ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ห้องบอกเรื่อง(ไร้)สาระของนายหูเหมียวเอง

    ลำดับตอนที่ #1 : ตำนานวรรณกรรมอินเดีย และการเกิดโลกตามความเชื่อจ้า

    • อัปเดตล่าสุด 16 ก.ย. 54


    ขอเปิดหัวเรื่องแรด้วยเรื่องนี้เลยนะครับ
    เพราะว่าผมทำรายงานเรื่องนี้ แล้วพอดีว่ามันต้องใช้สอบกัน T^T

    ยังไงก็สามารถอ่านได้เลยนะครับ
    อ๊อ แล้วถ้าจะศึกษาเพิ่ม ไปดูที่เครดิสนะครับ ผมลิสต์ไว้ด้วย

    แล้วถ้าจะขอดึงเรื่องจากตรงนี้ก็อย่าลืมเครดิตมาละกันนะ

    ====================================================================================

    กำเนิดวรรณกรรมอินเดีย

    กำเนิดวรรณกรรมอินเดียนั้นมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูเป็นอย่างมาก เห็นได้จากที่วรรณคดีต่างๆ ของอินเดียนั้นอย่างเช่น รามายณะ (รามเกียร์ติ) หรือมหาภารตะนั้นต่างก็แสดงมุมมองทางศาสนาฮินดูเอาไว้ด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าที่มาของวรรณกรรมหรือเทพนิยายอินเดียนั้นมาจากคัมภีร์พระเวท

    ก่อนที่จะมีการค้นพบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เชื่อกันว่าคัมภีร์พระเวทเป็นบันทึกเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เรามีเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดีย และได้มีการโต้แย้งในเรื่องของการแบ่งลำดับเวลาของยุคพระเวท นักศึกษาในยุโรปมักจะกำหนดระยะเวลาให้อยู่ในสมัยหลังๆ ส่วนนักศึกษาอินเดียให้อยู่ในสมัยต้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดที่ชาวอินเดียปราถนาอยากจะกลับไปสู่ยุคโบราณให้ไกลที่สุด ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความสำคัญของวัฒนธรรมของตน โดยศาสตราจารย์วินเทอร์นิตซ์ (Winternitz) คิดว่า วรรณคดีพระเวทเริ่มตั้งแต่ ๒,๐๐๐ หรือ ๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใกล้กับยุคโมหันโช-ทโฑ มาก

    ปัจจุบันนี้นักศึกษาทั่วไปลงความเห็นว่าบทสวดของคัมภีร์ฤคเวทมีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่นับจากที่มีการขุดค้นที่ตำบลโมหันโช-ทโฑ ก็ได้เกิดแนวโน้มที่จะให้ระยะเวลานี้ย้อนกลับหลังขึ้นไปอีก น่าจะเป็นได้ว่าวรรณคดีแห่งคัมภีร์คฤเวทเกิดขึ้นก่อนวรรณคดีทั้งของกรีซและอิสราเอล ความจริงแล้ววรรณคดีพระเวทเป็นหลักฐานตัวอย่างแรกเริ่มที่สุดแห่งความนึกคิดของมนุษย์ที่เรามี แมกซ์มิลเลอร์เรียกวรรณคดีนี้ว่า “เป็นวาทะที่มนุษยชาติอารยันพูดออกมาเป็นคำแรก”

    มีการคาดการณ์จากนักโบราณคดีและนักศึกษาว่า คัมภีร์พระเวทเป็นคำระบายความในใจที่ชาวอารยันกล่าวขานออกมาในขณะที่พวกเขาหลั่งไหลอพยพมายังอินเดีย เขานำความคิดของเขาจากเหล่ากอร่วมกันของมนุษย์ซึ่งเกิดเป็นคัมภีร์ อเวสฺต ของอิหร่าน และได้เพิ่มเติมขยายความคิดเหล่านี้ถึงดินแดนอินเดีย แม้ว่าภาษาของคัมภีร์พระเวทจะมีความคล้ายคลึงกับภาษาในคัมภีร์ อเวสฺต เป็นอย่างมาก จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า คัมภีร์ อเวสฺต ใกล้เคียงกับคัมภีร์พระเวทมากกว่าคัมภีร์พระเวทที่ใกล้เคียงกับภาษาสันสกฤตแห่งยุคมหากาพย์ อันเป็นลูกหลานของภาษาในคัมภีร์พระเวทนั่นเอง

