ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #351 : (แลการ์ตูนไทย) วิบูลย์กิจ-ยักษ์ใหญ่ที่กำลังจะกลายเป็นอดีต!?

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.15K
      2
      1 ส.ค. 58

              ไม่นานมานี้มีข่าวไม่สู้ดีสำหรับคอหนังสือการ์ตูนในบ้านเรา เมื่อสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างวิบูลย์กิจที่รู้จักกันดี ประกาศยุติการพิมพ์นิตยสาร Viva Friday นิตยสารการ์ตูนรายปักษ์และรายสัปดาห์ และเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นแบบลิขสิทธิ์เล่มแรกของประเทศไทย (ในเล่มก็มีเรื่องฮิตอย่าง สิงห์นักปั่น, เรียกเขาว่าอีกา, โอตาคุน่องเหล็ก และโฮซาว่าฮ่ายกครัว) ที่อยู่คู่แฟนการ์ตูนมานานถึง 21 ปี จะวางแผงครั้งสุดท้ายในวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2015 ซึ่งเป็นการปิดตัวตาม เคซี.ทริโอ และ นีออสที่หยุดตีพิมพ์ไปก่อนหน้านี้

              โดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจได้อ้างเกิดที่ปิดตัวว่า เพราะนิตยสารยอดขายน้อย คนอ่านน้อยเลง สาเหตุมาจากปัจจุบันมีการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์หาอ่านได้ฟรีทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จนแบกรับต้นทุนการพิมพ์และค่าลิขสิทธิ์ไม่ไหวจนผู้จัดพิมพ์ต้องปรับตัว

              นอกจากนี้ วิบูลย์กิจมีความคิดที่จะทำ e-book เพื่อหวังดึงคนรุ่นใหม่มาสนใจ และ e-book ยังไม่เข้มงวดเรื่องการเซ็นเซอร์เท่าสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีราคาขายโดยเฉลี่ยต่อเล่มคือ 35-40 บาท ซึ่งสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจมีการ์ตูน 300 กว่าเรื่องที่ซื้อลิขสิทธิ์มา เป็น e-book แล้วประมาณ 70 เรื่อง และหากหนังสือการ์ตูนเล่มไหนยอดขายผ่านการดาวน์โหลดไปได้ดีอย่าง คินดะอิจิ หรือ โคนัน ก็จะตีพิมพ์ในฉบับรวมเล่มอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องที่ไม่ดังอาจต้องรอนานกว่าเดิม (ดองและหายไปเลย)

              เมื่อคอการ์ตูนเมื่อได้เห็นข่าวนี้ ก็มีความคิดเห็นมากมาย บางคนก็รู้สึกเสียดายที่นิตยสารการ์ตูนดีๆ ติดมาติดตัวลง ในขณะที่บางคน (และเป็นจำนวนมาก) มีความคิดเห็นว่าวิบูลย์กิจไม่ควรให้ความสำคัญกับ e-book พร้อมกับระบายสิ่งที่อัดอั้นที่มีต่อสำนักพิมพ์วิบูลย์ เพราะที่ผ่านมาสำนักพิมพ์ดังกล่าวทำร้ายจิตใจของผู้อ่านอย่างรุนแรง พร้อมกับบอกว่า “ที่สำนักพิมพ์ตกต่ำลงไม่ใช่ผู้อ่านหรอก แต่เป็นตัวสำนักพิมพ์เองต่างหาก” แม้คำเม้นนั้นจะดูรุนแรงไป แต่กระนั้นหากพิจารณาสิ่งที่วิบูลย์กิจทำแก่ผู้อ่านจากอดีตถึงปัจจุบันก็ไม่แปลกแต่อย่างใดที่ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์คับแค้นใจจนถึงปัจจุบัน

              ที่มาของข่าว

              http://www.flashfly.net/wp/?p=124080

              http://news.voicetv.co.th/thailand/236610.html

     

     

    นิตยสาร Viva Friday ฉบับสุดท้าย

     

              (ข้อมูลจากวิกีพีเดีย)  สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ เป็นสำนักพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทย รู้จักกันในชื่อย่อ VBK หรือชื่อเต็ม Vibulkij Publishing Group เดิมทีวิบูลย์กิจเคยเป็นผู้นำตลาดหนังสือการ์ตูนในยุคที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ มีหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์หลายหัว เช่น เดอะซีโร่ (the Zero), อนิเมทวีคลี่ (AnimateWeekly), วีคลี่สเปเชียล (Weekly-Special) และหนังสือการ์ตูนฮีโร่รายสัปดาห์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่าง ทีวีไลน์ และนิตยสารเกมออนไลน์ เมก้า แต่ภายหลังได้เป็นค่ายการ์ตูนค่ายแรกๆ ในประเทศ ที่หันมาซื้อสิทธิการ์ตูนอย่างถูกต้องจากต้นสังกัดในประเทศญี่ปุ่น

