ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    'นิติศาสตร์ 54

    ลำดับตอนที่ #18 : ว่าด้วยเรื่อง :: กฏหมายอาญา2

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 763
      1
      11 ต.ค. 53


    โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา

    บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

    โครงสร้างแรก การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
    โครงสร้างสองการกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
    โครงสร้างสามการกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

    โครงสร้างทั้งสามนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

    ดังนั้นในการพิจารณาว่าบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาหรือไม่นั้นประการแรกต้องดูว่าการกระทำของบุคคลนั้นครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่หากครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้วก็ต้องดูต่อไปว่าการกระทำมีกฎหมายยกเว้นความผิดหรือไม่หากไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิดก็ต้องดูต่อไปว่ามีกฎหมายยกเว้นโทษหรือไม่เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษก็มีหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดในทางอาญา

    ทั้งนี้หากมีเหตุลดโทษ ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจลดโทษให้ เช่นกระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะ อย่างไรก็ตามเหตุลดโทษนั้นไม่ใช่โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา
     
     

    โครงสร้างความรับผิดในทางอาญาโครงสร้างแรก (ตอนที่1)
    จากที่เคยกล่าวไปในเบื้องต้นแล้วว่า

    บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อ

    โครงสร้างแรกการกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ
    โครงสร้างสองการกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
    โครงสร้างสามการกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

    ซึ่งทั้งสามโครงสร้างนี้เรียกว่า“โครงสร้างความรับผิดในทางอาญา”

    ต่อไปจะอธิบายโครงสร้างแรกนะครับ ...

    โครงสร้างแรกการกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ

    โครงสร้างแรกนั้นประกอบด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้
    1.มีการกระทำ
    2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอก
    3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายใน
    4.มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

    ตัวอย่างเพื่อประกอบการพิจารณา

    เอกใช้มีดฟันไปที่แขนของโทโทถูกฟันแขนขาด ในการพิจารณาว่าการกระทำของเอกครบ “องค์ประกอบ” ที่กฎหมายบัญญัติตามโครงสร้างข้อ 1 หรือไม่ ให้พิจารณาตามขั้นตอนดังนี้

    (1) ดูว่า เอกมี “การกระทำ” หรือไม่
    หากเอกไม่มีการกระทำ ก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไปแต่หากเอกมีการกระทำจึงค่อยพิจารณาข้อ (2)

    (2) ดูต่อไปว่าการกระทำของเอกตามข้อ (1) นั้นครบ “องค์ประกอบภายนอก” ของความผิดในเรื่องนั้น ๆหรือไม่หากไม่ครบองค์ประกอบภายนอก หรือที่เรียกกันว่า “ขาดองค์ประกอบ” ก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไป แต่หากครบองค์ประกอบภายนอก จึงค่อยพิจารณาข้อ (3)

    (3) ดูต่อไปว่า การกระทำของเอก ตามข้อ(1) และ (2) นั้น ครบ “องค์ประกอบภายใน” ของความผิดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่หากไม่ครบองค์ประกอบภายในก็ไม่ต้องพิจารณาต่อไปแต่ถ้าครบองค์ประกอบภายในจะต้องพิจารณาข้อ (4) ต่อไป

    (4) ดูต่อไปว่าผลของการกระทำของเอกสัมพันธ์กับการกระทำของแดงตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลหรือไม่หากสัมพันธ์กันเอกก็จะต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นหากไม่สัมพันธ์กันเอกก็ไม่ต้องรับผิดในผลนั้นแต่รับผิดเพียงเท่าที่ได้กระทำไปแล้วก่อนเกิดผลนั้นขึ้น

    สรุป
    การที่เอกใช้มีดฟันแขนของโทการกระทำของเอกครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติแล้ว เพราะ
    (1)เอกมีการกระทำ
    (2)การกระทำของเอกครบองค์ประกอบภายนอกของความผิด
    (3)การกระทำของเอกครบองค์ประกอบภายในของความผิด
    (4)อาการบาดเจ็บของโทสัมพันธ์กับการกระทำของเอกตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
     
    โครงสร้างความรับผิดในทางอาญาโครงสร้างแรก (ตอนที่2)
    อธิบายโครงสร้างแรก(การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ)โดยละเอียดดังนี้

    ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โครงสร้างแรกแบ่งออกเป็น 4 องค์ประกอบใหญ๋

    และองค์ประกอบแรกของโครงสร้างแรกนั้น คือ "การกระทำ"

    เนื่องจาก มาตรา 59 ประมวลกฎหมายอาญาวางหลักไว้ชัดเจนว่า "บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำ" ดังนั้นหากไม่มีการกระทำย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา

    แล้วการกระทำหมายความว่าอย่างไร ..

