ชีวิตของไอ้ปั๋น - ชีวิตของไอ้ปั๋น นิยาย ชีวิตของไอ้ปั๋น : Dek-D.com - Writer

    ชีวิตของไอ้ปั๋น

    ชายที่อดีตเป็นคนปกติ แต่ปัจจุบันมาเป็นคนวิกลจริต มันน่าแปลก..ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงเป็นเช่นนั้น

    ผู้เข้าชมรวม

    62

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    0

    ผู้เข้าชมรวม


    62

    ความคิดเห็น


    2

    คนติดตาม


    1
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  8 ต.ค. 65 / 06:57 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้

                                                    ชีวิตของ ไอ้ปั๋น
               บุญปั๋น ชายวิกลจริตอายุประมาณห้าสิบปีเศษๆ ที่ใครๆแถวหมู่บ้านใกล้ๆมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องพบเห็นเขาเดินไป มาทุกๆเช้าและทุกๆเย็น ผมรู้จักกับบุญปั๋นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ด้วยในเวลานั้น ผมกำลังจะปลูกบ้านพักอาศัยเป็นของตนเอง ผมได้วางโครงการชีวิตของผมไว้ตามหลักความจำเป็น ว่าเมื่อผมสมรสและมีบุตรแล้วผมจะต้องซื้อรถยนต์มาใช้ให้ได้  เป็นเพราะสวัสดิการในองค์กรที่ผมทำงานมีการเลือกปฎิบัติอย่างชัดแจ้ง   นับตั้งแต่ผมทำงานตั้งแต่วันแรก จนวันเกษียณอายุวันสุดท้าย ผมไม่เคยประทับใจกับผู้นำและเพื่อนร่วมงานของผมเลย 
         เหตุผล..ที่ผมไม่ประทับใจคือเรื่องคนเป็นเพราะ.คนในสังคมแห่งนี้มีพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน  ขาดความจริงใจ  และเป็นสังคมแห่งการเสแสร้ง ดัดจริตสร้างภาพ ปวันๆ   
        หลังจากที่ผมซื้อรถยนต์ได้สามวัน ผมก็ได้ลูกสาวคนเล็ก จึงมีโอกาสได้ใช้รถยนต์คันใหม่นี้ในทันที  ผมยังจำได้ดีว่าช่วงทีภริยาผมตั้งครรภ์ลูกคนแรก เราจำเป็นต้องไปหาแพทย์ตามนัด  การที่เราต้องเข้าเมืองด้วยการเหมารถนั้น มันค่อนข้างลำบากเพราะโชเฟอร์ไม่ค่อยมี  ทุกครั้งที่ผมขอใช้สวัสดิการใช่้รถยนต์ แม้จะได้รับการอนุมัติแต่ส่วนใหญ่คนขับรถยนต์มักมีเงื่อนไขและตุกติก  ผมจึงต้องมีรางวัลให้เขาเพื่อจูงใจ ช่วงลูกคนแรกของผมที่จะพาไปคลอด ก็ทุลักทุเล...ดีที่มีอาจารย์เพื่อนบ้านมีน้ำใจ จึงช่วยขับรถพาไปโรงพยาบาลได้ทันเวลาคลอด..
         บ่อยๆครั้งที่ลูกคนโตไม่สบาย ผมจำต้องขี่รถจักรยานยนต์จากบ้านพัก เข้าเมืองไปคลินิค ไปโรงพยาบาลต่างกับภริยาของอาจารย์ที่เส้นใหญ่ ที่แม้มิได้เป็นอาจารย์สอนที่นี่.. แต่คนขับรถยนต์ต่างยินดีและ เต็มใจให้บริการส่งพวกเธอถึงหัวบันไดบ้าน
