ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    100 อันดับ โลกต้องจารึก

    ลำดับตอนที่ #86 : อัลโนเบล สุดยอดงานวิจัยสุดเพื้ยน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 5.33K
      3
      1 ก.พ. 50



    อัลโนเบล สุดยอดงานวิจัยสุดเพื้ยน


                   
    ขณะที่คนส่วนใหญ่ในโลกมัวแต่ให้ความสนใจกับรางวัลโนเบลอันทรงเกียรติ คนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งเชิดชูความคิดสร้างสรรค์และความสามารถเฉพาะตัว (ห้ามเลียนแบบ) กลับตั้งตารอผลรางวัล
    "อิกโนเบล" รางวัลที่บางคนฟังแล้วบอกว่าสุดเพี้ยน เพราะมันอาจทำให้คุณต้องลงไปหัวเราะตัวงออยู่บนพื้นสองสามนาที ก่อนจะคิดได้อีกทีว่า เจ้างานวิจัยประหลาด ๆ นี่แหละ มันจุดประกายให้คุณนึกสนใจวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเสียแล้ว

                    ในวันเดียวกับที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบล เริ่มประกาศชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2003 เป็นวันแรก กลุ่มคณะกรรมการสติเฟื่องผู้ตัดสินรางวัล "อิกโนเบล" (Ig Nobel) ก็จัดงานประกาศผลรางวัลประจำปีครั้งที่ 13 ขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ด้วยเช่นกัน

                    "อิกโนเบล" ไม่ใช่รางวัลสำหรับนักวิชาการผู้ทรงเกียรติ แต่เป็นรางวัลที่แสดงความยกย่อง จากการคิดค้นสิ่งที่ "ไม่อาจหรือไม่ควรลอกเลียนแบบได้" ซึ่งโดยปกติมักเป็นเรื่องสร้างสรรค์ที่ชาวบ้านเขาไม่คิดกัน และจะทำให้คนหัวเราะขันทันทีที่ได้ฟังครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็จะกระตุ้นให้ใครที่ได้ยิน หันมาสนใจเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยี

                    
                   
    อิกโนเบลสาขาวิศวกรรม ตกเป็นของเอ็ดเวิร์ด เมอร์ฟี และจอร์จ นิโคลผู้ล่วงลับ ซึ่งคิดค้นหลักการสุดเก๋าขึ้นมาเมื่อปี 1949 ว่า "ถ้ามีวิธีทำอะไรมากกว่าสองทางขึ้นไป และหนึ่งในนั้นเป็นหนทางไปสู่หายนะ ก็จะต้องมีใครสักคนที่เลือกทางนั้นเสมอ" หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีอะไรผิดพลาดได้ มันก็จะผิดพลาด

                    ผู้คว้ารางวัลสาขาฟิสิกส์ไป คือทีมนักวิจัยออสเตรเลีย ที่ทำงานวิจัยเรื่อง "การวิเคราะห์แรงที่ต้องใช้ในการลากแกะไปบนพื้นผิวต่าง ๆ กัน"

                    รางวัลสาขาการแพทย์ เป็นของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตี้ออฟลอนดอน ที่แสดงให้เห็นว่า " สมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวพันกับการนำทาง ของคนขับรถแท็กซี่ในลอนดอน มีขนาดใหญ่กว่าสมองส่วนดังกล่าวของคนปกติ" ขณะที่สาขาจิตวิทยา มอบให้กับสองนักวิทยาศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตีออฟโรม และนักวิทยาศาสตร์จากสแตนฟอร์ดยูนิเวอร์ซิตี ซึ่งตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง "บุคลิกพื้น ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของนักการเมือง"

                    รางวัลสาขาเคมี ตกเป็นของ ยูคิโอะ ฮิโรเสะ จากมหาวิทยาลัยคานาซาวะ ในญี่ปุ่น จากการศึกษาว่า ทำไมรูปหล่อสัมฤทธิ์บางชิ้นในเมืองที่เขาอยู่ ถึงไม่มีนกพิราบมาเกาะเหมือนรูปหล่ออื่น ๆ บ้าง ส่วนเจ้าของรางวัลอิกโนเบลสาขาสหวิทยาการ ได้แก่คณะนักวิจัยจากสต็อกโฮล์มยูนิเวอร์ซิตี ที่เสนอรายงานว่า "ไก่ชอบคนหน้าตาดีมากกว่า"

