบกำจัดร่างมนุษย์ที่ลูซิเฟอร์ ปีศาจที่แสนโหดร้ายกระหายเลือด ก่อนที่เขาจะมีโอกาสสร้างความเสียหายให้กับโลกปัจจุบันเช่นที่กระทำอยู่ แต่ คาร์ลอส ไนท์ หนุ่มเคราะห์ร้ายที่จะถูกปีศาจลูซิเฟอร์เลือกกลับเป็นผู้บริสุทธิ์ที่เต็มไปด้วยความดี และความอ่อนโยน จนมิอาจตัดใจที่จะลงมือกำจัดเขาอย่างไม่เป็นธรรมได้ สภาวะที่ต้องเลือกของโรซาลีนนี้เองที่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ชวนให้น่าติดตามว่า ท้ายที่สุดแล้วเธอจะเลือกหนทางใด และเรื่องนี้จะจบแบบใด
คีตาสีเงิน ไม่มีปัญหาในเรื่องการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาที่สามารถสื่อความได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบรรยายที่สื่อความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ ของตัวละครที่สามารถกระตุ้นความรู้สึกร่วมให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี แต่มีสิ่งหนึ่งที่แปลกแยกออกจากเรื่องเป็นอย่างมาก จนดูว่าไม่สามารถเข้ากับเรื่องทั้งหมดที่ปูมาเป็นเนื้อเดียวกันได้ นั่นคือการแทรกความคิดเชิงวิพากษ์การสอบ O-net และ U-net ในประเทศไทยลงไปให้บทบรรยาย แม้ว่า คีตาสีเงิน จะบอกว่านี่เป็นการกล่าวถึงประเทศที่หยุดการพัฒนาประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่เพราะการวิพากษ์ความไร้สาระของการสอบและข้อสอบเหล่านี้ไว้ที่ค่อนข้างยาว จึงยิ่งสร้างความแปลกแยกให้กับเนื้อหาตอนนี้กับองค์รวมของเรื่องทั้งหมดมากขึ้น เพราะประเทศที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่องนี้ จึงเห็นว่าหากตัดในส่วนนี้ออกไปก็ไม่ส่งผลอะไรกับเรื่อง และยังจะช่วยให้เรื่องดำเนินไปอย่างราบลื่นและน่าอ่านมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังเห็นว่า คีตาสีเงิน มีความระมัดระวังและให้ความสำคัญกับการเขียน จึงพบว่ามีคำที่สะกดผิดน้อยมาก และคำผิดเท่าที่พบคือ แสบสันต์ เขียนเป็น แสบสัน เล้ย เขียนเป็น เล๊ย โน้ต เขียนเป็น โน้ต คว่ำหน้า เขียนเป็น คว้ำหน้า และยังมีการเลือกใช้คำขยายผิด อาทิ คำว่า เรียวมือ ไม่เคยพบ แต่โดยปกติจะใช้คำว่า “เรียว” ขยายคำว่ามือมากกว่าเป็น “มือเรียว” หรือวลีที่ว่า เธอทำให้หลายคนผิดพนัน โดยปกติจะใช้ว่า เธอทำให้หลายคนแพ้พนัน และ รัศมีอันตราย ส่วนใหญ่จะใช้ว่า รังสีอันตราย
ปัญหาประการหนึ่งที่พบขณะที่อ่านนวนิยายเรื่องนี้คือระยะเวลาที่ถูกต้องที่โรซาลีนย้อนเวลากลับมายังโลกอดีต เนื่องจากมีข้อความระบุเวลาที่ขัดแย้งกันอยู่ในบทเดียวกัน (บทที่ 3) นั่นคือ “นี่ฉันย้อนเวลามายี่สิบปีเชียวหรือ” และ “นี่เป็นครั้งแรกที่เธอย้อนเวลา แถมย้อนเวลามา 40 ปี ก่อนเสียด้วย!” และในบทอื่นๆ ก็บอกระยะเวลาที่ย้อนกลับมา ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกว่า 20 ปี จึงเห็นว่า คีตาสีเงิน ควรจะต้องตรวจสอบข้อมูลในส่วนนี้อีกครั้ง หาก คีตาสีเงิน แก้ไขข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้ นวนิยายเรื่องนี้จะถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น
     
 
