ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #57 : Spice and Wolf บทเรียนแห่งการค้าขาย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 11.5K
      5
      20 ส.ค. 53


    บอกข่าวเล่าเรื่องครับ ผมได้ตกลงเจ้าของเว็บรายหนึ่งเพื่อเอาบทความของผมไปเผยแพร่ ซึ่งบทความ “ดูการ์ตูนกับคนบ้าฆาตกร” และ “ตามรอยเรื่องลึกลับ” ได้ปรากฏที่เว็บนี้

    http://www.animemangagame.com/

    อยากให้ทุกคนเข้าไปดูครับ ผมเข้าไปดูทุกวันเลย เพราะว่ามาดูผลงานย้อนหลังของตัวเอง ภูมิใจจัง แต่ในขณะเดียวกันก็เซ็งด้วย ว่าทำไมตรูเขียนผิดเยอะจังว่ะ...พออ่านอีกทีเลยกลับไปแก้คำผิดตอนเก่าๆ ด้วยซะเลย ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

     

                    จากตอนที่แล้วได้ดูแฟนตาซีที่มีเนื้อหาเข้มข้นดั่งกาแฟขม คราวนี้เรามาเปลี่ยนไปดูแฟนตาซีเบาๆ (แต่ลุ้นจนเหงื่อแตกจริงๆ ) ในเรื่อง Spice and Wolf บ้างครับ

                    ก็แปลกดีในจำนวนการ์ตูนที่หลายๆ คนมาขอให้ผมเขียน ไม่มีใครสักคนขอเรื่อง Spice and Wolf สักราย ส่วนใหญ่จะมีพวกการ์ตูนเก่าๆ อย่าง เซนต์เซย่าบ้าง GTO บ้าง บ่บอกถึงอายุคนขอยังไงชอบกล ไม่เป็นไรการ์ตูนไหนที่ไม่มีใครกล่าวถึงก็จะดันมาเขียนถึงจนได้ ว่ะ ฮ่าๆ ตามใจคนเขียนอีกแล้ว

                    Spice and Wolf แปลเป็นไทยว่าเครื่องเทศและหมาป่า แหมชื่ออย่างกับอาหารน่ากินเสียยิ่งกระไร ทำให้นึกถึงการ์ตูนจำพวกจอมโหดกระทะเหล็กที่เอาวัตถุดิบแปลกๆ มาทำอาหารจนคนชิมต้องท้องเสียไปข้าง?? แต่ขอโทษ Spice and Wolf  นี้ไม่ใช้การ์ตูนทำอาหารนะครับ แต่มันเป็นการ์ตูนแนวค้าขายการลงทุนต่างหาก....

                    Spice and Wolf เป็นการ์ตูนแนวค้าขาย จำพวก เศรษฐศาสตร์ การค้า ที่ผมแนะนำว่าใครไม่รู้เรื่องหลักการตลาดนี้อาจมี งง เล็กน้อย(เหมือนผม) ขนาดเป็นโลกแฟนตาซียุคกลางแท้ๆ กับแฝงเรื่องราวการค้าที่แสนจะซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น เล่นหุ้น, การกักตุนสินค้า, การแลกเปลี่ยนเงินตรา, การจัดการกิจการที่ล้มละลาย ซึ่งมันทำให้ผมได้ทึ้งจริงๆ พับผ่าที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้กล้าเสนอแนวนี้ให้คนทั่วไปได้เสพกัน

                    พูดง่ายๆ คนอื่นมาดูการ์ตูนเรื่องนี้ครั้งแรก ก็เกิดสองแนวคิดคือ ไม่ชอบก็คือเกลียดไปเลย ผมเชื่ออย่างงั้น

                   


    Spice and Wolf

    แฟนตาซี, โรมานซ์, ผจญภัย, เศรษฐศาสตร์

    อมิเนชั่นภาคแรก http://video.mthai.com/player.php?id=18M1200015565M0

    อมิเนชั่นภาคสอง http://video.mthai.com/player.php?id=18M1247195669M0

    หนังสือการ์ตูน http://www.onemanga.com/Spice_and_Wolf/

    นิยายไลท์โนเวล http://writer.dek-d.com/dek-d/writer/view.php?id=445776

     

    Spice and Wolf   หรือชื่อญี่ปุ่นคือ "Ookami to koushinryou"  เป็นการ์ตูนจำพวกแนวค้าขาย, เศรษฐศาสตร์ซับซ้อน และพูดตรงๆ แหละครับ เกิดมาพึ่งเคยเห็นการ์ตูนที่มีเนื้อหาแบบนี้ จริงอยู่อดีตก็เคยมีการ์ตูนแบบนี้บ้างจำพวกทำธุรกิจ คิดไอเดียเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือการบริการให้ผู้บริโภคเห็นแล้วอยากซื้ออยากลงทุนซึ่งเนื้อหาค่อนข้างเข้าใจง่าย แต่การ์ตูน Spice and Wolf  มันไม่ใช้จำพวกคิดไอเดียเกี่ยวกับตัวสินค้านี่สิ มันเน้นการแลกเปลี่ยนสินค้ามากกว่า และมีถึงขั้นฉากเล่นหุ้น ศัพท์การลงทุนต่างๆ ที่หลายคนที่ไม่เคยเรียน(หรือตก)วิชาเศรษฐศาสตร์ยิ่งไม่เข้าใจกันใหญ่ ยิ่งซับหากแปลไม่ดีละก็มี งง เล็กน้อย เช่น การอธิบายการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งกว่าผมจะเข้าใจต้องไปอ่านศึกษาหลายรอบกว่าจะเข้าใจ(หรือ งง หนักกว่าเดิม)

                    Spice and Wolf  หรือเครื่องเทศกับหมาป่า ครั้งแรกเป็นนิยายไลท์โนเวล เขียนโดย Isuna Hasekura  ภาพโดย Ju Ayakura ออกครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 ปัจจุบันออกมาถึง 14 เล่มแล้วยังไม่จบ และก็ฮิตติดลมตามระเบียบ ด้วยความน่ารักของนางเอกหูหมาที่น่ารักสุดขาดใจขาดดิ้น(แต่พระเอกงั้นๆ) ผสมกับเนื้อหาที่แปลกใหม่เหลือคณานับ แทนที่จะมีฉากแอ็คชั่นบู๊กระจายกลับกลายเป็นเรื่องของการลงทุนการตลาดที่ทำให้หลายคนต้องอ่านหลายรอบเพื่อความเข้าใจ

