ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #332 : (แลการ์ตูนไทย) ความล้มเหลวอนันตา ตาสว่างได้หรือยังผู้ผลิต

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 5.46K
      3
      9 มี.ค. 58

                สัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2015) มีเรื่องไม่สู้ดีนักเกิดขึ้นในวงการการ์ตูนไทยบ้านเรา เมื่ออนิเมชั่นเรื่อง “อนันตา ศิลาพิชิตมาร” ของบริษัท มีเดีย สแตนดาร์ด จำกัด ซึ่งเป็นอนิเมชั่นที่อ้างว่าลงทุนถึง 100 ล้านได้ฉายในโรงภาพยนตร์ ปรากฏว่าฉายวันแรกทำรายได้เงินไป 5,590 บาท

    แน่นอนว่าข่าวนี้ช็อกกันทั้งปาน โดยเฉพาะทีมงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มีที่ไหนทุนสร้าง 100 กว่าล้าน แต่ผลตอบรับน้อยยิ่งกว่าน้อย เหมือนหนึ่งสุภาษิตขี่ช้างจับตั๊กแตนไม่ปาน (ไม่รู้ว่าเป็นทุนจริงหรือเปล่า เพราะปกติเวลาโปรโมตหนังจะเวอร์ๆ แบบนี้)

    แต่สำหรับหลายคนแล้ว แอบสะใจลึกๆ กับรายได้ที่ออกมา “อนันตา”  เห็นได้จากการตอบโต้คอมเมนต์อย่างดุเด็ดเผ็ดมันทั้งในบอร์ดเว็บการ์ตูนและเพจวิจารณ์  พร้อมกับหวังว่า “อนันตา” น่าจะเป็นอนิเมชั่นที่ทำให้ผู้ผลิตอนิเมชั่นไทยหลายคนตาสว่างเสียที (หรือเปล่า?)

     

     

    อนันตา ศิลาพิชิตมาร (ที่หลายคนเห็นก็รู้ทันทีว่าเจ็งแน่นอน)

     

                อนันตาเป็นภาพยนตร์การ์ตูนอนิเมชั่น ฝีมือคนไทย โดย บริษัท มีเดีย สแตนดาร์ด จำกัด ซึ่งมีผลงานอนิเมชั่น พระพุทธเจ้า (Buddha) ก่อนหน้า โดยเนื้อหาของการ์ตูนได้กล่าวถึงเจ้าชายอนันตาที่มากอบกู้เมืองจากจอมมารผู้ชั่วร้าย โดยการออกเดินทางตามหาศิลาวิเศษที่มีพลังอำนาจมหาศาลที่เชื่อว่าใครครอบครองมันจะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่

                อนันตาเป็นภาพยนตร์ที่ผู้ผลิตหมายมั่นปั้นมือมากว่าจะได้รับผลตอบรับดี โดยมีการโปรโมตว่า เป็นอนิเมชั่นที่ทุนสร้างกว่า 100 ล้าน ภาพสวยงาม สวยสด อีกทั้งทีมงานได้เคยสร้างผลงานร่วมกับบริษัทต่างชาติที่ผลิตการ์ตูนอนิเมชั่นที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง อาทิ ทาร์ซาน ,เดอะไลออนคิง,มู่หลาน, ทอย สตอรี่ ,สกูบี้ ดู ,ทอมกับเจอร์รี่,บ็อบบี้เวิลด์ ,โฉมงามกับเจ้าชายอสูร,เมาคลีลูกหมาป่า,ทรามวัยกับไอ้ด่าง,เงือกน้อยผจญภัย,โพคาฮอนทัส,ลิโล แอนด์ สติทช์,ไอ้เขี้ยวเงิน มาแล้ว และปัจจุบันได้ร่วมทำการ์ตูนอนิเมชั่น เรื่อง พระพุทธเจ้า, ซีรีย์เรื่อง แก๊งค์ป่วนยกกำลัง

                นอกจากนี้อนันตายังได้รับการโปรโมทว่า เป็นอนิเมชั่นที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพ ให้เด็กและเยาวชนมีความอดทน ต่อสู้ต่อความผิดหวัง กตัญญูกับพ่อแม่ และชาติบ้านเมือง มีความรัก ความสามัคคี เป็นผู้มีศีลธรรมจรรยา สอดคล้องกับค่านิยามหลัก 12 ประการ ตามนโยบายของรัฐบาล

                แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมันก็ไม่สวยหรูอย่างที่คิด


     

              ก็อย่างที่เรียนเอาไว้ข้างต้น “อนันตา” เปิดตัววันแรกทำรายได้ 5,590 บาท และมีคนเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์เพียง 35-60 คน น้อยจนน่าใจหาย

              ผลที่ตามมาคือหลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใดภาพยนตร์การ์ตูนไทยที่ทุนสร้างถึง 100 ล้าน (จากความคิดเห็นของผมคิดว่าไม่ถึง น่าจะสัก 50-60 ล้านมากกว่า แต่ก็เยอะอยู่ดี) แต่ผลกลับออกมากับล้มเหลวแบบนี้ แน่นอนว่ามีเหตุผลมากมายที่จะอธิบาย เป็นต้นว่า

              -เหตุผลแรกคือ “อนันตา” ฉายในโรงภาพยนตร์กับรอบฉายน้อยเกินไป  (มี เมเจอร์และ SF ที่ฉายอนันตา)

              -โปรโมทน้อยเกินไป หลายคนแทบไม่ทราบข่าวว่ามีอนิเมชั่นเรื่อง “อนันตา” กำลังฉายในโรงภาพยนตร์

              -อนิเมชั่นฉายชนกับภาพยนตร์เรื่องดังๆ แน่นอนว่า คนก็ต้องหันไปดูภาพยนตร์ที่ดังก่อน

              -สมัยนี้ค่าตั๋วชมภาพยนตร์แพงเกินเหตุทำให้การเลือกชมภาพยนตร์ของแต่ละคนเรื่องมากไปด้วย

              อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สำที่ทำให้ “อนันตา” ล้มเหลวนั้นน่าคุณภาพของตัวภาพยนตร์มากกว่า ที่สร้างความผิดหวังแก่คนดูกันถ้วนหน้า บางคนถึงขั้นเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ชนิดระบายความอัดอั้นความผิดหวังด้วยการใช้คำที่แรงว่า “กาก” กันถ้วนหน้า

              อันเนื่องจากผมไม่ได้ดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ (อยากดูเหมือนกันแต่ไม่โอกาส) ดังนั้นขอนำเนื้อหาเพจ อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก ได้วิจารณ์ “อนันตา” ชนิดไม่ไว้หน้าว่าเป็นอนิเมชั่นฝีมือไทยที่ห่วยจริง

               โดยคนวิจารณ์บอกว่าเขาตัดสินใจดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเป็นฝีมือคนไทย (ไทยไม่ดู แล้วจะให้ชาติไหนดู) หากแต่เมื่อดูแล้วกับพบว่าเป็นอนิเมชั่นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง เสียดายเงินที่เสียไป  เสียเวลา ทุกอย่างแย่หมด เป็นอนิเมชั่นที่เหมาะแก่การลงในทีวีจอแก้ว หรือใส่ DVD ขายให้เด็กเล็กดูมากกว่าเอาลงจอเงิน

              ตัวอนิเมชั่น แม้ว่าฉากหลังจะงดงาม (ซึ่งถือว่าเป็นจุดดีจุดเดียวของอนิเมชั่นเรื่อง) หากแต่ทุกอย่างแย่หมด ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนตัวละคร (ไปจนถึง สัตว์, สถานที่, ต้นไม้) มีผิดพลาดหลายจุด ภาพก็เผา เป็นต้นว่า เดี๋ยวคนตัวสูงกว่าตนไม้ เดี๋ยวกระรอกตัวเท่าฝ่ามือ

              ตัวอนิเมชั่นบอกว่า เป็นอนิเมะ 2D แต่เอาเข้าจริง มีแต่มิติเดียว ไม่มีลึกไม่มีตื้นเลย การเคลื่อนไหวก็ไม่ลื่นไหล พิกเซลแตก ที่เลวร้ายก็คือมีเลขรันเฟรนปรากฏหน้าเจออยู่เสมือนหนึ่งเป็นผลงานที่ทำไม่เสร็จ

              นอกจากนี้ตัวบทบทก็ทื่อๆ โง่ๆ ไม่มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง ไม่จรรโลงใจ ไม่มีจุดพีค จุดตื่นเต้น ประทับใจอะไร ตัวละครก็แบนๆ และไม่มีเสน่ห์อะไรเลยแม้แต่น้อย

              เหลือเชื่อว่าคนทีมที่ทำอนิเมชั่นเรื่องนี้มีส่วนร่วมทำการ์ตูนของวอลท์ ดีสนีย์  เสมือนกับว่าคนทำเรื่องนี้ชุ่ย ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบผลงานว่ามันสมควรเผยแพร่หรือยัง มีจุดตรงไหนที่เป็นปัญหาบ้าง แต่ทีมงานเหล่านั้นไม่รับผิดชอบเลย เสมือนหนึ่งทีมงานดูถูกคนดู คิดว่าคนดูจะรับได้ หรือแรงกว่านั้นคือคิดว่าคนดูโง่

    Ananta (อนันตา) ภาพยนตร์การ์ตูนอนิเมชั่นฝีมือคนไทย โดยมาจากแนวคิดของ ดร.วัลลภา พิมพ์ทอง  ผู้ซึ่งเคยอยู่เบื้องหลังของภาพยนตร์การ์ตูนอนิเมชั่นเรื่อง พระพุทธเจ้า ที่ต้องการเห็นภาพยนตร์อนิเมชั่น 2D ของคนไทยจะร้างจอภาพยนตร์นานไป 8 ปีผงาดขึ้นมาอีกครั้ง (ประมาณนั้น)

    อย่างไรก็ตาม อนันตาก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก เพราะทีมงานใช้ระยะเวลาการสร้างถึง 5 ปี เพราะต้องใช้ลายเส้นของผู้วาดเป็นหลัก   และใช้ทุนในหลักร้อยล้าน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับผกผันกับความทุ่มเท แม้ว่าตัวอนิเมชั่นสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้ผลิตที่ต้องการพัฒนาวงการอนิเมชั่นของไทยก็ตาม

    แน่นอนว่าเมื่ออนิเมชั่นล้มเหลวไม่เป็นท่า ผู้ผลิต “อนันตา” (ขออภัยผมไม่รู้จักชื่อ เพราะข่าวไม่ได้ขึ้นป้ายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์) ก็ออกมาบ่นๆ ในเชิงน้อยใจ ซึ่งแต่ละอย่างก็ยังคงเป็นปัญหาอนิเมชั่นไทยเหมือนที่ผ่านๆ มา เช่น

    "อนิเมชั่น 3D วัดกันที่โปรแกรม เราไม่มีศักยภาพจะสร้างโปรแกรมแบบนั้นได้เอง"

    "อนิเมชั่นไทยไม่ได้รับการสนับสนุน ผู้ชมขาดความเชื่อมั่นในอนิเมเตอร์ไทย"

    "อนิเมชั่นสองมิติตายแล้ว"

    “รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุน”

    นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมและความหวัง (ที่ฟังแล้วไม่ก็ อีกว่า

    "แต่เรามีบุคลากรที่วาดได้ไม่แพ้ชาติไดๆในโลก" (ส่วนตัวผมเบื่อประโยค “คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” จริงๆ)

    "หากตั้งกระทรวงดิจิตัลได้อนิเมไทยน่าจะมีอนาคตมากกว่านี้"