              วิบูลย์กิจถือว่าเป็นสำนักพิมพ์การ์ตูนที่มีอายุเก่าแก่ และดังที่สุดของประเทศไทย อันเนื่องจากสิทธิของการ์ตูนญี่ปุ่นไว้เป็นจำนวนมาก และหลายเรื่องก็เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักอ่านการ์ตูนชาวไทย เช่น ข้าชื่อโคทาโร่, โคนัน, GTO, คุณครูจอมเวทย์ เนกิมะ, ล่าอสูรกาย, เซนต์เซย์ย่า, จอมคนแดนฝัน เป็นต้น แต่ผลงานการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายสูงสุด ได้แก่ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน

              นอกจากนี้วิบูลย์กิจบังเป็นเจ้าแรกๆ ที่เปลี่ยนวิธีการอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นของคนไทย จากที่ผ่านมาคนทืยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นจากซ้ายไปขวา จนกระทั่งวิบูลย์กิจเปลี่ยนมาพิมพ์อ่านจากหลังไปหน้าแบบญี่ปุ่น (เนื่องจากทางต้นฉบับต้องการให้คงภาพและวิธีอ่านไว้โดยทำให้ปัจจุบันนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นทั้งหมดใช้สัญญาของทางญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยเป็นข้อตกลงทางการค้าและลิขสิทธิ์ทำให้ต้องพิมพ์และวางจำหน่ายหนังสือจากญี่ปุ่น โดยวิธีการอ่านแบบญี่ปุ่นเท่านั้นโดย xxxโฮลิค และ ซึบาสะ สงครามเทพข้ามมิติเป็นการ์ตูนแรกที่อ่านจากหลังมาหน้า) ซึ่งตอนแรกๆ หลายคนมาบ่นบ้าง แต่ตอนหลังก็ปรับตัวได้ จนถึงปัจจุบันก็กลายเป็นเรื่องปกติที่สำนักพิมพ์อื่นพิมพ์  

              ในยุครุ่งเรือง วิบูลย์กิจเป็นสำนักพิมพ์ที่มีการ์ตูนในเครือหลายเรื่องมาก ซึ่งเรามักเห็นประจำในแผงหนังสือไทย และลิขสิทธิ์ของวิบูลย์กิจก็ไม่ได้เน้นผู้อ่านเฉพาะจงเจาะ แต่เน้นหลายช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็น การ์ตูนผู้ใหญ่, การ์ตูนสำหรับเด็กวัยรุ่น หรือแม้แต่การ์ตูนเก่า (รถด่าน 999 หรือการ์ตูนของโอซามุ)

              และนอกจากนี้วิบูลย์กิจยังเป็นสำนักพิมพ์ที่มีนิตยสารการ์ตูนในเครือจำนวนมาก ซึ่งหลายคนคงคุ้นเคยกันดี  (ปล. ปัจจุบันผมไม่ได้ซื้อนิตยสารการ์ตูนแล้ว จึงไม่ค่อยไปดูแผงหนังสือไทยว่ามันยังอยู่หรือเปล่า)

              KC.Weekly นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ โดยต้นฉบับส่วนใหญ่มาจากนิตยสาร โชเน็นแม็กกาซีนรายสัปดาห์ ของสำนักพิมพ์ โคดันฉะ (ยังอยู่?)

              Viva Friday นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ อาคิตะโชเต็น (ปิดตัวลงแล้ว)

              Neoz นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายสัปดาห์ โดยต้นฉบับคือนิตยสาร โชเนนซันเดย์ ของสำนักพิมพ์ โชงะกุกัง และสำนักพิมพ์ ฮาคุเซ็นฉะ (ปิดตัวลงแล้ว)

              KC.Trio นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายปักษ์ โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ โคดันฉะ (ปิดตัวลงแล้ว)

              Young Friday นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือน โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ อาคิตะโชเต็น

              RINA นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นเดือน แนวผู้หญิง โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ อาคิตะโชเต็น

