คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #5 : ระบอบศักดินา: ยุโรปยุคกลาง (Medieval Europe: Feudalism)
วิถีชีวิตในยุคกลางที่เรียกกันว่า “ระบอบศักดินา” (Feudalism) นั้น เป็นระบบที่อิงกับกรรมสิทธิ์ในการครองที่ดิน ชนชั้นในสังคมของแต่ละบุคคลจะสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของที่ดินมากน้อยแค่ไหน คนในราชวงศ์ (Royalty) เช่นกษัตริย์และราชินีนั้นเป็นชนชั้นสูงสุดในสังคม ถัดลงมาจะเป็นชนชั้นขุนนาง (Noble) เช่นท่านดยุค (Duke) และท่านเอิร์ล (Earl) จากนั้นก็ตามมาด้วยชนชั้นอัศวิน (Knight) ชนชั้นช่างฝีมือ (Craftsman) ตามลำดับและสุดท้ายคือชนชั้นไพร่ (Serf) ผู้ซึ่งมีหน้าที่ทำงานตามท้องทุ่ง
ภายใต้ระบบศักดินานี้ คนในชนชั้นต่ำกว่าจะต้องเคารพและรับใช้คนในชนชั้นสูงกว่า และจะได้รับรางวัลเป็นการตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น ท่านลอร์ด (Lord) ซึ่งเป็นชนชั้นขุนนางจะรับใช้กษัตริย์โดยจัดหาอัศวินและพลทหารไปให้กษัตริย์ใช้ในยามศึกสงคราม และเพื่อเป็นการตอบแทนท่านลอร์ดผู้นั้น กษัตริย์อาจจะให้ที่ดินเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณ โดยปรกติแล้วที่ดินจะมีหน่วยวัดเป็น “ผืนดิน” (Manor) ซึ่งเป็นหน่วยวัดพื้นที่หน่วยสำคัญที่ใช้กันในสังคมแบบศักดินา
โดยปรกติแล้ว ภายในอาณาบริเวณของที่ดินหนึ่งผืนจะประกอบไปด้วยคฤหาสน์หลังใหญ่เหมือนกับหลังนี้ มีพื้นที่เพาะปลูกหลายผืน และหมู่บ้านพร้อมชนชั้นไพร่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้นด้วย พืชผลทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวได้จากผืนดินนี้ จะเป็นรายได้ให้กับขุนนางผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ยิ่งมีที่ดินมากเท่าไหร่ ขุนนางก็จะยิ่งร่ำรวยมาขึ้นเท่านั้น
ชนชั้นไพร่ (Serfs)
ชนชั้นไพร่ที่อาศัยอยู่ในผืนดินของขุนนางนั้นไม่มีวันร่ำรวยได้เลย ชนชั้นไพร่เป็นชนชั้นล่างสุดของสังคมระบอบศักดินาเพราะว่าไพร่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน นอกจากนั้น ชนชั้นไพร่ไม่สามารถย้ายออกไปจากผืนดินที่อาศัยอยู่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากขุนนางเจ้าของที่ดินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะความร่ำรวยของขุนนางนั้นขึ้นอยู่กับแรงงานของชนชั้นไพร่นั่นเอง
ขุนนางเจ้าของที่ดินจะให้รางวัลไพร่ในผืนดินของเขาตอบแทนการทำงาน โดยให้ที่อยู่อาศัย ให้ส่วนแบ่งในพืชผลที่ไพร่ปลูกได้ และให้ความคุ้มครองในช่วงเวลาที่อันตราย เนื่องจากไพร่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พวกเขาจึงไม่มีมรดกใดๆตกทอดไปให้ลูกหลาน ครอบครัวชนชั้นไพร่จึงยากจนอยู่ตลอด
ในหมู่บ้านที่อยู่ในผืนดินของขุนนางนั้น ชนชั้นไพร่จะไม่ได้รับอนุญาตให้โม่ข้าวสาลีที่ปลูกได้เพื่อทำแป้งขนมปังเอง แต่พวกเขาต้องเสียเงินเพื่อนำข้าวสาลีไปโม่ที่โรงสีของขุนนางเจ้าของที่ดินแทน
ในสังคมศักดินา ถึงแม้ว่าชนชั้นไพร่จะเป็นผู้ผลิตอาหารเกือบทั้งหมด ใช้แรงงานหนักเกือบทุกประเภท และเป็นชนชั้นที่มีประชากรมากที่สุด พวกเขากลับมีสิทธิน้อยมาก และแทบไม่มีโอกาสทางการศึกษาเลย ผลก็คือ ไพร่แทบไม่มีโอกาสหลีกหนีความยากจนที่วนเวียนอยู่ในชีวิตพวกเขาได้เลย
ชนชั้นอัศวิน (Knights)
ขณะที่ไพร่เป็นชนชั้นที่ใช้แรงงานในสังคมศักดินา ชนชั้นอัศวินจะได้รับความนับถือในฝีมือทางด้านการทหาร ดังนั้นในปราสาทหนึ่งมักจะมีอัศวินทำหน้าที่อยู่สองสามคนเสมอ อัศวินเป็นนักสู้มืออาชีพที่ต่อสู้บนหลังม้า พวกเขาจะแตกต่างจากพลทหารทั่วไปในช่วงเวลานั้นมาก เพราะอัศวินมักมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย และได้รับการฝึกสอนมาอย่างดี
การฝึกสอนให้เป็นอัศวินจะเริ่มเมื่อเด็กชายอายุครบแปดปี และถูกส่งไปอาศัยอยู่ในปราสาท ที่ซึ่งเด็กชายจะเริ่มด้วยการเป็นอัศวินฝึกหัด (Page) กล่าวคือเป็นทั้งลูกศิษย์และเด็กรับใช้ของอัศวินอาวุโส การฝึกสอนจะดำเนินไปเป็นเวลาหลายปี แต่ไม่ได้สอนเพียงวิชาการต่อสู้เท่านั้น แต่ยังต้องสอนเรื่องการขี่ม้า (Horsemanship) การอ่าน การร้องเพลง การเล่นหมากรุก (Chess) และศิลปะการล่าเหยื่อด้วยเหยี่ยว (Falconry) ด้วย
มีการแข่งขัน (Tournament) จัดขึ้นเป็นประจำเพื่อให้ทั้งอัศวินและอัศวินฝึกหัดได้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการต่อสู้ การแข่งขันนี้เป็นการบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมในยุคกลาง แต่การแข่งขันระหว่างอัศวินนี้อันตรายมาก และมีหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างหนักจากการแข่งขันนี้
เนื่องจากอัศวินมักมาจากครอบครัวที่ร่ำรวย และได้รับการยกย่องอย่างมากในฝีมือการต่อสู้ พวกเขาจึงอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างสูงในสังคมศักดินา กล่าวคือ ต่ำกว่าเหล่าขุนนางเพียงขั้นเดียวเท่านั้น และนั่นคือเหตุผลที่อัศวินจะถูกเรียกโดยตำแหน่งท่านเซอร์ (Sir) เสมอ เพื่อแสดงความเคารพ
ขุนนางมักให้รางวัลกับอัศวินเพื่อตอบแทนความกล้าหาญของพวกเขา โดยมอบไพร่พลหรือที่ดิน พร้อมทั้งรายได้จากผืนดินนั้นแก่เหล่าอัศวิน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีอัศวินอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ซึ่งอยู่ในที่ดินของขุนนาง
ความคิดเห็น