ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ประสบการณ์ลดน้ำหนักด้วยตัวเอง เดือนละ 10 กิโลฯ

    ลำดับตอนที่ #28 : ความลับของการออกกำลังกาย ( 3 )

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.18K
      2
      16 เม.ย. 48







                                        หมายเหตุ   เขียนวันที่ 16 เม.ย. 48                    หนัก 83  กิโลกรัม





                                        เข้าโปรแกรมของตัวเองมาทั้งหมด    75   วัน



                                        น้ำหนักลดไปแล้วประมาณ              24   กิโลกรัม



                                        เฉลี่ยลดวันละ                             0.32  กิโลกรัม



                                        เฉลี่ยลดสัปดาห์ละ                       2.24  กิโลกรัม





                                        ก่อนอื่นก็ต้องขอบอกก่อนครับว่า ที่น้ำหนักตัวคงที่ช่วงนี้ก็ไม่ได้ประสบปัญหา\"ปรากฏการณ์น้ำหนักตัวคงที่\"นะครับ เพียงแต่อยากจะรักษาระดับนี้ไว้สักประมาณ 3-4 วัน เพราะตลอด 75 วันที่ผ่านมาก็คิดจะลดอยู่ท่าเดียว ช่วง 3-4 วันนี้จะลองทำใจให้สบายๆ กินเหมือนเดิม ออกกำลังกายบ้าง แล้วก็อยากจะลองนั่งสมาธิดูด้วยครับ แต่จะนั่งนานแค่ไหนต่อวันก็ยังไม่ได้ตัดสินใจครับ มีผู้ใหญ๋บางท่านแนะมาว่าถ้าเรานั่งสมาธิควบคู่ไปด้วย มันจะเป็นผลดีต่อการรักษาสมดุลของจิตกับกาย แล้วจะช่วยให้ตื่นเช้าขึ้น ร่างกายเผาผลาญดีขึ้น อืม...อันนี้คงรองานวิจัยรับรองคงไม่ได้ ก็คงต้องลองเองครับ โชคดีครับที่ผมเคยฝึกนั่งสมาธิมาแล้วครับ คือตอนที่ผมเรียนโท ตอนนั้นทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสัตว์ทดลองครับ บางวันต้องฆ่าสัตว์เยอะมาก  ต้องผ่าตัดหนู แล้วต่อมาก็ฆ่ามันทิ้งหลายร้อยตัว ต้องฆ่ากบอีกเป็นเบือ ธรรมชาติของผมนั้นไม่เคยฆ่าสัตว์โดยใช้เจตนามากเท่านี้มาก่อน อย่างมากก็แค่ตบยุงกับฆ่ามด ตอนนั้นบอกตรงๆครับว่าเครียดมากๆเลย



                                       ความเครียดสะสมจนถึงขั้นที่มีผลกระทบต่อการเรียน ก็เลยต้องรีบแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนครับ ผมก็เลยเลือกวิธีแก้ปัญหาโดยใช้การนั่งสมาธิ ตอนนั้นคิดว่าอย่างน้อยก็จะได้แผ่เมตตาไปให้กับสัตว์หลายพันตัวที่เราฆ่าเขาไประหว่างที่ศึกษาอยู่อะครับ ช่วงนั้นผมเลือกวัดที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยครับ เห็นเขามีสอนนั่งภาวนาทุกเย็น ช่วง 6 โมงถึงทุ่มตรง ก็เลยไปลองนั่งดูไม่เคยขาดเลยสักวัน ตอนแรกนั่งแค่ 10 นาทีก็มีปัญหาแล้วครับ มันหงุดหงิดมาก นั่งเองที่บ้านก็ยังทำไม่ได้ แต่ผมก็ยังไปทุกวันไม่เคยขาดครับ แบบว่าทำอย่างต่อเนื่องเหมือนกับการลดน้ำหนักนี่แหละครับ พอผ่านไปเดือนนึงก็นั่ง 1 ชั่วโมงได้ เดือนที่ 2 ก็นั่งที่บ้านได้ พอถึงเดือนที่ 3 และ 4 ก็นั่งได้วันละ 1.5-2 ชั่วโมง แต่พอหายเครียดแล้วก็เลิกไปเลยครับ ไม่ได้นั่งอีกเลย ก็เลยต้องพิสูจน์ดูครับว่านั่งในระหว่างลดน้ำหนักเนี่ยมันจะมีผลดีจริงรึเปล่า



