คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย
ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย
คำว่าไทย เป็นชื่อรวมของชนเผ่ามองโกล ซึ่งแบ่งแยกออกเป็นหลายสาขา เช่น ไทยอาหม ในแคว้นอัสสัม ไทยใหญ่ ไทยน้อย ไทยโท้ ในแคว้นตั้งเกี๋ย อุปนิสัยปกติมักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักสันติ และความเป็นอิสระ
ความเจริญของชนชาติไทยนี้ สันนิษฐานว่า มีอายุไร่เรี่ยกันมากับความเจริญของ ชาวอียิปต์บาบิโลเนีย และอัสสิเรียโบราณ ไทยเป็นชาติที่มีความเจริญมาก่อนจีนและก่อนชาวยุโรป ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพวกอนารยชนอยู่ เป็นระยะเวลา ประมาณ ๕,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่ชนชาติไทยได้เคยมีที่ทำกินเป็นหลักฐาน มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และมีระเบียบแบบแผนอยู่ ณ ดินแดนซึ่งเป็นประเทศจีนในปัจจุบัน
เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ชนชาติไทยได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน เดินทางมาจนถึงที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ ณ บริเวณต้นแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำแยงซีเกียง และได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณที่แห่งนั้น แล้วละเลิกอาชีพเลี้ยงสัตว์แต่เดิม เปลี่ยนมาเป็นทำการกสิกรรม ความเจริญก็ยิ่งทวีมากขึ้น มีการปกครองเป็นปึกแผ่น และได้ขยายที่ทำกินออกไปทางทิศตะวันออกตามลำดับ
ในขณะที่ชนชาติไทยมีความเป็นปึกแผ่นอยู่ ณ ดินแดนและมีความเจริญดังกล่าว ชนชาติจีนยังคงเป็นพวกเลี้ยงสัตว์ ที่เร่ร่อนพเนจรอยู่ตามแถบทะเลสาบแคสเบียน ต่อมาเมื่อ ประมาณกว่าหนึ่งพันปีที่ไทยอพยพเข้ามาอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเรียบร้อยแล้ว ชนชาติจีนจึงได้อพยพเข้ามาอยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าวนี้บ้าง และได้พบว่าชนชาติไทยได้ครอบครอง และมีความเจริญอยู่ก่อนแล้ว ในระหว่างระยะเวลานั้น เราเรียกตัวเองว่าอ้ายลาว หรือพวกมุง ประกอบกันขึ้นเป็นอาณาจักรใหญ่ ถึงสามอาณาจักร ด้วยกันคือ
อาณาจักรลุง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือบริเวณต้นแม่น้ำเหลือง (หวงโห)
อาณาจักรปา ตั้งอยู่ทางใต้ลงมาบริเวณพื้นที่ทางเหนือของมณฑลเสฉวน อาณาจักรปาจัดว่าเป็นอาณาจักรที่สำคัญกว่าอาณาจักรอื่น
อาณาจักรเงี้ยว ตั้งอยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง
ทั้งสามอาณาจักรนี้ มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ประชากรก็เพิ่มมากขึ้น จึงได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาทางทิศตะวันออก โดยมีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นแกนหลัก
จากความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ถิ่นที่อยู่ใหม่ มีอิทธิพลทำให้เปลี่ยนแปลงอุปนิสัยเดิม ตั้งแต่ครั้งยังทำการเลี้ยงสัตว์ ที่โหดเหี้ยม และชอบรุกราน มาเป็นชนชาติที่มีใจกว้างขวาง รักสงบพอใจความสันติ อันเป็นอุปนิสัยที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงไทยรุ่นหลังต่อมา
เหตุที่ชนชาติจีนเข้ามารู้จักชนชาติไทยเป็นครั้งแรก
เมื่อแหล่งทำมาหากินทางแถบทะเลสาบแคสเบียนเกิดอัตคัตขาดแคลน ทำให้ชนชาติจีนต้องอพยพเคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันออก
เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ชนชาติจีนได้อพยพข้ามเทือกเขาเทียนชาน ที่ราบสูงโกบี จนมาถึงลุ่มแม่น้ำไหว จึงได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นั้น และมีความเจริญขึ้นตามลำดับ ปรากฎมีปฐมกษัตริย์ของจีนชื่อ ฟูฮี ได้มีการสืบวงค์กษัตริย์กันต่อมา แต่ขณะนั้นจีนกับไทยยังไม่รู้จักกัน ล่วงมาจนถึงสมัยพระเจ้ายู้ จีนกับไทยจึงได้รู้จักกันครั้งแรก โดยมีสาเหตุมาจากที่พระเจ้ายู้ ได้มีรับสั่งให้มีการสำรวจ พระราชอาณาเขตขึ้น ชาวจีนจึงได้มารู้จักชาวไทย ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอ้ายลาว จึงยกย่องนับถือถึงกับให้สมญาอาณาจักรอ้ายลาวว่า อาณาจักรไต๋ ซึ่งมีความหมายว่าอาณาจักรใหญ่ สันนิษฐานว่า เป็นสมัยแรกที่จีนกับไทยได้แลกเปลี่ยนสัมพันธไมตรีต่อกัน
อาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกราน
เมื่อประมาณ ๓๙๐ ปี ก่อนพุทธศักราช พวกจีนได้ถูกชนชาติตาดรุกราน พวกตาดได้ล่วงเลยเข้ามารุกรานถึงอาณาจักรอ้ายลาวด้วย อาณาจักรลุงซึ่งอยู่ทางเหนือ ต้องประสบภัยสงครามอย่างร้ายแรง ในที่สุดก็ต้องทิ้งถิ่นฐานเดิม อพยพลงมาทางนครปา ซึ่งอยู่ทางใต้ ปล่อยให้พวกตาดเข้าครอบครองนครลุง ซึ่งมีอาณาเขตประชิดติดแดนจีน
ฝ่ายอาณาจักรจีนในเวลาต่อมาเกิดการจลาจล พวกราษฎรพากันอพยพหนีภัยสงคราม เข้ามาในนครปาเป็นครั้งแรก เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้า ก็มาเบียดเบียนชนชาติไทยในการครองชีพ ชนชาติไทยทนการเบียดเบียนไม่ได้ จึงได้อพยพจากนครปามาหาที่ทำกินใหม่ทางใต้ครั้งใหญ่ เมื่อประมาณ ๕๐ ปี ก่อนพุทธศักราช แต่อาณาจักรอ้ายลาวก็ยังคงอยู่
จนถึงประมาณ พ.ศ. ๑๗๕อาณาจักรจีนเกิดมีแคว้นหนึ่ง คือ แคว้นจิ๋น มีอำนาจขึ้นแล้วใช้แสนยานุภาพเข้ารุกรานอาณาจักรอ้ายลาว นับเป็นครั้งแรกที่ไทยกับจีนได้รบพุ่งกัน ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียนครปาให้แก่จีน เมื่อ พ.ศ.๒๐๕ ผลของสงครามทำให้ชาวนครปาที่ยังตกค้างอยู่ในถิ่นเดิม อพยพเข้ามาหาพวกเดียวกันที่อาณาจักรเงี้ยว ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจีน แต่ฝ่ายจีนยังคงรุกรานลงทางใต้สู่อาณาจักรเงี้ยวต่อไป ในที่สุดชนชาติไทยก็เสียอาณาจักรเงี้ยวให้แก่ พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ เมื่อปี พ.ศ. ๓๒๘
อาณาจักรเพงาย
ตั้งแต่ พ.ศ. ๔๐๐ - ๖๒๑ เมื่ออาณาจักรอ้ายลาวถูกรุกรานจากจีน ทั้งวิธีรุกเงียบ และรุกรานแบบเปิดเผยโดยใช้แสนยานุภาพ จนชนชาติไทยอ้ายลาวสิ้นอิสระภาพ จึงได้อพยพอีกครั้งใหญ่ แยกย้ายกันไปหลายทิศหลายทาง เพื่อหาถิ่นอยู่ใหม่ ได้เข้ามาในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ลุ่มแม่น้ำอิรวดี บางพวกก็ไปถึงแคว้นอัสสัม บางพวกไปยังแคว้นตังเกี๋ย เรียกว่าไทยแกว บางพวกเข้าไปอยู่ที่แคว้นฮุนหนำ พวกนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก ในที่สุดได้ตั้งอาณาจักรขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๔๐๐ เรียกว่าอาณาจักรเพงาย
ในสมัยพระเจ้าขุนเมือง ได้มีการรบระหว่างไทยกับจีน หลายครั้งผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ สาเหตุที่รบกันเนื่องจากว่า ทางอาณาจักรจีน พระเจ้าวู่ตี่ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้จัดสมณทูตให้ไปสืบสวนพระพุทธศาสนาที่ประเทศอินเดีย แต่การเดินทางของสมณทูตต้องผ่านเข้ามาในอาณาจักรเพงาย พ่อขุนเมืองไม่ไว้ใจจึงขัดขวาง ทำให้กษัตริย์จีนขัดเคืองจึงส่งกองทัพมารบ ผลที่สุดชาวเพงายต้องพ่ายแพ้ เมื่อ พ.ศ. ๔๕๖
ต่อมาอาณาจักรจีนเกิดการจลาจล ชาวนครเพงายจึงได้โอกาสแข็งเมือง ตั้งตนเป็นอิสระ จนถึง พ.ศ. ๖๒๑ ฝ่ายจีนได้รวมกันเป็นปึกแผ่นและมีกำลังเข้มแข็ง ได้ยกกองทัพมารุกรานไทย สาเหตุของสงครามเนื่องจากพระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนได้วางแผนการขยายอาณาเขต โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ โดยได้ส่งสมณฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศใกล้เคียง