              Mr. Monthly นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือน โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ โคดันฉะ

              NEXT นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายสองเดือน โดยต้นฉบับเป็นของสำนักพิมพ์ โคดันฉะ

              ไทคอมิก นิตยสารการ์ตูนไทย (ไม่ทราบ รู้แต่ว่าวิบูลย์กิจให้ความสำคัญกับนักเขียนการ์ตูนไทยอยู่)

              Mega นิตยสารเกมรายสัปดาห์ (ปัจจุบันยังอยู่)

              MegaMONTH นิตยสารเกมรายเดือน เน้นการเจาะลึกเกมเด่น รวมถึงวิธีพิชิตเกมนั้นๆ (ปัจจุบันยังมีคงอยู่)

              ZIRIUS นิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นรายเดือน ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว เนื่องจากต้นสังกัดที่ญี่ปุ่น (โทคุมะโชเต็น) ปิดตัวลง

              อย่างไรก็ตาม แม้สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเคยผลิตนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์หลายฉบับ แต่ปัจจุบันเหลือ 3 ฉบับ ส่วนนิตยสารการ์ตูนรายเดือนหายไปจากประเทศไทยแล้ว เพราะไม่ทันใจผู้อ่านที่ต้องอดใจรอนานนับเดือน

     


     

              แม้ว่าวิบูลย์กิจจะเป็นค่ายการ์ตูนลิขสิทธิ์ที่เก่าแก่ในวงการแผงหนังสือไทย และพยายามสร้างสรรค์สังคมไทยมาโดยตลอด (นำเข้าการ์ตูนญี่ปุ่นดังๆ, พยายามออกการ์ตูนหลายแนว, นำการ์ตูนเก่าอมตะมาวางแผงให้คนไทยรู้จัก และสนับสนุนการ์ตูนฝีมือคนไทย ฯลฯ) แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้วิบูลย์กิจกลับกลายเป็นสำนักพิมพ์ที่หลายคนร้อง “ยี้” มากที่สุด (มากกว่า เนชั่น ด้วยซ้ำ)  เห็นได้จากเพจของสำนักพิมพ์ที่แทบไม่มีชื่นชมสำนักพิมพ์นี้เลย

              ทำไมที่ผ่านมาวิบูลย์กิจถึงถูกหลายคนร้อง “ยี้”?  แน่นอนว่าสาเหตุก็มากมาย หลักๆ แล้วเกิดจากตัวของวิบูลย์กิจเอง รวมไปถึงกระแสของผู้บริโภคแปรเปลี่ยนไป ซึ่งตัวสำนักพิมพ์เองไม่สามารถแบกรับ และแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้  

              โดยปัญหาของวิบูลย์กิจ (เท่าที่ทราบ รวมไปถึงข่าวลือ) มีดังต่อไปนี้

              -วิบูลย์กิจขึ้นชื่อว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่ “ดอง” การ์ตูนโหดที่สุดในแผงหนังสือประเทศไทย คำว่า “ดอง” นั้นเป็นภาษาปาก (ใช่เปล่าหว่า) หมายถึงการไม่ยอมเอาเล่มต่อ เล่มใหม่มาวางแผงสักที ซึ่งมีการ์ตูนหลายเรื่องที่วิบูลย์กิจดอง พิมพ์ไม่จบ ไม่ยอมพิมพ์ จนหลายคนออกมาบ่นๆ ประมาณว่า การ์ตูนออกโครตช้า, ออกนาน, บางเรื่องญี่ปุ่นจบเป็นชาติแต่สำนักพิมพ์ยังพิมพ์ไม่จบ, ออกการ์ตูนหลายเรื่องเราก็ตามหลายเรื่อง แต่ออกเล่มเดียว ดองนานอีก, หลุดลิขสิทธิ์ (เพราะไม่ยอมพิมพ์จากขวาไปซ้าย อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องอะไร?)