          "มันก็เป็นอย่างนี้นี่แหละเลือกปฎิบัติ ทีพวกลูกหลานของพวกมัน พนักงานขับมันรอได้ เต็มใจรอ  ที่พอเราขอใช้บริการ มันจะหน้างอ กระฟัดกระเฟียด ขับรถยังกับเรือเหาะ จะพาพวกเราไปตาย "ผมพูดกับแม่บ้าน ด้วยอารมณ์โกรธ
          "อย่าไปว่าเขาเลยพี่.. ลองคุยกับพี่ชายคุณ เพื่อขอยืมเงินเขามาซื้อรถยนต์เป็นของเราเอง สิ  "แม่บ้านผมพูด 
          "ผมก็ตั้งใจอยู่แล้ว เดือนหน้าจะไปสหกรณ์ทำเรื่อง ขอกู้เงินออมทรัพย์มาสักห้าแสนบาท หากขาดเหลือจะยืมเงินพี่ เพื่อซื้อรถยนต์ด้วยเงินสดเลย  "
          หลังจากที่ผมได้รับอนุมัติจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ผมจึงไปซื้อรถยนต์อีซูซุ กระบะเพื่อมาไว้ใช้งาน   วัตถุประสงค์หลักของการซื้อรถยนต์ก็เพื่อไปโรงพยาบาล  ครั้งที่ภริยาผมตั้งครรภ์ลูกคนเล็ก แม่บ้านผมถูกงูมีพิษกัด ถึงกับผมต้องเครียดเพราะเกรงว่าทั้งภริยาและลูกจะได้รับอันตรายร้ายแรง(เคยเขียนแล้ว เรื่องงูเปา)   
          โครงการที่ผมได้วางแผนต่อจากการซื้อรถยนต์ คือโครงการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  มีคนส่วนใหญ่ที่ไม่ทราบความจริงในสังคมแห่งนี้ อาจตำหนิผมว่าทำไมจึงเป็นคนเรื่องมาก (หากท่านไม่เป็นตัวผม ท่านจะรู้ได้อย่างไร) อย่างกรณีเรื่องบ้าน ผมก็อึดอัด ดังที่ได้เขียนในเรื่องปลาร้าไม่ใส่ ผมมีคำถามกลับไปว่า  ในที่ทำงานแห่งนี้ มีอาจารย์โสดหลายคนที่พักคนเดียวกับบ้านทั้งหลัง แล้วทำไม..แผนกอาคารสถานที่ จึงไม่ให้อาจารย์บรรจุใหม่ ไปพักด้วยกับคนโสดเหล่านั้น ไม่ว่าใครจะไป ใครจะมา แผนกอาคารฯเป็นต้องให้คนเหล่านี้ เข้ามาพักกับผมโดยตลอด (สรุปง่ายๆว่า ใครไม่มีเส้น ก็ได้อยู่บ้านเก่า ใครมีพวก ก็ได้บ้านที่มีคุณภาพดี ) 
          ผมเริ่มมาวางผังสร้างบ้าน โดยติดต่อช่างที่มีฝีมือในการสร้างบ้าน เราตกลงเหมาจ่ายค่าจ้าง จนสร้างบ้านแล้วเสร็จในราคาแสนบาทเศษ  ส่วนอื่นๆผมต้องบริหารจัดการเองทั้งหมดเช่น ค่าวัสดุ เหล็ก ปูน หิน ทราย  หลังคา สายไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอุปกรณ์ประปาฯลฯ หลังจากขึ้นเสาเอกแล้ว ช่างใหญ่ก็ให้ลูกน้องสี่คน เริ่มขุดหลุมและวางฐานราก  หนึ่งในสี่ที่เป็นลูกน้องของช่างคือบุญปั๋นประมาณ 2สัปดาห์เสาหลักของบ้านก็ตั้งให้เห็นโดดเด่น ผมรู้สึกได้ว่าอีกไม่กี่เดือน   ผมก็จะมีบ้านอยู่เป็นของตนเองแล้ว  

