ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~Thailand HisTory~ภาคสุโขทัย

    ลำดับตอนที่ #19 : ไตรภูมิพระร่วง ของ พระญาลิไทย 1

    • อัปเดตล่าสุด 9 ก.ย. 51




     

    ไตรภูมิพระร่วง ของ พระญาลิไทย

    ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๖

    เตภูมิกกถา

    บานแพนก

            หนังสือไตรภูมิฉบับนี้ ว่าเป็นของพระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัย ผู้ทรงพระนามว่าพระญาลิไทยได้แต่งขึ้นไว้เมื่อปีระกา ศักราชได้ ๒๓ ปี ต้นฉบับหอสมุดวชิรญาณได้มาจากเมืองเพชรบุรี เป็นหนังสือ ๑๐ ผูก บอกไว้ข้างท้ายว่า พระมหาช่วย วัดปากน้ำ ชื่อวัดกลาง (คือวัดกลางเมืองสมุทรปราการเดี๋ยวนี้) จารขึ้นไว้ในรัชกาลเจ้าเมืองกรุงธนบุรีเมื่อ ณ เดือนสี่ ปีจอสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๔๐

            เมื่ออ่านตรวจดู เห็นได้ว่า หนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือเก่ามาก มีศัพท์เก่า ๆ ที่ไม่เข้าใจและที่เป็นศัพท์ อันเคยพบแต่ในศิลาจารึกครั้งสุโขทัยหลายศัพท์ น่าเชื่อว่าหนังสือไตรภูมินี้ ฉบับเดิมจะได้แต่งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจริง แต่คัดลอกสืบกันมาหลายชั้นหลายต่อ จนวิปลาสคลาดเคลื่อน หรือบางทีจะได้มีผู้ดัดแปลงสำนวนและแทรกเติม ข้อความเข้าเมื่อครั้งกรุงเก่าบ้าง ก็อาจจะเป็นได้ ถึงกระนั้นโวหารหนังสือเรื่องนี้ยังเห็นได้ว่าเก่ากว่าหนังสือเรื่องใดใดในภาษาไทย นอกจากศิลาจารึกที่ได้เคยพบมา จึงนับว่าเป็นหนังสือเรื่องดีด้วยอายุประการ ๑

            ว่าถึงผู้แต่งหนังสือไตรภูมินี้ พระเจ้าแผ่นดินสยามที่ได้ครอบครองราชสมบัติครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ตามที่สอบในศิลาจารึกประกอบกับหนังสืออื่น ๆ ได้ความว่า มี ๖ พระองค์ คือ

            ๑.ขุนอินทราทิตย์ หนังสือตำนานพระสิหิงค์เรียกว่า พระเจ้าไสยณรงค์ หนังสือชินกาลมาลินีเรียกว่า โรจนราชา เสวยราชย์เมื่อใดอยู่ในราชสมบัติเท่าใดไม่ปรากฎ         ๒. ขุนบาลเมือง หนังสืออื่นเรียก ปาลราช เป็นราชบุตรของขุนอินทราทิตย์ ศักราชไม่ปรากฎเหมือนกัน         ๓. ขุนรามคำแหง หนังสืออื่นเรียก รามราช เป็นราชบุตรขุนอินทราทิตย์ เสวยราชย์เมื่อไรไม่ปรากฎ แต่เมื่อจุลศักราช ๖๕๔ ขุนรามคำแหง ครองราชสมบัติอยู่

            ๔. พระญาเลลิไทย หรือ เลือไทย หนังสืออื่นเรียก อุทโกสิตราชบ้าง อุทกัช์โฌต์ถตราชบ้าง ความหมายว่าพระยาจมน้ำ เห็นจะเป็นพระร่วงองค์ที่ว่าจมน้ำหายไปในแก่งหลวง เป็นราชบุตรขุนรามคำแหง ศักราชเท่าใดไม่ปรากฎ

