ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #97 : Ichiban Ushiro no Daimaou จอมมารในแถวหลังสุด

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 20.6K
      11
      10 ต.ค. 53

                   

                    Ushiro no Daimaou มีคนเคยบอกให้ผมดูเหมือนกัน หลังจากที่ผมดูอนิเมชั่นแล้วก็พบว่ามันน่าโดนด่ามากกว่าโดนชม และเหมาะมากที่จะมาเขียนสิ่งที่ทำให้อนิเมชั่นออกมาแย่ๆ เป็นอย่างยิ่ง!!(อยากให้ผมดูทำไมล่ะ เหอๆ)

     

     
    Ichiban Ushiro no Daimaou

    ชีวิตในโรงเรียน, คอมมาดี้, ฮาเร็ม, แอ็คชั่น, แฟนตาซี

    อนิเมชั่น http://video.mthai.com/player.php?id=18M1270315523M0

    มังงะ http://www.mangareader.net/820/ichiban-ushiro-no-daimaou.html

     

    บทความต่อไปนี้ผมจะเน้นติอนิเมชั่น พูดตามตรงเลยว่าผมดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่สนุก ไม่เกิดความเพลิดเพลินจำเริญใจเลย มังงะออกจะสนุกและลูกเล่นเยอะแท้ๆ แต่อนิเมชั่นกลับทำออกมาเซ็งจิตสำหรับผมเหลือเกิน เพราะอะไรถึงไม่สนุก ผมจะแจกแจงแบบละเอียดให้ดู รวมถึงสาเหตุทำให้อนิเมชั่นถึงออกมาแบบนี้

    Ichiban Ushiro no Daimaou หรือ "The Demon King in the Back Row" จอมมารในแถวหลังสุด ครั้งแรกออกมาเป็นนิยายไลท์โนเวลโดย Shotaro Mizuki ภาพประกอบโดย Souichi Ito จำหน่ายเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2008 มี 8 เล่ม(ยังไม่จบ) และโด่งดังจนทำเป็นมังงะ 19 กันยายน 2008(2 เล่มยังไม่จบ ลิขสิทธิ์สำนักงานวิบูลย์กิจ) และอนิเมชั่นทีวี 12 ตอนจบ(มีสิทธิสูงจะทำซีซั่นสองเพราะภาคแรกกู่ไม่กลับ) และผมไม่แนะนำให้ดูอนิเมชั่น แต่ใครอยากดูสิ่งที่อนิเมชั่นทำผิดพลาดก็ดูได้ ดูเป็นแบบอย่างเอาไว้ก็ได้นะครับ

                    Ichiban Ushiro no Daimaou เป็นเรื่องราวความรัก เวทมนต์และการต่อสู้ ของพระเอกนามอาคุโคโตะ ไซ (หายากครับพระเอกแนวเก่งทุกอย่างในคอมมาดี้สมัยนี้ แต่อย่าถามผมล่ะว่าชอบไหม) เด็กหนุ่มที่อดีตเป็นเด็กกำพร้าที่มีวัตถุประสงค์ที่หวังจะเป็นนักบวชสูงสุดเพื่อช่วยเหลือทุกคนบนโลกใบนี้ ทว่าในวินาทีที่เขาก้าวเข้ามาในโรงเรียน(Magick Academy)เพื่อทำการศึกษาต่อ เขาก็ถูกทดสอบความถนัดอาชีพในอนาคต(ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์) ว่าอาชีพในอนาคตของเขาคือจอมมาร!! และแล้วชีวิตในโรงเรียนของเขาก็ช่างไม่รื่นรมย์เสียเลยเพราะคนรอบข้างเอาแต่หวาดกลัวเขา อีกทั้งเขาต้องรับมือกับเหล่าสาวๆ ไม่ว่าจะเป็นซามูไรสาวหัวหน้าห้อง หุ่นยนต์สาว ประธานแม่มด สาวน้อยจอมล่องหนจอมลึกลับ และอื่นๆ อีกมากมาย

                    ในอนิเมชั่นและมังงะมีเนื้อหาแตกต่างพอสมควร(ไม่แน่ใจว่าไลท์โนเวลจะดำเนินยังไง แต่ผมเดาว่าคงเหมือนอนิเมชั่น แต่ต่างกันในรายละเอียด) แต่ในอนิเมชั่นนั้นถือว่าเป็นอีกเรื่องที่จัดวางบทตัวละครสาวไม่ดีเสียเลย แม้ตัวละครสาวในเรื่องมี 3 คน(อีก 2 คนถือว่าเป็นของแถม) แต่ปรากฏว่าอนิเมชั่นนั้นนั้นไม่แสดงศักยภาพสาวทั้งสามได้ดีอย่างที่ผมคาดหวังไว้

                     

                    อาคุโคโตะ ไซ (Akuto Sai) เป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทิ้งโดยหญิงสาวผู้ลึกลับ(ในอนิเมชั่นก็ไม่เฉลยว่าเธอเป็นใคร) ที่หน้าคริสตจักร เขาเติบโตด้วยการสู้ชีวิตจนสามารถสอบเข้าเรียนที่เขาใฝ่ฝันได้ โดยเขามีความฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะเป็นพระชั้นสูง ระหว่างทางเขาได้พบสาว(นางเอก)คนแรกคือฮัตโตริบนรถไฟที่เขาสัญญากับเธอเพื่อช่วยกันเปลี่ยนโลกให้ดีกว่าในตอนนี้ แต่เมื่อมาถึงเขาก็ได้รับการทำนายว่าอนาคตเขาจะกลายเป็นจอมมาร และด้วยเหตุนี้ทำให้เขาเป็นที่หวาดกลัวต่อคนทั้งโรงเรียน แม้ว่าเป็นเช่นนี้เขาก็พยายามที่จะทำสิ่งให้ถูกต้องและพยายามบอกกับผู้คนว่าให้โอกาสเขาพิสูจน์ตนเองว่าเขามีความคิดชั่วร้ายอยากเป็นจอมมารหรือไม่ ดูเหมือนเขามีความสามารถควบคุมมานาจำนวนมหาศาลได้ และส่วนมากมีเหตุการณ์ที่เขาถูกบังคับเป็นจอมมาร เช่นได้เป็นเจ้านายของมังกร(ชื่อ Peterhausen), ทำลายคนชั่วด้วยวิธีการที่โหดร้ายเพื่อช่วยเพื่อน แต่กระนั้นเขาก็คิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องที่สุด

               

