พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 - พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 นิยาย พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 : Dek-D.com - Writer

    พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

    รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่านักเขียน ก่อนโดนกินเรียบ เสือจ้องอยู่นั่น ^m^

    ผู้เข้าชมรวม

    2,322

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    7

    ผู้เข้าชมรวม


    2.32K

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    6
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  29 ก.ค. 52 / 08:36 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ
      หมายเหตุ : ผมไม่ได้ป้องกันการคัดลอกบทความนี้นะครับ แต่หากท่านใดมีปัญหาในการเก็บข้อมูลนี้ ให้ไปที่เมนู File แล้วกด Save As นะครับ
      มันจะเซฟหน้าเว็บให้เราเลย ^___^

      -------------------------------------

       ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
        

      ให้ไว้ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537
      เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า....

      โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
      จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้
      โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

      มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537"

      มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่
          วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
          *[รก.2537/59ก/1/21 ธันวาคม 2537]

      มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521

      มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

          "ผู้สร้างสรรค์" หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์
          อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

          "ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตาม
          พระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
          "วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ
          จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้
          หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

          "โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่ง
          อื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือ
          เพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรม
          คอมพิวเตอร์ในลักษณะใด

          "นาฏกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า
          หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดง
          โดยวิธีใบ้ด้วย

          "ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือ
          หลายอย่างดังต่อไปนี้

          (1) งานจิตรกรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น
          แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุ
          อย่างเดียวหรือหลายอย่าง

          (2) งานประติมากรรม ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับ
          ปริมาตรที่สัมผัสและจับต้องได้

          (3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทาง
          การพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย

          (4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
          งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่ง
          ปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง

          (5) งานภาพถ่าย ได้แก่ งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้
          เครื่องมือบันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วย
          น้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะ หรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการ
          บันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างอื่น

          (6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองาน
          สร้างสรรค์รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์

          (7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6)
          อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือ
          จากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่ง
          วัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า
          ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และ
          ให้หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

          "ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อ
          บรรเลงหรือขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และ
          ให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียง
          ประสานแล้ว

          "โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพ
          โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก
          โดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียง
          ประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี

          "ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของ
          ภาพ ซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบน
          วัสดุอื่น เพื่อนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึง
          เสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี

          "สิ่งบันทึกเสียง" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียง
          ดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะ
          ใด ๆ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการ
          ใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียง
          ประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

          "นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ
          และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด

          "งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชน
          โดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุ
          โทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน

          "ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ
          ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จาก
          ต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่า
          ทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความ
          ถึง คัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธี
          ใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้
          ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

          "ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไข
          เพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็น
          การจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

          (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ให้หมายความรวมถึง แปล
          วรรณกรรม เปลี่ยนรูปวรรณกรรมหรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและ
          จัดลำดับใหม่

          (2) ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความรวมถึง
          ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วน
          อันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่

          (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฏกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงาน
          ที่มิใช่นาฏกรรมให้เป็นนาฏกรรม หรือเปลี่ยนนาฏกรรมให้เป็นงานที่มิใช่
          นาฏกรรม ทั้งนี้ ไม่ว่าในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน

          (4) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงาน
          ที่เป็นรูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจาก
          งานต้นฉบับ

          (5) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม ให้หมายความรวมถึง จัดลำดับ
          เรียบเรียงเสียงประสาน หรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่

          "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน
          โดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียง
          และหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น

          "การโฆษณา" หมายความว่า การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่า
          ในรูปหรือลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย
          โดยสำเนาจำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตาม
          สภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ไม่หมายความรวมถึง การแสดงหรือการทำให้ปรากฏ
          ซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรม หรือภาพยนตร์ การบรรยายหรือการปาฐกถาซึ่ง
          วรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพเกี่ยวกับงานใด การนำศิลปกรรมออกแสดง
          และการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม

          "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติ
          การตามพระราชบัญญัตินี้

          "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้
          หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย

          "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการลิขสิทธิ์

          "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

      มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตาม
          พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวง
          เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
          กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้
          บังคับได้

