ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คนเรื่องมากอยากวิจารณ์

    ลำดับตอนที่ #5 : ส่งงานวิจารณ์เรื่อง "อลิซกับเจ้าชายฝ่ายอธรรม"

    • อัปเดตล่าสุด 23 มี.ค. 56



    เรื่องอลิซกับเจ้าชายฝ่ายอธรรม  [ผู้เขียน : ลูกชิ้นปลากับราเม็ง]

    ลิงค์นิยาย : http://my.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=897162

    จำนวนตอนในวันรับวิจารณ์ : 12

     

    สวัสดีท่านลูกชิ้นปลากับราเม็ง

    เนื่องจากขณะที่ข้าพเจ้าได้อ่าน เรื่องราวยังเพิ่งอยู่ในช่วงต้นเท่านั้น อลิซเพิ่งเหยียบย่างเข้าไปในดินแดนของปีศาจ (ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่หลักในการดำเนินเรื่อง) อีกทั้งตัวละครสำคัญอย่างเจ้าชายฝ่ายอธรรมกับปีศาจน้ำแข็งก็ยังไม่ทันปรากฏตัว ดังนั้นต้องขอบอกไว้ล่วงหน้าด้วยว่า  ข้าพเจ้าไม่อาจวิจารณ์ในส่วนเนื้อเรื่องได้อย่างละเอียดเท่าไร

    เริ่มตั้งแต่ชื่อเรื่อง ลักษณะตัวละครอลิซ กระต่ายที่ท่าทางเหมือนมนุษย์ ธีมเรื่องแนวแฟนตาซีผจญภัย และภาพประกอบ บ่งชี้ว่าผู้เขียนได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘Alice in wonderland’ อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งว่า ท่านจะสามารถเขียนให้เรื่องนี้ ฉีกแนวออกไปจากวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังระดับโลก และสร้างเอกลักษณ์ของนิยายได้อย่างไร

     แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเอ่ยถึงเนื้อเรื่องและตัวละคร ขอกล่าวถึงสิ่งสำคัญอันดับแรกก่อน

    การสะกดคำ

    ท่านยังมีความผิดพลาดในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก คำผิดทั้งที่เกิดจากการพิมพ์ผิดโดยบังเอิญ และคำที่ท่านอาจเข้าใจการสะกดผิดไป มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น

    ระล่ำระลัก (ละล่ำละลัก)   โถลก (ถลก)   คุ่นแค้น (ขุ่นแค้น)   กระโดดแพล้ว (กระโดดแผล็ว)

    เวทมนต์ (เวทมนตร์)   รูปลัก (รูปลักษณ์)   แซ่พลัง (แส้พลัง)   อัคระ (อักขระ)   นอกรีด (นอกรีต)

    บิดเปี้ยว (บิดเบี้ยว)   ดุด (ดุจ)   พยัค (พยัคฆ์)   ป่าว (เปล่า)   โทมน (ทโมน)   สาปสูญ (สาบสูญ)

    หนุ่มฉกรรณ์ (หนุ่มฉกรรจ์)   หยักโศก (หยักศก)   ฉกาด (ฉกาจ)   ฟูฟร่อง (ฟูฟ่อง)   กันโชก (กรรโชก)  

    แขกเหลื่อ (แขกเหรื่อ)   ระห้อย (ละห้อย)   อัมพัน (อำพัน)   ตื่นตุม (ตื่นตูม)   พรึมพรำ (พึมพำ)

    กามค้าง (กรามค้าง และกามมีความหมายว่า ความใคร่)   เซ็งแซ้ (เซ็งแซ่)  กระจ่อยร่อย (กระจ้อยร่อย)

    ร้องให้ (ร้องไห้)  กะท่อนกะแท่น (กระท่อนกระแท่น) ดาป (ดาบ)  กระบาล (กบาล)  กระพริบ (กะพริบ)