สำหรับนครเพงายนั้น เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงพ่อขุนลิวเมา ซึ่งเป็นหัวหน้าก็เลื่อมใส ชาวนครเพงายโดยทั่วไปก็ยอมรับนับถือเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยต่างก็ประจักษ์ในคุณค่าของพระธรรมอันวิเศษยอดเยี่ยม นับว่าสมัยนี้เป็นสมัยสำคัญ ที่พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาถึงอาณาจักรไทย คือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๑๒ เมื่อเป็นเช่นนั้นฝ่ายจีนจึงถือว่าไทยต้องเป็นเมืองขึ้นของจีนด้วย จึงได้ส่งขุนนางเข้ามาควบคุมการปกครองนครเพงาย เมื่อทางไทยไม่ยอมจึงเกิดผิดใจกัน ฝ่ายจีนได้กรีฑาทัพใหญ่เข้าโจมตีนครเพงาย นครเพงายจึงเสียอิสระภาพ เมื่อ พ.ศ. ๖๒๑
อาณาจักรน่านเจ้า (พ.ศ. ๑๑๙๓ - ๑๘๒๓)
หลังจากนครเพงายเสียแก่จีนแล้ว ก็ได้มีการอพยพครั้งใหญ่กันอีกครั้งหนึ่ง ลงมาทางทิศใต้และทางทิศตะวันตก ส่วนใหญ่มักเข้ามาตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ ในเวลาต่อมาได้เกิดมีเมืองใหญ่ขึ้นถึง ๖ เมือง ทั้ง ๖ เมืองต่างเป็นอิสระแก่กัน ประกอบกับในห้วงเวลานั้นกษัตริย์จีนกำลังเสื่อมโทรม แตกแยกออกเป็นสามก๊ก ก๊กของเล่าปี่ อันมีขงเบ้งเป็นผู้นำ ได้เคยยกมาปราบปรามนครอิสระของไทย ซึ่งมีเบ้งเฮกเป็นหัวหน้าได้สำเร็จ ชาวไทยกลุ่มนี้จึงต้องอพยพหนีภัยจากจีน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๘๕๐ พวกตาดได้ยกกำลังเข้ารุกราน อาณาจักรจีนทางตอนเหนือ เมื่อตีได้แล้วก็ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ทางเหนือมี ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง ส่วนอาณาจักรทางใต้ กษัตริย์เชื้อสายจีนก็ครองอยู่ที่เมืองน่ำกิง ทั้งสองพวกได้รบพุ่งกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ ทำให้เกิดการจลาจลไปทั่วอาณาจักร ผลแห่งการจลาจลครั้งนั้น ทำให้นครอิสระทั้ง ๖ ของไทย คือ ซีล่ง ม่งเส ล่างกง มุ่งซุย เอี้ยแซ และเท่งเซี้ยง กลับคืนเป็นเอกราช
นครม่งเสนับว่าเป็นนครสำคัญ เป็นนครที่ใหญ่กว่านครอื่นๆ และตั้งอยู่ต่ำกว่านครอื่น ๆ จึงมีฐานะมั่นคงกว่านครอื่น ๆ ประกอบกับมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง คือ พระเจ้าสินุโล พระองค์ได้รวบรวมนครรัฐทั้ง ๖ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรวมเรียกว่า อาณาจักรม่งเส หรือ หนองแส จากนั้นพระองค์ได้วางระเบียบการปกครองอาณาจักรอย่างแน่นแฟ้น พระองค์ได้ดำเนินนโยบายผูกมิตรกับจีน เพื่อป้องกันการรุกราน เนื่องจากในระยะนั้นไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาสร้างตัวจนมีอำนาจ เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอาณาเขตประชิดติดกับจีน ทางฝ่ายจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า อาณาจักรน่านเจ้า
แม้ว่าอาณาจักรน่านเจ้าจะสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสินุโลไปแล้วก็ตาม พระราชโอรสของพระองค์ซึ่งสืบราชสมบัติ ต่อมาก็ทรงพระปรีชาสามารถ นั่นคือพระเจ้าพีล่อโก๊ะ พระองค์ได้ทำให้อาณาจักรน่านเจ้าเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม อาณาเขตก็กว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า งานชิ้นสำคัญของพระองค์อย่างหนึ่งก็คือ การรวบรวมนครไทยอิสระ ๕ นครเข้าด้วยกัน และการเป็นสัมพันธไมตรีกับจีน
