คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #7 : การวางแผนและแก้ไขปัญหาในการนำเที่ยว3
ตัวอย่างปัญหาในการนำเที่ยวและวิธีป้องกันแก้ไข
1. ปัญหาเกี่ยวกับการเจ็บป่วย มัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวต้องมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะจะได้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อเจ็บป่วย ผู้นำเที่ยวจะต้องนำยาทั่วไปและเครื่องปฐมพยาบาลอย่างง่าย เช่น ยาแก้ไข้ ยาหม่อง ยาแก้ท้องเดิน ยาแก้ท้องเฟ้อ ยาแก้เมารถเมาเรือ ยาแก้แพ้ ยาลม และผ้าพันแผล พลาสเตอร์ยา ติดตัวไปด้วยเมื่อเดินทาง และในขณะเดียวกันควรเตือนนักท่องเที่ยวให้นำยาประจำตัวไปด้วย โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว และต่อไปนี้คือปัญหาของการเจ็บป่วยที่มักเกิดขึ้นเสมอ
1.1 อาหารเป็นพิษ เกิดขึ้นได้ทุกครั้ง ถ้าอาหารไม่สะอาด จะมีอาการท้องร่วง หรืออาเจียน ควรให้ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารที่เพิ่งปรุงเสร็จใหม่ ๆ ควรแนะนำถึงข้อควรระวังและโทษของการกินอาหารแปลก ๆ ในแต่ละท้องถิ่น
การปฏิบัติ : ให้รับประทานยา หรือถ้าอาการรุนแรงต้องพาไปส่งแพทย์
การป้องกัน : แนะนำให้ดื่มน้ำสะอาดเท่านั้น ควรให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับมาตรฐานของร้านอาหาร และอาหารชนิดต่าง ๆ ของประเทศหรือถิ่นที่ไปเยือนด้วย ในกรณีที่ไม่แน่ใจถึงมาตรฐาน ควรเตือนให้นักท่องเที่ยวรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ หรือทานอาหารที่มีการบรรจุหีบห่อมิดชิด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรืออาหารที่ไม่มีฝาปิดมิดชิด หรือปรุงไม่สะอาด
1.2 ป่วยเป็นไข้หวัด
การปฏิบัติ : ควรดูแลไถ่ถาม แสดงความเป็นห่วงเป็นใยนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด ถามว่าแพ้ยาอะไรหรือไม่ ให้เขาทานยาและแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ ทำร่างกายให้อบอุ่นตลอดเวลา พยายามให้พักผ่อนมากเป็นพิเศษ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรพาไปพบแพทย์ หรือถ้าอยู่ที่โรงแรมควรขอให้พนักงานโรงแรมตามแพทย์เพราะที่โรงแรมอาจมีแพทย์ประจำ ถ้าป่วยบนรถควรพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อย่าปล่อยให้เป็นมากเพราะอาจจะติดต่อนักท่องเที่ยวคนอื่น
การป้องกัน : แนะนำนักท่องเที่ยวให้ใส่เสือผ้าอบอุ่น เมื่อออกไปข้างนอกที่มีอากาศหนาวควรระวังไม่ให้เชื้อไข้ไปติดต่อนักท่องเที่ยวอื่น เช่น ควรจัดให้มีช้อนกลางเวลารับประทานอาหาร เป็นต้น
1.3 ป่วยกะทันหัน เช่น เป็นลม ไมเกรน ทอนซิลอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบหรือโรคประจำตัวกำเริบ
การปฏิบัติ : ควรนำส่งโรงพยาบาลถ้าอาการไม่ดีควรอยู่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ดูแลใกล้ชิด ถ้ายังอยู่ในเมืองหรือจังหวัดนั้น ก็ให้ค้างคืนที่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา แต่ถ้าต้องเดินทางต่อไปที่อื่นและคนป่วยยังไม่สามารถไปได้ มัคคุเทศก์ควรแนะนำให้ญาติหรือเพื่อนที่มาด้วยเฝ้าดูอาการ ถ้าวันรุ่งขึ้นอาการดีขึ้นผู้ป่วยและญาติอาจจะตามไปสมทบยังสถานที่ท่องเที่ยวยังรายการถัดไป แต่ถ้าจำเป็นต้องรักษาตัวต่อนักท่องเที่ยวจะต้องหยุดการท่องเที่ยว โดยมัคคุเทศก์จะเป็นผู้ติดต่อเรื่องยานพาหนะ เพื่อการเดินทางกลับหลังจากแพทย์อนุญาตให้เดินทางกลับได้