          หมวด 1
          ลิขสิทธิ์
          ส่วนที่ 1 งานอันมีลิขสิทธิ์

      มาตรา 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์
          ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์
          สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนก
          วิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออก
          โดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
          การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ
          หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทาง
          วิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

      มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้

          (1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
          อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

          (2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

          (3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบ
          ของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

          (4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

          (5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4)
          ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

          ส่วนที่ 2
          การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์

      มาตรา 8 ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ ขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

          (1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มี สัญชาติไทยหรืออยู่ในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่
          เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี
          อยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์งานนั้น

          (2) ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรก
          ได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการ
          คุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณา
          ครั้งแรกได้กระทำนอกราชอาณาจักรหรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา
          ว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณา
          งานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วย
          การคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่
          วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลักษณะตามที่กำหนดไว้
          ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรก
          ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็น
          นิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

      มาตรา 9 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงาน
          หรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้น
          เป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้
          ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น

      มาตรา 10 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้าง
          บุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้าง
          จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น

      มาตรา 11 งานใดมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม
          พระราชบัญญัตินี้โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้น
          มีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือน
          สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

      มาตรา 12 งานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ตาม
          พระราชบัญญัตินี้ มารวบรวมหรือประกอบเข้ากันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของ
          ลิขสิทธิ์ หรือเป็นการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดซึ่งสามารถอ่านหรือถ่ายทอด
          ได้โดยอาศัยเครื่องกลหรืออุปกรณ์อื่นใดมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน
          หากผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันซึ่งงาน
          ดังกล่าวขึ้นโดยการคัดเลือกหรือจัดลำดับในลักษณะซึ่งมิได้ลอกเลียนงานของ
          บุคคลอื่น ให้ผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รวบรวม
          หรือประกอบเข้ากันตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของ
          เจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูล หรือสิ่งอื่นใดของผู้สร้างสรรค์เดิม
          ที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน

      มาตรา 13 ให้นำมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 มาใช้บังคับ
          แก่การมีลิขสิทธิ์ตามมาตรา 11 หรือมาตรา 12 โดยอนุโลม

      มาตรา 14 กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ
          หรือของท้องถิ่น ย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้าง หรือ
          ตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
          เป็นลายลักษณ์อักษร

          ส่วนที่ 3
          การคุ้มครองลิขสิทธิ์

      มาตรา 15 ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 14
          เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้

          (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

          (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศน
          วัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

          (4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

          (5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนด
          เงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการ
          จำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
          การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการ
          แข่งขันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่
          กำหนดในกฎกระทรวง

      มาตรา 16 ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้อนุญาต
          ให้ผู้ใดใช้สิทธิตามมาตรา 15 (5) ย่อมไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะ
          อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธินั้นได้ด้วย เว้นแต่ในหนังสืออนุญาตได้ระบุเป็นข้อห้ามไว้

      มาตรา 17 ลิขสิทธิ์นั้นย่อมโอนให้แก่กันได้
          เจ้าของลิขสิทธิ์อาจโอนลิขสิทธิ์ของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่
          บุคคลอื่นได้ และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครอง
          ลิขสิทธิ์ก็ได้
          การโอนลิขสิทธิ์ตามวรรคสองซึ่งมิใช่ทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือ
          ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน
          ให้ถือว่าเป็นการโอนมีกำหนดระยะเวลาสิบปี

      มาตรา 18 ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิ
          ที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอน
          ลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือทำโดยประการอื่นใดแก่
          งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ และ
          เมื่อผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายทายาทของผู้สร้างสรรค์มีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับ
          ตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้ตกลง
          กันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร

          ส่วนที่ 4
          อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

      มาตรา 19 ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตาม
          พระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลา
          ห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
          ในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุ
          ของผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วม
          คนสุดท้ายถึงแก่ความตาย
          ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้
          มีการโฆษณางานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็น
          ครั้งแรก
          ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่
          ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะ
          เวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

      มาตรา 20 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์
          ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ
          ห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่าง
          ระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
          ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      มาตรา 21 ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์
          สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้
          สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลา
          ดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