    คำบ่นๆ เหล่านี้ คือสิ่งที่เราได้ยินจากผู้ผลิตอยู่เสมอเมื่อพูดถึงปัญหาอนิเมชั่นไทย จนหลายคนทำหน้าเบื่อไปตามๆ กัน (เพราะวนเวียนอยู่กับคำกล่าวอ้างปัญหาเดิมๆ) แน่นอนว่าหลายคนไม่เห็นด้วยกับข้อแก้ตัวเหล่านี้

     



    สุดสาครภาพยนตร์การ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องแรกของคนไทย

     

     

    ทำไมอนิเมชั่นไทยไม่ค่อยราบรื่นมานัก ความจริงแล้วมีหลายคนพยายามพัฒนาอนิเมชั่นไทยมาตลอด และคนไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลกจริง ซึ่งบางเรื่องก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ซึ่งอนิเมชั่นไทยนั้นที่ผ่านมาเต็มไปด้วยปัญหาเดิมตลอด และบางปัญหาก็ทำให้อนิเมชั่นไทยถูกจำกัดไม่พัฒนาเท่าที่ควร

    หากจะพูดถึงอนิเมชั่นเรื่องแรกของคนไทย ก็ต้องยกให้ “สุดสาคร” การ์ตูนอนิเมชั่นเคลื่อนไหว ของ ปยุต เงากระจ่าง บรมครูด้านการ์ตูนเคลื่อนไหวของไทย ที่พยายามสร้างการ์ตูนอนิเมชั่นของไทย ภายใต้แรงดูถูกตลอด (เช่น ทำเป็นคนแสดงไม่ดีกว่าเหรอ ทำไมต้องเป็นการ์ตูนด้วย) เพราะสมัยนั้นการทำการ์ตูนมันยาก จะต้องใช้มือเขียนการ์ตูนทีละแผ่น เป็นจำนวนมากๆ เพื่อแลกกับภาพเคลื่อนไหวไม่กี่นาที โดยเฉพาะภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง "สุดสาคร" ที่เต็มไปด้วยปัญหาร้อยแปด อีกทั้งยังมีข้อจำกัดทางการเงินทุน การสนับสนุน ซ้ำร้าย ยังต้องเสียดวงตาข้างซ้าย จากการตรากตรำตลอดทำงานสร้าง จนกระทั่งออกฉายได้สำเร็จเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2522 มีอายุ 50 ปีพอดี

    อนิเมชั่น “สุดสาคร” ผมก็เคยดูตั้งแต่เด็กๆ ตามความเห็นของผม ถือว่าเป็นอนิเมชั่นที่สนุกใช้ได้เลย แม้การเคลื่อนไหวไม่ได้ราบรื่น นิ่มนวลมากนัก แต่ในแง่ความตั้งใจของคนสร้างนั้นเต็มเปี่ยม มันให้ความรู้สึกแบบนี้จริงๆ (ขนาดผมเป็นเด็กยังรู้สึกจิตวิญญาณในผลงาน “สุดสาคร” เลย)

    อย่างไรก็ตาม “สุดสาคร” ก็ไม่ได้รับที่ดีนัก อาจเป็นเพราะคุณภาพไม่สามารถซื้อการ์ตูนญี่ปุ่นได้ อีกทั้งเนื้อหาการ์ตูนมาจากวรรณคดีไทยซึ่งไม่ถูกใจเด็กไทยนัก  เด็กไทยเขาชอบการ์ตูนบู๊ๆ เอามัน มากกว่า

    หลังจากนั้นอนิเมชั่นไทยก็หายไปพักใหญ่ หายไปนานจริงๆ จะผมแทบไม่ได้ยินอนิเมชั่นที่คนไทยอะไรเลย (ชนิดว่า คนไทยมีส่วนร่วมทำอนิเมชั่นต่างประเทศ ผมก็ไม่เคยได้ยิน)  จนกระทั่งการเริ่มยุค 3D

              แม้ว่า “สุดสาคร” จะเป็นอนิเมชั่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมอนิเมชั่นไทย แต่อย่างไรก็ตาม นิเมชั่นไทยก็ไม่พัฒนาเท่าที่ควร เพราะการทำอนิเมชั่นการ์ตูนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้งบประมาณมาก อีกทั้งไม่สามารถสู้การ์ตูนต่างประเทศได้เลย หลายบริษัทที่เกี่ยวข้องเลือกที่จะซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนต่างประเทศ เพราะมีต้นทุนถูกกว่า ทำให้นอกจากภาพยนตร์การ์ตูนไทยไม่เกิดแล้ว ช่องรายการโทรทัศน์ก็มีแต่การ์ตูนต่างประเทศทั้งสิ้น  ส่วนการ์ตูนไทยอย่างมากก็เป็นการ์ตูนไทยสั้นๆ  รณรงค์ ส่งเสริมความดีอะไรมากกว่า (เช่นการ์ตูนโครงการตาวิเศษ เป็นต้น)  ส่วนคนไทยที่มีฝีมือการทำการ์ตูนก็หันเอาดีที่เมืองนอกร่วมงานกับบริษัททำการ์ตูนระดับโลกเช่นวอลดีย์นีย์ เป็นต้น (เหมือนที่เราได้ยินกันบ่อยๆ)

              หลังจากนั้นภาพยนตร์ไทยก็หายไปพักใหญ่ หายไปนานจริงๆ  จนกระทั่งการเริ่มยุค 3D ซึ่งเป็นช่วงที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจภาพ 3D (ภาพสามมิติ)   จากภาพยนตร์ทอยสเตอรี่ (Toy Story) ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของพิกซาร์ ที่ทำรายได้ 1995 และทำรายได้ถล่มทลาย กับการโปรโมทว่าเป็นอนิเมชั่นที่ทำจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นของใหม่จริง ส่วนไทยเราก็นำเทคโนโลยีการทำการ์ตูน 3D ไปใช้จนเกิดงานการ์ตูนที่หลากหลายมากขึ้น

