หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12
 
ชื่อเรื่อง :  Angel's Judgement : Angel's War
ใครแต่ง : Blazing Flare
19 ม.ค. 57
80 %
5 Votes  
#101 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
วิจารณ์โดย Bluewahale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 20 พ.ค. 57
Angel’s Judgment : Angel’s War นวนิยายแฟนตาซีขนาดยาว แนวการต่อสู้ระหว่างตัวแทนสวรรค์กับนรก ผลงานของ Blazing Flare ซึ่งเป็นเรื่องราวของ พรหมมาส มหาศาสตรา หรือ เกล เด็กหนุ่มวัย 20 ปี ผู้ที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ไปในสงครามกลางเมือง ทั้งยังได้รับบาดแผลเป็นรอยคมดาบยาวกรีดตั้งแต่หน้าผากผ่านดวงตาด้านขวายาวถึงขอบจมูก ในขณะที่เขากำลังเอาชีวิตรอดเพื่อให้พ้นวันแต่ละวันไป แต่ได้รับพลังพิเศษที่จะกอบกู้วิกฤตการณ์ของโลกที่กำลังย่ำแย่ลงทุกขณะ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่เขากระทำร่วมกับกลุ่มผองเพื่อนร่วมผู้ได้พลังวิเศษจากสวรรค์เช่นเดียวกันเขา ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 22 แล้ว
นวนิยายแฟนตาซีเรื่องนี้ แม้ว่าแก่นเรื่องหลักจะเป็นเรื่องราวสงครามระหว่างตัวแทนสวรรค์และนรก ซึ่งคล้ายกับ
นวนิยายแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่ Blazing Flare สามารถสร้างความแตกต่างให้กับนวนิยายเรื่องนี้ได้ โดยนำภัยพิบัติและวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่ผู้คนในปัจจุบันต้องเผชิญมาสร้างเป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายตัวเอกต้องฟื้นฟูและสร้างสมดุลให้โลกกลับมาให้มีสภาพที่ดีดังเดิม ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกับเร่งสร้างความเลวร้ายของภัยพิบัติเหล่านี้ให้รุนแรงเพิ่มขึ้น จึงนับเป็นงานแฟนตาซีเชิงนิเวศสำนึกที่ไม่ค่อยพบในกลุ่มงานแฟนตาซีบ้านเรา ทั้งนี้ Blazing Flare มุ่งเน้นไปที่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อมในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า ในเขตอนุรักษ์ในประเทศไทย การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก แต่สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนละเลยไปอย่างน่าเสียดายในการนำเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมคือ การชี้ให้เห็นว่ามูลเหตุของปัญหาเหล่านั้นเกิดมาจากสิ่งใด และคนส่วนใหญ่จะช่วยแก้ปัญหาหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เนื่องจากผู้เขียนปล่อยหน้าที่ของการแก้ไขให้เป็นการใช้พลังพิเศษของเกลและเพื่อนๆ ไป มากกว่าที่เป็นความร่วมมือกันฟื้นฟูระหว่างพวกเกลกับคนในพื้นที่นั้นๆ หากผู้เขียนเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวนิเวศสำนึกทั้งระบบ ซึ่งน่าจะช่วยสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบของผู้อ่านต่อการปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง
ความเด่นประการที่สอง คือ การผสานตำนานและลักษณะเฉพาะของเทพเจ้าทั้งตะวันตกและตะวันออกเข้ากับเรื่องที่นำเสนอ นับเป็นจุดแข็งของผู้เขียนที่สามารถทำได้อย่างน่าสนใจและลงตัว เมื่อนำเทพเจ้าแต่ละองค์มาใช้ได้อย่างเหมาะสมในการเสนอเรื่องราวในแต่ละตอน ขณะเดียวกันช่วยเปิดพรมแดนความรู้ให้กับผู้อ่านเกี่ยวกับตำนาน ความเชื่อ จุดเด่น และประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับเทพเจ้าองค์ต่างๆ จากทั่วโลก ซึ่ง Blazing Flare เลือกใช้ได้อย่างพอเหมาะพอดี จึงไม่ทำให้นวนิยายเรื่องนี้กลายเป็นการเล่าตำนานเทพปกรณัมมากจนเกินไป
การเปลี่ยนฉากของเรื่องไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกนับว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจาก Blazing Flare สอดแทรกประวัติบุคคลสำคัญ หรือ ประวัติศาสตร์ที่น่ารู้ของประเทศและภูมิภาคนั้นไว้อย่างเป็นอย่างดี ซึ่งไม่ได้ทำแบบยัดเยียดจนเกินไป แต่ข้อมูลสาระความรู้เล่านี้ ผู้เขียนใช้กลวิธีการให้ตัวละครตัวหนึ่งเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง จึงทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้เหล่านี้ไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของกลุ่ม KKK (Ku Klux Kian) ที่เกิดขึ้นทั้งในอเมริกาและแอฟริกาใต้ ประวัติของ สืบ นาคะเสถียร และ ประวัติความรุ่งเรืองของอียิปต์ยุคโบราณ
การสร้างตัวละครพบว่า Blazing Flare สร้างตัวละครในลักษณะคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจน ตัวละครระหว่างฝ่ายดี คือ เทพสวรรค์ ทูตสวรรค์ ตัวแทนเทวทูต กับ ตัวละครฝ่ายร้าย คือ ทูตนรก และ จอมมาร ซึ่งดูเหมือนว่าตัวแทนจากสวรรค์จะดูเป็นรองตัวแทนจากนรกอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องพละกำลังและความสามารถในเชิงการต่อสู้ เนื่องจากเทพสวรรค์ (ผู้มีพลังอำนาจสูง) ติดพันธะสัญญาห้ามมิให้ลงมายุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้บนโลกมนุษย์ได้ ขณะที่จอมมารและทูตนรกไม่มีกฎข้อนี้กำกับอยู่ ขณะเดียวกันทูตนรกมี 2 ชีวิต มีโอกาสฟื้นคืนชีพได้หนึ่งครั้งเมื่อตาย แต่ตัวแทนสวรรค์ขาดโอกาสนั้น ด้วยเหตุนี้ Blazing Flare จึงทดแทนข้อจำกัดนี้ด้วยการให้ตัวละครโดยเฉพาะ เกล ที่มีโอกาสพัฒนาพลังฝีมืออย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นไปแบบแบบก้าวกระโดดอยู่เสมอๆ ในขณะที่ตัวละครอื่นๆ กลับขาดโอกาสดังกล่าวไป จึงเห็นว่าหาก Blazing Flare ควรเฉลี่ยหรือให้โอกาสตัวแทนทูตสวรรค์คนอื่นๆ ได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถของตนเองได้เหมือนเกล ก็จะทำให้เนื้อเรื่องสมจริงและน่าสนใจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บางครั้งยังพบว่าการอธิบายความสามารถของตัวละคร กับความสามารถที่แท้จริงที่ปรากฏในเรื่องดูจะขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอมิลี แฟร์ ที่ในฉากเปิดตัวอธิบายว่า เธอเป็นหน่วยรบแนวหน้าของทูตสวรรค์ มีฝีมือระดับเดียวกับเทพสวรรค์ แต่เธอแทบจะไม่มีได้แสดงศักยภาพดังกล่าวในการต่อสู้ครั้งใดๆ เลย จนดูเหมือนว่าเธอจะมีฝีมือเกือบอ่อนที่สุดในกลุ่มไป แต่อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เชื่อว่านวนิยายเรื่องนี้คงจบลงคล้ายๆ กับนวนิยายที่สร้างตัวละครคู่ตรงข้ามเรื่องอื่นๆ กล่าวคือ ในท้ายที่สุดแล้วความดีย่อมชนะความชั่ว หรือ ธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ
สำหรับข้อด้อยของเรื่องที่พบ คือ Blazing Flare ยังไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างสัดส่วนการใช้บทสนทนากับบทบรรยายได้ เนื่องจากพบว่าในนวนิยายเรื่องนี้มุ่งเน้นไปที่บทสนทนามากกว่าบทบรรยาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การเขียน
นวนิยายจะต้องมีสัดส่วนของบทบรรยายที่มากกว่า วิธีแก้ไขง่ายๆ คือ ปรับบทสนทนาบางตอนให้เป็นบทบรรยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่าเหตุการณ์ เล่าประวัติความเป็นมา หรือ การสะท้อนความรู้สึกภายในจิตของตัวละคร
ข้อด้อยอีกประการหนึ่งที่ Blazing Flare ควรจะต้องปรับปรุงโดยด่วนคือ คำผิด เนื่องจากนวนิยายเรื่องนี้มีคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ 1) การสะกดผิด เช่น ปะทะ เขียนเป็น ประทะ พาหนะ เขียนเป็น ภาหนะ เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขียนเป็น อนุสาวรีย์ไชยสมรภูมิ ล็อค เขียนเป็น ล้อค ฉัน เขียนเป็น ชั้น ปรมาจารย์ เขียนเป็น บรมจารย์ ยันต์ เขียนเป็น ยัน กึ่งกลาง เขียนเป็น กึ่งกาง เซ็นชื่อ เขียนเป็น เซ็นต์ชื่อ ทรัพยากร เขียนเป็น ทรัพยากรณ์ เสน่ห์ เขียนเป็น สเน่ห์ ทูต เขียนเป็น ฑูต กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา บางประการ เขียนเป็น บางประการณ์ ว้าก เขียนเป็น ว๊าก
นกเพนกวิน เขียนเป็น นกเพนกวิ้น เพลี่ยงพล้ำ เขียนเป็น เพรี่ยงพล้ำ เอกเทศ เขียนเป็น เอกเทศน์ แอปเปิ้ล เขียนเป็น แอบเปิ้ล เชอร์รี่ เขียนเป็น เชอรี่ พันธนาการ เขียนเป็น พันธนาการณ์ เฮลิคอปเตอร์ เขียนเป็น เฮลิค็อปเตอร์ เผาเป็นจุล เขียนเป็น เผาเป็นจุลย์ จินตนาการ เขียนเป็น จินตนาการณ์ ว้าว เขียนเป็น ว๊าว ตะครุบ เขียนเป็น ตะครุป พิพิธภัณฑ์ เขียนเป็น พิพิธพันธ์ เดนมาร์ก เขียนเป็น เดนมาร์ค/เด็นมาร์ค ริษยา เขียนเป็น ริศยา ตัณหา เขียนเป็น ตันหา เอเชีย เขียนเป็น เอเชียร์ หยักศก เขียนเป็น หยักสก ย้อมผม เขียนเป็น ยอมผม ช็อต เขียนเป็น ช๊อต ฉิบหาย เขียนเป็น ชิบหาย กรงเล็บ เขียนเป็น กงเล็บ ปาง เขียนเป็น ปางค์ ซีเมนต์ เขียนเป็น ซีเม็นต์ สักครู่ เขียนเป็น ซักครู่ พึมพำ เขียนเป็น พึมพัม ซิตี้ เขียนเป็น ชิตตี้ เลศนัย เขียนเป็น เลสนัย แดงกล่ำ เขียนเป็น แดงก่ำ เคลิ้มหลับ เขียนเป็น คล้อยหลับ บัลลังก์ เขียนเป็น บรรลังค์ ไอยคุปต์ เขียนเป็น ไอยคุป์/ไอย์คุปต์ บัญญัติ เขียนเป็น บรรญัติ เป๊ะ เขียนเป็น เป้ะ ถี่ถ้วน เขียนเป็น ถี่ท้วน ผลลัพธ์ เขียนเป็น ผลลัพท์ คฑา เขียนเป็น คทา เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนต์ เคลือบ เขียนเป็น เคลือน พิเรนทร์ เขียนเป็น พิเรน พลการ เขียนเป็น พละการ ฟาโรห์ เขียนเป็น ฟาโร เงื่อนไข เขียนเป็น เงื่อนขัย กุมภาพันธ์ เขียนเป็น กุมพาพันธ์ และ เปรมปรีดิ์ เขียนเป็น เปรมปรีย์ 2) การเลือกใช้คำไม่เหมาะสม เช่น ท้ายปากกา ควรใช้เป็น ด้ามปากกา หรือ ปลายปากกา 3) การใช้ลักษณนามผิด เช่น ลูกธนู 10 ดอก ใช้เป็น ลูกธนู 10 นัด และ 4) การใช้คำไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อเฉพาะ จะพบว่าคำๆ หนึ่งเขียนหลายแบบ จึงเห็นว่า Blazin Flare น่าจะเลือกวิธีเขียนแบบหนึ่งแบบใดไปเลย และควรใช้คำๆ เดียวโดยตลอดทั้งเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะสร้างความสับสนให้กับผู้อ่านได้ เช่น อาธิมิส-อธิมิส-อาเทมิส หรือ ทานาทอส-ธานาทอส หรือ เซ็ท-เซท-เซ็ต หรือ ฮอรัส-โอรัส ด้วยเหตุนี้ หาก Blazing Flare ปรับแก้คำผิดทั้งหมดที่นำเสนอไว้ข้างต้นก็จะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์ในเชิงการเขียนที่ชวนอ่านมากขึ้น
     