    (ยวาหระลาล เนห์รู (แปลโดย กรุณา กุศลาสัย). พบถิ่นอินเดีย พิมพ์ครั้งที่ 3 กทม. บริษัทเคล็ดไทยจำกัด)

    ตามตำนานของอินเดียกล่าวไว้ว่า ขณะที่ฤาษีวาลมิกิเดินทางผ่านแม่น้ำตมสา เผอิญเห็นนายพรานยิงนกกระเรียนตัวผู้ซึ่งกำลังอยู่กับคู่ของตนตกลงมาตาย นางนกกระเรียนได้บินวนเวียนอยู่ด้วยความเสียใจ เพราะตามธรรมชาตินั้น นกกระเรียนจะยึดมั่นในคู่ของมัน เมื่อคู่ของมันตาย อีกตัวก็จะอยู่เฝ้าจนตายตมไปด้วย ฤาษีรู้สึกสลดใจจึงผลั้งปากสาปแช่งนายพรานว่า

                    มา                           นิษาท ปรฺดิษฐํ ตฺวมฺ

    อตมา                                      ศาศฺวดี : สมา :

    ยตุ                                           เกราญจมิถุนาทฺ เอกมฺ

    อวธิ:                                       กามโมหิตมฺ

    แปลได้ว่า “มานิษาท พรานเอ๋ย เจ้าอย่าได้ถึงซึ่งความมั่นคงแล้วเป็นเวลานานปี เพราะเจ้าได้พรากนกกระเรียนตัวหนึ่ง ซึ่งหลงเพลินในกาม”

    แต่ต่อมาฤาษีก็โศกเศร้าเพราะตัวของฤาษีเป็นผู้ทรงศีล ไม่ควรยุ่งเกี่ยงกับเรื่องของนายพรานคนนั้น ต่อมาเมื่อฤาษีได้เล่าถวายพระพรหม พระพรหมตรัสปลอบว่า คำสาปนั้นตรงกับคำสรรเสริญพระนารายณ์ในฐานะผู้ปราบยักษ์ว่า “มานิษาท ข้าแต่พระองค์อันเป็นที่ประทับแห่งพระลักษมี พระองค์ได้ทรงถึงซึ่งความมั่นคงแล้วเป็นเวลาหลายปี เพราะได้พรากคู่ยักษ์ตนหนึ่งซึ่งหลงเพลินในกาม” ท่านจึงควรกระทำถ้อยคำที่กล่าวไปนั้นให้เป็นบทสรรเสริญเสียให้สำเร็จ

    ถ้อยคำของฤาษีวาลมิกินั้นเรียกว่า โศลก เพราะเป็นถ้อยคำที่แสดงความเศร้าโศก และโศลกบทนี้ก็เป็นบทแรกของวรรณกรรมรามายณะ ที่ฤาษีวาลมิกิรจนาต่อจนจบเรื่อง รวมทั้งสิ้น ๒๔,๐๐๐ บท และกล่าวได้ว่า นี่คือกำเนิดของวรรณกรรมสันสกฤต

    (ชวน เพชรแก้ว (2554). การศึกษาวรรณคดีไทย (พิมพ์ครั้งที่ 3).กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์)

    นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น  ยังมีกำเนิดของละครฮินดูปรากฏอยู่ในตำนานว่า เนื่องจากทวยเทพใคร่จะได้ทัศนามหามหรสพอันหนึ่งอันใดที่สามารถให้ความบันเทิงอย่างสูงสุด จึงพากันไปร่ำร้องต่อพระอินทร์ ขอให้ไปวอนพระพรหมใสร้างสรรค์การละเล่นชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็น มหามหรสพมหรสพเนตร พระอินทร์จึงเสด็จไปหาพระพรหม พระพรหมได้เข้าสู่ญาณ จากญาณนั้นก็บังเกิดนาฎยเวท (พระเวทแห่งละคร) ซึ่งนับเป็นพระเวทที่ห้าต่อจากอาถรรพเวท โดยที่นาฎยเวทเกิดจากการผสานกันของคุณลักษณะของคัมภีร์ของพระเวททั้งสี่ คือการฟ้อนรำจากฤคเวท เพลงจากสามเวท การเลียนอากัปกิริยาจากยชุรเวท และความร้อนแรงแห่งอารมณ์ จากอาถรรพ์เวทแล้วพระพรหมจึงบัญชาให้พระวิศวกรรมเป็นแม่กองช่าง สร้างเวทีขึ้นภายในแดนของพระอินทร์ และให้พระภรตเป็นผู้จัดการตลอดทั้งการควบคุมการแสดงด้วย การแสดงครั้งนี้จึงถือเป็นต้นกำเนิดวรรณคดีสันสกฤตอีกด้วย

     (วิทย์ ศิวะศริยานนท์ (2530).วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 2.กรุงเทพฯ : อมรินทร์ บริษัทพริ้นติ้งกรุ๊ป จำกัด)

    (ผศ.สันทนี บุญโนทก (2551).วรรณกรรมศึกษา กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือมหาลัยราชภัฏสวนดุสิต)

     

     

    ตำนานความเชื่อของอินเดีย

    ตำนานการสร้างโลกตามความเชื่อของชาวอินเดียนั้น ในคัมภีร์ “ปัทมปุราณะ” (หนึ่งในสิบแปดคัมภีร์ปุณาณะของฮินดูที่เชื่อว่าฤาษีวยาศ หรือ กฤษณไทวปายณ เป็นผู้แต่ง มีความยาว ๒๕,๐๐๐ โศลก) ได้กล่าวว่า เดินทีมีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวคือพระพรหม ที่เรียกว่า พระอาตมภู (พระผู้เกิดเอง) พระพรหมสร้างโลกโดยการสร้างน้ำขึ้นก่อนแล้วหว่านเชื้อพันธ์ของพระองค์ลงไปในน้ำนั้น เกิดเป็นไข่ทองคำ แล้วพระองค์ก็เข้าไปประทับอยู่ หลังจากนั้นอีก ๑ ปี ไข่ใบนั้นก็ออกมาเป็นพระพรหมมหาปิตามหา ผู้สร้างโลก เหตุที่มีการกำเนิดในไข่ทอง พระพรหมจึงได้ชื่อว่า “พระหิรันยครรภ” อีกด้วย

    พระพรหมถูกแบ่งออกเป็ยสามภาคหรือที่เรียกว่า “ตรีมูรติ” ซึ่งประกอบด้วย พระผู้สร้าง พระผู้บริหาร และพระผู้ทำลาย คือพระพรหม พระวิษณุ(พระนารายณ์) และพระศิวะนั่นเอง

    ตำนานฮินดูแบ่งเวลาออกเป็น ๔ ยุค คือ

    ๑.“กฤตะยุค” ซึ่งยาวนาน ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์ หรือ ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีโลกมนุษย์

    ๒.“ไตรคายุค” ยาวนาน ๓,๖๐๐ ปีสวรรค์ หรือ ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปีโลกมนุษย์

    ๓.”ทวาบรยุค” ยาวนาน ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์ หรือ ๘๖๔,๐๐๐ ปีโลกมนุษย์

    ๔.”กลียุค” ยาวนาน ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์ หรือ ๔๓๒,๐๐๐ ปีโลกมนุษย์

