ผมต่้องสิ้นศรัทธากับหมอคนนี้ - ผมต่้องสิ้นศรัทธากับหมอคนนี้ นิยาย ผมต่้องสิ้นศรัทธากับหมอคนนี้ : Dek-D.com - Writer

ผมต่้องสิ้นศรัทธากับหมอคนนี้

อาชีพนี้ เป็นอาชีพที่คนทั่วไปฝากชีวิตไว้กับเขา เขาจึงได้รับการยกย่องนับถือ และศรัทธามาก

ผู้เข้าชมรวม

65

ผู้เข้าชมเดือนนี้

0

ผู้เข้าชมรวม


65

ความคิดเห็น


0

คนติดตาม


0
เรื่องสั้น
อัปเดตล่าสุด :  4 ต.ค. 65 / 08:28 น.


ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้

                                   สิ้นศรัทธากับ. หมอคนนี้..

    บ่อยๆครั้ง. เมื่อหลังเลิกเรียนแล้ว..ผมอาจเปลี่ยนเส้นทางเดินกลับมาบ้าน โดยจะผ่านสุขศาลาของอำเภอ ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับโรงแรมบุญเจริญ ที่พ่อของเพื่อนเป็นเจ้าของ สุขศาลาแห่งนี้ถือเป็นสุขศาลาชั้นหนึ่ง  ซึ่งมีแพทย์ประจำ เพียงคนเดียว นอกนั้นเป็นพยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ผมยังจำได้ไม่ลืมว่า ในขณะที่ผมมีอายุได้เพียง9 ขวบ ผมต้องทำหน้าที่แทนพ่อกับการจะต้องมาตามหาหมอเพื่อให้มาดูแลแม่ที่กำลังปวดท้องเพื่อคลอดน้องชาย 

   เวลาในขณะนั้นเกือบสองทุ่ม แม่เริ่มเจ็บท้องเพื่อนๆ ของแม่ทุกคนได้มาช่วยกันเตรียมรับมือการทำคลอดของแม่และมาให้กำลังใจแม่ 

 “เอ็งรีบไปที่สุขศาลาเร็วเลย บอกเขาว่า แม่ฝากท้องกับพยาบาลชื่อต้อย ให้เขารีบมาที่บ้านเดี๋ยวนี้เลย ” ป้านำพูดกับผม

 “อ้าวป้าไม่ให้ผู้ใหญ่ไปตามล่ะครับ ผมเป็นเด็ก จะไปคุยบอกเขาให้รู้เรื่อง..หรือ “ ผมพูด

 “พ่อเอ็งไม่อยู่ เอ็งก็ต้องไปแทนน่ะแหละ “ ป้านำพูด 

 “พ่อกลับมาบ้าน พอดี งั้นให้พ่อไปนะ“ ผมบอก

 “เอ็งไป.น่ะแหละ “พ่อพูด 

  ผมยืนงง .ไม่คิดว่าจะได้ยินคำพูดของพ่อเช่นนี้

 “รีบไปเดี๋ยวนี้เลย “พ่อกำชับด้วยภาษากายทางนัยน์ ตา

  ความกลัวจะถูกไม้เรียวเฆี่ยน ผมจึงจำเป็นต้องไปหาหมอ ระยะทางจากบ้านมาสุขศาลาประมาณ 500เมตร ไม่ทันจะถึงสุขศาลาดี ผมได้ยินเสียงเพลงและเห็นแสงไฟสว่างไสวทั่วบริเวณหน่วยงาน ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า ที่นี่เขากำลังจัดงานอะไรกัน แต่เห็นมีการตั้งโต๊ะจีน มีคนนั่งเต็มไปหมด ผมกล้าๆกลัวๆยืนลังเล เก้ๆ กังๆ ตรงทางขึ้นบันไดหน้าห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ นานเกือบ10 นาที    

  “มาทำอะไรหรือไอ้หนู “เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่มาช่วยงานจัดเลี้ยงสอบถามผม เขาคงสังเกตเห็นท่าทีกระวน กระวายใจของผม เหมือนต้องการอยากจะมาพบบุคลากรของสุขศาลาแห่งนี้

 “พ่อผมบอกให้มาตามหาหมอต้อย ให้ไปที่บ้าน พอดีแม่ผมปวดท้องจะคลอดลูกครับ “ผมบอกเจ้าหน้าที่ 