ในสมัยนี้อาณาจักรน่านเจ้า ทิศเหนือจดมณฑลฮุนหนำ ทิศใต้จดมณฑลยูนาน ทิศตะวันตกจดธิเบต และพม่า และทิศตะวันออกจดมณฑลกวางไส บรรดาอาณาจักรใกล้เคียงต่างพากันหวั่นเกรง และยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรน่านเจ้าโดยทั่วหน้ากัน พระเจ้าพีล่อโก๊ะมีอุปนิสัยเป็นนักรบ จึงโปรดการสงคราม ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จเป็นจอมทัพไปช่วยจีนรบกับชาวอาหรับ ที่มณฑลซินเกียง และพระองค์ได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ทางกษัตริย์จีนถึงกับยกย่องให้สมญานามพระองค์ว่า ยูนานอ๋อง พระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นการณ์ไกล มีนโยบายในการแผ่อาณาเขตที่ฉลาดสุขุมคัมภีรภาพ วิธีการของพระองค์คือ ส่งพระราชโอรสให้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่บริเวณ หลวงพระบาง ตังเกี๋ย สิบสองปันนา สิบสองจุไทย (เจ้าไทย) หัวพันทั้งห้าทั้งหก
กาลต่อมาปรากฎว่าโอรสองค์หนึ่งได้ไปสร้างเมืองชื่อว่า โยนกนคร ขึ้นทางใต้ เมืองต่าง ๆ ของโอรสเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ. ๑๒๘๙) พระเจ้าโก๊ะล่อฝง ผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชยสืบต่อมา และได้ดำเนินนโยบายเป็นไมตรีกับจีนตลอดมา จนถึง พ.ศ. ๑๒๙๓ จึงมีสาเหตุขัดเคืองใจกันขึ้น มูลเหตุเนื่องจากว่า เจ้าเมืองฮุนหนำได้แสดงความประพฤติดูหมิ่นพระองค์ พระองค์จึงขัดเคืองพระทัย ถึงขั้นยกกองทัพไปตีได้เมืองฮุนหนำ และหัวเมืองใหญ่น้อยอื่น ๆ อีก ๓๒ หัวเมือง แม้ว่าทางฝ่ายจีนจะพยายามโจมตีกลับคืนหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดฝ่ายจีนก็เข็ดขยาด และเลิกรบไปเอง ในขณะที่ไทยทำสงครามกับจีน ไทยก็ได้ทำการผูกมิตรกับธิเบต เพื่อหวังกำลังรบ และเป็นการป้องกันอันตรายจากด้านธิเบต
เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าโก๊ะล่อฝง ราชนัดดาคือเจ้าอ้ายเมืองสูง (อีเหมาซุน) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา มีเหตุการณ์ในตอนต้นรัชกาล คือไทยกับธิเบตเป็นไมตรีกัน และได้รวมกำลังกันไปตีแคว้นเสฉวนของจีน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเวลาต่อมา ธิเบตถูกรุกรานและได้ขอกำลังจากไทยไปช่วยหลายครั้ง จนฝ่ายไทยไม่พอใจ ประจวบกันในเวลาต่อมา ทางจีนได้แต่งฑูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย เจ้าอ้ายเมืองสูงจึงคิดที่จะเป็นไมตรีกับจีน เมื่อทางธิเบตทราบระแคะระคายเข้าก็ไม่พอใจ จึงคิดอุบายหักหลังไทย แต่ฝ่ายไทยไหวทันจึงสวมรอยเข้าโจมตีธิเบตย่อยยับ ตีได้หัวเมืองธิเบต ๑๖ แห่ง ทำให้ธิเบตเข็ดขยาดฝีมือของไทยนับตั้งแต่นั้นมา
ในเวลาต่อมากษัตริย์น่านเจ้าในสมัยหลังอ่อนแอ และไม่มีนิสัยเป็นนักรบ ดังปรากฎในตามบันทึกของฝ่ายจีนว่า ในสมัยที่พระเจ้าฟ้า ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๒๐ นั้น ได้มีพระราชสาส์นไปถึงอาณาจักรจีน ชวนให้เป็นไมตรีกัน ทางฝ่ายจีนก็ตกลง เพราะยังเกรงในฝีมือ และความเข้มแข็งของไทยอยู่ แต่กระนั้นก็ไม่ละความพยายามที่จะหาโอกาสรุกรานอาณาจักรน่านเจ้า ปรากฎว่าพระเจ้าแผ่นดินจีนได้ส่งราชธิดา หงางฝ่า ให้มาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟ้า เพื่อหาโอกาสรุกเงียบในเวลาต่อมา โดยได้พยายามผันแปรขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก ให้มีแบบแผนไปทางจีนทีละน้อย ๆ ดังนั้นราษฎรน่านเจ้าก็พากันนิยมตาม จนในที่สุด อาณาจักรน่านเจ้าก็มีลักษณะคล้ายกับอาณาจักรจีน แม้ว่าสิ้นสมัยพระเจ้าฟ้า กษัตริย์น่านเจ้าองค์หลัง ๆ ก็คงปฎิบัติตามรอยเดิม ประชาชนชาวจีนก็เข้ามาปะปนอยู่ด้วยมาก แม้กษัตริย์เองก็มีสายโลหิตจากทางจีนปะปนอยู่ด้วยแทบทุกองค์ จึงก่อให้เกิดความเสื่อม ความอ่อนแอขึ้นภายใน มีการแย่งชิงราชสมบัติกันในบางครั้ง จนในที่สุดเกิดการแตกแยกในอาณาจักรน่านเจ้า ความเสื่อมได้ดำเนินต่อไปตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๑๘๒๓ ก็สิ้นสุดลงด้วยการโจมตีของกุบไลข่าน (Kublai Khan) กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจีน อาณาจักรน่านเจ้าก็ถึงกาลแตกดับลงในครั้งนั้น