 
ชื่อเรื่อง :  เสน่ห์หาซาตาน
ใครแต่ง : กานต์พิชชา
6 เม.ย. 57
80 %
2 Votes  
#102 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
วิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 24 มิ.ย. 57
นวนิยายแนวซึ้งกินใจ จำนวน 40 ตอนจบ เรื่อง เสน่หาซาตาน ของ กานต์พิชชา เป็นเรื่องราวความรักระหว่างอลงกรณ์หรือกรณ์ ผู้บริหารหนุ่มของโรงแรมมณีจันท์ กับ สุรัชชา หรือ เอย หญิงสาวที่เขาต้องมีเหตุให้ทะเลาะกับเธอทุกครั้งที่เจอหน้า แต่พวกเขาทั้งสองต้องโคจรมาพบกันอีกครั้งในฐานะเจ้านายหนุ่มกับเลขาสาว และทำสัญญาเป็นแฟนกำมะลอเพื่อแก้ปัญหาการถูกคลุมถุงชนจากครอบครัวของทั้งคู่ เรื่องราวความรักกำมะลอครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร ต้องติดตามต่อไป
เสน่หาซาตาน ยังคงมีเนื้อหาและแนวเรื่องไม่ต่างจากนวนิยายแนวนี้เรื่องอื่นๆ จึงไม่สร้างความแปลกใหม่และแปลกใจให้กับผู้อ่านเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเรื่องให้พระเอกกับนางเอกไม่ชอบหน้ากัน ทะเลาะกันทุกครั้งที่เจอหน้า แต่เมื่อมีเหตุการณ์บังคับให้ต้องทำงานร่วมกัน ทัศนคติด้านลบที่มีต่อก็ค่อยๆ จางหายไป พัฒนาขึ้นมาเป็นความผูกพันและความรักในที่สุด แต่ก็ต้องมีเหตุให้เข้าใจผิด มีอุปสรรคเข้ามาทดสอบความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ แต่ท้ายที่สุดก็ลงเอยด้วยความรักและความเข้าใจ
นอกจากนี้ยังพบว่านวนิยายแนวนี้เรื่องใดก็ตามที่ชื่อเรื่องมีคำว่า “ซาตาน” พระเอกจะกลายเป็นตัวละครตามแบบฉบับของนิยายแนวนี้ไปแล้ว คือ หล่อ รวย ขี้หึง หูเบา ไม่มีเหตุผล และชอบลงโทษนางเอกให้เจ็บช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ ขณะที่นางเอกจะต้องตกเป็นจำเลยหัวใจที่รอบรับการลงทัณฑ์ที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลของพระเอกต่างๆ นานา ซึ่งไม่ว่าพระเอกจะลงโทษตนเองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไร แต่ที่สุดแล้วนางเอกก็สามารถให้อภัยได้ทุกครั้งด้วยเหตุผลของคำว่ารัก จนดูประหนึ่งว่าพระเอกของนวนิยายแนวนี้เป็นซาดิสม์ (ความสุขหรือความพึงพอใจในความเจ็บปวดหรือความทุกข์ของผู้อ่าน) ในขณะที่นางเอกก็พึงพอใจในความเป็นมาโซคิสม์ของตน (ความสุขและความพอใจเมื่อไดรับความเจ็บปวดกับตัวเอง หรือ การถูกตบตี การถูกเหยียดหยาม การถูกผูกมัด หรือการถูกทรมาน) อีกทั้งยังพบว่า นวนิยายเรื่องนี้ กานต์พิชชา กับการสร้างภาพให้กรณ์เป็นซานตานอย่างเต็มรูปแบบ จึงทำให้เนื้อเรื่องกว่าครึ่งเรื่องเน้นฉากการลงทัณฑ์ของกรณ์ที่กระทำกับเอย (โดยอ้างว่าทำไปเพราะพิษรักแรงหึง) ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่จึงเป็นการสร้างขึ้นที่เป็นตัวจุดชนวนให้พระเอกโกรธ จนนำไปสู่การลงโทษนางเอกต่างๆ นานา และมักไม่ค่อยสมเหตุผลเท่าใดนัก และบ่อยครั้งยังพบว่า กรณ์ ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ นับว่าขัดกับที่ภูมิหลังของตัวละครที่ผู้เขียนปูเรื่องไว้ในตอนต้นเรื่องว่าว่า กรณ์ เป็นผู้บริหารหนุ่มที่มีความสามารถ จนพ่อแม่ไว้ใจให้บริหารของครอบครัว ซึ่งเป็นโรงแรมใหญ่เก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่
ในเรื่องนี้พบว่า กานต์พิชชา ใช้ความบังเอิญเป็นกลวิธีในการดำเนินเรื่องบ่อยมาก ทั้งการสร้างเหตุการณ์ ปมปัญหา อาทิ เปิดเรื่องโดยให้กรณ์กับเอยเดินชนกันตลอดเวลา ต้องให้กรณ์ไปพบเอยอยู่กับชายอื่นเสมอ หรือเอยมักจะเห็นว่ากรณ์อยู่กับหญิงอื่น จนเป็นเหตุให้ทั้งคู่ไม่เข้าใจกัน แม้การคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ ก็ยังอาศัยเหตุบังเอิญ เช่น การเปิดเผยแผนชั่วร้ายระหว่างเอ็มและนาถที่ร่วมมือกันทำลายความรักของกรณ์กับเอย ก็มีเหตุให้อิงอรและไกรสรไปเที่ยวที่เดียวกัน และพบว่าแท้ที่จริงแล้วนาถและเอ็มรู้จักและเป็นคู่รักกันมาก่อน หรือการไปช่วยเอยจากเอ็ม ก็บังเอิญให้ไกรสรรู้จักผู้จัดการคอนโดของเอ็ม จนทำให้พวกเขาเข้าคอนโดไปช่วยเอยได้ หรือ ให้ฟางเป็นเพื่อนกับเจ้าของร้านแมกไม้ ร้านที่เอ็มหลอกพาฟางไปกินข้าวและวางยา เมื่อกรณ์ส่งภาพที่เอ็มประคองเอยที่มีคนส่งมาให้เข้าทางมือถือให้ฟางดู ฟางจึงรู้ว่าภาพนี้ถ่ายที่ใด และโทรไปสอบถามเพื่อนและเด็กที่ร้านจนได้ข้อมูลที่สร้างความกระจ่างให้กรณ์ได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าผู้เขียนน่าจะใช้กลวิธีอื่นๆ มาใช้บ้างก็จะทำให้การเขียนมีมุมมอง มีมิติ และความน่าสนใจให้นวนิยายเรื่องนี้ได้มากยิ่งขึ้น
ข้อสังเกตประการหนึ่งที่พบคือ ความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องนี้ดูยุ่งเหยิงและสร้างความสงสัยให้ขณะที่อ่านอย่างมาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง กรณ์ เอย ฟาง นาถ และ เอ็ม ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนสามารถลดความสับสนและลดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกลุ่มนี้ได้ และจะช่วยสร้างให้ตัวละครมีที่มาที่ไปได้ชัดเจนขึ้น ถ้า กานต์พิชชา กำหนดให้ตัวละครทุกตัวรู้จักกันมาก่อน ไม่ใช่กำหนดให้บางคนรู้จักบางคนและไม่รู้จักบางคนดังที่ปรากฏในเรื่องขณะนี้ กล่าวคือ เรื่องราวจะมีเหตุผลปละที่มาที่ไปที่หนักแน่นกว่าถ้าเปิดเรื่องเปิดเรื่องให้เอยและกรณ์ไม่ชอบหน้ากันมาตั้งแต่กรณ์จีบฟางที่เป็นเพื่อนสนิทเอย ซึ่งความไม่ชอบหน้าในครั้งนั้นส่งผลมาถึงในปัจจุบัน แทนที่จะเปิดเรื่องให้คนที่ไม่รู้จักกันสองคนมีเหตุให้เดินชนกันสามครั้ง และต่างมีเรื่องต่อว่ากันจนเป็นเหตุให้ไม่ชอบหน้ากันในเวลาต่อมา หรือในกรณีของนาถที่ผู้เขียนกำหนดให้เธอเป็นเพื่อนนักเรียนของกรณ์กับฟางอยู่แล้ว จึงไม่แปลกหากผู้เขียนจะให้เอยรู้จักกับนาถมาก่อน ซึ่งนี่อาจจะเป็นเหตุให้นาถรู้สึกโกรธและเกลียดเอยจนอยากจะกำจัด เพราะเอยทำให้เธอรู้สึกว่าเป็นศัตรูหัวใจที่ไม่คู่ควรกับกรณ์ ขณะเดียวกันก็ทำให้เธอรู้สึกพ่ายแพ้ต่อพวกเอยครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะแพ้ฟางที่เป็นเพื่อนเอย และเธอต้องมาแพ้เอย คนที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกรณ์ กลายมาเป็นแฟนกรณ์ แทนที่จะเป็นเธอเพื่อนที่แสนดีของกรณ์ (ซึ่งดูจะสมเหตุผลมากกว่าที่ให้ทั้งสองคนเพิ่งเจอกันดังในเรื่อง) หรือ ขณะเดียวกันเมื่อเรื่องเอ็มกำหนดให้เอ็มเป็นรุ่นพี่ของฟางและเอย จึงไม่แปลกที่เอ็มจะเป็นเพื่อนหรือรุ่นพี่ของกรณ์ด้วย เพราะต่างก็เรียนด้วยกันมา ดังนั้น หากเอ็มจะเกลียดกรณ์ นอจกากในฐานะศัตรูทางธุรกิจแล้ว ยังเพิ่มการเป็นศัตรูหัวใจเข้าไปอีกก็น่าที่จะยอมรับได้ เพราะตลอดเวลาตั้งแต่เรียนเอ็มแสดงให้เห็นว่าแล้วว่าเขารักเดียวใจเดียวกับเอยมาตลอดถึงปัจจุบัน แต่กลับต้องมาพ่ายแพ้ให้กับกรณ์อดีตคู่ปรับที่ไม่เคยเห็นค่าเอยมาก่อน แต่กลับสามารถแย่งเอยไปจากเอ็มได้ในเวลาอันสั้น
ในการสร้างเหตุการณ์นั้น พบว่าบ่อยครั้งที่ กานต์พิชชา สร้างเหตุการณ์ไม่ต่อเนื่องกัน ตอนที่ 5 ขณะที่ฉากกำลังดำเนินเรื่องอยู่ในห้องนอน อยู่ๆ ก็เปลี่ยนเป็นฉากหน้าบ้าน อย่างไม่มีต้นสายปลายเหตุ หรือ ตอนที่ 38 ที่ให้โจรเข้ามาทำร้ายและจับตัวกรณ์และเอยไว้ จนดูเหมือนว่าในตอนนั้นมีแค่เอยกับกรณ์อยู่บ้านกันสองคนเท่านั้น แต่ฉากก่อนหน้านั้นผู้เขียนกำลังเล่าว่า กรณ์ ไกรสร และ อิงอร ออกไปคุยกันข้างนอกบ้าน ขณะที่ปล่อยให้เอยนอนหลับข้างในบ้าน แล้วกรณ์เพิ่งเปิดประตูบ้านเข้ามาเมื่อได้ยินเสียงเหมือนเอยตื่นแล้ว แต่พอกรณ์และเอยออกไปนอกบ้านก็ถูกโจรจับตัวไว้ในทันที โดยที่ผู้เขียนได้ตัดไกรสรกับอิงอรออกจากฉากนี้ไปเลย ต่อมาในตอนที่ 39 ผู้เขียนก็ให้ไกรสรกลับเข้ามาในฉากอีกครั้งพร้อม ตำรวจ และ อรรถพล (พี่ชายของเอย) ที่บทก่อน หน้านั้นผู้เขียนเล่าว่ากำลังขับรถพาแม่มาหาเอย แต่ในฉากนี้อยู่ๆ แม่เอยก็หายไป และต่อมาผู้เขียนกลับให้แม่เอยเข้ามาพร้อมๆ กับพ่อแม่ของกรณ์ (ที่ไม่ไปปูเรื่องไว้ก่อนเลยว่าทั้งคู่จะมาที่เชียใหม่ด้วย อีกทั้งยังพบว่าบางครั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ขัดแย้งกันเอง เช่น ในตอนที่ 24 กรณ์บอกเอยอย่างชัดเจนแล้วว่านาถจะไปทำงานที่เชียงใหม่ด้วยกัน แต่ในบทที่ 27 กลับให้เอยต่อว่ากรณ์ว่า ทำไมเขาไม่บอกเธอว่านาถจะมาที่นี่ จึงอยากให้ผู้เขียนลองกลับอ่านทบทวนเรื่องอื่นครั้ง เพื่อแก้ไขความลักลั่นของเหตุการณ์เหล่านี้ลง
สำหรับการสร้างบทบรรยายและบทสนทนานั้นพบว่า กานต์พิชชา สามารถสร้างทั้งบทบรรยายและบทสนทนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสื่อความ สร้างอารมณ์ สร้างความน่าติดตาม และสร้างความลื่นไหลของเรื่องได้ อย่างไรก็ดี เห็นว่าผู้เขียนควรตัดอีโมติคอนที่ผู้เขียนแทรกไว้ 2 แห่งในเรื่องออก เพราะอีโมติคอนดังกล่าวดูจะแปลกแยกจากเนื้อเรื่องโดยองค์รวม และไม่ได้เป็นส่วนสำคัญต่อเรื่องด้วย
สิ่งที่ควรปรับปรุงอีกประการคือคำผิด เนื่องจากในเรื่องมีคำผิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ อาทิ การสะกดผิด เช่น เซ็น เขียนเป็น เซนต์ อยู่ เขียนเป็น ยู่ ว้าย เขียนเป็น ว๊าย ฟัง เขียนเป็น ฝัง พรรณนา เขียนเป็น พรรณา ท่อง เขียนเป็น ถ่อง สำหรับ เขียนเป็น สำกรับ สะเพร่า เขียนเป็น สัพเพร่า คาดการณ์ เขียนเป็น คาดการ ร้อนระอุ เขียนเป็น รอนระอุ ลมพัด เขียนเป็น ลมพัก ช็อต เขียนเป็น ช๊อต มั้ง เขียนเป็น มั๊ง ฟิวล์ เขียนเป็น ฟิลด์ ช่าง (หมายถึง ล่อง วางธุระ เช่น ช่างคลาย) เขียนเป็น ชั่ง (กระทำให้รู้น้ำหนักโดยใช้เครื่องชั้นหรือตราชูเป็นต้น) ผลักไส เขียนเป็น ผลักใส มารยาท เขียนเป็น สารยาท อาภรณ์ เขียนเป็น อาภร บอดี้การ์ด เขียนเป็น บอดีการ์ด เสเพล เขียนเป็น เลเพล สะโหลสะเหล เขียนเป็น สโลเล อากัปกิริยา เขียนเป็น อากับกริยา กางเกงยีนส์ เขียนเป็น กางเกงยีน แอปเปิ้ล เขียนเป็น แอบเปิ้ล ม้า เขียนเป็น ม๊า อิสรภาพ เขียนเป็น อิสระภาพ พลัน เขียนเป็น พลัย สาธารณชน เขียนเป็น สาธารณะชน เลี่ยน เขียนเป็น เลื่อน ล็อค เขียนเป็น ล๊อค สาบเสื้อ เขียนเป็น สาปเสื้อ ว้าว เขียนเป็น ว๊าว เลิ่กลั่ก เขียนเป็น เลิกลัก บูดบึ้ง เขียนเป็น บูดบึ่ง สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ ร่ำไห้ เขียนเป็น ล่ำไห้ ครู่ เขียนเป็น ครุ่ ว้า เขียนเป็น ว๊า น่าเกลียด เขียนเป็น น่าเกียจ นานาพันธุ์ เขียนเป็น นานาพันธ์ ทรมาน เขียนเป็น ทรมาร สะใภ้ เขียนเป็น สะไภ้ ทำไม เขียนเป็น ทำใม ล่าม เขียนเป็น ร่าม ฤทธิ์ เขียนเป็น ฤทธ์ เจ้าเล่ห์ เขียนเป็น เจ้าแหล่ ความห่วงใย เขียนเป็น ความใย สันดาน เขียนเป็น สัญดาน เนอะ เขียนเป็น เน๊าะ ณ เขียนเป็น ณ. ย่างกราย เขียนเป็น ย่ำกราย เยียวยา เขียนเป็น เยี่ยวยา ทริปทัวร์ เขียนเป็น ทริบทัวร์ เอ้อระเหย เขียนเป็น เอ้อละเหย โสเภณี เขียนเป็น โสเพณี ใส่หน้ากาก เขียนเป็น สากหน้ากาก โซฟา เขียนเป็น โชว์ฟา เศร้าโศก เขียนเป็น เศร้าโศรก ทิฐิ เขียนเป็น ฐิถิ ประจันหน้า เขียนเป็น ประจันหน้า ช็อปปิ่ง เขียนเป็น ช๊อปปิ้ง หนาว เขียนเป็น หนาก ทรมาน เขียนเป็น ทรมาณ พิมพ์ใจ เขียนเป็น พิมใจ แอบแฝง เขียนเป็น แอบแผง เดรัจฉาน เขียนเป็น เดรัชฉาน เคลือบแคลง เขียนเป็น เคลิบแคลง จะสมหวัง เขียนเป็น สะสมหวัง คุโชน เขียนเป็น ครุโชน สุนทรีย์ เขียนเป็น สุนทรี พิมพ์ เขียนเป็น พิมพิ์
การใช้คำผิดความหมาย เช่น หลายกัณฑ์ (หมายถึงกัณฑ์เทศน์) เขียนเป็น หลายกัณฐ์ (กัณฐ์ หมายถึง คอ) การออกแบบโรงแรมเต็มไปต้องยกความดีให้วิศวกร ควรใช้คำว่า สถาปนิก แทน (สถาปนิกเป็นคนออกแบบโรงแรม แต่วิศวกร เป็นผู้คุมการก่อสร้างโรงแรม) เส้นยาแดงผ่าแปด เขียนเป็น เส้นใยแดงผ่าแปด แม่สามี เขียนเป็น แม่ย่า ย่างสามขุน เขียนเป็น ย่างขุม ปิดไม่มิด เขียนเป็น ผิดไม่มิด ประจวบเหมาะ เขียนเป็น ประตวบเหมาะ สถานการณ์ตึงเครียด เขียนเป็น สถานะตึงเครียด ท้องร้องโครกคราก (โครกคราก หมายถึง เสียงท้องร้องดัง) เขียนเป็น ท้องร้องโกรกกราก (โกรกกราก หมายถึง ชื่อเครื่องมือสำหรับไชไม้ หรื กระบอกไม้ไผ่หลักปักอยู่กลางเติ่งสำหรับทอดดวด) หาก กานต์พิชชา ปรับแก้ได้ก็จะช่วยลดความผิดพลาดลง ซึ่งทำให้เรื่องน่าอ่านและถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น
     