  เจ้าหน้าที่.มาจูงมือผมไปที่ห้องอยู่เวรของพยาบาล  ผมได้บอกวัตถุประสงค์ของการมาพบ  พยาบาลซึ่งอยู่เวรได้ติดต่อกับพยาบาลที่รับฝากครรภ์ของแม่ให้มาที่บ้านของผม ผมเดินทางกลับเข้ามาบ้าน ด้วยอาการตื่นเต้น คนที่คุ้นเคยกับแม่ มาช่วยกันคนละไม้คนละมืออีก15 นาทีเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์จึงได้มาทำคลอดให้แม่ 

                  *************************************************      

   หมอคนแรกที่ผมรู้จักคือนายแพทย์นพดล ซึ่งเป็นหมอประจำสุขศาลา มีบ้านพักประจำตำแหน่งห่างจากบ้านของผมไม่เกิน 200เมตร เมื่อสมัยผมเรียนชั้นเตรียมประถม(เมื่อก่อนเรียกว่าชั้นป.มูล) ผมต้องเดินผ่านหน้าบ้านหมอทุกวันเพื่อไปโรงเรียนแสงจิตต์วิทยา แม้ผมจะยังเด็กแต่ก็พอจะมองออกว่า คุณหมอเป็นคนใจดี บุคลิกของคุณหมอที่ผมเห็นเสมอๆคือแต่งกายสุภาพใส่แว่นตา สวมเสื้อเชิร์ตสีขาวและมีบางครั้งอาจสวมชุดกราวน์ พร้อมเครื่องมือแพทย์ Stethoscope ที่คล้องคอไว้ตรวจการเต้นของชีพจรคุณหมอมีบุตร 2 คน คนโตเป็นชายและคนเล็กเป็นหญิง คนเล็กมีอายุรุ่นคราวเดียวกันกับผม 

    ที่หน้าบ้านคุณหมอมีสะพานไม้ สร้างไว้เพื่อเป็นช่องสำหรับการระบายน้ำ เยื้องๆบ้านคุณหมอ มีถนนคั่นกลางเป็นบ้านพักปลัดเทศบาลตำบลที่บ้านพักปลัดหลังนี้ ผมมีโอกาสไปเล่นเนืองๆ โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม ผมจะไปเล่นชิงช้ากับลูกชายคนเล็กของปลัดที่มีอายุอ่อนกว่าผมเพียงปีเดียว  สังคมของคนในอดีตที่ผมสัมผัส พูดได้ว่าลูกๆของข้าราชการในตำบลนี้ ไม่มีช่องว่างในเรื่องสถานะในการคบค้าสมาคมเลย เว้นแต่พวกลูกๆ เจ้าของกิจการร้านค้าที่ชอบอวดตัวว่าที่บ้านเขามีฐานะร่ำรวย ผมจึงไม่ค่อยได้คบค้าสมาคม หากแต่เมื่อพบกันก็ทักทายกันตามมารยาทในฐานะคนที่มีภูมิลำเนาเดียวกัน

    แม้ในวัยเด็กที่ยังไม่ประสีประสากับเรื่องวิชาชีพของแพทย์ แต่ผมก็พอจะรับรู้เรื่องอยู่บ้างว่า หมอคือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยให้ทุเลาและหายลง อาชีพ"แพทย์" หรือ"หมอ" เป็นอาชีพที่ทุกคนรู้จักกันดี และหลายๆ คนก็มีความฝันที่อยากจะเป็น"หมอ"  กว่าที่ใครจะเป็นหมอได้นั้น ก็ไม่ใช่ของง่ายหรือว่ายากเกินความสามารถของเรา  แต่ที่ยากก็คือ "ทำอย่างไรจึงจะเป็นหมอที่ดีได้" มากกว่า   ช่วงที่เป็นข่าวโด่งดังที่สุดในเขตเทศบาลที่ผมอยู่อาศัย คือลูกสาวคนเล็กของหมอ ได้เสียชีวิตด้วยโรคกลัวน้ำ  ทั้งๆที่ท่านเป็นแพทย์รักษาคนไข้ แต่ท่านก็ไม่สามารถช่วยยื้อชีวิตลูกสาวของตนอันเป็นสุดที่รักได้ ชาวบ้านทุกคนรู้สึกเห็นใจคุณหมอ…  ต่อมานายแพทย์นพดลได้ย้ายไปทำงานประจำจังหวัด จึงมีหมอไชยันต์ มาเป็นหัวหน้าสุขศาลาแทน 

