ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    'นิติศาสตร์ 54

    ลำดับตอนที่ #20 : ว่าด้วยเรื่อง :: กฏหมายอาญา (จบ)

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 53


     

    โครงสร้างความรับผิดในทางอาญาโครงสร้างที่สอง
    ผมได้อธิบาย โครงสร้างความรับผิดในทางอาญาโครงสร้างแรก ที่ว่าด้วย การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ ไปแล้วซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
    1.
    มีการกระทำ
    2.
    การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
    3.
    การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
    4.
    มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

    ต่อไปผมจะอธิบายโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่สองซึ่งเป็นเรื่องของ การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดซึ่งมีความสำคัญในการพิจารณาความรับผิดของบุคคลในทางอาญาเป็นอย่างมากกล่าวคือ

    แม้ว่า การกระทำจะครบ องค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อ 1 แต่หากว่ามีกฎหมายยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อ2 ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา เช่น ในกรณีแดงยิงดำที่ยกมาข้างต้นหากปรากฏว่าการที่แดงกระทำต่อดำนั้นเป็นการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายการกระทำของแดงก็ไม่เป็นความผิดเพราะมีกฎหมายในเรื่องป้องกันตามยกเว้นความผิดซึ่งก็หมายความว่าแดงไม่ต้องรับผิดในทางอาญา

    แล้วกฎหมายยกเว้นความผิดในกรณีใดบ้าง !?

    กฎหมายยกเว้นความผิดหลายกรณี ดังนี้
    ------------------------------------------------------------------------------------

    1.
    กฎหมายยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา เช่น

    1)
    การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
    กฎหมายวางหลักว่า ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

    เช่นนายเอกจะถูกนายโทยิง นายเอกจึงใช้มีดฟันไปยังแขนนายโท เช่นนี้แม้ว่านายเอกจะกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจึงเป็นกรณีที่นายเอกจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย(คือการจะถูกยิง)การกระทำของนายเอกเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงได้รับยกเว้นความผิด สรุปแล้วนายเอกจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร้างกาย

    ทั้งนี้ผู้กระทำอาจป้องกันสิทธิของผู้อื่น เช่น แดงก่อเหตุด้วยการจะยิงดำดำกลัวตายจึงใช้ปืนยิงแดง ขาวพ่อของดำเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ขาวช่วยแดงด้วยการยิงดำขาวอ้างป้องกันได้ เพราะการที่แดงยิงดำ แม้จะเป็นภยันตรายต่อดำเกิดจากการละเมิดกฎหมาย

    2)
    การทำแท้งที่กฎหมายยกเว้นความผิด

    หลักกฎหมายเรื่องการกระทำความผิดฐานทำแท้งวางหลักไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษ…”

    อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้วางข้อยกเว้นความผิดไว้ในกรณีที่เป็นการกระทำนั้นเป็นการกระทำของของนายแพทย์และ (1) จำเป็นต้องกระทำ เนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาเช่นหญิงนั้นถูกข่มขืนกระทำชำเรา

    3)
    การหมิ่นประมาทที่กฎหมายยกเว้นความผิด

    หลักกฎหมายเรื่องการกระทำความผิดฐานทำแท้งวางหลักไว้ชัดเจนว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ…”

    อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ได้วางข้อยกเว้นความผิดไว้ในกรณีที่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตหรือการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลโดยคู่ความหรือทนายความของคู่ความ

    ------------------------------------------------------------------------------------

    2.
    กฎหมายยกเว้นความผิดที่มิได้มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

    หลักในเรื่องความยินยอม ซึ่งยกเว้นความผิดในบางกรณีหลักดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงดังเช่นเรื่องป้องกันแต่ก็นำมาใช้ได้โดยถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไป

    จารีตประเพณีก็ถือได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ยกเว้นความผิดได้ เช่นจารีตประเพณีให้อำนาจครูตีเด็กนักเรียนพอสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือพระภิกษุมีอำนาจลงโทษศิษย์วัดได้

    ------------------------------------------------------------------------------------