                    รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นของ ลัล พิหารี จากอุตตรประเทศ อินเดีย สำหรับความสำเร็จ 3 ประการคือ ประการแรก เขายังดำเนินชีวิตต่อไป หลังจากถูกทางการประกาศว่าตายแล้วตามกฎหมาย ข้อสอง เขาทำการรณรงค์หลังการตายอย่างแข็งขัน ด้วยการต่อต้านความเฉื่อยชาของระบบราชการ และฟาดฟันกับบรรดาญาติ ๆ งกสมบัติ ข้อสุดท้ายก็คือเขาเป็นผู้ก่อตั้ง "สมาคมคนตาย" สำหรับคนที่ถูกรัฐประกาศว่าตายไปแล้วทั้งที่ยังมีลมหายใจขึ้นมา"

                    จอห์น ทริงคอส นักวิชาการจาก ซิกคลินสคูลออฟบิวซิเนส ในนิวยอร์ก รับรางวัลสาขาวรรณกรรมไป เนื่องจากเขาคนนี้อุตส่าห์เก็บบันทึกรายละเอียดพฤติกรรมน่ารำคาญและผิดปกติต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิ สัดส่วนของวัยรุ่นที่สวมหมวกเบสบอลโดยหันปีกหมวกไปด้านหลัง, สัดส่วนของคนเดินถนนที่สวมรองเท้าผ้าใบสีขาว และสถิติสำคัญอื่น ๆ รวม 80 รายการ

                     สาขาเศรษฐศาสตร์ จะเป็นของใครไปไม่ได้ นอกจากคาร์ล ชวาร์ซเลอร์ และเมืองลิคเทินสไตน์ เพราะเขาสร้างความเป็นไปได้ในการ "เช่าเมืองทั้งเมือง เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดประชุมของบริษัท จัดงานแต่งงาน พิธีทางศาสนา หรือการจัดเลี้ยงอื่น ๆ"

                    รางวัลสุดท้ายคือรางวัลสาขาชีววิทยา รางวัลนี้รับรองว่าคาดไม่ถึง เพราะเจ้าของรางวัลคือ ซี ดับเบิลยู โมไลเกอร์ จากพิพิธภัณฑ์ในร็อตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ทำการบันทึกทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเป็นครั้งแรก ของการร่วมเพศกับซากศพของเพศเดียวกันในเป็ดป่า

                     
                     บทคัดย่อของการศึกษาระบุว่า เมื่อวันที่
    5 มิถุนายน ปี 1995 เป็นป่าเพศผู้ตัวหนึ่ง (ดูภาพประกอบ) บินชนกระจกพิพิธภัณฑ์และเสียชีวิต แต่หลังจากที่เป็ดป่าอีกตัวมาพบ มันก็ทำการขืนใจศพเป็ดตัวแรกอยู่นานต่อเนื่องถึง 75 นาที และเมื่อผู้ทำงานวิจัยเดินไปดูใกล้ ๆ ด้วยความสงสัย เมื่อนำมาผ่าดูจึงพบว่าเหยื่อการกระทำชำเรานั้นเป็นเป็ดเพศผู้เหมือนกัน ทำให้สรุปได้ว่า เป็ดป่าได้ "พยายามข่มขืน" และนำไปสู่กรณีการรักร่วมเพศซึ่งพบเป็นครั้งแรก

                    อ่านดูแล้วคิดเอาเลยเถอะว่ามันเพี้ยน แต่ทำให้สนใจอยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ฯลฯ อย่างเขาว่าหรือเปล่า

                    รางวัลอิกโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี 1999 เป็นของสถาบันมาตรฐานอังกฤษ สำหรับเอกสารระบุวิธีชงชาที่เหมาะสมความยาว 6 หน้ากระดาษ ส่วนรางวัลสาขาการแพทย์ในปีเดียวกันนั้น เป็นของคุณหมอชาวนอร์เวย์ ที่รวบรวมและศึกษาประเภทของภาชนะที่คนไข้ใช้ใส่ตัวอย่างปัสสาวะมาให้ตรวจ

                    รางวัลสาขาสถิติ ปี 1998 ตกเป็นของงานวิจัยเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างความสูง, ความยาวขององคชาติ, และขนาดของเท้า ส่วนรางวัลสาขาสันติภาพ

                     ปี 1997 ยกให้รายงานของฮาโรลด์ ฮิลแมน ที่ชื่อว่า "ความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น ระหว่างการสังหารด้วยวิธีต่าง ๆ"!