  เขตเทศบาลที่ผมอยู่ มีแพทย์ประจำอยู่สองหน่วยงาน หน่วยงานแรกคือสุขศาลา ต่อมายกระดับเป็นโรงพยาบาลอำเภอ อีกแห่งที่มีนายแพทย์ประจำคือนายแพทย์ประจำค่ายทหาร ในอดีตค่ายทหารจะมีหน่วยงานเสนารักษ์ ที่ทำหน้าที่คล้ายแพทย์ แพทย์ของทั้งสองหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหมอไชยันต์กับหมอรท.โกวิท แพทย์ของค่ายทหารทหารต่างเปิดคลินิค รักษาประชาชนตั้งแต่ช่วง 5 โมง- สองทุ่ม เมื่อผมเจ็บป่วยจะไปหาหมอด้วยตนเอง โดยไม่มีผู้ปกครองพามา จนหมอสงสัย  ส่วนใหญ่ผมจะมาหาหมอโกวิท มากกว่าไปหาหมอไชยันต์ เป็นเพราะหมอโกวิทใจดี พูดไพเราะและเป็นกันเอง หลังจากพลตรีนายแพทย์โกวิทย์ เกษียณอายุได้สมัครตำแหน่งสว.และได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

                             **************************************************************

   เมื่อปี 2516 ที่ผมเข้ามาเรียน ม.ปลายที่กรุงเทพ เป็นจังหวะที่พี่ชายได้รับตั๋วพิเศษจากโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ เขาจึงพาผมมาชมภาพยนตร์ เรื่อง เขาชื่อกานต์ หลังได้เข้าชมหนังเรื่องนี้แล้ว ผมเกิดความรู้สึกประทับใจหมอกานต์ เป็นอย่างมากที่อุทิศตน ยอมเสียสละเวลาและความสุขส่วนตัว  เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนจากการเจ็บป่วย มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รังเกียจผู้เจ็บป่วย มีความเมตตา และมีความรักในเพื่อนมนุษย์ มีความเสียสละที่จะเดินทางไปรักษาพยาบาลผู้คนในที่ห่างไกล  หมอกานต์ต้องผิดใจกับภริยาเนืองๆ เพราะความคิดที่แตกต่างกันและหมอกานต์ต้องสิ้นชีวิตเพราะถูกลอบยิง ผมชื่นชมอุดมการณ์ของแพทย์คนนี้อย่างแท้จริง พูดได้ว่าหมอกานต์คือไอดอล ในจิตวิญญาญของการทำงานเพื่อสังคมและชาติของผมคนหนึ่ง  

   ช่วงที่ผมพักที่บ้านในสวนฝั่งธนฯ ที่ซอยวัดมะลิ  ผมต้องเดินผ่านคลินิคหมอเกษม ตรงหัวมุมอาคารพาณิชย์เกือบทุกวัน คลินิคหมอเป็นห้องเล็กๆ เรียบง่าย ซึ่งต่างกับคลินิคหมออื่นๆที่จัดห้องตรวจรักษา ห้องเก็บยาอย่างดี มองผิวเผินเหมือนกับหมอคนนี้ไม่มีชื่อเสียงในการรักษาคนป่วย

   “ไม่สบายเหรอ ไปหาหมอเษมสิ เดี๋ยวพี่พาไป“ พี่ชายผมพูด

   “ดูคลินิคโทรมๆ ยังไงไม่รู้สิ พี่  “ผมพูด

  “แกเป็นหมอจริงๆ ไม่เลี้ยงไข้ ค่ารักษาก็ไม่แพง ไม่มีเงินก็รักษาให้ฟรี”พี่ชายผมพูด

  “อ้าว แล้วคลินิคจะอยู่ได้อย่างไร ล่ะ”

  “เจ้าของอาคาร คิดค่าเช่าให้หมอไม่แพง ที่หมอเปิดคลินิค ไม่ได้มุ่งหวังความร่ำรวยหรอก คงอยากใช้ความรู้ เพื่อช่วยประชาชน“พี่ชายพูด

   เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมได้มาหาหมอเกษม จากการที่ผมได้สัมผัสและได้พูดคุย ดูแล้วหมอ เป็นคนน่าศรัทธาแม้คลืนิคจะดูเหมือนบ้านที่อยู่อาศัยของคนธรรมดามีเพียงโต๊ะทำงาน มีตู้ยาไม่ใหญ่นัก มีห้องฉีดยา1 ห้องเท่านั้น 