    3.
    กฎหมายยกเว้นความผิดในรัฐธรรมนูญ

    ผู้มีสิทธิ์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องเอกสิทธิ์ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดผู้ใดจะนำไปเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้

    ------------------------------------------------------------------------------------

    4.
    กฎหมายยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
    (1)
    เจ้าของที่ดินใช้สิทธิตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินที่ติดต่อและเอาไว้เสียไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
    (2)
    การทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งใดเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน เช่นเข้าไปขุดดินทำทางน้ำในที่ดินของผู้อื่นเพื่อป้องกันภยันตรายสาธารณะอันแลเห็นอยู่ว่าจะเกิดขึ้นนั้นไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกด้วยแม้จะเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ก็ตามเพราะถือว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้
    (3)
    การที่ผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ฆ่าสัตว์ที่เข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์ไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
    (4)
    การที่ผู้ใช้อำนาจปกครอง เช่นบิดามารดาทำโทษบุตรตามสมควร เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
    (5)
    บางกรณีอำนาจตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งก็ทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานบุกรุก เช่น ข้อตกลงในสัญญาเช่นระบุว่า หากผู้เช่าผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าผู้เช่ายอมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าและเอาโซ่ล่ามใส่กัญแจปิดทางเข้าออกตึกที่ให้เช่าเป็นการทำสัญญาผู้ให้เช่าไม่ผิดเพราะมีอำนาจจะกระทำได้ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าต่างหาก

    ------------------------------------------------------------------------------------

    5.
    กฎหมายยกเว้นความผิดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
    การที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับบุคคลผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนีไปตามหรือการจับกุมบุคคลตามหมายจับที่ออกไปโดยชอบด้วยกฎหมายผู้จับไม่มีความผิดต่อเสรีภาพหรือหากการจับนั้นจำเป็นต้องทำให้ทรัพย์ของผู้ถูกจับเสียหายเช่นจำต้องยิงยางที่ล้อรถจนยางแตกเพื่อให้รถหยุดจะจับกุมคนซึ่งเป็นการกระทำที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับผู้จับไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

    ------------------------------------------------------------------------------------

    ข้อสังเกต
    การกระทำที่ครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ ตามโครงสร้างข้อ 1 หากมีกฎหมายยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อ2 ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา เช่นในกรณีแดงยิงดำที่ยกมาข้างต้นหากปรากฏว่าการที่แดงกระทำต่อดำนั้นเป็นการกระทำโดยป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายการกระทำของแดงก็ไม่เป็นความผิด เพราะมีกฎหมายในเรื่องป้องกันตามยกเว้นความผิดซึ่งก็หมายความว่าแดงไม่ต้องรับผิดในทางอาญา

    แม้การกระทำที่ครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อ 1 จะไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อ2 ก็ยังไม่อาจสรุปได้ทันทีว่าผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญาจะต้องพิจารณาโครงสร้างข้อ3 ต่อไปด้วยว่า การกระทำนั้นมีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่
     
     


    โครงสร้างความรับผิดในทางอาญาโครงสร้างที่สาม
    ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหา ...โครงสร้างความรับผิดทางอาญา โครงสร้างที่สาม

    ผมขอย้ำให้ผู้อ่านเข้าใจหลักการให้ชัดอีกครั้งว่า

    บุคคลต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาจากโครงสร้างความรับผิดทางอาญา

    ดังนั้นในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้น

    ประการแรกต้องดูว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบ องค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่

    หากครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้วก็ต้องดูต่อไปว่าการกระทำมีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือไม่

    หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดก็ต้องดูต่อไปว่ามีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่

    เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษก็มีหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดในทางอาญา

    .
    .
    .

