ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~Thailand HisTory~ภาครัตนโกสินทร์

    ลำดับตอนที่ #3 : บทความเกี่ยวกับเส้นทางในรบพม่าที่ท่าดินแดง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 782
      0
      9 ก.ย. 51

    http://www.sac.or.th/Subdetail/article/2549/October2/article5.html

    เส้นทางทัพทางน้ำจากกรุงเทพฯ-ราชบุรี

    ที่มา : แหล่งข่าวกรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 ตุลาคม 2549
     

    เมื่อไม่นานมานี้ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้บรรยายเรื่อง 'เส้นทางเดินทัพทางน้ำจากกรุงเทพฯ ถึงราชบุรี' อันเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาหัวข้อ 'กลอนเพลงยาวนิราศเรื่อง รบพม่าที่ท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช' จัดโดยศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ รศ.ศรีศักร ถอดรหัสเส้นทางเดินทัพจากนิราศเรื่องดังกล่าวว่าน่าจะเป็นเส้นทางเดินทัพตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มออกจากกรุงเทพฯ เข้าคลองบางหลวง ล่วงถึงคลองด่าน ผ่านสู่คลองมหาชัย จนกระทั่งออกสู่แม่น้ำท่าจีน

    "
    คลองพวกนี้ถือเป็นลำคลองประวัติศาสตร์ที่คนโบราณใช้เดินทางไปกลับกันมานานแล้ว ถ้าดูในสมัยพระเจ้าเสือซึ่งเป็นสมัยอยุธยาตอนปลาย ตอนนั้นยังไม่มีคลองมหาชัย ก็จะออกชายทะเลทางอ่าวแม่กลอง เหตุการณ์ในเรื่องพันท้ายนรสิงห์เลยมีการขุดคลองออกสู่แม่น้ำท่าจีน ให้ชื่อว่าคลองมหาชัย พระเจ้าเสือเสด็จฯ ประพาสเปิดคลองแถวบางตะบูน คลองนี้จะตัดเข้าคลองสุนัขหอน ที่เชื่อมแม่น้ำแม่กลองกับท่าจีน แล้วออกแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี เป็นการเชื่อมทางจากจังหวัดสมุทรสงครามไปราชบุรี" รศ.ศรีศักร กล่าวตอนหนึ่ง กรณีนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดงนั้น รศ.ศรีศักร อธิบายว่าพม่าตั้งที่ประชุมใหญ่ที่เมาะตะมะ และตั้งค่ายใหญ่อีกแห่งบนเนินเขาที่สามประสบ (ยังปรากฏร่องรอยคูน้ำและสระน้ำบนเนินเขานั้น) แล้วจึงเคลื่อนทัพมาตามลำน้ำแควน้อยมาที่ชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่ง แล้วจึงเคลื่อนมาถึงค่ายที่ท่าดินแดง ชุมชนเก่าดังกล่าวเคยมีการสำรวจพบเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัยมากมายก่อนการสร้างเขื่อนเขาแหลม

    "
    จากค่ายท่าดินแดงล่องแม่น้ำแควน้อยมาถึงไทรโยค แล้วแบ่งเป็น 2 สาย เข้าตีอยุธยา สายหนึ่งตัดช่องเขาเข้าลำน้ำแควใหญ่ แล้วเดินทัพเลียบลำน้ำมาจนถึงเขาด่าน เข้าถล่มเมืองกาญจน์ กรมพระราชวังบวรฯ อัดพม่าที่เขาด่านไม่ให้ออกมา โดยใช้วิธีรบแบบกองโจร คนที่ถูกเกณฑ์มารบก็เป็นกะเหรี่ยง มอญ พอรบชนะ รัชกาลที่ 1 ทรงให้รางวัลชาวมอญเป็นเจ้าเมืองเป็นการตอบแทน" ในพระราชนิพนธ์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอีกว่าสมัยนั้นมีการยกย่องพุทธศาสนามาก
    ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งเมืองปากแพรกเป็นเมืองกาญจนบุรี ในความเห็นของ รศ.ศรีศักร จึงมองว่าเมืองกาญจนบุรีแต่เดิมอยู่ที่ลาดหญ้าหรือบริเวณเขาชนไก่

    "
    นิราศให้ความหมายอย่างยิ่งในด้านภูมิศาสตร์สังคม ยังมีนิราศและวรรณคดีอีกมากที่บ่งบอกเรื่องเหล่านี้ อย่างเช่นตำนานไกรทองปราบชาละวันที่พิจิตร นั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องที่พ่อค้าชาวมอญที่ตั้งรกรากในลำน้ำที่มีจระเข้ชุก ได้นำสินค้าลงเรือขึ้นไปขายถึงทางเหนือที่พิจิตร ตำนานจระเข้เลยตามไปกับลำน้ำนั้น" รศ.ศรีศักร กล่าวตอนท้าย
    ก่อนจะเป็นกลอนเพลงยาวนิราศ 'รบพม่าที่ท่าดินแดง'