การป้องกัน : การเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน มัคคุเทศก์ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถ้ามีคนเป็นโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ต้องแนะนำให้นักท่องเที่ยวนำยาติดตัวตลอดเวลา และควนมีบัตรเขียนข้อความ การปฏิบัติกับผู้ป่วยใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือในจุดอื่นที่พบง่าย ที่สำคัญมัคคุเทศก์ควรสอบถามอาการนักท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งหมดว่ามีใครที่เริ่มมีอาการรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ จะได้ดูแลเขาใกล้ชิดมากขึ้น
1.4 อุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บมีแผล หกล้มขาแพลง ขาหัก แขนหัก
การปฏิบัติ : ถ้ายังไม่สามารถพาคนเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลได้ทันที ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยใช้ยาสามัญประจำบ้านที่เตรียมมาช่วยให้คนเจ็บก่อน แล้วจึงนำส่งโรงพยาบาลแล้วรายงานให้บริษัททราบเพื่อขอคำแนะนำ
การป้องกัน : โดยมากมักเป็นเหตุสุดวิสัย เป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดเหนือการควบคุม มัคคุเทศก์อาจเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวัง ถ้าไปในสถานที่ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น ปีนเขา เดินป่า กิจกรรมผาดโผนต่าง ๆ การเดินข้ามถนนให้ระวังรถ เป็นต้น
1.6 เสียชีวิต
กรณีชาวไทย
การปฏิบัติ : ถ้าเสียชีวิตภายในประเทศ ต้องแจ้งตำรวจท้องที่และติดต่อญาติของนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิต เพื่อมาจัดการเรื่องศพ หลังจากนั้นต้องรายงานให้บริษัททราบ กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศมัคคุเทศก์ควรปฏิบัติดังนี้
1) แจ้งตำรวจท่องถิ่นเพื่อชันสูตรศพ
2) แจ้งสถานทูต หรือกงสุลในประเทศนั้น
3) ติดต่อไปยังบ้านผู้ตาย เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องจะให้นำศพกลับหรือจัดการเผาซึ่งครอบครัวผู้ตายจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
4) รายงานให้บริษัททราบ และขอคำปรึกษา กรณีติดต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่ได้ ให้บริษัทจัดการติดต่อครอบครัวในขณะที่ผู้นำเที่ยวอาจจัดการเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตและให้คนขับรถหรือผู้ช่วยทำหน้าที่นำเที่ยวแทน
กรณีชาวต่างประเทศให้ปฏิบัติเหมือนกับคนไทยเสียชีวิตในต่างประเทศ โดยอาจให้บริษัทติดต่อบริษัทตัวแทนต่างประเทศ เพื่อแจ้งให้ญาติทราบเกี่ยวกับการจัดงานศพ
กรณีเสียชีวิตบนเครื่องบิน ให้แจ้งพนักงานบนเครื่อง ซึ่งจะใช้ผ้าคลุมศพไว้ โดยไม่เคลื่อนย้ายศพ กัปตันอาจติดต่อสนามบอนที่ใกล้ที่สุดเพื่อจัดการขอนำศพลง หรือเดินทางต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าระยะทางไม่ไกลเกินไป จากนั้นจัดการนำศพลงหลังจากผู้โดยสารลงหมดแล้ว
กรณีเสียชีวิตบนเรือ จัดการนำศพขึ้นที่ท่าเรือที่ใกล้ที่สุด เพื่อต่อเครื่องบินกลับบ้านหรือไม่ก็นำศพแช่เย็นไว้แล้วเดินทางต่อจนเรือถึงจุดหมายปลายทาง