    ต่อไปจะอธิบายเบื้องลึกของโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่สามที่ว่าด้วย ...การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

    ------------------------------------------------------------------------------------
    กฎหมายที่ยกเว้นโทษให้แก่การกระทำต่างที่เป็นความผิดมีหลายกรณีด้วยกันเช่น
    ------------------------------------------------------------------------------------

    1.
    การกระทำความผิดโดยจำเป็น

    กฎหมายวางหลักว่า ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

    (1)
    เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
    (2)
    เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

    ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

    อธิบายเรื่องการกระทำความผิดโดยจำเป็น

    การกระทำความผิดโดยจำเป็นเป็นการกระทำที่เป็นความผิด แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้

    (
    ซึ่งแตกต่างจากการกระทำโดยป้องกันเพราะว่าการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายกฎหมายยกเว้นความผิดให้ การกระทำนั้นจึงไม่เป็นความผิด และไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย)

    การกระทำความผิดโดยจำเป็นแบ่งออกเป็น 2 กรณี

    กรณีแรก

    กระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้เช่น แดงขู่ว่าจะยิงดำ ถ้าดำไม่ตีหัวขาว ดำเงื้อไม้จะตีหัวขาว ถ้าดำตีขาวหัวแตกดำจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย แต่สามารถอ้างว่าการที่นายดำทำลงไปเป็นการกระทำความผิดโดยจำเป็นซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษ

    กรณีที่สอง

    กระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน เช่นแดงเข้าไปเดินป่าที่เขาใหญ่เพื่อไปศึกษาธรรมชาติ ระหว่างที่เดินชมธรรมชาติอยู่นั้นช้างป่าตกมันวิ่งมาที่นายแดง นายแดงตกใจมากจึงวิ่งหนีช้างป่าตกมันนั้นนายแดงวิ่งไปยังบ้านหลังหนึ่งเพื่อเข้าไปหลบที่บ้านหลังนั้นแต่บ้านหลังนั้นกลับปิดประตูอย่างแน่นหนา ทำให้นายแดงเข้าไปไม่ได้นายแดงจึงทำลายประตูนั้น เพื่อเข้าไปในบ้านเพื่อหลบช้างป่า เช่นนี้แม้นายแดงจะกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่นายแดงสามารถอ้างว่าการที่นายแดงทำลงไปเป็นการกระทำความผิดโดยจำเป็นซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษ

    ------------------------------------------------------------------------------------

    2.
    การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี

    ------------------------------------------------------------------------------------

    3.
    การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี และไม่เกิน14 ปี

    เช่น แดงเด็กอายุ 13 ปี ชักปืนจะยิงดำ หากแดงยิงดำตาย แดงผิดมาตรา 288 แต่อ้างมาตรา 74 ยกเว้นโทษซึ่งหมายความว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิดแต่กฎหมายยกเว้นโทษ

    ------------------------------------------------------------------------------------

    4.
    การกระทำความผิดของคนวิกลจริต

    ------------------------------------------------------------------------------------

    5.
    การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในบางความผิด(เช่นลักทรัพย์)ระหว่างสามีภริยา

    เช่น สามีลักสายสร้อยภริยาจะเอาไปขายเช่นนี้กฎหมายยกเว้นโทษให้กล่าวคือสามีมีความผิดฐานลักทรัพย์แต่ไม่ต้องรับโทษ
    อย่างไรก็ตามหากภริยาติดตามไปเอาคืน สามีไม่ยอม ภริยาใช้ไม้ตีทำร้ายสามีและได้สร้อยคืนมาการกระทำของสามีเป็นความผิดจึงเป็นภยันตรายต่อทรัพย์สินของภริยาอันเกิดจากการละเมิดกฎหมายด้วยเหตุนี้การกระทำของภริยาด้วยการใช้ไม้ตีสามี เพื่อให้ได้ทรัพย์สินคืนมาจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย



    เหตุลดโทษตามกฎหมายอาญา
    ผมได้ใช้เวลาในการอธิบายเรื่องโครงสร้างความรับผิดอยู่หลายตอน

    เพราะในกฎหมายอาญานั้นมีหัวใจอยู่ตรงที่ "ความรับผิดทางอาญาของบุคคล"

    ดังนั้นในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้นประการแรกต้องดูว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบ องค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่หากครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้วก็ต้องดูต่อไปว่าการกระทำมีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือไม่หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดก็ต้องดูต่อไปว่ามีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษก็มีหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดในทางอาญา

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบุคคลใดต้องรับโทษทางกฎหมายอาญาแล้วศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

    เรียกกรณีดังกล่าวว่าเป็นกรณีที่มีเหตุลดโทษ โดยศาลอาจใช้ดุลพินิจลดโทษให้ เช่นกระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะ อย่างไรก็ตาม

    ถึงกระนั้นก็ตาม ...เหตุลดโทษนั้นไม่ใช่โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา

    -------------------------------------------------------------------------------------
    อธิบายเรื่องเหตุลดโทษโดยละเอียด

    เหตุลดโทษคือ เหตุที่อาจทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะลดโทษให้แก่ผู้กระทำหรือไม่ก็ได้กฎหมายมักจะบัญญัติเกี่ยวกับการลดโทษไว้ในทำนองว่าศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้หรือบางกรณีก็จำกัดขอบเขตการลดโทษของศาลไว้เช่นถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้

    ในกรณีเหตุลดโทษ นั้นได้จัดอยู่นอกโครงสร้างเพราะจะคำนึงถึงเหตุลดโทษก็ต่อเมื่อผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญาแล้วกล่าวคือไม่มีเหตุยกเว้นความผิด หรือไม่มีเหตุยกเว้นโทษแก่ผู้กระทำซึ่งขั้นตอนต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือดูว่ามีเหตุลดโทษหรือไม่

    -------------------------------------------------------------------------------------
    เหตุลดโทษที่บัญญัติไว้มีหลายกรณีแต่มีเรื่องที่สำคัญดังนี้
    -------------------------------------------------------------------------------------

    1.
    การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินบางความผิดระหว่างญาติสนิท

    เช่นบุตรลักสายสร้อยมารดาจะเอาไปขาย เช่นนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษให้ แต่เป็นเหตุลดโทษตามกฎหมายกล่าวคือสามีมีความผิดฐานลักทรัพย์และต้องรับโทษแต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

    -------------------------------------------------------------------------------------

    2.
    บันดาลโทสะ
    กฎหมายวางหลักว่าผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

    เช่นนายเอกใช้ปืนยิงนายเพชรซึ่งเป็นบิดาของนายโท นายเพชรอาการสาหัสใช้ลมหายใจเฮือกสุดท้าย กระเสือกกระสนไปหานายโท นายโทเห็นพ่อตนถูกทำร้ายจึงรีบถามว่าใครทำ ปรากฏว่านายเพชรบอกว่านายเอกเป็นผู้กระทำ พอรู้เช่นนั้นนายโทรีบไปหานายเอกเพื่อชำระความแค้น ยิงนายเอกเพื่อแก้แค้นแทนพ่อตนการกระทำของนายโทเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแต่นายโทอาจกล่าวอ้างว่าได้กระทำความผิดเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมซึ่งศาลอาจจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้


    .
     
     

    สำคัญผิด
    สำคัญผิดในทางกฎหมายอาญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ดังนี้

    -------------------------------------------------------------------------------------

    1.
    สำคัญผิดในตัวบุคคล

    เช่น นายเอกตั้งใจไปดักยิงนายฝันดีที่พุ่มไม้ แต่ปรากฏว่านายฝันเด่นเดินมานายเอกเข้าใจว่าเป็นนายฝันดี จึงยิงไปที่นายฝันเด่นเช่นนี้นายเอกต้องรับผิดต่อนายฝันเด่นหรือไม่

    ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

    แม้นายเอกเจตนาจะกระทำต่อนายฝันดี แต่ได้กระทำต่อนายฝันเด่นโดยสำคัญผิดนายเอกจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาต่อนายฝันเด่นหาได้ไม่ดังนั้นนายเอกต้องรับผิดต่อนายฝันเด่น

    -------------------------------------------------------------------------------------

    2.
    สำคัญผิดในข้อเท็จจริงแบ่งออกเป็น 3 กรณี

    2.1.
    สำคัญผิดว่าเป็นข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดอธิบายได้ดังนี้