                    ไม่แปลกที่การ์ตูนมังงะจะตามมา ภาพโดย Keito Koume ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2007 และออกมา 3 เล่มยังไม่จบ แถมเป็นอีกเรื่องที่วงการการ์ตูนโดจินเฮ็นไตไม่พลาดที่จะนำมาเขียนเป็นการ์ตูนโดจินโป๊มาให้พวกหื่นได้ดูกัน (ผมไม่ชอบหรอก ไม่ดูด้วยซ้ำ)

                    และแน่นอนอมิเนชั่นก็ตามมา โดยสตูดิโอ Imagin ฉายไปหลายช่องไม่ว่าจะเป็น Chiba TV, KBS, Sun-TV, Tokyo MX, TV Aichi, TV Kanagawa, TV Saitama ภาคแรก มี 13 ตอนจบ ฉายเมื่อ 9 มกราคม 2008 – 26 มีนาคม 2008 คุณภาพดีไม่มีเผา เพลงเปิดเรื่องก็เพราะ

                    และภาค 2 ก็ตามมา โดยสตูดิโอ  Brain's Base  9 กรก๓คม 2009 – 24 กันยายน 2009 มี 12 ตอนจบ(เพิ่มตอนพิเศษ 0 เข้ามา) และดูเหมือนจะมีภาคอื่นๆ ตามมาในไม่ช้านี้

                    เท่านั้นยังไม่พอนอกจากนั้นยังมีเกมส์ถึง 2 เกมส์ด้วยกันคือ Spice and Wolf: Holo's and My One Year(Nintendo DS) วางจำหน่ายเมื่อ 26 มิถุนายน 2008 และ Spice and Wolf: The Wind that Spans the Sea (Nintendo DS) 17 กันยายน 2009

                   

    Spice and Wolf  เป็นเรื่องราวในโลกแฟนตาซียุคกลางที่แสนจะสงบสุขมากๆ แต่กระนั้นก็ยังมีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างเมืองเกี่ยวกับศาสนาระหว่างนักบวช(โบสถ์)กับพวกนอกรีต(พวกชาวบ้านที่ไม่นับถือพระเจ้าพระองค์เดียว) ทำให้มีเรื่องกระทบกระทั้งอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่มากเท่าใดนัก แต่ดูเหมือนว่าโลกนี้ศาสนาจะมีอิทธิพลในเรื่องเศรษฐกิจ,การเมือง และการค้าของเมืองนั้นๆ อยู่มากพอสมควร

    พระเอกในเรื่องนี้มีชื่อว่า “โลแลนส์” เป็นหนุ่มพ่อค้าเร่ธรรมดาที่เดินทางต่างเกวียนม้าเอาสินค้าที่หลังเกวียนม้าไปค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าในต่างเมืองไปเรื่อยๆ จนกระทั้งวันหนึ่งเขาไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อซื้อสินค้าเอาไปขาย พอดีที่นั้นกำลังมีเทศกาลเก็บเกี่ยวข้าวสาลี เพื่อขอบคุณเทพเจ้าหมาป่าแห่งความอุดมสมบูรณ์นาม “โฮโระ” ซึ่งตำนานเล่าไว้ว่าเทพเจ้าหมาป่าตัวหนึ่งได้ทำสัญญากับเด็กชายคนหนึ่งในหมู่บ้านเพื่อให้เทพหมาป่าใช้พลังอำนาจช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวสาลีในหมู่บ้านให้อุดมสมบรูณ์  ซึ่งทุกปีชาวบ้านจะจัดเทศกาลเพื่อขอบคุณและสักการะโฮโระโดยถือว่าโฮโระจะสิงสถิตย์อยู่กับข้าวรวงสุดท้ายที่เกี่ยวได้ของทุกปี

     แต่ทว่าบัดนี้เวลาผ่านไปเทพเจ้าโฮโระเริ่มหมดสำคัญต่อหมู่บ้าน เมื่อถึงยุคการค้าขายเฟื่องฟู ผู้คนหวังเอากำไรท่าเดียว ทำให้มีการใช้วิทยาการเพิ่มผลผลิตโดยได้ไม่หวังพึ่งอารมณ์ของเทพเจ้าอีกต่อไป ทำให้เทพหมาป่าโฮโระหมดความสำคัญไปเรื่อยๆ จนใกล้จะถูกลืมเลือน

    โลแลนส์ได้เห็นได้ยินก็ไม่สนใจตำนานเท่าใดแต่ เขาซื้อสินค้ารวงข้าวสาลีไว้ในเกวียนของเขา และในจำนวนรวงข้าวสาลีเหล่านั้นรวงสุดท้ายของปีติดมาด้วย ทำให้เทพหมาป่าโฮโระที่สิงอยู่ในรวงข้าวถูกปลดปล่อยให้พ้นจากการถูกขังไว้ในหมู่บ้านและสถิตอยู่ในข้าวของโลแลนส์แทน

    โลแลนส์ตกใจเมื่อเขาเห็นเทพหมาป่าโฮโระกลายเป็นสาวสวยร่างกายเปล่าเปลือยอยู่หลังเกวียนของเขา เธอมีหูและหางเหมือนหมาป่า และอ้างว่าตัวเองเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์โฮโระ

    "นามของเราคือโฮโระ" เทพเจ้าหมาป่าในร่างหญิงสาวกล่าว

    ตอนแรกโลแลนซ์เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และเมื่อโฮโระแสดงร่างจริงโลแลนซ์ก็เชื่อสนิทใจ โลแลนซ์ถามเธอว่า เธอต้องการสิ่งใดถึงปรากฏร่างให้เขาเห็น โฮโระตอบว่าเธอเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ผู้คนไม่สนใจเทพเจ้า ทำให้ตนเองไม่จำเป็นต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับชาวบ้าน อีกต่อไปแล้ว จึงมีความคิดอยากกลับบ้านเกิด โดยขอร้องให้โลแลนซ์พาเธอเดินทางไปที่บ้านเกิดของเธอทางเหนือ และด้วยวาทะศิลป์อันแสนเจ้าเล่ห์หยอกล้อ ทำให้โลแลนซ์ยอมให้โฮโระออกเดินทางไปด้วยกันในที่สุด และระหว่างการเดินทางโลแลนซ์ก็ค้าขายตามเมืองต่างๆ ด้วย และระหว่างการค้าขายต่อรองสินค้ากันนั้นโฮโระก็แสดงวาทะศิลป์เจ้าเล่ห์จนโลแลนซ์ได้กำไร ทำให้โลแลนซ์ยอมรับโฮโระเป็นคู่ขาทางการค้าในที่สุด

    แต่หากการเดินทางแบบสบายๆ ในโลกแฟนตาซีที่โครตสงบสุขคงจะกลายเป็นการ์ตูนน่าเบื่อแย่ ดังนั้นจึงมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าในโลกที่สงบสุขนี้ยังมีเรื่องน่ากลัวแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตใจดำมืดของมนุษย์ อิทธิพลมืด กลอุบาย, เล่ห์เหลี่ยม และการหักหลัง ในวงจรเส้นทางค้าขายที่เต็มไปด้วยอันตราย ที่ทั้งคู่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์อันนั้นถึงขนาดว่า ถ้าทั้งคู่ก้าวพลาดอาจตายทั้งเป็น!! นอกจากนี้ยังมีอุปสรรค์ความไม่ลงรอยของทั้งคู่ที่ชอบทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ จนถึงขั้นจะแยกทางกันอีก  แล้วอย่างงี้ทั้งคู่จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ก็ติดตามได้ใน Spice and Wolf  เถิด......