              ปกติแล้วสาเหตุที่สำนักพิมพ์ดองหนังสือ มีหลายสาเหตุ มันไม่เหมือนการ์ตูนแปลในเน็ตที่เป็นการแปลเถื่อน (ไม่หวังผลกำไร) เพียงแค่แปลมาก็จบ แต่หากเป็นการ์ตูนต่างประเทศ (รวมไปถึงหนังสืออื่นๆ) ที่มีลิขสิทธิ์กระบวนการแปลนั้นมันมีหลายขั้นตอนกว่าจะพิมพ์ออกมา  ไม่ว่าจะเป็นการแปลให้ตรงต้นฉบับ การใส่เชิงอรรถ (โหดสุด คืออาจารย์ผู้สิ้นหวัง อธิบายมุกละเอียดยิบ) จากนั้นก็ส่งให้ต้นสังกัดตรวจ พิมพ์รูปเล่ม วางขาย ซึ่งมีหลายขั้นตอนมาก นี้ยังไม่นับปัญหาต่างๆ เช่น ทรัพยากรนักแปลไม่พอ (หาคนใจรักงานแปลยาก), สำนักพิมพ์ต้นฉบับปิดตัวลง, รวมไปถึงการ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องยาวนานที่พิมพ์ไม่จบ (เช่น คำสาปฟาโรท์ เป็นต้น)

              แน่นอนว่าปัญหาดองสำนักพิมพ์อื่นๆ ก็เป็น แต่ปัญหาคือวิบูลย์กิจเป็นหนักกว่าเพื่อน อันเนื่องจากเป็นสำนักพิมพ์เก่าแก่ ดองการ์ตูนหลายเรื่องสะสม เป็นแบบนี้มานานหลายปี ที่เจ็บใจคือตีพิมพ์เล่มเดียว แล้วไม่ออกอีกเลย จนหลายคนเชื่อว่า การ์ตูนหลายเรื่องที่สำนักพิมพ์ดองนั้น เป็นเรื่องไม่ค่อยดัง มียอดขายไม่ค่อยดีมากนัก หากพิมพ์เล่มต่อก็คงเจ๊ง สู้ดองเก็บไว้ดีกว่า จนกลายเป็นว่าขาดความรับผิดชอบ คนที่ตามการ์ตูนเรื่องนี้เกิดอารมณ์เซ็งเป็ด

              ครั้งหนึ่งวิบูลย์กิจเคยดองโคนัน จำได้ว่ามันยาวนานมากๆ นานจนผมถึงขั้นเลิกอ่านโคนันเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่เคยเป็นสาวกโคนันมาก่อน  โคนัน (รวมไปถึงเรื่องดังๆ เรื่องอื่นๆ ) นั้นยังดี เพราะอย่างน้อยสำนักพิมพ์ไม่ทอดทิ้ง แต่สำหรับผมที่สะสมการ์ตูนดีแต่ไม่ดังละ ลูกเมียน้อยชัดๆ

              หากวิบูลย์กิจใช้แผนการ์ตูน E-book จริง แล้วใช้ระบบความนิยม มาวัดว่าเรื่องไหนดังก็พิมพ์รวมเล่มวางขาย ส่วนเรื่องไหนไม่นิยมก็ดอง (ปกติก็ดองนานอยู่แล้ว) แน่นอนหายนะชัดๆ  คนที่บอกว่าตามไม่กี่เรื่องก็ย่อมไม่เท่าไหร่ แต่สำหรับผมมันโครตเสียหายนะครับ (ยังดีที่ฮาเร็มเทพมังกรพิมพ์จบสักที)  เพราะมีการ์ตูนของวิบูลย์กิจหลายเรื่องมากที่ผมตาม หลักๆ ก็มี

              Oi!! Obasan คุณน้า!! ขาลุย (12 เล่ม ไม่แน่ใจว่าจบหรือยัง)

              Shuujin Riku ริคุจอมคนคุกนรก

              vs. Earth โลกาพิฆาต

              Chikyuu no Houkago โลกสนธยาหลังเลิกเรียน

              Sakura Sakura วัยวุ่นรุ่นสุดท้าย (หนึ่งในการ์ตูนที่ผมอวยไส้แตก เพราะมันโครตฮาเร็ม และสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจตีพิมพ์เล่มหนึ่ง และไม่ยอมตีพิมพ์เล่มใหม่อีกเลย จนเวลาจะผ่านไปเกือบสามปีแล้ว!!)