                   
    อัลโนเบล 2004

                    เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่แล้ว ก่อนที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบล จะทยอยประกาศชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับรางวัลโนเบลประจำปี 2004 เมื่อวันจันทร์ (4) กลุ่มคณะกรรมการสติเฟื่องผู้ตัดสินรางวัล "อิกโนเบล" (Ig Nobel) ก็จัดงานประกาศผลรางวัลประจำปีครั้งที่ 14 ขึ้น ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีผู้เข้าร่วมพิธีมากมาย และเจ้าของรางวัลโนเบลตัวจริงเป็นผู้มอบรางวัลให้

                     "อิกโนเบล" ไม่ใช่รางวัลสำหรับนักวิชาการผู้ทรงเกียรติ แต่เป็นรางวัลที่แสดงความยกย่อง จากการคิดค้นสิ่งที่ "ไม่อาจหรือไม่ควรลอกเลียนแบบได้" ซึ่งโดยปกติมักเป็นเรื่องสร้างสรรค์ที่ชาวบ้านเขาไม่คิดกัน และจะทำให้คนหัวเราะขันทันทีที่ได้ฟังครั้งแรก แต่หลังจากนั้นก็จะกระตุ้นให้ใครที่ได้ยิน หันมาสนใจเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยี

                    ยกตัวอย่างผู้ที่ได้รับรางวัลอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวในปีนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ 2 คน ที่ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างเพลงแนวคันทรี่กับการฆ่าตัวตาย, คุณหมอที่หาคำตอบได้ว่าทำไมห่วงฮูลาฮูปถึงแกว่งติดเอวคนอยู่ได้, อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คิดค้นวิธีหวีผมปิดหัวล้าน, รวมถึงเด็กสาววัย 17 ปี ที่ทำการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์แนวคิด "เชื้อโรคยังไม่เห็น" เป็นคนแรกด้วย

                    ตัวอย่าง

                   

                      เพลงคันทรี่กับการฆ่าตัวตาย

                     เจมส์ กันด์แลช นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออเบิร์น ในรัฐแอละแบมา กับสตีเวน สแต็ค จากเวยน์สเตท ยูนิเวอร์ซิตี ในดีทรอยต์ เตือนว่า ใครที่มีอารมณ์หดหู่ควรจะหลีกเลี่ยงไม่ฟังเพลงแนวคันทรี่ เพราะเพลงแนวนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงการฆ่าตัวตายได้ ซึ่งคณะกรรมการอิกโนเบลก็เห็นคุณค่าของงานวิจัยของทั้งคู่ และมอบรางวัลสาขาการแพทย์ให้

                    แนวคิดการวิจัยเริ่มมาจากการที่กันด์แลชและนักศึกษาของเขาสังเกตเห็นว่า อัตราการฆ่าตัวตายในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซีนั้นสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตตัวเอง อาทิ การหย่าร้าง อัตราการว่างงาน และสัดส่วนของคนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอยู่มาก และทุกคนในชั้นเรียนก็สงสัยว่า เพลงคันทรี่ที่คนเมืองนี้ชอบฟังอาจเป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลัง

           การวิจัยต่อมายืนยันแนวคิดดังกล่าว จากการวิเคราะห์เนื้อเพลงคันทรี่พบว่า ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องรักคุด การดื่มเหล้าเป็นทางออกของปัญหา และความสิ้นหวังเกี่ยวกับการงานและการเงิน ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวพันกับการฆ่าตัวตายทั้งสิ้น นอกจากนี้แฟนเพลงคันทรี่ส่วนใหญ่ยังมีปืนในครอบครองด้วย

                    และเมื่อศึกษาอัตราการฆ่าตัวตายในเขตเมืองใหญ่ 49 แห่ง กันด์แลชกับสแต็คพบว่า อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามจำนวนคลื่นวิทยุที่เปิดแต่เพลงคันทรี่

                   

                    ทรงผมปิดหัวล้าน

                    
                   
    รางวัลอิกโนเบลสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นของแฟรงค์ และโดนัลด์ สมิธ สองพ่อลูกที่คิดค้นวิธีหวีผมปิดหัวล้าน และทำการจดลิขสิทธิ์วิธีหวีผมแบบ "comb-over" เอาไว้เมื่อปี 197