     

    คราฟท์ โลแลนซ์(Kraft Lawrence) หนุ่มอายุยี่สิบห้าแต่ไว้เคราให้ดูแก่ซะงั้น เป็นพ่อค้าเร่ที่เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อซื้อ, ขายและแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อได้กำไร เป้าหมายคือรวบรวมเงินเพื่อเปิดร้านของตัวเอง นิสัยค่อนข้างเป็นคนสบายๆ และนิสัยแบบพ่อค้า คือเข้าหาคนอื่นได้ง่าย พูดเก่ง คิดจะเอาแต่กำไร ชอบพูดแต่เรื่องการค้าขาย ทำให้ดูเหมือนมีประสบการณ์เรื่องนี้พอสมควร แต่ความจริงเขายังต้องเรียนรู้อีกมาก  และวันหนึ่งของก็ได้เจอกับเทพหมาป่าโฮโระและยินยอมให้เธอเดินทางร่วมกับเขา ตอนแรกๆ โลแลนซ์มองโฮโระเหมือนเด็กๆ ที่ไม่รู้จักโลกภายนอก แต่หลังจากที่เธอช่วยเขาให้ได้กำไรจากการค้าขาย โลแลนซ์ก็ตระหนักถึงไร้เดียงสาและอ่อนประสบการณ์ของตัวเองเมื่อมาอยู่ต่อหน้าปราชญ์ผู้รู้ร้อยปีอย่างโฮโระ

     

    โฮโระ(Holo) เทพหมาป่าแห่งความอุดมสมบูรณ์  ถึงภายนอกจะเหมือนกับสาวน้อยอายุสิบห้า แต่ความจริงเธออายุหลักร้อยแล้ว!! แถมตัวจริงนี่หมาป่ายักษ์อีก เดิมทีบ้านเกิดเธออยู่ทางเหนือ แต่เพราะเหตุการณ์หนึ่งเลยมาทางใต้ จนได้ทำสัญญากับคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเพื่อขอพลังของเธอเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวสาลี จนเวลาผ่านไปชาวบ้านก็ละทิ้งโฮโระและไม่พึ่งพาเธออีกต่อไป ทำให้โฮโระตระหนักถึงความเหงาเธอเลยละทิ้งหมู่บ้านเพื่อเดินทางไปกับโลแลนซ์ นิสัยเจ้าเล่ห์ กินจุ ชอบดื่มเหล้าและแอปเปิ้ล แต่มีวาทศิลป์ และฉลาด จนเรียกตัวเองว่า “หมาป่าจอมปราชญ์” และก็เก่งเหมือนปากว่าจริงๆ จนทำให้โลแลนซ์รอดพ้นการขาดทุนหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วเธอมักนั่งเงียบๆ เวลาอยู่ต่อหน้าคนอื่นมากกว่าเพื่อสังเกตพฤติกรรมและจับผิด แต่เมื่ออยู่กับโลแลนซ์ตามลำพังเธอจะพูดต่อยหอยและพูดประชดหยอกล้อเป็นส่วนมาก(โลแลนซ์มักเถียงเธอไม่ได้เลย) แรกๆ โฮโระมองโลแลนซ์ว่าเป็นคนน่าเบื่อ ชอบพูดเหมือนเดาความคิดของเธออก แต่หลังๆ ก็เริ่มรู้จักตัวตนของสองฝ่าย ก็เกิดความเข้าใจกันขึ้น ทำให้หลังๆ โฮโระมีนิสัยขี้อ้อน ขี้งอน ขี้แย ขี้เหงา เอาแต่ใจตนเอง ให้พระเอกต้องง้อและปลอบอยู่บ่อยๆ


             ด้วยความเป็นเทพหมาป่าโฮโระเลยมีพลังวิเศษเหนือมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างที่มีหูและหางหมาป่าติดมาด้วย(เธอภูมิใจกับหางของตนมากๆ) มีหูที่สามารถฟังเสียงเบาๆ ได้ชัดเจน และสามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องที่พูดเป็นเรื่องจริงหรือโกหกได้(แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงขนาดบอกได้ว่าโกหกเพื่ออะไร)  นอกจากนั้นเธอยังสามารถกลายเป็นร่างจริงที่เป็นหมาป่ายักษ์ได้เหมือนกินเมล็ดข้าวสาลีที่เธอสิงสถิตย์อยู่หรือดื่มเลือดของสัตว์

    ฮาโระเป็นคาแร็คเตอร์จำพวกเคะโมะโนะมิมิ(Kemonomimi) เป็นศัพท์ในภาษาญี่ปุ่น หมายถึงตัวละครที่เป็นคนแต่มีหูและหางของสัตว์ เช่น หูแมว หูกระต่าย หูสุนัข เคะโมะโนะมิมิมักพบมากในการ์ตูนญี่ปุ่น ส่วนหรือ เคโมะโนะ( Kemono ) แปลว่าสัตว์ที่มีร่างกายเป็นมนุษย์ โดยลำตัว แขนขา ท่ายืนเดิน เหมือนกับมนุษย์ แต่มีใบหน้าคล้ายสัตว์ลำตัวอาจมีขนข้างหลังมีหาง มือ เท้า ใหญ่กว่ามนุษย์ปกติ  ซึ่งอยู่ในจำพวก  Moe anthropomorphism(การที่เราใส่ ลักษณะมนุษย์เข้าไปในสิ่งของ, สัตว์ ให้ดูน่ารักน่ากอด)