                                       ขอพูดถึงประเด็นที่คุณ Zid เคยแนะว่าเขียนแบบนี้แล้วงงครับ ผมเลยมีแนวคิดว่า ถ้าผมเขียนเป็นตอนๆจนจบโปรแกรมเมื่อไหร่ ผมก็จะมาอ่านที่ตัวเองเขียนอีกครั้ง แล้วเขียนแบบเรียบเรียงใหม่ให้มันสั้นกะทัดรัดและสามารถนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้นครับ จะทำเป็นหนังสือหรือไม่นั้น คงต้องว่ากันอีกทีครับ เพราะยังไม่ได้คิดไกลไปถึงขั้นนั้น และตอนนี้ก็ยังไม่เสร็จสิ้นโปรแกรมด้วย ก็เลยจะมาบอกคนที่ติดตามอ่านและรู้สึกว่ามันเยิ่นเย้อไปอะครับ คงต้องรอกันหน่อย เพราะอยากเขียนมาจากประสบการณ์อะครับ ก็เลยต้องรอให้เสร็จสิ้นโปรแกรมของผมก่อน แล้วต้องมาเช็คด้วยว่ามันจะมีผลข้างเคียงอะไรรึเปล่า มีโยโยเกิดขึ้นมั้ย คือเช็คให้มันเรียบร้อยอะครับ จะได้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่สมบูรณ์จริงๆ



                                       ตอนนี้มาต่อเรื่องที่ค้างไว้นะครับ คือการวิเคราะห์แนวทางการออกกำลังกายในรูปแบบสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ว่ามันมีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง มาดูที่ข้อดีกันก่อนเลยครับ



    1. เป็นการทำเป็นประจำแบบทุกสัปดาห์ ไม่ใช่ทุกวัน จึงไม่ค่อยก่อให้เกิดความเครียดมากนัก

    2. สามารถวางแผนการออกกำลังกายอย่างมีสีสันได้ เพราะแต่ละครั้งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สถานที่เดียวกัน ทำให้ไม่ซ้ำซากจำเจ เช่น ถ้าใช้วิ่ง วันอังคารอาจไปวิ่งที่สวนลุม พอวันพฤหัสบดีอาจไปที่สวนหลวง ร.9 วันเสาร์อาจไปที่สวนเบญจสิริ เป็นต้น ผิดกับคนที่ออกกำลังกายทุกวันที่ส่วนมากแล้วจะใช้สถานที่เดียวกันเป็นประจำ

    3. เมื่อออกกำลังกายนานๆมักไม่ทำให้เบื่อหน่าย

    4. ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อการทำงานหรือการเรียน เพราะ 2 ใน 3 ครั้งนั้นอาจใช้วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือวันหยุดพิเศษอื่นๆ

    5. คนที่ออกกำลังกายรูปแบบนี้ ส่วนมากจะไปออกตามสวนสาธารณะหรือในฟิตเนส ทำให้รู้จักเพื่อนใหม่และทำให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการกระตุ้นให้อยากออกกำลังกายมากขึ้น



                                        ต่อมาเรามาดูข้อเสียกันบ้างครับ

    1. สำหรับคนที่ยังวางแผนไม่ดีพอหรือชอบผลัดวันประกันพรุ่งอาจใช้ข้ออ้างว่า \"วันนี้เหนื่อยแล้ว เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยออกก็ได้\" แต่พอครบสัปดาห์แล้ว ยังไม่ได้ออกกำลังกายเลยอะ

    2. หลายคนใช้วันเสาร์ อาทิตย์ในการออกกำลังกาย อาจมีปัญหาว่าไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมในวันเสาร์ อาทิตย์ เช่น สังสรรค์กับเพื่อน การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวฯ

    3. ปัญหาเรื่องรถติดเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มาบั่นทอน เช่น อยากไปวิ่งที่สวนลุม แต่รถติดเป็นบ้าเลย ขอแวะกินกาแฟก่อนดีกว่า เลยทำให้วันนั้นไม่ได้ออกกำลังกาย และวันอื่นก็ไม่ได้ออกเช่นเดียวกัน

    4. อาจมีผลต่อการกินได้ เพราะบางคนในวันที่ไม่ได้ออกกำลังกายก็ไม่ค่อยอยากกินอะไรเพราะกลัวจะอ้วน หรือเลือกที่จะกินของที่มีแคลอรี่ต่ำมากๆซึ่งอาจทำให้เสียสุขภาพในระยะยาว ส่วนบางคนก็มีผลทำให้บางวันกินมากเกินความจำเป็นเพราะคิดว่า \"ยังไงเสาร์นี้ก็จะเผาผลาญออกจนหมดอยู่แล้ว\" แต่ความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทำให้คนที่เลือกแบบนี้บางคนยิ่งออกกำลังกายยิ่งอ้วน