2. ปัญหาเกี่ยวกับกระเป๋าเดินทางหรือของหาย ถือว่าเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายกระเป๋าเดินทาง เพราะถ้าไม่ตรวจสอบกระเป๋าตลอดเวลาจะทำให้ไม่ทราบว่ากระเป๋าหายที่ใด ที่สนามบิน ที่รถไฟ ที่โรงแรม หรือหยิบผิดมา
2.1 ที่สนามบิน
การปฏิบัติ : 1. แจ้งสายการบิน โดยนำเอกสารพาสปอร์ตและบอกเที่ยวบินและจุดหมายปลายทางเพื่อให้สายการบินช่วยติดตามให้ เพราะกระเป๋าอาจถูกส่งผิดไปกับเที่ยวบินอื่น นักท่องเที่ยวจะต้องแจ้งรายละเอียดสิ่งของในกระเป๋า และลักษณะกระเป๋าให้ละเอียด เพื่อขอเงินค่าชดเชยกรณีที่หากระเป๋าไม่เจอ พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดในการเดินทาง การเข้าพัก เมื่อสายการบินพบกระเป๋าจะได้ติดต่อส่งคืนให้ถูก
2. พานักท่องเที่ยวไปซื้อของใช้จำเป็น เช่นเสื้อผ้า ระหว่างรอของมาถึงและสามารถนำบิลมาเพื่อรับเงินกับสายการบินได้ ถ้าหากเป็นความรับผิดชอบของสายการบิน
การป้องกัน : ควรมีป้ายชื่อของบริษัทที่มีลักษณะแปลก สีสันสะดุดตาและมีตัวอักษรตัวโตมีริบบิ้นสีสดใสผูกให้เห็นเด่นชัดติดให้คงทนไม่หลุดง่าย เขียนเที่ยวบินและเมืองจุดหมายปลายทางด้วยตัวอักษรที่เห็นได้ง่าย
2.1 ที่โรงแรม
การปฏิบัติ : มัคคุเทศก์ควรติดต่อหัวหน้าพนักงานขนกระเป๋า เพื่อตรวจกระเป๋าและหมายเลขห้องพัก เพราะพนักงานขนกระเป๋าอาจจะส่งผิดห้องได้ ถ้าหมายเลขห้องคล้ายกัน เช่น 667 677 766 776 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ต้องโทรเช็คไปตามห้องที่หมายเลขคล้ายคลึงกัน ถ้าหาไม่พบต้องแจ้งผู้จัดการห้องพัก หรือ Bell Boy เพื่อตรวจสอบห้องแขกคนอื่นกรณีอาจส่งผิด ถ้าหาที่โรงแรมไม่พบต้องตรวจสอบที่รถ เพราะอาจหลงอยู่ในรถและท้ายสุดที่สายการบิน เพราะนักท่องเที่ยวอาจไม่ได้หยิบมาจากสายพานส่งกระเป๋า เพราะคิดว่ามีคนยกมาให้แล้วก็ได้
การป้องกัน : มัคคุเทศก์ต้องเตือนให้นักท่องเที่ยวตรวจสอบกระเป๋าของตนทุกครั้งที่มีการขนย้ายกระเป๋า และในขณะเดียวกันมัคคุเทศก์ต้องตรวจสอบจำนวนทุกครั้งที่ขนย้ายกระเป๋าเดินทางด้วย (พวงบุหงา ภูมิพานิช, 2539)
3. ปัญหาของมีค่าหาย
3.1 หนังสือเดินทาง
การปฏิบัติ : ถ้าทราบว่าหายต้องตรวจสอบตามสถานที่ที่ผ่านมา ที่คาดว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่เป็นจุดหาย ต้องแจ้งตำรวจท้องที่แล้วนำใบแจ้งความไปที่สถานทูต หรือสถานกงสุลที่ใกล้ที่สุดของประเทศนักท่องเที่ยว เพื่ออกเอกสารเดินทางให้แทนฉบับที่สูญหาย ดังนั้นส่วนใหญ่ผู้นำเที่ยวจะมีข้อมูลรายละเอียดหนังสือเดินทางซึ่งได้แก่ เลขที่หนังสือเดินทาง วันที่ออก สถานที่ออก และรูปภาพ สำเนาบัตรประชาชน เพราะจะช่วยให้การออกหนังสือเดินทางฉบับใหม่เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ถ้าคณะยังท่องเที่ยวอยู่ที่เมืองนั้นก็อาจจะร่วมเดินทางตามรายการได้ แต่ถ้าคณะต้องเดินทางต่อไปยังเมืองหรือประเทศอื่น อาจติดต่อหาที่พักให้นักท่องเที่ยวคนนั้น แล้วเดินทางตามไปสมทบภายหลัง
