ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #196 : O~i! Ryoma เรียวมะที่ผมรู้จัก

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 8.06K
      8
      16 พ.ค. 59


     

                    เมื่อหลายวันก่อน ผมได้ดูภาพยนตร์ซีรีย์เรื่องหนึ่งเรื่อง “เรียวมะ จอมคนพลิกแผ่นดิน” (Ryomaden) ซึ่งมีทั้งหมด 48 ตอน ฉายในปี 2010 กว่าจะดูจบใช้เวลาประมาณ 5 วัน (ดูตั้งแต่ 9 โมงถึงตี 3)

    Ryomaden เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่ดัดแปลงประวัติชีวิตและตำนานซาคาโมโต้ เรียวมะ ที่มีอยู่จริงในช่วงยุคบะคุมัตซึ (ปลายยุคเอโดะ) ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวสีสันไม่แพ้การ์ตูนหรือนิยาย ทั้งที่เป็นคนธรรมดาที่ไม่มียศบรรดาศักดิ์ใดๆ แต่กลับสามารถพลิกโฉมหน้าการปกครองของญี่ปุ่น แต่กว่าที่เรียมวะจะถึงจุดนั้นเขาต้องผ่านอุปสรรค์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความสูญเสีย, เศร้า, เสียใจ, สมหวัง, ความสุข ฯลฯ นานัปการที่ไม่เชื่อเลยว่านี้คือเรื่องราวของชีวิตของคนๆ หนึ่งบนโลกใบนี้

    ในการ์ตูนญี่ปุ่นแล้ว เรียวมะถือว่าเป็นตัวละครที่ปรากฏบ่อยมากๆ พอๆ กับบุคคลสำคัญญี่ปุ่นในยุคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น มือสังหารอิโซ, กลุ่มชินเซ็งงุมิ, คาสึระ ฯลฯ (หากการ์ตูนมีฉากหลังเป็นปลายยุคเอโดะ) เช่นเรื่อง กินทามะ, Nanae Chrono, JIN หมอทะลุศตวรรษ เรียวมะมักปรากฏในภาพลักษณ์ของชายร่างใหญ่บ้าบอ ท่าทางร่าเริงไม่ทุกข์ร้อน ซึ่งความจริงแล้วเก่งวิชาดาบและมีความสามารถรอบด้าน

     

      

    O~i! Ryoma

    ชีวประวัติบุคคล

     

    O~i! Ryoma เป็นการ์ตูนผลงานของ Yu Koyama ซึ่งเป็นผู้วาด Azumi (อาซูมิสวยประหาร) ซึ่งเป็นนักวาดที่เก่งเรื่องประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่ชอบวาดการ์ตูนด้วยลีลาขบขันผสมกับความจริงจัง ซึ่งถือว่าเป็นนักเขียนที่มีฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น โดยการ์ตูนเรียวะวาดขึ้นในปี 1986-1996 มีทั้งหมด 23 เล่มจบ (เล่มหนามาก) และโด่งดังมากจนถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะ 39 ตอน (แต่เนื้อหารวบรัด)โดนสถานี NHK (ซึ่งต่อมาก็ฉายเรียวมะ จอมคนพลิกแผ่นดิน) โดยการ์ตูนจะเล่าถึงตำนานเรียวมะตั้งแต่วัยเด็กจนถึงช่วงโตเป็นผู้ใหญ่

    ที่ว่าตำนานเรียวมะนั้นก็เพราะว่า การ์ตูนจะเล่าประวัติชีวิตของเรียวมะพร้อมกับเพิ่มเติมเรื่องราวของเรียวมะที่ไม่ได้กล่าวในประวัติศาสตร์ลงไปด้วย เช่น เหตุการณ์เรียวมะไปเซียงไฮ้กับกิ๊ก (ซึ่งในประวัติศาสตร์เรียวมะอยู่ญี่ปุ่นตลอด), เรียวมะพบกับท่านโยโด เป็นต้น  (เห็นว่าเนื้อหาการ์ตูนอ้างอิงจากนิยาย Ryoma ga yuku by Ryotaro Shiba)

    ก็น่าปลื้มใจกับคนญี่ปุ่น ที่สร้างผลงานดีๆ อย่างการ์ตูนเรียวมะและภาพยนตร์นั้นผมดูแล้วติดครับ แม้ว่าเรียวมะนั้นเป็นบุคคลที่คนไทยแทบไม่รู้จัก ไม่ได้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (แต่เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังของญี่ปุ่น)  หากแต่ดูแล้วก็รู้สึกอิน เพราะชีวิตของเรียวมะนั้นมีสีสัน ทั้งสนุกและน่าติดตาม จนคนธรรมดาสามารถกลายเป็นคนยิ่งใหญ่มันเป็นอะไรที่สุดยอดมาก ดูแล้วหันมาดูละครไทยมีแต่ตบตีแย่งผัว น่าอนาถใจ เมื่อไหร่หน่อที่ละครไทยจะนำประวัติชีวิตของคนสำคัญของไทยแบบเรียวมะมาสร้างบ้าง

    ในการ์ตูนนั้นเริ่มต้นเมื่อซาคาโมโต้ โทเมะ ลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัว (ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่เรียวมะให้ความเคารพมากที่สุดเพราะทำหน้าที่เป็นทั้งพี่สาวและแม่อีกทั้งยังเป็นหัวหน้าครอบครัว) ได้เห็นดาวหางปรากฏอยู่ใกล้ปราสาทโกจิ ในช่วงที่แม่ของเรียวมะกำลังจะคลอดลูกชายคนเล็กของครอบครัว (เรียวมะเป็นบุตรชายคนเล็กคนที่ 5 ของครอบครัว ประกอบไปด้วย พี่ชาย, พี่สาวคนโต พี่สาวคนรอง และพี่สาวคนที่สาม) และเธอก็ได้เห็นดาวทางปรากฏเป็นมังกรและม้า และโทเมะตะโกนไปว่า "ขอให้เด็กที่เกิดคืนนี้เป็นเด็กชาย และฉันสัญญาว่าจะทำให้เขาเป็นซามูไรที่แข็งแกร่ง!” ซึ่งหลังจากที่ดาวหางหายไป โทเมะก็กลับบ้านและพบว่าเด็กที่ผู้ชายจริงๆ ( เรียวมะนั้นเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 1836) และเป็นเด็กชายที่ประหลาดคือเกิดมามีผมยาวที่ด้านหลัง และเธอก็ตั้งชื่อเด็กายว่าเรียวมะ ซึ่งหากเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นจะมีคำว่ามังกรและม้าปรากฏอยู่ในตัวอักษรดังกล่าว (ตามประวัติแล้วแม่ของเรียวมะฝันเห็นมังกรทะยานฟ้าและพ่อเห็นม้ากระโจนเลยตั้งชื่อเป็นเรียวมะ)