    รัชกาลที่ 1 สร้างกรุงรัตนโกสินทร์สำเร็จในปีมะเส็ง พ.ศ.2328 ปีนั้นพม่ายกกองทัพใหญ่มาตีสยามในทุกทาง ทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือและทิศตะวันตก แต่ฝ่ายไทยคิดต่อสู้โดยยุทธวิธีให้พม่าทำทางอื่นตามชอบใจเป็นแต่ขัดตาทัพหน่วงไว้ แล้วไประดมตีกองทัพหลวงซึ่งพระเจ้าปะดุงยกมาเองทางด้านเจดีย์สามองค์ทัพเดียว ครั้นทัพหลวงของพม่าพ่ายแพ้ กองทัพพม่าที่ยกมาทางอื่นก็ถอยหนีไปบ้างและถูกตีแตกไปบ้าง พระเจ้าปะดุงจึงเปลี่ยนแผนการรบใหม่โดยยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางเดียว โดยจะทำสงครามเป็นแรมปี พระเจ้าปะดุงให้กะเกณฑ์เสบียงอาหารขนมารวบรวมไว้ที่เมืองเมาะตะมะในฤดูฝน ปีมะเมีย พ.ศ.2329 พอถึงฤดูแล้งก็ให้ประชุมทัพที่เมืองเมาะตะมะ ให้ราชบุตรผู้เป็นพระมหาอุปราชาลงมาเป็นนายทัพที่ 1 มีจำนวนพล 50,000 ยกเข้ามาตั้งในเขตแดนสยามตอนที่ข้ามเขาบรรทัด ให้มาตั้งยุ้งฉางวางเสบียงอาหารรายทาง และต่อเรือสำหรับกองทัพที่จะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ เมื่อตระเตรียมพร้อมแล้วพระเจ้าปะดุงจะยกกองทัพหลวงตามเข้ามา พระมหาอุปราชาจัดกองทัพที่ยกเข้ามาเป็น 3 กอง กองที่ 1 ให้เมียนหวุ่นคุมพล 15,000 มาตั้งที่ตำบลท่าดินแดง กองที่ 2 ให้เมียนเมหวุ่นคุมพล 15,000 มาตั้งที่ตำบลสามสบ กองที่ 3 พระมหาอุปราชาคุมมาเอง จำนวนพล 20,000 มาตั้งอยู่ที่ริมลำน้ำแม่กษัตริย์ใกล้กับด่านเจดีย์สามองค์ เพราะกองทัพพระมหาอุปราชาที่ยกเข้ามาจะต้องทำการอยู่ในแดนข้าศึกนานวัน เกรงว่าไทยจะยกไปตี จึงตั้งค่ายอย่างมั่นคงหลายค่าย แล้วสร้างสะพานข้ามห้วยธารและทำทางที่จะไปมาถึงกันได้โดยสะดวกทุกๆ ค่าย ฝ่ายไทยครั้นทราบว่าพม่ายกกองทัพเข้ามาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่ปลายน้ำไทรโยคก็คาดความคิดพม่าถูก จึงตกลงว่าจะต้องชิงไปตีพม่าเสียให้แตกแต่ที่นั่น อย่าให้ตั้งทำการอยู่ได้ การสงครามจึงจะเบาแรง กองทัพไทยที่ยกไปครั้งนั้นจำนวนพล 40,000 รัชกาลที่ 1 กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปทรงบัญชาการศึกเองทั้ง 2 พระองค์ เสด็จโดยกระบวนเรือจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงเมืองไทรโยค แล้วยกเป็นกองทัพบกต่อไป รัชกาลที่ 1 เสด็จไปตีค่ายพม่าที่ท่าดินแดง กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปตีค่ายพม่าที่ตำบลสามสบ เข้าตีค่ายพม่าพร้อมกันทั้ง 2 ทัพ เมื่อวันพุธเดือน 4 ขึ้น 5 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.2329 รบกันอยู่ 3 วัน ถึงวันขึ้น 7 ค่ำ เพลาบ่าย ไทยแหกค่ายพม่าเข้าไปได้ พม่าต่อสู้อยู่จนพลบค่ำก็พากันทิ้งค่ายแตกหนี กองทัพไทยไล่ติดตามไปถึงค่ายพระมหาอุปราชาที่ตำบลแม่กษัตริย์ พระมหาอุปราชารู้ว่ากองทัพหน้าแตกแล้วก็รีบหนี มิได้รอต่อสู้ พงศาวดารพม่าว่าครั้งนี้กองทัพพม่าแตกยับเยิน

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×