ระหว่างชื่อเสียงกับความเสียดาย - ระหว่างชื่อเสียงกับความเสียดาย นิยาย ระหว่างชื่อเสียงกับความเสียดาย : Dek-D.com - Writer

    ระหว่างชื่อเสียงกับความเสียดาย

    ความคิด ที่แตกต่างระหว่างแม่กับลูก ที่มองต่างมุม

    ผู้เข้าชมรวม

    72

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    72

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  20 ก.ย. 65 / 08:01 น.


    ข้อมูลเบื้องต้นของเรื่องนี้

                                           ระหว่างชื่อเสียงกับความเสียดาย

             ผมอาจจะมีความคิดที่แตกต่างกับพี่น้องในครอบครัวของผมอย่างมาก การค้าขายขนม ของที่บ้านของผม  เอาความแน่นอนอะไรไม่ได้เลย บางวันบางช่วงขายดีมากจนทำไม่ทัน แต่คงไม่สามารถจะเพิ่มปริมาณได้ทันท่วงที เป็นเพราะ แป้งขนมที่ทำจะต้องมีการหมัก -การนวด  การพักไว้ให้แป้งพองตัวเสียก่อน ซึ่งมันมีขั้นตอนเป็นชั่วโมงๆผมเริ่มช่วยแม่ทำขนมจริงๆ จังๆในปี ๒๕๐๗  ที่จำได้เพราะมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้ประมูลฉายหนังที่วัดหลวง ได้ให้ลูกน้องมาปิดโปสเตอร์หนัง เพื่อโฆษณาหนังที่บริเวณหัวมุมบ้านลุงกลึงซึ่งเป็นที่ว่างเปล่า ผมกับเพื่อนๆได้ไปยืนดูเขาแปะโปสเตอร์โดยมีกาวแป้งเปียกวางข้างๆตัว จำได้ว่ามีโปสเตอร์หนังที่จะแปะด้านข้างฝาบ้านมี ๗ เรื่อง คือเรื่อง เก้ามหากาฬ ร้อยป่า  น้อยใจยา   จำปูน  หัวใจเถื่อน สิงห์ล่าสิงห์และเย้ยฟ้าท้าดิน 

     หนังไทยเกือบทุกเรื่อง ผมจะคอยคิดตามดูโปรแกรม  (ใบปิดประกาศโปสเตอร์ )ที่วิกโรงหนัง  ซึ่งพี่เต็มจะเป็นคนติดป้ายโปรแกรมบนบอร์ด ติดแผ่นภาพและเปลี่ยนภาพหนังที่จะเข้าฉายในโปรแกรมต่อๆไป  สมัยเด็ก….ผมไม่ชอบพี่เต็มเนื่องจากเขาเป็นคนฉีกตั๋วหนังทีี่ประตูทางเข้า  บ่อยครั้งที่ผมแทรกตัวเข้าไปกับคนซื้อตั๋วหนังที่เป็นผู้ใหญ่ เพื่อจะเข้า ไปดูหนังด้วย เขามักจะดึงตัวผมและเด็กๆคนอื่นๆออกมาเกือบทุกครั้ง   

          หน้าที่ที่ผมได้รับมอบหมายจากแม่ คือการส่งขนมไปในที่ต่างๆ บางวันกว่าขนมที่บ้านของผมจะทำเสร็จ ก็ปาเข้าไป เกือบสองทุ่มครึ่ง เมื่อขนมเริ่มเย็นแล้ว พี่ชายของผมจะมานับขนมใส่ตะกร้า แล้วจัดเรียงให้เป็นระเบียบ  เพื่อให้ผมไปส่งที่บ้านป้าซึ่งอยู่ใกล้โรงหนัง แม่ได้ถ่ายทอดและสอนให้ป้าทำขนมเพื่อขายช่วงยามเช้าคู่กับซาลาเปา-ขนมจีบ    ป้าได้เลียนแบบวิธีการของแม่ทุกอย่างคือทั้งขายที่หน้าบ้านและให้เด็กมารับไปขายต่อ โดยแบ่งกำไรให้เมื่อขายเสร็จในอัตราส่วนแปดสิบ- ยี่สิบ  จริงๆแล้ว หากถามว่า แม่หวงวิชาการทำขนมหรือไม่ คงตอบได้ว่า คงน่าจะหวง แต่เพราะด้วยความเป็นญาติ แม่จึงทนรบเร้าไม่ไหว ผมเคยสังเกตว่า มีคนมาขอเรียนการทำขนมจากแม่เกือบสิบคน แม่จะปฎิเสธ.. ทุกคน     