              Kondoru สาวน้อยร้านสะดวกซื้อ (อีกเล่มเดียวจะจบแล้ว)

              Shibito no Koe wo Kiku ga Yoi  เสียงกระซิบจากคนตาย

              โอซาว่าฮายกครัว

              ฯลฯ

              หากวิบูลย์กิจอ้างว่าพฤติกรรมคนอ่านสแกนฟรี (หรือบางคนบอกว่าให้ไปดูซับสิ) ตรงจุดนี้ผมเถียงครับ เพราะการ์ตูนสแกนส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนดัง หรือน่าใจระดับหนึ่ง (ขึ้นอยู่กับคนแปลเขาสนใจหรือเปล่า) การ์ตูนที่ผมยกมา ส่วนใหญ่ไม่มีแสกน และไม่มีซับอังกฤษด้วย  (บางเรื่อง เช่น วัยรุ่นรุ่นสุดท้ายแม้มีซับอังกฤษ แต่ก็ค้าง ตอนใหม่ไม่มา) แม้บางเรื่องจะมี แสกนต้นฉบับญี่ปุ่น บ้าง แต่กระนั้นก็มีบางเรื่องที่ไม่มีทั้งแสกน แปลอังกฤษเลย (เช่น เรื่อง สาวน้อยร้านสะดวงซื้อ)

              ที่นี้ขอถามว่าคุณคิดว่าคนไทยคนไหน อ่านสแกนการ์ตูนภาษาญี่ปุ่น, อังกฤษ, จีน, เกาหลีได้ครับ มันมีแต่การ์ตูนดังๆ เท่านั้นแหละที่มีสแกนไทย แล้วการ์ตูนที่ไม่ดัง (และใกล้พิมพ์เล่มจบแล้วดอง) จะทำยังไง ผมรอจนจะลงแดง บ่น มาโดยตลอดแล้วครับ

              ดังนั้นที่สำนักพิมพ์อ้างว่าพฤติกรรมคนอ่านสแกนฟรีทำให้ยอดขายลดลง มันฟังไม่ขึ้นครับ หากดูจากหลายเรื่อง (ที่ไม่แสกน) ดังนั้นเหตุผลดองเพราะยอดขายน้อย ดูเหมือนจะมีน้ำหนักกว่า และที่ยอดขายน้อย บางทีอาจเป็นเพราะการ์ตูนไม่ดัง คนไม่ค่อยรู้จัก หรืออาจเป็นเพราะคุณภาพของเล่มที่เป็นปัญหาสะสมมานานของวิบูลย์กิจเอง

              อีกทั้งจะทำ E-Book จริง คิดหรือว่าการ์ตูนดองพวกนี้จะกลับมาให้ได้ติดตามกัน คงมีการ์ตูนดังที่หลายคนติดตาม อย่าง โคนัน, เจ็ดบาป, ไททัน ฯลฯ อยู่ดี ผมก็คงรอการ์ตูนไม่ดังแบบลูกเมียน้อยแบบสิ้นหวังต่อไป

     

              -เรื่องเซนเซอร์ หรืออักษรศีลธรรม ถือว่าเป็นสิ่งที่นักอ่านการ์ตูนรังเกียจที่สุดเวลาอ่านการ์ตูนลิขสิทธิ์ของไทย โดยเฉพาะฉากเซอร์วิสที่โดนอักษรศีลธรรมบังจนมิด และบังอย่างน่าเกลียด ไม่ว่าจะเป็นฉากกางเกงในโผล่, ฉากเปลือย, ฉากจับนม ล้วนโดนอักษรศีลธรรมบัง

              วิบูลย์กิจถือว่าเป็นสำนักพิมพ์ไม่กี่ราย ที่มีการเซ็นเซอร์ฉากเซอร์วิสที่โหดที่สุดในไทย ในขณะที่สยาม, รักพิมพ์ ไปจนถึง DEX แทบไม่มีการเซนเซอร์น่าเกลียดแล้ว (บงกตยังมีให้เห็นอยู่)

              เคยมีคนมาด่าตอนผมออกมาบ่นเซ็นเซอร์ ว่า ไม่ชอบก็ไม่ต้องดู แล้วผลเป็นยังไงละ ผลคือวิบูลย์กิจกลายเป็นสำนักพิมพ์ร้อง “ยี้”  คนไม่อยากซื้อมาดู

             กือบทุกคนที่อ่านการ์ตูนลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น ก็ต่างก็หวังอยากอ่านการ์ตูนที่คงไว้ต้นฉบับ อยากอ่านการ์ตูนชนิดไม่มีอะไรมาปิดบังให้เสียอารมณ์ ดังนั้นมันเป็นเรื่องโหดร้ายมากที่เห็นการ์ตูนที่ฉากเซอร์วิสเป็นจุดขาย (หรือฉากโหดร้ายเลือดสาด) ถูกบดบังอักษรศีลธรรมบังมิด สู้ไปอ่านต้นฉบับญี่ปุ่นเลยดีกว่าไหม

     

    ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ คนผ่าเหล่า เผ่าหายนะ 105 

    คนผ่าเหล่าหายนะราคา 105 บาท (ไม่ซื้อหรอกครับ)

     

              -คุณภาพของหนังสือการ์ตูนวิบูลย์กิจ เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ปลื้มมาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรูปเล่ม-คุณภาพของหนังสือการ์ตูนวิบูลย์กิจแทบไม่แตกต่างสักเท่าไหร่ ไล่ตั้งแต่หน้าปก ที่หลายคนไม่เคยปลื้มแถบสลับแดงดำ (บางคนเรียกว่า กันสาด) วิบูลย์กิจเลยสักนิด เพราะมันบดบังปกการ์ตูนไม่สวยงาม ในขณะที่สำนักพิมพ์อื่นๆ มีตราเล็กๆ ติดอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของหนังสือเท่านั้น

              วิบูลย์กิจเป็นสำนักพิมพ์แรกๆ ที่มักขึ้นราคาหนังสือก่อนใครทุกครั้ง หลายคนอาจเติบโตในยุคหนังสือการ์ตูนเล่ม 35 บาท แต่ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งหนังสือการ์ตูนราคา 20-25 บาท จากนั้นก็ขึ้นเป็น 30, 35, 40, 45, 50 และ 55 บาทตามลำดับปัจจุบัน

              แน่นอนว่าเรื่องหนังสือการ์ตูนแพงนั้นมันมีที่มาหลายสาเหตุ หลักๆ คือ ราคากระดาษและหมึกที่ใช้พิมพ์หนังสือมีราคาสูงขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด วิบูลย์กิจมีลิขสิทธิ์ในเครือเยอะก็ต้องปรับตัว แต่ปัญหาของวิบูลย์กิจคือคุณภาพหนังสือมันสวนทางกับราคา ที่ไม่สมกับเงินที่เสียไป เป็นต้นว่า การแปลที่ผิดพลาด (ส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นนะ แต่เขาบอกว่าแอร์เกียร์แปลได้ห่วยมาก) หมึกเลอะ กระดาษรวมเล่มเหลือง (นี้ยังไม่นับเซ็นเซอร์)

              เรื่องขึ้นราคา วิบูลย์กิจมักโดน (ด่า) ว่ากว่าใครเพื่อน โดยเฉพาะการขึ้นราคาแบบไร้เหตุผล เช่น บางครั้งก็ออกเล่มพิเศษ Limited Edition สำหรับสะสมที่ราคาแพงมาก (เกือบหลักร้อย) หรืออย่างกรณี การ์ตูนเรื่อง “คนเผ่าเหล่า เผ่าหายนะ” และ “3x3eyes ที่เอามาตีพิมพ์ใหม่ ที่ แต่ราคาถึง 105 บาท และ 135 บาท แต่คุณภาพเหมือนเล่มเก่าเกือบทุกประการ (ไม่บิ๊กบุ๊ค ไม่ใช่กระดาษคุณภาพดี และมีรูปแบบหนังสือทั่วไป) และก็ไม่ใช่เรื่องที่หลายคนรอคอยมากนัก และไม่มีคำตอบจากสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจด้วย ทำไมถึงขึ้นราคาได้บ้าเลือดขนาดนี้

              นอกจากนี้ วิบูลย์กิจก็คิดอยากเข้ายุทธจักรไลท์โนเวลด้วย แต่อนิจจาไลท์โนเวลของวิบูลย์กิจมีราคาแดงๆ มากๆ อย่างคินดะอิจิและฆาตกรปริศนา และไททัน นั้นแต่ละเล่มมีราคามากกว่า 200 บาท อีกทั้งเล่มค่อนข้างใหญ่กว่าของเจ้าอื่นๆ หากไม่รักจริง ก็คงไม่ซื้อแน่ (ของคินดะอิจิความจริงเรียกไลท์โนเวลก็ไม่ถูกนัก น่าจะเป็นนิยายมากกว่า ซึ่งความจริงมันออกมานานแล้ว แต่วิบูลย์กิจพึ่งจะเอามาตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา)

              ตรงจุดนี้วิบูลย์กิจทำตัวเองจริงๆ ครับ เพราะสิ่งที่ตามมาทำให้หลายคนมองวิบูลย์กิจไม่จริงจังต่อผู้บริโภค คิดจะกอบโกยท่าเดียว มองผู้บริโภคหลงเข้ามาซื้อ ตามใจฉัน (ผู้บริโภคก็ตามใจบ้างละ