ใครแต่ง : WOMI-MASTER
19 ธ.ค. 59
60 %
8 Votes  
#79 REVIEW
 
เห็นด้วย
6
จาก 7 คน 
 
 
วิจารณ์นิยาย Graruda III The Immaterial Hero มหาสงครามไร้บุรุษ

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 5 ม.ค. 56
นิยายขนาด 27 ตอนจบ ของ WOMI-MASTER ซึ่งเป็นภาคต่อจากสองภาคแรก ผู้วิจารณ์ไม่ได้อ่านสองภาคแรก และผู้เขียนได้แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องอ่านก็ได้ และในภาคที่สามมีความยาวมาก ผู้วิจารณ์ใช้เวลาในการอ่านนานพอสมควรจึงไม่ได้กลับไปอ่านสองภาคแรก ชื่อเรื่องภาษาไทยที่แปลจากชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ คำแปลที่ถูกต้องควรจะแปลว่า “มหาสงครามไร้วีรบุรุษ” มากกว่า นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรักความเสียสละของวูฟล์ แคนแนลที่มีต่อมาเรีย ทรานซิสเตอร์หญิงอันเป็นที่รัก และความสัมพันธ์ของบรรดาเหล่าเพื่อนไพรเวเทียร์ (โจรสลัด) อินวินซิเบิล เรื่องดำเนินต่อจากภาคที่แล้วหลังจากที่วูล์ฟและเพื่อนๆ ต่อสู้กับเลดาสจนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดินแดนทั้งสาม คือ เวียน (สวรรค์) นีลแฮม (ดินแดนปีศาจ) และการูด้า (ดินแดนที่เป็นฉากสำคัญของเรื่องนี้) และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับความสัมพันธ์ของกลุ่มไพรเวเทียร์อินวินซิเบิลโดยมีเพียงวูลฟ์ ยูริคและเทียร์ที่รู้ความจริงเกี่ยวเรื่องราวทั้งหมดว่าจะมีจุดจบอย่างไร ในภาคนี้ วูล์ฟยังคงเป็นกัปตันเรืออินวินซิเบิลได้กลับมาพบคนรักเก่าคือมาเรีย และเหล่าบรรดาไพรเวเทียร์กลุ่มอินวิซิเบิลที่ได้แยกย้ายไปดำเนินชีวิตของตน โดยที่เทียร์ดำรงตำแหน่งจักรพรรดินีแห่งนคร กราเดียร์ (อยู่ในดินแดนการูด้า) หลังจากที่พระบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ ยูริค สโควโร่และแอนนี่ได้มาเป็นองครักษ์ของจักรพรรดินีแห่งกราเดีย มาเรียเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนโดมินิค นาเดียร์พี่สาวของมาเรียเป็นทหารแห่งเวิร์ดจัสติส (กองกำลังแห่งดินแดนเวียน) แอลรี่จอมดาบเป็นผู้ที่จะสืบทอดดินแดนปีศาจต่อจากบิดา(ดินแดนนีลแฮม) เรนมาเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลและเรียนวิชาแพทย์ไปพร้อมกัน รูฟปี้กุ๊กสาวแห่งอินวิซิเบิลได้มาเป็นแม่ครัวในร้านอาหาร ในภาคนี้เพิ่มตัวละครที่สำคัญคือโวมิ จอมดาบผีมือดีที่เป็นองครักษ์จักพรรดินีแห่งกราเดีย และ กีมอร์สชายหนุ่มผู้เพรียบพร้อมคนรักใหม่ของมาเรีย ในช่วงต้นของเรื่องเป็นการดำเนินเรื่องราวของอดีตสมาชิกไพรเวเทียอินวินซิเบิลที่ดำเนินชีวิตเป็นปกติในทางเดินชีวิตใหม่ของแต่ละคน แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้อดีตสมาชิกอินวินซิเบิลต้องกลับมารวมตัวกันเพื่อปกป้องกราเดียร์และจักรพรรดินี (เทียร์) วูล์ฟต้องกลับมาปกป้องมาเรียและสหายแห่งอินวิซิเบิล