        “วันนี้..เอาขนมไปส่งให้ป้าแล้ว เก็บเงินที่ค้างเก่า มาด้วยนะ “แม่พูดกำชับบอกผม       

        “ครับแม่ “ผมตอบ

         ผมต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน และตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ตรงนี้ มาเป็นสิบๆปี  พูดได้ว่าเงินที่เก็บมาจากร้านกาแฟที่ผมไปส่งขนมทั้งในอำเภออรัญฯและวัฒนานคร ไม่เคยมีเงินสูญหายแม้แต่บาทเดียว  นี่จึงเป็นข้อดี ที่แม่ไว้วางใจผมที่สุดมากกว่าพี่น้องทุกคน  พี่ชายคนที่สี่ของผม มีความพิการ คือจะพูดไม่ชัดและขาไม่แข็งแรง  พวกเราพี่น้องเรียกชื่อกันในบ้านว่า“พี่เป๋” เพื่อนๆที่สนิทของพี่ ก็เรียกกันอย่างนั้น  แม่เล่าให้ฟังว่าตอนอุ้มท้องพี่ชายคนนี้ แม่ต้องลำบากกับการเดินทางไปประกอบอาชีพ แม่ต้องทำงานทุกอย่างตั้งแต่การเป็นจับกังยันการรับจ้างขนของหนีภาษี    

        แม่จำใจ ต้องสอนวิชาทำขนมให้ป้า จริงๆแล้ว ครอบครัวของป้า มีฐานะดีกว่าที่บ้านของผมอย่างมาก  ลุงที่เป็นพี่ชายของแม่และเป็นสามีของป้า ได้เข้ามาอยู่กรุงเทพจนได้ภริยาใหม่  นานๆครั้ง ลุงจึงกลับมาเยี่ยมภริยาและลูก   แม้ทั้งคู่จะมิได้หย่าขาดจากกันโดยนิตินัย แต่ในทางพฤตินัย ญาติและคนทั่วไปที่รู้จักกับลุงและป้าต่างทราบดีว่า  ทั้งสองคนได้หย่าขาดจากการเป็นคู่ผัวตัวเมียกันแล้ว   ทั้งคู่ไม่ได้ขัดแย้งใดๆ การพบเจอกัน ก็คุยกันไปเสมือนญาติมากกว่าการเป็นคู่ชีวิตดังอดีต  แม้ป้าเป็นคนมีฐานะดี แต่ด้วยช่วงที่ลูกชายของป้าเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจรั่ว ป้าจึงต้องใช้เงินในการรักษาและหมดเงินไปเป็นแสนๆ แต่แล้วลูกของป้าก็สิ้นชีวิตลง   

       ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมป้า จึงต้องมาเรียนวิชาทำซาลาเปากับแม่ทั้งๆ ที่ป้าก็เก่งในการทำขนมอยู่แล้ว   ผมมักจะไปช่วยป้าทำขนม  ทำไอติม(หวานเย็น) เพราะได้เงินค่าจ้าง ทุกๆวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผมไม่ได้เรียน หรือช่วงปิดเทอม ผมจะไปขลุกอยู่ที่บ้านป้ามากกว่าที่จะอยู่บ้านของตนเอง บ้านป้ามีอุปกรณ์ การทำขนมไข่ ขนมปัง มีตู้อบอย่างดี  ทั้งป้ายังมีรางเลื่อนเพื่อทำหวานเย็น ขนาดความจุหลอดครั้งละเกือบร้อยแท่งต่อการทำหนึ่งครั้ง วิชาการทำไอติม   ผมเรียนรู้และทำได้ทุกขั้นตอน กระทั่งการเตรียมวัตถุดิบก่อนทำหวานเย็น หวานเย็น ที่ป้าทำขายมีหลากหลายรสชาติหลายสี ตั้งแต่รสกาแฟ ชาเย็น นมเย็นสีชมพู สีเขียว ถั่วดำ ถั่วเขียว ข้าวเหนียว สับปะรด รสส้ม ทุเรียน สูตรต่างๆของการทำไอติม  (หวานเย็น) ทุกคนในบ้านของป้า มิได้หวาดระแวงว่าผมจะจำสูตรเหล่านี้แล้วไปบอกให้คนอื่นๆทราบ คงนึกว่าผมเป็นเด็กเล็ก ไร้เดียงสาเกินกว่าที่จะเอาไปประกอบอาชีพ ..จริงๆแล้ว ผมก็คิดว่าป้าคิดถูก เพราะในใจของผม มิเคยคิดที่จะทำหวานเย็นเพื่อทำเป็นอาชีพ เลยสักนิด     