    เรียวมะนั้นเกิดในครอบครัวตระกูลนักรบระดับล่าง (โกชิ) แห่งแคว้นโทสะ ซึ่งว่ากันว่าแคว้นโทสะนั้นเป็นแคว้นที่ซามูไรระดับล่างมักโดนถูกซามูไรระดับสูงกดขี่มากที่สุด ชนิดเรียกว่าซามูไรระดับล่างเป็นขี้ข้าที่ถูกปฏิบัติราวกับหนูและแมงสาบ ซึ่งในการ์ตูนได้นำเสนอความไม่เสมอภาคนี้ผ่านสายตาของเรียวมาชนิดเข้มข้น  จนคนอ่านเกิดแล้วอารมณ์เดือดแค้นต่อการกระทำของซามูไรชั้นสูงเหล่านี้ไม่มากก็ไม่น้อย

     
                 อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของเรียวมะนั้นไม่ได้สนกับเรื่องเหล่านี้มากนัก เพราะว่าครอบครัวของเรียวมะ แม้จะเป็นซามูไร หากแต่อาชีพหลักเป็นพ่อค้า ที่มีรายได้มากะพอสมควร (แถมออกเงินกู้ให้ซามูไรชั้นสูงอีก) ทำให้ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน ชนิดเรียกว่าสามารถเรียกดูลูกทั้ง 5 คน และคนใช้ได้สบาย โดยไม่เดือดร้อนอะไรเลย

    เรียวมะเติบโตอย่างรวดเร็ว หากแต่สิ่งที่โทเมะต้องหนักใจ คือเรียวมะในตอนแรกนั้นเป็นเด็กที่มีนิสัยอ่อนโยน แต่มีนิสัยขี้ขลาดตาขาวและขี้แย ถูกเย้ยหยันและโดนรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียน และไม่มีเพื่อน ทำให้โทเมะและแม่ต้องเข้าไปปลอบเรียวมะเสมอ ซึ่งแม่ของเรียวมะสอนให้เรียวมะยิ้ม โดยให้เขาพูดว่า “อูมิ”  (แปลว่าอะไรผมลืมไปแล้ว) ส่วนพี่สาวโทเมะก็พาเรียวมะไปฝึกดาบเพื่อป้องกัน ต่อมาเรียวมะก็ได้รู้จัก “ ฮัมเปตะ ทาเคชิ ” (ซึ่งต่อมาก็เป็นอาจารย์ทาเคชิ) และ “โอเคดะ อิโซ” (ซึ่งต่อมาก็ถูกเรียกว่ามือสังหารอิโซหรืออิโซนักสับคน) ซึ่งต่อมาทั้งสามก็ได้เป็นเพื่อนกัน เล่นหัวกันและกัน เรียกมะก็เริ่มยิ้มแย้มและมีเพื่อนฝูงมากมาย

      

                    อย่างไรก็ตามชีวิตที่ยิ้มแย้มของเรียวมะก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อเขาเห็นเพื่อนฝูง (คนหนึ่ง) ถูกซามูไรชั้นสูงฆ่าตาย เนื่องจากไปขัดขวางทางเดินของท่านโยโดเข้า

                    ท่านโยโด หรือ ยะมะนุจิ โยโด เป็นไดเมียวคนที่ 15 แห่งแคว้นโทสะ  ซึ่งเป็นบุคคลที่หลายคนยอมรับในช่วงปลายยุคโอดะ ที่แม้ว่าจะมีนโยบายสนับสนุนรัฐบาลโทคุงาวะ หากแต่ต่อมาโยโดได้อ่านเกมและเปลี่ยนความภักดีมาเป็นผู้สนับสนุนให้รัฐบาลมอบอำนาจให้จักรพรรดิ และต่อมาเขาก็เบื้องหลังในการควบคุมรัฐบาลและเสียชีวิตจากการดื่มหนักในปี 1872  

                    ก่อนที่จะหลายคนสับสน งง ก็ขอเล่าง่ายๆ ว่าในเวลานั้นญี่ปุ่นไม่ได้ปกครองแบบในปัจจุบัน โดยญี่ปุ่นจะปกครองโดยแบ่งเป็นแคว้นต่างๆ หลายแคว้น แต่ละแคว้นจะมีไดเมียว(เจ้าเมืองปกครองอยู่) โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐบาลที่มีโชกุนที่สืบเชื้อสายมาจากโทคุงาวะเป็นผู้นำ ส่วนจักรพรรดิเป็นคอยคควบคุมโชกุนอีกที (แต่จักรพรรดิไม่มีอำนาจปกครอง เพราะการปกครองอยู่ที่โทคุงาวะหมด)

                    ท่านโยโด ในการ์ตูนเรียวมะนั้นถือว่าไปเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจจริงๆ เพราะไม่ว่าสื่ออะไร ยกเว้นในภาพยนตร์เท่านั้นที่แสดงให้ว่าท่านโยโดก็เป็นคนมีเหตุมีผลบ้าง และเป็นคนที่มองการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง อ่านทิศทางลมเก่งและปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ดี หากแต่ในการ์ตูนเรียวมะได้นำเสนอให้ท่านโยโดเป็นบุคคลที่เรียวมะรังเกียจในชีวิต  โดยครั้งแรกคือโทโยได้สั่งให้ซามูไรชั้นสูงฆ่าเพื่อนของเรียวมะตาย ทำให้เรียวมะโกรธมาก จึงพุ่งเข้าไปหมายฆ่าท่านโยโด แต่ทาเคชิได้ห้ามเอาไว้ และขอให้โยโดยกโทษให้ โยโดเลยไม่ติดใจเอาความ หากแต่สิ่งคนมาลงโทษครอบครัวของเรียวมะแทนซึ่งครอบครัวของเรียวมะต้องทนที่ต้องรับใช้คนของโยโด (กินเหล้ากับปลาแล้วไม่จ่ายเงิน) ส่วนแม่ของเรียวมะต้อนรับซามูไรชั้นสูง ทั้งที่ตนเองร่างกายอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว และเพราะเหตุนี้เองทำให้แม่ของเรียวมะร่างกายทรุดหนักจนเสียชีวิต เป็นเหตุทำให้เรียวมะเสียใจมาก และเกิดความคิดเครียดแค้นระบบศักดินามากยิ่งขึ้น

               (ในการ์ตูนนั้นท่านโยโดสร้างความแค้นแก่เรียวมะไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นการไม่เห็นหัวซามูไรระดับล่าง เพราะความเอาแต่ใจของตนเองทำให้พ่อของเรียวมะทรุดหนัก หรือเป็นคนฆ่าทาเคชิและอิโซซึ่งเป็นเพื่อนของเรียวมะตาย ในการ์ตูนในเรียวมะได้พบท่านโยโดครั้งแรกตั้งแต่เด็ก หากแต่ในภาพยนตร์ Ryomaden เรียวมะพบท่านโยโดครั้งแรกในตอนโตเป็นผู้ใหญ่ขณะเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์คัตซึ)