การป้องกัน : หนังสือเดินทางเป็นเอกสารสำคัญที่สุดที่จะแสดงว่านักท่องเที่ยวเป็นใครในต่างแดนเปรียบเสมือนบัตรประชาชนไว้ใช้ในต่างแดน ต้องเตือนให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังดูและรักษาหนังสือเดินทางอยู่เสมอ โดยเฉพาะถ้าต้องไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่นบางครั้งผู้ที่นำเที่ยวจะนำหนังสือเดินทางของนักท่องเที่ยวมาเก็บไว้เอง ผู้นำเที่ยวต้องรอบคอบมีซองใส่และนำติดตัวตลอดเวลา ที่สำคัญควรทำสำเนาไว้ด้วยโดยแยกเก็บสำเนาไว้ที่อื่น (บริษัทการท่าอากาศยานไทย, 2547)
3.2 บัตรโดยสารเครื่องบิน
การปฏิบัติ : ส่วนใหญ่แล้วหัวหน้าทัวร์จะเป็นผู้เก็บบัตรโดยสารไว้ และจะมอบให้นักท่องเที่ยวเมื่อตอนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เพราะบางประเทศผู้เดินทางเข้าประเทศต้องแสดงบัตรโดยสาร และเมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วมัคคุเทศก์อาจขอคืนเป็นการป้องกันนักท่องเที่ยวทำหาย แต่ถ้ามัคคุเทศก์ทำหายต้องแจ้งสายการบินและแจ้งให้บริษัททราบ
การป้องกัน : เช่นเดียวกับหนังสือเดินทางหาย เพราะถ้าหายก็จะไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ ควรจดหมายเลขบัตรโดยสารเครื่องบินของกลุ่มนักท่องเที่ยวตน เผื่อกรณีหายจะได้แจ้งหมายเลขแก่สายการบินได้ถูกต้อง
3.3 ตั๋วแลกเงินเพื่อการเดินทาง
การปฏิบัติ : ติดต่อไปยังธนาคารหรือสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตั๋วแลกเงินเพื่อการเดินทางที่ใกล้ที่สุดเพื่ออายัตและออกให้ใหม่ ถ้ามีใบเสร็จหรือเลขที่เช็ค ธนาคารจะสามารถออกเช็คใหม่ให้ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ทราบเลขที่อาจจะต้องเสียเวลาในการค้นหาก่อน
การป้องกัน : แนะนำให้เก็บไว้กับตัวเองตลอดเวลา และไม่ควรเก็บไว้ที่กระเป๋าเงินควรมีกระเป๋าอีกใบสำหรับเก็บเอกสารมีค่า ควรจดเลขที่เช็คและหมายเลขโทรศัพท์ของธนาคารที่ออกเช็คเดิมที่หาย เพื่อจะได้ติดต่อเวลามีปัญหาและต้องลงนามไว้ก่อนหนึ่งที่เพื่อคนที่ได้ไปจะทำไปใช้ไม่ได้
3.4 บัตรเครดิต
การปฏิบัติ : แจ้งธนาคารหรือสำนักงานสาขาที่ใกล้ที่สุดเพื่ออายัด
การป้องกัน : แนะนำให้เก็บอย่างดี ติดตัวตลอดเวลา และควรจดเลขที่บัตรไว้
3.5 ใบสัญญาการชำระเงิน
การปฏิบัติ : ไม่ว่าจะเป็น Voucher โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่เข้าชม ควรติดต่อขอบริษัทให้ส่ง Voucher ฉบับสำเนาหรือขอให้ออกใบแทนให้ โดยสถานประกอบการต่าง ๆ จะรับใบแทนถ้ามัคคุเทศก์ลงนามรับรอง หรืออาจไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ถ้าหากสถานประกอบการอำนวยความสะดวกให้
การป้องกัน : แนะนำให้เก็บอย่างดี ติดตัวตลอดเวลา
3.6 เงินสด
การปฏิบัติ : เมื่อเงินหาย ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวอาจขอยืมจากเพื่อน หรือญาติที่มาด้วยกัน กรณีมัคคุเทศก์ทำเงินหายให้ยืมเงินจากบริษัท หรืออาจสำรองเงินส่วนตัวของตนไปก่อน
การป้องกัน : ส่วนใหญ่ถ้าเป็นของมีค่า ควรเตือนให้ระมัดระวังกระเป๋าเงินทุกครั้งที่ต้องไปในสถานที่ชุมชนหนาแน่น ไม่ควรเก็บเงินไว้ที่เดียวทั้งหมด ควรแบ่งเก็บไว้ที่อื่นด้วย
3.7 นักท่องเที่ยวหลงทางหรือหาย
การปฏิบัติ : 1) รออยู่ในบริเวณนั้นสักพัก เพราะสัญชาติญาณนักท่องเที่ยวจะต้องกลับมาที่จุดที่คุ้นเคยหรือจุดที่มัคคุเทศก์แนะนำให้คอย
2) รีบออกค้นหาในบริเวณใกล้เคียง
3) แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นทราบ เพื่อประชาสัมพันธ์พร้อมบอกสถานที่ติดต่อนัดพบ
