คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : หน่วยงานเกี่ยวกับมัคคุเทศก์3
9. สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (Professional Guide association Thailand: PGA)
เป็นหน่วยงานภาคเอกชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 จากการรวมตัวของผู้ประกอบการวิชาชีพ โดยมีสมาชิกได้แก่ บุคคลผู้มีอาชีพมัคคุเทศก์ และผ่านกาอบรมหลักสูตรวิชาชีพมัคคุเทศก์ ซึ่งมีสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพหรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรับรอง หน้าที่หลักของสมาคมคือเพื่อยกระดับอาชีพมัคคุเทศก์ให้มีชื่อเสียง สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวและความสามัคคีในหมู่สมาชิกและมีวัตถุประสงค์หลักอื่น ๆ อีก 8 ประการดังนี้ (คณะกรรมการจัดทำหนังสือคู่มือประกอบการอบรมมัคคุเทศก์, (บก.), 2541)
1. คุ้มครองสิทธิและประโยชน์อันชอบธรรมของมัคคุเทศก์
2. ยกระดับมาตรฐานและส่งเสริมวิทยฐานะแห่งอาชีพมัคคุเทศก์
3. ป้องกันและเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของอาชีพมัคคุเทศก์
4. สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยงและเผยแพร่ข่าวสาร
5. จัดสวัสดิการระหว่างสมาชิก
6. ส่งเสริมสามัคคีธรรมและภราดรภาพ
7. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์
8. ส่งเสริมการกีฬาและบันเทิง ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง
หลายครั้งอาจมีกรณีพิพาทระหว่างนักท่องเที่ยวกับมัคคุเทศก์ หรือมัคคุเทศก์กับบุคคลอื่น สมาคมมัคคุเทศก์จะเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหา(กรณีมัคคุเทศก์เป็นสมาชิกของสมาคม) มัคคุเทศก์จึงควรมีการประสานงานกับหน่วยงานนี้ทันทีหากเกิดปัญหา เพื่อเป็นการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นพร้อมขอคำชี้แนะในกรณีเกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้น มัคคุเทศก์อาจใช้สมาคมนี้เป็นที่พบปะสังสรรค์กับเพื่อนร่วมอาชีพ โดยร่วมกันให้ข้อชี้แนะและสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพมัคคุเทศก์ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiguide.or.th
10. สมาคมส่งเริมการประชุมนานาชาติ (Thailand Incentive And Convention Association: TICA)
เป็นหน่วยงานภาคเอกชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2527 มีสมาชิกประกอบด้วยธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องกับทุกสาขาอาชีพรวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมในการส่งเสริมในการจัดประชุมนานาชาติ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและการแลกเปลี่ยนความรู้ในประเทศไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสมาคมท่องเที่ยวภาคเอกชนในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยวในภูมิภาค ได้แก่ สมาคมการท่องเที่ยวภาคเหนือ สมาคมการค้าส่งเสริมกาท่องเที่ยวพัทยา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสงขลา เป็นต้น ต่อมาสมาคมเหล่านี้ได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็น “สมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย” เมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคทั้งหมดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือซ้ำซ้อนกัน เช่น การคมนาคม การสื่อสาร และความปลอดภัย เป็นต้นให้สามารถดำเนินการและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ มีรวม 6 ประการคือ
1. เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
2. เพ่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาค
3. เพื่อประสานงานกับภาครัฐบาลภาคเอกชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนพัฒนา และส่งเสริมตลอดจนแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาค
4. เพื่อส่งเสริมมาตรฐานการบริการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับ และประชา สัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักของตลาดการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
5. เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและส่งข่าสารระหว่างผู้ประกอยธุรกิจการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาค
6. เพื่อหารายได้นำไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ในการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาค
11. กระทรวงคมนาคม
เป็นหน่วยงานรัฐ มีหน้าที่รับผิดชอบในระบบขนส่ง การสื่อสารคมนาคมของประเทศ แบ่งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในความดูแลออกเป็นหลายส่วน ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้แก่
1) กรมการขนส่ง ถนนพหลโยธิน กรุงเทพฯ
2) กรมทางหลวง ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ จะให้ข่าวสารข้อมูล เส้นทางหลวง และแผนที่กรมทางหลงจำหน่าย กองที่เกี่ยวข้องโดยตรงซึ่งประสานงานนโยบายกรมทางหลวงคือ “กองตำรวจทางหลวง” ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยานพาหนะเดินทางบนเส้นทางหลวงทั่วประเทศ มีสำนักงานอยู่คู่กับกรมทางหลวง ให้บริการตำรวจทางหลวงนำขบวน และให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเส้นทางหลวงทั่วประเทศ
3) กรมอุตุนิยมวิทยา มีหน้าที่รับผิดชอบการพยากรณ์สภาพอากาศทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการประกอบอาชีพและเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลลักษณะอากาศได้จากกองพยากรณ์อากาศ