    โซงะ เคนะ(Soga  Keena) เป็นตัวละครอีกตัวที่มีความแตกต่างในรายละเอียด เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนของไซ ที่เขาสงสัยว่าเคยพบกับเธอมาก่อนหรือเปล่าในตอนยังเด็ก เนื่องจากเธอมักสวมกิ๊บรูปนกที่เขาจำได้ว่าให้เป็นของขวัญในตอนนั่น ในอนิเมชั่นเธอมักไม่เข้าห้องเรียน แต่ในมังงะเธอเข้าเรียนประจำ และเธอไม่กลัวไซที่เป็นจอมมาร และเป็นเพื่อนคุยเสมอ เธอไม่เก่งเวทมนต์ แต่ถนัดเรื่องหายตัวและเวทย์ลอยตัว เธอชอบข้าวมากๆ นิสัยส่วนตัวชอบเอ๋อบางครั้ง และชอบมาห้องของไซบ่อยๆ ในอนิเมชั่นบทบาทการจัดวางของเธอไม่ค่อยดีนัก(ออกมาแย่ด้วยซ้ำสำหรับผม) แต่ในมังงะนั้นเด่นมาก

      

    จุนโกะ ฮัตโตริ (Junko Hattori ) เป็นสาวที่บ้านเป็นตระกูลนักรบซามูไรที่เก่งกาจคนหนึ่ง เธอมีความทุ่มเท ยึดถือต่อประเพณี และความยุติธรรม เป็นคนที่มีความสามารถสูงมากอีกทั้งเธอยังเป็นหัวหน้าห้องในห้องที่ไซอยู่อีกด้วย เธอพบกับไซโดยบังเอิญในรถไฟและเขากับเธอก็สัญญาว่าจะทำให้โลกนี้เป็นสถานทีดีกว่าในปัจจุบัน และเมื่อเธอพบว่าไซเป็นจอมมารเธอก็เกลียดเขาไปพักใหญ่เพราะเธอคิดว่าโดนเขาหลอก ในอนิเมชั่นเธอออกมาแบบตัวละครซึนเดเระ แต่ในมังงะเธอออกมาแบบเพื่อนที่เข้าใจไซเป็นที่เรียบร้อย

      

    โคโรเนะ(Korone) หุ่นยนต์(ในเรื่องเรียก Liladan) ที่ถูกส่งมาเพื่อติดตามไซเพื่อรายงานไปยังเบื้องบน เธอมักไร้อารมณ์และไม่หวั่นไหว แต่ก็อยากรู้อยากเห็น ชอบปล่อยมุกเข้าใจผิดแก่ไซเป็นประจำเพราะเธอสนุกในการล้อเล่นกับเขา เธอมักนอนอยู่ตู้เก็บของขนาดเล็กเหมือนโดเรมอน และมีอาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ อีกมากมายที่เก็บในกระเป๋าถือของเธอ นอกจากนี้ยังมีความสามารถอ่านอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นและสามารถตรวจสอบมานา(พลัง)ของแต่ละคน และเธอมีสวิตซ์ที่คล้ายหางของกระต่ายที่อยู่บริเวนกางเกงในทางสุดโมเอะของเธอ

      

    ริรี่ ชิราชิ (Lily Shiraishi) ประธานสภานักเรียน(รู้สึกจะตลอดชีพ) ซึ่งผู้ช่วยของเธอมีทั้งหุ่นยนต์, แวมไพร์, มนุษย์หมาป่า(ตัวประกอบทั้งสิ้น) ในมังงะเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้จูบกับพระเอกไซ และเธอก็รู้สึกหลงรักเขาซะด้วย และดูเหมือนเธอจะมีความสามารถมากหลายอย่าง(เป็นตัวละครอีกตัวที่อนิเมชั่นบทน้อยอย่างน่าตกใจ แม้แต่ตอนท้ายเรื่องก็......... ทั้งๆ ที่ผมชอบตัวละครนี้แท้ๆ)

     

    ฟูจิโกะ เอโต้ (Fujiko Etou) หัวหน้าของครอบครัวตระกูล เอโต้ เธอต้องรับหน้าที่หัวหน้าตระกูลแทนพี่ของเธอที่ตายไปจากภารกิจบางอย่างโดยหลังจากที่พี่เธอตายไปเธอก็เคียดแค้นทุกสิ่งทุกอย่าง โดยวางแผนจะทำไซมาเป็นพวกของเธอ และนอกจากนั้นเธอยังผู้นำเคลื่อนไหวใต้ดินเพื่อใช้มนต์ดำเพื่อจุดประสงค์ชั่วร้าย  แต่หลังจากเหตุการณ์หนึ่งเธอก็ตกหลุมรักไซอย่างหัวปรับหัวปรำ (เป็นตัวละครอีกตัวที่อนิเมชั่นอุตสาห์วางบทเธอให้ออกมามีปม  แต่ตอนท้ายกลับ.......)

      

    ฮิโรชิ มิวะ (Hiroshi Miwa) ในอนิเมชั่นตัวขโมยซีนเหล่าสาวๆ ก็คือหมอนี้แหละ ในอนิเมชั่นปรากฏมาตอนแรกเลย(ในมังงะรู้สึกจะออกมาช่วงกลางเล่มหนึ่ง) เนื่องจากบทเขาออกมาเยอะที่สุด แถมมีฉาก Y เยอะอีก(ไม่เชื่อไปดูเลย)ทำให้กลายเป็นตัวละครเด่นโดยบริยาย เป็นเพื่อนในชั้นเดียวกับไซ ที่ตัวเล็กและอ่อนแอ ที่ประกาศตนว่าเป็นลูกน้องของจอมมารไซ เพราะประทับใจเขาตั้งแต่แว่บเห็น เขามักมาที่ห้องของไซอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้เขายังมีความลับหนึ่งคือเขามีอาชีพในอนาคตเป็น “ฮีโร่”(ไม่แน่ใจว่าในไลท์โนเวลหรือมังงะจะวางบทบาทอะไร แต่ในอนิเมชั่นกำหนดเรียบร้อย) โดยเขาจะใส่ชุดเกราะ(ชื่อ Brave) ที่มีอาวุธมากมาย เช่น เลเซอร์ ใบมีดพลังงาน และปืนพลาสม่า

    การ์ตูนเรื่องนี้ก็มีคติประจำใจเหมือนการ์ตูนหลายเรื่องที่ผมนำเสนอแหละครับคือคนเราอย่ามองที่ภายนอก ต้องดูกันที่จิตใจ คนเรามองแต่แรกเห็น ใช่ว่าจะตัดสินตัวตนนั้นๆ ได้ทั้งหมด เราจะต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์คนว่าแท้จริงแล้วเขาเป็นคนยังไง ลองเข้าใจจิตใจของเขาว่าเขาเลวอย่างที่เห็นหรือไม่ ใจเขาใส่ใจเรา เพียงแค่นี้สังคมก็มีอยู่เป็นสุข

    สิ่งการ์ตูนเรื่องนี้พยายามสื่อมากที่สุดคือการที่สังคมในการ์ตูนไม่เคยเปิดใจยอมรับให้คนได้มีโอกาสที่จะพิสูจน์ตนเองเลย ยังบีบให้กลายเป็นจอมมารอีก ก็เหมือนกรณีไซแหละครับ หลังจากที่เขาได้รับคาดหมายว่าอนาคตจะเป็นราชาปีศาจ ก็พยายามทำให้ทุกคนเห็นว่าเขาไม่ได้ชั่วร้ายอย่างที่คิด แต่ปรากฏ;jkหลายคนรอบตัวเขาไม่เชื่อเลย เพราะคำพูด การกระทำ (แถมยังที่นั่งสุดในห้องเรียน) นั้นเหมือนกับจอมมารคนก่อนทุกประการ

    นั้นเรียกว่าอคติไม่ใช่หรือ?