4) โทรสอบถามที่โรงแรมที่พักล่าสุด เพราะเขาอาจกลับไปรอที่นั่น
5) แจ้งตำรวจท้องที่หรือตำรวจท่องเที่ยวเป็นอันดับสุดท้ายกรณีหาทุกวิถีทางแล้วไม่เจอ
การป้องกัน : พยายามให้นักท่องเที่ยวเดินกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะถ้าไปในบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น พลุกพล่าน มัคคุเทศก์ควรถือสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ให้เด่นชัด เช่น เดินถือร่มหรือธง ให้เบอร์โทรศัพท์แก่นักท่องเที่ยว หรืออาจให้มัคคุเทศก์เดินนำหน้าและหัวหน้าทัวร์เป็นคนเดินสุดท้าย เพื่อดูแลยักท่องเที่ยวที่เดินช้าอยู่ข้างหลัง หรือแจกสัญลักษณ์ประจำกลุ่ม เช่น หมวก เสื้อ ฯลฯ และแนะนำให้ทุกคนหยิบนามบัตรของโรงแรมติดตัวไปด้วย เผื่อหลงทางกลับโรงแรมไม่ทุก (กรณีต้องกลับโรงแรม) หรือมัคคุเทศก์ใช้วิธีนัดแนะจุดนัดพบหากเกิดพัดหลงให้เขามาพบเจอ ณ ที่ตรงนั้นตรงนี้
4. ปัญหาเกี่ยวกับยานพาหนะ
4.1 เครื่องบินล่าช้า (Flight Delay) ไม่ว่าจะเป็นการได้ขึ้นเครื่องบินช้า หรือถึงจุดหมายปลายทางช้าซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ อาจเนื่องจากสาเหตุใหญ่ 4 ประการ คือ
1) สภาวะอากาศ เช่น พายุฝน พายุหิมะ หมอกลงจัด
2) เครื่องขัดข้อง ต้องเสียวเวลาซ่อมบำรุง
3) บางวันมีเที่ยวบินหนาแน่น หรืออาจเนื่องมาจากมีเที่ยวบินพิเศษหรือมีเที่ยวบินของบุคคลสำคัญเที่ยวบินปกติจึงต้องบินวนก่อน
4) ผู้โดยสารบางคนหรือบางกลุ่มทำการเช็คอิน หรือขึ้นบนเครื่องล่าช้าทำให้เครื่องต้องถึงปลายทางล่าช้าตามไปด้วย
การปฏิบัติ : มัคคุเทศก์ต้องพยายามให้นักท่องเที่ยวอยู่รวมกลุ่มกัน เพื่อสะดวกเวลาติดต่อกับเจ้าหน้าที่สายการบิน แต่ถ้าอยู่ที่ห้องรอขึ้นเครื่องแล้ว ต้องดูว่าเจ้าหน้าที่สายการบินจะทำอย่างไรกับกลุ่ม อาจจะให้ทุกคนรออยู่ที่ห้องนั้น หรืออาจจะจัดให้อยู่ให้องใดห้องหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นหน้าที่ของสายการบินที่ต้องรับผิดชอบความล่าช้า เมื่อถึงเวลาอาหารจะต้องให้คูปองอาหารและเครื่องดื่ม ถ้าถึงขั้นต้องยกเลิกเที่ยวบิน สายการบินต้องจัดทุกอย่างให้ขณะที่รอเที่ยวบินใหม่ ซึ่งถ้าเครื่องล่าช้าเกิน 3 ชั่วโง สายการบินจะรับผิดชอบจัดอาหาร ถ้าเกิน 8 ชั่วโมง ต้องจัดที่พักชั่วคราวให้ เป็นต้น
กรณีเครื่องบินล่าช้า ผู้นำเที่ยวต้องรายงานให้บริษัททราบ เพื่อติดต่อไปยังผู้ประกอบการต่างๆ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร หรือรถโค้ชที่มารอรับ และต้องปรับเปลี่ยนรายการนำเที่ยวให้เหมาะสมด้วยหรือถ้าไปต่างประเทศควรให้บริษัทติดต่อ Local Agent ให้ทราบถึงความล่าช้าด้วย
การป้องกัน : การป้องกันทำได้ยากเพราะเป็นเหตุสุดวิสัย นอกจากจะเลือกจัดการเดินทางในช่วงที่แน่ใจว่า ไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับอากาศ และสาเหตุอื่นที่อาจนำไปสู่การล่าช้าได้
4.2 รถโค้ช
4.2.1 เครื่องยนต์เสีย หรือยางแตก