ความเจริญของอาณาจักรน่านเจ้า
ตามบันทึกของจีนโบราณกล่าวไว้ว่า นอกจากน่านเจ้าจะเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากร หนาแน่นแล้ว ยังมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูง ทางด้านการปกครองได้จัดแบ่งออกเป็น ๙ กระทรวง คือ กระทรวงว่าการทหาร กระทรวงจัดการสำมะโนครัว กระทรวงราชประเพณี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงโยธา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงการต่างประเทศ มีเจ้าพนักงานสำหรับสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการ กองทหารก็จัดเป็น หมู่ หมวด กองร้อย กองพัน มีธงประจำกอง ทหารแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงทำด้วยหนังสัตว์ สวมหมวกสีแดงมียอด ถือโลห์หนังแรด มีหอกหรือขวานเป็นอาวุธ หากใครมีม้าก็เป็นทหารม้า ทรัพย์สินของรัฐมียุ้งฉางสำหรับเสบียงของหลวง มีโรงม้าหลวง มีการเก็บภาษีอากร มีการแบ่งปันที่นาให้ราษฎรตามส่วน อาชีพทั่วไปของราษฎรคือการเพาะปลูก เมื่อรู้จักปลูกฝ้ายก็มีการทอผ้า นอกจากนั้นก็มีอาชีพขุดทอง
ศาสนาประจำชาติ ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน รวมทั้งนับถือศาสนาเดิมที่นับถือบรรพบุรุษ
การศึกษา ชนชาติไทยในสมัยน่านเจ้ามีภาษาใช้ประจำชาติโดยเฉพาะแล้ว แต่เรื่องของตัวหนังสือเรายังไม่สามารถทราบได้ว่ามีใช้หรือยัง
ชนชาติต่าง ๆ ในแหลมสุวรรณภูมิก่อนที่ไทยจะอพยพมาอยู่
ชนชาติดั้งเดิม และมีความเจริญน้อยที่สุดก็คือพวก นิโกรอิด (Negroid) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ พวกเงาะ เช่น เซมัง ซาไก (Sakai) ปัจจุบันชนชาติเหล่านี้มีเหลืออยู่น้อยเต็มที แถวปักษ์ใต้อาจมีเหลืออยู่บ้าง ในเวลาต่อมาชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่า เช่น มอญ ขอม ละว้า ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ขอม มีถิ่นฐานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหลมสุวรรณภูมิ ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนใต้ และทะเลสาบเขมร
ลาวหรือละว้า มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนตอนกลางระหว่างขอมและมอญ
มอญ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำอิรวดี
ทั้งสามชาตินี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่รูปร่าง หน้าตา ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นชนชาติเดียวกันมาแต่เดิม
อาณาจักรละว้า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๗๐๐ ชนชาติละว้าซึ่งเข้าครอบครองถิ่นเจ้าพระยา ได้ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นสามอาณาจักรคือ
อาณาจักรทวาราวดี มีอาณาเขตประมาณตั้งแต่ราชบุรี ถึงพิษณุโลก มีนครปฐมเป็นเมืองหลวง
อาณาจักรโยนกหรือยาง เป็นอาณาจักรทางเหนือในเขตพื้นที่เชียงราย และเชียงแสน มีเงินยางเป็นเมืองหลวง
อาณาจักรโคตรบูรณ์ มีอาณาเขตตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุดรธานี มีนครพนมเป็นเมืองหลวง