      มาตรา 22 ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้
          สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลา
          ดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

      มาตรา 23 ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้าง หรือ
          ตามคำสั่งหรือในความควบคุมตามมาตรา 14 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้
          สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลา
          ดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

      มาตรา 24 การโฆษณางานตามมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 หรือมาตรา 23 อันเป็นการเริ่มนับอายุแห่งการ
          คุ้มครองลิขสิทธิ์ หมายความถึง การนำงานออกทำการโฆษณาโดยความ
          ยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์

      มาตรา 25 เมื่ออายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ครบกำหนดในปีใด
          ถ้าวันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทิน หรือ
          ในกรณีที่ไม่อาจทราบวันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่แน่นอน ให้
          ลิขสิทธิ์ยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันสิ้นปีปฏิทินของปีนั้น

      มาตรา 26 การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ออกทำการโฆษณาภายหลัง
          จากที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์สิ้นสุดลงไม่ก่อให้เกิดลิขสิทธิ์ในงานนั้น ๆ ขึ้นใหม่

          ส่วนที่ 5
          การละเมิดลิขสิทธิ์

      มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์
          ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็น
          การละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

          (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

      มาตรา 28 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ
          ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับ
          อนุญาตตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ
          ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

          (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

          (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

      มาตรา 29 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียง
          แพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15
          (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

          (1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่
          เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

          (2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

          (3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ
          โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า

      มาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์
          อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5)
          ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

          (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง

          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

          (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

      มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้น
          โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร
          ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

          (1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ
          หรือเสนอให้เช่าซื้อ

          (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

          (3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของ
          ลิขสิทธิ์

          (4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

          ส่วนที่ 6
          ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์

      มาตรา 32 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตาม
          พระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม
          ปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย
          ของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
          ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง
          แก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้
          กระทำดังต่อไปนี้

          (1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

          (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเอง
          และบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท

          (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็น
          เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

          (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความ
          เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

          (5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์
          ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการ
          รายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

          (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน
          เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

          (7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุป
          โดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียน
          หรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร

          (8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

      มาตรา 33 การกล่าว คัด ลอก เลียน หรืออ้างอิงงานบางตอน
          ตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความ
          เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติ
          ตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง

      มาตรา 34 การทำซ้ำโดยบรรณารักษ์ของห้องสมุดซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์
          ตามพระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากการทำซ้ำนั้นมิได้มี
          วัตถุประสงค์เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณี
          ดังต่อไปนี้

          (1) การทำซ้ำเพื่อใช้ในห้องสมุดหรือให้แก่ห้องสมุดอื่น

          (2) การทำซ้ำงานบางตอนตามสมควรให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์
          ในการวิจัยหรือการศึกษา

      มาตรา 35 การกระทำแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ตาม
          พระราชบัญญัตินี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากไม่มีวัตถุประสงค์
          เพื่อหากำไร และได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

          (1) วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

          (2) ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

          (3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็น
          เจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

          (4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความ
          เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น

          (5) ทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควรโดยบุคคล
          ผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับโปรแกรมนั้นมาจากบุคคลอื่นโดยถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้
          ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย

          (6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์
          ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการ
          รายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

          (7) นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและ
          ตอบในการสอบ

          (8) ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้

          (9) จัดทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับ
          การอ้างอิง หรือค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน

      มาตรา 36 การนำงานนาฏกรรม หรือดนตรีกรรมออกแสดงเพื่อ
          เผยแพร่ต่อสาธารณชนตามความเหมาะสม โดยมิได้จัดทำขึ้นหรือดำเนินการ
          เพื่อหากำไรเนื่องจากการจัดให้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น และมิได้
          จัดเก็บค่าเข้าชมไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม และนักแสดงไม่ได้รับ
          ค่าตอบแทนในการแสดงนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากเป็นการ
          ดำเนินการโดยสมาคม มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสาธารณ
          กุศล การศึกษา การศาสนา หรือการสังคมสงเคราะห์ และได้ปฏิบัติตาม
          มาตรา 32 วรรคหนึ่ง

