ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~Thailand HisTory~ภาคสุโขทัย

    ลำดับตอนที่ #32 : ไตรภูมิพระร่วง (วิเคราะห์)

    • อัปเดตล่าสุด 9 ก.ย. 51


            กรมศิลปากรได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่าไตรภูมิพระร่วงน่าจะแต่งขึ้นในปีระกา มหาศักราช 1267 (พุทธศักราช 1888, จุลศักราช 107) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พญาลิไทครอง, ดำรงตำแหน่งมหาอุปราชแห่งศรีสัชนาลัยลักษณะการแต่คำประพันธ์ของไตรภูมิพระร่วงนั้นแต่งเป็นร้อยแก้ว ภาษาไทย นับเป็นวรรณคดีเล่มแรกที่แต่งเป็นภาษาไทย (คราวที่แล้วศิลาจารึกซึ่งเป็นศิลา แต่พอเป็นหนังสือก็เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่แต่งเป็นภาษาไทย) โดยที่พญาลิไททรงรวบรวมข้อความต่าง ๆ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรภกถาฎีกาต่าง ๆ - ลักษณะคำประพันธ์เป็นร้อยแก้ว การผูกประโยคแล้วก็มีถ้อยคำโบราณยากแก่การทำความเข้าใจเป็นอันมาก บางคำก็เป็นภาษาบาลี กรมศิลปากรในขณะที่ตรวจสอบชำระไตรภูมิพระร่วงนี้ก็บอกว่าเป็นเรื่องค่อนข้างจะยาก และต้นฉบับเดิมก็ขาดตกบกพร่องไปเพราะเป็นเวลานานแล้ว อันนี้กรมศิลปากรก็ได้กล่าวไว้ในคำนำว่า "เนื่องจากหนังสือนี้เป็นของเก่า และก็มีการคัดลอกกันมาหลายชั้นหลายสมัย จึงมีส่วนวิปลาสคลาดเคลื่อนไปมาก ทำให้ของเดิมของแท้มัวหมองไป ยากที่จะเข้าใจได้ การตรวจชำระจึงเป็นงานหนัก การวินิจฉัยคำบางคำต้องใช้เวลาแรมเดือน ต้องหาหลักฐานมาประกอบการวินิจฉัยทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี แต่เพื่อให้เรื่องนี้มีความเหมาะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก็จึงจำเป็นจะต้องดำเนินการตามหลักฐานและต่าง ๆ "

            พบว่าต้นฉบับนี้ได้มาจากฉบับใบลาน อักษรขอม รวม 2 ฉบับ คือฉบับพระมหาช่วย วัดปากน้ำ ซึ่งจารขึ้นเมื่อ พ.ศ.2321 และฉบับพระมหาจันทร์ ซึ่งจารขึ้นเมื่อ พ.ศ.2330 และยังพบต้นฉบับที่พบเฉพาะผูกแรก (ใบลานนี้เป็นผูก) อีกหนึ่งผูกซึ่งคิดว่าน่าจะจารขึ้นในสมัยหลัง คือสมัยอยุธยาตอนปลาย ก็หมายความว่าจด-จารกันต่อมา คัดลอกกันต่อมาเป็นใบลานบ้าง เป็นอะไรบ้าง อาจจะสูญหายไป อาจจะมีมากกว่าหนึ่งฉบับ แต่ว่าสูญหายไปบ้าง เพราะฉะนั้นสรุปแล้วต้นฉบับทั้งหมดขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ - ฉบับพระมหาช่วย และพระมหาจันทร์มีอย่างละสิบผูก ผูกละ 24 ลาน (ฉบับพิเศษหนึ่งผูกมี 24 ลาน) คัดลอกมาหลายสมัยมาก บางส่วนอาจมีข้อความคลาดเคลื่อนไป

            ภาษาที่ใช้ตั้งแต่เดิมกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าจะเขียนด้วยอักษรไทย เหมือนกับที่ปรากฏในศิลาจารึก แล้วต่อมามีการคัดลอกเป็นอักษรขอมบ้าง เป็นอักษรไทยบ้างหลายฉบับ และฉบับที่ได้มานี้เป็นอักษรขอม แต่สันนิษฐานว่าฉบับแรกที่เขียนนั้นเป็นอักษรไทย (ศิลาจารึก)

            แผนภูมิโครงสร้างไตรภูมิ - ไตรภูมิพระร่วงซึ่งพญาลิไท หรือพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นนั้นมีพระราชประสงค์ 2 ประการ คือ

    1.                              เพื่อที่จะเทศนาโปรดพระราชมารดาของพระองค์

    2.                              เพื่อสั่งสอนประชาชนให้อยู่ในศีลธรรม จริยธรรม

            ถ้าเราอ่านแล้วเราจะพบว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ปราดเปรื่องมาก เพราะทรงค้นคว้าจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาถึง 30 คัมภีร์ จึงนับว่าเป็นหนังสืองานวิจัยเล่มแรกของประเทศไทย เป็นวิทยานิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาลิไท เพราะว่าได้ทรงค้นคว้า ส่วนศิลาจารึกนั้นเขียนไปตามความเป็นจริงของยุคสมัยนั้น แต่อันนี้เขียนตามความเป็นจริงไม่ได้ แต่ต้องค้นคว้ามาก

            เนื้อเรื่องกล่าวถึง ภพภูมิทั้ง 3 คือ กามภูมิ รูปภูมิ 16 และอรูปภูมิ 4 แล้วก็มีการจำแนกรายละเอียดของแต่ละภูมิ แล้วภูมิใหญ่ก็แบ่งยังย่อยออกไปอีก 31 ภูมิ

    ภูมิที่ 1. กามภูมิ (กามวจรภูมิ)

            กามภูมิ (กามวจรภูมิ) แยกย่อยออกเป็น 11 ภูมิ อบายภูมิหรือทุคติภูมิ 4 และสุขคติภูมิ 7 (อบายภูมิหรือทุคติภูมิ ก็ตรงกันข้ามกับสุขคติภูมิ)

             ก. อบายภูมิหรือทุคติภูมิ 4 ก็คือภูมิที่ไม่มีความเจริญ มีแต่ความเสื่อม แบ่งออกเป็น นรกภูมิ ดิรัจฉานภูมิ เปตวิสยภูมิ และอสุรกายภูมิ ทั้งหมดนี้คือส่วนที่ไม่มีความเจริญ ได้มีการอธิบายไว้ว่าบาปที่ทำให้ต้องไปเกิดในนรก เพื่อเตือนใจมนุษย์ว่าถ้าอยากไปเกิดดี ๆ ก็ต้องทำความดี

            "บาปอันทำให้ต้องไปเกิดในนรกมี 12 ประการ คือใจอันหนึ่งมิรู้ว่าบาปแลกระทำบาปเองด้วยใจอันกล้าแลยินดี, ใจอันหนึ่งมิรู้ว่าบาปแลยินดีกระทำบาปเพื่อมีผู้ชวน, ใจอันหนึ่งรู้ว่าบาปแลกระทำเองด้วยใจอันกล้าแลยินดี, ใจอันหนึ่งรู้ว่าบาปแลยินดีกระทำบาปเพื่อมีผู้ชวน, ใจอันหนึ่งมิรู้ว่าบาปแลกระทำเพื่อมีผู้ชวนแลกระทำด้วยใจอันร้ายอันประกลาย, ใจอันหนึ่งรู้ว่าบาปแลกระทำเองด้วยใจอันประกลาย, ใจอันหนึ่งรู้ว่าบาปแลมีผู้ชวนแลกระทำด้วยใจอันประกลาย, ใจอันหนึ่งประกอบด้วยโกรธขึ้งเครียดกระทำบาปด้วยใจอันกล้าเองแลร้าย, ใจอันหนึ่งประกอบด้วยโกรธขึ้งเครียด กระทำบาปเพื่อเหตุมีผู้ชวน, ใจอันหนึ่งบ่มิเชื่อบาป บ่มิเชื่อบุญ แลกระทำบาปด้วยใจอันประกลาย และใจอันหนึ่งย่อมขึ้นไปพุ้งดังกองเท่าอันคนอาเก้อนเส้าทอดลง ย่อมจมลงทุกเมื่อและกระทำบาปด้วยใจอันประกลาย" กล่าวซึ่ง ๆ ผู้ประกอบอสุรกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาต้อง

            ใจอันหนึ่งมิรู้ว่าบาป แลกระทำบาปเองด้วยใจอันกล้าเลวดี หมายความว่า ทำบาปด้วยตัวเอง จิตของคนเราทำบาปเองเลยด้วยความเต็มใจ จิตเป็นอกุศล ทำไปโดยไม่ต้องมีคนอื่นมากระตุ้นให้ทำก็ทำ คือรู้ว่าเป็นบาปแล้วก็ทำเองด้วย และใจอันหนึ่งมิรู้ว่าบาปแลยินดีกระทำบาปด้วยมีผู้ชวน คือกระทำบาปเพราะมีผู้ชักชวนให้ทำอสุรกรรมดังกล่าวนี้แบ่งออกเป็น 10 ประการ คือ

    กาย

    1.                              การฆ่าสัตว์ (ผิดศีล)

    2.                              การลักทรัพย์

    3.                              ประพฤติผิดในกาม

    วาจา

    1.                              มุสาวาท (โกหก)

    2.                              การกล่าวคำส่อเสียด

    3.                              การกล่าวคำติฉินนินทาผู้อื่น (เป็นบาปที่เกิดจากคำพูด)

    4.                              การกล่าวคำหยาบช้า

    5.                              การกล่าวคำเพ้อเจ้อ สรุปแล้วเป็นเรื่องวาจาทั้งหมด (วาจา 4)

    ใจ

    1.                              ความเห็นผิดจากครองธรรม

    2.                              การอยากได้ของผู้อื่น

            ทั้งหมดนี้คืออกุศลกรรม 10 ประการเป็นบาป ส่วนที่ว่านรกที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่าง ๆ นั้นส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่านรกมีทั้งหมด 8 ขุม ซึ่งอยู่ใต้โลกมนุษย์ลงไปแล้วก็มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ได้แก่