    เคะโมะโนะมิมิ(Kemonomimi) นั้นมีหลายแบบ และแต่ละแบบเหมือนจะมีกฎตายตัวด้วยว่าแบบนี้นำมาใช้ตัวละครนั้นจะต้องมีลักษณะนิสัยแบบนี้(ตามนิสับธณรมชาติของสัตว์นั้นๆ) เช่น หากเป็นสาวหูแมว(Neko)คือจะออกแนวสาวน้อยอยากรู้อยากเห็นในเรื่องทุกเรื่อง รักสนุกจนบางครั้งก็ซนไป แต่บางตัวก็รักสวยรักงามแบบคุณหนู , สาวหูหมา(Inu,Wanko)รักในทางสนุกมากกว่า มีความกระตือรือร้นสูงกว่า เป็นคนที่รักเจ้านายสูง ส่วนมากมักเป็นสาวห้าว, สาวหูกระต่าย(Usa)อ่อนหวาน เรียบง่าย อ่อนแอ ใครเห็นก็อยากปกป้อง

    ส่วนโฮโระอยู่จำพวก( Ookami) หมาป่า ที่นิสัยส่วนใหญ่ สุขุม ลับลมคมใน เจ้าเล่ห์ มีประสบการณ์เยอะมาก แต่ไม่ค่อยจะแสดงออก และมักเป็นสาวซึนๆ ขี้งอน

    และนอกเหนือผู้หญิง ผู้ชายก็เป็นเคะโมะโนะมิมิด้วย และนิสัยก็ไม่แตกต่างกันนัก

    เคโมะโนะ( Kemono ) นนั้นมีมานานแล้ว ในวรรณกรรมโบราณของญี่ปุ่นก็ปรากฏให้เห็น เช่น  จิ้งจอกเก้าหางที่แปลงร่างเป็นหญิงงามเพื่อเอาใจจักรพรรดิญี่ปุ่น, แมวผี นอกจากนี้ยังแยกออกเป็นหลายแบบหลายสาย เช่นพวกสัตว์ที่ยืนแบบสองขาแบบคนและพูดภาษาคน อย่างนิทานอีสป หรือภาพวาด Taiheiki ในสมัยมุโระมะฉิ (Muromachi Period) ส่วนชาติตะวันตกเรื่องที่ดังๆ ก็กระต่ายน้อยจากเรื่องอลิซในแดนมหัศจรรย์(Alice in Wonderland)

             

    ก่อนที่จะเขียนเนื้อหาในเรื่อง Spice and Wolf ก็ขอเพิ่มเรื่องไลท์โนเวล เพิ่มอีกหน่อย นะครับ

    สิ่งที่ทำให้ไลท์โนเวลแตกต่างจากนิยายทั่วไปคือ การดำเนินเรื่องค่อนข้างเน้นประโยคสนทนามากกว่าบทบรรยายเช่นนิยายทั่วไป เช่นคุยฉากคนสองคนคุยกัน บางครั้งอาจไม่มีฉากแสดงความนึกคิดของตัวละครเหมือนนิยายยุคเก่า

    ดังนั้นนี้จึงเป็นเหตุทำให้บางตอนในเรื่อง Spice and Wolf จะมีแต่ฉากพระเอกและนางเอกคุยกันทั้งเรื่อง !!

    นั้นเองไลท์โนเวลเป็นนิยายที่ง่ายต่อการเขียน ทำให้อ่านจบอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องตีความวุ่นวาย จนเป็นที่นิยมทั่วญี่ปุ่น ไทยเราก็ไม่เว้น มีเยาวชนนำมาทำเป็นรูปเล่มออกมาขายเยอะมาก จนกินชั้นวางหนังสือแน่นเอี๊ยด ส่วนใหญ่ไลท์โนเวลที่ไทยแต่งจะเป็นพวกนิยายรักมากกว่า หากจะเป็นแฟนตาซีจะมีเนื้อหากระดาษหนาเป็นพิเศษ ไม่รู้มันเป็นกฎเหล็กของนิยายที่เยาวชนไทยแต่งหรือเปล่า

    วงการไลท์โนเวลนั้นบูมมากในไทย นักเขียนเยาวชนไทยหลายคนเกิดมีชื่อเพราะนิยายเหล่านี้ หากในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ส่งผลตามมาคือคนอายุมากกว่ามองนิยายพวกนี้อย่างแง่ร้ายสุดๆ อย่างตอนแรกผมก็มองอคตินิยายพวกนี้ด้วยซ้ำถึงกับคิดว่ามันไม่ใช้นิยายเพราะว่ามันไม่มีองค์ประกอบของนิยายเลยคือมีแต่บทพูดๆ ไม่มีบทบรรยายอะไรเลย(ผมดูนิยายในเว็บเด็ดดีที่ให้ผมวิจารณ์) แต่หากอ่านนิยายไลท์เวลแบบญี่ปุ่นแล้วพบว่ามันมีบทบรรยายด้วยเพียงแต่ไม่มากและเข้าใจง่าย ทำให้เห็นภาพ ทำให้มองนิยายไลท์โนเวลในแง่ดีขึ้น

    ไม่ใช้แค่ผมเท่านั้นที่มองอคตินิยายไลท์โนเวลในระยะแรกๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกันมองนิยายไลท์โนเวลเหล่านี้ว่าไม่มีคุณค่าทางวรรณกรรม เนื่องจากนิยายญี่ปุ่นสมัยก่อนใช้ภาษาซับซ้อนและเนื้อหาลึกซึ้ง แต่นิยายไลท์โนเวลกลับตรงกันข้าม จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่คนญี่ปุ่นหัวสมัยเก่ามองไลท์โนเวลด้านลบ  หากแต่นิยายไลท์โนเวลหลายเรื่องได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมชนิดเรียกว่านิยายดั่งเดิมแพ้ราบคาบ ทำให้หลายคนเริ่มมองนิยายไลท์โนเวลในด้านดีขึ้นบ้าง

    จนถึงเดี๋ยวนี้ผมมองนิยายไลท์โนเวลดีขึ้นครับ แต่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น ส่วนนิยายไลท์โนเวลเยาวชนไทยแต่งนั้นต้องปรับปรุงอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา, ตัวละคร(อย่าลืมว่าไลท์โนเวล์ตัวละครชายมักอ่อนแอ ไม่ได้เก่งเลิศ), ราคารูปเล่ม(รู้สึกว่านิยายแปลจะราคาถูกกว่าของไทยแต่งเสียอีก!!) และภาษาที่ใช้