    ขาวโพรน (ขาวโพลน)   ตะระปัด (ตาลปัตร) วาวโรจ (วาวโรจน์)   ระริ่ว (ละลิ่ว) อบอวน (อบอวล)

    กังวาล (กังวาน) ลุม (รุม)   กฏ (กฎ) คลำป่อย ๆ (คลำป้อย ๆ ไม่ใช่ส้มป่อยนะท่าน) หยักไย้ (หยากไย่)

    อัทรส (คำนี้ข้าพเจ้าสงสัยอยู่นานมากว่าท่านจะกล่าวถึงอะไร พอพิจารณาบริบทแล้วจึงนึกออกว่าอ้อ! หมายถึง อรรถรส นั่นเอง)

    ขย่อน (ขย้อน และคำนี้แปลว่า ทำการอาเจียนนะท่าน ไม่ได้แปลว่ากลืนลงไป)  

    ที่กล่าวมายังเป็นแค่ส่วนหนึ่ง คำสะกดผิดในนิยายของท่านยังมีอีกเป็นจำนวนมาก ขอให้ท่านตรวจทานให้ดี อาจใช้พจนานุกรมออนไลน์ตรวจสอบคำที่ไม่มั่นใจ และควรสังเกตดูเส้นแดง ๆ ใต้ข้อความขณะพิมพ์นิยายให้ดี (โปรแกรมตรวจคำผิดของ Word) อีกทั้งท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยหมั่นอ่านหนังสือต่าง ๆ เพื่อศึกษาคำศัพท์ที่ถูกต้องด้วย
     

    ต่อมาคือการใช้สำนวน /ความหมายคำศัพท์/ คำเลียนเสียงหรือกริยาอาการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    ดิ้นกระดกกระแดก เป็นกริยาอย่างไรหรือท่าน ข้าพเจ้าอ่านหนังสือมายี่สิบกว่าปียังไม่เคยพบเจอคำนี้เลย ที่พบเห็นได้บ่อยและใกล้เคียงกัน ก็มี ดิ้นกระดุกกระดิก (ขยับไปมาไม่นิ่ง) หรือ ดิ้นกระดุบกระดิบ (เคลื่อนไหวน้อย ๆ)

    หายใจโรยริน  โรย มีความหมายว่า ดอกไม้แห้งเหี่ยว/อาการหน้าตาไม่สดชื่น/โปรย สำนวนที่ถูกต้องควรเป็น หายใจรวยริน มากกว่า

    อาหารระดับราชวัง ควรใช้คำว่า อาหารระดับชาววัง

    ขยิบตาแผลบ ๆ เป็นคำที่สะกดผิดและใช้ผิดความหมายไปพร้อมกัน แผล็บ มีความหมายว่า ชั่วประเดี๋ยว (เช่น แลบลิ้นแผล็บ ๆ )หรือใช้กับคำว่า มัน (เป็นเงามันแผล็บ) ดังนั้นถ้าจะพูดถึงการขยิบตาแบบส่งสัญญาณบางอย่างถึงกัน ก็ควรใช้ว่า ขยิบตาถี่ ๆ มากกว่า

    โวยวายโวกเวก คำนี้สะกดผิด และปกติจะพบว่านิยมใช้ โหวกเหวกโวยวาย มากกว่า แต่ก็ไม่มีข้อห้ามใดถ้าจะใช้ โวยวายโวกเหวก เพราะทั้งโหวกเหวกและโวยวาย ล้วนมีความหมายเหมือนกัน

    เข็ดเขี้ยวเคี้ยวฟัน ไม่ใช่แล้วล่ะท่าน ได้โปรดอย่าเอา เข็ดฟัน (เสียวฟันเพราะกินเปรี้ยว) มายำเข้ากับ เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน (กัดฟันแสดงอาการโกรธ) เลย

    มุ่นคิ้ว คำว่า มุ่น ถึงจะแปลว่าขมวด แต่ก็มักจะใช้กับมวยผม ดังนั้นควรเปลี่ยนเป็น ขมวดคิ้ว มากกว่า

