ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    นิทานชาดก จาก บทสวดพาหุงฯ (ชัยมงคลคาถา)

    ลำดับตอนที่ #4 : พระชัยมงคลคาถา บทที่ 4

    • อัปเดตล่าสุด 18 มิ.ย. 57


     --- บทที่ 4 ---
    อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
    ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
    อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
    ตันเตชะสา ภะวะตุเต ชะยะมังคะลานิ
     
    --- นิทานชาดก ของบทที่ 4 "ชนะพญาโจร ด้วยพระอิทธิฤทธิ์ทางใจ" ---
            องคุลีมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างพิลึกพิลั่น เป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่ได้รับยกย่องในฐานะที่เป็น “ผู้ต้นคดปลายตรง” คือ เบื้องต้นประพฤติผิดพลาดจนกลายเป็นโจร ต่อมาในช่วงท้ายแห่งชีวิตกลับเนื้อกลับตัว บวชเป็นสาวกพระพุทธเจ้าสำเร็จพระอรหัตตผล เป็น พระอรหันตขีณาสพ (หมดกิเลสทั้งปวง)

            ขณะที่บิดาของท่าน ซึ่งเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ในพระราชสำนักได้ เกิดเหตุประหลาด คือ อาวุธในพระคลังแสงเกิดโชตนาการสว่างไสวไปทั่ว ท่านปุโรหิตแหงนดูท้องฟ้าเห็นดาวโจรลอยเด่นอยู่บนนภากาศ จึงกราบทูลว่า เด็กที่เกิดในเวลานี้จะเป็นมหาโจรลือชื่อ เมื่อกลับถึงบ้าน จึงรู้ว่าบุตรชายของตนเกิดในเวลาดังกล่าวพอดี
            ท่านปุโรหิตจึงกลับไปกราบทูลในหลวงให้ทรงทราบ และ ขอพระบรมราชานุญาต ให้กำจัดเด็กนั้นเสีย เมื่อพระราชาตรัสถามว่า “เป็นโจรราชสมบัติหรือโจรธรรมดา” ท่านปุโรหิตกราบทูลว่า “เป็นโจรธรรมดา” พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร ท่านปุโรหิต จงเลี้ยงลูกของท่านให้ดีก็แล้วกัน”
            ปุโรหิตผู้เป็นพ่อจึงตั้งชื่อเพื่อ “แก้เคล็ด” ว่า อหิงสกะ แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร ตอนเด็กๆ ก็เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครจริงๆ เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เรียนเก่ง บิดาจึงส่งไปศึกษาศิลปะวิทยาที่สำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา เด็กหนุ่มอหิงสกะ ขยันศึกษาเล่าเรียนเชื่อฟังคำสั่งสอนของอาจารย์ เป็นที่รักของอาจารย์มาก จนกระทั่งบรรดาศิษย์ร่วมสำนักอิจฉา
            พวกเขาจึงหาทางกำจัดอหิงสกะ โดยแบ่งเป็นพวกๆ ทยอยกันเข้าไปฟ้องอาจารย์ว่า “อหิงสกะไม่ได้ความอย่างนั้นอย่างนี้” ถูกอาจารย์ตะเพิดออกมาเป็นแถว แต่เมื่อพวกเธอพยายามใส่ไคล้อหิงสกะบ่อยเข้าอาจารย์ก็ชักจะเอนเอียงไปทีละเล็กละน้อย “ถ้าหากไม่มีมูล ทำไมศิษย์ทุกคนจึงพูดตรงกัน” อาจารย์นั่งคิดอยู่คนเดียวอย่างว่านั่นแหละครับ “น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน” นับประสาอะไรกับจิตใจอ่อนๆของปุถุชน เช่นศาสตราจารย์ (ผู้ไม่ปรากฏชื่อ) แห่งตักสิลาคนนี้เล่า ในที่สุดท่านก็เชื่อสนิทว่า อหิงสกะคิดประทุษร้ายตน ตามคำยุแยงตะแคงรั่วของบรรดาศิษย์ขี้อิจฉาตาร้อนทั้งหลาย
            อาจารย์จึงวางแผนกำจัดศิษย์ โดยออกอุบายให้ไปฆ่าคนเอานิ้วมือมาให้ครบหนึ่งพันอ้างว่า เพื่อประกอบพิธีประสิทธิ์ประสาทเคล็ดลับวิชาที่ไม่เคยถ่ายทอดให้ศิษย์คนใดเลยเมื่ออยากได้วิชา ศิษย์ผู้น่าสงสารก็จำต้องทำใหม่ๆ ก็คงลำบากใจมากที่ต้องฆ่าคน แต่พอฆ่าได้สองคนสามคนเข้า ก็ชินไปเอง ชั่วระยะเวลาไม่นาน เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็กระฉ่อนไปทั่วว่า มีโจรเหี้ยมคนหนึ่งนามว่า “องคุลีมาล” ดักฆ่าคนที่ดงดิบแห่งหนึ่ง ฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมาทำพวงมาลัย เป็นทีหวาดกลัวของประชาชนมากจนไม่มีใครเดินผ่าน
            พระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องตัดสินพระทัย ยกกองทัพย่อยๆ ไปปราบเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน มารดาของอหิงสกะ ทราบข่าวกลัวว่าบุตรชายของตนจะเป็นอันตราย จึงแอบหนีออกนอกเมือง มุ่งหน้าไปยังดงดิบที่ขุนโจรอาศัยอยู่เพื่อแจ้งข่าวให้ลูกทราบ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณ เกรงว่าองคุลีมาลจะทำมาตุฆาต (ฆ่ามารดา) เพราะมหาโจรมีจิตฟั่นเฟือนจำใครไม่ได้แล้ว พบใครก็จะฆ่าหมดจึงเสด็จไปดักหน้า
            องคุลีมาลเห็นพระห่มผ้าเหลือง ก็ดีใจที่ได้พบเหยื่อเป็นสมณะหรือไม่ ไม่สนใจ ขอแต่ให้ได้นิ้วครบพันก็แล้วกัน จึงถือมีดโกนอาบน้ำผึ้ง เอ๊ย ถือดาบวิ่งไล่พระพุทธองค์ทรงบันดาลฤทธิ์ให้มหาโจรวิ่งไม่ทัน ทั้งๆ ที่เสด็จดำเนินไปตามปกติ มหาโจรร้องว่า “หยุด สมณะ หยุด”
            “เราหยุดแล้ว แต่เธอยังไม่หยุด เราหยุดทำบาป แต่เธอยังทำบาปอยู่” พระสุรเสียง กังวานแว่วสัมผัสโสตประสาทจอมโจร
            เขาสะดุดกึก รู้สำนึกในความผิดของตนเอง จึงวางดาบเข้าไปถวายบังคมแทบพระยุคลบาท พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนาเขาได้กราบทูลขอบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์
            พระพุทธองค์ทรงนำองคุลีมาลกลับไปยังพระเชตวัน พอดีเวลานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลยกกองทัพย่อยๆ ผ่านมาทางนั้น จะไปปราบโจร พระองค์เสด็จเข้าไปถวายบังคมพระพุทธเจ้าทำนองจะขอพรชัย ให้ได้ชัยชนะในการไปปราบมหาโจรครั้งนี้
    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “ถ้ามหาโจรนั้นกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีมาบวชเป็นพระในพระธรรมวินัย
            แล้วพระองค์จะทรงเอาผิดเธอไหม” พระราชากราบทูลว่า “ถ้าเช่นนั้น เขาก็พ้นอาญาของแผ่นดิน”
            พระพุทธเจ้าทรงชี้พระดรรชนีไปยังพระหนุ่มผู้นั่งสงบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ว่า “นี้คือองคุลีมาล” พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตกพระทัย พระพุทธองค์ตรัสว่า “มหาบพิตรไม่ต้องกลัวบัดนี้องคุลีมาล เธอ “มีมือวางศาสตราแล้ว” (หมายความว่า เลิกทำร้ายหรือเบียดเบียนแล้ว)”
    บวชใหม่ๆ ท่าน องคุลีมาลบิณฑบาตแทนที่จะได้ข้าว กลับได้เลือดกลับวัดแทบทุกวันเพราะชาวบ้านจำได้พากันเอาก้อนอิฐก้อนหินขว้างจนท่าน ศรีษะแตกเลือดไหล แต่ก็จำต้องทนตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านพบสตรีมีครรภ์แก่ ท่านตั้งสัตยาธิษฐานทำให้สตรีนางนั้นคลอดบุตรอย่างง่ายดายและปลอดภัย คนทั้งหลายจึงหายหวาดกลัวท่าน เชื่อว่าท่านสามารถทำให้สตรีคลอดบุตรได้ง่ายกลายเป็น “เกจิอาจารย์ดัง” ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ว่าอย่างนั้นเถอะ
            คำอธิษฐานของท่านมีบันทึกไว้ในหนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนาน และสวดมนต์สิบสองตำนาน เรียกว่า “อังคุลิมาลปริตร” เชื่อกันว่าเป็น บทสวดมนต์ทำให้คลอดลูกง่าย
            พระสงฆ์นิยมนำมาสวดในงานทำบุญของชาวพุทธมาจนปัจจุบันนี้
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×