การปฏิบัติ : อาจเป็นเครื่องยนต์เสีย ยางรั่วหรือแตก มัคคุเทศก์ควรต้องมีสติไม่ตื่นตระหนก เมื่อนักท่องเที่ยวถามควรชี้แจงให้ทราบว่าเป็นเรื่องธรรมดามันสามารถเกิดขึ้นและสามารถแก้ไขได้ ต้องประเมินสถานการณ์โดยสอบถามจากพนักงานขับรถก่อนว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องใช้เวลาแค่ไหน จะมีผลกระทบต่อโปรแกรมท่องเที่ยวหรือไม่ ถ้ามีผลกระทบก็ต้องให้บริษัทรถหรือตัวมัคคุเทศก์ต้องช่วยกันติดต่อรถใกล้เคียงมารับช่วงต่อโดยด่วน หรือถ้ารถเสียอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวก็อาจเช่ารถที่ผ่านไปผ่านมาให้พาไปดูสิ่งที่น่าสนใจใกล้เคียงก่อนเป็นการฆ่าเวลา และถ้ารถมีปัญหาไม่มากก็อาจเปิดวีดีโอให้ความบันเทิงบนรถ ขณะเดียวกันระหว่างรอซ่อมต้องโทรศัพท์แจ้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องนัดแนะเวลาใหม่ เมื่อเห็นว่าไปไม่ทันเวลาที่นัดหมายในรายการ
การป้องกัน : การติดต่อรถควรเลือกรถใหม่ สภาพดี ถึงแม้จะเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าก็ยังดีกว่าต้องมาเสียเวลาเพราะจะทำให้รายการมีปัญหาเป็นลูกโซ่ ช่วยพนักงานขับรถตรวจสอบรถทุกครั้งที่มีการแวะพักระหว่างทาง
4.2.2 แอร์ไม่เย็น หรือแอร์เสีย
การปฏิบัติ : กรณีแอร์ไม่เย็น เมื่อถึงตัวเมืองใช้เวลาว่างในการตรวจแอร์รถ ถ้าแอร์ไม่เย็นเพราะน้ำยาแอร์หมดจะได้เติม แต่ถ้าแอร์เสียก็ต้องจัดการซ่อมก่อนจะใช้รถวันรุ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นการขับผ่านเมืองควรโทรศัพท์ติดต่อไปที่บริษัทเพื่อเปลี่ยนรถ ไม่ควรให้นักท่องเที่ยวทนร้อนนั่งรถคันที่มีปัญหาไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
การป้องกัน : ควรเลือกรถสภาพดี และตรวจสอบรถและแอร์ก่อนออกเดินทาง
4.2.3 เกิดอุบัติเหตุ รถชนกับรถคันอื่น รถถูกชนท้าย หรือรถคว่ำ
การปฏิบัติ : กรณีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ถ้าอยู่นอกเมืองควรติดต่อบริษัทเล่าเหตุการณ์และขอคำแนะนำ จัดการหาเช่ารถคันใหม่ แต่ถ้าอุบัติเหตูเกิดในเมืองและรถยังอยู่ในสภาพดี อาจให้นักท่องเที่ยวเดินดูของบริเวณนั้น ขณะเจรจาความกันแล้วจึงออกเดินทางต่อ แต่ต้องไม่ลืมรายงานไปยังบริษัท แต่ถ้าสภาพรถเสียหายต้องให้บริษัทรถเดิมจัดหารถใหม่ให้ หรืออาจขอคำปรึกษาขอความช่วยเหลือจากบริษัทนำเที่ยว กรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บต้องนำส่งโรงพยาบาลก่อน ให้แจ้งตำรวจท่องเที่ยวหรือตำรวจท้องที่ แล้วโทรศัพท์แจ้งไปยังบริษัทเพื่อขอคำปรึกษา โดยบริษัทอาจส่งรถหรือคนมาช่วยนำเที่ยวแทน แต่ถ้ารถยังใช้ได้ดี และมีผู้บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย อาจให้มัคคุเทศก์หรือผู้ช่วยเป็นผู้พานักท่องเที่ยวที่เหลือท่องเที่ยวต่อ ขณะที่มัคคุเทศก์ควรดูแลคนเจ็บอยู่โรงพยาบาล ถ้าคนเจ็บต้องการกลับบ้านต้องจัดการเรื่องเครื่องบิน หรือรถโดยสารให้ ถ้าคนเจ็บได้รับบาดเจ็ดสาหัส ต้องโทรติดต่อญาติผู้ป่วยให้รับทราบ
การป้องกัน : เตือนคนขับทุกครั้งที่เห็นว่าขับเร็ว ถ้าขับรถนานประมาณ 2-3 ชั่วโมงควรมีการพักรถ เพื่อให้คนขับได้พักและป้องกันการหลับใน และพยายามชวนเขาพูดคุยบ้างเพื่อให้เขามีสติตลอดเวลา ไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้คนขับดื่มเหล้าหรือเบียร์ ยาทุกประเภทที่จะเป็นการกล่อมหรือกระตุ้นประสาท รวมถึงการไม่ชักชวนให้เขาเที่ยวเตร่หลังเวลางานเพราะจะทำให้เขามีเวลาพักผ่อนน้อย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลงไป
4.2.4 ปัญหารถหลงทาง