    การกระทำ หมายถึง การเคลื่อนไหว หรือ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกอาจจะอธิบายได้ว่าการเคลื่อนไหว หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ

    ดังนั้นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่รู้สภาพและสาระสำคัญของการกระทำ เช่น การกระทำคนละเมอหรือคนเป็นลมบ้าหมู หรือการกระทำเพราะถูกผลัก ถูกชน หรือการกระทำโดยถูกจับมือให้ทำถูกสะกดจิต กรณีเช่นนี้ ในทางกฎหมายไม่ถือว่ามีการกระทำเมื่อไม่มีการกระทำย่อมไม่ต้องรับผิดทางอาญา

    ดังนั้น การกระทำ จึงต้องผ่าน 3 ขั้นตอน ด้วยความรู้สำนึกในการที่กระทำ กล่าวคือ
    1.ต้องมีความคิดที่จะกระทำ
    2.ตกลงใจที่จะกระทำตามที่คิด
    3.ได้กระทำไปตามที่ตกลงใจอันสืบเนื่องมาจากความคิดการกระทำ
     
     
    การกระทำอาจแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

    1.การกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายแบ่งออกเป็น

    1.1.การกระทำโดยตรง
    1.1.1.กระทำความผิดเอง
    เช่นนายเอกได้ยิงนายแดง

    1.1.2.กระทำผ่านบุคคลที่ไม่มีการกระทำ
    เช่นนายเอกผลักนายโทที่ถือมีดไปแทงนายดำ กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายโทถูกผลักการที่นายโทเคลื่อนไหวจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การรู้สำนึก การที่นายดำตายนายโทจึงไม่ต้องรับผิดเนื่องจากไม่มีการกระทำแต่นายเอกต้องรับผิดเพราะนายเอกได้กระทำความผิดผ่านบุคคลที่มีการกระทำ

    1.1.3.กระทำผ่านสัตว์
    เช่นนายเอกสั่งให้หมาของตนไปกัดนายแดง

    1.2.กระทำโดยอ้อม
    1.2.1.กระทำผ่านบุคคลที่มีการกระทำ (บุคคลที่มีการกระทำในกรณีนี้ไม่มีความชั่ว)
    เช่นนายเอกหลอกให้นายดำหยิบกระเป๋าของนายโดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ โดยนายเอกอ้างว่าเป็นของตนนายดำเชื่อตามที่นายเอกอ้างจึงหยิบให้กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายดำมีการกระทำคือการหยิบแต่การกระทำของนายดำไม่มีความชั่ว ในทางกฎหมายเรียกว่า Innocent Agent กล่าวคือนายดำไม่ทราบว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายดำจึงไม่ต้องรับผิดส่วนนายเอกผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิดต้องรับผิดฐานลักทรัพย์โดยเป็นผู้กระทำความผิดโดยทางอ้อม

    1.2.2.กระทำโดยการใช้ (ผู้ใช้/ผู้ถูกใช้ )
    เช่น นายเอกจ้างให้นายดำหยิบกระเป๋าของนายโดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ นายดำได้ค่าจ้าง 800 บาท กรณีนี้จะเห็นได้ว่านายดำมีการกระทำคือการหยิบและการกระทำของนายดำมีความชั่ว กล่าวคือนายดำทราบว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ นายดำจึงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ถูกใช้ให้กระทำผิดส่วนนายเอกผู้ที่ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดต้องรับผิดฐานลักทรัพย์ฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด

    ....................................................................................

    2.การกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายแบ่งออกเป็น

    2.1.งดเว้นการกระทำ
    การกระทำโดย “งดเว้น” มีหลักเกณฑ์คือ
    1.เป็นการกระทำโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
    2.ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำซึ่งเป็นหน้าที่ซึ่งต้องกระทำโดยเฉพาะเพื่อป้องกันผลที่เกิดขึ้นนั้น

    2.2.ละเว้นการกระทำ
    การกระทำโดย “ละเว้น” มีหลักเกณฑ์ คือ
    1.เป็นการกระทำโดยการไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
    2.ผู้กระทำมีหน้าที่ต้องกระทำ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยทั่ว ๆ ไป

    สรุปการกระทำโดยงดเว้น/ละเว้น ต่างกันตรงหน้าที่
    - หน้าที่โดยทั่ว ๆ ไป (GENERAL DUTY) การไม่ทำตามหน้าที่ถือเป็นการกระทำโดยละเว้น
    พูดอีกอย่างได้ว่า“ละเว้น”เป็นกรณีที่บัญญัติไว้เพื่อเป็นหน้าที่พลเมืองดีเมื่อเห็นผู้ใดตกในอันตราย หากสามารถช่วยได้ต้องช่วย ซึ่ง“ละเว้น” นั้นเป็นความผิดลหุโทษ (ความผิดลหุโทษคือความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท)