                    วิธีการหวีผมปิดหัวล้านให้ได้ดี คือ ต้องแบ่งผมที่มีอยู่น้อยนิดเป็น 3 ส่วน แล้วค่อยๆ หวีจากด้านที่เลี้ยงผมไว้ยาวซ้อนทับมายังด้านที่ผมบางที่สุด ฮีตเธอร์ สมิธ อดัมส์ หลานปู่ของโดนัลด์ สมิธ เล่าว่า สมัยเด็กๆ เธอไม่เคยรู้เลยว่าปู่ของเธอนั้นหัวล้าน เพราะท่านใช้วิธีหวีผมแบบนี้และทำได้เนียนมาก สมควรจะให้ยกย่องจริงๆ

     
                   
     คาราโอเกะกับสันติภาพ

                    
                    
     คณะกรรมการตัดสินรางวัลอิกโนเบล ยกรางวัลสาขาสันติภาพให้กับไดสุเกะ อิโนะอุเอะ จากญี่ปุ่น เจ้าของผลงานการคิดค้นคาราโอเกะ โดยให้เหตุผลว่า เครื่องเล่นคาราโอเกะนั้นทำให้คนเรียนรู้วิธีใหม่ ที่จะมีน้ำอดน้ำทนกับคนอื่นๆ

          

                     เชื้อโรคยังไม่เห็น!

                     จูเลียน คลาร์ก เป็นผู้โชคดีอีกคนที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลในปีนี้ โดยรายงานเรื่อง "กฎ 5 วินาที" ที่เธอทำการศึกษาในโครงการภาคฤดูร้อนสำหรับเด็กอัจฉริยะ ทำให้สาวน้อยวัย 17 รับรางวัลสาขาสาธารณสุขไปครอง

                     "กฎ" ที่คลาร์กทำการศึกษา คือความเชื่อที่ว่าแม้อาหารจะตกพื้นไปแล้ว แต่ถ้าเราหยิบกลับขึ้นมาได้ภายใน 5 วินาที เราก็ยังกินอาหารพวกนั้นได้อย่างปลอดภัย เทียบกับบ้านเราแล้วก็น่าจะเป็นแนวคิดเดียวกับที่คนไทยบอกว่า "เชื้อโรคยังไม่เห็น" หรือ "เชื้อโรคยังไม่ตื่น" นั่นเอง

                    คลาร์กพบว่า 70% ของผู้หญิง และ 56% ของผู้ชายต่างคุ้นเคยกับกฎนี้ และไม่ลังเลที่จะหยิบอาหารจากพื้นขึ้นมากินถ้ามันตกลงไปไม่นาน นอกจากนี้ยังพบว่าขนมหวานมักจะถูกหยิบขึ้นมากินมากกว่าผัก และเมื่อศึกษากันจริงๆ แล้ว พวกคุกกี้และลูกอมก็มีจุลชีพในระดับที่น้อยกว่าในผักสด เนื้อ หรือชีส

                    อาจารย์ของโครงการที่ช่วยเธอก้มๆ เงยๆ ทำการศึกษาตามพื้นมหาวิทยาลัยยังบอกว่า ผลการทดลองที่ได้นั้นน่าทึ่ง เนื่องจากพื้นอาคารในมหาวิทยาลัยนั้นสะอาดปราศจากเชื้อโรคอย่างไม่น่าเชื่อ จึงอาจกล่าวได้ว่าจูเลียนเป็นคนแรกที่ช่วยพิสูจน์ว่าอาหารที่ตกพื้นแล้วอาจไม่สกปรกมากอย่างที่เราคิด

                    แต่น่าเสียดายที่วงการวิทยาศาสตร์อาจไม่ได้ดาวเด่นไว้ประดับอีกดวง เพราะสาวน้อยคนนี้ตัดสินใจแล้วว่าเธอจะเรียนต่อในสาขาการเงิน

                    สร้างสรรค์อย่างไม่น่าเชื่อ


                    
                   
    รางวัลอื่นๆ ที่น่าสนใจในปีนี้ ได้แก่ อิกโนเบลสาขาฟิสิกส์ ที่ตกเป็นของ ราเมช ปาลาสุปรามาเนียม และไมเคิล เทอร์วีย์ สองนักฟิสิกส์ที่ใช้ระบบติดตามการเคลื่อนไหวแม่เหล็กไฟฟ้า หาคำตอบว่าเหตุใดห่วงฮูลาฮูปถึงแกว่งติดเอวของคนอยู่ได้