    พยักหน้าวืด ๆ  คำว่า วืด ๆ นี้ ดูเหมือนจะใช้เป็นเสียงของลมเมื่อเวลาร่างกายขยับ ซึ่งควรเป็นอวัยวะที่ใหญ่สักนิด เช่น แขน ขา แต่การพยักหน้าไม่ควรใช้เสียงนี้ ควรเปลี่ยนเป็น พยักหน้างึก ๆ  (งึก  เป็นกริยาประกอบการพยักหน้าโดยเฉพาะ)

    “เหื่อย” นี่เป็นคำเลียนเสียงแบบที่ข้าพเจ้าไม่เคยพบเจอ ดูจากบริบทในเนื้อหานิยายแล้ว เป็นการแสดงอารมณ์แบบเหนื่อยใจหรือไม่ก็ปลง ดังนั้นควรใช้คำว่า เฮ้อ จะเหมาะสมกว่า

    สะเก็ดน้ำลาย คำว่า สะเก็ด หมายถึงเศษหิน/ไม้/แผล หรือมีอีกความหมายว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน เช่น คนสะเก็ด ดังนั้นหากจะพูดถึงน้ำลายกระเด็นออกมา ควรใช้ เศษน้ำลาย หรือ ฝอยน้ำลาย

    ภาพของเพื่อนสนิทผุดขึ้นมาในโสตประสาท โสตประสาท แปลว่า ประสาทการรับเสียง ดังนั้นไม่ควรจะมีภาพไปผุดขึ้นมาได้ อาจเปลี่ยนเป็น   ภาพของเพื่อนสนิทผุดขึ้นมาในความคิด / สมอง

    หรี่ตาเล็กลง ควรใช้ หรี่ตาแคบลง

    แกไม่ใช่คู่มือของฉัน ไม่อยากฆ่าใครถ้าไม่จำเป็น

    ประโยคด้านบนเป็นการใช้ไม้ยมกผิดหลักภาษาไทย ต้องแก้ไขเป็น แกไม่ใช่คู่มือของฉัน ฉันไม่อยากฆ่าใครถ้าไม่จำเป็น (ขอแนะนำให้ท่านศึกษาเพิ่มเติมเรื่องหลักการใช้ไม้ยมกด้วย)

    การใช้คำว่า “ราว” ในการประมาณจำนวน ควรเป็นตัวเลขกลม ๆ เช่น ราวสามสิบคน ไม่ใช่เป็นตัวเลขบ่งชี้ชัดอย่างราว 26 คน ที่ท่านใช้ในบทที่ 1  

      

    การเรียบเรียงเนื้อหาและการเว้นวรรค

    เป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่มีการผสมกันระหว่าง การเว้นวรรคมากเกินไป กับ การไม่เว้นวรรคโดยสิ้นเชิง ทำให้อ่านสะดุด ๆ เหมือนขับรถกระทืบเบรกทุกสองนาที กับอ่านติดกันเป็นพรืด เหมือนขับรถเหยียบคันเร่งมิดไม่ลืมหูลืมตา

    เช่น “สวัสดี ครับ” หรือ “ยินดี ด้วยนะคะ”

    กรุณาอย่าซอยสับคำสั้น ๆ จนเป็นหมูสับ ควรแก้ไขเป็น “สวัสดีครับ” และ “ยินดีด้วยนะคะ”  จะอ่านได้ลื่นไหลมากขึ้น และขอยกตัวอย่างการไร้เว้นวรรค ด้วยข้อความจากนิยาย ดังนี้