    การกระทำไม่เป็นความผิด คืออะไร ต้องพิจารณาที่โครงสร้างที่ 2 ที่กล่าวถึงกฎหมายยกเว้นความผิดไว้หลายกรณีส่วนข้อเท็จจริงซึ่งทำให้การกระทำไม่เป็นความผิดก็คือข้อเท็จจริงซึ่งทำให้กฎหมายยกเว้นความผิด

    เช่นข้อเท็จที่ว่านายเอกจะใช้มีดฟันนายโทการทำร้ายร่างกายเช่นนี้เป็นภยันตรายอันเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายการที่นายโทใช้มีดฟันไปยังนายเอกก่อนที่นายเอกจะฟันนายโทจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

    แต่หากว่านายเอกเห็นว่ามีงูเลื้อยเข้ามาด้านหลังนายโทนายเอกจึงรีบคว้ามีดเพื่อฟันไปที่งู แต่นายโทสำคัญผิดคิดว่านายเอกจะทำร้ายร่างกายตนเช่นนี้เป็นกรณีที่เกิดสำคัญผิดในข้อเท็จจริง(นายโทคิดว่านายเอกจะทำร้ายตนแต่แท้จริงแล้วนายเอกจะฟันงู

    ถามว่านายโทมีความผิดหรือไม่

    เมื่อนายโทผู้กระทำสำคัญผิดคิดว่าสามารถใช้สิทธิป้องกันได้เช่นนี้นายโทผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด


    2.2.
    สำคัญผิดว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ

    การกระทำที่กฎหมายยกเว้นโทษ คืออะไร ต้องพิจารณาที่โครงสร้างที่ 3 ที่กล่าวถึงกฎหมายยกเว้นโทษไว้หลายกรณีส่วนข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษก็คือข้อเท็จจริงซึ่งทำให้กฎหมายยกเว้นโทษ

    เช่นข้อเท็จที่ว่าแดงเข้าไปเดินป่าที่เขาใหญ่เพื่อไปศึกษาธรรมชาติ ระหว่างที่เดินชมธรรมชาติอยู่นั้นช้างป่าตกมันวิ่งมาที่นายแดง นายแดงตกใจมากจึงวิ่งหนีช้างป่าตกมันนั้นนายแดงวิ่งไปยังบ้านหลังหนึ่งเพื่อเข้าไปหลบที่บ้านหลังนั้นแต่บ้านหลังนั้นกลับปิดประตูอย่างแน่นหนา ทำให้นายแดงเข้าไปไม่ได้นายแดงจึงทำลายประตูนั้น เพื่อเข้าไปในบ้านเพื่อหลบช้างป่า

    เช่นนี้แม้นายแดงจะกระทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่นายแดงสามารถอ้างว่าการที่นายแดงทำลงไปเป็นการกระทำความผิดโดยจำเป็นซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษ

    แต่หากว่านายแดงหูแว่ว ได้ยินเสียงช้างนายแดงตกใจรีบพังประตู เข้าไปในบ้านของผู้อื่นเช่นนี้เกิดจากการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง(นายแดงคิดว่าช้างป่าจะวิ่งเข้ามาทำร้ายตนแต่แท้จริงแล้วนายแดงเพียงหูแว่วเท่านั้น)

    ถามว่านายแดงต้องรับโทษหรือไม่

    เมื่อนายแดงผู้กระทำสำคัญผิดคิดว่าสามารถกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้เช่นนี้นายแดงผู้กระทำย่อมไม่ต้องรับโทษ


    2.3
    สำคัญผิดว่ามีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง

    การกระทำที่กฎหมายลดโทษนั้นมีหลายกรณีเช่น การกระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะฯลฯ ส่วนข้อเท็จจริงซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษก็คือข้อเท็จจริงซึ่งทำให้กฎหมายลดโทษ

