คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : 25 หลักกิโลเมตรบนถนนนักเขียน
สำหรับเทคนิคในการปั้นเรื่อง ครอบคลุมถึงการแบ่งเวลา เเนวในการเขียน พล็อตเรื่อง ฯลฯ จำแนกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. หาเวลาเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 2-3 ชั่วโมง เพราะการเขียนหนังสือก็เหมือนการออกกำลังกายที่ต้องทำบ่อยๆ ส่วนถ้าใครอยากเป็นนักเขียนมืออาชีพอาจต้องเขียนทุกวัน ฝึกสร้างสำนวนภาษาของคุณให้เป็นซิกแพ็กด้วยการฝึกเขียนบ่อยๆ อย่าปล่อยให้สำนวนภาษาเต็มไปด้วยไขมันส่วนเกิน
2. หากรอเขียนตอนว่าง อาจต้องรอไปตลอดชีวิต ดังนั้นจงขโมยเวลาของตัวเองมาให้ได้อย่างน้อยวันละชั่วโมงก็ยังดี
3. ใครที่อ่านหนังสือแนวเดียวแล้วอยากเขียนแนวนั้นถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งเพราะจะโฟกัสได้ง่ายกว่าคนที่ชอบหลายๆ แนว
4. เลือกแนวที่ชอบแล้วเขียนแนวนั้นไปเลย เอาให้เก่งไล่หลังรุ่นพี่มาหรือไม่ก็แซงหน้าไปซะ (แต่ว่าค่าตอบแทนแต่ละแนวไม่เท่ากันนะ ห้ามน้อยใจเด็ดขาด ลองเลือกให้ดีๆ เพราะบางครั้งความชอบก็ทำให้เราเหนื่อยกว่าชาวบ้านได้)
5. กรณีที่เขียนต้นฉบับหลายโครงการพร้อมกันก็ทำได้ แต่จงให้สัญญากับตัวเองว่าจะทำให้จบเป็นเรื่องๆ ไป
6. วางแผนวันเริ่มเขียนและวันที่จะเสร็จ ภายใน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ตามสะดวก อย่าลืมทำการประเมินผลในแต่ละปีด้วยล่ะ
7.เขียนต้นฉบับให้จบสักเรื่อง ความยาวแล้วแต่จะชอบ(80-150 หน้า) ใครที่พะวงเรื่องจำนวนหน้าไม่พอแสดงว่ายังไม่มีเรื่องราวที่จะเขียน อาจต้องไปใช้ชีวิต ไปเดินทาง หรือไปอ่านหนังสือก่อน (โหมดแสวงหาวัตถุดิบ)
8. ส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์ที่เล็งไว้ โดยส่งไปทางไปรษณีย์จะมีพลังมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าที่ไหนรับอีเมลก็ส่งทางนั้นได้
9. ส่งเสร็จแล้วลืมได้เลยจะดีมาก เพราะของดีจริง บก. ก็ติดต่อมาเอง
10. เอาเวลาที่รอหรือว้าวุ่นใจมาเขียนต้นฉบับใหม่ดีกว่า (อย่าลืมว่าต้องเขียนสม่ำเสมอเพื่อฝึกฝีมือ)
11. ปกติถ้าใครส่งงานไปโดยคาดหวังมากมักจะไม่ได้ ส่วนถ้าใครไม่คาดหวังมักจะได้ กฎข้อนี้ ก็เหมือนเวลารอรถเมล์นั่นล่ะ ถ้ารอมันไม่มา ถ้าไม่รอมันมาตรึม!!
12. ถ้าผ่านไป 2 เดือนแล้วก็โทรไปถามผลได้ (ขอคำแนะนำด้วยก็ดี)
13. ใครลองส่งครั้งแรกๆ มักจะไม่ผ่าน เพราะต้นฉบับของรุ่นพี่หลายคนที่เกิดก่อนหลายปี ที่ส่งงานมาหลายรอบจน บก. พอจะจำชื่อได้และเคยแนะนำเทคนิกต่างๆ ไปจะได้ก่อน ก็ให้พี่ๆ เขาไปเถอะ บางทีมันยังไม่ถึงจังหวะของเรา อยากให้จำไว้ว่าต่อยมวยสากลยังมีแยกรุ่นตามน้ำหนัก แต่วงการนักเขียนไม่จำกัดเพศ อายุ และอะไรสักอย่างเลย จะเด็ก 15 หรือแก่กว่าซูซาน บอย์ถ้าเขียนดี ก็มีโอกาสนะ
14. ถ้าคิดว่าต้นฉบับยังพอไหว เอางานที่ถูกปฏิเสธส่ง สนพ. อื่นต่อไป และเอาต้นฉบับใหม่ที่เขียนอยู่ ส่ง สนพ. ที่เพิ่งปฏิเสธเรามา ให้บรรณาธิการตกใจเล่น (หมายเหตุ: ต้นฉบับเรื่อง ลับแลแก่งคอย ซีไรท์ปี 2552 ถูกปฏิเสธจากสองสำนักพิมพ์ก่อนที่แพรวสำนักพิมพ์จะได้พิจารณาเป็นลำดับที่สาม ส่วนเจเค โรลลิ่งโดน 15 ที่, สตีเฟน คิงส์โดน 30 ที่ และแจ็ค แคนฟิลด์โดนไป 100 ที่ โดยหมอนี่คือคนที่ทำสถิติหนังสือ 7 เล่มของตัวเองติดสิบอันดับแรกของชาร์ตนิวยอร์กไทม์ในครั้งเดียว)