 
ชื่อเรื่อง :  หัวใจข้าพเจ้า
ใครแต่ง : Solstice
31 มี.ค. 62
100 %
1 Votes  
#103 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 10 ต.ค. 57
หัวใจข้าพเจ้า

หัวใจข้าพเจ้า นวนิยายแนวหวานแหวว ผลงานของ Solstiu ซึ่งโพสต์ถึงตอนที่ 10 เป็นเรื่องราวของ
วรินทร์ หฤทัยบดินทร์ หรือ รินทร์ ที่มีชะตาชีวิตพลิกผันให้ต้องเข้าไปเรียนอยู่ในโรงเรียนหญิงล้วน ทั้งๆ ที่ในชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องตกอยู่ในสภาวะแปลกแยกและที่น่าอึดอัดใจเช่นนี้
แม้ว่าแนวเรื่องของ หัวใจข้าพเจ้า จะคล้ายๆ กับนวนิยายหลายเรื่องที่เน้นการสะท้อนอารมณ์ ความคิด และจิตใจของตัวละครเอกของเรื่องที่ต้องเผชิญปัญหาบางประการ ซึ่งเรื่อราวจะดำเนินไปตามพัฒนาการทางอารมณ์และการเติบโตทางความคิดในการแก้ปัญหาของตัวละครเป็นสำคัญ แต่นวนิยายเรื่องนี้แตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ ในแนวนี้ เนื่องจาก Solstiu กล้าที่เลือกให้ วรินทร์ หรือรินทร์ ตัวเอกของเรื่องเป็นตัวแทนของคนกลุ่มพิเศษที่มีความผิดปกติทางร่างกาย ซึ่งมีสองเพศในร่างเดียว มาถ่ายทอดความอัดอั้นตันใจกับสภาวะที่ต้องเผชิญในฐานะตัวประหลาดที่แตกต่างจากคนอื่น ทำให้เขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว แปลกแยกมาโดยตลอด และไม่มีเคยมีเพื่อนสนิทที่ยอมรับความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาได้เลย แม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะนำเสนอเพียงเรื่องราวของวรินทร์เท่านั้น แต่เรื่องก็ไม่ได้น่าเบื่อหรือมีเพียงมิติเดียว เพราะ Solstiu ได้สร้างความหลากหลายมิติให้เรื่องนี้มีอยู่บนปัญหาที่วรินทร์ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสภาพร่างกายของคนที่ขัดแย้งกับความเชื่อและความต้องการของตน ปัญหาครอบครัว ซึ่งวรินทร์เป็นเด็กบ้านแตกที่ใกล้ชิดกับแม่ แต่ห่างเหินจากครอบครัวทางฝ่าย ปัญหาความแปลกแยกกับเพื่อนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งเขาจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อปกปิดความลับของตน และยังมีปัญหาในเรื่องความรักที่เป็นปัญหาใหญ่ที่วรินทร์ต้องเผชิญต่อไปในอนาคต
Solstiu ไม่เพียงแต่นำเสนอปัญหาที่วรินทร์เผชิญทั้งขณะที่วรินทร์ เลือกจะเป็นผู้ชายตามความต้องการของตน แม้เขาจะมีความสุขกับการเลือกเพศของตน แต่สังคมรอบๆ ตัวของเขากลับสร้างความทุกข์และบาดแผลทางใจให้เขาอย่างมาก ด้วยการเลือกที่จะขับไสเขาออกไป และทิ้งให้เขาอยู่ตามลำพังอย่างโดดเดี่ยว แต่ต่อมา Solstiu กลับสร้างบททดสอบบทใหม่ที่ยากขึ้นสำหรับวรินทร์ นั่นคือ การที่เขาต้องตกอยู่ในสภาวะที่ถูกบังคับให้จำใจต้องเลือกเป็นผู้หญิง เพื่อรักษาชีวิตของตนเอาไว้ แม้ว่าเขาจะรักษาชีวิตของตนไว้ได้ แต่สภาวะจิตใจเขากลับย่ำแย่ลงอย่างมาก เพราะเขาปฏิเสธและไม่อาจจะยอมรับเพศสภาพใหม่ที่เขาต้องใช้ไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่นี้ได้ อีกทั้งเขายังถูกผลักไสให้ไปอยู่ในสภาพที่ไม่คุ้นเคยโดยแทบไม่มีเวลาตั้งตัว นั่นคือจากชีวิตของนักเรียนชายต้องไปเข้าเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน ซึ่งทำให้เขาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เชื่อว่าแนวทางของเลือกที่ Solstiu วางไว้ให้กับวรินทร์ น่าจะเป็นตามสำนวนที่ว่า “ฟ้าหลังฝนมักจะแจ่มใสเสมอ” เพราะเชื่อว่าเพื่อนและคุณครูที่เข้าใจจะช่วยลบลอยแผลในใจของเขาได้ในที่สุด
ความน่าติดตามของนวนิยายเรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือ Solstiu จะเลือกให้ชีวิตของวรินทร์ไปในทิศทางใด ระหว่างให้วรินทร์ทำใจยอมรับและปรับตัวเข้ากับสถานภาพและเพศสภาพใหม่ของตนได้ในที่สุดและยอมเป็นผู้หญิงจริงๆ แต่โดยส่วนตัว ผู้วิจารณ์คาคว่า Solstiu น่าจะยืนยันที่จะเสนอสภาพความสับสนของความเป็นคนสองเพศของวรินทร์ไปให้สุดทาง เพราะแม้ร่างกายของวรินทร์จะเป็นหญิง แต่มีใจเป็นชายร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้เขาตกหลุมรักเพื่อนหญิงคนสนิทคนใดคนหนึ่งของเขา ซึ่งถือเป็นบททดสอบบทต่อไปที่วรินทร์ต้องเผชิญ ด้วยเหตุนี้จึงน่าสนใจว่าความรักในครั้งนี้ของเขาอาจจะลงเอยเช่นไรต่อไป
การที่ Solstiu เลือกใช้มุมมองของ วรินทร์ เป็นกลวิธีหลักในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในเรื่องนั้น ข้อดีประการหนึ่งของกลวิธีการเขียนดังกล่าวคือ เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ใกล้ชิดกับตัวละครมากขึ้น จนทำให้ผู้อ่านทราบและสัมผัสกับอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดต่างๆ ของตัวละคร ราวกับเป็นเพื่อนสนิทที่ร่วมรับฟังความสุข ความทุกข์ และความสับสนต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกันได้ แต่ในอีกทางหนึ่งความใกล้ชิดเหล่านี้ก็ทำให้ผู้อ่านเห็นข้อบกพร้องของการสร้างตัวละครได้อย่างชัดเจนมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังเช่นในนวนิยาย แม้ว่า Solstiu จะพยายามทำให้เห็นถึงความยากลำบากและความขัดแย้งในจิตใจของวรินทร์ในการเข้าไปอยู่ในสังคมของผู้หญิงล้วน และความพยายามต่างๆ ในการปรับตัวและปกปิดตัวตนดั้งเดิมของตน เช่น การที่วรินทร์คิดว่าจะต้องดัดเสียงให้เป็นผู้หญิง หรือความเผอเรอต่างๆ ที่ทำตามความเคยชิน เช่น การเข้าห้องน้ำชาย เป็นต้น แต่บุคลิกลักษณะและวิธีคิดต่างๆ ของวิรินทร์ที่บรรยายไว้ในเรื่องขัดกับการพูด อากัปกิริยา จริต วิธีคิด และ การแสดงออกบางอย่างของวรินทร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถปรับตัวเป็นผู้หญิงได้เนียนได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ จึงทำให้ผู้อ่านยากที่จะเชื่อได้ว่า เขาดำรงชีวิตและคิดว่าตัวเองเป็นผู้ชายมาตลอดชีวิตที่ผ่านมา และเพิ่งจะไม่กี่วันนี้เองที่เขาต้องตกอยู่ในสภาพของผู้หญิง โดยส่วนตัวถ้าอ่านเพียงโลกภายในที่เสนอผ่านมุมมองของวรินทร์เพียงอย่างเดียวจะเชื่อว่าตัวละครตัวนี้เป็นผู้หญิงมากกว่าตัวละครผู้ชาย และเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อยมากด้วย จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะหาก Solstiu สามารถที่จะสร้างวรินทร์ให้เป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งในตัวเองที่ใจเป็นชาย แต่กายเป็นหญิง (ด้วยความจำเป็น) ได้ชัดเจนมากกว่านี้ จะยิ่งทำให้ผู้อ่านรับรู้และมีส่วนร่วมกับความทุกข์ ความอัดอั้นตันใจ ความสับสนต่างๆ ที่วรินทร์ได้รับ จนส่งผลต่อความรู้สึกและสร้างความสะเทือนใจต่อความรู้สึกของผู้อ่านกับชะตากรรมที่น่าสงสารของเขาเพิ่มมากขึ้น ปัญหาในประเด็นนี้ทำให้คาดว่า Solstiu น่าจะเป็นผู้หญิง จึงคุ้นเคยกับการบรรยายมุมมองและโลกภายในของตัวละครหญิงมากกว่าตัวละครชาย แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้หาก Solstiu ศึกษาการเสนอมุมมองและโลกภายในของตัวละครชายมากขึ้น จากนวนิยายแนวผู้ชาย หรือนวนิยายที่ผู้ชายปลอมตัวเป็นหญิงก็ได้ เพื่อจะเห็นตัวอย่างของแนวคิด บุคลิกภาพ มุมมอง และโลกภายในของความเป็นชายที่สอดแทรกอยู่ในบทบรรยายและบทสนทนาต่างๆ ก็จะนำมาปรับให้วรินทร์มีความเป็นชายมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้
สำหรับการสร้างบทสนทนาและบทบรรยายโดยรวมของเรื่องพบว่า Solstiu สามารถสื่อความต่างๆ ผ่านทั้งบทบรรยายและบทสนทนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายความรู้สึกภายในของวรินทร์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้อ่านได้ แต่สิ่งที่ Solstiu ต้องแก้และให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นคือ ความถูกต้องของการสะกดคำ เนื่องจากในเรื่องมีคำผิดมากพอสมควร อาทิ เคาน์เตอร์ เขียนเป็น เค้าเตอร์ ปฐมนิเทศ เขียนเป็น ประถมนิเทศ มั้ย เขียนเป็น มั๊ย พิเรนทร์ เขียนเป็น พิเรน รอยยิ้ม เขียนเป็น ร้อยยิ้ม เค้ก เขียนเป็น เค๊ก พากย์ เขียนเป็น พาก สับปะรด เขียนเป็น สับปะรด อาวุโส เขียนเป็น อวุโส พลั่ก เขียนเป็น ผลั๊ก สังเวช เขียนเป็น สังเวท สาธารณชน เขียนเป็น สาธารณะชน หมึกดำ เขียนเป็น มึกดำ ฟุบ เขียนเป็น ฟุ๊บ
     