เนื่องจากคิดว่าเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการตัดสินใจของตน และยังมีการกล่าวถึงความลับที่วูล์ฟปิดบังไว้ทั้งการสลายกลุ่มอินวิซิเบิลและการต้องเลิกกับมาเรีย ซึ่งทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกับเลดาสจอมปีศาจและลูกน้องสองคนคือวีดาสและอันซึที่จะมาเป็นผู้สร้างเรื่องเลวร้ายและหายนะต่างๆ ให้เกิดขึ้น วูล์ฟและอดีตสมาชิกอินวิซิเบิลจะสามารถปกป้องแก้ไขเรื่องร้ายต่างๆ ได้หรือไม่จึงต้องลองติดตามอ่านกัน

แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นภาคต่อมาจากสองภาคแรกและตัวละครหลักยังคงเป็นกลุ่มเดิมจากภาคที่แล้ว แต่ผู้เขียนได้ให้รายละเอียดจนสามารถที่จะเข้าใจเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งสองภาคได้ ผู้วิจารณ์คิดว่าการที่ไม่ได้อ่านสองภาคแรกอาจจะสนุกกว่าเพราะว่าไม่รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนจบภาคที่สอง ในการยุบกลุ่มอินวิซิเบิลและการที่มาเรียเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีวันเหมือนเดิม ผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยเน้นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอินวิซิเบิลกับเลดาสที่เป็นไปอย่างดุเดือดเกือบตลอดทั้งเรื่อง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่โครงเรื่องหลักแต่โครงเรื่องหลักเป็นเรื่องความสัมพันธ์และปมปัญหาความรักที่มีความซับซ้อนหว่างกัปตันวูล์ฟ แคนแนลและมาเรีย ทรานซิสเตอร์และความสัมพันธ์ของเพื่อนกลุ่มอินวิซิเบิ้ล โดยที่เลดาสจอมปีศาจเป็นผู้สร้างแผนการร้ายต่างๆ ให้เกิดขึ้น และกัปตันวูล์ฟเป็นผู้เก็บงำความลับ รวมถึงการค้นหาความจริงและแก้ไขเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นจากเลดาส โดยที่วูล์ฟเป็นผู้เสียสละที่จะแบกรับความเจ็บปวดและรับผิดชอบเรื่องเลวร้ายทั้งหมดด้วยชีวิตของวูล์ฟเอง โดยที่มีโครงเรื่องรองที่ผู้เขียนใช้ในการสนับสนุนโครงเรื่องหลักคือ เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตบนดินแดนเวียนระหว่างอีวานกับซิลีนเซีย (ซึ่งทั้งสองมาพบกันในปัจจุบันอีกครั้งเป็นวูล์ฟกับมาเรียนั้นเอง) แต่ความรักของคนทั้งสองถูกกีดกันและจบลงด้วยโศกนาฏกรรมและทิ้งปมปัญหาไว้ ซึ่งคือ “เรโน่” ลูกชายของ อีวานและซิลีนเซียที่จะกลายมาเป็นจอมปีศาจเลดาสในอนาคต และอีกเรื่องคือ เรื่องที่กล่าวถึงความรักสามเศร้าของแฟนริลจักรพรริแห่งนีลแฮม (ดินแดนปีศาจ) มิทธาและดาซิส แฟนริลผู้เป็นพ่อของดาซิสและมิธาที่มีความรักให้แก่กัน แต่ดาซิสหลงรักมิทธาเช่นเดียวกัน ดาซิสจึงเกิดความแค้นแฟนริลและแก้แค้นผู้เป็นบิดาตนเองจนเกิดความวุ่นวายจนในดินแดนนีลแฮม ในที่สุดแฟนริลต้องฆ่าลูกชายด้วยมือของตนเองจึงสามารถที่จะยุติปัญหาได้ และตัวเขาเองก็ถูกสังหารในสงครามระหว่างดินแดนเวียนและนีลแฮมในสงครามแร็กนาร็อก ในเรื่องนี้ผู้เขียนกลับไม่ได้เน้นให้ความสำคัญกับโครงเรื่องหลักในการดำเนินเรื่อง