    ไซพยายามพิสูจน์ว่าการทำนายผิดแต่กลายเป็นว่าคนรอบข้างไม่ให้โอกาสเขาพิสูจน์อะไรเลย แถมยังโดนคนรอบข้างเข้าใจผิด โดยเฉพาะฮัตโตริหญิงสาวที่พยายามเป็นเพื่อนกับเขาตอนที่เขาย้ายมาใหม่ แต่หลังจากรู้ว่าเขาเป็นราชาปีศาจ เธอก็หาว่าเขาหลอกลวงเธอได้ไม่ฟังเขาอะไรทั้งสิ้น

    นั้นเรียกว่าอคติไม่ใช่หรือ?

    ผมชอบฉากหนึ่งในอนิเมชั่นที่ไซถูกคนล้อมกรอบเนื่องจากเข้าใจผิดว่าเขาทำร้ายกลุ่มคน(นักเลง)จนบาดเจ็บสาหัสทั้งที่ความจริงแล้วเขาทำเพื่อปกป้องฮิโรชิที่ตอนคนกลุ่มนั้นแกล้ง (แต่กระนั้นเขาก็ทำเกินเหตุจริงๆ แหละ แบบว่าเม่งโหด แสดงว่าฮิโรชินี้คงเป็นคู่วายมากกว่าเพื่อนรักล่ะมั้งเลยโกรธขึ้นหน้า ฮ่า) ในขณะล้อมกรอบอยู่นั้นไซเลยคิดแผนอย่างหนึ่งโดยลากฮัตโตริมาเป็นพวกเสียเลย ซึ่งตอนแรกฮัตโตริก็โวยวายทุกคนว่าเข้าใจผิด เธอไม่ได้เป็นพวกไซเสียหน่อย

    เมื่อฮัตโตริจะเอาเรื่องกับไซ ไซเลยตอบกลับว่า “ตอนนี้เธอก็เหมือนกับฉันแหละ ฉันพยายามอธิบายกับเธอ ก็ไม่ฟังท่าเดียว ตอนนี้รู้สึกยังไงบ้างล่ะ” เท่านี้แหละครับฮัตโตริก็ตาสว่างทันที คนเรานั้นถ้าไม่โดนด้วยตนเองก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไง ไม่เข้าใจรู้สึกผู้โดนก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง

    จบ

    ต่อไปก็สิ่งที่ผมอยากจะเขียนตอนนี้ล่ะ “สิ่งใดที่อนิเมชั่นทำแล้วไม่ถูกใจผู้ดู” คุณเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่ชื่นชอบดูอนิเมชั่นการ์ตูนเกือบทุกแนว ไม่ว่าจะเป็น แอ็คชั่น เซอร์วิl ดราม่า หรือสยองขวัญ และคุณรู้สึกไหมว่าอนิเมชั่นเรื่องนั้นไม่สนุกอาจจะเป็นเนื่องจากหลายอย่าง เช่น คนทำซับไม่รู้เรื่อง พากษ์ห่วย เนื้อเรื่องมั่ว เผา หรืออะไรก็ตามแต่แล้วแต่เหตุผลที่กล่าวมา

    ความจริงผมก็ไม่สามารถพูดได้ว่า Ichiban Ushiro no Daimaou เป็นอนิเมชั่นที่ไม่สนุกได้เต็มปากนั้น เพราะว่าในช่วงแรกนั้นสนุกมาก(ตอน 1-5) หากกระนั้นในช่วงหลังนั้นไม่สนุกเสียเลย  ดังนั้นผมคิดหนักเหมือนกันว่าจะเอาการ์ตูนเรื่องนี้มาพูดเรื่อง “สิ่งใดที่อนิเมชั่นทำแล้วไม่ถูกใจผู้ดู” หรือไม่ เพราะอย่างที่รู้ว่ารสนิยมของคนนั้นแตกต่างกัน การ์ตูนสนุกไม่สนุกก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคน

    ผมพูดไว้ในตอนต้นว่า Ichiban Ushiro no Daimaou เป็นแบบอย่างของอนิเมชั่นที่ดูไม่สนุก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใช่ว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะแย่ เพราะเนื้อหาที่สอดแทรกข้อคิดก็ยังคงมีอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้เป็นเพียงหัวข้อ “สิ่งใดที่อนิเมชั่นทำแล้วไม่ถูกใจผู้ดู” โดยมี Ichiban Ushiro no Daimaou(และการ์ตูนเรื่องอื่นๆ เป็นแบบอย่างเท่านั้น) แต่ทั้งนั้นการติของผมก็มีการเสริมความรู้คำศัพท์ที่โอตากุนิยมใช้กันด้วยนะครับ ใครที่ไม่รู้ศัพท์เหล่านี้ก็เข้าใจในบทความนี้ก็เป็นได้

      
             เผา
    - ผมไปหาความหมายจากหลายเว็บเพื่ออธิบายคำนี้แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย ดังนั้นก็ขอตอบตามความเข้าใจผมก็แล้วกัน เผา ในภาษาอนิเมชั่นคือการทำให้คุณภาพของภาพลดลงแบบตั้งใจ  เช่นสัดส่วนตัวละครเพี้ยน สีของภาพไม่ดีไม่เหมาะสมในเทคโนโลยีการสร้าง(ในสมัยที่สร้าง) แต่ทั้งนี้เผานั้นแบ่งออกเป็น 3 แบบ

    เผาแบบจุดเล็กๆ ซึ่งหมายถึงมีจุดผิดพลาดที่ผู้ดูไม่ได้ให้ความสนใจสักเท่าไหร่ปรากฏมายังภาพนั้น เช่นตัวละครในภาพมี 6 นิ้วเป็นต้น