    -เรื่องวิบูลย์กิจชอบหักหลังคนอ่านนี้ ยอมรับว่าไม่เคยประสบมาตรงๆ (เพราะไม่ได้อ่าน คาโทโร่, ด็อกเตอร์เค และก้าวแรกสู่สังเวียน)  ฟังเขาระบายมาอีกที โดยส่วนใหญ่ในเวลานี้วิบูลย์กิจมักมีผลงานรีแม็กซ์ (เอากลับมาพิมพ์ใหม่ เป็นครั้งที่ 2, 3 และ4 ก็ว่าไป) มากกว่าจะทุบไหดอง แถมบางเรื่องชอบรีพริ้นท์ออกมาใหม่ โดยอ้างว่าให้คนที่พลาดสะสมในรอบแรก แล้วก็ทำปกให้ต่างจากเดิม เพื่อให้คนที่เก็บสะสมตั้งแต่แรกต้องมาซื้อใหม่ ไม่อย่างนั้น มันจะไม่เข้าชุดกัน แถมต้องจ่ายราคาแพงขึ้นด้วย จากนั้นก็ดอง และรีพริ้นท์ใหม่ซ้ำอีก เล่นเอาคนอ่านบางคนแทบรับไม่ได้เลยทีเดียว

    ปัจจุบันวิบูลย์กิจออกเล่มใหม่น้อยๆ มาก ส่วนมากก็เป็นเล่มต่อจากการ์ตูนดัง การ์ตูนดังขนาดกลาง และไม่ค่อยมีประกาศลิขสิทธิ์ใหม่แล้ว ส่วนเพจวิบูลย์กิจก็มีแต่คนไถ่ถามว่าเมื่อไหร่เล่มใหม่จะออก และคนออกมาระบายความคับแค้นใจในราคาหนังสือและคุณภาพ แม้ว่าส่วนใหญ่วิบูลย์กิจจะไม่ออกมาตอบคำถามเหล่านี้มากนัก (คือไม่อ่านคอมเม้นส์) แต่ก็เคยชี้แจงอยู่พักหนึ่งในผลงานการ์ตูนบางเรื่อง ว่าบางเรื่องสำนักพิมพ์ต้นฉบับไม่ให้ตีพิมพ์เล่มใหม่ ในขณะที่หลายเรื่องสำนักพิมพ์ใช้คำว่า “ติดปัญหาหลายอย่าง” ทำให้ไม่สามารถตีพิมพ์เล่มต่อ (หรือ ออกเล่มใหม่ ปีละเล่ม) เล่นคนดูสงสัยว่า “ไอ้ปัญหาหลายอย่างที่ว่ามันคืออะไรหว่า?

    ไม่แปลกแต่อย่างใด ที่ตอนนี้จะมีคนคิดว่า “วิบูลย์กิจอยู่ในสภาพที่เจ๊งแล้วสินะ”

    ไม่เพียงแค่วิบูลย์กิจเท่านั้นที่ประสบปัญหาเรื่องยอดขายหนังสือ และกำลังอยู่ในสถาวะขาดทุน เพราะสำนักพิมพ์ก่อนหน้า อย่างเนชั่น บูมทาวน์ TKO  ก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน

    หากถามว่าการอ่านสแกนการ์ตูนมีผลต่อยอดขายการ์ตูนลิขสิทธิ์ใหม่ คำตอบคือ มันมีส่วนแน่นอน!

    หลายคนมักมีหลายความเห็น เกี่ยวกับการอ่านสแกน เป็นต้นว่า “ตอนใหม่ของสำนักพิมพ์ออกช้า”, “ดูพิจารณาก่อนค่อยซื้อ”, “ถึงดูก็ซื้อเพื่อสะสม” นี้ไม่นับว่าบ้านอยู่ไกลหาหนังสือเจ็ดบาปอ่านไม่ได้ ต้องอวยสแกน  แม้จะความคิดเห็นมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่อธิบายได้ว่า “พฤติกรรมบริโภคเริ่มเปลี่ยนไป”

                -ดูก่อนค่อยซื้อ และจะซื้อการ์ตูนที่ชอบจริงๆ

                -มีอายุหน่อยซื้อมาสะสม ปัจจุบันกลุ่มน้อยลง

                -อายุน้อยหน่อย ไม่สามารถซื้อการ์ตูนแพงได้ ดูในเน็ตฟรี ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้มากขึ้น

