ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เปิดแฟ้มตำนานช็อก

    ลำดับตอนที่ #8 : เปิดตำนานครุฑ

    • อัปเดตล่าสุด 17 ก.ย. 49


    ครุฑ เทพพาหนะของพระนารายณ์ เป็นโอรสพระกัศยปมุนี (ฤษีตนหนึ่งในเจ็ดตนที่เรียกว่า สัปตฤษี หรือพระประชาบดี) และนางวินตาหรือนางทิติธิดาองค์หนึ่งของ พระทักษประชาบดี พระทักษประชาบดีนี้น เป็นโอรสของพระพรหม และเป็นผู้มีภริยามาก มีธิดาถึง 50 องค์ ยกให้เป็นชายาพระยมเสีย 10 องค์ ยกให้ พระจันทร์เสีย 27 องค์ (27 นักษัตร) และยกให้พระกัศยปเสีย 13 องค์ ในจำนวนธิดา 13 องค์นี้ที่เป็นชายาของพระกัศยปมีอยู่สององค์ คือนางวินตามารดาครุฑ และนางกทรูมารดาของพวกพญานาค นางวินตามีโอรสสององค์ คือครุฑและอรุณ ซึ่งต่อมาได้เป็นสารถีของ พระสุริยเทพ เมื่อนางวินตาคลอดครุฑโอรสองค์แรกออกมานั้น เป็นฟองไข่ ครุฑจึงได้มีลักษณะคล้ายนกไป ส่วนนางกทรูมีโอรสพันองค์ ล้วนเป็นพญานาคทั้งนั้น



    ครุฑเมื่อแรกเกิด ร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจดฟ้า ดวงตาเมื่อกะพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกที่ใดบรรดาขุนเขา ก็ตกใจต้องปลาดหนีไปพร้อมกับพระพาย รัศมีที่พวยพุ่ง ออกจากกาย มีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วทั่วสี่ทิศ กระทำให้ทวยเทพ ต้องตกใจสำคัญว่าเป็นพระอัคนี ต่างพากันมาบูชาครุฑ เพื่อขอความคุ้มครองจากครุฑ อีกตำราหนึ่งว่าครุฑนั้นมีรูปร่าง และลักษณะดังนี้ เศียรจงอยปากปีและเล็บเป็นอย่างนกอินทรี ท่อนกายตัวและแขนขาเป็นอย่างคน หน้าเป็นสีขาว ปีเป็นสีแดง (ของ จีนว่าปีกทอง) กายตัวเป็นสีทอง มีโอรสชื่อสัมปาติ (สัมพาที) และชฎายุ (แต่บางตำราว่า สัมปาติและชฎายุเป็นโอรสของพระอรุณ) มีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา



    ครุฑเป็นศัตรูกับพญานาคอย่างรุนแรง เหตุเกิดขึ้นเพราะนางวินตามารดาครุฑทะเลาะกันขึ้น กับนางกทรูมารดาพวกพญานาค ด้วยเรื่องเถียงและพนันกันว่าสีม้าที่เกิดขึ้น เมื่อคราวทวยเทพ และอสูรกวนน้ำอมฤตนั้นเป็นสีอะไร นับแต่นั้นมาครุฑและพวกพญานาคก็ไม่ถูกกันต่างพยาบาท มาดร้ายกันอยู่ คราวเมื่อครุฑแต่งงาน พวกพญานาค เกรงว่าถ้าครุฑมีผู้สืบเชื้อสาย เมื่อใด ก็จะเป็นภัยแก่พวกพญานาคและพวกลูกหลานของตน จึงยกพวกหวังไปสังหารครุฑแต่ถูกครุฑ ฆ่าพวกพญานาคตายเกือบหมด คงเหลือรอดชีวิตอยู่เพียงตัวเดียว ซึ่งครุฑเอามาคล้องคอ เป็นสังวาล ชาวฮินดูที่ถือความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจะเข้านอนมักออกชื่อครุฑ เป็นอย่างบริกรรมมนต์ ว่าถ้าทำอย่างน้จะพ้นภัยจากงูอสรพิษกัด