 
ใครแต่ง : The Alisia ★
9 ส.ค. 57
80 %
13 Votes  
#104 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 30 ต.ค. 57
The Tarot of Arcena ฉีกตำนานไพทารอท นวนิยายแนวแฟนตาซี ของ Charming Alisia เป็นเรื่องราวการผจญภัยของเพรทเซล เด็กหนุ่มหน้าหวานที่มาจากโลกอื่น และเป็นเด็กในตำนานที่จะช่วยให้อาร์คาน่ากลับมาพบความสงบสุขอีกครั้ง เขาและเพื่อนร่วมทางอีก 4 คน ที่ช่วยกันตามหาและรวบรวมไพ่ทารอททั้ง 22 ใบ ซึ่งเพิ่งโพสต์ถึงตอนที่ 12
ในนวนิยายเรื่องนี้ Charming Alisia ไม่เพียงสร้างแก่นเรื่องทั้งหมดอยู่ที่การรวบรวมไพ่ แต่ยังสร้างเป็นเงื่อนไขกำกับไว้อีกครั้งตั้งแต่เปิดเรื่องว่า ความสงบสุขของอาร์คาน่าจะหวนคืนมาอีกครั้งเมื่อรวบรวมไพ่ทารอททั้ง 22 ใบได้สำเร็จ และบุคคลสำคัญที่ตำนานระบุคือเพรทเซลเด็กหนุ่มจากโลกอื่น ขณะเดียวกันเพรทเซลก็จะไม่ได้กลับบ้านจนกว่าจะรวบรวมไพ่ทั้งหมดได้ครบ เมื่อแก่นเรื่องเน้นที่ความสำคัญของไพ่ทารอท แต่ในช่วงแรกผู้เขียนกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับไพ่ จนทำให้ผู้อ่านไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับไพ่มากนัก อาทิ ไพ่มีความสำคัญต่อความสงบสุขของอาร์คาน่าอย่างไร วิธีการรวบรวมไพ่ หรือเหตุผลที่ไพ่บางใบจะปรากฏตัวกับคนบางคนเท่านั้น Charming Alisia น่าจะเพิ่มรายละเอียดในส่วนนี้ เพื่อสร้างความชัดเจนและทำให้เรื่องมีความน่าติดตามมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ต้องรอไปเฉลยพร้อมกันทั้งหมด หลังจากที่เดินทางไปถึงเกาะลึกลับและได้พบกับท่านเทเรียสก็ได้
แม้ว่า Charming Alisia จะสร้างข้อจำกัดของการรวบรวมไพ่ไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อความสงบสุขของอาร์คาน่า แต่เมื่ออ่านเรื่องมาจนถึงปัจจุบันกลับไปที่เพรทเซลและผองเพื่อนเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ก็พบว่าเกือบทั่วทั้งดินแดนอาร์คาเนียยังมีความสงบสุขอยู่ และประชาชนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่พบว่าดินแดนในเกิดความสับสนวุ่นวายหรือเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับอาณาจักรแห่งนี้เลย อันเป็นเหตุเร่งด่วนที่จะต้องรีบออกค้นหาและรวบรวมไพ่ทารอทเหล่านี้เลย อาจจะเห็นแต่เพียงแนวโน้มของความวุ่นวายจากการเกริ่นเรื่องสงครามระหว่างเฟราเนียร์ที่ต้องการจะทำสงครามเพื่อยึดจามาลังเป็นของตนเท่านั้น และความป่วยไข้ของท่านเทเรียส ผู้ที่สั่งให้ปูโร่มังกรเพลิงตัวน้อยไปนำเพรทเซลมารวบรวมไพ่ยังดินแดนแห่งนี้เท่านั้นเอง
ในช่วงต้นแม้ว่าจะมีไพ่ 2 ใบปรากฏแล้วคือ the sun กับ the chariot แต่เรื่องราวส่วนใหญ่กลับไม่ได้เน้นไปที่การติดตามหาไพ่ซึ่งเป็นภารกิจหลักของเรื่อง เพราะ Charming Alisia มุ่งเน้นไปที่การเปิดตัวละครต่างๆ ที่จะเป็นเพื่อร่วมเดินทางกับ เพรทเซล ไม่ว่าจะเป็นกิลลาท ทายาทช่างตีดาบแห่งกลอรี่ฮิลล์ ที่ต้องออกตามหาแร่เรื่องแสงที่เกาะลึกลับเพื่อสร้างดาบที่ทรงอานุภาพที่สุดของอาร์คาน่าและสร้างชื่อเสียงให้กับตระกูลของตน มิลแลนด์ เจ้าชายผู้อ่อนแอแห่งเฟราเนียร์ ผู้หนีออกจากพระราชวังเพื่อเรียนรู้และเข้าใจความหมายที่แท้จริงของชีวิต เอสกร้า มิโนทอร์ ชายผู้คลั่งเลือดแห่งเอลกราโด้ โจรขี้เมาที่มีฝีมือในการต่อสู้ และอลาบาส บาทหลวงแห่งศาสนาโอเวียน จึงเห็นว่า Charming Alisia ควรจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างสองเรื่องนี้ให้ได้ เพราะขณะนี้ทั้งความสนุกสนานและความมีชีวิตชีวาของเหล่าเพื่อนพ้องของเพรทเซลอาจทำให้ทั้งผู้อ่านและเพรทเซลดูละลืมเลือนภารกิจสำคัญของตนไปแล้วว่า จะต้องรีบตามหาไพ่เพื่อที่จะได้เดินทางกลับไปยังโลกของตนได้โดยเร็ว แม้ว่า 1 ปีในโลกอาร์คาน่าเท่ากับเพียง 1 ชั่วโมงในโลกมนุษย์เท่านั้นก็ตาม
จุดเด่นของเรื่องอยู่ที่การสร้างตัวละครที่มีความแตกต่างกันทั้งบุคลิก ลักษณะ อุปนิสัย และความชอบส่วนตัวที่โดดเด่น เมื่อพวกเขาเหล่านั้นมารวมตัวกันแล้วก็ยิ่งช่วยสร้างสีสัน ความสนุกสนาน ความวุ่นวายต่างๆ ให้กับเรื่องราวได้มากขึ้น ซึ่งชวนให้ติดตามว่าการผจญภัยสุดป่วนของพวกเขาจะเป็นอย่างไร และลงเอยแบบใด นอกจากนี้ Charming Alisia ยังเพิ่มมิติและความซับซ้อนให้กับเรื่องด้วยภูมิหลังและจุดมุ่งหมายในการเดินทางของตัวละครเหล่านี้ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันบทบรรยายและบทสนทนาระหว่างตัวละครต่างๆ นับว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างความสนุกสนานให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี แต่น่าเสียดายว่าอรรถรสและความสนุกเหล่านี้ถูกลดทอนลงด้วยคำผิดเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่า Charming Alisia คงต้องให้ความสำคัญกับการสะกดคำอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งคำผิดที่พบ อาทิ บิดเบือน เขียนเป็น บิดเบือ ก่นด่า เขียนเป็น กร่นด่า กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา อ้าว เขียนเป็น อ่าว สัญญาณ เขียนเป็น สัญญาน เวท เขียนเป็น เวทย์ เฮอะ เขียนเป็น เห๊อะ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ ล็อค เขียนเป็น ล๊อค สนทนา เขียนเป็น สนธนา ประยุกต์ เขียนเป็น ประยุกษ์ เจตจำนง เขียนเป็น เจตจำนงค์ ศิวิไลซ์ เขียนเป็น ศิวิไล ตะเบ็ง เขียนเป็น ตะเบง ทรัพยากร เขียนเป็น ทรัพยากรณ์ กับดัก เขียนเป็น กัปดัก อานุภาพ เขียนเป็น อานุภาค ทุรกันดาร เขียนเป็น ทุรกันดาน อารยธรรม เขียนเป็น อารยะธรรม และ โคลงเคลง เขียนเป็น โครงเครง รวมทั้งยังมีคำที่ผิดบ่อยครั้งมาก คือ คำที่สะกดด้วยวรรณยุกต์ตรี เช่น มี้ เขียนเป็น มี๊ หร้อก เขียนเป็น หร๊อก มั้ย เขียนเป็น มั๊ย ซึ่งหลักง่ายๆ ในการเขียนคำที่สะกดด้วยวรรณยุกต์ตรี (และจัตวา) จะใช้กับตัวอักษร 9 ตังที่เป็นอักษรกลางเท่านั้น คือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป และ อ นอกจากนี้ยังมีการใช้ลักษณนามผิด เช่น ก้อนเมฆก้อนใหญ่ เขียนเป็น ก้อนเมฆลูกใหญ่ และการเลือกใช้คำผิด เช่น ภาพวาด หรืองานจิตรกรรม ต้องใช้เป็นผลงานของจิตรกร ส่วน งานปั้น หรือประติมากรรม เป็นผลงานของประติมากร หาก Charming Alisia แก้ไขและปรับปรุงข้อผิดพลาดต่างๆ จะช่วยให้ผลงานถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น
     