แต่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้ระหว่างกลุ่มไพรเวเทียร์อินวิซิเบิลกับเลดาสซึ่งเป็นโครงเรื่องรอง โดยไม่ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโครงเรื่องหลักกับโครงเรื่องรองเข้าไว้ด้วยกัน ผู้วิจารณ์ขอยอมรับว่ากว่าที่จะเข้าใจว่าโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องรองคืออะไรและมีความสัมพันธ์กันอย่างไรก็เมื่อต้องอ่านจนจบเรื่องและมาเขียนวิจารณ์นิยายเรื่องนี้ เพราะต้องเชื่อมโยงโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องรองทั้งหมดเข้าด้วยกันตามความเข้าใจจากการอ่านของผู้วิจารณ์เอง

การที่ผู้เขียนไม่ได้เชื่อมโยงโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องรองเข้าด้วยกันทำให้การดำเนินเรื่องเป็นไปโดยที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย เมื่ออ่านถึงโครงเรื่องรองทั้งสองที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก เนื่องจากโครงเรื่องรองทั้งสองน่าจะสนับสนุนให้นิยายเรื่องนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น เนื่องจากปมปัญหาความรักของวูล์ฟและมาเรียที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในอดีตและส่งผลมาถึงปัจจุบัน โครงเรื่องที่ดูจะชัดเจนที่สุดคือการสร้างปมในเรื่องความทรงจำของวูล์ฟและมาเรียในวัยเด็กที่ประสบเหตุการณ์เลวร้ายและเป็นความทรงจำที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตจนกระทั่งเธอโตขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เปิดเผยความจริงทั้งหมดในตอนท้ายเรื่องที่วูล์ฟกลายร่างเป็นจอมปีศาจหมาป่าเพื่อช่วยมาเรียจากอันตราย สิ่งที่มาเรียเห็นในตอนเด็กคือวูล์ฟในร่างปีศาจหมาป่าที่ช่วยชีวิตมาเรียผู้ที่จะเข้ามาทำร้ายเธอ ส่วนโครงเรื่องอื่นๆ ผู้เขียนไม่ได้เชื่อยมโยงความสัมพันธ์ว่าต้องการที่จะสื่อสารสิ่งใดไปยังผู้อ่าน นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่ออ่านจบแล้วยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปมปัญหาที่ผู้เขียนได้สร้างขึ้นและยังไม่มีการคลี่คลายปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการที่เลดาสเป็นศัรตรูกับวูล์ฟนั้นมีเหตุมาจากสิ่งใด เกี่ยวข้องกับโครงเรื่องรองในอดีตทั้งสองเรื่องอย่างไร และชะตากรรมของกัปตันวูล์ฟกับมาเรียซึ่งจบลงเหมือนกับเหตุการณ์ระหว่างอีวานและซิลีนเซียในดินแดนเวียนมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร

ผู้เขียนใช้เวลาในการดำเนินเรื่องในช่วงต้นที่เป็นการเกริ่นนำตัวละครหลักคือกลุ่มอินวิซเบิ้ลที่มีมากถึงประมาณ 1/3 ของเรื่อง โดยการดำเนินเรื่องในช่วงนี้ค่อนข้างที่จะช้าและไม่มีประเด็นที่น่าสนใจ และการเขียนฉากการต่อสู้หลายตอนซึ่งเป็นฉากต่อสู้ที่ดุเดือด แต่ไม่มีเหตุผลในการต่อสู้ที่เพียงพอ และมีฉากต่อสู้หลายฉากที่ผู้เขียนไม่เขียนจนจบ โดยเขียนถึงกลุ่มอินวิซิเบิ้ลต่อสู้กับสมุนเลดาสและกลุ่มอินวิซิเบิ้ลพลาดท่าจะพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายเลดาส ผู้เขียนจะจบตอนแล้วขึ้นตอนใหม่ โดยเริ่มต้นว่ากลุ่มอินวิซิเบิลสามารถรอดจากสถานการณ์ที่เลวร้ายมาได้ในสภาพสะบักสะบอม แต่ไม่ให้รายละเอียดว่ากลุ่มอินวิซิเบิ้ลรอดมาได้อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีข้อบกพร่องในประเด็นความไม่สมจริงไม่เป็นเหตุเป็นผลด้ว เช่น ความสัมพันธ์ของตัวละครใหม่คือ โวมิ กับตัวละครเดิม คือ วูล์ฟ ยูริค และสโควโร่ โวมิไม่ได้เป็นอดีตสมาชิกกลุ่มอินวิซิเบิลที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา แต่ผู้เขียนกลับให้โวมิกับวูล์ฟ ยูริค และสโควโร่มีความสนิทสนมและมีความไว้วางใจกันเป็นอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว แต่ไม่ได้ปูพื้นให้เห็นว่าเหตุใดที่จะทำให้ตัวละครเหล่านี้จึงสนิทและให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ หรือการที่จักรพรรดินีเทียร์ให้วูล์ฟ ยูริค และสโควโร่ เดินทางไปยังเนเกร่า โดยที่ไม่มีเหตุผลว่าไปทำภารกิจใด รวมถึงการที่วูล์ฟ ยูริค สโควโร่ และโวมิเดินทางไปยังฟิกาโน่ลูส โดยมีเหตุผลเพียงโวมิชวนให้ใช้เรือ “แม็กแกรน” ซึ่งปกติเป็นเรือเหาะ แต่ให้ใช้เป็นการเดินทางแบบเรือสมุทรแทนเพื่อเดินทางไป การเดินทางไปฟิกาโน่ลูสครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มอินวิซิเบิ้ลอย่างใหญ่หลวง แต่สาเหตุของการเดินทางไปนั้นกลับไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าที่ควรนัก หรือการที่วูล์ฟวางแผนหลอกเลดาสว่าตนเองได้ตายไปแล้วจากการต่อสู้กับสมุนของเลดาส แต่กลับเฉลยว่าตัวเองยังไม่ตายอย่างง่ายดายซึ่งทำให้แผนที่วางมาทั้งหมดนั้นเปล่าประโยชน์ หรือเหตุการณ์หลังจากที่มีการต่อสู้กับวีดาสอย่างดุเดือดและฝ่ายอินวิซิเบิลพลาดจนทำให้ วูลฟ์ ยูริค สโควโร่ เทียร์ หายตัวไป แต่มาเรียซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกลับจัดงานแต่งงานทั้งๆ ที่เพิ่งจะเกิดเหตุการร้ายขึ้น และเรนซึ่งรู้เรื่องการหายตัวไปของสามีตนเอง (ยูริค) และเพื่อนๆ และรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่กลับแสดงท่าทีทำให้ศัตรูไม่ไว้วางใจ ซึ่งความไม่สมเหตุสมผลทำให้ศัตรูคอยจับผิดตนเอง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้อ่านไม่เชื่อในเรื่องที่ผู้เขียนสร้างขึ้นมา

ตัวละครนั้น ผู้เขียนเน้นความสำคัญของตัวละครในส่วนของกลุ่มอินวิซิเบิ้ล แต่กลับไม่ให้ความสำคัญกับเลดาสซึ่งเป็นตัวละครที่มีความสำคัญเป็นตัวแปรที่จะทำให้เกิดเรื่องทั้งหมด ผู้เขียนไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเลดาส (ซึ่งผู้วิจารณ์ไม่แน่ใจว่ามีกล่าวถึงในภาคก่อนหน้านี้หรือไม่) ความเป็นมาของเลดาส ทั้งประเด็นที่เลดาสน่าจะเป็นเรโน่ลูกชายของอีวานและซิลีนเซีย การที่เลดาสจ้องทำลายกำจัดวูฟล์ฟนั้นมีสาเหตุมาจากสิ่งใด และที่สำคัญผู้เขียนให้เลดาสเป็นจอมปีศาจแต่ไม่เคยมีเหตุการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าเลดาสมีอำนาจ พลัง ความยิ่งใหญ่และน่าเกรงขาม แม้แต่ตอนท้ายเรื่องการต่อสู้ระหว่างเลดาสกับวูล์ฟในตอนท้ายเรื่องเลดาสก็พ่ายแพ้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีความผิดพลาดในการในการบรรยายตัวละคร โดยเฉพาะเรนที่มีอาชีพเป็นพยาบาล ผู้เขียนมักจะเขียนสลับว่าเป็นแพทย์