 “มีอาการอย่างไร เล่าให้หมอฟัง  “

“ปวดหัว ตัวร้อนและไอ ครับ “ ผมบอกอาการให้หมอทราบ 

 พูดได้ว่า เครื่องมือของหมอที่มี แทบไม่ได้ใช้เลย  เพียงหมอพูดคุยถามไถ่อาการและซักไซ้ให้ละเอียด เพื่อวินิจฉัยโรคและจัดยาให้ไปกินที่บ้านเพียงสามวันอาการไข้ของผมก็หายเป็นปกติ  

  เท่าที่ผมฟังชาวบ้านในซอยวัดมะลิ และชาวบ้านในละแวกนั้น พูดถึงคุณหมอเกษม ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณหมอเป็นคนน่ารัก ใจดี อารี มีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของตน มีคุณธรรมและจริยธรรมทางการแพทย์  

 “ไปหาหมอเษม ที่คลืินิคเลยรับรองหายป่วย “ชาวบ้านคนแรกบอกเพื่อนบ้านที่ร้านค้าอาหารตามสั่ง  ขณะที่ผมมาสั่งผัดไทยไปกินที่บ้าน  

“ค่ารักษาแพงมั้ย ชาวบ้านอีกคนถาม

“ไม่หรอก มีอะไรพูดความจริงกับหมอ แกไม่ได้เป็นหมอหวังความร่ำรวยอะไร คงต้องการช่วยเหลือประชาชนน่ะ “ ชาวบ้านคนแรกพูด

“คลินิคเปิดกี่โมง เหรอ “

“หกโมง ถึงสองทุ่มน่ะ”

  ผมมาทราบภายหลังว่าคุณหมอเกษม เป็นอาจารย์หมอที่โรงพยาบาลศิริราช ในยุคก่อนการสื่อสารต่างกับยุค ปัจจุบันมากหากเป็นวันนี้ รับรองว่าชื่อเสียงของหมอคงขจรขจายไปไกล เป็นความบังเอิญที่หมอเกษมมาตรงกับยุคสมัยที่ผมเรียน ม.ปลายที่โรงเรียนวัดราชาธิวาสพอดี ช่วงที่ผมเรียนที่นี่ ผมได้ยินชื่อเสียงของหมออีกคนชื่อ หมอสภา หมอท่านนี้รักษาคนไข้ในละแวกย่านซังฮี้  บางพลัด ราชวัตร บางซื่อทุกคนขนานนามให้ท่านว่า “คุณหมอ 5 บาท”เป็นเพราะท่านเก็บค่ารักษาคนไข้ประมาณนี้

 “กูเคยไปหาหมอสภา มานะ “เกียรติพงษ์พูดกับผม ขณะยืนรอรถที่ป้ายรถเมล์ เยื้องวัดราชผาติการาม

 “เป็นไงบ้าง หมอคนนี้”ผมถาม

 “ชาตินี้ กูคงไม่ได้เห็นหมอดีๆ แบบนี้หรอกว่ะเพื่อน ตอนแรกกูไปคลินิค แถวบางลำพู เจอค่ายา หมดไปหลายตังค์ “ ”เกียรติพงษ์พูด

“ที่ปากซอยบ้านกู ก็มีหมอเษมนี่แหละ ที่เป็นขวัญใจคนยากคนจน  หมอคนนี้ไม่เรียกร้องเงินทองหรอก คนไข้ มีเงินให้ก็เอา ไม่มีก็ไม่เอา ที่ต้องรับเงินมา เพราะหมอต้องเอาเงินไปซื้อยาบวกเงินสมทบของหมอเองอีกด้วย “ผมพูดบอกเพื่อน 

“จะมีหมอ ที่เสียสละแบบนี้ สักกี่คน ในประเทศไทย ”เกียรติพงษ์ พูด 

 “มีสิ หมอกานต์ไง “ผมพูดติดตลก

 “ว่าไปหมอกานต์ คงน่าจะเป็นเรื่องจริงที่สุวรรณี สุคนธา คงนำอาเรื่องจริงของหมอ คนใดคนหนึ่งมาพล๊อตเรื่องเป็นนิยายนะกูว่า”เกียรติพงษ์พูด