    1.                              สัญชีพนรก

    2.                              กาฬสุตตนรก

    3.                              สังฆาฎนรก

    4.                              มหาโรรุวนรก

    5.                              ตาปนรก

    6.                              มหาตาปนรก

    7.                              มหาอวีจีนรก (เป็นนรกต่ำสุด)

            นอกจากนี้ที่น่าในใจยังได้กล่าวถึงระยะเวลาของนรกแต่ละขุมด้วย เทียบกับเวลาของคนในโลกมนุษย์ กล่าวคือ "วันและคืนหนึ่งในเมืองนรกจะเท่ากับเก้าล้านปีเมืองมนุษย์ ดังนั้น ห้าร้อยปีในสัญชีพนรกจะเท่ากับ เก้าล้านหกแสนล้านสองหมื่นปีในเมืองมนุษย์"

            นรกทั้งแปดขุมนี้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างร้อยโยชน์ มีประตูทุกทิศ และเบื้องบนมีฝาเหล็กปิด (คือออกไม่ได้) ในนรกนั้นเต็มไปด้วยสัตว์นรกจนหาที่ว่างไม่ได้ (over population) รอบนรกแปดขุมนี้ แต่ละขุมจะมีนรกเล็กเป็นบริวารอีกด้านละสี่ รวมเป็นทั้งหมดสิบหกขุม ถัดจากนรกเล็กนั้นออกไป จะมีนรกบริวารเรียกว่ายมโลก ล้อมรอบอีกด้านละสิบ รวมเป็นสี่สิบขุม เมื่อรวมนรกใหญ่แปด นรกเล็กร้อยยี่สิบแปด ยมโลกสามร้อยยี่สิบ จึงมีจำนวนทั้งสิ้นสี่ร้อยห้าสิบหกขุม - ต่อไปผู้บรรยายจะอ่านให้ฟังว่านรกมีอะไรบ้าง ทำความผิดอะไรแล้วจะลงนรกอะไร

            นรกลำดับแรกมีชื่อว่า "เวตรณี" ยมบาลใช้อาวุธซึ่งทำด้วยเหล็กแดง ซึ่งมีเปลวไฟลุกแดงตลอดเวลา ทิ่มแทง คนนรกซึ่งได้รับความทุกขเวทนา เขาเหล่านั้นจึงวิ่งลงไปในแม่น้ำเวตรณี ซึ่งมีลำหวาย เครือหวายพานไปมา มีหนามอันใหญ่เท่าจอบ เทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟ ลุกทุกเมื่อ แล่นลงน้ำข้องหนามหวาย แลตนขาดดั่งท่านเอามีดกรด อันคมแลแสร้งมาตัดทุกแห่ง ใต้เครือหวานนั้นเทียรย่อมขวากใหญ่แลยาว ย่อมเหล็กแดงลุกเป็นเปลวไฟไหม้ตัวเขาดั่งไปไหม้ต้นไม้กลางป่า ครั้นว่าตัวเขารอดตระลอดตกลงจากหนามหวายนั้น ลงไปยอดขวากเหล็กอันอยู่ใต้นั้น ตนเขาขาดหวิ้นทุกแห่ง เมื่อขวากนั้นยอกตนเขาอยู่ดั่งท่านเสียบปลานั้นแล บัดหนึ่งเดี๋ยวหนึ่งเป็นไฟไหม้ขวากเหล็กนั้นลุกขึ้นไหม้ตนเขาอยู่หึงนานหนักแล ตนเขาสุกเน่าเปื่อยไปสิ้น

            นรกลำดับที่สองมีชื่อว่า "สุนัขนรก" ผู้ที่กล่าวคำหยาบคายต่อสมณพราหมณ์ผู้มีศีล แลผู้เถ้าแก่ทั้งปวง จะไปเกิดในนรกนี้ ซึ่งมีสุนัขใหญ่เท่าช้างสารห้าจำพวก และแร้งกา ตัวใหญ่เท่าเกวียนคอยขบกิน ซึ่งได้รับทุกขเวทนา

            นรกลำดับที่สามมีชื่อว่า "สโชตินรก" ยมบาลใช้ค้อนเหล็กแดงใหญ่เท่าลำตาลไล่ตีคนนรก เขาเหล่านั้นก็ได้แต่วิ่งหนีไปบนแผ่นเหล็กแดงซึ่งลุกเป็นเปลวไฟตลอดเวลา ยมบาลไล่ตีจนร่างกายของเขาแหลกลาญแต่ก็กลับฟื้นมาอีก เพราะบาปกรรมที่กล่าวคำร้ายแก่ผู้มีศีลให้ท่านได้รับความอับอาย

            นรกลำดับที่เจ็ดมีชื่อว่า "กุสปลาสนรก" (อันนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล) ผู้ที่นำข้าวไม่ดีไปปนกับข้าวดีแล้วหลอกขายผู้อื่น (พวกพ่อค้าส่งออก) เมื่อตายไปจะตกนรกขุมนี้ ซึ่งมีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่าน คนนรกซึ่งปวดแสบปวดร้อนจากเหล็กแดง ได้กระโจนลงไปในแม่น้ำ น้ำนั้นกลายเป็นไฟเผาไหม้ และกลายเป็นข้าวลีบลุกเผาไหม้เขา (ข้าวที่เอาไปปลอมปนลุกไหม้ตนเอง) ฝูงคนนรกนั้นกระหายน้ำยิ่งนัก ก็กรอกเอาข้าวลีบกิน ก็เกิดเป็นไฟลุกไหม้อีก

            นรกลำดับที่แปดมีชื่อว่า "สัตติหตนรก" (สำหรับผู้ที่ใส่ความผู้อื่น, ตัวเองลักทรัพย์แล้วไปใส่ความผู้อื่นว่าตัวเองไม่ได้ทำ คนอื่นทำ) ฝูงยมบาลช่วยกันไล่ต้อน และใช้อาวุธทิ่มแทงคนนรกจนแหลกเหลว ทั้งนี้เพราะเขาเคยลักทรัพย์ และใส่ความผู้อื่น

            นรกลำดับที่เก้ามีชื่อว่า "พิลสนรก" ผู้ที่ฆ่าปลาและนำมาขายที่ตลาด ก็จะถูกฝูงยมบาลเอาเชือกเหล็กแดงรัดคอ และลากไปทอดเหนือแผ่นเหล็กแดง จากนั้นแล่เนื้อออกเป็นชิ้น (เหมือนที่ตัวเองแล่เนื้อปลา)

            นรกลำดับที่สิบมีชื่อว่า "โปราณมิฬหนรก" ผู้ที่มีหน้าที่เก็บภาษี แต่ปฏิบัติหน้าที่อย่างมิชอบ คือ ไปข่มขู่ บังคับ เก็บมากกว่าที่จำเป็น เมื่อตายไปแล้วจะต้องไปกินอาจม ซึ่งเหม็นยิ่งนัก ต่างข้าวและน้ำทุกวัน

            นรกลำดับที่สิบเอ็ดมีชื่อว่า "โลหิตปุพพนรก" (นรกเลือด ปุพพคือน้ำเหลือง, หนอง อันนี้คือนรกสำหรับ) ผู้ที่ทำร้ายพ่อแม่ พระสงฆ์ และผู้มีบุญคุณตายไปแล้วตกอยู่ในแม่น้ำใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยเลือดและหนอง คนนรกผู้นั้นจำต้องกินเลือดและหนอง เพราะความอดอยาก แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วหนองกลายเป็นไฟพุ่งออกจากทวาร

            นรกลำดับที่สิบสองมีชื่อว่า "โลหพฬิสนรก" (คือโลภ) ผู้ที่โกงทรัพย์ผู้อื่นโดยวิธีหลอกลวงให้เจ้าทรัพย์พลั้งพลาด (พวกที่เป็นประธานแบ็งค์โกงเงินประชาชนแล้วล้มบนฟูก แล้วหลบไปอยู่ต่างประเทศกับนางงาม) และตนไม่ต้องจ่ายทรัพย์ให้แก่ท่าน เมื่อตายไปแล้วจะตกอยู่ในนรกขุมนี้ นายนิรยบาล (ไม่แน่ใจว่าใช่ยมบาลหรือเปล่า) เอาเบ็ดซึ่งโตเท่าลำตาลเกี่ยวลิ้นออกมา และใช้ขอเหล็กสับ เขาผู้นั้นได้รับความทรมานอย่าแสนสาหัส (ต้นฉบับบอกไว้ว่า มีความพรรณาถึงวิธีการทรมานไว้ว่า นายนิรยบาลที่อุสสุทนรกอื่นอีกเอาเหล็กเบ็กลุกโพลงโตเท่าลำตาล เกี่ยวลิ้นสัตว์นรกเหล่านั้นล้มลงบนแผ่นดิน โลหะอันรุ่งเรืองด้วยเพลิง ให้นอนแผ่เอาขอเหล็กสับดุจสับหนังโค ฉะนั้น สัตว์นรกเหล่านั้นดิ้นรนเหมือนปลาดิ้นอยู่บนบก ไม่อาจจะทนทุกข์นั้น ร้องไห้เขฬะไหล)

            นรกลำดับที่สิบสามมีชื่อว่า "สังฆาฎนรก" (อันนี้เป็นนรกสำหรับ) ผู้ที่ประพฤติผิดในสามีหรือภรรยาของผู้อื่น เมื่อตายไปแล้วจะถูกฝูงยมบาลแทงด้วยหอกจนโลหิตไหลออกมาทั่วตัว และร่างเขาจมอยู่ในแผ่นเหล็กแดงถึงครึ่งตัว มีภูเขาเหล็กแดงลูกหนึ่งกลิ้งมาทับตัวเขาจนแหลกเหลว ไม่นานนักก็ฟื้นมาดังเดิม (แล้วก็เป็นแบบนี้อีก)

            นรกลำดับที่สิบสี่มีชื่อว่า "อวังสีรนรก" ผู้ที่ทำชู้กับภรรยาคนอื่น ฝูงยมบาลจะจับตัวเขาลงไปในขุมนรก แล้วเอาค้อนเหล็กตีให้แหลกแหลว

