คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : การปกครอง(ตอนที่2)
4. ยุคกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 1981-2437)
ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในยุคนี้แนวความคิดเกี่ยวกับกษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งพวกเขมรเป็นผู้นำมาโดยถือว่ากษัตริย์เป็นผู้ได้รับอำนาจจากสวรรค์ หรือเป็นพระเจ้าบนมนุษย์โลก ลักษณะการปกครองจึงเป็นแบบนายปกครองบ่าว หรือเจ้าปกครองข้า
ในสมัยพระบรมรามาธิบดีที่ 1 ทรงวางระบบการปกครองส่วนกลางแบบ “จตุสดมภ์” ตามแบบของขอม มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี 4 คน คือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา เป็นผู้ช่วยดำเนินการมีหน้าที่ดังนี้...
1. เมือง รับผิดชอบด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามโจรผู้ร้าย
2. วัง มีหน้าที่เกี่ยวกับราชสำนักและตัดสินคดีความต่าง ๆ
3. คลัง มีหน้าที่เกี่ยวกับด้านคลัง การค่าและภาษีอากรประเภทต่าง ๆ
4. นา มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านการเกษตร
สำหรับการปกครองส่วนภูมิภาคหรือหัวเมืองต่าง ๆ ในระยะแรกพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเลียนแบบการปกครองของสุโขทัย คือ มีหัวเมืองชันใน ชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช แต่ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทำการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ให้มีลักษณะการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง คือ เมืองหลวงมากขึ้น โดยขยายอาณาเขตให้หัวเมืองชั้นในกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม หัวเมืองชั้นนอกกำหนดเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามลำดับตามขนาดและความสำคัญของเมือง โดยทางส่วนกลางจะส่งขุนนาง หรือพระราชวงศ์ไปทำการปกครองแต่สำหรับเมืองประเทศราช ยังปล่อยให้มีอิสระในการปกครองเช่นเดิม นอกจากนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงปรับปรุงระบบบริหารขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบด้านพลเรือน บริหารกิจการเกี่ยวกับเมือง วัง คลัง และนา และมีสมุหกลาโหมรับผิดขอบด้านการทหารและการป้องกันประเทศ แต่ภายหลังในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ราว พ.ศ. 2234 ทั้งสมุหนายกและสมุหกลาโหมต้องทำงานทั้งด้านทหารและพลเรือนพร้อมกัน โดยสมุหกลาโหมปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารในหัวเมืองด้านใต้ และสมุหนายก ปกครองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารในหัวเมืองด้านเหนือ
ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเป็นต้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 1981-2437) ฐานะของเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรสุโขทัย เดิมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดและความสำคัญของเมือง คือ
1. หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองสองแคว
2. หัวเมืองชั้นโท ได้แก่ เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองชากังราว และเมืองเพชรบูรณ์
3. หัวเมืองชั้นตรี ได้แก่ เมืองพิชัย เมืองสระหลวง (พิจิตร) เมืองพระบาง (นครสวรรค์)
โดยอยุธยาในช่วงแรกนั้นมิได้เป็นศูนย์กลางของชาวไทยในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีนทั้งปวง แต่ด้วยความเข้มแข็งที่ทวีเพิ่มขึ้นประกอบกับวิธีการทางการสร้างความสัมพันธ์กับชาวไทยกลุ่มต่าง ๆ ในที่สุดอยุธยาก็สามารถรวบรวมกลุ่มชาวไทยต่างๆ ในดินแดนแถบนี้ให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจอย่างหลวม ๆ ได้ กระทั่งเมื่อพม่าได้เข้ามารุกรานและสามารถครอบครองอยุธยาได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง อยุธยาจึงได้หล่อหลอมเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง ซึ่งก็ได้สร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับอยุธยาเป็นอย่างมาก แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดอยุธยาก็ไม่สามารถเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของชาวไทยทั้งมวลได้ ทำให้ต้องถูกทำลายลงโดยกองทัพของพม่าอย่างง่ายดายเกินความคาดหมาย
การล่มสลายลงของอาณาจักรอยุธยาทำให้ระบบระเบียบที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารนั้นถูกทำลายลง ความเข้มแข็งของอยุธยาจึงถูกแสดงออกภายหลังจากการล่มสลายลงของตัวมันเอง การประกาศเอกราชจากพม่าในเวลาอันสั้นในขณะที่ฝ่ายพม่าก็มีปัญหาเช่นกันอาจมิใช่ตัวอย่างที่ดีที่จะยกมาอ้างอิง แต่การก่อร่างสร้างอาณาจักรของชาวไทยขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางสภาพความแตกแยกและความพยายามที่จะเข้ามารุกรานจากกลุ่มชาวต่างๆ รายรอบนั้นย่อมแทบที่จะเป็นไปไม่ได้หากอาณาจักรอยุธยามิได้ฟูมฟักความเข้มแข็งนี้ไว้ให้
อาณาจักรใหม่ของชาวไทยยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในอีกรอบหนึ่งระหว่างกลุ่มขุนนางระดับล่างและกลุ่มขุนนางระดับสูงจาก อาณาจักรอยุธยาเดิม ซึ่งในที่สุดกลุ่มขุนนางระดับสูงจากอาณาจักรอยุธยาเดิมก็ได้รับชัยชนะ เนื่องจากเมื่ออาณาจักรเริ่มมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น ความสามารถในเชิงรัฐศาสตร์และการเมืองอันลึกซึ้ง ย่อมทวีความสำคัญมากกว่าความสามารถในการสงครามประการเดียว