          ทุกๆเย็น หลังเลิกงาน ผมต้องแวะมาดูงานก่อสร้างและสอบถามกับช่างว่า เขาต้องการอะไร เพื่อจะได้วางแผนและเตรียมการออกไปซื้อหรือไปสั่งจากร้านวัสดุในเมือง
           "เย็นนี้ มีกับแกล้มอะไรพิเศษ หรือครับ  "ผมถาม
           "ออ .ผมให้ลูกน้อง ปีนไปเก็บหนอนผีเสื้อยักษ์ ที่ต้นกระท้อน มาจี่กิน ครับ  "
           "กินได้ด้วยเหรอ เนี่ยะ  "
           "อร่อยที่สุดเลยครับ อาจารย์ หากอาจารย์ได้กิน รับรองว่าอาจารย์ต้องติดใจแน่"ช่างใหญ่ พูด

           สล่าวัฒน์ ช่างใหญ่เป็นคนจากจังหวัดอื่น มาได้ภริยาคนที่อยู่หมู่บ้านนี้ หลังเลิกงานแล้วสล่าวัฒน์มักจะเปิดวงเหล้าให้ลูกน้องได้ดื่มยาดองแก้ปวดเมื่อย และสร้างบรรยากาศ แบบกันเองคือมีการ้องรำทำเพลง กระเซ้าเย้าแหย่ ลูกน้อง
            "คนตัวเล็กๆ ไม่มาดื่มเหรอ "ผมถาม 
            "คนนั้นชือปั๋น บ้านอยู่ใกล้ๆกับวัด คนงานพวกนี้อยู่แถวบ้านผมทุกคน ปั๋นเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยพูด  ไม่ได้เรียนหนังสือ อายุพอๆกับผม เขาดื่มเหล้าเหมือนกันครับ  "   

             สล่าวัฒน์นิ่ง. .ไปสักครู่..  . 
            "นี่ครับอาจารย์ หนอนผีเสื้ออาจารย์จิ้มกับน้ำจิ้ม ที่ผมทำขึ้นมา"สล่าวัฒน์หยิบดักแด้หนอนผีเสื้อกลางคืนพร้อมแกะ  เปลือกที่ห่อหุ้มตัวหนอน ยื่นส่งมาให้ผม พร้อมแก้วยาดองที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก 
             ผมเอายาดองถองเข้าปากพร้อมคำราม เพราะฤทธิ์เหล้ามันดีกรีแรงจัดก่อนจะส่งหนอนผีเสื้อเข้าปากเคี้ยว  หลังจากที่ผมใช้ฟันกัดลงบนตัวหนอนให้ขาด จึงได้สัมผัสกับเนื้อและน้ำในตัวหนอน มันหวานและมันมีรสชาติที่อร่อยมากจนอยากขอลองลิ้มอีกสักนิด 
            "เป็นไงครับ  "
            "โอ อร่อย..นี่ ไหนลองอีกหน่อยครับ "
            "มีเยอะเลยครับอาจารย์ ปั๋น..ส่ง(ให้)ฮื้อ อาจ๋านจิม " สล่าวัฒน์เอ่ยปาก บอกบุญปั๋นที่กำลังจี่หนอนผีเสื้อบนเตา ที่ทำจากเศษก้อนอิฐ
            บุญปั๋นใช้ไม้ไผ่ที่หลาวจนแหลม เสียบกลางลำตัว แล้วยื่นหนอนผีเสื้อให้ผม   
            "ขอบคุณครับ" ผมบอกบุญปั๋น เขาพยักหน้า แทนคำกล่าวที่จะหลุดออกจากปาก

           บ้านหลังที่ผมสร้าง ใช้เวลาประมาณสามเดือนเท่านั้น ก็สำเร็จลุล่วง  ช่วงเวลาที่ผมมาดูงานการก่อสร้างจะเป็นช่วงระหว่างหยุดพักกลางวันและหลังเลิกงาน ช่วงเสาร์อาทิตย์ ผมอาจจะมาดูงานก่อสร้างยาวนานกว่าวันธรรมดา   จากที่สังเกตของทีมงานจะเห็นว่า ช่างใหญ่เป็นคนมีฝีมือ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เข้าใจการบริหารการจัดการงานก่อสร้างที่ดี เข้าถึงจิตใจลูกน้องทุกคน นอกจากนั้นผมยังสังเกตลูกน้องของช่างแต่ละคน แต่ที่สะดุดที่สุดคือที่บุญปั๋น   
          "วันนี้บุญปั๋น ไปไหนเหรอ นายช่าง "
           "เขาลาพักงาน หนึ่งวัน  สงสัยถ้าจะไม่สบายนะ เห็นมีอาการไอ"
           "เขาคน บ้านไหนเหรอ "
           "หลังวัดดอนมูล   " 
           "ผมสังเกตว่า เขาไม่ค่อยจะสุงสิงกับใครเลยนะ "
           "ใช่ครับ ปั๋นเป็นคนขยัน เขาเป็นคนเงียบๆ ถามคำตอบคำ   "
           "เขาทำงานใน ตำแหน่งอะไรเหรอครับ  "
           "กรรมกรครับ ผมให้เขาขนหิน ดิน ทราย ปูน หิ้วปูน ส่งให้ช่าง "
           "มีครอบครัวหรือยัง "
           "โสดครับ"