              ต่อมาการ์ตูนไทยก็เริ่มบูม ช่อง 3 เริ่มสนับสนุนการ์ตูนไทย ในปี 2000 ได้เปิดตัวรายการการ์ตูน 2D ไทยเรื่องปลาบู่ทอง ซึ่งได้รับตอบรับดีจากผู้ชมเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้วงการการ์ตูนไทยเริ่มกลับมาบูมอีกครั้ง และมีการ์ตูนอนิเมชั่นเกิดมากมายทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ เช่นปังปอนด์, จ๊ะ ทิง จา, เซลล์ดอน, เบิร์ดแลนด์ แดนมหัศจรรย์ ซึ่งล้วนตอบรับดีจากผู้ชมทั้งสิ้น

     

     

    ก้านกล้วย

     

              ส่วนอนิเมชั่นภาพยนตร์การ์ตูนไทยก็บูมไม่แพ้กัน เมื่อปี 2006 มีการเปิดตัว “ก้านกล้วย” ของบริษัทกันตนา ซึ่งเป็นราวของช้างก้านกล้วยที่เนื้อหานอกจากสื่อถึงความรักชาติแล้ว ยังเป็นการ์ตูนที่ดูสนุกเหมาะสมสำหรับทุกวัยด้วย อีกทั้งภาพยังสวยงามเพราะมาจากทีมงานทั้งคนไทยและต่างที่เคยร่วมงานกับวอลดีย์นีย์ ไม่แปลกเลยที่ได้ผลตอบรับดีเกินคาด ฮิตถล่มถลาย กวาดรางวัลเพียบ จนมีการสร้างภาค 2 ตามมา

              ปี 2007 เปิดตัวอนิเมชั่น 2D “พระพุทธเจ้า” การ์ตูนชีวประวัติของพระพุทธ์เจ้า โดยบริษัทมีเดียสแตนดาร์ด ลงทุนใช้เงินกว่า 120 ล้าน สร้างการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนสนใจศึกษาธรรมะ แต่ปรากฏว่าภาพยนตร์ไม่ได้การตอบรับที่ดีมากนัก ซึ่งต่อมาก็มีก็มีการสร้าง “อนันตา” ตามมาอีก โดยใช้ภาพเหมือนอนิเมชั่น “พระพุทธเจ้า” ก็เจ๊งมโหราฬเช่นกัน  

              ปี 2008 สหมงคลฟิล์ม เปิดตัวอนิเมชั่นภาพยนตร์การ์ตูนไทยเรื่อง “นาค”  แม้ว่าภาพจะสวย และใช้ทีมพากย์ดาราดัง รวมไปถึงดาราตลกชื่อดังอย่าง หม่ำ, เท่ง, โหน่ง แต่ตัวอนิเมชั่นก็ตอบรับไม่ดีนัก เพราะการดำเนินเนื้อเรื่องยังไม่กลมกล่อมเท่าที่ควร และเจาะกลุ่มคนดูที่เป็นเด็กเกินไป

              ปี 2012 บริษัทเวิร์คพอยท์ ก็เปิดตัวอนิเมชั่น “ยักษ์”  ซึ่งใช้เวลาสร้างนานถึง 5 ปี และได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ด้านบวก โดยเฉพาะการออกแบบตัวละครที่มีลักษณะโดดเด่นไม่เลียนแบบใคร นอกจากนั้นบทเรื่องราวก็ทำออกมาได้น่าสนใจเพราะเอาเรื่องรามเกียรติ์เอามาตีความใหม่ได้อย่างสนุกและน่าสนใจ แม้คนไม่เคยอ่านรามเกียรติ์ก็เข้าใจได้

              ต่อมากันตนาก็เปิดตัว เอคโค่ จิ๋วก้องโลก ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กสามคนที่กอบกู้โลกภาวะโลกร้อน แต่ตัวการ์ตูนตอบรับไม่ดีมากนัก

    แม้ว่าอนิเมชั่นไทยจะพัฒนาดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการทำอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งๆ ก็ยังคงมีปัญหาเดิมๆ ที่ยังคงไม่แก้ไขอีก ปัญหาเหล่านี้เราก็มักได้ยินบ่อยๆ  ซึ่งบางปัญหาก็เป็นสาเหตุที่อนิเมชั่นไทยเราไม่ค่อยพัฒนาเท่าที่ควรด้วย ความล้มเหลวของ “อนันตา” ทำให้เราได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับอนิเมชั่นไทยมากมาย เป็นต้นว่า

    - อนิเมชั่นเรื่องหนึ่งใช้เงินทุนสูงมาก บ้านเรายังไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมการ์ตูนที่ใหญ่นัก โดยอนิเมชั่นเรื่องหนึ่งอย่างต่ำ (เท่าที่ทราบ) อย่างต่ำ 60 ล้าน (ราคาปกติของอนิเมชั่นของญี่ปุ่นความยาวหนึ่งซีซั่น 12-13 ตอน)

    -บุคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องอนิเมชั่นยังน้อย การทำอนิเมชั่นเรื่องนั้นจะต้องมีบุคลากรจำนวนมาก แต่ละคนมีหน้าที่แตกต่างกันไป สำหรับไทยแล้วตำแหน่งสำคัญที่มักมองข้ามคือ คนออกแบบคาแร็คเตอร์ คนเขียนบท และนักพากย์ ซึ่งมีปัญหามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

    -คุณภาพของอนิเมชั่นไทยถูกจำกัดอะไรหลายอย่าง ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ดี ยิ่งเรื่องเผา หลายคนจะไวเรื่องนี้เป็นพิเศษ

     -ทำแล้วใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ ความเสี่ยงสูง แม้ “ก้านกล้วย” และ “ยักษ์” จะได้คำชื่นชม แต่หากมองในแง่รายได้ จะพบว่าทุกเรื่องล้วนขาดทุน (ผมดูจากวิกิพีเดีย อย่าง “ก้านกล้วย” ใช้งบประมาท 150 ล้าน แต่ได้รายได้ 98 ล้านบาท ส่วน “ยักษ์” ใช้งบประมาทสร้าง 100 ล้านบาท ได้รายได้ 52.3 ล้านบาท)