                    หลังจากนั้นการ์ตูนก็กระโดดข้ามไปช่วงที่เรียวมะอายุ 16 ปี ซึ่งไม่ว่าจะสื่อไหนๆ มักให้เรียวมะมีภาพรักษ์เป็นคนสดใสร่าเริง ง่ายๆ สบายๆ  ผมยุ่งมากกว่าจะไว้ผมแบบซามูไร (แสดงให้เห็นถึงความอิสระ ไม่ยึดในกรอบ) เป็นคนตัวสูง   ช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เมื่อญี่ปุ่นต้องเผชิญการรุกรานของต่างประเทศ บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศเพื่อค้าขายกับต่างชาติ หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นโดดเดี่ยวมานานหลายร้อยปี ทำให้รัฐบาลโทคุงาวะต้องออกคำสั่งให้แคว้นต่างๆ เตรียมเข้าสู่สงคราม หากแต่เมื่อเจอเรือดำ (เรือรบ) ของต่างชาติและอาวุธที่ทันสมัยก็เข่าอ่อน รัฐบาลได้ให้ต่างชาติเข้ามาในต่างประเทศ และยอมทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส ที่เห็นได้ชัดว่าชาวต่างชาติกะจะสูบทรัพยกรของญี่ปุ่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นเหตุทำให้ชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะซามูไรระดับล่างล่างไม่พอใจ ประกอบกับความอดทนที่ถูกดขี่ได้มาถึงขีดสุด หลายฝ่ายจึงถกเถียงว่าจะทำอย่างไรกับพวกต่างชาติเหล่านี้ดี จนแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายขับไล่ต่างชาติ และฝ่ายสนับสนุนต่างชาติ

             ในตอนนั้นเรียวมะยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนัก เรียวมะกำลังอยู่ระหว่างในการฝึกฝนวิชาดาบต่างแคว้นจนสำเร็จวิชาดาบสายฮัตโตริว ทำให้เรียวมะมีฝีมือเก่งกาจในเรื่องดาบมาก (หากแต่เกือบชั่วชีวิตของเรียวมะไม่เคยเอาชักดาบออกจากฝักเพื่อหมายฆ่าศัตรูเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในภาพยนตร์ Ryomaden จะเห็นว่าเวลาที่เรียวมะสู้กับศัตรูจะไม่เคยใช้ดาบเลย ขนาดตอนชินเซ็นบุกเรียวมะยังใช้ปืนยิงต่อสู้!! มากกว่าใช้ดาบ) ในเวลานั้นเรียวมะได้เห็นความไม่พอใจซามูไรระดับล่างต่อระบบศักดิ์นาหลายคน ทำให้เรียวมะเริ่มสับสนเกี่ยวกับหน้าที่ของซามูไรและสิทธิเสรีภาพ

                    หลังจากนั้นเรียวมะก็พบบุคคลหลายคน เป็นต้นว่า ชาวต่างชาติชาวอเมริกาที่เรียวมะช่วยเหลือเขาตอนเด็ก (ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีในประวัติชีวิตเรียวมะ), จอห์น มันจิโร่ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่อาศัยอยู่ในอเมริกา (ผมจำไม่ค่อยได้แล้วว่าเรียวมะพบจอห์นตอนไหน)  ก็ได้เกิดความคิดที่ว่าเราควรปรับตัวให้กับโลกใหม่ มากกว่าจะขับไล่ต่างชาติ

                    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรียวมะจะคิดการใหญ่ แต่ในตอนนั้นเขายังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไรก่อน เมื่อกลับจากโทสะเขาก็ถูกทาเคชิชักชวนให้เขากลุ่มจงรักภักดีแห่งแคว้นโทสะ เนื่องจากเรียวมะเป็นคนมีฝีมือและยังเป็นที่ยอมรับของเพื่อนฝูง

                     
                   
    ฮัมเปตะ ทาเคชิ ( 1829-1865) เป็นเพื่อนสมัยเด็กของเรียวมะ ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มภักดีของโทสะ ซึ่งได้รวบรวมซามูไรระดับล่างมาเป็นกำลังพลของกลุ่ม โดยมีแนวคิดว่า “เทิดทูนจักรพรรดิ ขับไถ่ต่างชาติป่าเถื่อน” ซึ่งอยู่ฝ่ายขับไล่ เน้นความรุนแรง มากกว่าประนีประนอม ซึ่งแผนของการทำให้แคว้นโทสะเข้ามามีบทบาททางการเมือง หากใครขวางต้องตาย โดยหากพบศัตรูมาขัดขวางทาเคชิมักใช้โอะคะดะ อิโซ และทะนะกะ ชิมเบ ซึ่งเป็น 2 ใน 4 มือสังหารแห่งยุคปลายเอโดะ (อีกคน ก็เคนชินจากซามูไรพรเนจร)

                     
                 
    โอะคะตะ อิโซ (1832-1865) นั้นเป็นเป็นเพื่อนสมัยเด็กของเรียวมะเหมือนกัน เป็นคนเร่รอน สกปรก ที่ต่อมาได้กลายเป็นมือสังหารแห่งยุคปลายโอดะอันลือเลื่อง ซึ่งเคยปะทะกับขบวนการ
    กลุ่มชินเซ็งงุมิหลายครั้ง

                    เรื่องราวของอิโซนั้นเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่น และมักปรากฏตัวเป็นตัวละครในการ์ตูนมากมาย ด้วยบุคลิกนักดาบที่ดูชั่วร้าย หรือไม่ก็มือสังหาร อย่างไรก็ตามส่วนมากในภาพยนตร์หรือการ์ตูนเรียวมะจะสร้างภาพ อิโซเป็นคนอ่อนโยน แต่มีความโง่เขล่า ที่อบากให้คนอื่นเห็นคุณค่าของตนเอง และนับถือทาเคชิเป็นอย่างมาก หากทาเคชิสั่งอะไรอิโซจะทำตามโดยไม่มีบกพร่อง ยกเว้นการพลาดครั้งสุดท้าย เมื่อคันซึถูกสั่งให้ไปฆ่าคัตซึ หากแต่ต่อมาอิโซก็ได้เปลี่ยนใจมาอยู่กับเรียวมะและทำหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดอาจารย์คันซึ ต่อมาโทสะมีประกาศเรียกซามูไรของตนกลับแคว้น ทำให้อิโซไม่มีที่ไป (เพราะรู้ว่าหากไปตนต้องรับโทษแน่นอนจากคดีฆ่าคน) เลยกลายเป็นคนเร่รอน หนีหัวซุกหัวซุน และต่อมาก็ถูกจับส่งไปโทสะ ถูกทรมานและประหารชีวิต ตายพร้อมกับทาเคชิ