       หลังจากที่ช่างวัฒน์ ส่งมอบบ้านให้ผมแล้ว เมื่อมีงานบางอย่างที่ยังไม่สมบูรณ์ ผมยังให้ช่างได้เข้ามาแก้ไขงาน   เขาจะให้บุญปั๋นมาช่วยงานอีกแรง
       "ไม่เจอหลายเดือนเลย เป็นไงปั๋น "ผมทักทาย
       "ครับ"เขาตอบสั้นๆ  คำตอบของเขา ไม่ได้ทำให้ผมทราบทุกข์สุขของเขาได้เลย  เมื่อทำงานเสร็จ  ช่างวัฒน์ กับบุญปั๋นก็ลากลับบ้าน 
       "มีอะไร. เรียกใช้ผมได้ตลอดนะครับ " 
       "ครับ "
       เวลาล่วงเลยมาสามปี.บุญปั๋น.ได้ออกจากงานของช่างวัฒน์อย่างถาวร ซึ่งผมไม่ทราบสาเหตุว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับเขา ทุกๆเช้าช่วงแรกๆที่เจอบุญปั๋น มักเห็นเขาเดินออกจากบ้านญาติหลังวัด เดินผ่านห้วยซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างตำบล เขาเดินมุ่งหน้าไปทางเหนือคลองชลประทาน พอพลบค่ำก็จะเดินกลับไปทางหลังวัด  ผมและชาวบ้านเห็นเขาทำเช่นนี้มานานนับสิบปี  แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าบุรุษร่างผอม สูงประมาณเมตรครึ่ง ไว้ผมยาวกระเซอะกระเซิง สวมใส่กางเกงและเสื้อแทบจะเป็นชุดเดียวกันตลอดทั้งปี และบางครั้งอาจเห็นเขาใส่หมวกลายพรางทหาร จะมีพฤติกรรม เช่นนี้ไปได้
       จากที่ผมสืบค้นข้อมูล.ของบุญปั๋น เขามีญาติพี่น้อง ที่มีฐานะมิได้ยากจนนัก ผมเคยถามแม่ค้าที่อยู่ใกล้บ้านบุญปั๋น    “ทำไม บุญปั๋นจึงไม่พักกับพี่น้องของเขา”ผมถาม  ก็ได้รับคำตอบว่า  

       “เขาถูกโกงที่ดิน จากญาติๆ จึงทำให้เขาเป็นคนแบบนี้ไป”
        ผมและชาวบ้านพบเห็นเขาทุกวัน ในสภาพคล้ายคนวิกลจริตต่างรู้สึกเห็นใจและสงสาร บ่อยครั้งการสื่อสารระหว่างผมกับเขาดูเหมือนจะปกติ แต่บางครั้งการสื่อสารของผมกับเขาคล้ายกับคำถามที่ว่าไปไหนมา สามวาสองศอก คือผมถามไม่ตรงกับคำตอบที่เขาอยากตอบ แต่ก็ยังดีที่เขาพูดมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
       ช่วงที่ผมยังไม่เกษียณอายุ ขณะที่ขับรถจักรยานยนต์ไปทำงาน จะเห็นบุญปั๋นเดินออกจากซุ้มขายสับปะรด  มายัง จุดที่พักประจำ บริเวณริมคลองชลประทาน เขาจะนั่งและนอนที่บริเวณสะพาน พร้อมวางสัมภาระ ที่เป็นสมบัติส่วนตัวอาทิกระป๋อง ขวดน้ำ เสื้อ กางเกง   
       "เออ..เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจไทย มันแย่ เลือกตั้งไปแล้ว ก็ยังมีคนออกมาประท้วง.มันจะบ้าไปกันใหญ่แล้ว "บุญปั๋น รำพันคนเดียว  
       "บุญปั๋น ว่าเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรบ้าง "ผมชวนเขาคุย เพราะได้ยินเขาพูดเรื่องเศรษฐกิจพอดี
      "แย่เลยอาจ๋าน สัปปะรดราคาถูก ต่างประเทศไม่รับซื้อชาวสวนเดือดร้อน อย่างนี้ต้องให้ทหารออกมาปราบ พ่อค้าหน้าเลือด"เขาพูดไปตามประสา 