      มาตรา 37 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การก่อสร้าง
          การแกะลายเส้น การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่าย
          ภาพยนตร์ การแพร่ภาพ หรือการกระทำใด ๆ ทำนองเดียวกันนี้ซึ่งศิลปกรรมใด
          อันตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ นอกจากงานสถาปัตยกรรม มิให้ถือว่า
          เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

      มาตรา 38 การวาดเขียน การเขียนระบายสี การแกะลายเส้น
          การปั้น การแกะสลัก การพิมพ์ภาพ การถ่ายภาพ การถ่ายภาพยนตร์ หรือ
          การแพร่ภาพซึ่งงานสถาปัตยกรรมใด มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงาน
          สถาปัตยกรรมนั้น

      มาตรา 39 การถ่ายภาพหรือการถ่ายภาพยนตร์หรือการแพร่ภาพ
          ซึ่งงานใด ๆ อันมีศิลปกรรมใดรวมอยู่เป็นส่วนประกอบด้วย มิให้ถือว่าเป็น
          การละเมิดลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมนั้น

      มาตรา 40 ในกรณีที่ลิขสิทธิ์ในศิลปกรรมใดมีบุคคลอื่นนอกจาก
          ผู้สร้างสรรค์เป็นเจ้าของอยู่ด้วย การที่ผู้สร้างสรรค์คนเดียวกันได้ทำศิลปกรรม
          นั้นอีกในภายหลังในลักษณะที่เป็นการทำซ้ำบางส่วนกับศิลปกรรมเดิม หรือ
          ใช้แบบพิมพ์ ภาพร่าง แผนผัง แบบจำลอง หรือข้อมูลที่ได้จากการศึกษาที่ใช้
          ในการทำศิลปกรรมเดิม ถ้าปรากฏว่าผู้สร้างสรรค์มิได้ทำซ้ำหรือลอกแบบ
          ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของศิลปกรรมเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
          ในศิลปกรรมนั้น

      มาตรา 41 อาคารใดเป็นงานสถาปัตยกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตาม
          พระราชบัญญัตินี้ การบูรณะอาคารนั้นในรูปแบบเดิม มิให้ถือว่าเป็นการละเมิด
          ลิขสิทธ

      ิ์มาตรา 42 ในกรณีที่อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ใด
          สิ้นสุดลงแล้ว มิให้ถือว่าการนำภาพยนตร์นั้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการ
          ละเมิดลิขสิทธิ์ในวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ
          สิ่งบันทึกเสียง หรืองานที่ใช้จัดทำภาพยนตร์นั้น

      มาตรา 43 การทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการโดย
          เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าว
          ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้และที่อยู่ในความครอบครองของทาง
          ราชการ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32
          วรรคหนึ่ง

          หมวด 2
          สิทธิของนักแสดง

      มาตรา 44 นักแสดงย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการกระทำอันเกี่ยวกับ
          การแสดงของตน ดังต่อไปนี้

          (1) แพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งการแสดง
          เว้นแต่จะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนจากสิ่งบันทึก
          การแสดงที่มีการบันทึกไว้แล้ว

          (2) บันทึกการแสดงที่ยังไม่มีการบันทึกไว้แล้ว

          (3) ทำซ้ำซึ่งสิ่งบันทึกการแสดงที่มีผู้บันทึกไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต
          จากนักแสดงหรือสิ่งบันทึกการแสดงที่ได้รับอนุญาตเพื่อวัตถุประสงค์อื่น หรือ
          สิ่งบันทึกการแสดงที่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 53

      มาตรา 45 ผู้ใดนำสิ่งบันทึกเสียงการแสดงซึ่งได้นำออกเผยแพร่
          เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าแล้ว หรือนำสำเนาของงานนั้นไปแพร่เสียงหรือ
          เผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยตรง ให้ผู้นั้นจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่นักแสดง
          ในกรณีที่ตกลงค่าตอบแทนไม่ได้ ให้อธิบดีเป็นผู้มีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทน
          ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนปกติในธุรกิจประเภทนั้น
          คำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้
          ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของอธิบดี คำวินิจฉัยของ
          คณะกรรมการให้เป็นที่สุด