    - หน้าที่โดยเฉพาะเพื่อป้องกันผล (SPECIAL DUTY) การไม่ทำตามหน้าที่เป็นการกระทำโดยงดเว้น

    หน้าที่โดยเฉพาะของการกระทำโดยงดเว้นมี 4 ประเภทคือ

    1.หน้าที่ ตามกฎหมายบัญญัติ
    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1563 บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1564 บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1461 สามีภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน

    2.หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเจาะจง
    ผู้กระทำยอมรับโดยตรงที่จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งการยอมรับก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามที่ตนยอมรับ
    เช่นการเข้าทำสัญญาจ้างคนดูแลสระว่ายน้ำผู้ดูแลสระมีหน้าโดยเฉพาะที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้มาใช้บริการ

    3.หน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อนๆ ของตน
    ถ้าการกระทำของผู้กระทำน่าจะก่อให้เกิดภยันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นผู้กระทำย่อมมีหน้าที่ต้องป้องกันภยันตรายนั้น
    เช่น A เห็นคนตาบอดข้ามถนนเลยไปช่วย แต่พอพาไปกลางถนนรถเมล์มา A เลยวิ่งไปขึ้นรถทิ้งคนตาบอดไว้ขาวขับรถมาชนถูกคนตาบอดตาย

    4.หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์เป็นพิเศษ
    เช่น หลานไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะ ป้าแต่ถ้าป้าคนนั้นเป็นคนเลี้ยงดูหลานมาแต่เด็กให้อาหารกิน ให้การศึกษาอบรมภายหลังป้าแก่ตัวลงหลานไม่เลี้ยงดูปล่อยให้ป้าอดตาย อาจถือว่าหลานฆ่าป้าก็ได้
     

    จากที่เคยกล่าวมาแล้วว่าการกระทำแบ่งออกเป็นการกระทำที่เคลื่อนไหวร่างกายและการกระทำที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายซึ่งการกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นสามารถแบ่งออกเป็นการงดเว้น และการละเว้น

    เพื่อให้มีความเข้าใจในเรื่องงดเว้นและการละเว้นมากขึ้นผมขอยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจเรื่อง งดเว้น และ ละเว้นดังนี้ครับ

    ข้อเท็จจริง

    นางโทพาเด็กชายแดงมาหัดว่ายน้ำกับนายอ้วนที่สระว่ายน้ำหรูกลางใจเมืองมีนายวันเป็นผู้คุมสระ นายวันได้รับจ้างจากนายเอกซึ่งเป็นแฟนเก่าของนางโทโดยนายเอกใช้ให้นายวันฆ่านางโทและเด็กชายแดงในวันนั้นมีนักกีฬาโอลิมปิกชื่อนายปลาเข้ามาฝึกซ้อมว่ายน้ำด้วยอีกทั้งยังมีเด็กชายแก้ววัย 15 ขวบมาหัดว่ายน้ำด้วย

    ระหว่างที่เด็กชายแดงรอนายอ้วนมาหัดว่ายน้ำให้ตนเด็กชายแดงได้ขออนุญาตนางโทผู้เป็นแม่ลงไว้ว่ายน้ำสระเด็กก่อนนางโทได้อนุญาตให้เด็กชายแดงไปว่ายน้ำระหว่างที่เด็กชายแดงว่ายน้ำอยู่ได้พลัดเข้าไปในสระผู้ใหญ่ เด็กชายแดงตกใจมากจึงกระเสือกกระสนเข้าขอบสระ แต่เกิดเป็นตะคริวขึ้นมาและจมน้ำตาย

    กรณีมีผู้ใดต้องรับผิดอย่างไรบ้างถ้า
    1.เด็กชายแดงตะโกนร้องให้ช่วยแต่นางโทคิดว่าถ้าเด็กชายแดงตายไปซะตนจะได้ไม่ต้องมีภาระเลี้ยงดู
    2.นายวันเห็นเด็กชายแดงตะโกนร้องให้ช่วยแต่นายวันคิดว่าถ้าเด็กชายแดงตายไป ตนจะได้ไม่เสียเวลาไปฆ่าทีหลัง
    3.นายปลาและเด็กชายแก้วเห็นเด็กชายแดงตะโกนร้องให้ช่วย แต่ทั้งสองขี้เกียจช่วยเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตน

    -------------------------------------------------------------------------------------
    วินิจฉัย

    หากสังเกตดูดีๆ แล้วจะเห็นว่าไม่ว่านางโท นายวัน นายปลา หรือแม้แต่เด็กชายแก้วก็ตามไม่มีใครเคลื่อนไหวเลยสักคน ท่านจึงอาจเกิดคำถามว่าแล้วเช่นนี้ต้องรับผิดด้วยหรือแต่ท่านอย่าลืมนะครับ การกระทำนั้นแบ่งออกเป็นการกระทำโดยเคลื่อนไหวร่างกายและการกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย

    เนื่องจากนางโทอยู่ในฐานะมารดาซึ่งตามกฎหมายมารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติเมื่อนางโทไม่ดูแลลูกชายของทำให้เด็กชายจมน้ำตายนางโทจึงต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยงดเว้นการกระทำ

    กรณีของนายวันได้ทำสัญญาจ้างคนดูแลสระว่ายน้ำผู้ดูแลสระมีหน้าโดยเฉพาะที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้มาใช้บริการการที่นายวันไม่ลงไปช่วยนายวันจึงต้องรับผิดฐานฆ่าคนตายโดยงดเว้นการกระทำ

    ส่วนนายปลาผู้เข้ามาใช้บริการ ไม่มีความสัมพันธ์พิเศษใด ๆ กับเด็กชายแดงกรณีที่นายปลาไม่ช่วยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยงดเว้นการกระทำ อย่างไรก็ตามนายปลาเป็นนักกีฬาโอลิมปิกซึ่งสามารถที่จะช่วยเด็กชายแดงได้แต่ไม่ยอมช่วย เช่นนี้นายปลาไม่ทำตามหน้าที่อันพลเมืองดีจักต้องทำเป็นหน้าที่โดยทั่วไปนายปลาจึงต้องรับผิดฐานละเว้นการกระทำหน้าที่พลเมืองดีซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ

    เด็กชายแก้วไม่ต้องรับผิดฐานละเว้นแม้ว่าหน้าที่พลเมืองดี กำหนดให้ทำ แต่ก็ไม่ได้เป็นการบังคับทุกคน หน้าที่ดังกล่าวกำหนดให้เป็นความผิดเฉพาะกรณีที่ช่วยได้แต่ไม่ช่วยกรณีเด็กชายแก้วเพิ่งมาหัดว่ายน้ำ จึงยังว่ายน้ำไม่เป็น หากเด็กชายแก้วลงไปช่วยเด็กชายแก้วต้องตายไปด้วยอีกคนแน่
     

    โครงสร้างความรับผิดทางอาญา ประกอบด้วย 3 โครงสร้าง ซึ่งตอนนี้พี่กำลังอธิบายถึงโครงสร้างแรก

    โครงสร้างแรกแบ่งอธิบายได้ 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาได้ต้องมีการกระทำ
    --------------------------------------------------------------------------------

    องค์ประกอบที่ 2 ของโครงสร้างแรกคือ การกระทำตามองค์ประกอบแรกนั้นครบองค์ประกอบภายนอก

    องค์ประกอบภายนอกแบ่งออกเป็น
    1.ผู้กระทำ
    2.การกระทำ
    3.วัตถุแห่งการกระทำ

    ----------------------------------------------------------------------------------

    1.ผู้กระทำความผิดในทางอาญาแยกได้ 3 ประเภท

    1.1ผู้กระทำความผิดเองผู้นั้นได้กระทำความผิดด้วยตนเองโดยตรง เช่น แดงใช้ปืนยิงดำด้วยมือของแดงเองเช่นนี้ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดเองการใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดการใช้บุคคลซึ่งไม่มีการกระทำ เช่นถูกสะกดจิตเป็นเครื่องมือถือว่าเป็นการกระทำความผิดเอง

    1.2ผู้กระทำความผิดโดยทางอ้อมผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิด ผู้ถูกหลอกมีการกระทำแต่ขาด เจตนาผู้ถูกหลอกมีการกระทำเพราะไม่ได้ถูกสะกดจิต ไม่ได้ละเมอแต่ผู้ถูกหลอดขาดเจตนา เพราะผู้ถูกหลอกไม่รู้ ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิด

    1.3ผู้ร่วมในการกระทำความผิด ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน

    ----------------------------------------------------------------------------------
    2.การกระทำ
    กระบวนการเกิดความผิดทางอาญา
    1.คิด 2.ตัดสินใจ 3.ตระเตรียม 4.ลงมือ 5.พยายาม 6.ความผิดสำเร็จ