    นิยายอีกประเภทหนึ่งที่หลายๆ คนเข้าใจผิดว่าเป็นไลท์โนเวล นั้นก็คือนิยายอีโม เนื่องจากมีภาพประกอบเหมือนกัน หากแต่ตัวหนังสือข้อความนั้นมีการใส่ภาษาอีโม(Emoticon)ไปด้วย เรียกว่า Emoticon Story  ซึ่งนิยายเหล่านี้ไม่ใช้ของญี่ปุ่น แต่เป็นของประเทศเกาหลี โดยให้เหตุผลว่าทำให้นิยายธรรมดาๆ น่าอ่านมากขึ้น(เหรอ??) ซึ่งนิยายแนวนี้มีการตอบรับอย่างดีเพราะประเทศเกาหลีเป็น ประเทศเกาหลีมีการใช้อินเทอร์เน็ตและเล่นแชทสูง  เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่จึงเข้าใจสัญลักษณ์พวกนี้เป็นอย่างดี และประมาณ 3 ปีก่อนก็ได้มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในประเทศไทย นำนิยายจากเกาหลีที่เป็น Emoticon Story มาแปลเป็นภาษาไทย ให้ได้อ่านกัน ทำให้นักเขียนไทยเอาเป็นแบบอย่างบ้าง จนฮิตในที่สุด ชนิดเรียกว่าหากคนไม่เห็นด้วยกับนิยายแนวนี้แล้วไปตั้งกระทู้ในบอร์ดนักเขียนในเว็บเด็กดีจะโดนพวกแฟนพันธุ์แท้นิยายนี้เม้นด่าชนิดไม่ได้ผุดได้เกิดเลยที่เดียว(ยิ่งกว่า NC เสียอีก)


             อย่างที่บอก
    Spice and Wolf  เป็นการ์ตูนที่เน้นเกี่ยวกับการลงทุนและการทำธุรกิจเพื่อz]กำไร ซึ่งตัวผมเองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องศัพท์การตลาดมากนัก อีกทั้งซับรู้สึกจะแปลไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทำให้ งง เล็กน้อย แต่กระนั้นสิ่งที่การ์ตูนนำเสนอก็ทำให้ผมได้ข้อคิดโดนใจได้เหมือนกัน

    เริ่มจากฉากเปิดเรื่องที่โฮโระเล่าเรื่องราวของตนแก่พระเอกฟังว่าสมัยนี้เปลี่ยนไปมาก ชาวบ้านจ้องจะเอากำไรท่าเดียว เมื่อผลผลิตได้มากกว่าเมื่อก่อน ชาวบ้านก็เริ่มไม่เคารพตนเหมือนเมื่อก่อน

    ก็แปลกดีแทนที่เทพจะโกรธและแก้แค้นชาวบ้าน เหมือนการ์ตูนหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้เทพโฮโระกลับคิดจะหนีจากหมู่บ้านซะงั้น

    ในกรณีของโฮโระมาคิดๆ ดูแล้วนึกถึงระบบทุนนิยม ที่เปิดให้เอกชนหรือคนอื่นๆ มีการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรี โดยเน้นกำไรเป็นเป้าหมาย มีกลไกราคาเป็นตัวกำหนด ส่วนรัฐ(ในการ์ตูนดูมีศาสนามาเพิ่มด้วย) จะมีหน้าที่ดูแลเรื่องส่วนรวมของประเทศ เช่นการทหาร การต่างประเทศ นโยบาย กฎหมาย ซึ่งข้อดีของระบบนี้คือทำให้เกิดความเจริญอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันทำให้ประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านหมดลงไปด้วย ตัวอย่างเช่นประเทศไทยเวลาชาวบ้านจะทำนาก็มีการกราบไหว้เจ้าแม่โพสพ, เจ้าแม่ธรณี, เจ้าที่, วัว, ควาย ก่อนทำนา หากแต่สมัยนี้มีการใช้เครื่องจักร เครื่องทุนแรงมาช่วย ทำให้ความเชื่อเหล่านี้ไม่สำคัญเหมือนเมื่อก่อนทำให้หายไปจากวิถีชีวิตของชาวบ้านในที่สุด

    นอกจากนี้ระบบทุนนิยมยังมีข้อเสียระยะยาว เช่น เช่นในเรื่องที่ชาวบ้านสนใจจะเอากำไรทำผลผลิตเยอะๆ โดยทำการเกษตรโดยวิธีการที่ทันสมัยโดยไม่สนเรื่องสภาพแวดล้อมจนเป็นเหตุทำให้แผ่นดินเพาะปลูกรับภาระหนักเกินไป ซึ่งอาจส่งผลเสียในอนาคต เมื่อดินเสื่อมสภาพจนไม่สามารถเพาะปลูกได้อีกต่อไป และนอกจากนี้ข้อเสียระบบทุนนิยมยังมีอีกมาก แม้ได้ชื่อว่าระบบค้าขายเสรี แต่กระนั้นยังมีการข้อจำกัด ในเรื่อง การเมือง, สังคม และวัฒนธรรม

    เทพโฮโระก็คงคิดว่าโกรธไปก็เท่านั้น ในเมื่อเขาไม่สนใจเราก็ช่างปะไร หนีไปดีกว่า ปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ดีกว่าผลเสียจากการเร่งผลผลิตเพื่อเอากำไรมากๆ จะเป็นอย่างไร สู้ให้เห็นภาพดีกว่า แล้วชาวบ้านจะรู้สึกตัวไปเอง

    คิดๆ แล้วนึกถึงทฤษฏีที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่สอนในเรื่องผลิตจะต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่าง ปริมาณผลผลิตและการบริโภค เพื่อที่จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ พออยู่พอกิน ส่งผลให้เกิดการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน หากชาวบ้านทำทฤษฏีนี้เทพโฮโระอาจไม่ต้องออกไปจากหมู่บ้านและอยู่ร่วมกันกับมนุษย์อย่างมีความสุขก็ได้

      

    จากนั้นเนื้อเรื่องก็มาสู่สมรภูมิการค้าขาย พูดถึงระบบการค้าสมัยโบราณนั้นก็ต้องนึกถึงการแลกเปลี่ยนสินค้า ตามแนวคิดเศรษฐ์ศาสตร์มีอยู่ว่า อันเนื่องจากทรัพยากรของโลกมีจำนวนจำกัด แต่มนุษย์มีความต้องการไม่สิ้นสุด แต่มนุษย์แต่ละคนไม่สามารถผลิตสิงของทุกอย่างตามต้องการได้ อีกทั้งทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการแลกเปลี่ยนสินค้าจึงเกิดขึ้น ในตอนแรกก็แลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งของกับสิ่งของ เพื่อสนองความต้องการของผู้แลกเปลี่ยนทั้งสองฝ่าย แน่นอนปัญหาก็ตามมาคือ ความต้องการไม่ตรงกัน อัตราการแลก ดังนั้นจึงมีการคิดค้นระบบเงินตรามาใช้ นำเงินไปแลกสินค้า หรือเอาสินค้าไปใช้แทนเงินและปัญหาที่ตามมาคือทวีความซับซ้อนมากขึ้นและความไม่ปลอดภัยหากพกพาไปจำนวนมาก