            นรกลำดับที่สิบห้ามีชื่อว่า "โลหสิมพลีนรก" (ซึ่งเป็นนรกต้นงิ้ว เป็นนรกลำดับที่สิบห้า) ในบรรดานรกบ่าว หรืออุสสุทนรกทั้งสิบหกขุมนั้น โลหสิมพลีนรกเป็นนรกขุมที่รู้จักกันแพร่หลาย ผู้ที่ประพฤติผิดในศีลข้อที่สาม คือ เป็นชู้กับสามี หรือภรรยาของผู้อื่น จะต้องไปตกอยู่ในนรกขุมนี้ ซึ่งมีความพรรณาไว้อย่างชัดเจนว่า

            นรกนั้นมีป่าไม้งิ้วป่าหนึ่งหลายต้นนักแล ต้นงิ้วนั้นสูงได้แลต้นแลโยชน์ แลหนามงิ้วนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงมีเปลวลุกอยู่ แลหนามงิ้วนั้นยาวได้สิบหกนิ้วมือ (นิ้วมือต่อกันสิบหกช่วง) เป็นเปลวไฟลุกอยู่บ่ห่อนจะรู้ดับสักคาบแล (เป็นเปลวไฟลุกอยู่ไม่ดับสักที) ในนรกนั้นเทียรย่อมผู้หญิงผู้ชายหลาย แลคนฝูงนั้นเขารักใคร่กันดั่งกล่าวมาถึงก่อนนั้นแล ลางคาบผู้หญิงอยู่บนปลายงิ้วผู้ชายอยู่ภายต่ำ ฝูงยมพะบาลก็เอาหอกดาบหลาวแหลนอันคนเทียรย่อมเหล็กแดงแทงตีนผู้ชายจำให้ขึ้นไปหาผู้หญิงว่า ชู้สูอยู่บนปลายงิ้วโพ้น เร็ว อย่าอยู่ แลฝูงผู้ชายนั้นทนเจ็บบ่มิได้ จึงปีนขึ้นไปบนต้นงิ้วนั้น ครั้นว่าขึ้นไปไส้หนามงิ้วนั้นบาดที่ตนเขาขาดทุกแห่ง แล้วเป็นเปลวไฟไหม้ตนเขา เขาอดบ่อมิได้จึงบ่ายหัวลงมา ฝูงยมพะบาลก็เอาหอกแทงซ้ำเล่าร้องว่า สูเร่งขึ้นไปหาชู้สูที่อยู่ปลายงิ้วโพ้น สูจะลงมาเยียะใดเล่า เขาอดเจ็บบ่มิได้ เขาเถียงยมพะบาลบ่มิได้ เขาจึงปีนขึ้นไป แลหนามงิ้วบาดทั่วทั้งตัวเขา เขาเจ็บปวดนักหนาดั่งใจเขาจะขาดตายแล เขากลัวฝูงยมพะบาล เขาจึงปีนขึ้นไปเถิงปลายงิ้วนั้น ครั้นจะใกล้ถึงผู้หญิงนั้นไส้ ก็แลเห็นผู้หญิงนั้นกลับลงมาอยู่ภายต่ำเล่า ยมพะบาลหมู่หนึ่งแทงตีนผู้หญิงให้ขึ้นไปหาผู้ชายผู้เป็นชู้ว่า สูเร่งขึ้นไปหาผู้ชายผู้เป็นชู้ว่า สูรีบขึ้นไปหาชู้สูอันอยู่บนปลายงิ้วนั้นเล่า เมื่อเขาขึ้นเขาลงหากันอยู่ดังนั้น เขาบ่มิได้พบกัน ยมพะบาลจับผู้หญิงผู้ชายจำให้ลงหากันดังนั้น หลายคาบหลายคราลำบากนักหนาแล (อันนี้ก็เป็นการเตือนใจว่าอย่าประพฤติผิดข้อนี้)

            "โลกันตนรก" หรือนรกโลกันต์ ผู้ทำร้ายบิดามารดา สมณพราหมณ์ ผู้มีศีล ยุยงพระสงฆ์ให้แตกกัน จะไปเกิดในนรกขุมนี้ มีร่างสูงถึงหกพันวา (เปรต) เล็บมือและเล็บเท้าเหมือนดั่งค้างคาว ลักษณะที่เขาห้อยตัวเหมือนดั่งค้างคาว ภายในนรกนั้นมืดสนิท มองไม่เห็นกันเลย เมื่อเขาอยากอาหารจะปีนไปตามกำแพง และคว้าถูกมือกัน ต่างก็ตะครุบกัดกิน (หมายความว่า พอจะคว้าอาหารก็ไปเจอกัน ก็เลยแย่งอาหารกัน แล้วกัดกินกันเอง) จนตกไปในพื้นน้ำซึ่งเย็นจัดเพราะไม่เคยต้องแสงอาทิตย์เลย ร่างของเขาเปื่อยแหลกเหลว แต่แล้วก็กลับฟื้นขึ้นใหม่ เขาต้องทนทุกข์เช่นนี้ไปจนชั่วพุทธันดรกัลป์หนึ่ง (พุทธันดรกัลป์ คือช่วงของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์)

            "อวีจีนรก" หรือนรกอเวจี ขุมที่อยู่ต่ำสุดของนรก อวีจีนรกเป็นนรกขุมใหญ่ "มหาอวิจีนรกเป็นนรกใหญ่เพียงขุมเดียวที่ไตรภูมิพระร่วงนำมาพรรณาอย่างพิศดาร แต่ก็ว่าด้วยเฉพาะเวลาที่ต้องไปตกในนรกขุมนี้ ว่ายาวนานจนถึงสิ้นกัลป์หนึ่ง ชั่วระยะเวลาของกัลป์หนึ่งคือ ภูเขาสูงได้โยชน์หนึ่ง กว้างสามโยชน์ เมื่อถึงร้อยปีจะมีเทพดา นำผ้าทิพย์อันอ่อนดังควันไฟมาเช็ดภูเขานั้น เมื่อใดที่ภูเขาราบเรียบจึงถือว่าสิ้นหนึ่งกัลป์ ผู้ที่ทำบาปอันเป็นปัญจานันตริยกรรม ก็จะไปเกิดในนรกขุมนี้" ผู้ที่ตกอยู่ในนรกอเวจีนั้นก็คือฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าสัตว์ ฆ่าหมูโค, ล่าเนื้อ, นก เป็นชาวประมง เป็นเจ้าหน้าที่จองจำ และเป็นคนฆ่าโจร ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต ทำร้ายพระภิกษุสงฆ์ผู้มีศีล ยุยงให้พระสงฆ์แตกกัน บาปชนิดเดียวกันนี้เป็นบาปที่ไปตกในโลกันต์นรก (ถ้าสำนึกไม่ได้ก็ไม่ตกอเวจี แต่ถ้าสำนึกไม่ได้ก็จะตกอเวจี)

            ในกรณีของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์, เจ้าหน้าที่จองจำ แต่ความจริงพวกนี้เขาก็ทำตามหน้าที่ ถ้าเขาไม่ทำคนอื่นก็ต้องทำ แล้วพวกนี้เขาบอกว่าหลังจากเขาประหารชีวิตนักโทษคนหนึ่งเขาก็จะใส่บาตร ทำบุญไปให้ เพราะเขาก็ทราบว่ามันเป็นบาป สรุปว่าตกอเวจีสำหรับพวกที่มีหน้าที่ประหารชีวิตนักโทษ

             ข. สุขคติภูมิ หรือกามสุขคติภูมิ 7 เป็นฝ่ายดี เพราะมีคำว่าสุขคติซึ่งแปลว่าดี แต่ทุกข์แปลว่าไม่ดี ซึ่งสุขคติภูมิ 7 แบ่งเป็น 7 ประการ คือ

             (1.) มนุสสภูมิ ว่าด้วยการปฏิสนธิของมนุษย์จากครรภ์มารดา

             (2.) จาตุมหาราชิกภูมิ เป็นด่านที่จะขึ้นสวรรค์ดาวดึงค์ คืออยู่เขายุคนธร อยู่เหนือ (สูงจาก) โลกมนุษย์ 46,000 โยชน์ (เป็นด่านก่อนที่จะถึงดาวดึงค์) 1 โยชน์เท่ากัน 16 กิโลเมตร ล้อมด้วยกำแพงทอง

             (3.) ตาวติงสภูมิ (ดาวดึงค์) เป็นที่ประทับของท้าวสักกะ หรือพระอินทร์ ประดับประดาด้วยแก้ว 7 ประการ คือ เพชรดี มณีแดง เหลืองแสดแสงมรกต เขียวใสแสงมรกต เหลือใสสดบุษราคัม สวยงามยิ่งนัก

             (4.) ยามาภูมิ ยามาภูมิเป็นสวรรค์ที่อยู่เหนือตาวติงสภูมิ สว่างไสวเพราะรัศมีแก้ว และรัศมีจากกายเทวดา

             (5.) ตุสิตาภูมิ คือชั้นดุสิต อยู่เหนือยามาสวรรค์ เป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์

             (6.) นิมมานรติภูมิ มีทุกอย่างเช่นเดียวกับดุสิตา แต่งดงามกว่า ถ้าประสงค์สิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น

             (7.) ปรนิมมิตวสวัตติภูมิ เทพยดามีความสุขยิ่งกว่าชั้นอื่นใด เพราะประสงค์สิ่งใดจะมีเทวดาอื่นเนรมิตให้ (ตัวเองไม่ต้องดลบันดาล แต่จะมีเทวดาองค์อื่น ๆ มาเนรมิต, ดลบันดาลให้)