                    รางวัลสาขาเคมีนั้นยกให้บริษัทโคคา-โคลาประเทศอังกฤษ ผู้ผลิตน้ำดื่ม Dasini ที่ถูกจับได้ว่าใช้น้ำจากแม่น้ำมาผลิตเป็นน้ำแร่ แต่บริษัทชี้แจงว่า น้ำดื่มนี้ผ่านกรรมวิธีสร้างความบริสุทธิ์อันสลับซับซ้อนก่อนบรรจุขวด และเจ้ากรรมวิธีที่อ้างว่าเป็นแบบเดียวกับที่องค์การนาซาใช้ในการทำน้ำให้บริสุทธิ์นี่แหละ เป็นเหตุผลให้คณะกรรมการยกรางวัลให้แบบประชดเล็กๆ
           
             เบน วิลสัน, ลอว์เรนซ์ ดิล, โรเบิร์ต แบ็ตตี, แม็กนัส วอลเบิร์ก, และฮากัน เวสเตอร์เบิร์ก คว้ารางวัลอิกโนเบลสาขาชีววิทยาไปครอง จากการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ปลาเฮอร์ริงสื่อสารกันด้วยการผายลม!


                   
    อัลโนเบล 2005

                     ปี2005 7 ต.ค. คณะกรรมการพิจารณางานวิจัยที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ประจำปี (Annals of Improbable Research) ได้จัดพิธีประกาศผลรางวัล "อิก โนเบล 2005" ณ โรงละครแซนเดอร์ ในฮาร์วาร์ด โดยมีเจ้าของรางวัลโนเบล (ของจริง) ปีก่อน 4 ท่านได้ออกมาประกาศรางวัลในสาขาต่างๆ ท่ามกลางผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมพิธีราว 1,200 คน ซึ่งปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลอิก โนเบลจาก 10 ชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฮังการี ญี่ปุ่น นิว ซีแลนด์ ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา

                   

                    ให้ตายเหอะ...มนุษย์ว่ายน้ำเชื่อมไวกว่าในน้ำธรรมดา

                    อิก โนเบล สาขาเคมีได้แก่ เอ็ดวาร์ด คัซเลอร์ (Edward Cussler) และไบรอัน เกตเทลฟิงเกอร์ (Brian Gettelfinger) จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา (University of Minnesota) สหรัฐฯ ทั้งคู่พยายามหาคำตอบว่า มนุษย์สามารถว่ายน้ำในน้ำเชื่อมได้เร็วกว่าในน้ำธรรมดา ซึ่งสมมติฐานนี้ทำให้เกตเทลฟิงเกอร์ลุกขึ้นมาคิดค้นวิธีเพิ่มความเร็วในการว่ายน้ำ ขณะซ้อมว่ายน้ำเพื่อเข้าแข่งโอลิมปิก

                    ทั้งคู่เตรียมการทดลองขึ้นโดยใช้สระว่ายน้ำขนาด 25 หลาจำนวน 2 สระในมหาวิทยาลัย (ซึ่งต้องทำเรื่องขออนุญาตนู่น นี่นั่นถึง 22 ขั้นตอน) จากนั้นพวกเขาก็ต้องการน้ำเชื่อมจากข้าวโพดผสมกับน้ำจำนวน 20 คันรถเพื่อนำมาเติมลงไปในสระ แต่ทางเทศบาลเมืองก็แจ้งว่าพวกเขาจะต้องจ่าย 20,000 เหรียญ ถ้าหากปล่อยน้ำเชื่อมจำนวนมากมายขนาดนั้นเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย...ทำให้แผนการทดลองของทั้ง 2 ต้องมีอันพับไป

                     แต่ความพยายามของทั้งคู่ยังไม่จบลงง่ายๆ พวกเขากวนแป้งมัน 310 กิโลกรัมจนเหนียวหนึบลงในสระว่ายน้ำ "พอเช้าวันรุ่งขึ้นเราตื่นมาดู มันแหวะ ทั้งสระเต็มเหมือนไปด้วยน้ำมูกใสๆ" คัซเลอร์เล่าถึงความพยายามสร้างการทดลองนี้ขึ้นมา