 
ชื่อเรื่อง :  WildRose Court
3 เม.ย. 67
300 %
17 Votes  
#105 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 13 พ.ย. 57
WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า)
นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า) ของ gin / จิณัฐ (โพสต์ถึงตอนที่ 11) เป็นเรื่องราวของ อลิซ โรส สาวน้อยเจ้าของสวนแอปเปิ้ล ที่กลายเป็นหมากตัวสำคัญในแผนการของโรธอส ตุลาการหนุ่มเจ้าของคฤหาสน์กุหลาบป่า ที่ได้ชื่อว่าเป็นสวนกุหลาบที่สวยที่สุดในเดอ เฟลอร์ ที่จะบ่มเพาะให้อลิซกลายเป็นกุหลาบเลอค่า โรธอสเริ่มต้นด้วยการยึดสวนแอปเปิ้ลและกักตัวแองเจลล่า พี่สาว ซึ่งเป็นญาติที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวของอลิซไว้ เขาลบความทรงจำของแอลเจลล่าและสร้างความทรงจำใหม่ให้แองเจลล่าคิดว่าเธอเป็นน้องสาวของเขา เมื่ออลิซตามมาพบแองเจลล่ากลับต้องทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส เพราะแอลเจลล่าไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเธอหลงเหลืออยู่เลย แต่อลิซยังคงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะต้องทวงทั้งพี่สาวและสวนแอปเปิ้ล ซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดในชีวิตของเธอกลับคืนมาจากโรธอสให้ได้
จุดเด่นของเรื่องนี่ประการหนึ่ง คือ gin / จิณัฐ สามารถนำชื่อดอกไม้ต่างๆ มาสร้างเป็นชื่อตระกูล และชื่อตัวละคร ขณะเดียวกันก็ยังนำลักษณะเด่นของดอกไม้มาสร้างเป็นรูปลักษณ์ สัญลักษณ์ หรือ บุคลิกของตัวละครเหล่านั้นด้วย จึงเห็นว่าผู้เขียนน่าจะมีความรู้หรือได้ศึกษาเกี่ยวกับดอกไม้เหล่านี้มาเป็นอย่างดี จนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องได้อย่างลงตัวและน่าสนใจ จึงสามารถสร้างให้ WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า) มิได้เป็นเพียงเรื่องราวของดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นราชินีดอกไม้เหนือดอกไม้อื่นเท่านั้น แต่ยังทำให้นวนิยายเรื่องนี้อบอวลไปด้วยมวลดอกไม้นานาชนิดไปพร้อมกันด้วย
การที่ gin / จิณัฐ ตั้งใจวางโครงเรื่อง WildRose Court (คฤหาสน์กุหลาบป่า) ไว้อย่างซับซ้อน ซึ่งมีทั้งโครงเรื่องหลัก (main plot) ที่เน้นเรื่องราวเงื่อนงำแห่งมวลดอกไม้แห่งเดอ เฟลอร์ โดยที่แกนกลางของเรื่องอยู่ที่การบ่มเพาะให้อลิซกลายเป็นกุหลาบเลอค่า และยังสร้างโครงเรื่องย่อย (sub-plot) ให้กับตัวละครเกือบทุกตัวที่ปรากฏในเรื่องขณะนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแผนการและตัวตนที่แท้จริงของโรธอส ความขัดแย้งระหว่างไวท์ แลคติฟลอร่า เพื่อนสนิทและผู้ร่วมงานของโรธอสกับคนในตระกูลของเขาเอง ความเป็นมาของมีเรอร์ จิตวิญญาณแห่งกระจก ปมขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างลีฟกับฟรองสองพี่น้องตระกูลแกลดิโอลัส ความสัมพันธ์ระหว่างแองเจลล่ากับฟรอง และลาเวนกับซิล หรือ ใครคือศัตรูที่โรธอสต้องระวัง และเป็นศัตรูกับเขาเรื่องใด การสร้างความซับซ้อนเช่นนี้ในทางหนึ่งนับเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับเรื่อง เพราะมีประเด็น ความลับ และเงื่อนงำจำนวนมากให้ผู้อ่านอยากติดตาม แต่การโครงเรื่องย่อยจำนวนมากที่สร้างความซับซ้อนให้กับเรื่องก็อาจกลายเป็นข้อด้อยได้ด้วยเช่นกัน หากนักเขียนไม่สามารถควบคุมจังหวะเวลาในการเปิดโครงเรื่องใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาปมปัญหาของโครงเรื่องเหล่านั้นให้สนับสนุนและสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกับโครงเรื่องใหญ่ที่ต้องการนำเสนอได้
ผู้วิจารณ์เห็นว่า gin / จิณัฐ ยังไม่สามารถควบคุมจังหวะของการเปิดโครงเรื่อย่อยใหม่ๆ ได้ดีนัก เพราะ ในขณะที่ผู้อ่านยังไม่ได้รับการคลี่คลายใดๆ จากโครงเรื่องหลักของเรื่อง ที่เปิดด้วยปริศนาที่ว่าแผนการที่แท้จริงของโรธอสคืออะไร และอลิซมีความสำคัญกับการทำให้เขาบรรลุผลอย่างไร แต่ gin / จิณัฐ กลับระดมเปิดตัวละครที่มาพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก การเปิดตัวละครแต่ละตัวในที่นี้เหมือนกับเปิดโครงเรื่องย่อยเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เพราะ gin / จิณัฐ สร้างให้ตัวละครแต่ละตัวต่างมีเรื่องราว ความลับและปริศนาในชีวิตที่น่าติดตาม จึงเห็นว่าการเปิดเรื่องด้วยโครงเรื่องย่อยจำนวนมากในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นนี้ส่งผลให้ 12 ตอนแรกของเรื่องเต็มไปด้วยคำถามและปัญหานานัปการที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ในการแก้ปัญหานี้เห็นว่า gin / จิณัฐ ควรจะต้องเว้นจังหวะระยะห่างของตัวละครให้มากกว่านี้ โดยอาจจะต้องพัฒนาโครงเรื่องของตัวละครแต่ละตัวไประยะหนึ่งก่อน แล้วจึงจะเปิดตัวละครและโครงเรื่องต่อไป การทำเช่นนี้จะช่วยลดความคลุมเครือของเรื่องลงได้ ขณะเดียวกันจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุผลในการกระทำของตัวละครต่างๆ ซึ่งจะชวนให้ผู้อ่านสนุกที่จะติดตามเรื่องราวต่างๆ ของตัวละครมากยิ่งขึ้น
ข้อสงสัยอีกประการหนึ่ง คือ การที่โรธอสประกาศต่อสาธารณชนว่า แอลเจลล่าเป็นน้องสาวเขานั้น โดยคิดเพียงว่าถ้าทำให้แองเจลล่าสามารถจดจำเรื่องราวของตระกูลและคนใกล้ชิดได้ทั้งหมดแล้วจะสามารถปิดบังความลับนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น โรธอสและตระกูลของเขาเป็นคนดังของเมืองนี้ และอยู่ในเมืองนี้มานานมาก จึงยากที่จะเชื่อว่าคนใกล้ชิดเขา รวมทั้งคนอื่นๆ ในเมืองจะไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วเขาไม่เคยมีน้องสาวมาก่อน เช่นเดียวกันแองเจลล่าและตระกูลของเธอก็อยู่ในเมืองนี้มานานเช่นกัน จึงน่าจะมีคนทราบความเป็นมาของเธอบ้าง แม้ว่า gin / จิณัฐ จะให้เหตุผลว่าทั้งโรธอสและแองเจลล่าต่างเป็นคนเก็บตัวก็ตาม
gin / จิณัฐ มีความสามารถในการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาที่ดี จึงสามารถที่จะสร้างทั้งเรื่องราวและตัวละครได้อย่างมีเอกลักษณ์และน่าติดตาม และยังเอาใจใส่ความถูกต้องของการสะกดคำอย่างมาก จนแทบจะไม่พบคำผิดเลย จึงทำให้เรื่องดำเนินไปอย่างลื่นไหลและน่าอ่าน แต่เพื่อให้เรื่องถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น จึงอยากให้แก้ไขคำที่สะกดผิด 2 คำ คือ ฮะ / หา เขียนเป็น ห๊ะ และ ปะทะ เขียนเป็น ประทะ
     
 
ชื่อเรื่อง :  สุริยัน ระฟ้า
9 ต.ค. 58
80 %
8 Votes  
#106 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 3 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Blue Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 8 เม.ย. 58
นวนิยายแนวซึ้งกินใจเรื่อง สุริยัน ระฟ้า ผลงานของ ศิลานิรันดร์ เป็นเรื่องราวความรักข้ามเวลาของดวงแก้วหรือแก้ว หญิงสาวชาวไทย กับ เลอสรวงกษัตริย์แห่งสรวงศิลานคร ผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องข้ามมิติเวลามาใช้ชิวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ ตะวัน เจ้าของไร่ระฟ้าและคฤหาสน์ระฟ้าผู้โด่งดัง และเฝ้ารอคอยดวงแก้วเติบโตมากว่า 20 ปี เพราะลูกที่เกิดขึ้นจากเธอจะช่วยปลดเปลื้องบ้านเมืองของเขาให้พ้นจากคำสาปได้ ความรักข้ามภพระหว่างเขากับเธอเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป ขณะนี้เขียนถึงตอนที่ 21 แล้ว