15. ในขณะนั้นก็ให้เขียนโครงการ 3 4 5 6 7 …ต่อไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าลืมเรื่องส่งต้นฉบับได้จะดีมาก) จะเขียนใส่เว็บหรือบล็อกพร้อมกันก็ได้
16. ถูกปฏิเสธให้มากพอ และจะเข้าใจบางอย่าง
17. ไม่ตรงกับแนวของ สนพ. จะได้ยินบ่อยที่สุด
18. เมื่องานถูกปฏิเสธบ่อยครั้ง จะเริ่มได้รับข้อมูลป้อนกลับ ทั้งพฤติกรรมคนอ่าน ตลาดหนังสือ กระแส จังหวะ เทรนด์ ความนิยม เทคนิค ลูกเล่น กลเม็ดเคล็ดลับ นู้นนี่นั่น ฯลฯ จะเริ่มเข้าใจคำว่าแนวของสำนักพิมพ์ที่แท้จริงแล้วคืออะไร ให้เอาความรู้เหล่านั้นมาทดลองใช้ดู นี่คือข้อมูลอีกด้านที่อาจจะต่างจากคำแนะนำของพี่ๆ นักเขียนบางคน แต่อยากให้จำไว้ว่า สุดโต่งทางการสร้างสรรค์(งานเขียน)หรือทางการตลาด(งานขาย) ด้านเดียวก็ไม่ดีทั้งนั้น ให้หาทางสายกลางให้เจอ
19. การถูกปฏิเสธบ่อยๆ ไม่ใช่ปัญหา
มันเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการเป็นนักเขียน เพราะสิ่งที่จำเป็นตอนนี้คือ สร้างต้นฉบับสำรองไว้อย่างต่อเนื่อง หนึ่ง เพื่อทดสอบตัวเองว่าอยากจะเป็นนักเขียนจริงไหม หรืออยากเป็นเพราะแฟชั่น หรือแค่อยากมีฝันอะไรกับเขาบ้าง จึงแนะนำให้ใช้ความรักและคลั่งไคล้ในการเขียนเป็นบททดสอบ พี่อุทิศ เหมะมูล ซีไรท์ปี 2552 เจอบททดสอบนี้ตอนเขียนลับแลแก่งคอยอยู่สองปีเต็ม
สอง ต้นฉบับสำรองจำนวนมากจะเป็นต้นทุนอย่างดีในการเวียนส่งต้นฉบับโดยไม่เสียเวลา และเมื่อโอกาสเป็นนักเขียนเปิด การมีสต๊อกเพื่อออกหนังสือปีละ 2 เล่มจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นและไม่ติดขัด เพราะถ้านักเขียนคนไหนไม่ออกหนังสือต่อเนื่อง โอกาสที่คนอ่านจะลืมก็ง่าย เพราะนักเขียนใหม่เกิดขึ้นทุกวัน หนังสือทุกวันนี้ล้นตลาด(ปีละ 14,000 เรื่อง) หน้าร้านไม่พอวาง
หากรอพิมพ์เป็นเล่มก่อนแล้วเริ่มเขียนเรื่องใหม่อาจไม่ทันการ เพราะหนังสือแต่ละเล่มกว่าจะได้เข้าไปอยู่ในแผนประจำปีและพิมพ์ออกมาใช้เวลานาน บางเล่มหกเดือน บางเล่มสองปีก็มี ซึ่งนี่คือเหตุผลที่คุณวินทร์ เลียววาริณ และพี่นิ้วกลม ออกหนังสือปีละ 2 เล่มอย่างต่อเนื่อง (ทั้งคู่เป็นนักเขียนที่มีสต๊อกต้นฉบับเยอะมากตั้งแต่ก่อนออกงานเล่มแรกก็ว่าได้ ซึ่งคุณวินทร์ บอกว่าเขียนเสร็จหนึ่งเรื่องก็เริ่มเรื่องใหม่เลย ไม่ได้สนใจด้วยว่าจะได้พิมพ์ไหม-ซึ่งนี่คือความคลั่งไคล้ของจริงที่ต้องหาให้เจอ หากไม่มีก็จงสร้างมันขึ้นมา)
20. การใช้ภาษาเขียนแนะนำให้ใช้ภาษาที่กระชับ ใช้คำน้อย แต่สื่อความหมายได้มาก (นึกถึงคนหุ่นดีๆ ที่ออกกำลังกายบ่อยๆ) มันจะได้เปรียบกว่าภาษาทดลองหรือเล่นคำวนเวียนวกวนแพรวพราว
21. ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือ ส่วนหัวใจคือเรื่องเล่าหรือพล็อต
22. ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่า ประเด็น หรือพล็อตมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าภาษาสวยงามมาพร้อมกันด้วยก็ดีมาก (จำไว้ว่าอย่าสุดโต่งเพียงด้านเดียว)
23. เขียนต้นฉบับที่สนุก คนอ่านวางไม่ลง แค่นี้จบจริงๆ
24. หน้าแรกหรือบทนำต้องเอาให้อยู่ ถ้าน็อคได้เลยจะเยี่ยมมาก
25. ไม่ต้องห่วงเรื่องสไตล์มาก เขียนบ่อยๆ มันจะมาเอง เพราะทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แม้แต่ฝาแฝดยังไม่เหมือนกันเลย มันไม่มีทางที่จะซ้ำกันไปได้ตลอดหรอก เมื่อเขียนมากๆ สำนวนภาษาที่เราติดมาจากคนอื่นมันจะหลุดหายไปเอง
คำแนะนำสุดท้าย เขียน เขียน และเขียนครับ
Credit : http://porglon.exteen.com/20120317/entry
ความคิดเห็น