         ทั้งยังก้าวเดินไปเรื่อยๆสายตาก็กวาดไปทั่ว เพื่อระวังหมาข้างทางที่เขาต้องเดินผ่านบ้านต่างๆ  เมื่อสองปีก่อนผมเห็นว่าเขามีหมาวิ่งอยู่ข้างกายสองสามตัว  ไม่รู้ว่าเขาผูกมิตรกับพวกมันได้อย่างไรทั้งๆที่เมื่อก่อนพวกมันเคยไล่กัด แรกๆที่ผมเจอเขายังดูว่ามีสติสัมปชัญญะมากกว่าปัจจุบันมาก ทุกวันนี้เขาจะเหม่อลอยพูดจาไปไม่ซ้ำเรื่องและจะยืนพูดนั่งพูดคนเดียว โดยมิสนใจและแยแสใครๆที่ผ่านไปมา
      "อาจ๋าน ไปอำเภอหรือยัง "จู่ๆบุญปั๋นก็ทักทายผม ขณะเขากำลังเดินกลับที่พักเพิงขายสับปะรดช่วงค่ำวันหนึ่ง
      "ไปทำไม "
      "ไป (แปลง)ติดต่อทำโฉนดที่ดิน รัฐบาลเขาจะให้ที่ดินประชาชนคนละสามไร่ "
      "จริงหรือ ปั๋น  "
      "แต๊กา อาจ๋าน (จริงสิ ). " เขาตอบ
        ทุกๆฤดูกาล ผมเห็นเขานอนตากยุง เยื้องบ้านพักคนงานชลประทาน เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ มีเพียงสองชุดเป็นแขนสั้น เพราะสงสารจึงนำเสื้อยืดลองไปให้เขาใส่ก่อนหนึ่งตัว เขาใส่เสื้อที่ผมให้เพียงแค่วันเดียวและไม่ใส่อีกเลย เป็นเพราะเหตุผลใด ผมมิอาจทราบได้ สามวันต่อมาผมมองหาเขาแต่ไม่พบเพิ่งมาพบเมื่อเย็นวันคริตมาส  เวลาประมาณ  เกือบหนึ่งทุ่มหน้าตาเขาออกซีดเซียว อาจเป็นไปได้ว่า เขาน่าจะเจ็บป่วย   
       "ปั๋น กินข้าวแล้วกา   "
        "กินแล้ว  "
        คำตอบที่ผมได้ยินจากปากเขาที่ฟังแล้วน่ายินดี ว่าเขายังมีสุขภาพแข็งแรง เพียงสามวันที่ผมไม่เห็นเขา ก็อดห่วงเขาเสียมิได้ แม้มิใช่ญาติ แต่ปั๋น ก็คือเพื่อนร่วมโลกผมคนหนึ่ง ที่ต้องเอื้ออาทรต่อกัน  