    เสียใจด้วยนะท่านซุนลีแวนหนึ่งในเด็กที่ถูกเลือกดันเป็นลูกสาวที่เพิ่งเกิดของท่าน ที่จริงเราไม่ได้รังเกียจและเครียดแค้นท่านเลยกลับชื่นชมที่เคยได้ยินว่าท่านเคยช่วยพี่น้องเราไว้หลายครั้ง แต่ลูกสาวของท่านดันมีคุณลักษณะสำคัญที่พวกเราต้องการซึ่งหาได้ยากจากเด็กคนอื่น

    เป็นอย่างไรบ้างท่าน พอตอนอ่านจบหายใจเฮือกใหญ่เลยหรือไม่

    ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น มีการใช้เว้นวรรคที่น้อยเกินไป ทำให้ผู้อ่านที่ตั้งใจอ่านไม่มีเวลาหยุดหายใจเลย อีกทั้งยังอาจทำให้สื่อสารความหมายผิดพลาด

    มาลองเปลี่ยนดู ข้าพเจ้าลองจัดเว้นวรรคใหม่โดยไม่เปลี่ยนถ้อยคำแม้แต่น้อย

    เสียใจด้วยนะท่านซุนลีแวน หนึ่งในเด็กที่ถูกเลือกดันเป็นลูกสาวที่เพิ่งเกิดของท่าน ที่จริงเราไม่ได้รังเกียจและเครียดแค้นท่านเลย กลับชื่นชมที่เคยได้ยินว่าท่านเคยช่วยพี่น้องเราไว้หลายครั้ง  แต่ลูกสาวของท่านดันมีคุณลักษณะสำคัญที่พวกเราต้องการ ซึ่งหาได้ยากจากเด็กคนอื่น

    ท่านหายใจสะดวกระหว่างการอ่านมากขึ้นหรือไม่ ?

    ลองไปปรับแก้ดู เพราะลักษณะเว้นมากบ้างน้อยบ้างนี้ ปรากฏอยู่ในเนื้อหานิยายของท่านทุกตอน

    ส่วนเรื่องการเรียบเรียงเนื้อหา ยังพบว่ามีประโยคที่วางคำขยายผิดที่อยู่ เช่น

    อายแขกเหรื่อที่หันมามองในงาน  ควรแก้ไขเป็น อายแขกเหรื่อในงานที่หันมามอง

    และประโยคที่เรียงลำดับความชวนสับสน

    ลูกสาวของท่านถูกปีศาจที่พวกพ่อมดส่งไปฆ่าตาย ควรแก้ไขเป็น

    ลูกสาวของท่านถูกฆ่าตายโดยปีศาจที่พวกพ่อมดส่งไป

    การเพิ่มคำเพียงคำเดียว และสลับตำแหน่งคำใหม่ สามารถทำให้ความหมายแจ่มชัด และมีรูปประโยคที่สละสลวยมากขึ้น

     ตัวละคร

    แม้จะยังไม่เข้าสู่เนื้อเรื่องสำคัญ แต่นิยายเรื่องนี้กลับเปิดตัวละครออกมามากมาย ไหนจะครอบครัวนางเอก ท่านเซนท์ คนติดตาม ตัวร้ายต่าง ๆ นานา เจ้าชายเจ้าหญิงวัยเยาว์กับผู้ปกครองอีกเป็นโขยง ผู้อ่านอาจสับสนจำใครไม่ได้เลยนอกจากอลิซ ปู่ แล้วก็กระจกมาเจอร์รี่ ท่านควรค่อย ๆ เผยตัวละครเท่าที่จำเป็นก่อนมากกว่า แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่ทราบว่า ตัวละครเด็กกลุ่มใหญ่นั้นมีความสำคัญใดกับเนื้อเรื่องในภายหลังหรือไม่ ? หรือปรากฏเพื่อเป็นตัวประกอบในงานเลี้ยงแล้วหายไปเลยหลังจากอลิซข้ามกระจกไปอีกดินแดนหนึ่ง