    จะเป็นความผิดได้ต้องอยู่ในขั้นลงมือแล้ว

    ใช้หลักความใกล้ชิดต่อผล คือผู้กระทำได้กระทำการขั้นสุดท้ายซึ่งจำต้องกระทำเพื่อให้ความผิดสำเร็จถือว่าใกล้ชิดต่อผล เป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วดังนั้นการกระทำของผู้กระทำจะต้องได้กระทำถึง “ขั้นสุดท้าย” (Last act) ซึ่งจำต้องกระทำเพื่อให้ความผิดสำเร็จแล้ว

    เช่น ก. จะฆ่า ข.จึงเอายาพิษผสมในขวดน้ำที่ ข. กินทุกวันถือเป็นการลงมือฆ่าแล้วเพราะเป็นการกระทำขั้นสุดท้ายที่ ก.จำเป็นต้องทำเพื่อฆ่าข.แล้วแม้ข.จะเป็นหยิบแก้วน้ำนั้นมาดื่มเองก็ตาม

    -------------------------------------------------------------------------------------

    3.กรรมของการกระทำ
    หากไม่มีกรรมของการกระทำจะทำให้ขาดองค์ประกอบความผิดเช่น ลักทรัพย์ของตนเอง, ฆ่าตัวตาย
     
     
     
     
     

    ตามที่เคยได้อธิบายเรื่ององคืประกอบภายนอกของความผิดแล้วพี่ขอยกตัวอย่าง เรื่ององค์ประกอบภายนอกของความผิด ดังนี้

    ผู้กระทำ /การกระทำ /กรรมของการกระทำ

    ผู้ใด /ฆ่า / ผู้อื่น
    ผู้ใด /เอาไป /ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
    ผู้ใด /ทำร้ายร่างกาย /ผู้อื่น
    ผู้ใด /วางเพลิงเผา /ทรัพย์ของผู้อื่น


    ข้อสังเกตในเรื่องกรรมของการกระทำ

    ปกติแล้ว

    ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาทแต่หากว่า

    ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
    (1) โรงเรือน เรือหรือแพที่คนอยู่อาศัย

    (6) …

    ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี

    สังเกตได้ว่า
    การวางเพลิงปกติระวางโทษไม่เท่าไรแต่หากวางเพลิงทรัพย์ที่สำคัญ ๆ กฎหมายระวางโทษไว้สูงมากเช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์หรือเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น

    เหตุฉกรรจ์ตามกฎหมายอาญายังมีอีกหลายตัวอย่างเช่น

    ปกติแล้วผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
    แต่หากว่า
    ผู้ใด
    (1) ฆ่าบุพการี

    (7) ..
    ต้องระวางโทษประหารชีวิต

    สังเกตได้ว่าการฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี แล้วแต่ดุลยพินิจศาล แต่หากการฆ่าบุพการีกฎหมายระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว เช่นนี้เรียกว่าเป็นเหตุฉกรรจ์

    อย่างไรก็ตาม

    กฎหมายวางหลักว่า “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์)บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”

    ซึ่งอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า

    หากนาย ก. ไปดักฆ่านาย ด. เมื่อนาย พ. บิดาของนาย ก. เดินมา นาย ก.คิดว่าเป็นนาย ด. จึงยิงไป ทำให้นาย พ. บิดาของนาย ก. เสียชีวิต เช่นนี้นาย ก.ต้องรับผิดฐานฆ่าบุพการีหรือไม่

    เมื่อนาย ก. ไม่รู้ว่า ผู้ที่นาย ก.ฆ่านั้นคือพ่อของตน นาย ก. ย่อมไม่มีความผิดฐาน ฆ่าบุพการี นาย ก.มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเท่านั้น เพราะ “นาย ก.จะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด(เหตุฉกรรจ์) นาย ก.จะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น”


    ไหน ๆ พูดถึงเหตุฉกรรจ์แล้วก็ขออธิบายคำว่า ผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น

    ปกติแล้ว ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้นผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแต่หากว่า

    ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี (อันตรายสาหัสนั้น คือ ตาบอด หูหนวกลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์ เสียแขน ขามือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก …)

    สังเกตได้ว่าการทำร้ายร่างกายผู้อื่นต้องระวางจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่ดุลยพินิจศาลแต่หากการทำร้ายร่างกายผู้อื่นนั้น ทำให้ผู้นั้นรับอันตรายสาหัสกฎหมายระวางโทษระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าเช่นนี้เรียกว่าเป็นผลฉกรรจ์ ซึ่งก็คือ ผลที่ทำให้ผู้กระทำความผิดรับโทษหนักขึ้น
     


    ***ต่อๆ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×