            ๕. พระญาลิไทย หรือ ฤไทยราช หรือ ฤๅไทยไชยเชฐ พระนามเต็มที่ถวายเมื่อราชาภิเษกว่า ศรีสุริยพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งแต่งหนังสือไตรภูมินี้ เป็นราชบุตรพระญาเลลิไทย หนังสืออื่นเรียก ลิไทยราช เมื่อจุลศักราช ๖๗๙ เสวยราชย์อยู่สิ้นพระชมน์เมื่อจุลศักราช ๗๐๙

            ๖. พระเจ้าศรีสุริยพงษ์รามมาธรรมิกราชาธิราช นอกจากศิลาจารึก หนังสืออื่นไม่ได้กล่าวถึง เป็นราชบุตรพระญาลิไทย เสวยราชย์เมื่อจุลศักราช ๗๐๙ อยู่จนเสียพระนครแก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชกรุงศรีอยุธยา เมื่อจุลศักราช ๗๓๐

            บรรดาพระเจ้ากรุงสุโขทัย ดูเหมือนจะปรากฎพระนามในนานาประเทศ แลข้าขัณฑสีมาเรียกว่า สมเด็จพระร่วงเจ้า ต่อ ๆ กันมาทุกพระองค์ ไม่เรียกแต่เฉพาะพระองค์หนึ่งพระองค์ใดใน ๖ พระองค์นี้ และมูลเหตุไม่น่าเชื่อว่าเกี่ยวแก่เรื่องนายร่วง นายคงเครา อะไรอย่างที่เพ้อในหนังสือพงศาวดารเหนือซึ่งคนภายหลังอธิบาย เมื่อยังอ่านอักษรจารึกศิลาไม่ออก เพราะฉะนั้นเมื่อพิมพ์หนังสือนี้ จึงให้เรียกว่าไตรภูมิพระร่วง จะได้เป็นคู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง ซึ่งคนภายหลังได้แต่งเป็นสำนวนใหม่เสียแล้ว

            ในศิลาจารึก ปรากฎว่าพระญาลิไทยอยู่ในราชสมบัติกว่า ๓๐ ปี และทรงเลื่อมใสในพระศาสนามาก อาจจะให้แต่งหนังสือเช่นเรื่องไตรภูมินี้ได้ด้วยประการทั้งปวง แต่ศักราชที่ลงไว้ในหนังสือ ว่าแต่งเมื่อปีระกา ศักราชได้ ๒๓ ปีนั้น จุลศักราช ๒๓ เป็นปีระกาจริง แต่เวลาช้านานก่อนรัชกาลพระญาลิไทยมากนัก จะเป็นจุลศักราชไม่ได้ เดิมเข้าใจว่าจะเป็นพุทธศักราชหรือมหาศักราช แต่ถ้าหากผู้คัดลอกทีหลังจะตกตัวเลขหน้าหรือเลขหลังไปสองตัว ลองเติม ลองสอบดูหลายสถาน ก็ไม่สามารถจะหันเข้าให้ตรง หรือแม้แต่เพียงจะให้ใกล้กับศักราชรัชกาลชองพระญาลิไทย ตามที่รู้ชัดแล้วในศิลาจารึกได้ ศักราช ๒๓ นี้จะเป็นศักราชอะไร ต้องทิ้งไว้ให้ท่านผู้อ่านสอบหาความจริงต่อไป