            นี่คือสวรรค์ทั้งหมด แต่เขาไม่ได้ไว้ชัดบอกว่าทำอย่างไรจึงจะขึ้นได้สวรรค์ มีแต่บอกว่าทำอะไรจึงจะตกนรก แต่ไม่ได้บอกว่าทำบุญอย่างไร ขั้นตอนไหนจึงจะขึ้นสวรรค์ได้ มีแต่บรรยายว่าสวรรค์ชั้นใดเป็นอย่างไร ถ้าอยากเป็นพระอินทร์ต้องบำเพ็ญสัตตบุรุษ 7 - ทำความดีอะไรถึงจะได้ขึ้นสวรรค์ชั้นไหนนั้นเราไม่ทราบ เหมือนกับที่ธรรมกายบอก แต่ธรรมกายเน้นการบริจาคเงินก็จะได้บุญมาก ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงค์ "ตาวติงสภูมิ" สวรรค์ดาวดึงค์มี

             ไพรชยนต์ปราสาท : ไพรชยนต์ปราสาทซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์ นั้นอยู่กลางนครตรัยตรึงส์ สูงยี่สิบห้าล้านหกแสนวา ประดับประดาด้วยแก้วทั้งเจ็ดประการ งดงามยิ่งนัก          อุทยาน : อุทยานในเมืองไตรตรึงส์มีทั้งหมดสี่แห่ง นันทวันซึ่งอยู่ทิศตะวันออก มีขนาดโดยรอบได้แปดแสนวา มีกำแพงแก้วอยู่เหนือประตูทุกแห่ง อุทยานแห่งนี้เป็นที่น่ารื่นรมย์ มีต้นไม้ดอกไม้ออกดอกงดงาม ในนันทวันอุทยานนี้มีสระใหญ่สองสระ ชื่อว่านันทาโบกขรณี และจุละนันทาโบกขรณี น้ำในสระนั้นใสสะอาดดังแก้วอินทนิล ใกล้สระนั้นมีแผ่ศิลาสองแผ่น มีชื่อว่านันทาปริฐิาสาณ และจุลนันทาปริฐิปาสาณ แผ่นศิลานี้มีคุณวิเศษ คือ มีรัศมีเรืองงามและเมื่อถูกต้องก็จะอ่อนราวกับหนังเห็น

            ทางทิศใต้ มีอุทยานชื่อว่าผารุกสกวัน มีขนาดโดยรอบห้าล้านหกแสนวา ไม้ในอุทยานนั้นลำตันอ่อนค้อมราวกับดัดไว้ สระใหญ่สองสระมีชื่อว่า ภัทราโบกขรณี และสุภัทราโบกขรณี ริมฝั่งสระนั้นมีหินสองแผ่นมีชื่อว่าภัทราปริฐิปาสาณ และสุภัทราปริฐิปาสาณ เมื่อถูกต้องจะอ่อนนุ่มราวกับหนังสาน

            ทางทิศตะวันตก มีอุทยานชื่อว่าจิตรลดา มีขนาดได้สี่แสนวา มีสระสองสระชื่อว่า จิตรโบกขรณี และจุลจิตรโบกขรณี ริมฝั่งสระมีหินสองแผ่นชื่อว่าจิตรปาสาณ และจุลจิตรปาสาณ ซึ่งอ่อนนุ่มราวกับหนังสาน เมื่อถูกต้อง

            ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสวนใหญ่ชื่อมหาพน มีกำแพงล้อมรอบ สวนนี้มีขนาดโดยรอบได้หกแสนวา มีปราสาทซึ่งประดับประดาด้วยแก้วทั้งเจ็ดอยู่หนึ่งพันองค์ ระหว่างมหาวันอุทยาน และนันทวันอุทยาน และนันทวันอุทยานนี้ มีสระแก้วหนึ่งแห่ง ซึ่งงดงามมาก

             ไพรชยนตรถ : ไพรชยนตรถเป็นรถทรงของพระอินทร์ มีม้าแก้วสองพันตัว เทียมรถข้างละพันตัว รถนี้เป็นรถทองคำ ซึ่งประดับด้วยแก้วทั้งเจ็ด มีสร้อยมุกดา ดอกไม้ทิพย์กรองเป็นมาลัย พวงอุบะ และพรวนทองห้อยย้อยลงมา สวยงามยิ่งนัก เมื่อลมโบกพัดก็จะยินเสมือนดนตรีขับกล่อม กลางราชรถนี้ มีแท่นแก้วมีขนาดกว้างยาวได้แปดพันวา และมีกลดแก้วกว้างได้โยชน์หนึ่งอยู่ตรงกลาง กลดแก้วนี้เลื่อมลายดังแสงพระอาทิตย์ส่องต้องพระจันทร์เมื่อเดือนดับสวยงามมาก

             ผู้มาเฝ้า (ผู้มาเฝ้าพระอินทร์) : เมื่อขึ้นแปดค่ำ สิบห้าค่ำ หรือวันแปดค่ำ และเดือนดับ ท้าวจตุโลกบาลหรือท้าวธตรฐราช ท้าววธตรฐราช ท้าววิรุฬปักษ์ราช และท้าวไพศรพณ์ จะพาริวารทั้งปวง ซึ่งแต่งกายอย่างงดงาม ถืออาวุธและมีเครื่องแห่แหนมาเข้าเฝ้าพระอินทร์

             ช้างเอราวัณ : ช้างทรงของพระอินทร์มีชื่อช้างว่าเอราวัณ ซึ่งก็คือ เทวบุตรซึ่งมีชื่อว่าเอราวัณ ซึ่งแปลงการเพราะในสวรรค์ไม่มีสัตว์ (เลยแปลงมาเป็นช้าง) ช้างเอราวัณมีตัวสูงถึงหนึ่งล้านสองแสนวา มีหัวถึงสามสิบสามหัว หัวที่อยู่ตรงกลางมีขนาดใหญ่ และมีชื่อว่าสุทัสน์ เป็นที่ประทับของพระอินทร์ เหนือหัวช้างหัวนี้ขึ้นไป มีแท่นแก้วใหญ่ และมีประสาทกั้นอยู่ตรงกลาง มีธงแก้วเรียงรายอยู่รอบ เมื่อแก่วงไปมาจะมีเสียงไพเราะยิ่งนัก พระอินทร์จะประทับอยู่เหนือแท่นแก้วบนหัวช้างนี้ ส่วนหัวช้างอีกสามสิบสองหัว จะมีเทวบุตร (คือเทพบุตรนั่นเอง) ซึ่งเป็นบริวารอีกสามสิบสององค์ ประทับอยู่

            ลักษณะของหัวช้างสามสิบสามหัว มีเครื่องประกอบดังนี้ แต่ละหัวมีงาเจ็ดกิ่ง งาแต่ละกิ่งมีสระเจ็ดสระ สระแต่ละสระมีกอบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีดอกได้เจ็ดดอก แต่ละดอกมีกลีบเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีนางฟ้าร่ายรำอยู่เจ็ดคน แต่ละนางนี้มีบริวารเจ็ดคน สรุปความแล้วช้างสามสิบสามหัวมีงาสองร้อยสามสิบเอ็ดงา สระหนึ่งพันหกร้อยสิบเจ็ดสระ กอบัวในสระได้หนึ่งหมื่นหนึ่งพันสามร้อยสิบเก้ากอ ดอกบัวได้เจ็ดหมื่นเก้าพันสองร้อยสามสิบสามดอก กลีบดอกบัวได้ห้าแสนห้าหมื่นสี่พันหกร้อยสามสิบเอ็ดกลีบ นางฟ้าสามล้านแปดแสนแปดหมื่นสองพันสี่ร้อยสิบเจ็ดนาง บริวารได้ยี่สิบเจ็ดล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นหกพันเก้าร้อยสิบเก้าคน

            ผู้นั่งแวดล้อมทางซ้ายของพระอินทร์คือนางสุธรรมา ซึ่งเป็นมเหสีคนหนึ่ง พร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ทางขวาคือนางสุชาดา และบริวาร นางสุนันทาอยู่ด้านหลัง ส่วนนางสุจิตราอยู่ทางซ้าย (สรุปแล้วคือสุธรรมา สุชาดา สุนันทา สุจิตราคือบริวารหรือมเหสีของพระอินทร์)

            ถัดจากนั้นไปมีนางฟ้าจำนวนมาแวดล้อมเป็นขั้น ๆ ไปบางคนถือกันลออมแก้ว (บางคนถือ) เครื่องสูงบ้าง (ยังมี) เทพธิดาที่มาเล่นดนตรีและฟ้อนรำถวายพระอินทร์เป็นจำนวนมาก และมีชื่อดังนี้ คิคครา สุภัทรา หสัจจนารี มณีเมขลา

             สุธรรมาเทพยสภาศาลา : ในบรรดาศาลาทั้งหลาย สุธรรมาเทพยสภาศาลา เป็นศาลาที่งดงามและประเสริฐกว่าทุกศาลา มีขนาดใหญ่และกว้างขวาง ใกล้กับศาลานั้นมีดอกไม้อย่างหนึ่งชื่อว่าอาสาพตีขึ้น ดอกไม้นี้ถึงเวลาพันปีจึงจะบานครั้งหนึ่ง และบานอยู่ตลอดพันปี

             ส่วนดอกปาริกชาตินั้นถึงร้อยปีจึงจะบาน เมื่อบานแล้วมีรัศมีเรืองรองออกจากทุกกิ่งและก้าน และมีกลิ่นหอมยิ่งนัก ผู้ที่ประสงค์จะได้ดอกไม่นี้ไม่ต้องปีนขึ้นไปเก็บเลย หากแต่จะลมพัดให้ดอกไม้ร่วงหล่นลงมาเอง หรือมิฉะนั้นก็จะมีลมมาพัดชูดอกไม้ให้ร่วงลงดิน นอกจากนี้ยังมีลมพัดนำดอกไม้ และลมที่บรรจงจัดดอกไม้ให้เรียงรายงดงามในศาลา หากมีดอกไม้เหี่ยวก็จะพัดนำดอกไม้ออกไปจากศาลา

    ภูมิที่ 2. รูปภูมิ 16 ( รูปาวจรภูมิ)

            รูปภูมิ 16 ชั้น กล่าวถึงการบำเพ็ญสมาธิ ตนได้ฌานสมาบัติแล้วไปเกิดเป็นพรหม แบ่งเป็น