    ในการ์ตูนจะใช้สองวิธีนี้แหละครับ แต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป ดังนั้นก็ขึ้นกับบุคคลแหละว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เอาเปรียบ อีกทั้งยังต้องทำกำไรให้มากที่สุดหากบุคคลนั้นทำอาชีพค้าขาย

              จากตอนที่ 2 "Wolf and a Distant Past" ออกอากาศเมื่อ 16 มกราคม 2008  ฉากแรกที่เริ่มธุรกิจ เราจะเห็นโลแลนซ์แสดงหัวการค้าอย่างชัดเจน โดยแสดงบุคลิกพ่อค้าคือ เป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยอย่างเป็นกันเอง พูดแต่ข้อดีไม่พูดข้อเสีย เพื่อหาผู้ร่วมลงทุน

    จากนั้นโลแลนซ์ก็ถูกชักชวนจากพ่อค้ามือใหม่มาร่วมลงทุนทำสัญญาในการแลกเปลี่ยนเงินตราด้วยกัน โยพ่อค้ามือใหม่อ้างว่าจะมีเหรียญใหม่(ที่ค่าเงินบริสุทธิ์สูง)ออกสู่ตลาดหากเราเอาเหรียญเก่า(ที่ค่าเงินบริสุทธิ์ต่ำ)ไปซื้อเหรียญใหม่จะได้กำไรกว่า(และพกสะดวกด้วย เหรียญเก่าแลกเหรียญใหม่ได้หนึ่งเหรียญแต่ค่าเท่ากันไม่กำไรก็บ้าแล้ว) แต่กระนั้นโลแลนซ์ไม่ตอบตกลงในทันที  เขากลับมาห้องพักกับโฮโระและก็เขาก็แสดงทรรศนะให้โฮโระฟัง

    หากเรื่องข่าวนั่นเป็นเรื่องจริง ก็จะได้กำไรตามที่ว่า ถ้าเป็นเรื่องโกหก ก็หมายความว่ามีใครกำลังวางแผนอะไรอยู่ ถ้าสืบสาวเรื่องราวได้ก็จะมีโอกาสทำกำไรได้

    ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าโลแลนซ์เป็นพ่อค้ามีความรอบคอบ และมีประสบการณ์พอสมควร หากแต่นี้แค่เปลือยนอกเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นเราก็ได้เห็นข้อเสียของโลแลนซ์ ที่เขายังเป็นพ่อค้าที่อ่อนประสบการณ์อยู่มาก แต่ค่อนข้างจะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป เขามักมองแบบมุมมองเดียวเสมอ ไม่มองแบบกว้างหลายมุม  เราจะเห็นโลแลนซ์ชอบเหมือนประชดโฮโระปล่อยๆ เพราะเขามองโฮโระด้านเดียวคือ โฮโระเหมือนเด็กผู้หญิงที่ไร้เดียงสาที่อยู่แต่บ้านนอกหลายร้อยปี แต่สุดท้ายเขามักโฮโระตอกกลับเสมอ

    “เจ้านะหัวไวแต่ยังอ่อนประสบการณ์อยู่มากน่ะ”

    จากตอนที่ 3 "Wolf and Business Skills" ออกอากาศเมื่อ 23 มกราคม 2008 ในตอนนี้เราก็ได้เห็นวิธีการค้าขายแลกเปลี่ยนแบบโบราณ สังเกตได้ว่าโลแลนซ์จะไม่ให้คนรับซื้อดูสินค้าที่เป็นขนสัตว์ทั้งหมด เขาจะให้คนรับซื้อดูแค่หนึ่งผืนหรือบางตัวอน่างเท่านั้น เพราะการที่ใช้ให้ผู้รับซื้อดูสินค้าทั้งหมดถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามและมารยาทสำหรับพ่อค้า เพราะนี้เป็นตัวตัดสินแพ้ชนะการกำหนดราคา ไม่มีผู้ซื้อคนไหนที่ไม่อยากจะดูสินค้าทั้งหมด แต่ก็ไม่มีผู้ขายคนไหนที่อยากจะให้ดูสินค้าทั้งหมดเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นในการค้าขายนั้นคือการต่อรองราคา

    จากนั้นโฮโระก็แสดงให้โลแลนซ์ได้เห็นสิ่งที่จำเป็นพ่อค้าที่แท้จริงไม่ใช้การพูดจาและประสบการณ์หากแต่สิ่งนั้นคือ ความคิดที่สร้างสรรค์ กลอุบายทางการค้า และการมองมุมมองหลายมุม อย่ามองด้านเดียว โฮโระใช้กลยุทธการค้าขายโดยการเอาแอปเปิ้ลมาวางบนขนสัตว์(ตอนที่จะถึงมือผู้รับซื้อ) ซึ่งตอนแรกโลแลนซ์มองโฮโระว่าเป็นคนไม่เกรงใจและขี้แกล้งเท่านั้น หากแต่ตอนหลังเขาก็ได้เห็นโฮโระใช้วาทะศิลป์หลอกล่อผู้รับซื้อให้ดูคุณภาพขนสัตว์ใหม่อีกครั้งว่าขนสัตว์นี้มีกลิ่นหอมหวาน(โดยใช้กลิ่นแอปเปิลมาช่วยกลบกลิ่นขนสัตว์)ทำให้ขนสัตว์มีคุณภาพดีคงทนอยู่ได้นาน จากนั้นโฮโระก็เรียกราคาสูงอย่างหน้าตาเฉยจนได้กำไรมากกว่าที่โลแลนซ์คำเอาไว้

    โลแลนซ์ถามโฮโระว่าไม่กลัวพ่อค้ารับซื้อโกรธเหรอในเมื่อเขาโดนหลอก

    โฮโระตอกกลับไปว่า “หากเขารู้ว่าโกง จะโกรธตอนนี้จะได้อะไรขึ้นมา ทางที่ดีเรียนรู้เอาไว้ว่ามีเล่ห์กลแบบนี้ อยู่ ก็ถือว่าเป็นพ่อค้าเต็มตัวแล้วแหละ”

    นี้แหละครับคือประสบการณ์ที่แท้จริง ที่โฮโระสอนโลแลนซ์ ความพ่ายแพ้คือประสบการณ์ชั้นดีของมนุษย์ การมองหลายมุมและการไม่คิดเล็กคิดน้อยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพ่อค้า โฮโระเห็นแลแลนซ์ในหัวมีแต่การค้าขาย เธอก็พยายามสอนเขาให้มองสิ่งรอบๆ ตัวบ้าง