                    แม้สระว่ายน้ำที่มีแป้งมันเหนียวๆ จะหน้าตาไม่น่าดู แต่ก็หาทำให้ความพยายามของอาสาสมัครทั้ง 16 รายย่อท้อไม่ อาสาสมัครทุกคนจะต้องลงว่ายน้ำใน 2 สระเพื่อเปรียบเทียบ โดยหลังจากว่ายในสระน้ำเหนียวๆ แล้ว พวกเขาจะต้องไปอาบน้ำทำความสะอาดตัว และลงว่ายต่อในสระน้ำธรรมดา

                    จากการจับเวลาและเปรียบเทียบอาสาสมัครทุกคน คัซเลอร์พบว่า ของเหลวที่มีความหนาแน่นกว่าช่วยเพิ่มพลังในการจ้วงว่ายแต่ละช่วงแขน ซึ่งทำให้แรงในการลากลำตัวพุ่งหน้าในน้ำไปข้างหน้าเพิ่มมากขึ้น

                    "การทดลองช่างสนุกสนาน แต่ให้ตายเหอะ ท้ายที่สุด มันก็โค_ร..ไร้ประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง" คัซเลอร์กล่าวภายหลังจากได้รับรางวัล

                   

                      "เพนกวิน" มีพลังรมปราณปู้ด..ออกทวารแรงกว่าคนอีก

                    
                    
     ส่วนรางวัลในสาขาพลศาสตร์ของไหลเป็นของเบนโน เมเยอร์-รอคฮาว (Benno Meyer-Rochow) จากมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งเบรเมน (International University of Bremen) เยอรมนี และยอซเซฟ กัลป์ (Jozsef Gal) จากมหาวิทยาลัยโลแรนด์ ออตวอส (
    Lorand Eötvös University) ในฮังการี ทั้งคู่เป็นเจ้าของทฤษฎีวิเคราะห์แรงปู้ดของเพนกวิน (penguin poop propulsion)

                     เมื่อธรรมชาติเรียกร้องเจ้าแพนกวินแห่งชายฝั่งอเดลี (Adélie) ในแถบแอนตาร์กติกาก็จะทำท่าอึกๆ อักๆ เดินต้วมเตี้ยมๆ ออกจากรัง เพื่อไปปลดทุกข์ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ซึ่งเจ้าของรางวัลอิก โนเบลได้สังเกตว่า ขณะถ่ายทุกข์เจ้าเพนกวินจะกระดกก้นขึ้น ยกหางและปล่อยสิ่งของไม่พึงประสงค์ออกมา โดยแรงปู้ด...ดดด ที่ปลดปล่อยจากปลายทวารหนักของเพนกวินนั้น มีแรงระเบิดทำล้ายร้างไกลถึง 40 เซนติเมตร

                    อย่างไรก็ดี ถ้าเปรียบเทียบกับสัดส่วนความสูงและลักษณะทางอนาโตมีของเพนกวินตัวเตี้ยๆ กับพลังลมปราณทางทวารหนักที่ปล่อยออกมาทั้งในแง่ความแรงและความเหนียว (ของสสารที่ตามออกมาด้วย) ทำให้นักวิจัยพบว่า แรงดันภายในช่องทวารของเพนกวินอยู่ที่ประมาณ 10-60 กิโลปาสคาล (หรือแรงประมาณ 1.45 - 8.7 ปอนด์ต่อ 1 ตารางนิ้ว) นับได้ว่าพลังลมปู้ด...ดดด ของเพนกวินนั้นมีกำลังแรงกว่ากำลังปลดปล่อยสูงสุดของมนุษย์ขณะถ่ายทุกข์เช่นกัน

                    แต่ถ้าใครคิดดูเหมือนว่าจะเป็นผลงานที่ไม่มีสาระทางวิทยาศาสตร์ เมเยอร์-รอคฮาวกล่าวอย่างมั่นใจว่า แน่นอนที่น้อยคนจะรู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร ซึ่งถ้าสิ่งที่พวกเขาอธิบายได้รับความสนใจจากผู้ดูแลสวนสัตว์ นักสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ วิศวกร นักสรีรศาสตร์มนุษย์ คนเหล่านี้ก็สามารถนำข้อมูลไปตรวจสอบการสภาพของร่างกายว่าสมบูรณ์หรือไม่ด้วยการดูแรงปลดปล่อยของเหลวผ่านรูทวารต่างๆ นับเป็นสิ่งธรรมดาที่สำคัญ