อารยธรรมที่นำมาเผยแพร่ แหลมสุวรรณภูมิได้เป็นศูนย์กลางการค้าของจีน และอินเดียมาเป็นเวลาช้านาน จนกลายเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมผสม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณนี้ เป็นเหตุดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาอาศัย และติดต่อค้าขาย นับตั้งแต่ พ.ศ. ๓๐๐ เป็นต้นมา ได้มีชาวอินเดียมาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งพวกที่หนีภัยสงครามทางอินเดียตอนใต้ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้กรีฑาทัพไปตีแคว้นกลิงคราฎร์ ชาวพื้นเมืองอินเดียตอนใต้ จึงอพยพเข้ามาอยู่ที่พม่า ตลอดถึงพื้นที่ทั่วไปในแหลมมลายู และอินโดจีน อาศัยที่พวกเหล่านี้มีความเจริญอยู่แล้ว จึงได้นำเอาวิชาความรู้และความเจริญต่าง ๆ มาเผยแพร่ คือ
ศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมในทางอบรมจิตใจ ให้ความสว่างกระจ่างในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สันนิษฐานว่า พุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่เป็นครั้งแรกโดย พระโสณะ และพระอุตระ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย
ศาสนาพราหมณ์ มีความเหมาะสมในด้านการปกครอง ซึ่งต้องการความศักดิ์สิทธิ์ และเด็ดขาด ศาสนานี้สอนให้เคารพในเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์
นิติศาสตร์ ได้แก่การปกครอง ได้วางแผนการปกครองหัวเมืองตลอดจนการตั้งมงคลนาม ถวายแก่พระมหากษัตริย์ และตั้งชื่อเมือง
อักษรศาสตร์ พวกอินเดียตอนใต้ได้นำเอาตัวอักษรคฤณฑ์เข้ามาเผยแพร่ ต่อมาภายหลังได้ดัดแปลงเป็นอักษรขอม และอักษรมอญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย โดยดัดแปลงจากอักษรขอม เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๓
ศิลปศาสตร์ ได้แก่ฝีมือในการก่อสร้าง แกะสลัก ก่อพระสถูปเจดีย์ และหล่อพระพุทธรูป
การแผ่อำนาจของขอมและพม่า
ประมาณปี พ.ศ. ๖๐๑ โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นชาวอินเดียได้สมรสกับนางพญาขอม และต่อมาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ครอบครองดินแดนของนางพญาขอม จัดการปกครองบ้านเมืองด้วยความเรียบร้อย ทำนุบำรุงกิจการทหาร ทำให้ขอมเจริญขึ้นตามลำดับ มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปมากขึ้น ในที่สุดก็ได้ยกกำลังไปตีอาณาจักรโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ทางเหนือของละว้าไว้ได้ แล้วถือโอกาสเข้าตีอาณาจักรทวาราวดี
ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ กษัตริย์พม่าผู้มีความสามารถองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าอโนธรามังช่อ ได้ยกกองทัพมาตีอาณาจักรมอญ เมื่อตีอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจได้ แล้วก็ยกทัพล่วงเลยเข้ามาตีอาณาจักรทวาราวดี และมีอำนาจครอบครองตลอดไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อำนาจของขอมก็สูญสิ้นไป
แต่เมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอโนธรามังช่อ อำนาจของพม่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็พลอยเสื่อมโทรมดับสูญไปด้วย เพราะกษัตริย์พม่าสมัยหลังเสื่อมความสามารถ และมักแย่งชิงอำนาจซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้แว่นแคว้นต่าง ๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้น ตั้งตัวเป็นอิสระได้อีก ในระหว่างนี้ พวกไทยจากน่านเจ้า ได้อพยพเข้ามาอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมากขึ้น
เมื่อพม่าเสื่อมอำนาจลง คนไทยเหล่านี้ก็เริ่มจัดการปกครองกันเองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝ่ายขอมนั้นเมื่อเห็นพม่าทอดทิ้งแดนละว้าเสียแล้ว ก็หวลกลับมาจัดการปกครองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกวาระหนึ่ง โดยอ้างสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของเดิม อย่างไรก็ตามอำนาจของขอมในเวลานั้นก็ซวดเซลงมากแล้ว แต่เนื่องจากชาวไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ยังไม่มีอำนาจเต็มที่ ขอมจึงบังคับให้ชาวไทยส่งส่วยให้ขอม พวกคนไทยที่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ ไม่กล้าขัดขืน ยอมส่งส่วยให้แก่ขอมโดยดี จึงทำให้ขอมได้ใจ และเริ่มขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ ในการนี้เข้าใจว่าบางครั้งอาจต้องใช้กำลังกองทัพเข้าปราบปราม บรรดาเมืองที่ขัดขืนไม่ยอมส่งส่วย ขอมจึงสามารถแผ่อำนาจขึ้นไปจนถึงแคว้นโยนก