    (1.) ปฐมฌานภูมิ 3

    (2.) ทุติยฌาณภูมิ 3

    (3.) ตติยฌาณภูมิ 3

    (4.) จตุตถฌาณ 7

            รูปภูมิทั้งหมดนี้รวมเป็นหนึ่งกัณฑ์ เรียกว่า สัตตมกัณฑ์ ผู้ที่เกิด

    ในพรหมโลก (ต้องเป็นผู้บำเพ็ญกุศล) เจริญฌาณสมาบัติในชั้นพรหม "พรหมทั้งสิบหกชั้นนี้ รวมเรียกว่า โสฬสพรหม บุคคลผู้ใดไปบังเกิดในพรหมโลกก็เพราะอำนาจรูปาวจรกุศล คือ จำเริญฌาณสมาบัติ ในชั้นพรหมจะมีแต่บุรุษเท่านั้น พรหมทั้งหลายจะมีรูปร่างงดงาม รัศมีรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาในฉกามาพจรสวรรค์ และจะมีรัศมีรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปทุก ๆ ชั้น แต่ละองค์จะประทับนิ่งอยู่ในปราสาททองหรือปราสาทแก้ว การหายใจเข้าออก การกินอาหาร อวัยวะเพศ อุจจาระปัสสาวะ จะไม่บังเกิดแก่พรหมเหล่านี้"

    ภูมิที่ 3. อรูปภูมิ 4 (อรูปาวจรภูมิ)

    อรูปภูมิ 4 ซึ่งหมายถึงนิพพาน ชั้นนี้คือพรหมที่ไม่มีรูป แบ่งออกเป็น

    (1.) อากาสานัญจายตนภูมิ

    (2.) วิญญาณัญจายตนภูมิ

    (3.) อากิญจัญญายตนภูมิ

    (4.) เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิฆ

    อรูปภูมิ 4 ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ, วิญญาณัญจายตนภูมิ, อากิญจัญญายตนภูมิ และเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิฆ พรหมในชั้นนี้ไม่มีรูปร่าง มีแต่จิตเจตสิก เพราะเห็นว่าหากมีร่างกายอยู่นั้นจะมีแต่โทษ อาจจะไปทำร้ายซึ่งกันและกันได้ จึงบริกรรมด้วยความว่างเปล่า ยึดเอาอากาศซึ่งเป็นความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ จนได้ฌานที่มีอากาศเป็นอารมณ์เรียกว่า อากาสานัญจายตนภูมิ ซึ่งมีอายุอยู่ได้สองหมื่นกัปป์ จากนั้นก็อาจภาวนาเพื่อจะได้ไปอยู่ในพรหมโลกขั้นสูงต่อไปอีกได้ อายุของพรหมเหล่านี้จะยืนอยู่ได้สี่หมื่น, หกหมื่น และแปดหมื่นสี่พันกัปป์ ตามลำดับ"

            อรูปาวจรภูมิได้แก่อรูปภูมิ 4 ชั้น (ในหนังสือท่านเพียงแต่พูดว่า) อรูปพรหมสี่ชั้นนี้มีข้อย่อยอันหนึ่งคือพูดถึงเรื่อง ฉัพพรรณรังสี "กล่าวถึงฉัพพรรณรังสี คือรัศมีที่มีสีต่าง ๆ หกสาย ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีแดงอ่อน และสีเลื่อมพราย รัศมีเหล่านี้ต่างออกจากพระวรกายส่วนต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าจะรู้ได้อย่างไรว่าพระพุทธเจ้ามาอุบัติ แล้วตอบว่ารู้ที่มีฉัพพรรณรังสี เพราะเรื่องฉัพพรรณรังสีนี้จึงเป็นเรื่อง

            สรุปแล้วเป็นพรหมที่ไม่มีรูป มีแต่จิตกับเจตสิก และมีอายุได้สองหมื่นมหากัลป์ จากนั้นก็อาจจะภาวนาเพื่อให้อยู่ในพรหมโลกก็ได้ อันนี้ก็คือในส่วนของอรูปภูมิ 4

    สรุปหลักจริยธรรมที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง เราได้หลักจริยธรรมอะไรบ้าง

            ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า ไตรภูมิพระร่วงนั้นมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ การที่พญาลิไททรงมีพระราชประสงค์ที่จะเทศนาโปรดพระราชมารดาของพระองค์ แล้วยังมีการสั่งสอนประชาชนชาวสุโขทัยอีกด้วย ดังนั้น การกล่าวถึงนรกสวรรค์ก็เป็นการโน้มน้าวใจผู้อ่านให้มีความเกรงกลัวบาปมากขึ้น เราลองหยิบประเด็นทางจริยธรรมที่สำคัญ ๆ ที่พอจะยกขึ้นมาได้บ้าง (มีการกล่าวถึงประเด็นจริยธรรมอะไรบ้าง)

            ท่านว่าคนสุโขทัยรับได้แค่ไหนในเรื่องเหล่านี้ (ท่านภาสกรณ์สรุปอ่ะนะ) - อาจารย์ก็สรุปต่อว่าเพราะฉะนั้นคนสุโขทัยระดับศีลธรรมก็น่าจะสูง ตั้งแต่ศิลาจารึกที่เราได้ศึกษากัน เขาไม่มีเกมส์คอมพิวเตอร์เล่น เขาก็จะไปวัดกัน ศึกษาพระธรรม ในเมืองศรีชุมมีวัดถึง 500 วัด ในตัวสุโขทัยเองก็มีวัดเยอะเหมือนกัน ถ้าเราไปอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเราจะเห็นว่าสวยงามมาก มีการสร้างวัดไว้แยะมาก มีวัดประจำตระกูล คนธรรมดาก็สร้างวัดได้ (ใช่มะ ???) มัคคุเทศน์บอกว่าใครที่ค้าขายแล้วรวยก็จะเอาเงินไปสร้างวัด แล้วก็มีการทำบุญกันมาก วันอาทิตย์วันนักขัตฤกษ์ก็จะทำบุญกัน ไม่เฉพาะแต่พระมหากษัตร์เท่านั้นที่สร้างวัดแต่ประชาชนก็สามารถสร้างวัดได้ด้วย เพราะฉะนั้นเราอาจสรุปได้ว่าหลักจริยธรรมที่ปรากฏในไตรภูมิพระร่วง ได้แก่

             1. จงทำความดี - คนเราควรจะทำความดี ลักษณะของเขาเป็นอย่างไรอ่ะ? เขาไม่ได้บอกโดยตรงแต่เขาบอกว่าอันนี้คือสติ ถ้าทำความดีก็จะไปขึ้นสวรรค์ ไปเป็นพรหม เป็นต้น เขาไม่ได้บอกโดยตรงว่าเธอจะต้องทำความดี แต่เขากล่าวอ้าง, เขากล่าวเพียงอ้อม ๆ ไว้ ผู้ที่ทำดีก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ผู้ทำชั่วก็ย่อมจะตกนรก

            "บุคคลใดย่อมประทุษร้ายต่อนรชน ผู้ไม่ประทุษร้ายคือผู้ประเสริฐ ปราศจากกิเลส บาปย่อมผู้เป็นประดุจธุลีที่…" (หมายความว่าถ้าเธอไปประทุษร้ายต่อคนที่เป็นผู้บริสุทธิ์บาปก็ย่อมจะหลับมาหาที่ตัวเธอเอง จงทำความดี) ในไตรภูมิพระร่วงมีการกล่าวไว้เป็นต้นว่า ชั้นฟ้าเป็นอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะขึ้นไปได้

             2. จงละเว้นความชั่ว - คนทำชั่วก็จะไปเกิดในนรก เป็นเปรตและสัตว์อื่น ๆ มีการกล่าวถึงนรกและสัตว์ที่อยู่ในนรก (ดีคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าดี ทำอย่างไรถึงจะได้ชื่อว่าชั่ว เกณฑ์อะไรบ้าง, ชั่วคืออะไร) (ไม่ได้ยินเลยอ่ะ เค้ากำลังวิพากษ์กันเรื่องอกุศลกรรมบท 10 อยู่อ่ะ ได้แก่ กาย 3 - วจี 4 -มโน 3)

             3. จงทำจิตให้ผ่องใส - บำเพ็ญเพียร ทำสมาธิ (ท่านภาสกรณ์อีกแล้วอ่ะ) ในหน้า 47 ของอาจารย์นิยดาได้กล่าวเอาไว้ว่า "มนุสสภูมิ มีหลายเรื่องบรรจุอยู่ในเนื้อความ ดังต่อไปนี้ การปฏิสนธิของมนุษย์ในครรภ์ของมารดานั้น จะเริ่มจากกลละ ซึ่งมีขนาดเล็กมากถึงขนาดที่นำเส้นผมของชาวอุตตรกุรุทวีปมาชุบน้ำมันงา แล้วสบัดเสียเจ็ดครั้ง น้ำมันที่ย้อยจากปลายขนนั้นยังมีขนาดใหญ่มาก กลละ กลละ.จะเจริญขึ้นเมื่อถึงเจ็ดวัน จะมีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ เรียกว่า อัมพุทะ ถัดจากอัมพุทะไปเจ็ดวันเรียกว่า เปสิ ฆณะ และปัญจสาขาหูดตามลำดับ กุมารนั้นนั่งยอง ๆ อยู่ในท้องมารดา และจะได้รับอาหารจากสายสะดือ ภายในท้องมารดานั้นร้องและแคบ

            เมื่อถึงกำหนดที่ทารกจะคลอด มีลมชนิดหนึ่งพัดดันตัวออกมา และมีลมจากภายนอกพัดเข้าไป หากผู้ที่มาจากอบายภูมิจะร้องไห้เพราะหวนคิดถึงความลำบากแต่หนหลัง ซึ่งตรงข้ามกับผู้ที่มาจากสุคติภูมิจะหัวเราะเพราะนึกถึงความสุขสบาย ความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้นทำให้เลือดกลายเป็นน้ำนมสำหรับลูกได้ดื่มกิน การที่บุตรจะพูดภาษาใดนั้นก็แล้วแต่ภาษาที่บิดามารดาเจรจา หากนอกเหนือจากนี้บุตรจะพูดภาษาบาลี (อันนี้คือกัณฑ์ที่ว่าด้วยมนุสสภูมิ)