ในการเขียนบทบรรยายนั้น ผู้เขียนมักจะใช้ภาษาพูดแทนภาษาเขียนในบทบรรยาย และทำให้เกิดความแตกต่างของระดับภาษา นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการใช้คำที่ไม่ตรงกับความหมาย เช่น “กัมปนาท” แปลว่าเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ผู้เขียนใช้คำนี้ในความหมายที่แปลว่ายิ่งใหญ่ในหลายที่ คำว่า “วารี” ซึ่งแปลว่า “น้ำ” ไม่ใช่ “แม่น้ำ” คำว่า “อรุณ” แปลว่า เวลาใกล้ที่พระอาทิตย์ขึ้น หรือ เวลาเช้า ผู้เขียนใช้ในความหมายว่าดวงอาทิตย์หรือแสงอาทิตย์ คำว่า “อเวจี” หมายถึงขุมหนึ่งของนรกที่ชื่อว่าอเวจี ไม่ได้หมายความถึงนรกตามที่ผู้เขียนสื่อความหมาย คำว่า “แวบตัว” ซึ่งควรจะใช้คำว่า “หายตัว” มากกว่า ผู้วิจารณ์อยากให้ผู้เขียนศึกษาความหมายในพจนานุกรม เพื่อที่จะใช้คำที่สื่อความหมายที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปและทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายที่ผู้เขียนได้อย่างถูกต้อง

สำหรับคำผิดนั้น ในช่วงต้นผู้เขียนมักจะพิมพ์สระ อู เป็นสระ อุ ส่วนคำผิดที่พบ (ตัวแรกเป็นคำที่เขียนผิด ตัวหลังเป็นคำที่แก้ถูก) ตนก-ตระหนก ไลล่า-ไล่ล่า เขลอะ-เขรอะ องค์รักษ์-องครักษ์ เปลี่ยม-เปี่ยม ปะดาบ-ประดาบ ประสพความสำเร็จ-ประสบความสำเร็จ ลาลา-ร่ำลา กระดี๋กระด๋า-กระดี้กระด้า เล่ล่อน-เร่ร่อน ถานะ-ฐานะ โยงรยางค์-ระโยงระยาง รูปกระทำนามกระทำ-รูปธรรมนามธรรม ปลิปาก-ปริปาก บาดแผลที่ชีช้ำ-บาดแผลที่ชอกช้ำ ร่มลื่น-ร่มรื่น สาระแหง-หัวระแหง เสียงดังซอกแซก-เสียงดังแซงแซ่ ยังมีคำผิดอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ยกมาเนื่องจากเป็นคำผิดที่เกิดจากการพิมพ์ผิด ผู้เขียนควรตรวจทานอีกครั้ง
โดยภาพรวมของนิยายเรื่อง Graruda III The Immaterial Hero มหาสงครามไร้บุรุษ ยังต้อมีการปรับแก้เป็นอย่างมาก การที่ผู้เขียนจะเขียนเป็นนิยายขนาดยาว 27 บท และแต่ละบทมีสองตอนซึ่งมีความยาวมาก จึงต้องระวังในการเชื่อมต่อเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกันให้มีความชัดเจนมีความเป็นเหตุเป็นผลเป็นที่น่าสนใจ การเขียนที่เลือกใช้คำที่มีความหมายที่ถูกต้อง การรักษาระดับภาษาให้มีความกลมกลืน ทั้งนี้เพื่อที่จะสื่อความหมายในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านรับรู้ในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการได้ ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนยังไม่ได้สื่อออกมาที่ชัดเจน
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12