ส่วนแคว้นโยนกนั้น ถือตนว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของขอมมาก่อน จึงไม่ยอมส่งส่วยให้ตามที่ขอมบังคับ ขอมจึงใช้กำลังเข้าปราบปรามนครโยนกได้สำเร็จ พระเจ้าพังคราช กษัตริย์แห่งโยนกลำดับที่ ๔๓ ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองเวียงสีทอง
แคว้นโยนกเชียงแสน (พ.ศ. ๑๖๖๑ - ๑๗๓๑)
ดังได้ทราบแล้วว่าโอรสของพระเจ้า พีล่อโก๊ะ องค์หนึ่ง ชื่อพระเจ้าสิงหนวัติ ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นทางใต้ ชื่อเมืองโยนกนาคนคร เมืองดังกล่าวนี้อยู่ในเขตละว้า หรือในแคว้นโยนก เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๑๑๑ เป็นเมืองที่สง่างามของย่านนั้น ในเวลาต่อมาก็ได้รวบรวมเมืองที่อ่อนน้อมตั้งขึ้นเป็นแคว้น ชื่อโยนกเชียงแสน มีอาณาเขตทางทิศเหนือตลอดสิบสองปันนา ทางใต้จดแคว้นหริภุญชัย มีกษัตริย์สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมา จนถึงสมัยพระเจ้าพังคราชจึงได้เสียทีแก่ขอมดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าพังคราชตกอับอยู่ไม่นานนัก ก็กลับเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง ด้วยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์น้อย คือ พระเจ้าพรหม ซึ่งมีอุปนิสัยเป็นนักรบ และมีความกล้าหาญ ได้สร้างสมกำลังผู้คน ฝึกหัดทหารจนชำนิชำนาญ แล้วคิดต่อสู้กับขอม ไม่ยอมส่งส่วยให้ขอม เมื่อขอมยกกองทัพมาปราบปราม ก็ตีกองทัพขอมแตกพ่ายกลับไป และยังได้แผ่อาณาเขตเลยเข้ามาในดินแดนขอม ได้ถึงเมืองเชลียง และตลอดถึงลานนา ลานช้าง แล้วอัญเชิญพระราชบิดา กลับไปครองโยนกนาคนครเดิม แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่าชัยบุรี ส่วนพระองค์เองนั้นลงมาสร้างเมืองใหม่ทางใต้ชื่อเมืองชัยปราการ ให้พระเชษฐา คือ เจ้าทุกขิตราช ดำรงตำแหน่งอุปราช นอกจากนั้นก็สร้างเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองชัยนารายณ์ นครพางคำ ให้เจ้านายองค์อื่น ๆ ปกครอง
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพังคราช พระเจ้าทุกขิตราช ก็ได้ขึ้นครองเมืองชัยบุรี ส่วนพระเจ้าพรหม และโอรสของพระองค์ก็ได้ครองเมืองชัยปราการต่อมา ในสมัยนั้นขอมกำลังเสื่อมอำนาจ จึงมิได้ยกกำลังมาปราบปราม ฝ่ายไทยนั้น แม้กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ก็คงยังไม่มีกำลังมากพอที่จะแผ่ขยาย อาณาเขตลงมาทางใต้อีกได้ ดังนั้นอาณาเขตของไทยและขอมจึงประชิดกันเฉยอยู่
เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้าพรหม กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาอ่อนแอและหย่อนความสามารถ ซึ่งมิใช่แต่ที่นครชัยปราการเท่านั้น ความเสื่อมได้เป็นไปอย่างทั่วถึงกันยังนครอื่น ๆ เช่น ชัยบุรี ชัยนารายณ์ และนครพางคำ
ดังนั้นในปี พ.ศ. ๑๗๓๑ เมื่อมอญกรีฑาทัพใหญ่มารุกรานอาณาจักรขอมได้ชัยชนะแล้ว ก็ล่วงเลยเข้ามารุกรานอาณาจักรไทยเชียงแสน ขณะนั้นโอรสของพระเจ้าพรหม คือ พระเจ้าชัยศิริ ปกครองเมืองชัยปราการ ไม่สามารถต้านทานศึกมอญได้ จึงจำเป็นต้องเผาเมือง เพื่อมิให้พวกข้าศึกเข้าอาศัย แล้วพากันอพยพลงมาทางใต้ของดินแดนสุวรรณภูมิ จนกระทั่งมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่งในแขวงเมืองกำแพงเพชร ชื่อเมืองแปป ได้อาศัยอยู่ที่เมืองแปปอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง เห็นว่าชัยภูมิไม่สู้เหมาะ เพราะอยู่ใกล้ขอม จึงได้อพยพลงมาทางใต้จนถึงเมืองนครปฐมจึงได้พักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น