    เช่นข้อเท็จที่ว่านายเอกใช้ปืนยิงนายเพชรซึ่งเป็นบิดาของนายโท นายเพชรอาการสาหัสใช้ลมหายใจเฮือกสุดท้าย กระเสือกกระสนไปหานายโท นายโทเห็นพ่อตนถูกทำร้ายจึงรีบถามว่าใครทำ ปรากฏว่านายเพชรบอกว่านายเอกเป็นผู้กระทำ พอรู้เช่นนั้นนายโทรีบไปหานายเอกเพื่อชำระความแค้น ยิงนายเอกเพื่อแก้แค้นแทนพ่อตนการกระทำของนายโทเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาแต่นายโทอาจกล่าวอ้างว่าได้กระทำความผิดเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมซึ่งศาลอาจจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

    แต่หากว่านายเพชรซึ่งอาการปางตายพูดจาไม่ชัดถ้อยชัดคำ ทำให้นายโทเข้าใจว่านายเป็ด เป็นผู้กระทำนายโทเข้าใจว่านายเป็ดฆ่าพ่อตน นายโทจึงไปยิงนายเป็ดเช่นนี้เกิดจากการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง(นายโทคิดว่านายเป็ดทำร้ายพ่อตนแต่แท้จริงแล้วนายเพชรเป็นผู้ทำร้ายพ่อของนายโท)

    ถามว่านายโทอ้างเหตุลดโทษหรือไม่

    เมื่อนายแดงผู้กระทำสำคัญผิดคิดว่าตนสามารถอ้างเหตุลดโทษได้เช่นนี้ศาลอาจจะลงโทษนายโทน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
     
     
     

    พยายามกระทำความผิด
    ในหัวข้อ พยายามกระทำความผิด นั้นผมขอแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อดังนี้ครับ

    1.
    การพยายามกระทำความผิดกรณีปกติ

    1.1.
    บุคคลใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอดเช่น ก. ยกปืนเล็งไปที่ ข. จะยิง ข. แต่ ค. ปัดกระบอกปืนไปทางอื่นหรือ
    1.2.
    กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เช่น ก. ยิงไปที่ ข. (กระทำไปตลอดแล้ว) แต่ ข.หลบทัน (ไม่บรรลุผล)

    บุคคลนั้นได้พยายามกระทำความผิดแล้ว

    เช่นนี้เป็นการลงมือกระทำแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอดเป็นพยายามฆ่า เป็นต้น หรือ

    เช่นนี้เป็นการกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเป็นพยายามฆ่าเช่นกันซึ่งต้องรับโทษ2 ใน 3ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

    -------------------------------------------------------------------------------------

    2.
    การพยายามกระทำความผิดที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้

    บุคคลใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ

    เช่น ปืนที่ใช้มีกำลังอ่อนหรือระเบิดที่ใช้กำลังอ่อนมากทำให้เกิดบาดแผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เป็นต้น

    ให้ถือว่า ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกิน1 ใน 2 ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

    แต่ถ้าเป็นการกระทำดังกล่าวเกิดจากความเชื่ออย่าง งมงายศาลจะไม่ลงโทษก็ได้

    เช่น ก.ใช้ปืนที่กำลังอ่อนยิง ข. ด้วยความเชื่อว่าข.หนังเหนียวยิงไม่เข้าเมื่อปรากฏว่า ข.ได้รับบาดเจ็บเพียงเป็นรอยช้ำเล็กน้อยเท่านั้น ศาลก็อาจไม่ลงโทษ ก. ก็ได้เป็นต้น

    -----------------------------------------------------------------------------------
    3.
    การยับยั้งกลับใจ

    3.1.
    กรณียับยั้ง

    คือกรณีที่บุคคลได้ลงมือกระทำความผิดแต่ได้ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด

    เช่นนาย ก.ยกปืนจ้องจะยิงนายข.แต่เกิดนึกสงสารบุตรของนาย ข.เลยเปลี่ยน ใจไม่ฆ่านาย ข.