    ส่วนเรื่องนิสัยตัวละครหลัก ๆ เท่าที่ปรากฏ (อลิซ อเล็ก ท่านเอิร์ล ซุนลีแวน อเดล) มีความชัดเจน มีบุคลิกเฉพาะตัวดี และทุกคนมีชื่อกรุ่นกลิ่นแฟนตาซีตะวันตกมาก แต่มีจุดหนึ่งที่ข้าพเจ้าสะดุดใจ ก็คือชื่อของทหารยามสองคน พวกเขาชื่อชิสุกับพุดเดิ้ลจริงดิ ? หรือว่าท่านเขียนให้พวกเขาแซวกันเล่น ? (แต่ตามบริบทเหมือนคุยกันจริงจังมากกว่า) ซึ่งถ้าท่านคิดให้พวกเขามีสองชื่อนี้จริง ๆ แล้วล่ะก็ ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดแย้งกับบรรยากาศของนิยายอย่างมาก มีอย่างที่ไหนทุกคนในเรื่องมีชื่อเพราะ ๆ แต่ตัวประกอบดันชื่อเป็นพันธุ์หมา ข้าพเจ้าขอบอกว่ามันไม่ฮาเลย

    ลักษณะตัวละครที่เพิ่งโผล่ยังไม่แจ่มชัดนัก คือปีศาจทั้งสี่ แม้จะรู้ว่าเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงเลยว่าลักษณะท่าทางเป็นอย่างไร น้ำนี่เป็นปีศาจตัวเหลว ๆ สีฟ้า หรือเป็นปีศาจตัวสี่เหลี่ยมมีแขนขาสีน้ำเงิน แล้วดินนี่มาเป็นกองดินสามเหลี่ยมหรือมาเป็นดินอัดแท่ง มีแขนขาไหม หรืออะไรยังไง ? ท่านควรอธิบายลักษณะของตัวละครที่ผู้อ่านไม่คุ้นเคยให้ร่วมรับรู้ไปกับท่านด้วย

    และท่านไม่ควรลืมลักษณะเฉพาะตัวของตัวละครที่อุตส่าห์บรรยายไว้ก่อนหน้า เช่น จาวิสเสียงแหลมเหมือนแพะ แต่ถัดมาอีกหน่อยกลับบอกว่า เสียงแหบ ตกลงจะแหบหรือว่าแหลมดีล่ะ ?

    ทิ้งท้ายอีกนิด ขอให้ท่านตรวจทานชื่อตัวละครและชื่อสถานที่ด้วย เพราะมีหลายชื่อซึ่งพิมพ์ไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง เช่น เวเนสซ่า/เวสซ่า  ฟิโอนิกซ์/ฟีโอนิกซ์ ดาร์ซินเธีย/ดาร์คซินเธีย  และยศศักดิ์ขุนนาง (Earl)  สามารถถอดเสียงเป็นภาษาไทยว่า ท่านเอิร์ล (สะกดด้วย ล ลิง ไม่ใช่ น หนู)

    ส่วนเรื่องความสมเหตุสมผลของการกระทำต่าง ๆ ยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้มากนัก เนื่องจากเนื้อเรื่องยังมีแค่กล่าวให้เห็นอดีต ความสัมพันธ์ และนิสัยของตัวละครต่าง ๆ เท่านั้น

        

    เนื้อเรื่อง

    เปิดเรื่องด้วยปมอดีตอันน่าประหวั่น แนวแฟนตาซียุโรปผจญภัย มีแม่มดพ่อมด เวทมนตร์ต่าง ๆ แต่พอเรื่องดำเนินไปสักสองสามตอนแล้ว อรรถรสก็เริ่มผิดเพี้ยนไปจากตอนแรก ด้วยการบรรยายด้วยถ้อยคำสมัยใหม่มากมาย และไม่เข้ากับอารมณ์ของเรื่องที่ปูมาเสียดิบดีในตอนแรกเลย เช่น