ส่วนกองทัพมอญ หลังจากรุกรานเมืองชัยปราการแล้ว ก็ได้ยกล่วงเลยตลอดไปถึงเมืองอื่น ๆ ในแคว้นโยนกเชียงแสน จึงทำให้พระญาติของพระเจ้าชัยศิริ ซึ่งครองเมืองชัยบุรี ต้องอพยพหลบหนีข้าศึกเช่นกัน ปรากฎว่าเมืองชัยบุรีนั้นเกิดน้ำท่วม บรรดาเมืองในแคว้นโยนกต่างก็ถูกทำลายลงหมดแล้ว พวกมอญเห็นว่าหากเข้าไปตั้งอยู่ก็อาจเสียแรง เสียเวลา และทรัพย์สินเงินทองเพื่อที่จะสถาปนาขึ้นมาใหม่ ดังนั้นพวกมอญจึงยกกองทัพกลับ เป็นเหตุให้แว่นแคว้นนี้ว่างเปล่า ขาดผู้ปกครองอยู่ห้วงระยะเวลาหนึ่ง
ในระหว่างที่ฝ่ายไทย กำลังระส่ำระสายอยู่นี้ เป็นโอกาสให้ขอมซึ่งมีราชธานีอุปราชอยู่ที่เมืองละโว้ ถือสิทธิ์เข้าครองแคว้นโยนก แล้วบังคับให้คนไทยที่ตกค้างอยู่นั้นให้ส่งส่วยให้แก่ขอม
ความพินาศของแคว้นโยนกครั้งนี้ ทำให้ชาวไทยต้องอพยพแยกย้ายกันลงมาเป็นสองสายคือ สายของพระเจ้าชัยศิริ อพยพลงมาทางใต้ และได้อาศัยอยู่ชั่วคราวที่เมืองแปปดังกล่าวแล้ว
ส่วนสายพวกชัยบุรีได้แยกออกไปทางตะวันออกของสุโขทัย จนมาถึงเมืองนครไทยจึงได้เข้าไปตั้งอยู่ ณ เมืองนั้นด้วยเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิเหมาะสม เพราะเป็นเมืองใหญ่ และตั้งอยู่สุดเขตของขอมทางเหนือ ผู้คนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย อย่างไรก็ตามในชั้นแรกที่เข้ามาตั้งอยู่นั้น ก็คงต้องยอมขึ้นอยู่กับขอม ซึ่งขณะนั้นยังมีอำนาจอยู่
ในเวลาต่อมา เมื่อคนไทยอพยพลงมาจากน่านเจ้าเป็นจำนวนมาก ทำให้นครไทยมีกำลังผู้คนมากขึ้น ข้างฝ่ายอาณาจักรลานนาหรือโยนกนั้น เมื่อพระเจ้าชัยศิริทิ้งเมืองลงมาทางใต้ แล้วก็เป็นเหตุให้ดินแดนแถบนั้นว่างผู้ปกครองอยู่ระยะหนึ่ง
แต่ในระยะต่อมาชาวไทยที่ค้างการอพยพ อยู่ในเขตนั้นก็ได้รวมตัวกัน ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นหลายแห่งตั้งเป็นอิสระแก่กัน บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นที่นับว่าสำคัญ มีอยู่สามเมืองด้วยกัน คือ นครเงินยาง อยู่ทางเหนือ นครพะเยา อยู่ตอนกลาง และเมืองหริภุญไชย อยู่ลงมาทางใต้
ส่วนเมืองนครไทยนั้นด้วยเหตุที่ว่ามีที่ตั้งอยู่ปลายทางการอพยพ และอาศัยที่มีราชวงศ์เชื้อสายโยนกอพยพมาอยู่ที่เมืองนี้ จึงเป็นที่นิยมของชาวไทยมากกว่าพวกอื่น จึงได้รับยกย่องขึ้นเป็นพ่อเมือง ที่ตั้งของเมืองนครไทยนั้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองบางยาง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้น และเจ้าเมืองมีฐานะเป็นพ่อขุน
เมื่อบรรดาชาวไทย เกิดความคิดที่จะสลัดแอก ของขอมครั้งนี้ บุคคลสำคัญในการนี้ก็คือ พ่อขุนบางกลางท่าว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกำลังกันยกขึ้นไปโจมตีขอม จนได้เมืองสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมไว้ได้ เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๐๐ การมีชัยชนะของฝ่ายไทยในครั้งนั้น
นับว่าเป็นนิมิตหมายเบื้องต้น แห่งความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติไทย และเป็นลางร้ายแห่งความเสื่อมโทรมของขอม เพราะนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมา ขอมก็เสื่อมอำนาจลงทุกที จนในที่สุดก็สิ้นอำนาจไปจากดินแดนละว้า แต่ยังคงมีอำนาจปกครองเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนใต้อยู่
ความคิดเห็น