                     

                     อิก โนเบล...งานวิจัยฮาๆ อีกสารพัดสาขา

                    สาขาเศรษฐศาสตร์ ยกให้กับผลงาน "นาฬิกาหนีคนขี้เซา" เป็นของกาวรี แนนดา จากสถาบันเทคโนโลยีเมสซาซูเซ็ตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ได้ประดิษฐ์ "คล็อกี้" (Clocky) นาฬิกามีล้อสำหรับผู้ที่นอนขี้เซาในตอนเช้า หากตั้งปลุกแล้ว เจ้าของขี้เซาเกิดกดปุ่ม "สนูซ" (snooze) ขอเวลานอนอีก 5 นาทีแล้วค่อยปลุกต่อ นาฬิกาตัวนี้ก็จะหนีไปซ่อน แน่นอนนว่าพอร้องเตือนในอีก 5 นาทีถัดไป เจ้าของต้องลุกขึ้นมาหา รับรองตอนนั้นต้องตื่นแล้วแหง๋ และถ้ายังหานาฬิกาไม่เจอ เสียปลุกมันก็ดังสนั่นไหว ไม่ตื่นไม่ได้แล้ว ซึ่งคณะกรรมการตัดสินรางวัลเห็นว่าแม้จะยังเป็นแค่แนวคิด แต่นี่ก็ช่วยให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างดีเยี่ยม...จึงสมควรได้รับในสาขาเศรษฐศาสตร์ไป

                     • สาขาฟิสิกส์ ยกให้กับการทดลอง "หยดกากน้ำมันดิน" (pitch drops) ที่ต้องใช้เวลาทดลองมาหลายสิบปี โดยรางวัลนี้เป็นของโทมัส พาร์เนลล์ (Thomas Parnell) ที่เคยทำการทดลองไว้ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ (University of Queensland) เมื่อปี 1927 และจอห์น เมนสโตน (John Mainstone) ก็มาช่วยพัฒนาต่อ

                    ทั้งนี้ กากน้ำมันดินที่เหนียวๆ ซึ่งตามทฤษฎีของเหลวนั้น แต่ดูเหมือนว่ามีพฤติกรรมเหมือนของแข็ง เพื่อแสดงให้เห็นว่ากากน้ำมันดินเป็นของเหลว พาร์เนลได้ละลายกากน้ำมันดินแล้วนำไปใส่กรวยที่เย็นตัว จากนั้นเขาก็รอแล้วรอเล่า เฝ้าแต่รอ กระทั่ง 8 ปีผ่านไปกากน้ำมันดินหยดแรกก็หลุดออกมาจากกรวย ส่วนหยดที่ 2 ตามมาในอีก 9 ปีถัดจากนั้น และในปี 2000 ก็เพิ่งจะได้เห็นหยดที่ 8 ขณะที่เมนสโตนก็รับช่วงต่อรอหยดที่ 9

                    สาขาแพทยศาสตร์ปีนี้ เป็นของ เกรก มิลเลอร์ (Gregg Miller) จากมิสซูรี ที่สามารถประดิษฐ์อัณฑะเทียมของสุนัขเพื่อใช้แทนของจริง อีกทั้งอัณฑะเทียมดังกล่าวมีให้เลือกถึง 3 ขนาด และมีความฟิตถึง 3 ขั้น

                     • สาขาผู้ปรารถนาสันติภาพเป็นอย่างยิ่งเป็นของ 2 นักวิจัยชาวอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) ที่เฝ้าจับตาดูกระแสไฟฟ้าอันเกิดจากกิจกรรมในสมองของแมลงจำพวกตั๊กแตนตัวหนึ่งขณะกำลังชมบางตอนสำคัญของภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์ส...ก็อยากรู้ว่าตั๊กแตนจะเครียดแค่ไหน หากดูหนังสงคราม

                    สาขาชีววิทยา ตกเป็นของกลุ่มนักวิจัยจำนวนมากมายและอีกหลายสถาบันที่พยายามดมกลิ่มและจัดทำรายชื่อกลิ่นของกบ 131 สายพันธุ์ ขณะที่กบเหล่านี้อยู่ในภาวะตึงเครียด...กบจะมีกลิ่นอย่างไรบ้าง