    เผาแบบที่สองคือคุณภาพอลังการแต่จะมาเผาในช่วงกลางตอนหรือช่วงท้ายทำให้การ์ตูนออกมาไม่ถูกใจผู้ดูและไม่เกิดอินกับเรื่องในที่สุด

    และเผาแบบที่สามนั้นน่ากลัวที่สุดคือเผาตั้งแต่ต้นยันจบ เผาชนิดเห็นได้ชัดว่าตั้งใจทำ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพหรือการดำเนินเรื่องที่ออกมาด้านลบไม่สมกับคุณภาพ

    สาเหตุที่เผาในอนิเมชั่นก็เนื่องจากให้ทันต่อกำหนดในการฉายหรือไม่ก็อนิเมชั่นนั้นเป็นงานที่ยากและใช้ความละเอียดสูงทำให้คนทำเกิดอารมณ์อยากมักง่ายบ้างเพราะคิดว่าผู้ดูไม่สังเกต(อันนี้เป็นกรณีจุดเล็กๆ) ส่วนในภาษามังงะคือการวาดแบบขอไปทีเพื่อให้ทันต่อการปิดต้นฉบับ ส่งผลทำให้สัดส่วนตัวการ์ตูนอาจแปลกลงไปบ้าง เช่น หน้าตาตัวละครบิดเบี้ยว ผอมเกินไป สูงเกินไป หรือมือมีหกนิ้ว เป็นต้น

    อนิเมชั่นที่ได้รับขนานนามว่าเผาได้สุดยอดที่สุดคือ Akikan! ได้รับผลโหวตว่าเป็นอนิเมชั่นเผาเกรียมที่สุดแห่งปี(อย่างไม่เป็นทางการ) สาเหตุเนื่องจากอนิเมชั่นสร้างได้ผิดหวังต่อเหล่าแฟนมาก ภาพตัวละครในเรื่องไม่โมเอะ ฉากเซอร์วิตก็ไม่ค่อยดี ฉากในชุดว่ายน้ำก็ไม่โมเอะ  และที่ร้ายที่สุดคือฉากเมลอนหันหัวได้ 180 องศา เรียกได้ว่าสุดๆ จริงๆ(แถมยังอุตส่าห์ทำแบบ OVA อีกสุดโค่ยเลย!!)

    Ichiban Ushiro no Daimaouc เปิดฉากได้เลิศหรูอลังการเป็นอย่างมาก ด้วยฉากเมืองที่ดูยิ่งใหญ่อลังการ ภาพโรงเรียนเวทมนต์ที่สวยงามดูแล้วน่าไปเรียนอย่างยิ่ง ดังนั้นในความคิดของก็คือการ์ตูนเรื่องนี้ไม่น่ามีการเผาในเรื่องภาพ เพราะภาพทันสมัยตั้งแต่ต้นยันจบ ดูแล้วเสมือนโลกแฟนตาซีที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งทีเดียว

    แต่สำหรับผมแล้ว “เผา” ไม่ได้ส่งผลในการดูอนิเมชั่นของผมสักเท่าไหร่ เนื่องจากสมัยก่อนนั้นอนิเมชั่นใช่ว่าจะใช้เทคโนโลยีภาพสมัยอลังการเหมือนสมัยนี้ อนิเมชั่นบางเรื่องเผาทั้งที่สมัยนั้นสามารถทำให้ภาพสมัยทันได้แล้ว เช่นกรณีของ Maburaho (ชื่อไทยคือแม่มดสาวร่ายเวทย์กิ๊ก) แม้ภาพไม่ออกมาสวยงามเสียเลย ขอให้เนื้อหาที่ออกมาทำให้ผมรู้สึกชอบก็โอเคเป็นที่สุดแล้ว

     

    แฟนเซอร์วิสที่มากเกินไป Fan service หมายถึง ฉากที่เอาใจแฟนๆการ์ตูนที่เป็นผู้ชาย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง โดยฉากที่ออกมากส่วนมากจะเป็นตัวละครตัวการ์ตูนที่เป็นผู้หญิงอยู่ในสถานะหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมถูกอกถูกใจหรือตื่นเต้น โดยสถานะของผู้หญิงสื่ออกมานั้นจะกระตุ้นทางเพศผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เช่นภาพของตัวละครหญิงนุ่งน้อยห่มน้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการทำเช่นนี้มักไม่เข้ากับเนื้อเรื่องอย่างมาก นอกจากนี้ การใช้มุมกล้องเพื่อโชว์ให้เห็นกางเกงใน หรือภาพการกระเด้งของหน้าอก (ข้อหลังถูกใช้เป็นครั้งแรกในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องกันบัสเตอร์ของไกแนกซ์ และเป็นต้นกำเนิดของคำว่า "กระเด้งไกแนกซ์" (Gainax bounce) รวมไปถึงฉากแปรงร่างที่เน้นนู้ด เช่นเซเลอร์มูนเป็นต้น

    แต่ใช่ว่าแฟนเซอร์วิตจะมีแต่ฉากลามกเสียทีเดียว เพราะว่า คอสเพลย์ก็ถือว่าเป็นแฟนเซอร์วิสอีกรูปแบบที่ไม่มีเน้นความเย้ายวนทางเพศโดยตรงนัก ผู้แต่งชุดมักเป็นตัวละครหญิง โดยชุดที่ได้รับความนิยมได้แก่ เนะโกะมิมิ ฮาดา กิโมโน กระต่ายเพลย์บอย ชุดเมด ชุดมิโกะ ชุดพยาบาล เครื่องแบบตำรวจ ชุดสาวเสิร์ฟ (โดยเฉพาะจากภัตตาคารแอนนามิลเลอร์ส) ชุดพละ เครื่องแบบนักเรียน และชุดว่ายน้ำโรงเรียน เป็นต้น

    แฟนเซอร์วิตนั้นก็ยังคงแบ่งออกเป็นสองเสียครับคือ กลุ่มที่ชอบ และกลุ่มที่ไม่ชอบ ขอเริ่มจากกลุ่มที่ชอบก่อนคือฉากเซอร์วิตนั้นถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของการ์ตูนคอมมาดี้และฮาเร็มที่ไม่มีไม่ได้ เพราะฉากเหล่านี้สามารถเรียกความนิยมและเสียงตอบรับของบรรดานักอ่านชายมากที่สุด โดยเฉพาะฉากที่นางเอก(หรือเหล่าสาวๆ)ในเรื่องหน้าอาย(แต่ไม่ใช่เรื่องอย่างว่า) เช่นกอดพระเอกจนพระเอกรู้สึกถึงหน้าอกของหญิงสาว นางเอกป้อนอาหาร พระเอกเห็นกางเกงมร ให้คนอ่านอิจฉานี้แหละคือความสนุกของเซอร์วิต

    แน่นอนในกรณีนี้ก็มีกลุ่มที่ไม่ชอบด้วย โดยบางครั้งการ์ตูนบางเรื่องยัดเยียดฉากเซอร์วิตมากเกินไปจนกลายเป็นจุดขาย จนทำให้คนบางคนเกิดอารมณ์น่าเบื่อ เพราะเรื่องไม่ต่อเนื่อง และอนิเมชั่นที่หลายคนยอมรับว่ายัดเยียดฉากเซอร์วิตมากเกินไปคือ Princess Lover!