    5. บางคนอาจเสี่ยงต่อการออกกำลังกายหนักเกินไปในแต่ละครั้ง จนบางท่านได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากคิดว่า \"เราไม่ได้ออกกำลังทุกวัน มาวันนี้ต้องเอาให้คุ้ม\" แต่การออกกำลังกายรูปแบบนี้ในแต่ละครั้งก็ไม่ควรหักโหมและเกินกำลัง





                                       สำหรับผู้ที่ประสบความสำเร็จกับการออกกำลังกายแบบนี้ พวกเขาจะพึงพอใจกับข้อดีของมันมาก และสามารถแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดข้อเสียขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วันเสาร์ก็พาครอบครัวไปออกกำลังกายด้วยกันเลย   คนที่อยู่สุขุมวิทก็นั่งรถไฟฟ้าไปที่สวนลุม บางวันก็นั่งไปสวนเบญจสิริจะได้ไม่เสี่ยงกับรถติด  บางคนก็แยกโปรแกรมการกินกับการออกกำลังกายของเขาอย่างเด็ดขาด เช่นอยากออกกำลังรูปแบบนี้ แต่ทุกวันก็จะกินคล้ายๆกัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง บางคนที่เวลาของเขาลงตัวเขาก็จะกำหนดไปเลยว่าทุกสัปดาห์ เขาจะออกกำลังทุกวันพุธ เสาร์และอาทิตย์เพื่อช่วยกระตุ้นให้ตัวเองสามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง



                                       สำหรับผู้ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่พอเลือกออกกำลังแบบไหนแล้วก็จะทำแบบนั้นเลย ไม่ค่อยเปลี่ยน อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาวิเคราะห์ตนเองดีแล้ว แต่ก็มีบางคนที่ออกกำลังกายทุกวันแล้วรู้สึกเบื่อ เลยเปลี่ยนมาออกกำลังกายทุกสัปดาห์ๆละ 3 วัน แล้วก็ทำให้เขาสามารถออกกำลังกายได้อย่างมีความสุขจนประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักในที่สุด เพราะฉะนั้นคนที่บ่นว่า \"ออกกำลังกายนี่น่าเบื่อจริงวุ้ย\" ก็ต้องวิเคราะห์ดูให้ดีนะครับว่าเบื่อการออกกำลังกายหรือเบื่อรูปแบบการออกกำลังกายที่ตัวเองกำลังปฏิบัติอยู่ สำหรับผมเองผมมีสมมติฐานว่ามนุษย์เราไม่น่าจะเบื่อการออกกำลังกายนะครับ แต่เบื่ออย่างอื่นมากกว่า เช่น \"ออกกำลังกายแล้วน้ำหนักไม่ลดเลย เบื่อ...อย่าออกมันเลย\" แต่เท่าที่เคยเจอกรณีที่ออกกำลังกายและน้ำหนักไม่ลดนั้นมันก็มีสาเหตุหลายอย่างครับ บางคนก็เห็นว่าเป็นปิดเทอมครับ เลยตื่นซะเที่ยง พอกินข้าวเที่ยงเสร็จก็มานั่งดูทีวีจนเย็น กินข้าวเย็นแล้วก็ไปออกกำลังกายประมาณ 30 นาที พอทำผ่านไป 5 วัน น้ำหนักไม่ลด ก็เลยมาโทษการออกกำลังกาย แต่จริงๆแล้วควรแก้ปัญหาให้ถูกจุดครับ อย่างในกรณีนี้ต้องตื่นแต่เช้าครับ หากิจกรรมในช่วงวันทำ จะเป็นงานบ้านหรือการออกไปเล่นกีฬากับเพื่อนก็ได้ จะมาหวังแค่การออกกำลังกายตอนเย็นนั้นไม่ได้หรอกครับ หวังได้อย่างมากก็แค่น้ำหนักตัวคงที่ แต่ถ้าจะหวังถึงขั้นลดน้ำหนักก็คงยากครับ เพราะการทำกิจกรรมต่างๆในช่วงวันก็มีส่วนในการช่วยเผาผลาญพลังงานไม่น้อยเหมือนกัน



                                       ข้อคิดที่ฝากไว้สำหรับวันนี้คือ แก้ปัญหาให้ถูกจุด แล้วน้ำหนักจะลดอย่างต่อเนื่องครับผม





      
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×