      มาตรา 46 ในกรณีที่การแสดงหรือการบันทึกเสียงการแสดงใด
          มีนักแสดงมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป นักแสดงเหล่านั้นอาจแต่งตั้งตัวแทนร่วมเพื่อ
          ดูแลหรือบริหารเกี่ยวกับสิทธิของตนได้

      มาตรา 47 ให้นักแสดงมีสิทธิในการแสดงตามมาตรา 44
          หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

          (1) นักแสดงนั้นมีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือ

          (2) การแสดงหรือส่วนใหญ่ของการแสดงนั้นเกิดขึ้นในราชอาณาจักร
          หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง
          ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

      มาตรา 48 ให้นักแสดงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามมาตรา 45
          หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

          (1) นักแสดงมีสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ในขณะที่
          มีการบันทึกเสียงการแสดงนั้น หรือในขณะที่เรียกร้องสิทธิ หรือ

          (2) การบันทึกเสียงการแสดงหรือส่วนใหญ่ของการบันทึกเสียงการ
          แสดงนั้นเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วย
          การคุ้มครองสิทธิของนักแสดงซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย

      มาตรา 49 สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 44 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่
          วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่มีการแสดง ในกรณีที่มีการบันทึกการแสดงให้มีอายุห้าสิบปี
          นับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่มีการบันทึกการแสดง

      มาตรา 50 สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 45 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่
          วันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ได้มีการบันทึกเสียงการแสดง

      มาตรา 51 สิทธิของนักแสดงตามมาตรา 44 และมาตรา 45
          ย่อมโอนให้แก่กันได้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลา
          หรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองก็ได้
          ในกรณีที่มีนักแสดงมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป นักแสดงมีสิทธิโอนเฉพาะสิทธิ
          ส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น
          การโอนโดยทางอื่นนอกจากทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
          ผู้โอนและผู้รับโอน ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าเป็นการ
          โอนมีกำหนดระยะเวลาสามปี

      มาตรา 52 ผู้ใดกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 โดยไม่ได้
          รับอนุญาตจากนักแสดงหรือไม่จ่ายค่าตอบแทนตามมาตรา 45 ให้ถือว่าผู้นั้นละเมิด
          สิทธิของนักแสดง

      มาตรา 53 ให้นำมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36
          มาตรา 42 และมาตรา 43 มาใช้บังคับแก่สิทธิของนักแสดงโดยอนุโลม

          หมวด 3
          การใช้ลิขสิทธิ์ในพฤติการณ์พิเศษ

      มาตรา 54 ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งประสงค์จะขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ในงาน
          ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนในรูปของสิ่งพิมพ์หรืออย่างอื่นที่คล้ายคลึงกันตาม
          พระราชบัญญัตินี้ เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนหรือค้นคว้า ที่มิได้มีวัตถุ
          ประสงค์เพื่อหากำไร อาจยื่นคำขอต่ออธิบดีโดยแสดงหลักฐานว่าผู้ขอได้ขอ
          อนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ในการจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย หรือทำซ้ำสำเนางานที่ได้
          เคยจัดพิมพ์งานแปลเป็นภาษาไทยดังกล่าวจากเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ได้รับการ
          ปฏิเสธ หรือเมื่อได้ใช้เวลาอันสมควรแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ ถ้าปรากฏว่าใน
          ขณะที่ยื่นคำขอดังกล่าว

          (1) เจ้าของลิขสิทธิ์มิได้จัดทำหรืออนุญาตให้ผู้ใดจัดทำคำแปลเป็น
          ภาษาไทยของงานดังกล่าวออกทำการโฆษณาภายในสามปีหลังจากที่ได้มีการ
          โฆษณางานเป็นครั้งแรก หรือ

          (2) เจ้าของลิขสิทธิ์ได้จัดพิมพ์คำแปลงานของตนเป็นภาษาไทยออก
          ทำการโฆษณา ซึ่งเมื่อพ้นกำหนดสามปีหลังจากที่ได้จัดพิมพ์คำแปลงานดังกล่าว
          ครั้งสุดท้ายไม่มีการจัดพิมพ์คำแปลงานนั้นอีกและไม่มีสำเนาคำแปลงานดังกล่าว
          ในท้องตลาด
          การขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ
          เงื่อนไขดังต่อไปนี้