  “ใช่  “

        **********************************************************************

   ช่วงที่ผมมาเรียนที่เกษตรเจ้าคุณทหาร ผมเคยไปคลินิคหมอประยงค์เพียงครั้งเดียว คุณหมอเป็นหมอประจำอนามัยของเขตลาดกระบัง ว่าไปหมอประยงค์ค่อนข้างทำงานหนักพอควร โดยเฉพาะศึกหนักของหมอคือ การต้องดูแลคนป่วยเกี่ยวกับการถูกงูพิษกัด ตอนที่ผมเช่าบ้านกับเพื่อนๆเยื้องๆ ทางเข้าอนามัยลาดกระบังจะได้ยินเสียงชาวบ้านที่เป็นชาวนาร้องเรียกหาหมอบ่อยๆ ในช่วงค่ำๆจนถึงช่วงดึก

 “หมอๆๆ ช่วยลูกชายผมด้วยลูกผมถูกงูเห่ากัดมา” ผู้เป็นพ่อตะโกน เรียกหาหมอ พร้อมกับบรรดาญาติ ช่วยกันประคับประคองคนถูกงูกัด มานั่งตรงระเบียงอนามัย

“คุณหมออยู่ที่คลินิค เดี๋ยวจะโทรศัพท์แจ้งให้มา“เจ้าหน้าที่เวรบอก

 ทางเดียวที่จะช่วยคนป่วยได้ เจ้าหน้าที่เวรจึงโทรหาศัพท์ ไปหาหมอ ที่คลินิค กว่าหมอจะมาถึงอนามัยได้ คนไข้หลายๆคน ที่มาหาหมอในช่วงค่ำๆจนถึงช่วงดึก ก็ต้องเสียชีวิตเพราะพิษงู เข้าสู่ระบบประสาทและหัวใจจึงไม่ทันเยียวยา

                **************************************************************

   มีคืนหนึ่ง ที่ผมกำลังนั่งอ่านหนังสือเตรียมสอบ เสียงเจี๊ยวจ๊าวของญาติคนป่วย และเสียงเรียกหาหมอดังมาก จนผมต้องเดินมาที่อนามัย เพื่อมาดูว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไร ผมได้พบสภาพของเด็กนักเรียน จากคลองหลวงแพ่ง ที่ถูกงูเห่ากัด ที่ต้องรอแพทย์มาดูแลรักษาและเป็นความโชคร้ายที่เซรุ่มที่อนามัยหมดพอดี จึงทำให้เด็กนักเรียนคนนั้นต้องเสียชีวิต

 “หมอทำงาน ยังไง เซรุ่มหมด ทำไม จึงไม่จัดเตรียมสำรองเอาไว้ รู้ก็รู้ว่าที่ลาดกระบังมีงูเห่าชุกชุม“ญาติของเด็กต่อว่าคุณหมอ พร้อมเสียงร้องระงมบนอนามัย แม้ไม่ใช่ญาติของผม แต่..ผมรู้ก็สึกเห็นใจและสงสารเขามาก

                                        **************************************

   ในชีวิตการรับราชการ ผมเคยลาป่วยเพียงสองครั้ง ครั้งแรกคือการต้องไปผ่าตัดนิ้วก้อยที่โรงพยาบาลของทหาร  ครั้งที่สองต้องผ่าตัดระบบทางเดินอาหาร แม้บางครั้งจะรู้สึกหงุดหงิดกับระบบอภิสิทธิชนที่มีการใช้เส้นแซงคิวกัน แต่ในเมื่อได้พบแพทย์ทุกคนล้วนแต่เป็นบุคคลที่น่านับถือ พูดจาสุภาพ แม้หมอบางคนอายุรุ่นเดียวกันกับลูกศิษย์รุ่นลูกหลาน  ผมก็  ให้การเคารพยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจ

   อโรคยา ปรมาลาภา ผู้ที่ไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ เป็นภาษิต ที่ผมได้ยินมาแต่เด็ก ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมแทบจะไม่ได้เข้าโรงพยาบาลเลยยกเว้นสองครั้งที่เข้าผ่าตัด   จนมาถึงช่วงที่ผมเป็นงูสวัด ..ที่มีอาการปวดแสบปวดร้อน ผมจึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐ หมอให้ยามากิน จะกินอย่างไร ก็ไม่หาย ทั้งยังมีอาการหนักขึ้น

 “อาจารย์ ไปคลินิคหมอสมยศ ในเมืองสิ  หมอคนนี้เขาเก่งมากเลยนะ ใครๆก็นิยมไปรักษา  ”เจ้าหน้าที่ในที่ทำงานของผมแนะนำ

“อยู่แถวไหน ”ผมถาม

“แถวสถานีรถไฟ ”