    3.2.
    กรณีกลับใจ

    คือกรณีที่บุคคลได้ลงมือกระทำความผิดแต่ได้กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เช่นนาย ก.ใช้มีดแทงนายข.โดยตั้งใจจะฆ่านาย ข.ให้ตาย แต่นาย ก. นึกสงสารบุตรของนาย ข.จึงกลับใจอุ้มนายข.ไปส่งที่โรงพยาบาล เป็นต้น
    ผลของการยับยั้งหรือกลับใจ

    เมื่อพิจารณาตามกฎหมายแล้ว กรณีที่นายก.ยกปืนจ้องจะยิงนาย ข เช่นนี้การกระทำอยู่ในขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว เมื่อแม้ว่านาย ก. ไม่ได้ลั่นไกปืน(คือไม่ได้กระทำการไปให้ตลอด) นาย ก.ก็ยังคงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่ในเรื่องยับยั้งการกระทำผิดนั้นกฎหมายได้วางหลักว่าชัดเจนว่า หากการที่นาย ก. ไม่ได้ลั่นไกปืนเกิดจากการยับยั้งของนาย ก. เอง แล้ว ดังเช่นกรณีที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นว่านายก.ยกปืนจ้องจะยิงนาย ข.แต่เกิดนึกสงสารบุตรของนาย ข.เลยเปลี่ยน ใจไม่ฆ่านาย ข. นายก.ย่อมไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น(พยายามฆ่า)

    อีกทั้งในกรณีที่นายก.ใช้มีดแทงนาย ข.โดยตั้งใจจะฆ่านาย ข.ให้ตาย หากนาย ข. ไม่ตาย นาย ก.ต้องรับผิดฐาน พยายามฆ่าผู้อื่น แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายข.ไม่ตายนั้นเกิดจากที่ นาย ก. นึกสงสารบุตรของนาย ข.จึงกลับใจอุ้มนายข.ไปส่งที่โรงพยาบาล เช่นนี้แล้ว นาย ก.ย่อมไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น(พยายามฆ่า)

    อย่างไรก็ตามแต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดไว้ ผู้นั้นต้องโทษสำหรับความผิดนั้นๆด้วย ดังนั้น การกลับใจอุ้ม ข.ไปส่งโรงพยาบาลนั้นย่อมทำให้ก.ไม่ต้องรับผิดฐานพยายามฆ่า แต่อาจต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายได้
     
     
     

    ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
    ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมีดังนี้

    ผู้ลงมือ คือผู้ที่ได้กระทำความผิดโดยตรง
    ตัวการคือสมคบกันกระทำความผิดโดยมีการกระทำร่วมกัน มีเจตนาร่วมกัน
    ผู้ใช้ คือผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยผู้กระทำความผิดไม่มีเจตนาจะกระทำความผิดนั้น ๆมาก่อน
    ผู้สนับสนุน คือผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งได้ตกลงใจกระทำความผิดนั้นอยู่แล้ว

    ------------------------------------------------------------------------------------
    อธิบายดังนี้

    1.
    ผู้ลงมือคือผู้ที่ได้กระทำความผิดโดยตรง

    2.
    ตัวการคือกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นกล่าวคือรับโทษเท่าผู้ลงมือนั่นเอง

    เช่น นาย ก ให้นาย ข ดูต้นทางให้ ส่วนนาย ก เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของ นาย ค เช่นนี้ นาย ก คือผู้ลงมือ และนาย ขคือตัวการ

    3.
    ผู้ใช้คือผู้ที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้บังคับ ขู่เข็ญจ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

    ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้นผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ เช่น นาย ก จ้าง นาย ข ไปฆ่า นาย ค หากนาย คไม่ตาย นาย ข ซึ่งเป็นผู้ลงมือ รับผิดฐานพยายามฆ่า ส่วนนาย กผู้ใช้รับผิดฐานพยายามฆ่าเท่ากับ นาย ข เช่นกัน

    ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด (เช่นนาย กจ้าง นาย ข ไปฆ่า นาย ค แต่นาย ข กลับสงสารนาย ค จึงไม่ลงมือฆ่า)ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียง1 ใน 2 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

    4.
    ผู้สนับสนุนคือผู้ที่กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำ ความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม

    ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้อง ระวางโทษ 2 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ สนับสนุนนั้น
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×