            เท่าที่กล่าวมานี้เป็นกำเนิดของบุคคลธรรมดา ซึ่งต่างกับพระโพธิสัตว์ นับแต่เมื่อแรกอยู่ในครรภ์ของมารดา จะเป็นผู้รู้ตัวอยู่เสมอ และกายของพระองค์จะส่องแสงเรืองรองออกมา ตลอดเวลาที่พระองค์อยู่ในครรภ์ของมารดา หรือแม้แต่ในเวลาที่ปฏิสนธิ พระองค์จะไม่ได้รับความลำบากเหมือนบุคคลทั่วไป (เรื่องนี้มีอยู่ใน อินทสูตร อรรถกถาอินทกสูตร)

             อุตตรกุรุทวีป : อุตตรกุรุทวีปมีขนาดกว้างได้แปดพันโยชน์ พื้นแผ่นดินนั้นราบเรียบไม่มีหลุมบ่อ มีต้นไม้ซึ่งแตกกิ่งก้านสาขา มีค่าคบดังแกล้งทำไว้ซึ่งเป็นที่อยู่ของคนในทวีปนี้ เขาเหล่านี้เป็นผู้ที่มีบุญยิ่งกว่าคนในทวีปอื่น ๆ มีรูปร่างงดงาม ไม่อ้วน ไม่ผอม ไม่สูง ไม่ต่ำ มีเรี่ยวแรงดี ชาวอุตตรกุรุทวีปเป็นผู้มีความสุขอยู่เป็นนิจ เพราะปราศจากเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่มีภยันตรายใด ๆ ทั้งจากธรรมชาติ หรือสัตว์ร้าย มาพ้องพาน และไม่มีเรื่องกังวลเกี่ยวกับการทำมาหากิน เพราะมีข้าวสารพันธุ์หนึ่งมีชื่อว่าสัญชาตสาลี ซึ่งสามารถนำไปหุงได้โดยไม่ต้องเสียเวลาปลูก ตำ หรือฝัดเลย (เกิดขึ้นเอง) วิธีการหุงอาหารก็คือนำข้าวไปใส่หม้อ แล้วนำไปตั้งบนศิลาที่ชื่อโชติปาสาณ ซึ่งจะลุกเป็นไฟ ดับเองเมื่อข้าวสุก ถ้าจะประสงค์อาหารอื่นใดอาหารก็จะเกิดขึ้นได้เอง และถ้ามีความปรารถนาสิ่งใด เช่น แก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับ หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม สิ่งนั้นจะปรากฏขึ้นที่ต้นกัลปพฤกษ์

            ชาวอุตตรกุรุทวีปทั้งชายและหญิง เป็นผู้มีรูปร่างงดงามยิ่งนัก ผู้หญิงจะมีเส้นผลละเอียดอ่อน เพียงหนึ่งในแปดส่วนของเส้นผมชาวชมพูทวีป น้ำเสียงไพเราะ และจะไม่รู้จักแก่เฒ่าเลย ส่วนชายนั้นรูปร่างงดงาม มิรู้จักแก่เฒ่า เขาจะเที่ยวเล่นไปในที่ต่าง ๆ ด้วยความเพลิดเพลินใจ บ้างก็เล่นดนตรี ขับร้องฟ้อนรำ บ้างก็เล่นน้ำ และหากผู้ใดขึ้นจากน้ำจะมาหยิบเสื้อผ้า หรือเครื่องประที่วางไว้ริมฝั่งไปสวมใส่ โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ใดเป็นเจ้าของ หญิงและชายเมื่อถูกใจกันก็จะอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรายาเป็นเวลาเจ็ดวัน จากนั้นก็มิได้เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป อายุของชาวอุตตรกุรุทวีปจะได้หนึ่งพันปี

            ผู้หญิงชาวอุตตรกุรุทวีป เมื่อจะคลอดลูก จะไม่เจ็บท้อง หรือมีความทุกข์ทรมานแต่ประการใด และเมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว เขาก็มิ่ต้องเลี้ยงดู หากแต่นำเด็กนั้นไปวางที่ที่คนสัญจรไปมา ผู้ที่ผ่านมาพบเด็กอ่อน ก็จะเอานิ้วมือป้อนเข้าไปปาก น้ำนม และอาหารต่าง ๆ ก็จะบังเกิดขึ้นบุญของเด็ก ด้วยวิธีนี้เด็กจะเติบโตขึ้นมา และไปเข้ากลุ่มกันตามเพศของตน ในลักษณะนี้แม่และลูกจะไม่รู้จักกัน แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้นเข้าก็จะไม่มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาเพราะเป็นผู้มีบุญ

            เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ศพจะถูกนำไปวางไว้ที่แจ้ง และจะมีนกมาคาบศพไปทิ้งนอกทวีป ทั้งนี้ความเศร้างโศกจะไม่บังเกิดขึ้นเลย (แสดงว่าทวีปนี้ไร้อารมณ์มาก) ชาวอุตตรกุรุทวีปเป็นผู้ดำรงตนอยู่ในเบญจศีล เมื่อตายแล้วจะไปเกิดแต่เฉพาะเมืองสวรรค์เท่านั้น

            ต้นไม้ในอุตตรกุรุทวีปที่ควรแก่การกล่าวถึง คือ หญ้าที่ชื่อว่า ฉวินยา มีสีเขียวดำเหมือนดั่งแววนกยูง ละเอียดอ่อน นอกจากนี้มีลูกไม้ชื่อ ตุณหริกะ ซึ่งใช้เป็นภาชนะหุงข้าวซึ่งตั้งบนศิลาโชติปาสาณและต้นไม้ชื่อว่า มัญชุสกา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอุตตรกุรุทวีป (เรื่องราวของอุตตรกุรุทวีปมีประเด็นเล่าสู่เยอะมาก)

             4. จงมีเมตตากรุณา - (พระสงฆ์ได้พูดถึงอุตตรกุรุทวีปว่าไม่มีเมตตา เพราะพ่อแม่อยู่ด้วยกันเจ็ดวัน และพอมีเด็กก็เอาเด็กมาทิ้งไว้ - ท่านภาสกรณ์ก็ช่วยสรุปอีกตามเคย - อาจารย์ก็เลยเสริมว่าคนที่ผ่านมาก็เอามือป้อนเข้าไปในปาก น้ำนมและอาหารต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น เด็กนี้ไม่ต้องได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ก็ได้ ก็หมายความว่าเติบโตขึ้นมาด้วยตัวเอง สังคมนี้ไม่ค่อยจะมีความเมตตาเท่าไหร่ - พระสงฆ์พูดไปถึงปัญหาจริยธรรม ในกรณีโสเภณี การทำแท้ง - อาจารย์ก็เลยบอกว่าเขามีกฎของเขามา เราอาจจะใช้มาตรฐานของเราไม่ได้) แต่สรุปแล้วพูดถึงเรื่องเมตตาก็น่าจะได้เพราะหลักจริยธรรมในนี้มีกล่าวถึง และการที่จะบรรลุนิพพาน, บรรลุฌาณสมาบัติได้ก็จะต้องมีเมตตาทั้งสิ้น

             5. ทศพิธราชธรรม - มีการกล่าวถึงทศพิธราชธรรม (หนังสือของท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก, หน้า 29-30)

            "พระญาจักรพรรดิราชนั้น ธ เป็นเจ้าเป็นนายแก่คนทั้งหลาย อันมีในแผ่นดินใหญ่สี่แผ่นดิน และแผ่นดินน้อยทั้งหลายสองพันอันมีขอบจักรวาฬนี้แล แลท่านนั้นย่อมอยู่ในทศพิธราชธรรมทุกเมือแล"

             6. จงมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เฒ่าผู้แก่ (มีการพูดถึงบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ แบ่งออกเป็น จงมีความเสียสละ แบ่งปัน,จงมีความกตัญญู ถ้าคนที่เป็นคนไทยแต่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ การที่เขาทำกริยาส่อเสียด พูดจาไม่ดีแล้วเขาจะผิดมั๊ย - เขาจะตกนรกมั๊ย ??? - หรือเขาจะไปตกนรกฝรั่ง - พระสงฆ์ตอบอ่ะ - แล้วถ้าเขานับถือคริสต์แล้วคริสต์นั้นสารภาพบาปได้ - เถียงกันใหญ่เลยอ่ะ - พูดไปถึงเรื่องการสารภาพบาป

            7. จงมีความเสียสละ

            8. จงมีความกตัญญู

    กามภูมิ (Sensuous Planes)

            กามภูมิ คือภูมิระดับล่าง มีทั้งสิ้น 11 ภูมิ แบ่งออกเป็น อบายภูมิหรือทุคติภูมิ 4 และ สุคติภูมิ 7 อบายภูมิ คือภูมิชั้นต่ำ มี 4 ชั้น เป็นภูมิของความชั่วช้าต่าง ๆ นรกภูมิ คือภูมิชั้นต่ำที่สุดในอบายภูมิ ที่ยังมีลึกซ้อนกันลงไปอีกถึง 8 ชั้น มหาอเวจีนรก คือชั้นนรกที่ต่ำที่สุด ผู้ที่กระทำบาปอันเป็น อนันตริยกรรม 5 คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป ทำลายหรือยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน จะไปเกิดในขุมนรกชั้นนี้ ถัดขึ้นมาคือ เดรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสุรกายภูมิ ตามลำดับ

            สุคติภูมิ คือภูมิชั้นสูงขึ้นมา ได้แก่ภูมิของมนุษย์และภูมิของเทวดาอีก 6 ชั้น (ภูมิเทวดาทั้ง 6 รวมเรียกว่า ฉกามาพจร) ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในกามภูมิ คือยังหลงมัวเมาอยู่ในกามกิเลส

    นรกภูมิ (Woeful State)