 ผมต้องทนทรมานกับอาการป่วยโรคงูสวัด มานานหลายเดือนแล้ว ครั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ในที่ทำงานของผมแนะนำให้ ผมจึงเดินทางไปคลินิคหมอสมยศ ครั้นไปถึงคลินิคแล้ว ผมก็ต้องไปรับบัตรคิวและรอนานเป็นชั่วโมง  คนมารักษากับหมอค่อนข้างมาก สมคำล่ำลือ แม้พอจะทราบว่าหมอคนนี้เก่ง ค่ายาแพง  ผมก็มิได้หวั่นไหวกับเรื่องค่ายา 

“สวัสดีครับหมอ ”  ผมทักทาย

“อืม ” นี่คือ คำตอบจากหมอ  ผมรู้สึกงงๆกับพฤติกรรมกระด้างๆ หยิ่งๆของหมอคนนี้ เพราะไม่เคยพบมาก่อน  

 “เป็นอะไร ถึงมาหาหมอ ”หมอถาม

“เป็นงูสวัดครับ มีอาการคันที่โคนขามาก มีตุ่มคันข้างๆ หูด้านซ้าย บางช่วงจะเหมือนกับไฟจี้ที่สมอง ”

 “นี่เป็นหนักแล้ว นะ ทำไมตอนแรก ถึงไม่มาหาหมอ”

“ผมไม่ทราบว่า มีหมอเฉพาะทางครับ ” ผมตอบตรงๆ 

“เข้ารักษาครั้งแรก ที่ไหน”

“โรงพยาบาลของรัฐ ครับ”

“มาทางไหน ก็ไปทางนั้นเลย ”หมอพูด ห้วนๆ 

“หมายความว่า อย่างไรครับ”

“คุณเคยรักษาที่โรงพยาบาลไหน มาก่อน คุณก็กลับไปรักษาที่นั่น  ”หมอพูด

 หมอพูดจบ..ก็เรียกคนไข้คนอื่นให้เข้ามา ผมยังนั่งที่เดิม เพื่อขอความกรุณาจากเขาให้ตรวจรักษา

“ลุกไปสิ  หมอจะรักษาคนอื่นอีก”

“ช่วยผมด้วยครับ หมอ  ช่วยจ่ายยาให้ผมกิน ก็ยังดี ”ผมพูด และยกมือไหว้เขาปลกๆ(ปะหลก) 

 “ก็ได้  อาการของคุณถึงขั้นหนัก มากแล้ว  สายไปแล้วนะ ที่คุณมาหาหมอ”

“หมายความว่าอย่างไร”ผมถาม

“คุณคงอยู่ได้ ไม่นานหรอก  เชื้อมันเข้าเส้นประสาทแล้ว ”หมอพูด

 “กรุณาจ่ายยา ให้ผมด้วยครับหมอ อะไรจะเกิดให้มันเกิด ผมทำใจแล้ว  ”ผมพูด   ผมยืนตื้อเขานานเกือบ10 นาที จนเขาต้องจำยอมเขียนใบสั่งยาให้  ผมรับใบสั่งยา แล้วมาให้เจ้าหน้าที่จ่ายยาให้ ราคาค่ายาแพงแต่ผมไม่ได้เกี่ยงงอน  จริงๆ เวลานั้น ผมโกรธ(ไอ้)หมอคนนี้ที่สุด แต่คนไข้มีมาก จึงอดกลั้นที่จะยับยั้งชั่งใจ รับยาได้แล้ว จึงเดินออกจากคลินิค .ผมหงุดหงิดมากจนแม่บ้านถามว่าเกิดอะไรขึ้น

 “ก็ไอ้หมอ คนนี้น่ะสิ  มันทำกับเรายังกับหมูกับหมา ไม่น่าเชื่อเลยว่ามันเป็นหมอ นี่ถ้าไม่มีคนไข้ ฉันจะตั๋นหน้ามัน ยอมเสียค่าปรับละ”

 “ใจเย็นๆ ”แม่บ้านเตือนสติ

 “ผมต้องหมดศรัทธา กับคนเป็นหมอ..  เพราะไอ้คนๆนี้แท้ๆ เกิดมาเพิ่ง เคยเจอจริงๆ ”ผมพูด 

                                                 ขลุ่ย   บ้านข่อย

                                               ( ๔ ตุลาคม  ๖๕ )

 

 

   

 

 

 

 

 

 

 

 

  
 
 

   
 

 

 

ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    คำนิยม Top

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    คำนิยมล่าสุด

    ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

    ความคิดเห็น

    ×