    -หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดของอนิเมชั่นไทย คือ แนวเรื่องไม่หลากหลาย กลุ่มผู้ดูยังคงเน้นกลุ่มเด็กอยู่ ทั้งๆ ที่อนิเมชั่นที่ดีจะต้องเป็นอนิเมชั่นที่สามารดูได้ทุกวัย เด็กดูได้ ผู้ใหญ่อยู่ดี สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะความคิดของผู้ผลิตที่คิดว่า “การ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กเล็ก” และ “ระดับต้องการ์ตูนวอลดีย์นีย์” ทำให้การ์ตูนอนิเมชั่นไทยที่ออกมาจะเป็นแนวการ์ตูนคุณธรรมสอนเด็กเล็กมากกว่า

    -ส่วนหนึ่งที่การ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กเล็ก ก็อันเนื่องมาจากผู้ใหญ่รัฐบาลและสังคมมักมองการ์ตูนด้านลบมาอย่างยาวนาน คนที่เกี่ยวข้องที่พยายามลดความรุนแรงในการ์ตูนและ สิ่ง (คิดว่า) ยั่วยวนในการ์ตูน ด้วยการเซ็นเซอร์ที่โอเวอร์เกินเหตุ สิ่งเหล่านี้ทำให้ปิดโอกาสการสร้างอนิเมชั่นไทยให้หลากหลายมากขึ้น (หวังจะเอามีดที่ 13 หรือ ขุนช้างขุนแผนที่มีฉากเซ็กต์ ทำเป็นอนิเมชั่น คงทำไม่ได้)

    -ความน่าเบื่อของอนิเมชั่นไทย ก็ยังคงเน้นการ์ตูนสอนคุณธรรม การยัดเยียดเรื่องคติสอนใจ ที่ซ้ำซาก เกี่ยวกับการเป็นคนดี  สำหรับเด็กแล้วมันน่าเบื่อ ไม่โดน ขณะที่บางคน

    -ที่น่าเบื่อหนักคือบทของภาพยนตร์อนิเมชั่นไทย ที่ไร้ซึ้งอารมณ์ และการดำเนินเส้นเป็นเส้นตรงมากเกินไป ทำไมไม่ติดตาม อย่าง “อนันตา” ก็ได้รับการวิจารณ์จุดนี้เละมาก เพราะพล็อต “อนันตา” ยังคงวนเวียนอยู่กับความดีเอาชนะความชั่ง การกอบกู้บ้านเมืองจากทรราช และเรื่องจักรๆ วงศ์  เจ้าหญิงกับเจ้าชาย อารมณ์พอๆ ละครจักรๆ วงศ์ช่อง 7 ไม่ปาน พล็อตแบบนี้ถือว่าล้าสมัยและเชยมาก คนดูเขารู้ไตรู้ไส้พล็อตแบบนี้ตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว

    -การออกแบบตัวละครอนิเมชั่นไทย ที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก และเป็นปัญหาที่หลายคนละเลย ออกแบบตัวละครด้วยสูตรสำเร็จ ตัวละครคาแร็คเตอร์ซ้ำซาก ดูน่าเบื่อ ไม่เป็นตัวของตัวเอง หน้าตาบิดเบี้ยว ไร้ซึ้งเสน่ห์  และที่น่ากลัวคือตัวละครหลายตัวจากอนิเมชั่นหลายเรื่อง “ก็อป” จากอนิเมชั่นต่างประเทศดังๆ โดยไม่กลัวถูกฟ้องเลย

    -ใช้เวลาทำอนิเมชั่นนานไป “อนันตา” ใช้เวลาถึง 5 ปีถึงจะเสร็จ เหมือนจะอลังการ แต่กลับกลายเป็นดาบสองคม เพราะยิ่งนานเท่าไหร่โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว รสนิยมเปลี่ยนไป ความเรื่องมากของคนดูก็มากขึ้นด้วย หากทำภาพไม่มีคุณภาพสวดทางกับระยะเวลาที่เสียไป ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

    -ผู้ผลิต “อนันตา” ไม่เคยใช้ความผิดพลาดตนเองมาปรับปรุงแก้ไขผลงาน หรือเรียนรู้ว่าทำไมถึงล้มเหลว ความจริงน่าจะรู้ตัวตั้งแต่ผลงานเรื่อ “พระพุทธเจ้า” แล้ว ที่ขาดทุนเช่นกัน เพราะเนื้อหาเป็นแนวพุทธประวัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเบื่อสำหรับใครหลายคน แม้คนไทยจะเป็นชาวพุทธ แต่ก็ไม่ได้ชอบเรื่อศาสนาและประวัติศาสตร์มากนัก แต่ก็ยังสร้าง “อนันตา” ที่ดูก็รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า “เจ๊ง” แน่นอน

    -สำหรับการขาดการสนับสนุนรัฐบาล ผมไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลสนับสนุน การ์ตูนที่ได้ก็คงสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล หรือไม่ก็การ์ตูนสอนคุณธรรมในรูปแบบเดิมๆ อีก ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงคือขาดการสนับสนุนของเอกชน ผู้มีใจรักอยากเห็นการ์ตูนไทยก้าวไกลเทียบชั้นกับการ์ตูนตะวันตกและญี่ปุ่นมากกว่า ที่พร้อมจะใช้เงินมาใช้พัฒนาอนิเมชั่นการ์ตูนไทย

    -การเข้ามาของการ์ตูนญี่ปุ่นที่ต้องยอมรับว่าตอนนี้อนิเมะญี่ปุ่นพัฒนาก้าวไกลมาก จนเราแทบตามไม่ทัน อีกทั้งยังหาดูง่ายมาก และมีหลากหลายด้วย ทำให้หลายคนเทใจให้กับอนิเมะญี่ปุ่น และมักเปรียบเทียบอนิชั่นไทยด้อยกว่าเสมอ