     Ichiban Ushiro no Daimaou  ก็ถือว่าเป็นอีกการ์ตูนที่มีฉากเซอร์วิสเยอะเกินพอดี แถมบางภาพก็ไม่เหมาะกับเยาวชนอีก เช่นฉากอสูรหื่นกามเทนตาเคิล(Tentacle)ที่มีหนวดยุบยับลวนลามสาวๆ ในเรื่อง และฉากเซอร์วิตที่ออกมาเยอะที่สุดคือกางเกงในผ้าเตี่ยวของฮัตโตริที่ไม่รู้ว่าถูกอกถูกใจสำหรับหลายคนหรืเปล่า แต่สำหรับผมคงไม่ นอกจากนี้ยังมีฉากเปลือย ฉากส่ออีกมากมายที่มากเกินจำเป็น  และไม่ได้แปลกใหม่เท่าไหร่  ในมังงะก็ฉากเซอร์วิตก็มีบ้างแต่ก็ไม่มากเท่าอนิเมชั่น(แถมโดนอักษรศิลธรรมบังจนมิดอีกเอ่อ......)

    แต่กระนั้นสำหรับผมแล้วฉากเซอร์วิสเป็นสิ่งที่ชะโลมจิตใจในการติดตามดูการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอย่างดี ผมชอบฉากเซอร์วิสกางเกงในลายทางของโคโรเนะ มันน่ารักมากๆ และปรากฏเยอะเสียด้วยสิ ส่วนนอกนั้นก็กับแกล้มได้ แต่คนดูอื่นๆ จะมีควารมคิดเห็นยังไงนั้นก็แล้วแต่

      

    ไม่เหมือนต้นฉบับ หมายถึงอนิเมชั่นมีเนื้อหาการดำเนินเรื่องไม่เหมือนมังงะหรือไลท์โนเวลซึ่งเป็นต้นฉบับเดิม(อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าอันไหนมาก่อนด้วย บางเรื่องอนิเมชั่นมากก่อนแล้วตามด้วยมังงะ) หากแต่ปัญหานี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาปกติที่ต้องทำใจไว้ก่อนที่เวลาจะดูการ์ตูนญี่ปุ่นแต่ละครั้ง หากทำใจไม่ได้ก็ถือได้ว่าคุณเข้าใจการ์ตูนญี่ปุ่นดีพอ เพราะว่าคุณต้องเข้าใจว่าหากทำตามต้นฉบับแป๊ะก็ไม่น่าติดตามเสียเท่าไหร่ (เช่น คุโรมาตี้ ดันทำต้นฉบับแป๊ะเลยไม่สนุกเท่าไหร่ ) หรือว่าหากเอามังงะมาใส่อนิเมชั่นทั้งหมดอาจต้องเพิ่มตอนซึ่งต้องเสียเวลาทำหรืองบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก

    อนิเมชั่นดังๆ ที่เนื้อหาไม่เหมือนต้นฉบับนั้นอยู่คู่กับการ์ตูนญี่ปุ่น อย่างการ์ตูนของโอซามุนั้นในอนิเมชั่นได้ลดความโหดลงเพื่อให้เหมาะสำหรับเด็ก เช่นเรื่อง เจ้าหนูอะตอม เลโอ หรือแบล็คแจ๊ค เป็นต้น หากแต่เสียงตอบรับกลับบวก

    บางครั้งอนิเมชั่นอาจมีการเพิ่มตอนใหม่ที่ไม่มีต้นฉบับเหมือนกัน เช่น การ์ตูนโคนัน นิวโร คินดะอิจิ นารูโตะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนที่มีจำนวนหลายตอน

    ส่วนอนิเมชั่นดังๆ ที่เนื้อหาไม่เหมือนต้นฉบับ และมีการเพิ่มตอนใหม่ที่ไม่มีต้นฉบับ แต่เสียงออกมาเป็นด้านลบ ก็มีเหมือนกัน อย่าง To Love Ru ถือได้ว่าหลายตอนนั้นไม่ตรงกับต้นฉบับเดิม ทำให้มีเหล่าแฟนออกมาด่าจมหูเหมือนกัน ส่งผลให้ภาค 2 ออกมามีการทำให้เหมือนต้นฉบับมากขึ้นเพื่อเอาใจแฟนๆ

    แต่บางกรณีที่อนิเมชั่นเหล่านี้มีเนื้อหาไม่เหมือนต้นฉบับก็ คือต้นฉบับการ์ตูนที่เรื่องนั้นตอนจบของเรื่องยังมาไม่ถึง ดังนั้นผู้สร้างจำเป็นต้องสร้างการดำเนินเรื่องขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดลงตัว เช่นการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องกันซึ ที่ต้นฉบับมังงะยังไม่มีตอนจบ แต่อนิเมชั่นจำเป็นต้องจบ เลยสร้างเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่ขึ้นมา

     เห็นได้ชัดเลยว่า Ichiban Ushiro no Daimaou ในช่วงกลางเรื่องนี้แทบไม่มีความสนุกเลย และดูเหมือนผู้สร้างพยายามเร่งให้มันจบ  (เห็นได้จากมีการเพิ่มตัวละครที่ไม่น่ามีในการ์ตูนเรื่องนี้เข้าไป เช่น สาวผมเขียว หรือไอ้หนุ่มผมทอง) ซึ่งคำตอบคือตอนจบของการ์ตูนเรื่องนี้มันมาไม่ถึง ส่งผลทำให้ผู้สร้างต้องเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่ เพิ่มอะไรหลายอย่างที่ไม่สนุกเสียเลย จนช่วงกลางเรื่องผมดูแล้วรู้สึกเนื้อหาเหมือนการ์ตูนเกรดบีไม่เหมาะสมกับภาพที่ออกมาอลังการเสียเลย(คือดำเนินเรื่องเน่าสุดๆ)  อย่างฮิโรชิที่อาชีพของเขาคือฮีโร่ซึ่งไม่รู้ว่าต้นฉบับนั้นเป็นยังไง แต่สำหรับผมแล้วเหมือนกับฆ่าตัวละครนี้มากกว่า เพราะผมอยากให้ตัวตนเขาอ่อนแอแบบนี้ และเป็นตัวฮ่าของเรื่องเหมือนแต่ก่อนจะดีกว่า