    โดยแบ่ง ๓๖๐ ปีโลกมนุษย์ เป็น ๑ ปีโลกสวรรค์ และ ๔ ยุครวมกันเป็น ๑ มหายุค ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปีโลกมนุษย์ ๑,๐๐๐ มหายุคเป็น ๑ วันพระพรหม กลางคืนก็ยาวเท่ากัน วันของพระพรหมเรียกว่า กัลป์ ใน ๑ กัลป์มีพระมนู ๑๔ องค์ โดยที่พระมนูมีหน้าที่สร้างมนุษย์ (ซึ่งคำว่า มนุษย์ แปลได้ว่า ผู้เกิดจากมนู นั่นเอง)

    และเมื่อสิ้นกัลป์ หรือ บรรลัยกัลป์ มาถึง พระศิวะ จะลืมพระเนตรที่ ๓ ของพระองค์ที่อยู่บนพระสลาฏ (หน้าผาก) ของพระองค์ เกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์ทำลายล้างโลก ให้โลกมอดไหม้กลายเป็นคืนของพระพรหม โลกจะกลายเป็นมหาสมุทร พระพรหมจะบรรทมหลับ และเมื่อพระพรหมตื่นขึ้นมา พระพรหมก็พระทรงสร้างโลกใหม่โดยมีพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นผู้ดูแลบริหาร และพระศิวะก็จะเป็นผู้ทำลาย วนเวียนกันไปมา จะเห็นได้ว่าในความเชื่อของอินเดียในการสร้างโลกนั้นจะมีการเกิดใหม่ตลอดเวลาไม่มีวันจบสิ้น ไม่เหมือนกับความเชื่อของคริสต์ที่มีการเกิดโลกจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้สร้างในคราวเดียว

    และตำนานอินเดียก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจุติปางแรกของพระวิษณุด้วย นั่นคือ “มัสยาวตาร” ที่เกิดในกฤตะยุค ซึ่งเป็นยุคแรกตามตำนานฮินดูว่าพระวิษณุอวตารเป็นปลาทองมีเขาเพื่อช่วยพระมนูไววัสวัต ผู้สร้างมนุษยชาติให้รอดพ้นจากน้ำท่วมโลก ตอนแรกปลาทองนั้นตัวเล็กนิดเดียว แต่ต่อมาก็ขยายใหญ่ขึ้น และให้พระมนูไววัสวัตผูกเชือกที่เขา และลากเรือของพระมนูไปโดยที่แนะนำให้พระมนูค่อยๆ ปล่อยเรืองลงมาช้าๆ พร้อมกับระดับน้ำที่ลดลง มิฉะนั้นอาจค้างเติ่งอยู่บนยอดเขาหิมาลัยได้ อีกตำนานหนึ่งก็กล่าวไว้ว่า ขณะที่พระพรหมกำลังหลับ ยักษ์หัยครีบได้ขโมยคัมภีร์พระเวทไปจากพระโอษฐ์ของพระองค์  จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมโลก ปลาอาวตาร (กล่าวว่าปลาตัวนั้นก็คือร่างอวตารปางแรกของพระวิษณู) สังหารยักษ์หัยครีบ และนำคัมภีร์ไปคืนไว้ที่เดิม

    (http://writer.dek-d.com/type289/story/viewlongc.php?id=497104&chapter=30)

    แต่ในบางตำนานกล่าวว่าพระพรหมสร้างมนุษย์ จากอวัยวะของพระองค์ ซึ่งได้เกิดเป็นวรรณะต่างๆ ดังนี้

    • วรรณะพราหมณ์ เกิดจากเศียรของพระองค์
    • วรรณะกษัตริย์ เกิดจากบ่าของพระองค์
    • วรรณะแพศย์ เกิดจากส่วนท้องของพระองค์
    • วรรณะศูทร เกิดจากเท้าของพระองค์