มัคคุเทศก์ควรติดต่อกรมทางหลวง ตำรวจทางหลวงในเรื่องเส้นทาง การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เช่น ขอบริการตำรวจทางหลวงนำขบวน กรณีจัดนำเที่ยวเป็นขบวนหรือแขก VIP เท่านั้น ส่วนการติดต่อรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เช่นติดต่อบริษัทการบินไทยเกี่ยวกับตั๋วเครื่องบิน หรือตรวจเช็คเวลาเครื่องบินขึ้นลงจากทางท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นต้น ซึ่งหน้าที่เหล่านี้โดยมากเป็นหน้าที่ประจำของแผนกปฏิบัติการของบริษัทนำเที่ยวอยู่แล้ว มัคคุเทศก์เพียงแต่ทำการตรวจสอบการเข้าใช้บริการ ยืนยันที่นั่ง วันเวลาเดินทาง การไปถึงล่วงหน้าทุกครั้ง
12. กรมศิลปากร
เป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดตั้งตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 แบ่งส่วนราชการออกเป็นสำนักงานเลขานุการกรม สำนักการสังคีต สำนักโบราณคดี สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักสถาปัตยกรรม สำนักช่างสิบหมู่ และสำนักศิลปากรที่ 1-15 หน้าที่หลัก ๆ ของกรมศิลปากรคือ คุ้มครอง อนุรักษ์ ปกป้อง บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ สืบทอดศิลปะและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป
มัคคุเทศก์อาจติดต่อกรมศิลปากรในเรื่องการเข้าชม หรือการขออนุญาตเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โบราณสถานและโบราณคดีที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร ในทางปฏิบัติมัคคุเทศก์จะย้ำเตือนและประสานกับฝ่าย Operation ของบริษัทให้จัดการจองให้ มัคคุเทศก์เพียงไปจ่ายค่าเข้าชมตามจำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อเดินทางไปถึง โดยทั้งนี้อาจไม่มีการจองล่วงหน้าจากบริษัทก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามหากเป็น Group Tour ก็มักมีการจองล่วงหน้า มัคคุเทศก์ควรยืนยันการเดินทางด้วยตนเองทุกครั้ง หากเป็นการนำชมเพื่อต้องการข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ มัคคุเทศก์ หรือบริษัทนำเที่ยวอาจต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากร หรือขออนุญาตจากหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์เพื่อขอให้จัดวิทยากรในการบรรยาย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ระหว่างประเทศ
1. องค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาครัฐบาล
แบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ องค์การระดับโลก องค์การระดับภูมิภาคและองค์การระดับอนุภูมิภาค
1.1 องค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาครัฐบาลในระดับโลก ได้แก่
1.1.1 องค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization: WTO) เป็นองค์การที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวนานาชาติ เริ่มก่อตั้งเมื่อ 1925 ในชื่อ International Union of Tourist Publicity Organization และปรับปรุงองค์เรื่อยมาจนกลายเป็น WTO ซึ่งเป็นองค์กรระดับรัฐบาลที่มีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 480 ราย เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินการด้านเทคนิคด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตามแนวทาง 6 ประการคือ
1) การให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
2) การให้ความรู้และฝึกอบรม
3) ด้านสิ่งแวดล้อมและการวางแผน
4) ด้านสถิติและการวิจัย
5) ด้านคุณภาพในการให้บริการทางการท่องเที่ยว
6) การเป็นผู้ประสานงานและการให้ข้อมูล
1.1.2 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) เป็นองค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศซึ่งทำขึ้นที่เมืองชิคาโก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1944 โดยมีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาหลักการและเทคนิคการเดินทางทางอาการระหว่างประเทศและทำนุบำรุง การวางแผนการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศทั่วโลก ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิก 134 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังนี้
1) ปรับปรุงมาตรฐานและกำหนดกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติเกี่ยวกับน่านฟ้าให้เป็นสากล
2) ให้คำแนะนำเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในเรื่องการบินของประเทศสมาชิก
3) กำหนดแผนงานเพื่อลดกฎระเบียบ พิธีการทางศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง
4) วางแผนเรื่องความปลอดภัย และการขยายขอบเขตของการบินพลเรือนระหว่างประเทศให้กระจายไปทั่วโลก
5) พัฒนาเส้นทางการบิน สนามบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบิน เพื่อนำไปสู่มาตรฐานการบินระหว่างประเทศ
6) ดำเนินการต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
7) ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ของประเทศสมาชิก และเปิดโอกาสที่ทัดเทียมกัน ในการดำเนินงานด้านสายการบินระหว่างประเทศสมาชิก
8) กระตุ้นให้มีการออกแบบเครื่องบิน ดูแลเรื่องความปลอดภัย กฎระเบียบ ประสิทธิภาพและความประหยัดในด้านการขนส่งทางอากาศ
9) ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีการดำเนินงานโดยเน้นวัตถุประสงค์ด้านสันติภาพร่วมกัน
10) ส่งเสริมและพัฒนาในทุกด้านของการขนส่งทางอากาศ
1.2 องค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาครัฐบาลในระดับภูมิภาค คือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการเพื่อการพัฒนา (Organization of Economic and Cooperation for Development: OECD) ก่อตั้งขึ้นภายใต้การประชุมในกรุงปารีส เมื่อ ธันวาคม ปี ค.ศ. 1962 โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดนโยบาย เศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยว (ศรัญยา วรากุลวิทย์, 2537)