          (1) การขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้อธิบดีมีคำสั่งอนุญาต
          หากระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) สิ้นสุดลงไม่เกินหกเดือน

          (2) ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งอนุญาต ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิแต่เพียง
          ผู้เดียวในการจัดทำคำแปลหรือจัดพิมพ์คำแปลงานที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว และ
          ในกรณีที่ระยะเวลาในหนังสืออนุญาตยังไม่สิ้นสุดลงหรือสิ้นสุดยังไม่เกินหกเดือน
          ห้ามมิให้อธิบดีอนุญาตให้บุคคลอื่นจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยในงานลิขสิทธิ์
          เดียวกันนั้นอีก

          (3) ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิที่ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่น

          (4) ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของเจ้าของ
          ลิขสิทธิ์แสดงต่ออธิบดีว่าตนได้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย หรือจัดพิมพ์คำแปล
          งานดังกล่าวเป็นภาษาไทย โดยมีเนื้อหาเหมือนกันกับสิ่งพิมพ์ที่ได้รับอนุญาต
          ตามมาตรา 55 และจำหน่ายสิ่งพิมพ์นั้นในราคาที่เหมาะสมโดยเปรียบเทียบกับ
          งานอื่นในลักษณะเดียวกันที่จำหน่ายในประเทศไทย ให้อธิบดีมีคำสั่งว่าหนังสือ
          อนุญาตที่ออกให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นอันสิ้นสุดลง และแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาต
          ทราบถึงคำสั่งดังกล่าวโดยไม่ชักช้า
          สำเนาสิ่งพิมพ์ที่จัดทำหรือจัดพิมพ์ขึ้นก่อนที่อธิบดีมีคำสั่งให้หนังสือ
          อนุญาตสิ้นสุดลง ผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิที่จะจำหน่ายสำเนาดังกล่าวจนกว่า
          จะหมดสิ้นไป

          (5) ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสำเนา
          สิ่งพิมพ์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดแปลหรือจัดทำเป็นภาษาไทยดังกล่าว เว้นแต่จะ
          เข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

          (ก) ผู้รับที่อยู่ต่างประเทศเป็นบุคคลสัญชาติไทย

          (ข) สิ่งพิมพ์ดังกล่าวใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียน การสอน
          หรือค้นคว้า

          (ค) การส่งสิ่งพิมพ์ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นไปเพื่อการค้า และ

          (ง) ประเทศที่สิ่งพิมพ์ถูกส่งไปดังกล่าว จะต้องอนุญาตให้
          ประเทศไทยส่งหรือแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ดังกล่าวในประเทศนั้น

      มาตรา 55 เมื่อได้รับคำขอตามมาตรา 54 ให้อธิบดีดำเนินการ
          ให้มีการตกลงกันระหว่างคู่กรณีในเรื่องค่าตอบแทนและเงื่อนไขการใช้ลิขสิทธิ์
          ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ให้อธิบดีเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งกำหนดค่าตอบแทนที่
          เป็นธรรม โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนปกติในธุรกิจประเภทนั้น และอาจ
          กำหนดเงื่อนไขการใช้ลิขสิทธิ์ตามที่เห็นสมควร
          เมื่อได้มีการกำหนดค่าตอบแทนและเงื่อนไขการใช้ลิขสิทธิ์แล้ว
          ให้อธิบดีออกหนังสืออนุญาตให้แก่ผู้ขอใช้ลิขสิทธิ์
          คำสั่งของอธิบดีตามวรรคหนึ่ง คู่กรณีอาจอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้
          ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งของอธิบดี คำวินิจฉัยของ
          คณะกรรมการให้เป็นที่สุด

          หมวด 4
          คณะกรรมการลิขสิทธิ์

      มาตรา 56 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการ
          ลิขสิทธิ์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ และ
          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสิบสองคน ในจำนวนนี้
          จะต้องแต่งตั้งจากผู้แทนของสมาคมเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงและ
          ผู้แทนของสมาคมผู้ใช้งานลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า
          หกคนเป็นกรรมการ
          คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
          ก็ได้

      มาตรา 57 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
          กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
          ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรี
          แต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ใน
          ตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ใน
          ตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