    หลานสาวเล่นบทแอ๊บประหม่าได้เนียนมาก

    จู่ ๆ อเดลก็ส่งบทดราม่าให้ซะงั้น

    เทรนลูกศิษย์

    นิสัยโก๊ะ ๆ

    คำต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมา เปรียบเหมือนคนกำลังกินลาซานญ่า รู้สึกถึงรสชีสอย่างตะวันตกเพลิน ๆ แต่จู่ ๆ ดันมีต้มยำกุ้งราดลงไปดังโครม ทำให้มันไม่เข้ากันเลยแม้แต่น้อย ซึ่งส่วนนี้เป็นความคิดเห็นของข้าพเจ้า ไม่แน่ว่าผู้อ่านของท่านอาจชอบแฟนตาซีผสมตะวันตกกับคำแสลงไทยก็เป็นได้

    ในส่วนการบรรยาย (ไม่ใช่เสียงในบทสนทนา) จะพบว่ามีการใช้คำเปรียบเปรย “ยังกับ” อยู่บ่อยครั้ง (ซึ่งคำนี้ควรใช้เป็น อย่างกับ) และท่านควรเลือกใช้คำเปรียบเปรยอื่น ๆ บ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซากจำเจ เช่น เปรียบดุจ เปรียบเหมือน เสมือน ราวกับ ประดุจ ดุจ ดั่ง เฉกเช่น

     ท่านได้ทิ้งปริศนาไว้ให้ชวนติดตามอย่างเหมาะสม เช่น ตราประทับบนร่างของอลิซจะมีผลอย่างไรกับเธอ  เหตุใดซุนลีแวนจึงหายตัวไปยังเกาะสาบสูญ ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนรักของอเดลกับอลิซจะเป็นอย่างไรต่อไป ใครเป็นผู้ผลักอลิซเข้าไปในกระจก สรุปได้ว่าเนื้อเรื่องโดยรวมยังมีความน่าติดตามต่อไม่น้อย และท่านต้องพึงระลึกว่าปมที่ขมวดไว้ทั้งหมดจะต้องค่อย ๆ ถูกคลี่คลายในที่สุด ตอนจบของเรื่องไม่ควรมีปริศนาค้างคา (เว้นแต่ท่านจะเล่นกับการเขียนแบบทิ้งให้คนอ่านคิดต่อเอง)
      
          
    จากที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ขอให้ท่านพึงทราบว่า เป็นความคิดเห็นของบุคคลเพียงคนเดียว ท่านอาจไม่ต้องทำตามทุกข้อที่แนะนำ อยากแก้แบบไหนล้วนขึ้นอยู่กับท่านจะเห็นสมควร และข้าพเจ้าต้องขอชื่นชมท่านทิ้งท้ายไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ท่านมีความตั้งใจในการเขียน เห็นได้จากการอัพเดทนิยายสม่ำเสมอแม้มีจำนวนคนเม้นไม่มากนัก ต่างจากนักเขียนมือใหม่บางท่านที่ไม่เขียนต่อเมื่อไม่มีคนเม้น และนั่นนับเป็นการฆ่าตัวตายในเส้นทางอาชีพนักเขียน (ไม่ต้องแปลกใจที่ย่อหน้านี้เหมือนการวิจารณ์นิยายของข้าพเจ้าในเรื่องแรกเป๊ะ เพราะท่านสองคนมีความตั้งใจเขียนดีมากเหมือนกันนั่นเอง ข้าพเจ้าเลย copy แล้ว paste ให้อย่างไม่ลำเอียง)

    หากวิจารณ์หนักเบาไปอย่างไร ข้าพเจ้าต้องขออภัยไว้ที่นี้ด้วย

    สำหรับตอนนี้ข้าพเจ้าคอแห้งมาก (นั่งเกาะจอนานไม่ยอมลุก) ขอตัวไปดื่มน้ำสักลิตรก่อนสวัสดี

     

    แบบฟอร์มเซ็นรับคำวิจารณ์

    “คิดอย่างไรกับคำวิจารณ์นิยายของท่าน”

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×