การปฏิบัติ : ไม่ว่าจะเป็นคนขับหลงทางหรือมัคคุเทศก์หลงทาง มัคคุเทศก์ต้องอย่าให้นักท่องเที่ยวรู้ว่ากำลังหลงทางเพราะจะทำให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น ต้องพยายามปรึกษากันก่อนระหว่างมัคคุเทศก์กับคนขับรถ ถ้าไม่ได้ผลอย่าดันทุรังไปตามความคิดเพราะอาจทำให้หลงทางหนักมากขึ้น ทางที่ดีควรแวะทำธุระระหว่างทาง เช่น แวะปั๊ม หรือให้นักท่องเที่ยวได้แวะซื้อของระหว่างสงทางซึ่งระหว่างนี้มัคคุเทศก์ก็ควรรีบไปถามทางอย่างรวดเร็ว
การป้องกัน : มัคคุเทศก์ควรศึกษาเส้นทางมาอย่างดี ทำความตกลงให้เข้าใจกับคนขับรถ ช่วยกันดูเส้นทางตลอดเวลา ไม่ควรให้คนขับรถขับรถโดยลำพังจุดใดที่คาดว่าจะไปไม่ถูกควรหาข้อมูลจากผู้รู้เสียก่อน
4.2.5 ปัญหาการล่าช้าในการเดินทาง
การปฏิบัติ : อาจเกิดจากตัวนักท่องเที่ยวที่ล่าช้าหรือสภาพอากาศไม่เป็นใจ หรือสภาพทางไม่เอื้ออำนวย มัคคุเทศก์ต้องปรึกษาหารือกับคนขับรถตลอดเวลา และขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวให้รักษาเวลามิเช่นนั้นอาจเที่ยวได้ไม่ครบตามโปรแกรม ควรคิดวางแผนจัดการโปรแกรมใหม่ตลอดเวลาโดยเน้นให้ได้ไปครบตามโปรแกรมระบุโดยอาจย่นระยะเวลาแวะชมในบางจุดที่ไม่สำคัญลง
การป้องกัน : มัคคุเทศก์ต้องย้ำเรื่องเวลากับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอในทุกจุด ต้องมีจิตวิทยาในการตักเตือนในกรณีที่เห็นว่านักท่องเที่ยวล่าช้า ต้องชี้แจงให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงผลเสียถ้าเกิดการล่าช้า
5. ปัญหาเกี่ยวกับห้องพัก
5.1 ไม่ได้ห้องพัก
การปฏิบัติ :
1) ติดต่อหาโรงแรมใหม่
2) ให้โรงแรมติดต่อที่อื่นให้และควรย้ำให้เป็นโรงแรมในระดับเดียวกัน นักท่องเที่ยวควรได้อยู่รวมกันในโรงแรมเดียวกันถ้าโรงแรมเติมจริง ๆ ถึงให้กระจายกันอยู่ตามโรงแรมต่าง ๆ
3) อาจติดต่อบริษัทให้หาโรงแรมให้
4) ถ้ารู้ว่าถูกทางโรงแรมเอาเปรียบไม่ทำตามสัญญา มัคคุเทศก์ควรปรึกษาให้ข้อมูลแก่ทางบริษัทเพื่อดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายกลับคืน
5) กล่าวขอโทษนักท่องเที่ยว ให้เหตุผลความจำเป็นเพื่อให้เขาเข้าใจ
การป้องกัน : ก่อนเดินทางควรติดต่อสอบถามไปที่โรงแรมก่อน เพราะถ้ามีปัญหาเรื่องห้องพักจะได้แก้ปัญหาได้ทัน และเมื่อใกล้ถึงเมือง/จังหวัดที่เป็นที่ตั้งโรงแรมนั้นแล้ว ควรโทรศัพท์เพื่อยืนยันการมาอีกครั้งเพราะถ้ามีปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันก่อนมาถึงมัคคุเทศก์ควรมีรายชื่อโรงแรมพร้อมเบอร์โทรสำรองไว้กรณีเกิดปัญหา
5.2 ห้องพักไม่ดี กรณีนักท่องเที่ยวเข้าไปในห้องพัก ปรากฏว่าห้องพักอยู่ในสภาพไม่ดี มีกลิ่นเหม็นอับ อุปกรณ์ในห้องอยู่ในสภาพชำรุด ฝักบัวใช้ไม่ได้ น้ำไหลน้อย นักท่องเที่ยวไม่พอใจ ต้องเปลี่ยนห้อง ฯลฯ
การปฏิบัติ : ก่อนอื่นต้องเช็คว่าสภาพห้องเป็นไปตามข้อตกลงหรือไม่ เมื่อผู้นำเที่ยวมาดูสภาพห้องแล้วเป็นอย่างคำกล่าวของนักท่องเที่ยวต้องติดต่อเคาน์เตอร์โรงแรมเพื่อขอเปลี่ยนห้อง ถ้าห้องเต็มหมดไม่สามารุเปลี่ยนห้องได้ มัคคุเทศก์ต้องมีสปิริตยอมเสียสละห้องของตนให้นักท่องเที่ยว แต่ถ้าจำเป็นต้องให้นักท่องเที่ยวต้องใช้ห้องเดิมควรให้แม่บ้านหรือช่างซ่อมในโรงแรมมาแก้ไขให้มากที่สุดและเมื่อเข้าพักโรงแรมอื่นในวันถัดไปต้องจักห้องที่ดีที่สุดให้เป็นการชดเชย จากนั้นกลับไปรายงานบริษัทเพื่อจะได้ขอเงินชดเชยในส่วนที่เสียหายคืน หรือเพื่องดใช้บริการของโรงแรมนั้นอีกต่อไป