      มาตรา 58 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเมื่อ

          (1) ตาย

          (2) ลาออก

          (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

          (4) เป็นบุคคลล้มละลาย

          (5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือ

          (6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่โทษ
          สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

      มาตรา 59 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุม
          ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธาน
          กรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุม
          เลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม
          ให้ถือเสียงข้างมาก
          กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียง
          เท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

      มาตรา 60 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

          (1) ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง
          ตามพระราชบัญญัตินี้

          (2) วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของอธิบดีตามมาตรา 45 และมาตรา 55

          (3) ส่งเสริมหรือสนับสนุนสมาคม หรือองค์กรของผู้สร้างสรรค์หรือ
          นักแสดงเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อจัดเก็บค่าตอบแทนจากบุคคลอื่นที่ใช้งาน
          อันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง และการคุ้มครองหรือปกป้องสิทธิหรือประโยชน์
          อื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้

          (4) พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
          ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือ
          ปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ และให้นำมาตรา 59 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
          ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจ
          ออกคำสั่งเป็นหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ
          มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

          หมวด 5
          ลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดงระหว่างประเทศ

      มาตรา 61 งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์และสิทธิของนักแสดง
          ของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญา
          ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรืองาน
          อันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิก
          อยู่ด้วยย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้
          ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วย
          การคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงใน
          ราชกิจจานุเบกษา

          หมวด 6
          คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง

      มาตรา 62 คดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตาม
          พระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
          งานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตาม
          พระราชบัญญัตินี้ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงในงาน
          ดังกล่าว เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิ
          ของนักแสดง หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์
          งานใดมีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อของบุคคลใดที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าของ
          ลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงแสดงไว้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลซึ่งเป็น
          เจ้าของชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อนั้นเป็นผู้สร้างสรรค์หรือนักแสดง
          งานใดไม่มีชื่อหรือสิ่งที่ใช้แทนชื่อแสดงไว้ หรือมีชื่อหรือสิ่งที่
          ใช้แทนชื่อแสดงไว้ แต่มิได้อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง
          และมีชื่อหรือสิ่งใดที่ใช้แทนชื่อของบุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา
          หรือผู้พิมพ์และผู้โฆษณาแสดงไว้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลซึ่งเป็นผู้พิมพ์
          ผู้โฆษณา หรือผู้พิมพ์และผู้โฆษณานั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง
          ในงานนั้น

      มาตรา 63 ห้ามมิให้ฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง
          เมื่อพ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงรู้ถึงการ
          ละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีการ
          ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง

      มาตรา 64 ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง
          ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของ
          นักแสดงตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความ
          เสียหาย รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับ
          ตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงด้วย

      มาตรา 65 ในกรณีที่มีหลักฐานโดยชัดแจ้งว่าบุคคลใดกระทำการ
          หรือกำลังจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิ
          ของนักแสดง เจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงอาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้
          บุคคลดังกล่าวระงับหรือละเว้นการกระทำดังกล่าวนั้นได้
          คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่งไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิ
          ของนักแสดงในการเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 64

      มาตรา 66 ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดอันยอมความได้

          หมวด 7
          พนักงานเจ้าหน้าที่

      มาตรา 67 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการให้เป็นไปตาม
          พระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมาย
          อาญา และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

          (1) เข้าไปในอาคาร สถานที่ทำการ สถานที่ผลิต หรือสถานที่เก็บ
          สินค้าของบุคคลใดในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือใน
          เวลาทำการของสถานที่นั้น หรือเข้าไปในยานพาหนะ เพื่อตรวจค้นสินค้า หรือ
          ตรวจสอบเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

          (2) ยึดหรืออายัดเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ
          ความผิด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการ
          กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

          (3) สั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งบัญชี เอกสาร หรือ
          หลักฐานอื่นในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำ สมุดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐาน
          ดังกล่าวมีประโยชน์แก่การค้นพบหรือใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์การ
          กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
          ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวย
          ความสะดวกตามสมควร

      มาตรา 68 ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตร
          ประจำตัวแก่บุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
          บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด

          หมวด 8
          บทกำหนดโทษ

      มาตรา 69 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตาม
          มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 52 ต้องระวาง
          โทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท
          ถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.