    แต่ไม่วายโลแลนซ์ยังเผยข้อบกพร่องต้องเรียนรู้อีกจนได้


             กลับมาที่เรื่องการแลกเปลี่ยนเงินโลแลนซ์รู้ว่าเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราใหม่นั้นเป็นเรื่องโกหก ความจริงคือเงินตราใหม่นั้นความบริสุทธิ์ลดลง ซึ่งส่งผลให้เขาจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเงินใหม่นี้ทั้งๆ ที่รู้ว่าเสียเปรียบ หากแต่เขาคิดไม่ตกว่าพ่อค้ามือใหม่นั้นจะโกหกเขาเพื่ออะไรในเมื่อกำไรที่ได้มีเพียงนิดเดียว  ในขณะโลแลนซ์คิดอยู่นั้นโฮโระก็สอนโลแลนซ์ให้มองหลายๆ มุมดู โดยโฮโระได้ใช้พฤติกรรมการล่าเหยื่อของหมาป่ามาเปรียบเทียบว่า

    “ตอนที่พวกเราจะล่าเหยื่อ บางครั้งพวกเราจะอยู่บนต้นไม้ เราก็จะเห็นที่ซ่อนเหยื่อได้ง่ายขึ้น ในเวลาแบบนี้เราต้องมองในอีกแง่มุมนึง พ่อค้ามือใหม่นั้นไม่ได้หลอกเจ้าคนเดียว หากแต่เขาหลอกพ่อค้าหลายคนล่ะ และมีคนอยู่เบื้องหลังในการจ้างพ่อค้ามือใหม่มาทำสัญญาแปลกๆ ละ”

    เราจะเห็นโฮโระแสดงท่าทางไม่เหมือนผู้รู้และไม่ค่อยน่าเชื่อถือหลายครั้ง แต่ดูเหมือนเธอฉลาดแบบซ่อนรูป เธอจะใช้คำพูดเปรียบเทียบในการสอนลอแลนซ์เพื่อให้เขาสนใจและเข้าใจง่ายทำให้ตัดสินใจและไตร่ตรองได้ดีขึ้น

    จากตอนที่ 4 "Wolf and a Helpless Partner" ออกอากาศเมื่อ 30 มกราคม 2008 ลอแลนซ์ทำผิดพลาดอีกครั้ง เมื่อเขาคิดวิธีตลบหลังพ่อค้ามือใหม่ เพื่อให้ตนได้กำไรมากๆ แต่โลแลนซ์ลืมคิดว่าโลกที่เขาอยู่นั้นคือโลกแห่งการค้าขายที่ไม่มีมิตรและศัตรู โลกที่สามารถฆ่าคนอย่างง่ายดายหากไปขวางผลกำไรของพวกเขา โดยธุรกิจนี้มีผู้อิทธิพลอยู่เบื้องหลังในการหากำไร โลแลนซ์ดันไปเหยียบเท้าผู้มีอิทธิพลนี้เข้าอย่างจัง จนโลแลนซ์กับโฮโระกลายเป็นเป้าของการตามล่า จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด และเมื่อพอรอดแบบทุลักทุเลเขากลับพบว่ากำไรที่ได้ไม่คุ้มกับที่เอาชีวิตและเพื่อนไปเสี่ยงเลย

    แต่กระนั้นความผิดพลาดในครั้งนี้ ก็ได้ช่วยให้โลแลนซ์ได้คิดว่า เขายังอ่อนประสบการณ์อยู่มาก  เขาไม่น่าทำธุรกิจที่ไปเหยียบเท้าของผู้มีอิทธิพล เพราะมันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงแม้จะได้กำไรมากแค่ไหนก็ตาม แต่ทำให้เราและคนที่เรารักเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งสิ่งเสียไปนั้นมันมีค่ามากกว่าเงินมากนัก

     
              ยิ่งในช่วงท้ายภาค 1 นี้ผมดูแล้วเครียดมาก เพราะได้เห็นความอ่อนหัด
    คราฟท์ โลแลนซ์ที่พูดจาซะอย่างกับเชี่ยวชาญเรื่องการค้าขาย แต่ความจริงเขายังอ่อนประสบการนัก นี้ถ้าโฮโระไม่ช่วยไว้มีหวังพระเอกเสียผู้เสียคนแน่นอน

    ผมติดใจในตอนที่ 8 "Wolf and Virtuous Scales" ออกอากาศเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2008 ในตอนที่ที่โลแลนซ์เอาเครื่องเทศไปขายให้ร้านรับซื้อ และเจ้าของร้านรับซื้อพยายามโกงตราชั่ง โดยสาเหตุที่พระเอกเกือบโดนโกงก็เพราะว่าเจ้าของร้านรับซื้อทำตัวน่าเชื่อถือ แถมพูดแต่เรื่องพระเจ้าหรือศาสนาจนคนฟังไม่เชื่อว่าเขาไม่น่าจะกล้าโกง ทำให้โลแลนซ์ประทับใจและเกือบเชื่อสนิทใจ แต่ฝ่ายโฮโระนั้นพอดีไม่เชื่อศาสนากลับมองสภาพแวดล้อมต่างๆ วิเคราะห์หลายๆ ด้านไม่ใช้คือดูแต่บุคลิกภายนอกของเจ้าของร้าน จนสามารถมองกลโกงตราชั่งได้ในที่สุด

    แต่ความซวยของโลแลนซ์ยังไม่หมด เพราะความอ่อนหัดเขายังมีอีก เนื่องจากเขาขาดคุณสมบัติการเป็นพ่อค้าอย่างหนึ่งคือ “การติดตามข่าวสาร” โลแลนซ์ซื้อสินค้าเกราะและอาวุธที่มองเห็นกำไรในอนาคต แต่ปรากฏว่าเขาพลาด เนื่องจากข่าวสารที่เขาได้มันเก่าแล้ว ตอนนี้ชุดเกราะที่เขาซื้อมันไร้ค่า ทำให้เขาขาดทุนสุดรูด แถมยังเป็นหนี้ ที่ต้องชำระเงินให้ได้ในสองวันอีก  หากทำไม่ได้เขาจะเสี่ยงล้มละลาย หมดสิทธิเป้นพ่อค้าโดยบริยาย