            สัตว์ที่มาเกิดในภูมินี้ประกอบด้วยอกุศลจิต เหตุมาจาก โลภ โกรธ หลง ทำบาปด้วยกาย ปาก และใจ

    ทางกาย 3 คือ ฆ่าคนฆ่าสัตว์ด้วยตั้งใจ ลักทรัพย์ เป็นชู้

    ทางปาก 4 คือ พูดโกหก พูดยุแหย่ ติเตียนนินทาพูดคำหยาบ พูดตลกเล่นอันมิควรพูด

    ทางใจ 3 คือ ไม่ชอบว่าชอบและชอบว่าไม่ชอบ อาฆาตพยาบาท คิดปองร้ายเพื่อเอาทรัพย์สินผู้อื่น

            ย่อมไปเกิดในนรกใหญ่ทั้ง 8 อยู่ใต้แผ่นดินลงไป ล่างสุดคือ มหาอเวจีนรก บนสุดคือ สัญชีพนรก นรกใหญ่ 8 อันนี้ เป็น 4 มุม มี 4 ประตู อยู่ 4 ทิศ เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ไม่มีที่ว่างเลย เต็มไปด้วยฝูงสัตว์นรกเบียดเสียดกันอยู่ มีไฟลุกอยู่ชั่วกัลป์ ไฟที่ลุกเกิดจากบาปกรรมของผู้นั้นเอง นรกใหญ่แต่ละอันมีนรกบ่าว 16 อัน ด้านละ 4 นรกบ่าวยังมีนรกเล็กหรือยมโลก อยู่โดยรอบ 40 เหล่ายมบาลจะอยู่ในนรกบ่าว

            ยมบาลนั้นเมื่อเป็นคนทำทั้งบาปและบุญ ตายไปเกิดในนรก 15 วัน เป็นยมบาล 16 วัน ดังเช่นเปรตบางตน กลางวันเป็นเปรต กลางคืนเป็นเทวดา กลางวันเป็นเทวดา กลางคืนเป็นเปรต บุญมากกว่าบาปก็ไปเสวยสุขในสวรรค์ก่อน แล้วมารับโทษในนรกภายหลัง บาปมากกว่าก็มารับโทษก่อนแล้วเสวยสุขภายหลัง บุญและบาปเท่ากัน ก็ไปเป็นยมบาล ผู้ที่มีแต่บาปจะไปเกิดในนรกใหญ่ 8 อันนี้

    เดรัจฉานภูมิ (Animal Kingdom)

            สัตว์ที่เกิดในภูมินี้ เป็นสัตว์ที่มีตีนและไม่มีตีน เวลาเดินเอาอกคว่ำลง ได้แก่ ครุฑ นาค สิงห์ ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ นก แมลง ดำรงชีวิตด้วย กามสัญญา อาหารสัญญา มรณสัญญา มักไม่รู้จักบุญ รู้จักธรรม ไม่รู้จักค้าขาย ทำไร่ไถนา ล่ากินกันเอง

    เปรตภูมิ (Ghost-Sphere)

            ผู้ที่ทำบาปหยาบช้าจะมาเกิดในภูมินี้ แล้วแต่บาปที่กระทำ เช่น ตัวงามดั่งทองแต่ปากเหม็นเต็มไปด้วยหนอน เนื่องเพราะเคยบวชรักษาศีล แต่ชอบยุยงให้หมู่สงฆ์ผิดใจกัน บางตัวงามดั่งท้าวมหาพรหม แต่ปากเป็นหมู อดหยากนักหนา เมื่อก่อนได้บวชรักษาศีลบริสุทธิ์ แต่ด่าว่าครูบาอาจารย์และพระสงฆ์ผู้มีศีล บางตัวผอมโซกินลูกตัวเองที่คลอดออกมา เพราะเคยรับทำแท้งให้ชาวบ้าน บางตัวสูงเท่าต้นตาล ผมหยาบตัวเหม็น อดหยากไม่มีข้าวน้ำกิน เพราะไม่เคยทำบุญให้ทาน แม้เห็นใครทำก็ห้าม บางตัวเพียรเอาสองมือกอบข้าวที่ลุกเป็นไฟมาใส่หัวอยู่อย่างนั้น เพราะเคยเอาข้าวไม่ดีปนกับข้าวดีหลอกขายชาวบ้าน เปรตบางตัวมีอายุ 100 ปี บางตัวอายุ 1,000 ปี บางตัวชั่วกัลป์ ไม่ได้กินข้าว กินน้ำ แม้แต่หยดเดียว 1 วันนรก เท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์

    อสุรกาย (Host of Demons)

            อสุรกายมี 2 จำพวก คือ กาลกัญชกาอสูรกาย ร่างกายผอมสูง 2,000 วา ไม่มีเลือด ไม่มีเนื้อ ดั่งไม้แห้ง ตาเล็กเท่าตะปู ปากเท่ารูเข็ม ตาและปากอยู่เหนือกระหม่อม เวลากินต้องหัวลง ตีนชี้ฟ้า ลำบากยากนักหนา ส่วนทิพยอสูรกาย ตัวสูง หน้าตาน่าเกลียด ท้องยาน ฝีปากใหญ่ หลังหัก จมูกเบี้ยว แต่ยังมีช้างม้า ข้าไท มีรี้พลดั่งพระอินทร์ อยู่ในอสูรพิภพ ใต้แผ่นดินลึกลงไปถึง 84,000 โยชน์ มีเมืองอสูรใหญ่ 4 เมือง 4 ทิศ มีพระยาอสูรอยู่เมืองละ 2 เมืองทางทิศเหนือมีพระยาอสูรชื่อ ราหู มีอำนาจและกำลังกว่าพระยาอสูรทั้งหลาย มีร่างกายใหญ่โต 48,000 โยชน์ หัวโดยรอบ 900 โยชน์ สามารถอมพระอาทิตย์และพระจันทร์เข้าไว้ในปาก ที่คนทั้งหลายเรียกว่า สุริยคราส หรือ จันทรคราส

    มนุษยภูมิ (Human Realm)

            ภูมิของมนุษย์เป็นภูมิระดับสูงกว่าอบายภูมิ เป็นชั้นแรกของสุคติภูมิ แต่ยังรวมอยู่ภูมิใหญ่คือ กามภูมิสัตว์อันเกิดในมนุษยภูมินี้ แรกก่อกำเนิดในครรภ์เรียก กลละ (รูปเมื่อเริ่มในครรภ์) มีรูป 8 คือ ปฐวีรูป-ดิน อาโปรูป-น้ำ เตโชรูป-ความร้อน วาโยรูป-ลม กายรูป-ตัวตน ภาวรูป-เพศ หทัยรูป-ใจ ชีวิตรูป-ชีวิต ก่อกำเนิดจาก 3 สิ่งก่อน คือ กายรูป ภาวรูป หทัยรูป ผสมรวมกันเป็นหนึ่งแล้วรวมกับ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วณโน คนโธ รโส โอชา ประกอบกันเป็นองค์ 9 แล้วจักษุ-ตา โสต-หู ฆาน-จมูก ชิวหา-ลิ้น จึงตามมา เมื่อเริ่มเป็นกลละได้ 7 วัน ดั่งน้ำล้างเนื้อ ต่อไปอีก 7 วัน ข้นเป็นดั่งตะกั่วหลอม อีก 7 วัน แข็งเป็นก้อนดั่งไข่ไก่ อีก 7 วันเป็นตุ่มออก 5 แห่ง ตุ่มนั้นเป็นมือ 2 ตีน 2 และหัว 1 แล้วต่อไปทุก ๆ 7 วัน เป็นฝ่ามือ นิ้วมือ ผม ขน เล็บ และอวัยวะอื่น ๆ อันประกอบเป็นมนุษย์ กุมารนั้นนั่งกลางท้องแม่และเอาหลังมาชนหนังท้องแม่ ฝูงกุมารมนุษย์อันเกิดมาดีกว่า เก่งกว่าพ่อแม่ เรียก อภิชาตบุตร ดีเสมอพ่อแม่ เรียก อนุชาตบุตร ด้อยกว่าพ่อแม่ หรือบุตรที่ทราม เรียก อวชาตบุตรจาตุมหาราชิกา-ดาวดึงสภูมิ (Realm of the Four Great Kings-Realm of the Thirty-three Gods)

            เหนือมนุษยภูมิขึ้นมาจะเป็นภูมิของเหล่าเทพยดา มี่ทั้งสิ้น 6 ชั้น รวมเรียกว่า ฉกามาพจรภูมิ แต่ยังอยู่ในภูมิระดับล่างคือกามภูมิ

            จาตุมหาราชิกาภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นแรกอยู่เหนือโลกมนุษย์ขึ้นไป 46,000 โยชน์ มีพระยาผู้เป็นเจ้าทั้ง 4 รวมเรียกว่า พระยาจตุโลกบาล มีหน้าที่คอยสอดส่องดูมนุษย์ที่ประกอบผลบุญ แล้วรายงานต่อพระอินทร์ เพื่อให้ได้ไปเกิดในสรวงสวรรค์

            ดาวดึงภูมิ อยู่เหนือจาตุมหาราชิกาขึ้นไปอีก 46,000 โยชน์ มีพระอินทร์เป็นเจ้าแก่พระยาเทพยดาทั้งหลาย ที่รายล้อมออกไปทั้งสี่ทิศ รวม 72 องค์ เหล่าเทพยดามี 3 จำพวกคือ

            สมมุติเทวดา คือฝูงท้าวและพระยาในแผ่นดินผู้รู้หลักแห่งบุญธรรมและกระทำโดยทศพิธราชธรรมทั้ง 10 ประการ

    อุปปัติเทวดา คือ เหล่าเทพยดาในพรหมโลก

    วิสุทธิเทวดา คือ พระพุทธปัจเจกโพธิเจ้า และพระอรหันต์สาวกเจ้า ผู้เสด็จเข้าสู่นิพพาน

    ยามาภูมิ (Realm of the Yama Gods)