การป้องกัน : บริษัทควรเลือกติดต่อโรงแรมที่อยู่ในสภาพปานกลางถึงสภาพใหม่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร ย้ำเตือนเรื่องข้อตกลงและการบริการที่ต้องการและขอคำยืนยันจากโรงแรมก่อนเข้าพัก
5.3 ไฟไหม้โรงแรม
การปฏิบัติ : ถ้าเกิดไฟไหม้ให้ใช้บันไดหนีไฟ ไม่ใช้ลิฟต์ ถ้าโทรศัพท์ไม่เสียให้โทรบอกข้างล่างและหาทางออกโดยเปิดหน้าต่างใช้ผ้าปูที่นอนโบกไปมาทางหน้าต่างเพื่อขอความช่วยเหลือจากภายนอกและใช้ผ้าเปียกปิดจมูก พยายามหาทางออกแล้วจึงพยายามช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเท่าที่จะทำได้พยายามเตรียมน้ำหรือทำตัวให้เปียกน้ำ กรณีต้องติดอยู่ภายในห้องให้คลานต่ำเนื่องจากมีอากาศมากกว่าแล้วพยายามหาทางออกต่อไป ให้ใช้เครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ โทรแจ้ 199 หรือสถานีดับเพลิง สถานีตำรวจใกล้เคียงทันทีหากทำได้
การป้องกัน : การเกิดไฟไหม้โรงแรมค่อนข้างเป็นได้ได้ยาก และเมื่อเกิดขึ้นแล้วการช่วยเหลือคงทำได้ยาก เพราะต่อช่วยเหลือตนเองก่อนถึงจะสามารถช่วยคนอื่นได้ แต่เพื่อความไม่ประมาทควรมีเอกสารแนะนำข้อปฏิบัติในขณะเกิดไฟไหม้ (Mancini, M. 1990) มัคคุเทศก์ควรย้ำเตือนเรื่องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การสูบบุหรี่ในห้องพัก การให้นักท่องเที่ยวได้สังเกตแผ่นป้ายบันไดหนีไฟในห้องพักเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน
6. ปัญหาเกี่ยวกับอาชญากรรม
การปฏิบัติ : ถ้าเพิ่งประสบเหตุ ควรขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างจากนั้นให้รีบแจ้งความกับตำรวจท้องที่ บอกถึงเหตุการณ์และลักษณะสิ่งของที่ถูกโจรกรรม แจ้งชื่อที่อยู่เบอร์โทรศัพท์แก่ทางเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จับได้จะได้ติดต่อคืนของ
การป้องกัน : ควรเตือนนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ เพราะแต่ละประเทศก็อาจมีวิธีก่ออาชญากรรมที่แตกต่างกัน เตือนเวลานอนต้องปิดล๊อกประตูอย่างดี ควรนำของมีค่าฝากเก็บไว้ในตู้เซฟในห้องพัก หรือตู้ฝากของในบริเวณแผนกต้อนรับ ระวังของมีค่าและหนังสือเดินทางซึ่งควรมีที่เก็บแยกจากกระเป๋าเงิน เวลาเดินทางระวังกระเป๋าสะพายเวลานั่งควรวางไว้บนตักตลอดเวลา ไม่ควรแขวกระเป๋าที่เก้าอี้ เวลาเดินในที่ผู้คนหนาแน่นไม่ควรเดินเข้าไปตามตรอกซอยเปลี่ยวที่ไม่ค่อยมีคนเดิน มัคคุเทศก์ต้องเตือนนักท่องเที่ยวว่า ถ้านักท่องเที่ยวมีความระมัดระวังโอกาสที่จะถูกโจรกรรมทรัพย์สินจนถึงขั้นประทุษร้ายจะเป็นไปได้ยาก
7. ปัญหาเมื่อลูกทัวร์ไม่พอใจ
การปฏิบัติ :
1. กล่าวขอโทษ
2. รับฟังนักท่องเที่ยวอย่างตักอกตั้งใจ
3. ตอบสนองนักท่องเที่ยวโดยการเสนอตัวที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ (นักท่องเที่ยวต้องการให้เราตอบสนองทันที)
4. ลงมือแก้ไขปัญหา
5. ติดตามผล
การป้องกัน : ต้องศึกษาพื้นฐานประวัติความเป็นมาของนักท่องเที่ยวแต่ละคนแต่ละกลุ่มว่ามีความต้องการในเรื่องอะไร พยายามสังเกตพฤติกรรมการท่องเที่ยวและการบริการตอบสนองให้ทุกฝ่ายได้รับความพึงพอใจมากที่สุด
ความคิดเห็น