         ต้องบอกว่า..ผมเสียดายกับการที่ผม ขาดการเอาใจใส่และมองข้ามกับการจดจำสูตรในการทำขนมปังของป้า  เพราะหากผมทำขนมปังเป็น แน่นอนว่า มันจะสร้างอาชีพให้ผมได้อย่างมั่นคง   ในเมืองอรัญฯ มีขนมปังเพียงสองเจ้า  ส่วนใหญคนจะนิยมซื้อขนมปังจากเจ้าของป้ามากกว่า ช่วงที่ป้ายุ่งๆป้าจะวานให้ผมช่วยร่อนแป้งให้  ในขั้นตอนต่อมา คืออัตราส่วนการใส่ไข่ น้ำตาล เนยและอื่นๆ ผมไม่เคยดู และไม่เคยจดจำ เพราะคิดว่าตนเป็นเด็กผู้ชาย  ขนมปังที่ป้าทำขาย มีไส้เผือก ไส้สังขยาใบเตย สังขยาไข่ และไส้ครีม

      “ชั่งแป้งเสร็จแล้ว ร่อนแป้งลงในโต๊ะให้ป้าด้วย ” ป้าสั่งให้ผมช่วยดำเนินการให้

      “ครับ ”ผมตอบ และเดินไปที่ถังแป้งสาลี ทำการชั่งน้ำหนักและมาร่อนแป้งในตะแกรง ลงบนโต๊ะทำขนม

        ต่อจากนั้น .ป้าจะมาดำเนินการในขั้นตอนของสูตรการทำขนมปัง เพื่อทำการนวดแป้งและหมักแป้ง

         *************************************************************************************

        วันเสาร์-วันอาทิตย์ ประมาณบ่ายสองโมง หลังจากป้าอบขนมปังเสร็จแล้ว ก็จะนำเอาถาดขนมออกจากเตา  ผมจะใช้แปรงทาเนยแล้วทาลงบนขนมอีกครั้ง หลังจากที่เด็กๆ คนอื่นรับขนมไปขายแล้ว  ผมจึงจะรับขนมปังไปขายทีหลังคนอื่น  ที่ถาดขนมจะมีหูหิ้วเพื่อสามารถใช้คล้องที่คอ เพื่อเดินขายได้

      “ขนมปัง.ครับขนมปัง“ผมต้องร้องตะโกน เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ผ่านไปมาได้รับรู้ ส่วนมากขาประจำที่เคยซื้อจะทราบดี   

       ช่วงที่ขนมขายดี ขายได้มากที่สุดและมีกำไรเป็นกอบเป็นกำคือ  ช่วงงานวันเด็กที่เทศบาลอรัญจัดขึ้น  ผู้ปกครองต่างพาเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานมาชมการแสดง มารับของขวัญจากเทศบาล  เป็นครั้งแรกที่ผมสามารถขายขนมปังได้เป็นสิบๆ ถาด  ในหนึ่งถาดจะมีขนม๒๐ อัน ไส้ที่ขายดีที่สุดคือไส้เผือก โดยปกติที่ผมเคยรับขนมปังของป้าไปขายอย่างเก่งสุดที่เคยขายได้จะไม่เกินสามถาด  นี่ก็ถิอที่ว่าฟลุ๊คสุดๆแล้ว เรื่องการขายทั้งหวานเย็นและขนมปัง หนังสือพิมพ์  เรียงบอร์  หนังสือพิมพ์  ลูกโป่งสวรรค์ จับเลี้ยงและน้ำหวาน ผมคิดว่ามันศิลปะการขายของแต่ละคน ผมค่อนข้างสนิทกับครอบครัวของป้า  ผมจะไปมาหาสู่กับครอบครัวป้าเกือบทุกวันจนสามารถที่จะหยิบไอติมที่บ้านป้ามากินได้โดยไม่ต้องขออนุญาต   