1.3 องค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาครัฐบาลในระดับอนุภูมิภาค ซึ่งเป็นองค์การที่ให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยมีการท่องเที่ยวเป็นสาระสำคัญอยู่ด้วย ได้แก่
1) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Economic Cooperation in the Greater Mekong Subregion: GMS)
2) โครงการพัฒนาการร่วมมือทางเศรษฐกิจของอนุทวีป บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย (Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation: BIMST-EC)
3) โครงการร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง คงคา (Mekong Ganga Cooperation)
4) โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
2. องค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาคเอกชน
องค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาคเอกชน แบ่งได้ 2 ระดับ คือดองคืการระดับโลกและองค์การระดับภูมิภาค
2.1 องค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาคเอกชนระดับโลก ได้แก่
2.1.1 สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council: WTTC) เป็นองค์การที่เกิดจากการรวมตัวของธุรกิจทุกประเภทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยพอสรุปภารกิจหลัก ๆ ขององค์การได้ 3 ประการคือ
1) กระตุ้นให้รัฐกำหนดนโยบายให้เหมาะสมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อประชาชาติอย่างแท้จริง
2) ส่งเสริมการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวให้เกิดสมดุลกับสิ่งแวดล้อม
3) ช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะเปิดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
2.1.2 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) เป็นองค์การที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1945 ในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการขนส่งทางอากาศที่ปลอดภัยสม่ำเสมอ และถูกต้องตามหลักเศรษฐกิจ หาทางให้มีการร่วมมือกันระหว่างวิสาหกิจด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวมกันมากกว่า 112 สายการบิน โดย IATA มีหน้าที่หลักดังนี้
1) ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า เชื่อมโยงกันโดยถือถั๋วใบเดียวด้วยคุณภาพเดียวกันทั้งหมด
2) ส่งเสริมด้านความปลอดภัย และการขนส่งทางอากาศอย่างประหยัด
3) สนับสนุนการบินพาณิชย์ รวมทั้งกฎระเบียบต่าง ๆ ของการขนส่งทางอากาศ
4) ศึกษาถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
5) มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของกำหนดนโยบายเรื่องตั๋วโดยสารให้เป็นมาตรฐานทั้งด้านราคา การชั่งน้ำหนัก การตรวจสอบสำภาระ และการดูแลด้านเอกสารประกอบอื่น ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก
2.2 องค์การระหว่างประเทศที่ดำเนินงานโดยภาคเอกชนระดับภูมิภาค ได้แก่
2.2.1 สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (The Pacific Asia Travel Association: PATA) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1952 ที่เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นองค์การที่ไม่หวังผลกำไร ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นองค์การการท่องเที่ยวของรัฐ สายการบิน บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั่วโลกมากกว่า 2,200 หน่วยงานใน 44ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคแปซิฟิก
2.2.2 สมคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคเอเชียตะวันออก (East Asia Travel Association: EATA) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1966 เพื่อรวบรวมประเทศที่อยู่ในเส้นทางบินตะวันออกไกลเข้าด้วยกัน 8 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวก ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิก
2.2.3 สมาคมการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Tourism Association: ASEANTA) ประกอบด้วยการรวมตัวของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สามคมโรงแรม และสายการบินแห่งชาติอาเซียน ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1971 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม ให้ความร่วมมือ กระตุ้น ประสานงาน และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน
ทั้งนี้งานติดต่อประสานงานต่าง ๆ ในการนำเที่ยวเป็นหน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติการ (Operation Division) ของบริษัทนำเที่ยว แต่บางครั้งมัคคุเทศก์ต้องจำเป็นต้องทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในระหว่างการนำเที่ยวเอง และจากหน่วยงานที่กล่าวมาทั้งหมดมีหลายหน่วยงานที่มัคคุเทศก์ต้องเข้าไปติดต่อประสานงานอยู่เป็นประจำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานนำเที่ยว แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่มัคคุเทศก์อาจไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่ในฐานะผู้นำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ที่จะต้องเข้าไปมีบทบาทต่อประเทศชาติในหลาย ๆ โอกาส การได้รู้จักเรียนรู้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ จะเป็นการช่วยเสริมความรู้ หรืออาจมีส่วนแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในภาพรวมต่อไป
อ้างอิง
ฉันทัช วรรณถนอม. 2550. หลักการมัคคุเทศก์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา.
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ปล.จะอัพสัปดาห์ละเรื่องค่ะ
ความคิดเห็น