            เรื่องไตรภูมิ เป็นเรื่องที่นับถือกันแพร่หลายมาแต่โบราณ ถึงคิดขึ้นเป็นรูปภาพเขียนไว้ตามฝาผนังวัด และเขียนจำลองลงไว้ในสมุด มีมาแต่ครั้งกรุงเก่ายังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ แต่ที่เป็นเรื่องหนังสือในครั้งกรุงเก่า จะมีฉบับอื่นนอกออกไปจากไตรภูมิพระร่วงฉบับนี้หรือไม่มี ไม่ทราบแน่ ด้วยยังไม่ได้พบหนังสือไตรภูมิครั้งกรุงเก่า นอกจากที่เขียนเป็นรูปภาพไว้ในสมุด แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๔๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชาคณะและราชบัณฑิตช่วยกันแต่งนังสือไตรภูมิขึ้นจบ ๑ ต่อมาอีก ๑๙ ปี เมื่อปีจอจุลศักราช ๑๑๖๔ ทรงพระราชดำริว่า หนังสือไตรภูมิที่ได้แต่งไว้แล้วคารมไม่เสมอกัน ทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาธรรมปรีชาแต่งใม่อีกครั้ง ๑ แต่ในบานแพนกพระราชดำริเรื่องแต่งหนังสือไตรภูมิทั้ง ๒ ฉบับนั้น ไม่ได้กล่าวให้ปรากฎว่ามีหนังสือไตรภูมิของพระญาลิไทยเลย แม้เพียงแต่จะว่าไตรภูมิของเก่าเลอะเทอะวิปลาส จึงให้แต่งใหม่ก็ไม่มี ไตรภูมิฉบับซึ่งหอพระสมุดได้มาจากเมืองเพชรบุรีนี้ ก็เป็นหนังสือจารแต่ครั้งกรุงธนบุรี เห็นจะซุกซ่อนอยู่แห่งใดที่เมืองเพชรบุรีในเวลานั้นไม่ปรากฎในกรุงเทพฯ จึงมิได้กล่าวถึงในบานแพนก โดยเข้าใจกันในครั้งนั้นว่า หนังสือไตรภูมิของเดิม จะเป็นฉบับพระญาลิไทยนี้ก็ตาม หรือฉบับอื่นครั้งกรุงเก่าก็ตาม สาบสูญไปเสียแต่เมื่อครั้งเสียกรุงเก่า จึงโปรดให้แต่งขึ้นใหม่ อย่างไรก็ดี หนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้เป็นหนังสือเก่าซึ่งมีต้นฉบับแต่ในหอพระสมุดวชิรญาณจบ ๑ กับมีผู้ได้จำลองไว้ที่เมืองเพชรบุรีอีกจบ ๑ สมควรจะพิมพ์ขึ้นจนไว้ให้แพร่หลายมั่นคงอย่าให้สาบสูญไปเสีย กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณคิดเนดังนี้ เมื่อเจ้าภาพในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประสานศรีใส พระองค์เจ้าประเพศรีสอาด มีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือแจกในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งสองพระองค์นั้ นมาขอความแนะนำกรรมการจึงได้เลือกเรื่องไตรภูมิพระร่วงให้พิมพ์ ด้วยเห็นความสมควรมีอยู่เป็นหลายประการ คือ

    เป็นหนังสือเก่า ยังไม่มีใครจะได้เคยพบเห็น ประการ ๑

    เป็นหนังสือหายาก ถ้าไม่พิมพ์ขึ้นไว้ จะสูญเสียประการ ๑

    เป็นหนังสือชนิดที่ไม่มีใครจะพิมพ์ขาย เพราะจะไม่มีใครซื้อ ควรพิมพ์ได้แต่ในการกุศล ประการ ๑

            ถ้าท่านผู้ใดอ่านหนังสือนี้เกิดความเบื่อหน่าย ขอจงได้คิดเห็นแก่ประโยชน์ที่ได้พรรณนามาแล้ว และอนุโมทนาเฉพาะต่อที่ความเจตนาจะรักษาสมบัติของภาษาไทยมิให้สาบสูญเสียนั้นเป็นข้อสำคัญ

            หนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้ ต้นฉบับเดิมเป็นอักษรขอม และมีวิปลาสมากดังกล่าวมาแล้ว ในการคัดเป็นหนังสือไทย นอกจากตัวอักษรแล้ว ไม่ได้แก้ไขถ้อยคำแห่งหนึ่งแห่งใดให้ผิดจากฉบับเดิมเลย แม้คาถานมัสการเอง ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทย จะต้องแก้ไขของเดิมบ้าง จึงมิได้ให้แปล ทิ้งไว้ทั้งรู้ว่าบางแห่งผู้ลอกคัดเขียนผิดต่อ ๆ กันมาแต่ก่อน ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาดูตามอัตโนมัติแห่งตน ๆ เทอญฯ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×