    สิ่งเหล่านี้คือปัญหาเดิมๆ ของอนิเมชั่นไทย แม้ผู้ผลิตจะรู้ตัว แต่ก็ไม่ยอมแก้ ไม่ยอมรับ ไม่กล้าแหวก  และเซ็งอยู่กว่าคือผู้ดูคนไทยอย่างเราๆ ที่อยากเห็นอนิเมชั่นไทยไปไกลกว่านี้

     

     

    การิน การ์ตูนที่หลายคนอยากเห็นเป็นอนิเมะ

     

    อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าจะอนิเมชั่นไทยจะสิ้นหวังเสียทีเดียว ยังมีหลายวิธีที่ทำให้อนิเมชั่นไทยมีความน่าสนใจ เพียงแต่หลายอย่างควรให้ผู้ผลิตมีความคิดที่สร้างสรรค์ และปรับเปลี่ยนทัศนะคติให้มากกว่านี้ และต่อไปนี่คือความเห็นของผมที่อยากเห็นอนิเมชั่นไทย

    -เป็นไปได้หรือเปล่าที่เราจะเอาการ์ตูนไทยสไตล์มังงะไทยดังๆ มาทำเป็นอนิเมชั่น หรือ ภาพยนตร์อนิเมชั่น แม้ที่ผ่านมาจะทำไปแล้ว อย่าง “สามก๊ก”, “ปังปอนด์” และ “ศึกบาสทะยานฟ้า” แต่นั้นเป็นการ์ตูนในเครือขายหัวเราะ มหาสนุก แต่สิ่งที่หลายคนอยากเห็นคือการ์ตูนแนวจริงๆ จังๆ ที่ดำเนินเนื้อเรื่องต่อเนื่องหลายๆ ตอน เป็นต้นว่า “การิน”, “EXE” หรือไม่ก็ “มีดที่ 13” ซึ่งหลายคนอยากเห็นหนักหนา อีกทั้งยังมีฐานแฟนเก่าๆ ที่เหนียวแน่นอีก (แต่มีดที่ 13 หรือพระอภันมณีซาก้าคงไม่ไหวเพราะเสี่ยงถูกฟ้องเพราะตัวละครก็อปเยอะพอสมควร)

    -การเปลี่ยนทัศนะของผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องว่า “การ์ตูนไม่ใช่ของเด็กอีกแล้ว” การ์ตูนที่ดีคือต้องโดนใจผู้ดูทุกเพศทุกวัย การนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้เพลิดเพลิน

    -ภาครัฐควรสนับสนุน โดยการห้ามจำกัดการนำเสนอการ์ตูนไทย อย่างแนว เสียดสีสังคม หรือฉากที่น่าหวาดเสียว อย่าเซ็นเซอร์งี่เง่าปัญหาอ่อน การเซ็นเซอร์ชุดว่ายน้ำภาพเบลอบั่นทอนปัญญา แต่พอเป็นภาพคนจริงไม่คิดจะเซ็นเซอร์

    -การนำบุคลากรและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาช่วยทำอนิเมชั่น รวมไปถึงการเรียนรู้ทำอนิเมะญี่ปุ่น (หรือให้ทีมงานญี่ปุ่นทำอนิเมชั่นของไทยเราซะเลย) ที่ผ่านมาเราหลงภาพลักษณ์ของดีสนีย์มากเกินไป ทั้งๆ ที่การ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่นนั้นฮิตมากกว่ามาก และทำงานเป็นระบบ “อนิเมชั่น 2D ตายแล้ว” ไม่จริง เพราะไม่งั้นอนิเมะญี่ปุ่นคงตายนานแล้ว  แม้ว่าบุคลากรและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นจะมีราคาสูงมาก แต่ก็น่าจะเป็นผลดีระยะยาว หากเราตั้งตัวและเรียนรู้มันได้

    -ยอมรับเสียทีว่ากราฟฟิกของอนิเมชั่นไทยนั้นแย่ มีการเผาอย่างไม่น่าอภัย “อนันตา” เป็นตัวอย่างที่ดี การทำงานควรใจรัก มืออาชีพมากกว่านี้ อย่าง จิบบิ

     

    ผู้กล้าแห่งอัสลัน

     

    -ควรให้ความสำคัญกับบท การดำเนินเรื่องมากกว่านี้ อย่าทำตามสูตรสำเร็จแบบเส้นตรงมากนัก อย่ายัดเยียดข้อคิดอะไรมากไป เพราะส่วนใหญ่เด็กไม่ชอบอะไรพวกนี้อยู่แล้ว ควรสอดแทรกสาระที่มีชั้นเชิง และเป็นธรรมชาติมากกว่านี้

    ผมไม่ได้ไม่ชอบสูตรสำเร็จ หรือรังเกียจ แต่ผมชื่นชมการนำสูตรสำเร็จมาทำให้เกิดความน่าสนใจ น่าติดตาม ไม่ทำให้เป็นเส้นตรง ผมขอยกการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่พล็อตคล้ายๆ “อนันตา” นั้นคือ "ผู้กล้าแห่งอัสลัน (The Heroic Legend Of Arslan)" มีต้นฉบับมาจากนิยายเรื่อง อัสลันเซนกิ นิยายแนวแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ของ โยชิกิ ทานากะ ซึ่งเริ่มเขียนขึ้นในปี 1986 คุณโยชิกิเขียนเรื่องนี้ออกมาต่อเนื่องจนปัจจุบันถึง 14 เล่ม และประสบความสำเร็จพอสมควร นิยายถูกแปลงเป็นมังกะครั้งแรกในปี1991-1996 โดยสำนักพิมพ์kadokawa จำนวน13เล่ม (ลายเส้นออกไปทางการ์ตูนผู้หญิงหน่อย)  และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อนิเม2ภาคในปี1991และ1992 มีOVAอีก 4ตอนในปี 1993-1996 ล่าสุดได้กลับมาทำใหม่ โดยผู้วาดอาราคาวะ ฮิโรมิ (Full Metal Alchemist, Silver Spoon)