    ในมหากาพย์มหาภารตเล่าเรื่องต้นเหตุครุฑถ่ายโทษมารดาให้พ้นจากเป็นทาสีของนางกทรู และต้นเหตุที่มาเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ดั่งนี้ เมื่อนางวินตามารดาครุฑ แพ้พนันเรื่องสีของม้าที่เกิดจากเกษียรสมุทรแล้ว ต้องตกเป็นทาสีของพี่สายคือนางกทรู พวกพญานาคปรารถนาจะเป็นอมร จึงทำความตกลงกับครุฑว่า ถ้าครุฑสามารถไปที่พระจันทร์ นำเอาน้ำอมฤตที่อยู่กับพระจันทร์ เพราะพระจันทร์มีแสงสว่างอยู่ได้ก็เพราะมีน้ำอมฤต ก็จะปลดปล่อยให้มารดาครุฑพ้นจากความเป็นทาส ครุฑเมื่อตกลงเรื่องนี้กับพญานาคแล้ว และก่อนที่จะไปได้ไปขออาหารจากมารดา มารดาแนะนำว่าให้ไปที่ชายฝั่งทะเล เมื่อพบอะไรก็ให้กินได้ แต่ขอร้องไว้อย่างหนักหนา ว่าให้ระวังเป็นที่สุด อย่างไปกินพราหมณ์เข้าไป ถ้าคราวใดรู้สึกว่า เหมือนมีอะไรไหม้อยู่ในกระเพาะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ก็จงรู้เถิดว่ากินพราหมณ์เข้าไป



    เมื่อได้รับคำเตือนจากมารดาแล้ว ครุฑก็ออกเดินทางไป ขณะผ่านมายังประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวประมง อารามหิวครุฑก็เขมือนกินคนเหล่านั้นตลอดจนวัวควาย และสัตว์อื่น ๆ และรวมทั้งบ้านเรือนและต้นไม้เข้าไปด้วยทั้งหมด แต่ในจำนวนคนที่ครุฑกลืนกินเข้าไป มีพราหมณ์ด้วยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุทำให้ครุฑรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ท้องเป็นกำลัง เมื่อไม่สามารถจะทนได้ต่อไป ก็ร้องตะโกนอย่างรีบร้อนให้พราหมณ์นั้นออกมา พราหมณ์ไม่ยอมออก เว้นแต่จะให้ภรรยาของตนซึ่งเป็นบุตรสาวคนหาปลา ตามออกมาด้วยครุฑก็ต้องยอมทำตาม



    ถัดจากนั้นครุฑก็บินไปหาพระกัศยปผู้เป็นบิดา พระกัศยปแนะนำให้ครุฑระงับความหิว โดยไปที่ทะเลสาบแห่งหนึ่ง ซึ่ง ณ ที่นั้นมีช้างตัวหนึ่งและเต่าตัวหนึ่งกำลังต่อสู้กันอยู่ เต่าตัวนั้นมีขนาดยาวได้ 8 โยชน์ และช้างตัวนั้น มีขนาดยาว 16 โยชน์ ครุฑถลาลงไปจับเต่าไว้ในอุ้งเล็บหนึ่ง และจับช้างไว้ในอีกอุ้งเล็บหนึ่ง แล้วบินขึ้นไปจับบนต้นไม้ใหญ่ ต้นหนึ่งสูง 80 โยชน์ ต้นไม้ทานน้ำหนักไม่ไหว ก็ทำท่าจะหักโค่นลงมา ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกพราหมณ์คนรู ซึ่งทำพิธีอยู่ที่กิ่งต้นไม้นั้น กิ่งหนึ่งก็จะต้องถูกต้นไม้ทับตายหมด ครุฑตกใจกลัวว่าพราหมณ์เหล่านั้นจะตาย จึงคว้าต้นไม้ต้นนั้นไว้ในกรงเล็บ พร้อมทั้งช้างและเต่ายักษ์บินไปยังภูเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในที่ไม่มีคนจึงกินช้างและเต่าแก้ความหิวได้