    อืม....ตอนนี้ผมเครียดแทนโลแลนซ์จริงๆ ตอนที่รู้ว่าตนเองตกเป็นหนี้นี้ พี่แกทำตัวโครตมีความหวังเลย ปากพูดซะดิบดีว่าไม่ง้อคนช่วย พอมาฟังวิธีแก้ปัญหานี้หน่ายแทน ไอ้เรานึกว่ามีความคิดที่ดี ที่แท้ความคิดยามคนเป็นหนี้ที่เขาทำกัน นั่นก็คือ “ยืมเงิน” (ฮ่า)เครียดแทน เพราะวิธีนี้มันช่างสิ้นหวังจริงๆ จะมีใครสักกี่คนยืมเงินให้พ่อค้าที่ดูท่าทางอ่อนหัดอย่าง โลแลนซ์บ้างเล่า ตอนแรกพี่แกยืนกังก้าหน้าขอยืมเงินคนอื่นนี้โครตเท่ แต่หลังๆ เมื่อไม่ได้เงินตามที่ตั้งใจไว้ พี่แกเริ่มคุกเข่าขอเงินอย่างกับขอทานเสียแล้ว(ชนิดว่าเห็นเหรียญบาทตกพื้นที่แกรีบเก็บทันที) เล่นเอามาดพระเอกหายไปเลย

    เครียดจริงๆ คนเป็นหนี้ ไปไหนก็มีแต่คนเบื่อหน้าหนี บางคนเห็นคนเป็นหนี้อย่างกับเห็บไรแมลงสาปเอาน้ำสาดไล่ ซึ่งใครดูสภาพโลแลนซ์ตอนนี้แล้วเชื่อเลยว่าตรูไม่อยากเป็นหนี้แบบพระเอกจริงๆ พับผ่า ดูแล้วเหมือนกัดสังคมญี่ปุ่นเหมือนกันครับ ว่าญี่ปุ่นสมัยนี้คนเป็นหนี้เยอะ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ที่เจ้าของกิจการที่ขาดทุนต้องวิ่งวนเพื่อหาเงินมาจ่ายเงินเดือนลูกน้อง หมุนเวียนเงินไม่ทัน ถ้าทำไม่ได้ทางออกอย่างเดียวคือฆ่าตัวตาย

    แต่โลแลนซ์ไม่ได้แก้ปัญหาทางออกนี้โดยฆ่าตัวตายครับ เพราะพอดีมีคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับเขาและเป้นห่วงเป็นใยเขาไม่แพ้พ่อแม่ญาติพี่น้องเลยนั่นก็คือ “โฮโระ” นั่นเอง แหมดีจัง คนเป็นหนี้นั้นกำลังจิตใจตกต่ำสุดขีดก็ต้องหาคนมาปลอบประโลมและหาคนปรึกษาเนอะ โฮโระนี้น่ารักจริงๆ แถมวิธีการของโฮโระเสนอนี้แม้จะเสี่ยงไปหน่อยก็เถอะ แต่ก็ทำให้โลแลนซ์มีความหวังและทำตัวเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น และบทเรียนร้ายๆ เหล่านี้ก็ได้ทำให้โลแลนซ์เป็นพ่อค้าที่ดีขึ้น อย่างที่เห็นในภาค 2 ที่เขาเริ่มทำการค้าขายระมัดระวังขึ้น มีการสืบข่าวจากที่ต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ อย่างละเอียดรอบคอบ

      

    ผมเชื่อครับคนดูการ์ตูนเรื่องนี้เขาไม่ดูโลแลนซ์หรอก(ไว้หนวดเคราแพะแบบนี้สาวที่ไหนจะชอบเนี้ย) เขาดูโฮโระกัน รู้สึกว่าเธอจะติดอันดับนางเอกยอดนิยมอนิเมชั่นของปีนั่นด้วย(ถ้าจำไม่ผิด) ก็สมควรติดแน่นอน แหมมีทั้งหูหมา หางหมา น่ารัก ซึน เดเระ ขี้อ้อนแบบนี้ใจก็ละลายสิ แถมคอมโบสวยฉลาดอีกยิ่งเยี่ยมเข้าไปใหญ่ แต่สิ่งที่ผมชอบในตัวโฮโระมี 2 อย่างครับ คืออย่างแรกคือเธอเป็นคนยึดมั่นโดยไม่ผิดคำพูดเลย เธอบอกว่าจะไปกับโลแลนซ์เธอก็อยู่กับเขาโดยไม่หนีห่างจากกันเลยทั้งๆ ที่มีคนที่ดีกว่าโลแลนซ์หลายร้อยเท่า แต่กระนั้นเธอก็ไม่จากเขาไป แม้เขาจะลำบากเธอก็ให้กำลังใจ แถมคิดหาวิธีแก้ปัญหาอีก และอย่างที่สองถือเป็นคนที่รู้อะไรควรไม่ควรครับ หากวิธีไหนไม่เสี่ยงเธอก็จะเลี่ยง ผมประทับใจในฉากที่เธอกราบขอขมาเทพหมาป่าท้องถิ่นตนที่โลแลนซ์ขนทองจริงๆ ทั้งๆ ที่เทพหมาป่าที่เธอกราบนั้นอายุน้อยและอ่อนแอกว่าโฮโระแท้ๆ แต่เธอจำต้องลดศักดิ์ศรีเพราะเธอไม่มีเวลาที่จะหาเรื่องเพราะตอนนี้โลแลนซ์กำลังตกอันตราย เห็นได้ชัดเลยว่าโฮโระนี้หลงรักโลแลนซ์จริงๆ

    แต่ดูเหมือนว่าโศกนาฏกรรมความรักของโฮโระและโลแลนซ์นั่นก็เริ่มก่อตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรือความแตกต่างระหว่างเผ่าพันธุ์ สักวันโฮโระคงจะจากโลแลนซ์ไป ซึ่งผมก็หวังว่าจะเป็นการจากที่ดีและมีความสุขนะครับ

    ก็จบลงเพียงเท่านี้สำหรับภาคที่ 1 ของซีรีย์นี้ ส่วนภาค 2 ผมไปดูมาแล้วก็อร่อยใช้ได้ครับ ตัดตรงช่วงศึกแย่งชิงโฮโระที่เกี่ยวกับราคาสินค้าขึ้น-ลงอาจ งงนิดหน่อย และดูแล้วอาจเหงาเล็กน้อยเพราะการเดินทางของโลแลนซ์เริ่มไปสถานที่ที่เขาไม่รู้จักและเริ่มน่ากลัวและกันดานมากขึ้น ดูแล้วอาจไม่ถูกใจเท่าภาคแรกแต่กระนั้นมันก็น่าติดตามอยู่ดี

    เอาเป็นว่าใครชอบการ์ตูนแปลกๆ เน้นนางเอกน่ารัก(แต่พระเอกงั้นๆ) ก็ลองดูนะครับ อาจมีศัพท์การตลาดมากมายเยอะไปหน่อยก็พยายามปรับตัวเข้ากับมันล่ะกัน หากปรับตัวได้การ์ตูนเรื่องนี้ก็น่าติดตามเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เชื่อผมเถอะ!!

    + +
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×