        "หนาวมั้ย ปั๋น  "
        "หนาวสิครับ อาจ๋าน  ถามได้ " เขาพูด พร้อมตำหนิผมด้วยสายตา
        "ผมเอาเสื้อกันหนาว มาฝากให้นะ ถ้าชอบจะเอามาให้อีก "
         เขาไม่ตอบ แต่ยอมที่จะรับเสื้อมาใส่ไว้ในถุงพลาสติคใบใหญ่  เวลาผ่านมาสองสามวัน ผมเห็นเขายอมเปลี่ยนเสื้อตัวเดิมมาเป็นเสื้อตัวใหม่ แต่ใส่ได้เพียงวันสองวัน เขาก็กลับมาสวมตัวเก่า จากนั้น..เสื้อที่ผมให้เขาไปก็ไม่ทราบหายไปไหนไม่ว่าจะฤดูร้อน-ฝน หนาวบุญปั๋นก็คงมีกิจที่ต้องปฎิบัติเช่นนี้คือเขาจะเดินออกจากเพิงของแม่ค้าสับปะรด ผ่านหน้าบ้านที่ผมพัก พร้อมหอบหิ้วสัมภาระประจำกาย เพื่อมาพักผ่อนตรงรอยต่อช่วงบริเวณคอสะพาน    
       หลังจากวางสัมภาระแล้ว เขาจะเดินลงบันไดเพื่อนำขวด ลงบรรจุน้ำเพื่อไว้กิน  สายๆเขาจะหาฝักกระถินมาไว้กิน ตลอดเวลาเช้า เที่ยง เย็น บุญปั๋นไม่มีอาหารกินเลย เม็ดกระถินกับน้ำในคลองชลประทาน  จึงเป็นอาหารประทังชีวิตรายวัน ผมเห็นเขาไปเดินคุ้ยถังขยะเพื่อหาสิ่งของที่กินได้ บางวันโชคดีมีเศษอาหารกล่องที่คนกินไม่หมด และบางคนซื้ออาหารมากินไม่ถูกปากทิ้ง เขาจึงได้อิ่มและได้กินอาหารที่ไม่บูด  ถามว่าปั๋น.เป็นคนไม่ปกติเช่นนี้. ขายังต้องการเงินใช้หรือไม่.. .ขอตอบว่า. ยังต้องการ  เขายังสามารถใช้เงินจับจ่ายใช้สอยได้ดังเช่นคนปกติทั่วไป มีคนต่างจังหวัด เห็นเขาจึงหยิบยื่นเงินให้เขา
        ”คุณๆจะกินอะไร เดี๋ยวจะซื้อมาฝาก "
         บุญปั๋นไม่ตอบเขานิ่งเฉย ผู้ปกครองของนักศึกษา จึงล้วงเงินในกระเป๋าหยิบยื่นให้เขา
        "งั้นเอาตังค์ไว้ซื้อข้าวของเอาเองก็แล้วกันนะ "ผู้ปกครองของนักศึกษาพูด

         บุญปั๋นไม่ทำงานทั้งๆที่ร่างกายเขามีอาการครบสามสิบสอง ทั้งในอดีตก็เคยทำงานก่อสร้างมาก่อนใครๆหลายคน อาจจะมีความคิดเช่นนั้น มันเป็นเรื่องที่พูดยากเพราะเรามิอาจทราบปัญหาในตัวเขาได้ แม้วันนี้เขาจะเป็นชายเร่ร่อน มีญาติแต่ไม่มีเงินใช้ มีอาหารกินบ้างบางมื้อ แต่เขาก็พึงพอใจกับโลกส่วนตัวของเขา 
          ระยะหลังๆมีนักศึกษา มีบุคลากรในมหาวิทยาลัยมักซื้ออาหารกล่องมาให้เขาเสมอ ล่าสุดผมเห็นเขาใส่เสื้อกันหนาวสีน้ำเงินเข้มมีโลโก้สถาบันดูเขาพึงพอใจกับอาภรณ์ตัวนี้...
        บุญปั๋น.มีมือมีเท้าดี มีญาติ มีพี่ -น้อง แม้เขาจะไม่ประกอบสัมมาชีพเพื่อเลี้ยงชีพตน แต่เขาก็ไม่เคยแบมือขอทาน เหมือนขอทานส่วนหนึ่ง เขาไม่คิดแม้แต่จะขโมยสิ่งของของแม่ค้า แถวๆสถานที่เขาอยู่ หากมีใครมีน้ำใจหยิบยื่นของ กิน เขาก็จะรับและขอบคุณจากแววตา แทนการตอบขอบคุณ 
         บุญปั๋นมีสิทธิ. ที่จะรับเงินยังชีพขององค์กรท้องถิ่น..มีสิทธิ ที่จะรับบัตรสวัสดิการของรัฐ แต่เขาปฎิเสธ

                               “นี่คือชีวิตของไอ้ปั๋น.. ที่พิการเพียงด้านกาย แต่ใจเขาไม่พิการ  ”

                                                   ขลุ่ย   บ้านข่อย

                                                     ๘ ตค ๖๕
       


     

     

     

     

     

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×