ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Museum Of Curse

    ลำดับตอนที่ #1 : เพชรโฮปHope Diamond

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 99
      0
      15 มี.ค. 54


    ต้นกำเนิดของเพชรน้ำงามสีน้ำเงินลึกล้ำอันหาที่ติได้ยากเม็ดนี้ ยังคงคลุมเครืออยู่มากเพราะไม่มีบันทึกไว้แน่นอน แต่เป็นที่รู้จักกันว่าคนแรกที่ได้ครอบครองคือนักค้าเพชรพลอยผู้ช่ำชองการเดินทางชาวฝรั่งเศสสมัยกลางคริสตศตวรรษที่ 17 ชื่อ ชอง แบบติสต์ ตาแวร์นิเยร์(Jean Baptist Tavernier) ระหว่างการเดินทางมายังประเทศอินเดีย ตาแวร์นิเยร์ค้นพบหินที่มีค่าที่มองดูภายนอกเหมือนแซฟไฟร์เม็ดใหญ่แต่ที่จริงแล้วคือเพชรดิบสีน้ำเงินขนาด 112 3/16 กะรัต ซึ่งนับว่าใหญ่ที่สุดในโลกในบรรดาเพชรสีน้ำเงินในอดีตที่เคยพบมา

    จุดกำเนิดอาถรรพ์อยู่ที่เรื่องเล่าที่ว่า แท้จริงแล้วเพชรถูกขโมยมาจากพระเนตร (บางที่ก็ว่าจากพระนลาฏ) ของเทวรูปนางสีดาซึ่งเป็นร่างที่พระนางลักษมีชายาของพระวิษณุที่ชาวอินเดียเคารพนับถืออย่างสูงแปลงลงมาจุติ ทำให้เทพเจ้าไม่พอพระทัยและสาปแช่งมนุษย์ผู้ใดก็ตามที่บังอาจครอบครองสมบัติชิ้นนี้ อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความคิดเห็นคัดค้านว่าตำนานนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง เนื่องจากรูปร่างของเพชรดิบสีน้ำเงินไม่เหมาะที่จะเป็นอัญมณีประดับที่พระเนตร(หรือพระนลาฏ) ของเทวรูปเลย แต่ไม่ว่าคำสาปแช่งจะมีอยู่จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่จะได้เล่าต่อไปก็ล้วนชี้ให้เห็นว่าบรรดาเจ้าของเพชรอาถรรพ์ต่างก็ประสบชะตากรรมเลวร้ายทั้งสิ้น

    หลังจากที่ตาแวร์นิเยร์เดินทางกลับประเทศฝรั่งเศส เขาได้ขายเพชรเม็ดใหญ่นี้ให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บอง และเมื่ออายุได้ 84 ปี ตาแวร์นิเยร์ก็เสียชีวิตอย่างลึกลับที่รัสเซีย โดยมีข่าวลือว่าเขาถูกหมาป่าฉีกร่างจนตาย นับเป็นการสังเวยครั้งแรกให้แก่อาถรรพ์เพชรโฮป

    เมื่อเพชรโฮปอยู่ในความครอบครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สุริยกษัตริย์ผู้เรืองโรจน์ได้มีรับสั่งให้เจียระไนเพชรใหม่อีกครั้ง เนื่องจากการเจียระไนครั้งแรก ช่างฝีมือเน้นเรื่องขนาดมากกว่าความงามของน้ำเพชร ครั้งนี้พระองค์ทรงให้ตัดแบ่งเพชรออกเป็น 3 ส่วน ชิ้นแรกนั้นหายสาปสูญไป ส่วนอีกสองชิ้น ชิ้นหนึ่งได้รับการเจียระไนเป็นรูปหัวใจขนาด 67 1/8 กะรัต และใช้เป็นเพชรประดับประจำราชวงศ์ฝรั่งเศสมาอีกนับทศวรรษในชื่อ "เพชรมงกุฏสีน้ำเงิน" (Blue diamond of the crown) หรือ "สีน้ำเงินแห่งฝรั่งเศส" (French Blue) ซึ่งในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเพชรโฮป ส่วนเพชรชิ้นสุดท้ายไม่มีหลักฐานแน่ชัดแต่เชื่อว่าคือเพชรที่เรียกว่า "บรันสวิก บลู "

    เวลาผ่านไป ความโชคร้ายก็เริ่มคืบคลานเข้าครอบงำสมาชิกราชวงศ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเพชรทีละน้อย เสนาบดีคลัง นิโคลัส ฟูเก ที่เคยหยิบยืมเพชรไปใส่ ในที่สุดก็ต้องออกจากตำแหน่ง ทั้งยังต้องโทษติดคุก แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น คือชะตากรรมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารี อังตัวเนตต์ที่ได้รับสืบทอดเพชรแห่งหายนะ ทั้งสองพระองค์ถูกตัดพระเศียรด้วยกิโยตินอย่างน่าสยดสยอง ดังที่จารึกอยู่ในประวัติศาสตร์การปฏิวัติอันนองเลือดของฝรั่งเศสในปีคริสตศักราช 1789 และเพชรมรณะเม็ดนี้ก็ได้หายสาปสูญไปในเหตุการณ์วุ่นวายครั้งนี้ด้วย