    อยู่สูงกว่าชั้นดาวดึงส์ขึ้นไปอีก 84,000 โยชน์ อยู่เหนือพระอาทิตย์และพระจันทร์ แสงสว่างในภูมินี้ เกิดจากรัศมีของเหล่าเทวดาในชั้นนี้เอง

    ดุสิตาภูมิ (Realm of Satisfied Gods)

            สูงกว่ายามาสวรรค์อีก 168,000 โยชน์ เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์และพระศรีอาริย์ นิมมานรดีภูมิ (Realm of Gods who rejoice in their own creations)

            สูงขึ้นไปอีก 336,000 โยชน์ เหล่าเทพยดาในชั้นนี้ต้องการสิ่งใดเนรมิตเอาเองได้ดั่งใจตนปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ (Realm of Gods who lord over the creation of others)

            สวรรค์ชั้นที่สุดของฉกามาพจรภูมิ สูงสุดในระดับกามภูมิ อยู่ถัดขึ้นไปอีก 672,000 โยชน์ เหล่าเทพยดาในสวรรค์ชั้นนี้ อยากได้สิ่งใดก้เนรมิตเอาเองได้ตามประสงค์ มีพระยาผู้เป็นเจ้าแห่งเทพยดาทั้งหลาย 2 องค์ มีอายุตั้งแต่ 500-16,000 ปีทิพย์ (500 ปีทิพย์ = 9 ล้านปีมนุษย์)

    2. รูปภูมิ (Form Planes)

             ภูมิระดับกลาง เป็นรูปพรหม มี 16 ชั้น แบ่งออกเป็น ปฐมฌานภูมิ 3 ทุติยฌานภูมิ 3 ตติยฌานภูมิ 3 และจตุตฌานภูมิ 7 อยู่เหนือสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีภูมิขึ้นไปนับประมาณไม่ได้ ผู้ที่จะมาเกิดในพรหมโลกนี้ ต้องจำเริญสมาธิภาวนา จำเริญกรรมฐาน เพื่อบำบัด ปัญจนิวรณ์ คือ

    กามฉันทะ ความพอใจในกาม

    พยาบาท ความคิดร้ายเคืองแค้นใจ

    ถีนมิทธะ ความหดหู่เซื่องซึม

    อุทธัจจกุกกุจจะ ความกระวนกระวายใจ

    วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

            จะได้เกิดเป็นพรหมใน ปฐมฌานภูมิ (First-Jhana planes) ถ้าจำเริญภาวนาฌานให้สูงขึ้นไป เมื่อสิ้นอายุจะไปเกิดใน ทุติยฌานภูมิ (Second-Jhana planes) ตติยฌานภูมิ (Third-Jhana planes) และ จตุตฌานภูมิ (Fourth-Jhana planes) ตามลำดับ พรหมในรูปภูมินี้มีแต่ผู้ชายไม่มีผู้หญิง มีตา หู จมูก มีตัวตน แต่ไม่รู้กลิ่นหอมหรือเหม็น ไม่รู้รส ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่ยินดีในกาม ไม่รู้หิว ไม่ต้องกินข้าวกินน้ำ เนื้อตัวเกลี้ยงเกลา ส่องสว่างกว่าพระอาทิตย์พระจันทร์พันเท่า ผู้ที่ได้จตุตฌานเต็มที่ เมื่อสิ้นอายุจะได้เกิดแต่ใน ปัญจสุทธาวาส (ภูมิ 5 ชั้นสุดท้ายของรูปภูมิ) จะไม่มาเกิดเป็นมนุษย์อีก จนได้เข้าสู่นิพพาน ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้จตุตฌานเต็มที่ เมื่อสิ้นอายุ ใจนั้นก็คืนสู่ปกติดั่งคนทั้งหลาย แล้วไปเกิดตามบุญและบาปต่อไป

    3. อรูปภูมิ (Formless Planes)

            ภูมิระดับสูง มี 4 ชั้น อยู่สูงสุดขอบกำแพงจักรวาล เหล่าพรหมในชั้นนี้ไม่มีตัวตน มีเพียงแต่จิต ผู้ที่จะมาเกิดในภูมินี้ต้องจำเริญภาวนาฌาน พิจารณาขันธ์ห้าจนเข้าถึงอรูปฌาน คือไม่ยินดีในร่างกายตน ปรารถนาที่จะไม่มีตัวตน จะได้มาเกิดใน อากาสานัญจายตนภูมิ (Realm of infinite space) คือภพของผู้เข้าถึงฌานอันกำหนดอากาศเป็นช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ มีอายุยืน 20,000 มหากัลป์ แล้วกำหนดจิตให้สูงขึ้น ปรารถนาให้อยู่เหนืออากาศ จนได้เกิดใน วิญญาณัญจายตนภูมิ (Realm of infinite consciousness) คือภพของผู้กำหนดวิญญาน อันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ มีอายุยืน 40,000 มหากัลป์ เมื่อพิจารณาภาวนาฌานให้สูงขึ้น จนได้ฌานกำหนดอันกำหนดภาวะที่ ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ จึงได้เกิดใน อากิญจัญญายตนภูมิ (Realm of nothingness) มีอายุยืน 60,000 มหากัลป์ แต่ยังไม่พอใจใคร่จะได้ไปเกิดในพรหมชั้นสูงขึ้นไป จนจิตเข้าถึงสภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ ถึงภูมิชั้นสูงสุดในไตรภูมิ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ (Real of neither perception nor non-perception) พรหมโลกชั้นนี้มีสมาบัติยิ่งกว่าพรหมทุกแห่ง สามารถเห็นชั้นฟ้า ชั้นดิน ชั้นอินทร์ และชั้นพรหม ดุจเห็นมะขามป้อมกลางฝ่ามือ มีจิตอันเป็น โสภณเจตจิต คือสภาวะธรรมที่ดีงามเกิดดับพร้อมกับจิต มีอายุยืนถึง 84,000 มหากัลป์

    4. อนิจจลักษณะ (Impermanence)

            เหล่าฝูงสัตว์ในภูมิ นรก เปรต ดิรัจฉาน และ อสุรกาย เมื่อสิ้นแก่อายุ จะไปเกิดในภูมิเดิม ถ้าได้เคยทำบุญกุศลมาก่อนก็จะได้เกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดในภูมิเทพยดา แต่ไม่สามารถไปเกิดในภูมิของพรหมทั้ง 20 ชั้นได้ ฝูงสัตว์ที่เป็นมนุษย์ มี 2 จำพวกคือ อันธปุถุชน คือผู้ที่ทำแต่ความชั่วช้าต่าง ๆ เมื่อตายจากมนุษย์ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะอัปลักษณ์บัดสี กัลยานปุถุชน คือผู้ที่ฝักใฝ่ประกอบแต่กรรมดี เมื่อตายได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป ยกเว้นปัญจสุทธวาส หรือได้ไปสู่นิพพานก็มี เหล่า เทพยดาในฉกามาพจรภูมิ เมื่อสิ้นอายุ ถ้าไม่ได้มรรคผล อาจเกิดในภูมิเดิม ภูมิมนุษย์ หรืออบายภูมิ ถ้าได้มรรคผล จะไปเกิดในรูปภูมิ หรืออรูปภูมิ พรหมในรูปภูมิ เมื่อสิ้นอายุ อาจมาเกิดในสุคติภูมิ หรือถ้าได้มรรคผลก็จะเกิดในภูมิที่สูงขึ้นไป แต่จะไม่เกิดในอบายภูมิ เหล่าฝูง พรหมในอรูปภูมิ เมื่อสิ้นอายุ อาจลงมาเกิดในสุคติภูมิ แต่จะไม่เกิดในอรูปภูมิชั้นที่ต่ำกว่า หรือในรูปภูมิ และจะไม่ได้เกิดในอบายภูมิ แต่ถ้าฌานที่สูงขึ้น ก็ได้ไปเกิดในอรูปภูมิชั้นที่สูงกว่า ฝูงสัตว์ทั้งหลายอันเกิดในไตรภูมินี้ ย่อมไม่มั่นคง ย่อมรู้ฉิบหาย รู้ตายจาก รู้พลัดพราก ไม่ว่าพระอินทร์หรือพระพรหม ยังคงมีเกิดและดับ ย่อมเวียนว่ายอยู่ในไตรภูมินี้ เนื่องมาแต่เหตุแห่งสภาวะจิต ยังรับแรงกระทบจากกิเลส ประดุจดังหยดน้ำตกกระทบผิวน้ำ ผิวน้ำย่อมเกิดระลอกสั่นไหว ถ้าจิตเราไม่รับสนองต่อสิ่งที่มากระทบ จิตนั้นย่อมนิ่งย่อมสงบ

    5. นิพพาน (Nibbana)

             ความสุขใด ๆ ในเทวโลกหรือพรหมโลกจะเทียบเท่านิพพานสุขนั้นหาไม่ เปรียบได้ดั่งแสงหิ่งห้อยหรือจะสู้แสงดวงตะวัน หยดน้ำอันติดอยู่ปลายผมหรือจะเทียบกับน้ำในมหาสมุทร เพราะหยุดเหตุแห่งการเกิดและดับ นิพพานมี 2 จำพวก คือ

            กิเลสปรินิพพาน (Nibbana with the substratum of life remaining) นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจและไม่ชอบใจทางอินทรีย์ 5 รับรู้สุขทุกข์ คือดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ

            ขันธปรินิพพาน (Nibbana without any substratum of life remaining) ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือนิพพานของพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว

            ไตรภูมิกถานี้ได้แสดงให้เห็นว่า แม้จะได้มรรคผลสูงจนถึงที่สุดแห่งภูมิ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ในอรูปภูมิ แต่จิตนั้นยังมีสัญญาอยู่ในสภาวะที่ยังไม่แน่นอน จึงมีดับและเกิด แต่ถ้าได้พิจารณาอริยสัจ 4 สามารถดับเบญจขันธ์คือ ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เท่ากับได้ดับกิเลสและกองทุกข์ เข้าสู่สภาวะที่เป็นสุขสูงสุด คือ นิพพาน เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพอันสมบูรณ์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×