ยุคสมัยกรุงธนบุรี
ในปี พ.ศ. 2310-2325 เริ่มต้นหลังจากที่พระเจ้าตากสินมหาราชได้ขับไล่อาณาจักรพม่าออกจากอยุธยา และได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี โดยจัดตั้งการเมืองการปกครอง มีลักษณะการเมืองการปกครองยังคงดำรงไว้ซึ่งการเมืองการปกครองภายในสมัยอยุธยาอยู่ก่อน โดยมีพระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการเมืองการปกครอง
· การปกครองส่วนกลาง
o ฝ่ายทหารมีสมุหกลาโหมดูแล
o ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกดูแล
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งจตุสดมภ์ แบ่งการปกครองออกเป็น 4 ส่วน คือ เวียง วัง คลัง นา
· การปกครองหัวเมืองชั้นใน
o หัวเมืองชั้นใน(เมืองจัตตวา) คือหัวเมืองที่มีขนาดเล็กง่ายต่อการเดินทางไป มีผู้ปกครองเรียกว่า ผู้รั้ง
o หัวเมืองชั้นนอกหรือเมืองพระยามหานคร คือเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานี แบ่งออกเป็นเมืองชั้นเอก ชั้นโท ตรี ตามลำดับความสำคัญ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นเจ้าเมือง โดยได้รับการเเต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์
o หัวเมืองประเทศราช คือ มีเจ้านายปกครองกันเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามเวลาที่กำหนดและต้องส่งกองทัพมาช่วยเมื่อราชธานีเกิดศึกสงคราม ได้เเก่ กัมพูชา ลาว เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช
o
5. ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในยุคการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2437-2476)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยได้ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมทั้งจตุสดมภ์ด้วย ได้จัดระเบียบบริหารราชการออกเป็นกระทรวง ตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นมีทั้งหมด 12 กระทรวง
หลังจากจัดหน่วยบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้วการจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็จัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ในสมัยนั้นการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่ง ที่ส่วนกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ โดยได้แบ่งการปกครองประเทศ เป็นขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับไป คือ เป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองถัดจากมณฑล คือเมือง (สมัยรัชกาลที่ 6 เรียกว่าจังหวัด) มีเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้ปกครองเมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครอง ทั้งสามส่วนนี้ปกครองโดยข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย อำเภอนั้นแบ่งออกเป็นตำบล มีกำนัน ซึ่งเป็นผู้ที่ผู้ใหญ่บ้านเลือกเป็นผู้ปกครองตำบล แบ่งออกเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในหมู่บ้านเป็นผู้ปกครอง
ในปี พ.ศ. 2437 เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น 3 มณฑล คือ มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา มณฑลพิษณุโลก (เมืองที่อยู่ในมณฑลนี้ได้แก่ เมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก) และทรงโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเยขึ้นกับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเดียว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. 2438 ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลขึ้นอีก 2 มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. 2493 ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก 2 มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร
พ.ศ. 2440 ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
พ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก 3 มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2447 ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
พ.ศ. 2449 จัดตั้งมณฑลปัตตานี และมณฑลจันทบุรี (มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด)
พ.ศ. 2450 ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ. 2455 ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด
พ.ศ. 2458 จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ
ข้อเสียของการปกครองในสมัยอยุธยาได้ถูกพยายามกำจัดลงในสมัยรัตนโกสินทร์ การกำหนดตัวบุคคลผู้จะเข้าสู่อำนาจมีความชัดเจนและเด็ดขาด ปัญหาความขัดแย้งเนื่องด้วยการแก่งแย่งอำนาจจึงเบาบางลง อย่างไรก็ตามปัญหาการรุกรานจากชาติตะวันตกกลายเป็นปัญหาใหม่ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งก็ทำให้ฝ่ายปกครองต้องมีสมาธิในการบริหาร การตัดสินใจปรับปรุงพัฒนาประเทศอย่างทันท่วงทีทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ก็ส่งผลให้แนวคิดทางการเมืองการปกครองใหม่ ๆ ได้หลั่งไหลมาสู่ประเทศไทย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เศรษฐกิจของโลกตกต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทยเป็นอันมาก และทำให้เกิดความไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจปกครองซึ่งถูกมองว่ามีการหาประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้องทั้งที่ประชาชนตกอยู่ในสภาวะยากแค้น ในที่สุดจึงเกิดการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า คณะราษฎร ได้ยึดอำนาจการปกครองของประเทศ แล้วเปลี่ยนการปกครองของประเทศเป็นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยหวังว่าจะทำให้ประชาชนสามารถมีปากมีเสียงเข้ามาจัดสรรผลประโยชน์ให้กับตนเองได้อย่างถ้วนหน้า อย่างไรก็ตามระบอบประชาธิปไตยในช่วงแรกนั้นยังไม่เหมาะกับสภาพทางสังคมของไทย ประชาชนไม่สามารถรักษาอำนาจอธิปไตยไว้กับตนได้ อำนาจอธิปไตยจึงถูกดึงให้ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายทหารเป็นเวลาหลายทศวรรษ
หลังจากปัจจัยแวดล้อมด้านต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้น ประชาชนมีความพร้อมต่อการใช้อำนาจอธิปไตยเพิ่มมากขึ้น การเรียกร้องอำนาจอธิปไตยคืนจากฝ่ายทหารก็เกิดขึ้นเป็นระยะ กระทั่งในที่สุด ภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี พ.ศ. 2535 ฝ่ายทหารก็ไม่สามารถถือครองอำนาจอธิปไตยได้อย่างถาวรอีกต่อไป อำนาจอธิปไตยจึงได้เปลี่ยนไปอยู่ในมือของกลุ่มนักการเมือง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลสามกลุ่มหลัก คือ กลุ่มทหารที่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นนักการเมือง กลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล และกลุ่มนักวาทศิลป์ แต่ต่อมาภายหลังจากการสิ้นสุดลงของยุคสงครามเย็น โลกได้เปลี่ยนมาสู่ยุคการแข่งขันกันทางการค้าซึ่งมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก กลุ่มการเมืองที่มาจากกลุ่มทุนนิยมสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทแทน
6. ยุคหลัง พ.ศ. 2475
การปรับปรุงระเบียบการปกครองหัวเมืองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบบประชาธิปไตยนั้นปรากฏตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริการ เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนอกจากจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังแบ่งเขตการปกครองออกเป็นมณฑลด้วย เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย เหตุที่ยกเลิกเนื่องจาก
1. การคมนาคม สื่อสาร สะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน สามารถที่จะสั่งการตรวจตราสอดส่องได้ทั่วถึง
2. เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศให้น้อยลง
3. เห็นว่าหน่วยมณฑลซ้อนกับหน่วยจังหวัด จังหวัดรายงานกิจการต่อมณฑล มณฑลรายงานต่อกระทรวงเป็นการชักช้าโดยไม่จำเป็น
4. รัฐบาลในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ มีนโยบายที่จะให้อำนาจแก่ส่วนภูมิภาคยิ่งขั้น และการที่ยุบมณฑลก็เพื่อให้จังหวัดมีอำนาจนั่นเอง
5. ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกฉบับหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด มีหลักการเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้
5.1 จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลแต่จังหวัดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 หามีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่
5.2 อำนาจบริหารในจังหวัดซึ่งแต่เดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล ได้แก่ คณะกรมการจังหวัดนั้น ได้เปลี่ยนแปลงมใอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด
5.3 ในฐานะของกรมการจังหวัด ซึ่งเดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ
กล่าวโดยสรุปการปกครองส่วนภูมิภาค อาศัยกฎหมาย 2 ฉบับ เป็นแม่บท คือพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 และประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2519 ซึ่งกำหนดรูปแบบของหน่วยบริหารขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารในระดับต่าง ๆ
7. ยุคปัจจุบัน
ได้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ได้จัดระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
2. พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ได้กำหนดให้รูปแบบการปกครองตำบลเป็นนิติบุคคล มีผู้แทนประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ ประกอบเป็นสภาตำบล ทำหน้าที่บริหารงานของตำบล ส่วนตำบลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดได้ยกฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรียกว่า องค์การบริหารส่วนตำบล มีฐานะเป็นนิติบุคคล จากผลของกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้จังหวัดสุโขทัยมีองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 77 แห่ง โดยได้จัดตั้งดังนี้
1. ปี พ.ศ. 2538 จำนวน 1 แห่ง
2. ปี พ.ศ. 2539 จำนวน 45 แห่ง
3. ปี พ.ศ. 2540 จำนวน 31 แห่ง
4. ปี พ.ศ. 2541 มีสภาตำบลจำนวน 6 แห่ง
3. พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ได้ปรับปรุงรูปแบบการบริหาร โดยให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้ง
http://www.sukhothai.go.th/history/hist_04.htm
ความคิดเห็น