    ต่อมาในปี 1813 ณ กรุง ลอนดอน นายหน้าค้าเพชรนาม ดาเนียล เอเลียสัน (Daniel Eliason) ได้เพชรสีน้ำเงินเม็ดหนึ่งขนาด 44 กะรัตมาไว้ในครอบครอง ถึงแม้รูปร่างลักษณะจะไม่เหมือนเดิม แต่ด้วยความงามที่เป็นหนึ่งไม่มีสอง ทำให้ผู้ที่ได้พบเห็นเชื่อกันว่า มันก็คือเพชรน้ำเงินแห่งฝรั่งเศสที่ถูกเปลี่ยนรูปร่างไปเพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายข้ามชาติอย่างลับๆ กล่าวกันว่าผู้ที่ทำการเจียระไนคือ วิลเฮล์ม ฟาลส์ (Wilhlem Fals) นักเจียระไนชาวฮอลแลนด์ก็มีจุดจบอย่างน่าเศร้า ถูกบุตรชายของตนเองขโมยเพชรล้ำค่าไปจนตรอมใจตาย ในขณะที่บุตรคนนั้นในภายหลังก็ได้ฆ่าตัวตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ

     

    มีหลักฐานจากบางแหล่งว่าพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งราชวงศ์อังกฤษก็เป็นพระองค์หนึ่งที่เคยได้ครอบครองเพชรอาถรรพ์ และทางราชวงศ์ต้องขายมันไปเมื่อสิ้นพระชนม์เพื่อจ่ายหนี้ที่มีอยู่มหาศาล จากนั้นเพชรก็ถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ จนในปีคริสตศักราช 1939 เฮนรี ฟิลิปโฮป (Henry Philip Hope) เจ้าของมรดกบริษัทการธนาคารก็ซื้อเพชรสีน้ำเงินเม็ดนี้ไว้ เพชรมงกุฏแห่งฝรั่งเศสจึงได้กลายเป็นเพชรประจำตระกูลโฮป และได้ชื่อว่า "เพชรโฮป" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
    เรื่องเล่าว่ากันว่าตระกูลโฮปที่เคยร่ำรวย ต้องประสบมรสุมชีวิตและลงท้ายด้วยการล้มละลายเนื่องจากถูกคำสาปของเพชร ซึ่งตามข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าหลังจากเฮนรี ฟิลิป โฮป ผู้ไม่มีบุตร เสียชีวิตลง เพชรโฮปได้ตกทอดเป็นมรดกไปถึงสมัยเหลนของเขาคือลอร์ด ฟรานซิส โฮป (Lord Francis Hope) ซึ่งเป็นนักพนันตัวยง เขาได้ผลาญเงินของตระกูลไปกับการพนัน จนในที่สุดก็ต้องขายเพชรเพื่อใช้หนี้และตระกูลโฮปต้องเผชิญกับความลำบากไปอีกหลายชั่วอายุคน

     
     

    อีกครั้งที่เพชรโฮปได้เดินทางไปทั่ว ผ่านพระหัตถ์ของเจ้าชายคานิตอฟสกีแห่งรัสเซีย ซึ่งทรงได้มอบเพชรเป็นของกำนัลแก่นางละครที่โฟลีส์ แบแย (Folies Bergere) คนเดียวกับที่พระองค์ทรงยิงจนเสียชีวิตในอีกไม่กี่วันต่อมา ส่วนตัวเจ้าชายก็ถูกพวกกบฏแทงสิ้นพระชนม์ตามไปติดๆ ไปจนถึงชาวกรีกคนหนึ่งชื่อ ไซมอน มอนธะริเดส (Simon Montharides)ที่ซื้อเพชรโฮปไว้แต่ก็ต้องประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิตทั้งครอบครัว ถึงปีคริสศักราช 1908 สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ 2 แห่งตุรกี (Abdul-Hamid II) ที่ได้ครอบครองเพชรเพียงสองสามเดือนก็ถูกรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง และในปลายปีถัดมา นายหะบิบ เจ้าของเพชรชาวอียิปตคนใหม่ก็เสียชีวิตจากเรืออัปปาง ที่ช่องริโอ

    ผู้ครอบครองเพชรโฮปคนต่อมาคือ นางเอวาลีน วอลซ์ แมคลีน (Evalyn Walsh Mclean) ภรรยานายเอ็ดเวิร์ด แมคลีน (Edward Mclean) เจ้าของหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ บุตรชายของนางถูกรถชนเสียชีวิต และต่อมาไม่นานนายเอ็ดเวิร์ดก็กลายเป็นคนวิกลจริตและจบชีวิตในโรงพยาบาลโรคประสาท

    เมื่อเริ่องราวร้ายๆดูจะเกิดขึ้นติดต่อกันไม่หยุดหย่อน ในที่สุดนายแฮร์รี่ วินสตันเจ้าของคนสุดท้ายจึงตัดสินใจบริจาคเพชรโฮปให้แก่สถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ที่วอชิงตัน ดี ซี ในปี 1958 ซึ่งเพชรโฮปได้อยู่อย่างสงบที่นั่นจนถึงปัจจุบันนี้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×