    เนื้อเรื่องของ “ผู้กล้าแห่งอัสลัน” ก็คล้ายๆ อนันตา เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้าชายที่มากอบกู้อาณาจักรของพระองค์ที่ถูกแย่งชิงไป โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึงเจ้าชาย “อัสลัม” (ความจริงแล้วอัสลัมเป็นชื่อคน ส่วนชื่อปประเทศที่เจ้าชายอยู่เรียก “พารุส”) ที่อ่อนแอในประเทศที่แข็งแกร่งคนหนึ่ง หากแต่ประเทศของตนกลับพ่ายแพ้สงครามอย่างไม่คาดคิด จนเมืองถูกยึดจากศัตรู สุดท้ายเจ้าชายที่อ่อนแอได้เติบโตขึ้นและกอบกู้ประเทศของตนเอง

    การเล่าเรื่องของ “ผู้กล้าแห่งอัสลัน” แม้จะเป็นสูตรสำเร็จ แต่มันก็ทำให้สนุกได้ สาเหตุก็หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะฉากการต่อสู้สงครามที่รุนแรง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องศาสนา ชาติพันธุ์เข้าไปเกี่ยงข้อง สิ่งเหล่านี้ทำให้เนื้อหาน่าติดตามมากขึ้น

    การ์ตูนหรือภาพยนตร์คนแสดงจะสนุกหรือไม่นั้น มันอยู่ที่เขียนบทจริงๆ ที่ให้ความสำคัญการเล่าเรื่องที่มีเสน่ห์ การสร้างตัวละครให้มีเสน่ห์ การเติบโตของตัวละคร แต่ “อนันตา” ถูกจำกัดอะไรหลายอย่าง ประกอบกับความไม่มีฝีมือในการเขียนบท ผลจึงออกมาอย่างที่เห็น

    -ควรใส่ความรุนแรง และประเด็นๆ แรงๆ (เป็นต้นว่า เสียดสีสังคม) เข้าไปในการ์ตูนอนิเมชั่นไทยบ้าง  คือต้องยอมรับว่าสมัยนี้เด็กชอบความรุนแรงในการ์ตูนมากกว่า ชอบฉากต่อสู้มันๆ ปล่อยพลังตูมตาม อีกทั้งการเสียดสีสังคมไทยเราก็เก่งเรื่องพวกนี้ในการ์ตูนอยู่แล้ว นอกจากจะออกมามีชั้นเชิง และน่าสนใจด้วย ซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นการ์ตูนอนิเมชั่นไทยที่เนื้อหาเสียดสีสังคมเลย

    -อย่าใช้ความเป็นไทยมาขาย ปัจจุบันเห็นภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องชอบโปรโมทกันจังว่าให้คนไทยอุดหนุนหนังไทย ทั้งๆ ที่คุณภาพเนื้อหาภาพยนตร์นั้น “ห่วยกาก” สุดๆ  ไม่ว่าจะบท หรือการแสดงดารา เหมือนทำดูถูกคนดู คิดว่าคนไทยทำหนังไทยจะเรียกคนดูที่เป็นคนไทย ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย กลับกันยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง เพราะหลายคนหมั่นไส้

    -หนึ่งในปัญหาหนักที่สุดของอนิเมชั่นไทยก็คือการออกแบบตัวละคร ไร้ซึ่งเอกลักษณ์ ไร้ซึ่งความโดดเด่น ซ้ำๆ ซากๆ อย่างอนันตาก็ก็อปจากอะลาดิน และคาแร็คเตอร์ที่แสนจืดจาง เหมือนอนิเมชั่นสมัยก่อน ผู้ผลิตควรตามทันโลกได้แล้วว่าเขาฮิตคาแร็คเตอร์แบบไหน ตัวละครแบบไหน

    -ผู้ผลิตควรเรียนรู้ข้อผิดพลาด และนำไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งผู้ผลิตน่าจะรู้ตัวตั้งแต่อนิเมชั่น “พระพุทธเจ้า” ก่อนหน้าแล้วว่ามันหนักไปทางชีวประวัติไม่หวือหว่าไม่ถูกใจหลายคน แต่ก็ยังทำ “อนันตา” ด้วยความรู้สึกเดียวกัน  อีกทั้งตัวอนิเมชั่นยังทำให้คนดูรู้สึกว่าคนทำมีใจรักในการทำเลย แถมยังโทษโน้นโทษนี้ไม่เคยโทษตนเอง ผู้ผลิตที่ดีหาข้อผิดพลาด หาข้อเสียไปปรับปรุง แล้วมองตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของเจ้าอื่นๆ เช่นสตูดิโอจิบลิ

    สิ่งเหล่านี้ เป็นข้อเสนอง่ายๆ ให้การ์ตูนอนิเมะไทยดีขึ้น ซึ่งหลายคนก็คิดเหมือนผม แต่อย่างไรก็ตามมันยากในทางปฏิบัติอยู่ดี  ในเมื่อรัฐบาลไม่สนับสนุน ผู้ผลิตก็ไม่กล้าแหวกไม่มีทุน  แทนที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดกับโทษโน้นโทษนี้ ไม่ปรับปรุงผลงานตนเอง ทั้งๆที่คุณภาพแย่ ฯลฯ คงยากครับที่จะเห็นการ์ตูนไทยที่โดนใจหลายคน

    ส่วนเรื่องคนดูเรื่องมาก ก็อย่าโทษเลยครับ มันเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต ต้องตีโจทย์ทำอย่างไรให้ถูกใจคนดู อย่าลืมว่าคนดูเขาอุตส่าห์เข้ามาดู เสียเวลา เสียเงิน พวกเขาก็ควรได้สิ่งที่ดีๆ ที่คุ้มค่าสิ่งที่เสียไป คนดูเพียงแค่เสนอในสิ่งที่พวกเขาอยากได้เท่านั้น