      แน่นอนว่าการทำมาค้าขาย ย่อมมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ที่ว่าความเสี่ยงนั้นก็คือ การเสี่ยงต่อการขาดทุน ทุกๆอย่าง ในการทำขนมของที่บ้าน ย่อมต้องมีการลงทุนซื้อวัตถุดิบ อย่างการทำซาลาเปาต้องมีวัตถุดิบตั้งแต่แป้งสาลี น้ำตาล ไข่  เนื้อหมู  มันแกว หัวหอม ต้นหอม ผงพะโล้ เกลือ น้ำด่าง ผงฟู ค่าถ่าน ค่าฟืน น้ำมันหมู(ในอดีตใช้ ต่อมาใช้น้ำมันพืชแทน)   ราคา ของแป้งสาลี น้ำตาล ช่วงที่ขาดตลาดจะมีราคาค่อนข้างสูง  สมัยก่อนที่บ้านใช้แป้งตราว่าว ต่อมาแม่ได้ปรับสูตรให้แป้งซาลาเปานุ่มกว่าเดิม พูดได้ว่าซาลาเปาโบราณของแม่รับประกันความอร่อย ไม่ว่าจะเป็นแป้งและไส้ขนม 

      ผมได้เรียนรู้ หลายสิ่งหลายอย่างจากแม่ ในการปรับเปลี่ยนวิธีการให้ขนมที่ทำยังสามารถผลิดต่อไปได้ และยังลดความเสี่ยงต่อการขาดทุน (กำไร น้อยลง )ตัวอย่างที่จะขอยกให้เห็นภาพ คือทำไส้ซาลาเปาไส้ขนมจีบ   ที่ผ่านๆมาเป็นสิบๆ ปี ไส้ซาลาเปาที่แม่ใช้วัตุดิบหลัก คือมันแกว  แม่เคยสั่งมันแกวจากปากคลองตลาด  บ่อยๆครั้งช่วงที่มันแกวขาดตลาด หรือมีราคาแพงมาก แม่จะหันมาใช้ฟักเขียวแทนมันแกว หรือหลายครั้งแม่ จะใช้หน่อไม้ หรือ หัวไชเท้า ทีมีราคาถูกกว่าหรือหาง่ายกว่ามาทดแทน  แรกๆผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับแม่ และมักจะมีการถกเถียงกันเสมอ 

     “มันเสี่ยงนะแม่ ผมว่ารสชาติ มันแปลกไป"

    “ต้องลองดู ไม่ลองก็ไม่รู้“แม่ยืนยันว่าจะต้องทำให้ได้

    “แล้วแต่แม่ อยากทำ ก็ทำไป ขายไม่ได้ ก็เรื่องของแม่นะ ผมไม่เกี่ยว“ ผมประชด

     หลังจากที่แม่ได้ลองเปลี่ยนวัตุดิบเพื่อทำไส้ขนมแรกๆคนที่ซื้อกิน ส่วนใหญ่ก็ติงๆมาว่า รสชาติไม่ดี ไม่อร่อย แต่พอนานๆเข้า ทุกคนก็เริ่มชินและบอกว่ารสชาติดีกว่ามันแกวแม่จึงเริ่มมั่นใจและปรับรูปแบบผสมผสานให้ลงตัว   

    “น้า..ทำไม ไส้ขนมจีบกับซาลาเปา รสชาติมันเปลี่ยนไปล่ะ”ลูกค้าทักท้วงมา มากมาย

    “อ้อ..พอดีช่วงนี้มันแกวมันขาดตลาด เลยต้องใช้หัวไชเท้า ทดแทนน่ะ ”แม่อธิบาย และบอกเหตุผลกับลูกค้า

     “หนูว่า  ไส้มันแกวอร่อยกว่าน่ะ  ” ผู้ซื้อพูด

     “ไว้มีวัตถุดิบก่อน ก็จะทำเหมือนเดิม น่ะ”  แม่บอกกับลูกค้า

                  ************************************************************************

      ความแน่นอน…อาจเป็นความไม่แน่นอนช่วงหน้าหนาวคนมักนิยมมาซื้อของร้อนๆ คือซาลาเปา ขนมจีบ ไปกินกับกาแฟ ชาร้อน  โกโก้ร้อนทุกๆปีในช่วงที่ขนมขายดี แม่จะเพิ่มปริมาณและทำเผื่อมากจนเกินไป จนผมต้องคอยเบรคเสมอว่า อย่าทำให้มากเกินไป แต่แม่มักจะอ้างว่า

    “เอ็งเป็นลูก จะมาสอนแม่ได้อย่างไร “ แม่พูด

    “ผมว่าแม่ทำมากเกินไป..ทางที่ดีค่อยๆทยอยทำทีละนิด พอขนมหมดแล้ว เราค่อยทำเพิ่ม ไม่ดีกว่าหรือแม่  “