                ทางคนใหญ่คนโตของแคว้นโทสะเองก็ระมัดระวังกลุ่มของทาเคชิ เพราะกิจกรรมของกลุ่มเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาลโทคุงาวะ (รัฐบาลโทคุงาวะอยู่ฝ่ายเปิดประเทศ) โดยซามูไรชั้นสูงคนหนึ่งชื่อ โกะโท โชจิโรได้เห็นปัญหาดังกล่าวเลยเรียกตัวอิวาซะกิ ยาทาโร มาช่วยจับตากลุ่มภักดีแห่งโทสะและเรียวมะซึ่งเป็นบุคคลอันตรายพอๆ กับทาเคชิ

                     
                   โกโต้ โชจิโร่
    (1816-1862)  เป็นข้าราชการชั้นสูงแห่งแคว้นโทสะ ซึงภายหลังเป็นรัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาล และเป็นคนสำคัญของแคว้นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือในภาพยนตร์เรียวมะ โชจิโร่นั้นมีความเกลียดชังเรียวมะมาก เนื่องจากนิสัยส่วนตัวเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ชอบกดขี่ซามูไรชั้นผู้น้อยอยู่แล้ว และถูกเรียวมะลบหลู่หลายครั้ง (ในการ์ตูนก็โดนตั้งแต่เด็ก ส่วนในภาพยนตร์ก็แอบสะใจเล็กๆ) อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังโชจิโร่ก็ลืมความแค้นที่มีต่อเรียวมะและมีส่วนร่วมในการเจรจาให้ท่านโยโดเขียนคำขอให้จักรพรรดิคืนอำนาจให้จักรพรรดิ และมีบทบาทในการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นในอนาคต

                      
                    
    ส่วน อิวาซะกิ ยาทาโร่ (1 กันยายน 1835 - 7 กุมภาพันธ์ 1885) เป็นซามูไรและผู้ก่อตั้งบริษัทมิตซูบิชิ ซึ่งในการ์ตูนพึ่งพบเรียวมะในช่วงอยู่กลุ่มของทาเคชิ หากแต่ในภาพยนตร์นั้นยาทาโร่นั้นรู้จักเรียวมะตั้งแต่เด็ก จะเรียกว่าเป็นเพื่อนสนิทก็ว่าได้ (แถมการเล่าเรื่องก็เป็นมุมมองของยาทาโร่ในช่วงตั้งกลุ่มบริษัทมิตซูบิชิไว้ด้วย)

                    ว่ากันว่ายาทาโร่นั้นเกลียดชังเรียวมะ เนื่องจากเรียวมะมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ในกรอบ  อีกทั้งเพื่อนฝูงมาก ในขณะที่เขาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของซามูไรชั้นสูงแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำบ้านก็ยากจน ครอบครัวเป็นเกษตรกร และต้องเลี้ยงดูครอบครัวทั้งพ่อ แม่ น้องชาย และเมีย (ในภาพยนตร์ก็เน้นเรื่องครอบครัวของยามาโร่เป็นพิเศษ กล่าวคือ แม้จะยากจนแต่ครอบครัวของยาทาโร่ก็อบอุ่น มีเมียสวยจนชาวบ้านต้องอิจฉา อีกทั้งยาทาโร่ก็รักครอบครัวมาก แม้รวยก็ไม่ลืมตีนครอบครัว พาครอบครัวไปอาศัยอยู่ด้วย หลังจากที่ยาทาโร่เสียชีวิตจากมะเร็ง ก็ให้น้องชายสืบทอดต่อและบริษัทมิตซูบิชิก็เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน) ซึ่งยาทาโร่ต้องรับใช้โทโย และได้ต่อมาก็ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มการค้าของโทสะ ภายหลังก็แบกตัวออกมาค้าขาย จนกลายเป็นมิซูบิชิและเป็นคำสำคัญของรัฐบาลต่อมา

                ต่อมาเรียวมะได้ขอออกจากกลุ่มของทาเคชิ เพราะคิดว่าแนวคิดของทาเคชิเน้นความรุนแรง อีกทั้งไม่ได้ช่วยให้ญี่ปุ่นพ้นภัยต่างชาติได้ จากนั้นเรียวมะก็มีความคิดออกจากแคว้น สำหรับซามูไรแล้วการออกจากแคว้นของตนเองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎ และจะถูกเรียกว่า “โรนิน” (ซามูไรไร้สังกัด) ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผิดกฎหมาย หากจับได้จะถูกลงโทษ (ทั้งครอบครัว) หากผู้ใดให้ที่พักพึ่งต้องถูกลงโทษไปด้วย หากแต่เวลานั้นมีซามูไรหลายนายหนีออกจากแคว้นเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการปกครองและต้องการเคลื่อนไหวกิจกรรมในการต่อต้านชาวต่างชาติไปด้วย ซึ่งเรียวมะเองก็ได้ตัดสินใจออกจากแคว้นเพื่อไปตามทางของตนเอง

                    จากนั้นช่วงเวลาประวัติชีวิตของเรียวมะก็ขาดหายไป จนเป็นเหตุทำให้การ์ตูนหลายๆ เรื่องนำช่วงเวลานี้ของเรียวมะเป็นแต่งเนื้อเรื่องราวใหม่ เช่นในการ์ตูนเรียวมะนั้นเรียวมะได้ไปเชียงไฮ้และเจอทากาซุงิ ชินซะกุ แห่งแคว้นโจชู (ที่หลายคนอวยกัน) เห็นการต่อต้านราชวงศ์ชิงเลยประทับใจจนต้องขอกลับไปญี่ปุ่นโดยล้มล้างรัฐบาล หรือจะเป็นการ์ตูนเรื่อง Hiwou War Chronicles ซึ่งนำเสนอเรียวมะผจญศึกหุ่นตุ๊กตากลยักษ์ร่วมกับเด็ก (ตามประวัติแล้วนิสัยของเรียวมะเป็นคนรักเด็ก)  เป็นต้น

                      

                    ย้อนกลับไปทางด้านแคว้นโทสะสักนิด หลังจากที่เรียวมะออกจากแคว้นโทสะมาได้ไม่นาน ก็เกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เมื่อทาเคชิได้ตัดสินใจผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อได้สั่งพรรคพวกของตนฆ่าโยชิดะ โทโยที่ปรึกษาคนสำคัญของท่านโยโดและเป็นซามูไรชั้นสูงที่รังเกลียดซามูไรชั้นต่ำ อีกทั้งยังมีฝ่ายสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ เป็นเหตุทำให้ทาเคชิไม่พอใจ  ผลสุดท้ายพรรคพวกของทาเคชิก็ได่ฆ่าโทโยในขณะออกจากปราสาทท่านโยโด เพื่อตัดปัญหา โดยหารู้ไม่ว่าทาเคชินั้นทำผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ เพราะการฆ่าโทโยนั้นยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซามูไรชั้นสูงและชั้นต่ำเลวร้ายลงยิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้ท่านโทโยโชจิโรซึ่งเป็นหลานของโทโยไม่พอใจ และพยายามหาเรื่องลงโทษทาเคชิมาโดยตลอด