      

    ออกทะเล ออกทะเลมีหลายความหมาย หากแปลตามตัวก็แปลว่าการออกท้องทะเลอันกว่างใหญ่ไพศาล หากในกระทู้โลกออนไลน์แล้ว มันหมายถึงการตอบโดยเบี่ยงประเด็นไปเรื่องอื่นๆ (หรือไม่ก็เป็นการปั๊มกระทู้) ทำให้คนตอบต่อๆ มาเริ่มหลงประเด็น สุดท้ายกระทู้นั้นก็จะไม่ได้รับการสนใจต่อเนื้อหาและ ประเด็นที่เจ้าของกระทู้ได้ตั้งไว้แม้แต่นิดเดียว  หากเป็นอนิเมชั่นหรือการ์ตูน ออกทะเลหมายถึงการดำเนินเรื่องเปลี่ยนไปจนไม่สามารถกลับเข้าประเด็นหลักของเรื่องได้ ส่งผลทำให้การ์ตูนเรื่องนั้นไม่รู้จะจบยังไง เพราะคนเขียนปูเนื้อเรื่องเหมือนไปเรื่อย จนยากที่จับความสำคัญของเนื้อเรื่องได้

    การ์ตูนที่ได้รับขนานนามว่าออกทะเลได้ถูกอกถูกใจคนดูมากที่สุดคือ Berserk ชนิดที่เรียกว่ากู่ไม่กลับ อีกเรื่องที่กู่ไม่กลับพอๆ กัน คือ เกาะกระหายเลือดที่ตอนแรกเน้นหนีจากเกาะโรคจิตแท้ๆ แต่หลังๆ กลายเป็นพระเอกยอดมนุษย์ฆ่าอสูรยักษ์ไปเสียแล้ว  และการ์ตูนจัมฟ์เกือบทั้งหมด(ดราก้อนบอล ฮันเตอร์Xฮันเตอร์ วัชพีช) ล้วนมีเนื้อเรื่องออกทะเลที่ไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ อย่าง การ์ตูนที่เปลี่ยนแนวที่ผมยอมรับว่าเปลี่ยนได้สุดยอด(แต่ไม่ถูกใจผม) ผมยกให้รีบอร์น การ์ตูนเทพของจัมฟ์นั้นเอง ที่จากที่ตอนแรกเป็นคอมมาดี้ตลกฮ่าเฮมาเปลี่ยนแนวอย่างฉับพลันมาเป็นแฮ็คชั่นต่อสู้ปล่อยพลังยังกว่าซูเปอร์ไซย่า แต่การเปลี่ยนแนวด้านนี้กลับกลายเป็นด้านบวก เพราะถูกอกหัวใจแม่ยก นายยก เด็กหลายคน

    Ichiban Ushiro no Daimaou อย่าว่าออกทะเลเลย ช่วงหลังผม งง สุดๆ ไม่เข้าใจเนื้อเรื่องว่ามันต้องการสื่ออะไร เริ่มตั้งแต่ตอนที่ไซไปบ้านของฮัตโตริเพราะความเข้าใจผิดและแล้วเนื้อเรื่องออกทะเลทันที จากคอมมาดี้อยู่ดีๆ มาบู๊ล้างบาง(ผมว่าเริ่มจากช่วงกลางเรื่องแล้วล่ะ) แบบว่าไซบ้าพลังมากเลย แบบมีการเบ่งกล้ามอย่างกับเคนชิโร่(หมัดเพชรดาวเหนือ) ต่อยแบบไม่ยั่ง(ทั้งๆ ที่มังงะไม่มี) แล้วจะมีมานา พลังเวทมนต์หาแมวทำไมเนี้ย ทำไมไซถึงคิดจะลบพระเจ้า ทำไมตัวละครทั้งหลายในเรื่องถึงมองไซว่าไม่ควรทำก่อการในครั้งนี้ ผมดูแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าผมโง่ไปคนเดียวหรือเปล่า

    สิ่งที่ผมไม่ชอบอนิเมชั่น Ichiban Ushiro no Daimaou ก็คือการเปลี่ยนแนวกระทันหันอย่างไม่น่าอภัย  มีอยู่ 2 ช่วงที่ผมดูแล้วไม่ชอบใจเลย คือช่วงตอนที่ 6-7 ตอนไปเที่ยวทะเล ซึ่งเป็นของธรรมดาในคอมมาดี้ที่เน้นตลกหื่น แต่สำหรับอนิเมชั่นเรื่องนี้กลับทำเรื่องให้ไม่สนุกเลย เพราะเน้นแอ็คชั่นบ้าพลัง พระเอกเบ่งกล้าม(และช่วงนี้ฮิโรชิได้กลายเป็นฮีโร่ ซึ่งผมไม่ชอบเลยกลับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้) มุกที่ปล่อยออกมาเหมือนตลกแต่กลับไม่ตลกเสียเลย เช่น ตัวร้าย(คาดว่าปรากฏเฉพาะในอนิเมชั่นเพราะไม่เข้ากับเรื่อง) เปลือยกาย แต่นิสัยกลับโหดเหี้ยม ไม่เข้ากับบุคลิกเป็นอย่างยิ่ง  และอีกช่วงคือ ช่วง 9-10 เป็นช่วงที่พระเอกโดนฮัตโตริชวนไปที่บ้านเพื่อจัดงานแต่งงาน(พวกพระเอกไปหมด ดันเหลือเคนะอยู่หอคนเดียว) แต่พระเอกไม่รู้เรื่องและนึกว่าฮัตโตริชวนไปเที่ยวบ้านเฉยๆ ซึ่งความเข้าใจผิดนี้สามารถทำให้เรื่องออกมาสนุกและตลกได้ แต่กลายเป็นการมาบ้านของฮัตรินี้เนื้อหากลับกลายเป็นดราม่าและจุดโฟกัสดันมาเป็นเคนะแทน และเรื่องได้ดำเนินมาเป็นแอ็คชั่น(เข้าไปสู่การต่อสู้ที่ผมดูแล้วไม่เข้าใจ ว่าพระเอกสู้อยู่กับอะไร)แบบเต็มตัวซึ่งเนื้อหาไม่เข้ากับเรื่องเสียเลย ทำให้พล็อตนี้มาใช้อย่างเสียของเป็นอย่างยิ่ง เสมือนกับว่าผู้สร้างเหมือนจะสับสนว่าต้องการให้มันออกแบบแบบไหนกันแน่ระหว่างคอมมาดี้ ตลก แอคชั่น หรือดราม่า การเปลี่ยนแนวไม่ได้ทำดีเสียเลย