    “ทำไป..ไม่ต้องพูดอะไร มีหน้าที่ทอดขนม ก็ทำ “แม่สั่ง

     ผมค่อนข้างหงุดหงิดที่แม่ที่ไม่ยอมรับฟังเหตุผลของผมบ้าง.และวันนั้นเหตุการณ์ที่ผมคาดไว้ก็เกิดขึ้น.คือขนมขายไม่ออก  ไม่ค่อยมีคนมาซื้อดังเช่นที่เคยเป็น ไม่ทราบเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น.. ขนมเหลือมากที่สุด นับแต่ที่ผมเคยเห็นและเคยขายมา.  แน่นอนว่าขนมที่เหลือคือต้นทุน ที่แม่ลงทุนไป จะทิ้งไปเปล่าๆ ก็ไม่ได้เนื่องจากแม่เสียดาย

    “ทำไงล่ะแม่ ขนมเหลือแบบนี้  “ ผมพูด

    “เก็บไว้อุ่น ขายวันพรุ่งนี้”แม่พูด

    “รสชาติมันไม่อร่อย นะแม่  ทิ้งไปเถอะ อย่าเสียดายเลย ผมคิดว่าชื่อเสียงสำคัญกว่า เรื่องกำไรนะ “ ผมอ้อนวอน ขอร้องแม่ 

       “ทิ้งไม่ได้นะ เงินทองทั้งนั้น  “

      “แม่ลองคิดดู  หากแม่เป็นลูกค้าไปซื้อขนมมากิน แล้วเจอขนมเก่าที่สอดแทรกไปกับขนมอันใหม่ มันเสียอารมณ์นะ เวลากิน “ ผมพยายามพูดต่อเพื่อโน้มน้าวให้แม่ฟังผมบ้าง

      “ไม่ต้องพูดอะไร ทำตามที่แม่สั่ง  “แม่พูด

       ผมอึดอัดใจ.อย่างมาก  แม้จะเห็นใจแม่.. แต่ผมคิดว่าชื่อเสียงสำคัญกว่า ขนมที่เหลือสองร้อยกว่าชิ้น ผมต้องแอบนำไปทิ้งกว่าครึ่งหนึ่งโดยแม่ไม่รู้ แม่จะทราบ ต่อเมื่อหลังขายขนมเสร็จและมานั่งนับเงิน หลายครั้ง มันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ …ผมก็จัดการนำขนมที่เหลือไปทิ้ง หรือไม่ก็..ตัวผมเองต้องฝืนกินหรือแจกเพื่อนๆให้มันหมด  หลายครั้งผมยอมเอาเงินส่วนตัวที่ผมสะสมไว้ ฝากให้เพื่อนๆมาซื้อขนมที่ผมขาย เอาไปโยนให้ปลากินตรงนี้ทำให้ผมสบายใจกว่า       หลายครั้งที่ขนมเหลือมากและมันหายไป แม่ได้แอบสังเกตเห็นว่าผมแอบเอาขนมที่เหลือยัดลงใต้พื้นบ้าน

     “ทำไม ..ทำอย่างนั้นล่ะ ลูก “ แม่พูด

     “ชื่อเสียงสำคัญกว่า นะแม่ “ ผมไม่ยอมลดลาวาศอกกับแม่…

     " ถ้าแม่ทำอย่างนั้น ผมจะไม่ออกมาช่วยแม่ขายขนมอีกละ แม่เคยสอนผมไว้มิใช่หรือ  ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน “ผมยื่นคำขาด

                                            แม่ฟังผมพูด จนนิ่งไป….

         กล้าพูดได้ว่า.ช่วงที่ผมมาเป็นคนขายขนมที่หน้าร้าน ขนมจะขายดีมาก เป็นเพราะผมคำนึงคุณภาพ ความสดใหม่  การพูดจาการ ให้เกียรติลูกค้า การแจกแถม เป็นกรณีพิเศษ เพื่อจูงใจลูกค้า นี่จึงทำให้ลูกค้ามีจำนวนมากขึ้นๆ     

        ผมดีใจทุกครั้ง // ที่เห็นแม่นั่งนับเงิน แล้วพับธนบัตรไว้อย่างดี สำหรับเหรียญบาท แม่จะนับกองละยี่สิบพร้อมห่อกระดาษ แล้วเก็บใส่ลิ้นชักตู้  ภาพเหล่านี้ผมยังจำได้ดี…และไม่มีวันที่จะลืม///////

                                                         ขลุ่ย   บ้านข่อย

                                                    ๒๐  กันยายน    ๒๕๖๕

       

     

     

     

    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      คำนิยม Top

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      คำนิยมล่าสุด

      ยังไม่มีคำนิยมของเรื่องนี้

      ความคิดเห็น

      ×