                    (ในการ์ตูนเรียวมะนั้น โทโยเป็นคนน่ารังเกียจพอๆ กับท่านโยโด หากแต่ในภาพยนตร์เรียวมะ โทโยก็ถือว่าเป็นคนมีเหตุผลคนหนึ่ง หากใครที่มีความสามารถต่อให้มียศต่ำต้อยก็จะให้เป็นผุ้ติดตาม ซึ่งโทโยหมายตาเรียวมะเอาไว้ หากแต่เรียวมะปฏิเสธ)

                      
               
    ทางด้านเรียวมะนั้นหลังจากที่เดินทางไปที่ต่างๆ ของญี่ปุ่น จนกระทั้งเดินทางมาถึงเอโดะ ก็ได้พักอาศัยในโรงฝึกจิบะที่เรียวมะเคยฝึกดาบสายฮิตโตริวพักใหญ่ ในเวลานั้นเรียวมะกำลังมืดแปดด้านไม่รู้จะทำยังไงดี ในเวลานั้นเองลูกชายเจ้าของโรงฝึกก็ได้ชักชวนเรียวมะฆ่าชายคนหนึ่งชื่อคัตสึ ไคชูซึ่งเป็นคนของรัฐบาลที่มีความคิดที่สนับสนุนให้ชาวต่างชาติเข้าย่ำยีประเทศ เรียวมะได้ฟังก็เห็นด้วย และวันที่ไปที่จวนของคัตสึนั้น คัตสึก็ได้เห็นเรียวมะว่าอยากเอาชีวิตตน คัตสึเลยขอให้เรียวมะได้ฟังแนวคิดของเขาต่อประเทศญี่ปุ่นเสียก่อนจึงคอยฆ่าเขา แนวคิดนั้นคือการเรียนรู้วิทยาการของต่างชาติให้เท่าเทียมกับตะวันตก โดยการสร้างกองทัพเรือที่เข้มแข็งจนต่างชาติไม่กล้าต่อกร เรียวมะได้ฟังดังนี้แล้ว จึงเลิกฆ่าคัตซึและฝากตัวเป็นศิษย์ และได้กลายเป็นผู้ช่วยและผู้คุ้มกันที่ไวใจได้ของคัตสึไป (เรื่องเรียวมะจะฆ่าคัตสึนั้นเป็นตำนานที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าสื่อใดๆ ไม่นำเสนอเหตุการณ์นี้ทั้งสิ้น หากแต่ในภาพยนตร์เรียวมะแค่ไปหาคัตสึเพราะได้ยินนโยบายที่จะช่วยญี่ปุ่นรอดพ้นจากต่างชาติ หากแต่ครั้งแรกเรียวมะไม่ได้สนใจคัตสึมากนัก ขณะเดียวกันคัตสึก็ไม่ได้สนใจเรียวมะเช่นกัน กว่าที่ทั้งสองจะจูงเครื่องเข้าหากันได้ก็ใช้เวลาพักใหญ่)

                    คัตสึ ไคชู (1823-1899) เป็นนายทหารเรือและเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาล แม้จะเป็นคนของรัฐบาล แต่มักมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่อนโยบายรัฐบาลอยู่เสมอ ทำให้หลายคนไม่ชอบขี้หน้า และด้วยแนวคิดการเรียนรู้วิทยาการของต่างชาติทำให้หลายฝ่ายคิดว่าคัตสึนั้นเป็นพวกสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ซึ่งมีบทบาทวางรากฐานกองทัพเรือแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยในการ์ตูนมักวาดอาจารย์ในลักษณะเป็นคนตัวเล็กและมีนิสัยใจกว้าง

                    หลังจากนั้นเรียวมะก็ช่วยทำธุระกับอาจารย์คัตสึมากมาย โดยเฉพาะการวิ่งวุ่นหาเงินสนับสนุนสร้างฐานทัพเรือที่โกเบ เรียวมะต้องไปมาระหว่างแคว้นต่างๆ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้าง เรียวมะจำเป็นต้องอธิบายว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสร้างอนาคตที่จะเห็นผลคุ้มค่าในวันข้างหน้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นเรียวมะมีพรสวรรค์ในการเจรจาให้อีกฝ่ายคล้อยตามได้อย่างชาญฉลาด นอกจากนั้นเรียวมะก็ชักชวน เพื่อนในแคว้นโทสะเข้ามาเรียนในโรงเรียนเดินเรือของอาจารย์คันซึ หรือแม้แต่ชวนกลุ่มภักดีของทาเคชิที่เกลียดคัตสึ เพราะว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนเปิดประเทศ หากแต่เมื่อเข้ามาเรียนในโรงเรียนและศึกษาวิทยาการต่างชาติซึ่งเขามักเล่าเรื่องเหล่านี้ของเขาในระหว่างนั้นส่งให้โอโทเมะพี่สาวของเขาอยู่บ่อยๆ

                   
                     
    แม้หน้าตาเรียวมะจะเหมือนปลาบู่ชนเขื่อนแต่ด้านชีวิตรักนั้นเรียวมะก็ไม่แพ้ใครหน้าไหนเหมือนกัน เนื่องจากเรียวมะได้เดินทางไปที่ต่างๆ ทำให้เขารู้จักคนมากมายหลายตา รวมถึงผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตของเขา ในการ์ตูนหรือภาพยนตร์นั้นเรียวมะก็รู้จักผู้หญิงหลายคน (ทั้งมีตัวตนและไม่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์) ตัวอย่างผู้หญิงที่มักกล่าวถึงบ่อยๆ คือฮิรากิ คาโอะน้องสาวของเพื่อนสนิทเรียวมะซึ่งเป็นรักแรกของเรียวมะและชานะลูกสาวครูดาบจิบะ และแอบหลงรักท่านเรียวมะ หากแต่เนื่องจากสถานะและการใช้ชิวตทำให้สาวๆ เหล่านั้นต้องแห้วอย่างช่วยไม่ได้ ว่ากันว่าผู้หญิงที่รู้จักเรียวมะนั้นแทบจะไม่มีความรู้สึกอยากแต่งงานกับชายคนอื่นนอกเหนือเรียวมะเลย เพราะไม่มีบุรุษชายผู้ใดยิ่งใหญ่กว่าเรียวมะอีกแล้ว ดั่งที่เห็นในภาพยนตร์