      มาตรา 70 ผู้ใดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 ต้อง
          ระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
          ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อการค้า
          ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาท
          ถึงสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      มาตรา 71 ผู้ใดไม่มาให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ
          ตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการสั่งตามมาตรา 60 วรรคสาม ต้อง
          ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      มาตรา 72 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงาน
          เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 67 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ
          พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งตามมาตรา 67 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน
          หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      มาตรา 73 ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้
          เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีก
          ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

      มาตรา 74 ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
          ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับ
          นิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดย
          ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

      มาตรา 75 บรรดาสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร
          อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามพระราชบัญญัตินี้ และยัง
          เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 69 หรือมาตรา 70 ให้ตกเป็น
          ของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ส่วนสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด
          ให้ริบเสียทั้งสิ้น

      มาตรา 76 ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษา ให้จ่ายแก่เจ้าของ
          ลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการกระทบ
          กระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงที่จะฟ้องเรียกค่า
          เสียหายในทางแพ่งสำหรับส่วนที่เกินจำนวนเงินค่าปรับที่เจ้าของลิขสิทธิ์หรือ
          สิทธิของนักแสดงได้รับแล้วนั้น

      มาตรา 77 ความผิดตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง และมาตรา 70
          วรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้

          บทเฉพาะกาล

      มาตรา 78 งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง
          วรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
          พ.ศ. 2521 ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์
          ตามพระราชบัญญัตินี้
          งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์
          ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 หรือ
          พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์
          ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้


          ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          ชวน หลีกภัย
          นายกรัฐมนตรี

          หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่
          พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติ
          ต่าง ๆ จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้
          เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า
          และอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศ สมควรที่จะได้มีการปรับปรุง
          มาตรการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
          ดังกล่าวและเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานในด้านวรรณกรรม ศิลปกรรม
          และงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


      --------------------------------------------
      Update --05-05



       ความคืบหน้าการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

      สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าว เช่น

      - เรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในสื่อดิจิตอล
      โดยได้ปรับปรุงนิยามในส่วนที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ทางสื่ออินเตอร์เนต และยกร่างเพิ่มเติมบทบัญญัติที่สำคัญสองเรื่อง ได้แก่ การให้ความคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ  และมาตรการทางเทคโนโลยี
      ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับชื่อผู้สร้างสรรค์ งานสร้างสรรค์ ชื่อนักแสดง หรือเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง และระยะเวลาหรือเงื่อนไข การใช้ลิขสิทธิ์หรือสิทธินักแสดง ตลอดจนตัวเลขหรือรหัสแทนข้อมูลดังกล่าว ซึ่งปรากฎอยู่ในงานโดยกำหนดความผิดสำหรับการลบข้อมูลการบริหารสิทธิ
      และการจำหน่ายหรือนำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือเผยแพร่งานโดยที่รู้อย่ว่างานนั้นมีการแก้ไขข้อมูลการบริหารสิทธิ

      ส่วนมาตรการ ทางเทคโนโลยีเป็นการควบคุมการผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์
      ที่จะขัดขวางการควบคุมการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์หรือการผลิตหรือนำเข้า
      อุปกรณ์ช่วยรับ และแปลงสัญญางานแพร่เสียงแพร่ภาพโดยไม่มีสิทธิ
      ทั้งนี้เพื่อให้การคุ้มครองลิขสิทธิ์มีความชัดเจน
      และสามารถใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      - เรื่ององค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง โดยเพิ่มเติมให้ผู้ที่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ฯ จะต้องแจ้งข้อมูลการบริหารการจัดเก็บ ในเรื่องต่างๆ ต่อคณะกรรมการลิขสิทธิ์ตามระเบียบ กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้มีระบบการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมและเหมาะสม

      - เรื่องบทกำหนดโทษ โดยแก้ไขปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสม โดยการกำหนดอัตราโทษในการกระทำความผิดให้มีความหนักเบาเหมาะสมกับ
      ลักษณะความผิด ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการแล้ว และอย่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 6 ก่อนจะนำส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

      --------------------------------------------

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×