      

                    ปาหมอน ศัพท์นี้เริ่มมาจากมังงะจากการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ที่ดำเนินเรื่องกำลังเข้มข้น มาการปูเรื่อได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้มีแฟนๆ ติดตามเป็นจำนวนมาก แต่ตอนจบดัน ตัดจบแบบแสนทุเรศ ด้วยฉากตัวละครหลายตัวในเรื่องปาหมอน จนทำให้แม้กระทั่งบรรดาแฟนพันธุ์แท้ทั้งหลาย ต้องร่ำร้องเป็นสายเลือด พร้อมสาปส่งคนเขียนแบบไม่ใยดี และการเป็นศัพท์ที่ใช้กับการ์ตูนอนิเมชั่นหรือมังงะที่ฉากจบแย่ในบัดดล

                    อีกสิ่งหนึ่งที่แย่พอๆ กับปาหมอนและคนที่ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นต้องทำใจทุกครั้งในการอ่านการ์ตูนดีแต่ไม่ดี ก็คือ “ตัดจบ” หมายถึง การ์ตูนที่เราอ่านเนื้อเรื่องกำลังเข้มข้นอยู่ดีๆ แต่พอมาถึงเล่มต่อมาดันตัดจบกะทันหัน พร้อมประโยคส่งท้ายว่า “การต่อสู้กำลังเริ่มต้น” หรือ “มันก็แค่เริ่มต้น” และ END แต่ที่สุดยอดก็คือการ์ตูนไทยบางเรื่องที่เนื้อหาตอนจบเหมือนกับว่า “โปรดติดตามต่อฉบับหน้า” แท้ๆ แต่กลายเป็นว่าขึ้นหัวข้อนี้มาแทน “อวสานแล้วครับขอบคุณที่ติดตามจนถึงทุกวันนี้แทน” พูดง่ายๆ ก็คืออารมณ์ข้างซะงั้น ส่วนสาเหตุ “ตัดจบ”ก็มีหลากหลาย เช่น การ์ตูนไม่ดังทำให้ถูกสั่งตัดจบเพื่อหลีกทางให้การ์ตูนเรื่องใหม่, ความตั้งใจของคนเขียนที่มุกหมด, หรือเหตุผลแปลกๆ เช่น การ์ตูน To Love Ru(ทำไมตรูยกตัวอย่างการ์ตูนนี้เยอะจังว่ะ สงสัยต้องพูดถึงสักวันซะแล้ว)คนเขียนโดนฟ้องโดยมีคนกล่าวหาว่าตัวละครหนึ่งในเรื่องเอาคาแร็คเตอร์เขามาใช้(แน่นอนว่าฟ้องแพ้ชัวร์) แต่การ์ตูนที่ผมยกย่องว่าตัดจบกวนที่สุดก็คือคุโรมาตี้นั้นเอง

                    สิ่งที่แย่รองลงมากับ “ตัดจบ” ก็คือฉากจบแย่ คุณเคยเห็นอนิเมชั่นก็เรื่องที่ฉากจบแย่บ้างหรือเปล่า แน่นอนหลายคนยกมือเป็นแถว เมื่อการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่องมีฉากจบไม่ถูกใจผู้ดูจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับคนที่ดูการ์ตูนญี่ปุ่นแบบทำใจไปเสียแล้ว เช่น นางเอกตาย พระเอกตาย หรือพระเอกและนางเอกพรากจากกันและไม่มีวันพบเจออีกเลย อนิเมชั่นที่ผมยอมรับว่าฉากจบสุดๆ ผมยกให้ Kurokami (อันเนื่องจากมังงะ Black God มันไม่ออกตอนใหม่สักที ทำให้อนิเมชั่นจำต้องเปลี่ยนใหม่หมด เช่นพระเอกนิสัยเปลี่ยน และเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่มาเป็น Kurokami)

                    ส่วนฉากจบ Ichiban Ushiro no Daimaou  ผมว่าจบดีครับ เสมือนคอมมาดี้ทั่วๆ ไป ดังนั้นเรื่องฉากจบไม่ได้ส่งผลกลับผมเท่าไหร่

       

    การวางบทตัวละคร การ์ตูนหลายเรื่องวางบทตัวละครไม่ดีพอ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถคนเขียนบท จำนวนตอน และจำนวนตัวละคร หากตัวละครมากเกินไป 13 ตอนถือว่าไม่เพียงพอแน่นอน

    Ichiban Ushiro no Daimaou  เป็นอนิเมชั่นการ์ตูนที่ผมมีความคิดว่าจัดวางบทของตัวละครไม่ดีเสียเลย และข้อนี้ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรงที่ส่งผลทำให้อนิเมชั่นนี้ไม่สนุก ทั้งๆ ที่การ์ตูนในเรื่องมีแค่สามสาว(และสองสาวเป็นตัวละครเสริม)เป็นตัวละครหลักแท้ๆ แต่ไม่สามารถทำให้ผมดูแล้วรู้สึกว่าบทของพวกเธอไม่เด่นเลย เช่นฮัตโตริที่ดูเหมือนว่าผู้สร้างพยายามสร้างเธอมาเป็นนางเอกอนิเมชั่นเรื่องนี้เหลือเกิน ไม่ว่าการสร้างเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบที่เธอต้องตัดสินใจเลือกสองทางระหว่างพระเอกกับชื่อเสียง แต่กลายเป็นว่าผมไม่ได้อินกับบทของฮัตโตริเลย เพราะว่าช่วงแรกนั้นเธอปรากฏมาแบบผลุบๆ โผล่ๆ ฉากโรแมนติระหว่างเธอกับพระเอกไซก็ไม่มี บทของเธออกมาแบบคู่หูเสียมากกว่าคู่รัก ส่วนเคนะยิ่งแล้วใหญ่ในช่วงท้ายตอน 12 บทของเธอออกมาก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกอินอะไรเลย ทั้งๆ ที่บทของเธอเป็นถึงเพื่อนสมัยเด็กและเป็นถึงพระเจ้า(เท่าที่ผมดู) แต่อนิเมชั่นกลับเปลี่ยนตัวตนของเธอผลุบๆ โผล่ๆ (เช่นเดียวกับฮัตโตริ) ไม่มีแม้แต่ฉากย้อนอดีตหรือโรแมนติกอะไรกับพระเอกไซเลย แถมบุคลิกนิสัยยังแตกต่างจากมังงะอีก คือเธอออกมาแบบเศร้าๆ โดดเดี่ยวไม่ค่อยเข้าห้องเรียน(ทั้งๆ ที่มังงะเธอเข้าห้องเรียนประจำและเป็นเพื่อนกับฮัตริและโคโรเนะ) โดยตัวละครผู้หญิงที่เด่นในเรื่องกลับเป็นโคโรเนะเสียมากกว่า เนื่องจากเธอมักอยู่ข้างพระเอกเสมอนั่นเอง ทำให้บทของเธอเยอะโดยบริยาย แต่ก็เหมือนกรณีฮัตโตริอีก ที่บทของเธอมาแบบผู้สนับสนุนพระเอกมากกว่าคู่รักหวานหยด พูดง่ายๆ สามสาวในเรื่องไม่มีบทโรแมนติกสักคน จนพูดไม่เต็มปากว่านี้คือการ์ตูนแนวฮาเร็ม(นอกจากฉากเซอร์วิตอย่างเดียว ที่ทำให้หลายคนเชื่อว่านี้คือการ์ตูนฮาเร็ม)