    ครั้นแล้วก็บินขึ้นสวรรค์ คว้าเอาพระจันทร์ซ่อนไว้ที่ใต้ปีก แต่ถูกพระอินทร์และทวยเทพติดตามมา เกิดสู้รบกัน ทวยเทพทั้งหมดแพ้ครุฑ เว้นแต่พระนารายณ์เท่านั้นที่ไม่แพ้ แม้กระนั้นก็เกือบแย่ ต้องทรงขอทำความตกลงอย่ารบกับครุฑทรงสัญญาจะให้ครุฑเป็นอมรและให้อยู่ในตำแหน่ง สูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาขอเป็นพาหนะ ของพระนารายณ์ และเป็นธงครุฑพ่าห์ สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระนารายณ์



    ครุฑมีชื่อเรียกอยู่มากมายหลายชื่อ เช่น กาศยปิและเวนไตย อันเป็นชื่อสืบมาจากกัศยปและวินตา สุบรรณและครุฑมาน คือเจ้าแห่งนก สิตามันมีหน้าขาว รักตปักษ์ มีปีกแดง เศวตโรหิต มีสีขาวและแดง สุวรรณกาย กายมีสีทอง คคเนศวร เป็นเจ้าแห่งอากาศ ขเคศวรผู้เป็นใหญ่แห่งนก นาคานตกและนาคนาศนะศัตรูแห่งนาค สรรปาราติ ศัตรูแห่งงู ตรสวินผู้เคลื่อนไปเร็ว รสายนะ ผู้เคลื่อนไปอย่างปรอท กามจารินผู้ไปตามอำเภอใจ กามายุส ผู้อยู่ด้วยความยินดีแห่งกาม จิราท ผู้กินนาน อมฤตาหรณ์และสุธาหร ผู้ลักน้ำ อมฤต สุเรนทรชิต ผู้ชนะพระอินทร์ วัชรชิต ผู้ปราบชนะสายฟ้า



    ทางวรรณคดีพุทธศาสนากล่าวว่า ครุฑ มีขนาดใหญ่มาก วัดจากปีกข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง กว้างได้ 150 โยชน์ เวลากระพือปีก สามารถทำให้เกิดเป็นพายุใหญ่ เกิดมืดมน และทำลายบ้านเมืองให้หมดสิ้นได้ ขนปีกของครุฑหนามาก แม้จะมีใครเข้าไปซ่อนอยู่ในระหว่างขนครุฑ ก็ไม่สังเกตทราบได้ ครุฑแปลงกายเป็นมาณพไปเล่นสกากับพระเจ้าแผ่นดิน แล้วลักพามเหสี ของพระเจ้าแผ่นดินไป เช่นในเรื่องกากี สุสันธีชาดกและกาติชาดก ที่อยูของครุฑซึ่งเรียกว่า สุบรรณพิภพ เป็นวิมานอยู่บนต้นฉิมพลีหรือต้นงิ้ว ซึ่งอยู่ยังเชิง เขาพระสุเมรุ



    เวลาผ่านไปตามอาคารสถานที่ราชการ จะเห็นว่ามีครุฑกางปีกประดับอยู่ด้านบนของอาคาร เช่นเดียวกับอาคารสำนักงานเอกชนบางแห่งก็มีเจ้าตัวนี้ประดับอยู่เช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่ของเอกชนมีคำว่า "โดยได้รับพระบรมราชานุญาต" อยู่ด้านล่างด้วย

    รูปครุฑเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากเป็นความเชื่อในลัทธิสมมุติเทวราช ที่ถือว่ากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ที่ลงมาปกครองบ้านเมือง และเมื่อพระนารายณ์มีครุฑเป็นพาหนะของพระองค์ ครุฑจึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญไปด้วย การใช้รูปครุฑเป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายของทางราชการ กำหนดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รูป ครุฑรำ หรือเรียกว่า พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ นอกจากนี้ ยังใช้ตราครุฑเป็นตราหัวกระดาษของหนังสือ หรือแบบฟอร์มในราชการอีกด้วย สำหรับภาคธุรกิจเอกชนที่มีเครื่องหมายครุฑพ่าห์ประดับอาคารได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ จึงจะได้รับพระราชทานตราตั้ง หรือหนังสือรับรองการพระราชทานพระบรมราชานุญาต มีคำว่า "โดยได้รับพระบรมราชานุญาต" อยู่เบื้องล่างของตราครุฑนั้น เพื่อแสดงว่า เป็นผู้ได้รับพระราชทานให้ใช้ตราแผ่นดินในกิจการได้


    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×