                    อย่างไรก็ตามคู่ชีวิตของเรียวมะนั้น คือโอเรียว ในเรื่องกินทามะก็ปรากฏตัวในไม่กี่ฉาก เป็นผู้หญิงที่ดูเยือกเย็นไม่ยิ้มแย้ม ซึ่งก็ตรงกับประวัติเรียวมะว่าไว้ โดยที่เรียวมะรู้จักกับโอเรียวในขณะที่อยู่เกียวโต ระหว่างพักในโรงเตี้ยมเทราดะซึ่งเป็นที่เขามักมาพักประจำระหว่างที่อยู่เกียวโต ในตำนานบอกเล่าว่าเรียวมะรู้จักโอเรียวมะเป็นผู้หญิงใจเด็ดที่พยายามจะบุกเดี่ยวสู้กับพวกยากูซ่าที่จับน้องสองสาวไปเพื่อขัดหนี้เงินกู้ เรียวมะจึงช่วยเหลือด้วยการออกเงินมาให้ นับจากนั้นเป็นต้นมาเรียวมะก็รู้จักโอเรียว และมักไปพักบ้านเธออยู่บ่อยๆ

                    ในระหว่างนั้นเองที่เกียวโตก็เริ่มอยู่สถานการณ์ที่ตึงเครียด เมื่อฝ่ายสนับสนุนเปิดประเทศและฝ่ายขับไล่ทะเลาะกันว่าจะเอายังไงกับฝ่ายต่างชาติดี อย่างไรก็ตามรัฐบาลที่สนับสนุนฝ่ายเปิดประเทศนั้นมีอำนาจมากกว่า ซึ่งในเวลานั้นมีเพียงแคว้นโจชูเท่านั้นที่เป็นแคว้นขับไล่ต่างชาติ ในขณะแคว้นอื่นๆ เห็นด้วยกับรัฐบาลหมด และภายหลังขุนนางและผู้ให้สนับสนุนแคว้นโจชูก็ถูกแคว้นซัตสึมะซึ่งเป็นแคว้นที่มีอิทธิพลมากในขณะนั้นขับไล่จากพระนครทำให้แคว้นชูผูกใจเจ็บกับแคว้นซัตสึมะชนิดไม่ขออยู่ร่วมโลกกันก็ว่าได้

                    ผลจากแคว้นโจชูที่เคยมีอิทธิพลในราชสำนักถูกขับไล่จากเกียวโต ทำให้รัฐบาลมีอำนาจและมีอิทธิพลอยู่เหนือจากจักรพรรดิญี่ปุ่นในเวลานั้น อีกทั้งฝ่ายผู้ขับไล่ก็ได้กลายเป็นกบฏต่อชาติและเป็นศัตรูกับรัฐบาล ซึ่งส่งผลต่อกลุ่มของทาเคชิแบบเต็มๆ อีกทั้งท่านโยโดและโชจิโร่เองก็เห็นโอกาสอันนี้ทำลายกลุ่มของทาเคชิ ด้วยการจับกุมทาเคชิและพรรคพวก (รวมไปถึงอิโซ) เนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารโยะชิดะ โทโย ต่างชาติ และถูกตัดสินให้จบชีวิตตนเองด้วยการคว้านท้องและอิโซถูกตัดคอ ซึ่งเมื่อเรียวมะทราบข่าวก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก

                             
                 
    และระหว่างนั้นเองเรียวมะก็ได้รู้จักชินเซ็นงุมิ กลุ่มซามูไรที่บ้านเรารู้จักกันดี ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมโรนินมีฝีมือ ทำหน้าที่เหมือนตำรวจออกมาดูแลความสนุกในเมืองเกียวโตจากผู้ก่อการร้ายที่หวังจากทำลายรัฐบาล โดยผปู้นำกลุ่มที่เรารู้จักกันดีก็ เช่น คอนโด้ อิซามิ , ฮิติคาตะ โทชิโซ และโอคิตะ โซจิ ที่สาวๆ เอามาจิ้นวายกันอุตลุตโดยหารู้ไม่ว่าหน้าจริงในประวัติศาสตร์นั้นยิ่งกว่าปลาบู่ชนเขื่อนของเรียวมะเสียอีก

                    ในการ์ตูนเราเห็นเหล่าชินเซ็นงุมินั้นเป็นฝ่ายธรรมะ มาดเท่ แต่ความจริงแล้ววิธีการต่อสู้ของชินเซ็นงุมินั้นเน้นแบบหมาหมู่ ประมาณว่าหากเห็นศัตรูเดินตามท้องถนน พวกเขาสามารถตัดสินฆ่าได้ ณ ที่นั้น เวลาสู้จะใช้กำลังสามคนรุมเพียงคนเดียว แยกด้านหน้าและขวา เพื่อความปลอดภัย ทำให้หลายคนมักด่าว่าชินเซ็นงุมิว่าพวกสุนัขรัฐบาล หรือพวกหมาหมู่อยู่บ่อยๆ  

    เรียวมะต้องปะทะกับกลุ่มชินเซ็นงุมิอยู่บ่อยๆ เพราะกลุ่มชินเซ็นงุมินั้นมองเรียวมะเป็นศัตรูที่มีความคิดล้มล้างรัฐบาล เวลาที่เรียวมะมาเกียวโตเมื่อไหร่ก็จะโดนชินเซ็นงุมิไล่ล่าเมื่อนั้น หากแต่ส่วนมากเรียวมะมักรอด เพราะว่ามีหลายคนให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือคนใหญ่คนโต อีกทั้งยังมีทักษะการต่อสู้สูงทำให้หนีรอดมาหลายครั้ง

                    ปี ค.ศ. 1864 กลุ่มชินเซ็นกุมิได้ฆ่าพวกซามูไรจากโจชูที่แอบลักลอบเข้าเกียวโตเพื่อวางแผนก่อความวุ่นวายเผาเกียวโตและจักรพรรดิที่โรงเตี๊ยมอิเคดะ  ซึ่งในจำนวนที่ซามูไรที่ถูกฆ่านั้นมีเพื่อนของเรียวมะจากโทสะที่หนีจากกองทัพเรือรวมอยู่ด้วย (ในการ์ตูนมีสองคน ในภาพยนตร์มีหนึ่งคน ซึ่งผมก็จำไม่ค่อยได้แล้วว่าชื่ออะไร) ผลของเหตุการณ์ทำให้รัฐบาลโชกุนโทคุงะวะเริ่มดำเนินนโยบายการปกครองไปในทางที่แข็งกร้าวมากขึ้น ทำให้แคว้นโจชูเป็นศัตรูของรัฐบาลที่ต้องถูกกำจัดถอนรากถอนโคน ต่อมาทหารโจชูได้นำทัพบุกไปที่เกียวโต หากแต่ต้องปะทะกับกองทัพของนัตสึมะ จนเกิดเป็นสงครามนองเลือดกลางเมืองขึ้น สุดท้ายโจชูต้องพ่ายแพ้และต้องถอนกำลังออกไป เหตุดังกล่าวทำให้แคว้นโจชูแค้นนัตสึมะมากยิ่งขึ้นไปอีก ชนิดอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ (ในการ์ตูนเรียวมะ เรียวมะก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และได้พบไซโก้ ทากาโทริครั้งแรก แต่ในภาพยนตร์เรียวมะอยู่ที่โกเบ)