    ส่วนสิ่งสำคัญต่อการดำเนินเรื่องคือการพัฒนาการเติบโตของพระเอก ที่พระเอกแนวฮาเร็มส่วนใหญ่นั้น จะออกมาสุภาพ ขี้อาย และเมตตา แต่ภาพอนิเมชั่นที่ออกมาไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่า ว่าภาพลักษณ์ของไซกลายเป็นคนบ้าพลัง ยิ่งช่วงท้ายพี่แกคงเก็บกดหน้าดูแบบว่าคนอื่นเอาแต่บอกว่า “เขาคือจอมมารว่ะ กลัวๆ” พี่แกเลยปล่อยบ้าอาละวาดเม่งเลย(และผมไม่รู้จุดมุ่งหมายอาละวาดเพื่ออะไรกันแน่)

     สาเหตุแน่นอนคือปัญหาเดิมๆ คือมีแค่ 13 ตอน ไม่สามารถที่จะเก็บรายละเอียดได้ แต่ผู้สร้างพยายามทำให้ครบองค์ประกอบของเรื่องให้ได้ แถมมีการเพิ่มตัวละครที่ไม่มีในมังงะหรือไลท์โนเวลเข้าไปอีก(ไม่แน่ใจเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่ามันต้องใช่แน่) ส่งผลก็ออกมาอย่างที่เห็น

    อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เหล่าตัวสาวๆ ในเรื่องไม่เด่น นั่นก็คือทางทีมผู้สร้างไม่ได้กำหนดแบบหนึ่งตอนเน้นตัวละครสาวหนึ่งตัวให้มีบทบาทเต็มๆ เหมือนการ์ตูนคอมมาดี้เรื่องอื่นๆ แต่หนึ่งตอนกลับเน้นเหล่าตัวละครสาวๆ แสดงบทบาทเหมือนตัวละครเสริมหรือตัวละครประกอบมากกว่า เช่น ตอนที่ 6 ที่เรื่องเหมือนจะเน้นโคโรเนะแต่กลายเป็นว่าเธอออกมาช่วงหลังแต่เรื่องดันไปเน้นฮิโรชิแทน หรือการวางบทเอโต้ ฟุจิโกะที่ดูเหมือนจะทำออกมาดี มีปม  แต่กลายเป็นว่าทีมผู้สร้างกลับทำเหมือนละเลยไม่ได้เน้นในช่วงท้าย และทำตัวละครนี้กลายเป็นสาวหื่น(เพราะเธอปรากฏที่ไร เรามักจะเห็นแต่ฉากเซอรวิสที่หลุดจากการ์ตูนโป๊เกรดบีทันที) จนทำให้ผมเกิดความคิดที่ว่าทีมผู้สร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้มีการประชุมหรือตรวจทานบทดีหรือเปล่า ?

    ผมไปดูทีมผู้สร้างว่าเขามีผลงานอะไรบ้าง ผู้กำกับอนิเมชั่น Ichiban Ushiro no Daimaou คือ Takashi Watanabe ก็เป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างที่มีผลงานมากคนหนึ่งที่ส่วนใหญ่เน้นอนิเมชั่นแนวแอ็คชั่น ผลงานที่ผมชอบก็มีอย่าง Boogiepop Phantom(ผมชอบเรื่องนี้น่ะ แต่ดันไม่มีซับไทย), Shakugan no Shana(ชานะนักรบอัคคี), Battle Vixens(สงครามลูกแก้วมังกะ สาวก๊กกางเกงในขาด), Kino's Journey Life Goes On(การเดินทางของคิโนะภาคหนังโรง), Slayers(จอมเวทย์สาว) ทำให้สันนิษฐานได้ว่าผู้กำกับต้องการเน้น Ichiban Ushiro no Daimaou ให้ออกมาแอ็คชั่นมากกว่าจะทำให้เป็นคอมมาดี้ตลก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากเสียต้นฉบับไปด้วย และเท่าที่ดูแต่ละเรื่องที่กำกับจำนวนตอนค่อนข้างมาก ดังนั้นคงเป็นการยากที่จะทำอนิเมชั่นที่มีแค่สิบสองตอนออกมาดีได้ เพราะไม่มีประสบการณ์นั่นเอง

      

    สรุปเลยละกัน ตามความคิดเห็น ผมไม่แนะนำให้ดูอนิเมชั่น Ichiban Ushiro no Daimaou มากนัก(นอกจากคนที่ชอบการ์ตูนเปลี่ยนแนวที่ออกทะเลและชอบหื่น) ผมแนะนำให้ดูนิยายไลท์โนเวลเสียมากกว่า ส่วนในมังงะก็ทำใจอีกนิดเพราะที่ญี่ปุ่นออกมานานพอๆ กับไทย แต่เนื้อหาสนุกมาก สอดแทรกสาระอะไรหลายอย่าง เช่น แม้มีคนเราจะมีอำนาจมากแต่สิ่งที่ได้มาคือความโดดเดี่ยว สิ่งที่สำคัญคือเพื่อนพ้อง และคนที่เข้าใจเรา บางคนคนเราก็ไม่ควรมองที่ใบหน้า ต้องมองที่การกระทำ ควรให้เวลากับเขาเพื่อพิสูจน์ตนเอง อย่างที่สำนวนไทยว่าไว้ว่า “หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

    ก็จบลงไปได้ นี้คงเป็นครั้งแรกที่ผลวิจารณ์อนิเมชั่นในทางลบ ผมพยายามเขียนโดยสอดแทรกความรู้(ศัพท์โอตากุ)เท่าที่จะคิดออก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความคิดของผมอาจจะผิดก็ได้ เพราะอย่างที่บอก รสนิยมของคนนั้นแตกต่างกัน บางทีหลายคนจะชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ได้ หากผิดพลาดตรงไหนผมก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยน่ะครับ

    + +
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×