สุริยัน ระฟ้า เป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวซับซ้อนเรื่องหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่ให้ตัวละครข้ามภพข้ามชาติ โดยที่เนื้อเรื่องเกิดทั้งในภพปัจจุบันและภพอดีต ซึ่ง ศิลานิรันดร์ สร้างความลับและปมปัญหาที่ชวนให้ผู้อ่านติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวตนที่แท้จริงของตะวัน และศักรินทร์ ขณะเดียวกันนวนิยายเรื่องนี้ยังมีความซับซ้อนของโครงเรื่องด้วย เพราะมีทั้งโครงเรื่องหลัก (main plot) ที่เกี่ยวกับการปลดเปลื้องเมืองสรวงศิลานครในอดีตชาติให้พ้นคำสาป และโครงเรื่องรอง (sub-plot) อีกเป็นจำนวนมากที่สอดประสานและสนับสนุนให้โครงเรื่องหลักมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำสงครามระหว่างอาณาจักร เรื่อราวความรักในหลากหลายแง่มุมของตัวละครที่อยู่ในภพอดีตและภพปัจจุบัน ทั้งความสมหวังในความรัก ความผิดหวัง และ การแอบรัก เป็นต้น
การที่จะเขียนนวนิยายข้ามภพให้มีความน่าสนใจนั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างเรื่องราวทั้งสองภพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในนวนิยายเรื่องนี้ที่ ศิลานิรันดร์ พยายามสร้างเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นทั้งสองภพพอๆ กัน และตัวละครส่วนใหญ่ก็ปรากฏในทั้งสองภาพ แม้ว่าจะมีแค่ตัวละคร 2 ตัวที่ข้ามภพไปมาได้ คือ แก้ว และ ตะวัน ขณะที่ตัวละครตัวอื่นๆ นั้น ต่างเป็นคนในภพอดีตที่มาเกิดใหม่ในภพปัจจุบันเท่านั้น โดยไม่หลงเหลือความทรงจำในภพอดีตติดมายังภาพปัจจุบันเลย ยกเว้นศักรินทร์ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่านวนิยายเรื่องนี้ยังไม่สามารถสร้างความสมดุลดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ เพราะเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวและตัวละครของภพปัจจุบัน แต่ผู้เขียนกลับแทบจะไม่ปูพื้นให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับตัวละครพวกนี้เลย จนอาจะสร้างความงุนงงและสับสนให้ผู้อ่านอย่างมาก ทั้งนี้ผู้วิจารณ์เข้าใจว่าเหตุผลประการสำคัญที่ผู้เขียนไม่ให้ภูมิหลังของตัวละครทั้งหมดไว้ เพราะต้องการจะไปเฉลยในภพอดีตที่จะอยู่ในเนื้อเรื่องช่วงต่อมา จึงเห็นว่าผู้เขียนควรให้ข้อมูลเบื้องหลังของตัวละครในยุคปัจจุบันให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความสมเหตุผลต่างๆ ของเรื่องให้เพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าตะวันแอบรักและแอบติดตามดวงแก้วมานานกว่า 20 ปี เขมิกาที่ดูแลและภักดีต่อตะวันมานานปี ความรักและความสัมพันธ์ของเข้มกับขวัญเรือนที่เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป หรือ อินทัชสนใจและแอบรักแก้วมาตลอดระยะเวลาที่อิงอรกับแก้วเป็นเพื่อนกัน นอกจากนี้ยังเห็นว่า ศิลานิรันดร์ กล่าวถึงเรื่องราวในภพปัจจุบันในช่วงต้นอย่างรวบรัดตัดความมากเกินไป และมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเป็นจำนวนมากที่ขาดที่มีที่ไป ทั้งยังส่งผลต่อความสมจริงของเรื่องด้วย อาทิ การที่แม่ของอิงอรใช้เธอเป็นเครื่องมือกำจัดเข้ม ก่อนที่พ่อของอิงอรจะทราบความจริงเกี่ยวกับชาติกำเนิดของเข้มที่เป็นความลับมากกว่า 20 ปี หรือ ขจรทราบเรื่องเข้มและอิงอรถูกทำร้ายได้อย่างไร จึงขับรถตามไปช่วยไว้ทัน
ในการสร้างตัวละครนั้น ผู้วิจารณ์เห็นว่า ศิลานิรันดร์ จำกัดกรอบการสร้างตัวละครของตนแคบจนเกินไป กล่าวคือ การตั้งโจทย์ในการสร้างตัวละครไว้แทบจะชัดเจนว่า ชะตาชีวิตของตัวละครเด่นๆ ในยุคปัจจุบันทุกตัว เป็นผลมาจากการกระทำหรือความผูกพันกันที่มีมาในอดีตชาติ คนที่รักกันในชาติที่แล้วก็กลับมาเป็นคนรักกันต่อไปในชาตินี้ คนที่ผิดหวังในความรักในอดีตชาติ เมื่อมาภพปัจจุบันก็ต้องผิดหวังซ้ำอีก หรือคนที่เป็นศัตรูกันในอดีตชาติก็ยังคงความเป็นศัตรูกันต่อไปในชาตินี้ จนทำให้ตัวละครในเรื่องขาดมิติที่หลากหลาย ทั้งๆ ที่การเขียนงานแนวข้ามภาพข้ามชาติเช่นนี้ เปิดโอกาสให้ผู้เขียนมีเสรีภาพในการปรับเปลี่ยนบุคลิกและลักษณะนิสัยของตัวละครต่างๆ ได้ง่าย หากจะมีการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของตัวละครบ้างก็จะช่วยให้เรื่องราวในภพอดีตแลปัจจุบันไม่ซ้ำกันมากจนเกิดไป จนทำให้ผู้อ่านคาดเดาทิศทางของเรื่องได้ง่าย ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความน่าสนใจและความติดตามของเรื่องให้มีเพิ่มขึ้นด้วย
ศิลานิรันดร์ สร้างความน่าติดตามให้กับเรื่องไว้ในหลากหลายวิธี ทั้งการเปิดประเด็นการคาดการณ์ในอนาคต (foreshadow) ไว้เป็นระยะๆ ซึ่งจะใช้บ่อยกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตะวันในช่วงต้นเรื่อง เช่น การบรรยายว่าตะวันไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น และ ตะวันจะจากไปไกลๆ ไม่ได้ไปแค่โรงพยาบาลในเมือง อีกวิธีที่นิยมใช้คือ การทิ้งท้ายการจบแต่ละบทไว้ด้วยเหตุการณ์ที่ชวนให้ติดตามว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร รวมทั้งการเปิดปมปัญหาที่น่าสนใจไว้ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนาและคลีคลายปมปัญหานั้นในช่วงต่อมา เช่น การเปิดให้แก้วเป็นมือที่สามที่จะเข้ามาทำลายความรักระหว่างเจ้าเลอสรวงกับพระมเหสี เจ้าหญิงเกษรา หรือ ความรักที่ซ่อนเร้นระหว่างเจ้าหญิงเกษรากับเจ้าชายเขมรินทร์ พระอนุชาของเจ้าเลอสรวง
อย่างไรก็ดีเห็นว่า ศิลานิรันดร์ อาจจะต้องปรับที่มาที่ไปของฉากอีโรติกแต่ละฉากให้มีความสมเหตุผลมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะดูเหมือนผู้เขียนจงใจและต้องการจะให้มีฉากเหล่านั้นในนวนิยายของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของเรื่องในภพปัจจุบันที่พยายามผู้เขียนบรรยายและให้ภาพตะวันเป็นจอมมารที่ใจร้าย ที่มักจะเข้ามาจู่โจมและลวนลามแก้วเสมอทั้งในยามหลับและยามตื่น ทั้งๆ ที่ตัวตนของตะวันที่ปูไว้ในเรื่องนั้นไม่ได้มีบุคลิกลักษณะที่สอดรับกับข้อกล่าวหาหรือพฤติกรรมที่แสดงออกในฉากอีโรติกเหล่านี้เลย เมื่อเกิดความขัดกันของบุคลิกตัวละครเช่นนี้ อาจส่งผลต่อการสร้างภาพแง่ร้ายของตะวันในใจผู้อ่านได้ เพราะตะวันจะกลายเป็น “ชายหื่น” ไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับภาพของศักรินทร์ที่กระทำการล่วงเกินต่ออิงอรเสมอเมื่อมีโอกาส
การใช้ภาษาในเรื่องพบว่า มีการแยกระดับของภาษาที่ใช้ระหว่างสองภพค่อนข้างชัดเจน เมื่ออยู่ในภพอดีตระดับของภาษาต่างๆ ที่ตัวละครใช้จะดูประณีตและใช้คำเก่ากว่าเมื่ออยู่ในภพปัจจุบัน สำหรับการสร้างบทบรรยายและบทสนทนาที่ปรากฏในเรื่องนั้น พบว่าไม่มีปัญหา ศิลานิรันดร์ สามารถสร้างได้อย่างลื่นไหล อันช่วยให้เรื่องน่าอ่านและชวนติดตามได้เป็นอย่างดี หากจะมีสะดุดบ้างก็เฉพาะช่วงที่มีการเปลี่ยนระดับภาษาระหว่างภาษาในภพอดีตและภพปัจจุบันที่มักจะมีสำนวนแปลกๆ ที่ไม่คุ้นเคยแทรกอยู่ เช่น หัวใจกันดารรัก เสนอว่าควรเปลี่ยนเป็น หัวใจไร้รัก นั่นอาจเป็นเพราะ ศิลานิรันดร์ ให้ความสำคัญ ใส่ใจและระมัดระวังเกี่ยวกับความถูกต้องของการสะกดคำค่อนข้างมาก จึงพบคำผิดบ้างเพียงเล็กน้อย อาทิ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ อณูเนื้อ เขียนเป็น อณุเนื้อ ความสัมพันธ์ เขียนเป็น ความสำพันธ์ รัตนชาติ เขียนเป็น รัตะชาติ ประชวร เขียนเป็น ประชวน รักสามเส้า เขียนเป็น รักสามเศร้า ภายใน เขียนเป็น ถายใน สัญญาณ เขียนเป็น สัญญาน พายุบุแคม เขียนเป็น พายุบุเคม และ ดาวดึงส์ เขียนเป็น ดาวดึง
     