    ตาสว่างได้แล้วครับว่า เดี๋ยวเรามีคู่แข่งเยอะ ไม่ใช่ยุคที่ขายความเป็นไทย หรือบีบน้ำตาสงสารเพื่อเรียกคนจะเข้าไปดู แต่ผลงานที่ทำออกมาห่วยแตกเกินบรรยาย   ในเมื่อตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น เราก็ต้องผลิตสื่อบันเทิงให้มีคุณภาพขึ้น ทำออกมาให้ดีขึ้น ขายไอเดีย การนำเสนอ เชื่อว่าคนไทยคนไหนก็อยากไปดู เขียนวิจารณ์ออกมาดีๆ ครับ

    อนิเมชั่น 2D ไม่มีวันตาย เพราะถึงยังไง อนิเมชั่น 2D ก็ยังคงเหนือกว่า 3D ตรงที่มันนุ่มนวล การแสดงสีหน้าตัวละครได้ดีกว่า และเราคุ้นเคยกับลายเส้นนี้มากกว่า

    คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลกจริง เพราะเราได้เห็นตัวอย่างอนิเมะไทยๆ ที่ทำออกมาดี ทั้งๆ ที่มีทุนจำกัดมาแล้ว เป็นต้นว่า เมื่อไม่นานมานี้มีอนิเมชั่นไทยสั้นๆ ไม่กี่นาที (ประมาณ 5 นาทีกว่าๆ) ชื่อเรื่อง Circle อนิเมชั่นฝีมือนักศึกษาไทยมีคุณภาพอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นภาพที่เคลื่อนไหวนุ่มนวล กราฟฟิกก็สวยงาม สามารถสร้างตัวละครได้น่าดึงดูด และใช้เทคนิคอนิเมะญี่ปุ่นมาผสมกับความเป็นไทยได้อย่างลงตัว อีกทั้งเนื้อหายังเข้าใจง่าย สื่อถึงวิถีชีวิตและบรรยากาศของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่า “อนันตา” แพ้ราบคาบ

     

     

    Circle อนิเมชั่นฝีมือนักศึกษาไทย

    https://www.youtube.com/watch?v=4hH8J25aRls

     

    Circle เป็นอนิเมชั่นฝีมือคนไทยของคนรุ่นใหม่ ที่น่าจะเป็นคำตอบเป็นอย่างดีว่าอนิเมชั่นไทยควรไปในทิศทางไหน การนำเทคนิคอนิเมะของญี่ปุ่นเอามาใช้ยังไงกลมกลื่นเข้ากัน รวมไปถึงเนื้อหาทำยังไงให้น่าสนใจ แม้ตัวอนิเมชั่นจะไม่ดูหวือหว่า การดำเนินเรื่องก็เรียบง่าย ค่อนข้างธรรมดา แต่กลับสอดแทรกการสอนคนได้อย่างมีชั้นเชิง

    หรือจะเป็นการ์ตูนที่หลายคนชื่นชมว่าทำออกมาน่ารักดีอย่าง  ลา ฟลอร่า  การ์ตูนความรู้ ซึ่งมีแบบอนิเมชั่น หากแต่ของแถมในหนังสือแต่คุณภาพที่ออกมาเหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งๆ เลย  (แถมดีกว่าอนิเมชั่นไทยบางเรื่องด้วยซ้ำ)

    การใช้ตัวละคร หรือการเล่าเรื่องแบบการ์ตูนญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพียงแต่จะปรับยังไงให้เข้ากับความเป็นไทยของเรา ทำยังไงให้เราดูแล้วไม่ขัดหูขัดตา หรือรบกวนสมองว่า “มิ่งก็อปมาใช่เปล่า” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องคิดมากๆ กับการทำอนิเมชั่น (ออริจินอล)ใน แต่ละเรื่อง

    หากการทำผลงาน ออริจินอล การออกแบบตัวละคร เขียนบทเป็นเรื่องยาก ทำไมไม่เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมเอาบทที่เขียนเอง หรือออกแบบตัวละคร จัดงานประกวด หรือเสวนาอนิเมชั่นการ์ตูนไทยให้หลายคนมีส่วนรวม หรอไม่ก็ลองเอานิยายดังๆ อย่าง “คู่กรรม”, “บ้านทรายทอง” มาดัดแปลงเป็นการ์ตูนอนิเมะก็ยังได้ ดูแล้วน่าสนใจไปอีกแบบ แต่สิ่งเหล่านี้แทบไม่เห็นเลย ผู้ผลิตคิดเอง และมโนเอาเองว่าเรื่องแบบนี้เด็กไทยคงชอบ ผลก็ออกมาก็อย่างเห็น

    ผู้ผลิตมักหลงคิดไปเองว่าการ์ตูนอนิเมชั่นที่ดีต้องมีความอลังการงานสร้าง (ซึ่งทำออกมาก็ไม่ได้อลังการแม้แต่น้อย) โดยละเลยการเขียนบท เนื้อเรื่อง รวมไปถึงการนำเสนอ ความจริงแล้วการ์ตูนที่ดีไม่จำเป็นต้องภาพสวย คนไทยเห็นบ่อยแล้วในอนิเมะญี่ปุ่น, หรือดีสนีย์ สิ่งที่พวกเขาอยากจะเห็นก็คือการนำเสนอที่แปลกใหม่ ไอเดียที่โดนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่มีในการ์ตูนไทยครับ

    ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ผู้ผลิตว่าพวกเขาเห็นข้อบกพร่องเหล่านี้หรือเปล่า

     

    สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าบทเรียน “อนันตา ศิลาพิชิตมาร” ก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ผลิตตาสว่างสักเท่าไหร่ ดีไม่ดีก็คงเหมือนเดิม ตราบใดที่ไม่มีคนที่มีความ “กล้า” ไม่ท้าทาย หรือมีความคิดที่สร้างสรรค์ รวมไปถึงรัฐบาลและวงการบันเทิงที่ปิดกั้นสื่อบันเทิงน้ำดีสู่สายตาคนไทย ความฝันที่จะเห็นอนิเมชั่นไทยก้าวไกลก็ยังคงเป็นความฝัน

     

    สรุปคือทำใจครับ

     

     

     

     

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×