            บางตำรากล่าวถึงเริ่มแรกทรงเนรมิตมนุษย์มีขาข้างเดียว แต่ก็เห็นว่าเดินไม่สะดวก จึงสร้างมนุษย์มี ๓ ขา ดูเหมือนจะไม่พอพระทัยเพราะว่าเกะกะเกินไปไม่สวยงาม จึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งให้มี ๒ ขา ที่ปรากฏจนทุกวันนี้

    (http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1)

                    ในคัมภีร์มานวธรรมศาสตร์กล่าวไว้ว่าครั้นเมื่อโลกยังไม่ปรากฏสิ่งใดๆ(มีความว่างเปล่า) พระอาตมภูหรือพระพรหม(ผู้เกิดเอง)ประสงค์จะสร้างทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก จากนั้นจึงสร้างน้ำขึ้นมาก่อนแล้วจึงนำพืชโปรยลงบนพืนน้ำพอเวลาผ่านไปพืชนั้นกลายเป็นไข่ทองคำและกำเนิดขึ้นมาเองเป็นพระพรหม มีพระนามว่า"หิรัณยครรภ์ หลังจากนั้นพระพรหมจึงแบ่งร่างกายเป็นชาย-หญิงเพื่อสร้างโลกและมนุษย์ต่อมา

    อีกตำนานหนึ่งในคัมภีร์มนัสนปุรณะเล่าว่าพระพรหมหรือที่เรียกว่า อาปวะ หลังกำเนิดขึ้นแล้วพระองค์แบ่งเป็น2ภาคซึ่งภาคหนึ่งเป็นชายคนแรกของโลกส่วนอีกภาคหนึ่งแบ่งเป็นหญิงคนแรกของโลกมีนามว่า"ศตรูปา"หรือสรัสวดี ต่อมาช่วยกันสร้างโลก มีเทวดา มนุษย์ อสูร และสรรพสัตว์สรรพพืชพันธุ์ในโลก

    (http://www.montradevi.org/customize-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%A1-66182-1.html)

                    ในอีกตำนานกล่าวว่า เมื่อถึงวันสิ้นโลก ดวงอาทิตย์จะขึ้นพร้อมกันทั้ง ๗ ดวงทำให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์เผาผลาญจนน้ำแห้งหมดโลก ปลาใหญ่ ๗ ตัวที่อยู่ในทะเลสีทันดรไหม้ละลายไป ไฟลามถึงสวรรค์ จนถึงพรหมโลก เทวดาทั้งหลายหนีไปอยู่บนพรหมโลก

    เมื่อไฟดับแล้ว ฝนก็ตกลงมาทั่วจักรวาล จากนั้นจึงเกิดพระพรหมองค์หนึ่งคือ ท้าวมหาพรหม เสด็จลงมาดูและสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นใม่ ทั้งในสวรรค์ทุกชั้น ทวีปทั้งสี่ เขาพระสุเมรุ เขาไกรลาส วิมานเทวดา ธรรมชาติ และทุกสรรพสิ่ง

    จากนั้นพรหมและเทวดาทั้งหลายได้กลิ่นหอมของง้วนดิน จึงต่างลงมากินง้วนดิน แล้วไม่สามารถเหาะขึ้นไปบนสวรรค์ได้จึงต้องอยู่ในโลกมนุษย์ต่อไป โยที่มนุษย์พวกแรกนี้จะมีกลิ่นกายหอม มีรัศมีน่างกายเพราะกำเนิดเดิมคือเทวดา ในที่สุดก็เกิดพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวต่างๆ

    (ผศ.สันทนี บุญโนทก (2551).วรรณกรรมศึกษา กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือมหาลัยราชภัฏสวนดุสิต)




    =====================================================================

    ถ้ามีความบกพร่องด้านเนื้อหามากน้อยแค่ไหน ก็ช่วยติชมด้วยนะครับ ผมจะได้เอาไปแก้
    (เอ ช่วงนี้โปรโมตดีมั้ยหว่า ฮึๆ)

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×