 
ใครแต่ง : ArtaniA
22 ก.ย. 58
80 %
8 Votes  
#107 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 4 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluewhale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 23 มี.ค. 58
Lucky Curse อภินิหารคำสาปอลเวง!!


Lucky Curse อภินิหารคำสาปอลเวง!! ผลงานของ Artani A เป็นนวนิยายแฟนตาซี ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 10 แล้ว เรื่องราวต่างๆ ในเรื่องเกิดขึ้นจากแผนการของภูตวิสกี้ที่ต้องการคัดเลือกมนุษย์ 5 คน มาช่วยปรับสมดุลและสร้างความแข็งแกร่งให้กับวิหารเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่พำนักของเทพเจ้า ภูตวิสกี้จะส่งภูตไปคุ้มครองมนุษย์ที่ได้รับเลือกขณะที่เดินทางมายังวิหารแห่งนี้ หนึ่งในมนุษย์ที่ถูกคัดเลือกคือ วิซตา เพทอส บุตรสาวของเทวทูตเพทอส มนุษย์ที่ถูกคัดเลือกให้มาเป็นเทวทูตประจำวิหาร เพื่อทำหน้าที่ฟังเรื่องราวของภูตที่ถูกมนุษย์รังแกอยู่เป็นประจำ ซึ่งตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติต้องทำไปตลอดชีวิต และไม่สามารถออกจากวิหารได้ ดังนั้น ส่วนหนึ่งของแผนการของวิสกี้ในครั้งนี้ เพื่อให้เทวทูตพาทอสได้มีโอกาสพบวิซตา บุตรสาวที่เขาไม่ได้พบเธอมานานถึง 14 ปีแล้ว ในระหว่างการเดินทางมายังวิหารแห่งเทพเจ้านี้ เหล่ามนุษย์ที่ได้รับคัดเลือกต่างต้องประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรประหลาดที่เหล่าภูตมอบให้กับมนุษย์ที่ตนคัดเลือก แต่มนุษย์กลับรู้สึกว่าตนได้รับคำสาปมากกว่าพร และพรดังกล่าวก็เป็นเหตุให้เกิดความอลเวงต่างๆ ขึ้นอยู่เสมอๆ จนทำให้มนุษย์กลุ่มนี้ต่างพยายามที่จะมุ่งหน้าไปยังวิหารแห่งเทพเพื่อลบล้างพรที่ตนได้รับ จึงน่าติดตามว่าพวกเขาจะทำได้สำเร็จหรือไม่ อย่างไร
ผู้วิจารณ์เคยอ่านนวนิยายเรื่องนี้ไปจนจบภาค 1 แล้วก่อนที่ Artani A จะนำมารีไรท์ใหม่ในครั้งนี้ ซึ่งเห็นว่าการ
รีไรท์ทำให้เรื่องราวที่นำเสนอกระชับขึ้นกว่าเดิมและสร้างเงื่อนไขที่ให้ตัวละครมนุษย์ต้องเดินทางไปยังวิหารศักดิ์สิทธิ์ได้หนักแน่นมากขึ้น ในช่วง 10 ตอนแรกที่โพสต์ไว้นี้นับว่าอยู่ในช่วงของการนำเรื่องและการเปิดตัวละครสำคัญในเรื่องให้ผู้อ่านรู้จักเท่านั้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า Artani A สร้างตัวละครได้อย่างมีสีสันและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ ทั้งตัวละครที่เป็นมนุษย์และภูติ จนสามารถกระตุ้นให้ผู้อ่านติดตามอ่านเพราะอยากทราบว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไรได้เป็นอย่างดี
Lucky Curse อภินิหารคำสาปอลเวง !! นับเป็นนิยายแฟนตาซีอีกเรื่องหนึ่งที่มีความซับซ้อน ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นนวนิยายขนาดยาวได้ เนื่องจากในเรื่องมี่ทั้งโครงเรื่องหลัก คือ แผนการของวิสกี้ ที่ดึงมนุษย์ทั้ง 5 คนให้เดินทางไปยังวิหารศักดิ์สิทธิ์เพื่อลบล้างพร (คำสาป) เหล่านี้ ขณะเดียวกันยังมีโครงเรื่องย่อย (sub-plot) อันเป็นเรื่องราวเฉพาะของตัวละครเอง รวมไปถึงภูตต่างๆ ที่มาสร้างสีสัน และความน่าติดตามให้กับเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ห่างเหินระหว่างวิซตากับพ่อ หรือความแค้นระหว่างวิซต้ากับนักกวีพเนจรทั้งเจ็ด รวมไปถึงที่มาที่ไปของเอลดริซ เอนเซนเทีย เด็กหนุ่มกำพร้าแห่งเคโอทอร์ และเรื่องราวความรักระหว่างภูตวิสต้าที่หลงรักวิซตา มนุษย์ที่ตนเองให้พร ทั้งนี้มีแนวโน้มว่า โครงเรื่องย่อยๆ เหล่านี้จะมีเพิ่มขึ้นเมื่อ Artani A เปิดตัวละครหลักใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่า โครงเรื่องย่อยที่สร้างขึ้นนั้นช่วยทำให้เรื่องมีมิติและน่าติดตามมากขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยสนับสนุนโครงเรื่องหลักให้หนักแน่นมากขึ้น
ความสนุกและน่าสนใจประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องนี้คือ พรที่ภูตมอบให้เหล่ามนุษย์ โดย Artani A นำจุดเด่นของมนุษย์แต่ละคนมาเป็นเงื่อนไขในการให้พรอันแปลกประหลาดและได้กลายเป็นเหตุให้เกิดความอลเวงต่างๆ ขึ้นกับชีวิตพวกเขาและคนรอบข้าง อาทิ เอลดริช ชายหนุ่มที่กินจุผิดมนุษย์ จนต้องหาเงินเป็นจำนวนมาเพื่อซื้ออาหาร มิเรน่าภูตของเขาก็ให้พรเขาว่าไม่ต้องกินอะไรอีกเลย เพื่อเขาจะได้เหลือเงินเยอะๆ หรือ วิซต้า กลัวผีมาก ภูตวิสกี้ให้พรเธอให้เห็นวิญญาณต่างๆ เพื่อสร้างความกล้าหาญให้กับเธอ หรือ วายวินด์ กลัวจูเดียร์ เทซูรา เหนื่อยจากการพูดมากของเธอ จึงให้พรให้เธอพูดได้แค่วันละ 100 พยางค์ หลังจากนั้นให้ซาพีค นกสีฟ้าพูดแทนเธอ และ วัลการ์ มิสเทริค มือสังหารรับจ้าง ได้รับพรจากภูตไลท์ให้ทำความดีละเว้นความชั่ว หากไม่ทำตามจะถูกเวทมนตร์ของภูติไลท์ทรมาน
Artani A ไม่มีปัญหาในการสร้างบทสนทนาของตัวละครต่างๆ ที่สามารถสร้างได้อย่างเป็นธรรมชาติและเหมาะสมกับตัวละครแต่ละตัว ขณะที่บทบรรยายก็ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพตัวละคร ฉาก ได้เป็นอย่างดี อันรวมถึงการบรรยายฉากการต่อสู้ที่ถือว่าเป็นฉากสำคัญที่มักปรากฏอยู่เป็นระยะๆ โดยตลอดเรื่อง ซึ่ง Artani A บรรยายได้อย่างสั้น กระชับ และมีสีสัน อันช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและสร้างภาพการต่อสู้ อันรวมถึงการใช้พลังที่แตกต่างกันของตัวละครได้ชัดเจนขึ้น แม้ว่า Artani A จะรีไรท์ใหม่และใส่ใจในเรื่องความถูกต้องการภาษาเขียนแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าในเรื่องยังมีคำที่สะกดผิดหลงเหลืออยู่ อาทิ ร่ำลา เขียนเป็น ล่ำลา กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เฟ้ย เขียนเป็น เฟ่ย อันตรธาน เขียนเป็น อันตรทาน อัฒจันทร์ เขียนเป็น อัฒจันทน์ ผลข้างเคียง เขียนเป็น ผลค้างเคียง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนอีก 2 ประการที่พบ ประการแรก คือ การใช้คำว่า “นักกวี” โดยปกติคำว่า “นัก” มักจะใช้ประกอบคำกริยา เพื่อสร้างให้คำกริยานั้นเป็นคำนาม เช่น นักเขียน นักเรียน นักร้อง นักบวช แต่คำว่า “กวี” ในที่นี้ ไม่ได้เป็นคำกริยา แต่เป็นคำนามซึ่งหมายถึงผู้แต่งบทกวีอยู่แล้ว จึงเห็นว่าควรใช้คำว่า “กวี” แทนคำว่า “นักกวี” ประการที่สอง คือ พบว่ามีชื่อตัวละครตัวเดียวกัน แต่มีวิธีเขียนสองอย่างคือ เฮิร์ต และ เฮิร์ส จึงเห็นว่า Artani A ควรจะเลือกวิธีเขียนอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย เพื่อไม่สร้างความสับสนให้ผู้อ่าน อย่างไรก็ดี หากมีการแก้ไขคำผิดเหล่านี้ก็จะช่วยให้นิยายเรื่องนี้ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น