                ส่วนการยืมหนังสือร้านเช่า ปัจจุบันเริ่มไม่ค่อยมีแล้ว  เพราะประสบปัญหาอ่านสแกนฟรี และหนักกว่าสำนักพิมพ์ด้วยซ้ำ

    สมัยก่อนนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่บทบาทมากเท่าปัจจุบัน หนังสือการ์ตูนจะมีสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักอ่านการ์ตูน นิตยสารการ์ตูนยังมีความสำคัญอยู่เพื่อเป็นติดตามการ์ตูนญี่ปุ่นที่รวดเร็วที่สุดแล้ว (แม้จะช้ากว่าของญี่ปุ่นก็ตาม) และเมื่อถึงยุคอินเทอร์เน็ต ก็ไม่ง้อนิตยสารการ์ตูนอีกต่อไป อ่านในเน็ตก็ได้

    ส่วนใหญ่คนที่ดูสแกนมักดูพวกการ์ตูนดังๆ พวกจัมป์ หรือพวกเจ็ดบาป,  ที่ออกตอนใหม่ทุกสัปดาห์ ซึ่งสำนักพิมพ์ไทยเราก็ไม่สามารถพิมพ์ตอนใหม่ทันญี่ปุ่นได้ และมันมีผลต่อวิบูลย์กิจอย่างมาก เพราะมีนิตยสารในเครือหลายฉบับ และมีการ์ตูนดังหลายเรื่อง ผลคือมันสำนักพิมพ์ขาดทุนสะสมต่อเนื่อง จนไม่สามารถแบกรับการขาดทุนนี้ได้

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ประสบปัญหาเหมือนวิบูลย์กิจ แต่ก็มีสำนักพิมพ์บางส่วนที่ปรับตัวกับกระแสผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อย่างสยาม ที่ทำนิตยสาร C-KiDs Express ทันอก ทันใจ อ่านตอนใหม่ล่าสุดแบบชนกับญี่ปุ่น, เรื่องไหนที่ได้รับความนิยมก็พิมพ์อย่างต่อเนื่อง (พวกจัมป์ทั้งหลายแหล่) และพยายามฟังเสียงผู้บริโภคอยู่เสมอ

    หรือแม้แต่รักพิมพ์ เน้นเรื่องรูปเล่มให้สวยงาม แม้ว่าราคาอาจแพงไปบ้าง แต่คุณภาพก็พอรับได้

    แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ทราบว่าวิธีนี้จะช่วยสำนักพิมพ์ไม่ขาดทุนหรือไม่ ก็คงต้องดูอีกยาว

    โดยส่วนตัวแล้วผมชอบการสะสมหนังสือการ์ตูนมากกว่า เพราะสามารถเอามาอวดบารมี ซึ่งเราก็เห็นบ่อยๆ ที่คนชอบการ์ตูนมักอวดของสะสมตนเอง เป็นหนังสือเต็มตู้ ดูแล้วมันน่าอิจฉา อยากได้

    อีกทั้งหนังสือการ์ตูนนั้นมันง่ายต่อการเข้าไปอ่าน ไม่ต้องเปิดคอม ไม่ต้องมีเน็ตแรง เพียงแค่หยิบแล้วเปิดอ่าน จะอ่านที่ไหนก็ได้โดยไม่เปลืองไฟฟ้าด้วย

    หนังสือแปลยังมีดีอยู่อย่างคือ แปลได้เข้าใจ (แม้บางสำนักพิมพ์จะมีจุดตำหนิบ้าง เช่น แปลไม่ตรงช่อง, แปลถูกแปลผิด) แต่หากเทียบกับแปลจากสแกนแล้ว แปลลิขสิทธิ์ดีกว่ามากๆ อีกทั้งเรื่องดองนั้น แปลสแกนก็ดองเหมือนใน ในกรณีที่ผลงานไม่ดัง และขาดหาย

    นอกจากนี้แปลลิขสิทธิ์มีดีอย่างหนึ่งคือเชิงอรรถที่อธิบายให้เราเข้าใจ อย่าง “คุณครูผู้สิ้นหวัง” ต่อให้อ่านสแกนก็ไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะเต็มไปด้วยมุกที่คนญี่ปุ่นที่คนไทยยากจะเข้าใจ แต่ลิขสิทธิ์นั้นอธิบายมุกไว้หมด ตรงจุดนี้คือจุดแข็งของลิขสิทธิ์

     

    ไม่ว่าจะเป็นสแกนและหนังสือก็ล้วนมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×