                    สาขาวรรณกรรม เป็นของกลุ่มชาวไนจีเรียเจ้าของอีเมล์ลูกโซ่ ที่ส่งอีเมล์ถึงผู้ใช้นับล้านๆ คนทั่วโลก ซึ่งถ้าใครได้รับอีเมล์ที่มีใจความแบบนี้ "cast of rich characters ... each of whom requires just a small amount of expense money so as to obtain access to the great wealth to which they are entitled" ... แน่ใจได้เลยว่า คุณได้อ่านวรรณกรรมระดับ (อิก) โนเบลเรียบร้อยแล้ว

                     อย่างไรก็ดี ในแต่ละปีผู้ที่ได้รับรางวัลต่างก็ยินดีที่จะเดินทางมาร่วมพิธี และจะมีโอกาสขึ้นไปกล่าวอะไรเพียงแค่ 1 นาทีเท่านั้น โดยมีเด็กน้อยวัย 8 ขวบเป็นผู้ควบคุมพิธีการ ถ้าหากผู้ได้รับรางวัลกล่าวสุนทรพจน์เกินเวลา เด็กน้อยก็จะตะโกนออกไปว่า "กรุณาหยุดได้แล้ว หนูเบื่อเต็มที !!"
                    แต่เมเยอร์-รอคฮาวและกัลล์ เจ้าของรางวัลอิก โนเบลสาขาฟิสิกส์ ไม่สามารถมาร่วมงานได้ แต่ส่งวิดิโอเทปกล่าวสุนทรพจน์มาฝากเปิดในงาน แถมยังบอกถึงเหตุผลที่มาร่วมงานไม่ได้ว่า เพราะขอวีซาเข้าสหรัฐฯ ไม่ได้ (ฮา....)

                    ขณะที่เมนสโตนขึ้นมารับรางวัลด้วยอาการเริงร่าพร้อมทั้ง กล่าวว่า ช่างน่าปิติยินดีนักที่เขาได้รับรางวัลอิกสาขาฟิสิกส์ ซึ่งการทดลองที่เขาทำนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 1927 (พ.ศ.2470) ซึ่งรอก้อนกากน้ำมันดินหยดด้วยอัตราความถี่ 1 หยดต่อ 9 ปี แต่ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พาร์เนลล์ผู้ร่วมงานและร่วมรับรางวัลกับเขา เสียชีวิตไปอย่างน่าเศร้าหลังผ่านหยดที่ 2 ไปแล้ว ส่วนเมนสโตนก็เดินทางมารับรางวัลพร้อมกับภรรยาแต่ ดันไปบอกเมียรักว่าจะพามาเที่ยวฮาร์วาร์ด ซึ่งภรรยาของเมนสโตนเพิ่งรู้จุดประสงค์ที่แท้จริงเมื่อเครื่องบนลงจอดแล้ว เธอก็แสดงความประหลาดใจแนวขำๆ
           


            ตาคนที่อยู่ในขวดเบียร์นั่น...ก็คือวิลเลียม ลิปสคอมบ์ เจ้าของโนเบล (จริงๆ) สาขาเคมี ปี 1976 งานนี้แต่งตัวเต็มที่ ส่วนงานโนเบลจริงๆ ต้องเนี๊ยบและเรียบร้อยสุดๆ

     

    โยชิโร นากามัตส์ ในชุดสูทสีดำกำลังเดินขึ้นเวทีท่ามกลางการแสดงบัลเลย์ เพื่อรับรางวัลอิก โนเบลสาขาโภชนศาสตร์ ซึ่งนากามัตส์ได้บันทึกภาพและวิเคราะห์ พร้อมทั้งนับอาหารทุกมื้อที่เขากินมากว่า 34 ปี

     

    เกรก มิลเลอร์เจ้าของอิก โนเบลแพทย์ กับบักหมาคู่ใจที่เขาผลิตอัณฑะเทียมให้

     

    จอห์น เมนสโตนชูธงออสเตรเลียอวดสัญชาติของเขา ระหว่างรับอิก โนเบลสาขาฟิสิกส์ งานนี้หอบภรรยามาจากออสเตรเลียด้วย แต่ดันไปบอกเจ้าหล่อนว่าจะพามาเที่ยวฮาร์วาร์ด เมื่อภรรยารู้ความจริงขณะถึงสหรัฐฯ แล้วก็ออกอาการเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

    + + http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9480000138014

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×