     
 
ชื่อเรื่อง :  Second of World [Online] [ดอง]
ใครแต่ง : NemuriHime
8 พ.ค. 60
100 %
2 Votes  
#108 REVIEW
 
เห็นด้วย
3
จาก 4 คน 
 
 
บทวิจารณ์จาก Bluew Whale

(แจ้งลบ)
  
เขียนเมื่อ 8 เม.ย. 58
นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Second of World (Online) ผลงานของ Nemuri Hime ขณะนี้โพสต์ถึงตอนที่ 13 แล้ว เป็นเรื่องราวของนิกซ์ หญิงสาวผู้เป็นเจ้าหญิงนิทราในโลกจริง แต่เธอกลับมีชีวิตโลดแล่นได้อีกครั้งในโลกของเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นโลกเสมือนของคนอื่น ชีวิตของนิกซ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เธอจะฟื้นฟูและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในโลกจริงได้หรือไม่ หรือเธอจะใช้ชีวิตอยู่แต่เฉพาะในโลกเสมือนต่อไป
Second of World (Online) ใช้แนวคิดเรื่องโลกคู่ขนานมาเป็นแนวการสร้างเรื่อง แม้ว่า
นวนิยายแฟนตาซีจำนวนไม่น้อยได้ใช้แนวคิดนี้ในการนำเสนอเรื่อง แต่ทว่า Nemuri Hime สามารถทำให้ผู้อ่านสนใจและติดตามได้ตั้งแต่เปิดเรื่อง โดยการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ “Second of world” เกมออนไลน์ที่ชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นเกมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเท่านั้น แต่ยังเป็นนวัตกรรมสำคัญทางการแพทย์ที่เกมดังกล่าวจะช่วยรักษาผู้ป่วยโคม่าหรือเจ้าหญิง/เจ้าชายนิทราด้วยการกระตุ้นคลื่นสมองให้กลับมาทำงานเป็นปกติอีกครั้งด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า Nemuri Hime ไม่ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาเชื่อมโยงหรือพัฒนาเพื่อให้เห็นศักยภาพและความสำคัญของเกมกับการกระตุ้นคลื่นสมองของคนไข้มากนัก
นวนิยายเรื่องนี้มีพื้นฐานของการสร้างโลกคู่ขนานระหว่างโลกจริงและโลกเสมือนไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่หนึ่งในการเปิดเรื่อง ที่ Nemuri Hime ทิ้งปมปัญหาที่น่าสนใจและน่าจะได้รับการพัฒนาต่อไป อาทิ เรื่องราวความลับในชีวิต กับภารกิจสำคัญอีกสองประการของนายพลเซินที่ต้องปฏิบัติให้ลุล่วง ตัวตนที่แท้จริงของเฮร่า ความแตกต่างของผู้เล่นในโลกออนไลน์ระหว่างผู้เล่นปกติ กับผู้ป่วยอาการโคม่า ซึ่งความแตกต่างที่ปรากฏในโลกเสมือนของคนทั้งสองกลุ่มกลับแทบจะไม่ต่างกัน แม้ว่า Nemuri Hime จะสร้างเงื่อนไขว่า ผู้ป่วยโคม่าจะมีความจำเสื่อมเมื่ออยู่ในโลกเสมือน แต่สภาวะความจำเสื่อมดังกล่าวไม่ชัดเจนมากพอให้ผู้อ่านตระหนักได้ว่า นิกซ์ ผู้ป่วยเจ้าหญิงนิทรา แตกต่างจาก เฮร่า คนปกติอย่างไร แต่ดูเหมือนว่าทิศทางการพัฒนาของเรื่องในช่วงต่อมา ได้ละความสนใจจากปมปัญหาที่เปิดไว้แล้วในช่วงต้นอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ดี ผู้วิจารณ์เห็นว่าความเชื่อมต่อของโลกคู่ขนานระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนที่เปิดเรื่องไว้ในตอนต้นเรื่อง ดูจะค่อยๆ ถูกตัดขาดจากกันโดยปริยาย เมื่อ Nemuri Hime เน้นการนำเสนอแต่เฉพาะโลกของเกม แต่กล่าวถึงโลกจริงเพียงแค่ว่าผู้เล่นเกมบางคนจะต้องออฟไลน์ออกจากเกมเพื่อกลับไปในโลกจริงเท่านั้น ขณะเดียวกันทิศทางของเรื่องถูกเปลี่ยนไปยังแนวเรื่องสูตรสำเร็จโรงเรียนเวทมนตร์แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิกซ์ เจ้าหญิงนิทราในโลกจริง สาวน้อยความจำเสื่อมในโลกเสมือน แต่กลายเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษที่หาได้ยากในโลกเสมือน เพราะมีธาตุหลักในตัวถึง 3 ธาตุ ต่อมาอาวุธวิญญาณ ไซเลนท์ ยังเลือกเป็นอาวุธประจำกายของเธออีกด้วย ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวเรื่องที่พัฒนาในช่วงต่อมาแทบจะไม่เชื่อมโยงกับแนวคิดของโลกคู่ขนานที่เปิดเรื่องไว้ตั้งแต่ต้น จึงไม่แน่ใจว่าแนวเรื่องที่ Nemuri Hime ต้องการจะนำเสนอนั้นคืออะไรกันแน่ระหว่าง โลกคู่ขนาน (ที่เปิดตัวไว้แล้วอย่างน่าสนใจ) เกมออนไลน์ หรือ โรงเรียนเวทมนตร์ แต่แนวโน้มที่เห็นในขณะนี้ดูจะโน้มเอียงไปในแนวโรงเรียนเวทมนตร์มากขึ้น นับตั้งแต่นิกซ์และเฮร่าสมัครและเข้ารับการคัดเลือกเพื่อฝึกหัดเป็นทหารของอาณาจักรเอเลเมนท์ เป็นต้นไป
การที่ Nemuri Hime มีความตั้งใจที่จะยกย่องและเชิดชูประเทศไทยให้กลายเป็นชาติมหาอำนาจที่ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสุดยอดของโลก นับว่าน่าสนใจ เพราะไม่ค่อยมีนวนิยายแนวนี้ที่ใช้ประเทศไทยเป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่อง แต่ความตั้งใจนี้กลับถูกกลบทับด้วยตัวการตั้งชื่อตัวละครด้วยภาษาต่างประเทศ และยังไม่มีตัวละครที่ใช้ชื่อไทยเลย จึงเห็นว่า Nemuri Hime น่าจะกล้าที่จะแสดงจุดยืนในประเด็นนี้ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นด้วยการใช้ชื่อตัวละครทั้งหมดเป็นชื่อไทย เพราะเมื่อประเทศไทยกลายเป็นผู้นำและมหาอำนาจใจด้านนี้ จึงไม่แปลกที่ภาษาไทยจะกลายเป็นภาษาสากลในวงการนี้ไปพร้อมกันด้วย
ข้อด้อยอีกประการที่พบคือ คำผิด ที่ยังพบอยู่ประปราย เช่น กะพริบตา เขียนเป็น กระพริบตา เวทมนตร์ เขียนเป็น เวทย์มนตร์ เดียว เขียนเป็น เดี่ยว นี่ เขียนเป็น นิ พึมพำ เขียนเป็น พึมพัม แฮะ เขียนเป็น แหะ ไอ้ เขียนเป็น ไอ ฮะ เขียนเป็น ห๊ะ เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย อุตส่าห์ เขียนเป็น อุส่า คทา เขียนเป็น คฑา เมื่อกี้ เขียนเป็น มะกี้ เมื่อคืน เขียนเป็น มะคืน เนอะ เขียนเป็น เน๊อะ ต่างๆ นานา เขียนเป็น ต่างๆ นาๆ จอมเวท เขียนเป็น จอมเวทย์ สัญชาตญาณ เขียนเป็น สัญชาติญาณ และ พลัด (พลัดกับ) เขียนเป็น พลัดพลาด
     
 
หน้าที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 , 8 , 9 , 10 , 11 , 12