    ทางด้าน คัตสึ ไคชูที่เป็นไม้เบื่อไม้เมารัฐบาลมานาน (เพราะชอบออกความเห็นขัดใจรัฐบาล) ก็ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้ากรมทหารเรือ และศูนย์ฝึกทหารเรือที่โกเบได้ถูกรัฐบาลสั่งปิดเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มซามูไรหัวรุนแรง (เนื่องจากมีคนของกองทัพเรืออยู่ในกลุ่มก่อการร้ายในโรงเตี๊ยมอิเคดะด้วย) แน่นอนการสั่งปิดทหารเรือโกเบ ทำให้เรียวมะกับพรรคพวกจากโทสะไม่มีที่ไป กลับแคว้นโทสะก็ไม่ได้ เพราะหากพวกเขากลับจะมีโทษ (เนื่องจากพรรคพวกเรียวมะผ่าฝืนการเรียกตัวกลับ)

    อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหารู้ไม่ว่าการตัดสินใจครั้งนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรง แทนที่จะเก็บเสือไว้อยู่กับตัว กลับปล่อยเสือเข้าไปในป่า เนื่องจากเวลานี้เรียวมะและพรรคพวกมีทักษะเดินเรือและวิทยาการของต่างชาติค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีอุดมการณ์ที่จะล้มล้างรัฐบาลอย่างแรงกล้า และได้กลายเป็นตัวอันตรายอย่างใหญ่ หลวงที่ส่งผลร้ายต่อรัฐบาลในเวลาต่อมา

                    ระหว่างที่พวกเรียวมะกำลังไร้ทางออกอยู่นั้นเอง แสงสว่างเล็กๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของเรียวมะก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อคัตสึเห็นว่าพวกเรียวมะไม่มีที่ไป คัตสึให้แนะนำเรียวมะไปฝากตัวไซโก้ ทากาโทริ

     
                     
    ทากาโทริ ไซโก้  (1823-1877) เป็นซามูไรที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเอโดะจนถึงยุคเมจิ ซึ่งถูกขนานนามว่า “ซามูไรคนสุดท้ายของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง” ซึ่งตอนที่พบเรียวมะนั้นเป็นถึงข้าราชการชั้นสูงและผู้บัญชาการทหารของแคว้นซัตสึมะ (ถ้าจำไม่ผิด) และนำทหารสู้กับโจชูในตอนที่โจชูบุกเกียวโต ในการ์ตูนนั้นมักวาดไซโก้เป็นชายร่างเล็กท่าทางใจดี (จินหมอทะลุศตวรรษ) หากแต่ในภาพยนตร์ไซโก้นั้นเป็นคนที่ทำทุกอย่างเพื่อแคว้นซัตสึมะ

     เรียวมะและพรรคพวกต้องไปย้ายไปอยู่นางาซากิ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญของซัตสึมะ ที่มีชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ที่นั้นเรียวมะได้สร้างความสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นที่เป็นชาวต่างชาติ พ่อค้าชาวญี่ปุ่นด้วยกันเป็นจำนวนมากทำให้เริ่มรู้จักกันค้าขาย อย่างไรก็ตามในช่วงที่กำลังรอไซโก้เรียกใช้อยู่นั้น เรียวมะกับพรรคพวกตกต่ำแทบไม่มีเงินจะใช้จ่าย ถึงขนาดมีความคิดจะทำขนมขายเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หากแต่แล้วเรียวมะก็เห็นทางสว่างที่จะล้มล้างรัฐบาล เมื่อรัฐบาลเตรียมทำศึกกับโจชู ซึ่งเวลานั้นโจชูอ่อนแอมากและขาดแคล้นอาวุธต่อกรกับรัฐบาล เรียวมะได้ยินดังกล่าวก็เกิดความคิดที่บ้าระห่ำมาก ก็คือการทำให้โจชูกับซัตสึมะร่วมมือกันต่อต้านรัฐบาล เพราะแทบที่เป็นไปไม่ได้ที่สองแคว้นจะร่วมมือกัน เพราะเป็นคู่แค้นกันมาตลอด แถมซัตสึมะเองก็มีอิทธิพลต่อรัฐบาลอยู่แล้วไม่บ้าพอที่จะร่วมเป็นร่วมตายกับแค้นโจชูต้อต้านรัฐบาลเลย

    เรียวมะจัดการเกลี่ยงกล่อมไซโก้ให้เห็นด้วยกับเขา แม้ว่าตอนแรกไซโก้ไม่เห็นด้วยเพราะแคว้นซัตสึมะไม่มีทางญาติดีกับโจชู หากแต่เรียวมะได้ให้เหตุผลว่าหากรัฐบาลกำจัดโจชูได้ ซัตสึมะจะเป็นรายต่อไป หากไม่ร่วมมือกันก็คงยากที่จะเอาชนะรัฐบาล

    เมื่อไซโก้ได้ฟังเรียวมะก็เห็นด้วยกับความคิดนี้ หากแต่ปัญหาก็คือจะทำยังไงให้โจชูเชื่อใจนัตสึมะ  เรียวมะก็ตอบว่าตนเองจะขอเป็นตัวกลางไปบอกให้คนของแคว้นโจชูเห็นด้วยกับความคิดนี้เอง และเพื่อให้โจชูเชื่อใจซัตสึมะ แคว้นซัตสึมะจะต้องจัดหาอาวุธอานุภาพสูงจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นปืนและเรือรบ โดยเขาจะอาสาเอาอาวุธเหล่านี้ส่งไปแคว้นโจชูด้วยตนเอง

    ไซโก้ได้ฟังเรียวมะก็ยังไม่เชื่อใจเรียวมะร้อยเปอร์เซ็นต์ เลยถามเรียวมะว่า เขาจะได้ประโยชน์อะไรกับการเป็นตัวกลางให้โจชูกับนัตสึมะคืนดีกัน เรียวมะก็ตอบว่าไม่ได้อะไรเลย อีกทั้งตนไม่ใช่คนของแคว้นใด ตนคือชาวญี่ปุ่น สิ่งที่เขาต้องการก็คือการเห็นประเทศญี่ปุ่นปลอดภัยจากการรุกรานของต่างชาติ อยากให้ญี่ปุ่นยังคงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน

    หลังจากนั้นเรียวมะก็ตั้งกลุ่มคาเมะยามะเดินเรือร่วมกับเพื่อนๆ (ต่อมาบริษัทนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไคเอ็นไตหรือกองหนุนทางทะเล) โดยขนอาวุธให้แคว้นโจชูด้วยตนเอง การเจรจาขอให้โจชูร่วมมือกับแคว้นซัตสึมะนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากแกนหลักของแคว้นซัตสึมะคือคาซึระและทากาสุงิเป็นเพื่อนกับเรียวมะอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แถมกำลังของแคว้นโจชูยังมีซามูไรหนีออกจากแคว้นโทสะซึ่งเป็นเพื่อนของเรียวมะอีก ทำให้หลายคนเชื่อใจเรียวมะ และทุกอย่างก็ง่ายขึ้น

      
                 คัตซึระ โคโงโร่ เป็นมันสมองของแคว้นโจชู และเป็นผู้นำกลุ่มซามูไรหัวรุนแรงเพื่อล้มล้างรัฐบาลโชกุน ต่อมาก็ได้จับมือกับแคว้นซัตสึมะและมีส่วนในการล้มรัฐบาลโชกุน และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในที่สุด

    ในตำนานเรียวมะ เรียวมะรู้จักคัตซึระมานานแล้ว และคาซึระมักมาเกียวโตอยู่บ่อยๆ โดยปลอมตัวเป็นคนเร่ร่อน (เหมือนในภาพยนตร์) ซึ่งคาสึระนั้นปรากฏตัวอยู่บ่อยครั้งในการ์ตูนแนวย้อนยุคสมัยเอโดะ เช่น กินทามะ, ซามูไรพเนจร ในภาพลักษณ์ผมชาวหล่อ ท่าทางฉลาดเฉลียว


                     ทากาซุงิ ชินซะกุ (1839 - 1867ในการ์ตูนเรียวมะ เรียวมะพบเขาในเชียงไฮ้ แต่ในภาพยนตร์เรียวมะรู้จักตั้งแต่อยู่แคว้นซัตสึมะที่ลักลอบเข้ามาหาอาวุธปืนแล้ว โดยเป็นซามูไรจากแคว้นโจชูและเป็นผู้นำกองทหารคิเฮย์ไตที่เก่งกาจที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะและนำไปสู่การปฏิรูปเมจิ อย่างไรก็ตารมทากาซุงินั้นเสียชีวิตลงก่อนที่จะได้เห็นความฝันนั้นจากอาการป่วย

    ในการ์ตูนทากาซุงินั้นมักเป็นภาพลักษณ์เป็นคนน่ากลัว ชอบเล่นซามิเซ็น ซึ่งเป็นผู้นำของซามูไรหัวรุนแรง และเป็นคนมอบปืนสั้นให้เรียวมะใช้ป้องกันตัว เพราะว่าการที่เขาเป็นคนช่วยให้แคว้นโจชูและนัตสึมะร่วมมือกันทำให้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย (จนปืนกลายเป็นอาวุธประจำตัวของเรียวมะไป) แม้การ์ตูนหลายเรื่องมักนำเสนอทากาซุงิเป็นตัวร้าย แต่ร้ายแบบหวังดี มีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐบาลเหมือนกัน และอีกอย่างคือทากาซุงิเท่มาก จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่เรื่องกินทะมะทากาซุงิออกทีไรมักได้รับความนิยมล้นหลามทุกที อย่างกินทามะทากาซุงิออกไม่กี่ฉากอันดับพุ่งพรวดติดอันดับต้นๆ

     เหตุการณ์ที่โดดเด่นที่สุดของเรียวมะก็คือการเป็นตัวกลางที่ทำให้คาซึระแห่งแคว้นโจชูและไซโก้แห่งนัตสึมะแอบเข้าพบกันที่จวนซัตสึมะที่เกียวโต (Nanae Chrono ก็ปรากฏเหตุการณ์เรียวมะพาคาสึระไปหาไซโก้) และมีอยู่ร่วมสัญญา 5 ข้อระหว่างโจซูและซัตสึมะ ซึ่งการที่เรียวมะทำแบบนี้ไม่รู้ตัวเลยว่าตนได้กลายเป็นศัตรูของรัฐบาลและกลุ่มที่มีความคิดสวนทางกับเรียวนะ นำไปสู่เหตุการณ์การถูกลอบทำร้ายที่ร้านเทราดะโดยกลุ่มชินเซ็นงุมิที่มาตามจับเรียวมะ แม้ว่าเรียวมะจะหนีรอดมาได้เพราะโอเรียวช่วยเหลือ หากแต่ก็บาดเจ็บข้อมือจากการต่อสู้ โอเรียวจึงพาเรียวมะไปท่องเที่ยวและรักษาตัวหลังจากหายดีแล้วเรียวมะจึงขอโอเรียวแต่งงานในที่สุด (ว่ากันว่านี่คือการเที่ยวแบบฮันนี่มูนครั้งแรกในญี่ปุ่นเลยทีเดียว)

    ความจริงแล้วเป้าหมายของเรียวมะก็คือการล้มล้างรัฐบาลโดยเสียเลือดเสียเนื้อน้อยที่สุด ตอนแรกเรียวมะเชื่อว่าหากแคว้นโจชูกับนัตสึมะร่วมมือกัน จะทำให้รัฐบาลไม่กล้าทำอะไรกับแคว้นโจชู แต่แล้ววันที่ 1866 รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะสู้รบกับแคว้นโจชูจนได้ ซึ่งสงครามครั้งนี้ซัตสึมะไม่สามารถเข้าร่วม เพราะข้อตกลงนั้นซัตสึมะจะส่งกองทัพได้ในกรณีที่โจชูต้องบุกเกียวโตเท่านั้น เมื่อเรียวมะทราบข่าว เขากับเพื่อนๆ ในกลุ่มคาเมะยามะก็เข้าร่วมกับโจชูเพื่อร่วมรบด้วย และด้วยฝีมือการเดินเรือที่เก่งกาจของเรียวมะกับพรรคพวกทำให้แคว้นโจชูที่มีทหารไม่กี่พันสามารถเอาชนะกองทัพรัฐบาล (ที่เป็นทหารรวบรวมจากแคว้นต่างๆ) นับหมื่นได้โดยไม่ยาก ทำให้รัฐบาลต้องถอนกำลังทหารออกไป

    ผลของสงครามที่ฝ่ายรัฐบาลแพ้ครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง ในการเสื่อมถอยของรัฐบาล เริ่มจากการเสียชีวิตของโชกุนอิเอะโมจิแห่งรัฐบาลโตกุกาวะจากโรคเหน็บชา จนต้องเปลี่ยนโชกุนใหม่เป็นท่านฮิโตสีบาชิโยชิโนบุ (โชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น) ทำให้รัฐบาลระส่ำระส่ายอย่างหนัก

    แม้ว่าโจชูจะรอดพ้นภัย แต่คาซึระต้องการสู้รบแตกหักกับรัฐบาล ซึ่งเรียวมะไม่เห็นด้วยเพราะจะทำให้เกิดสงครามไปทั่วประเทศ เรียวมะจึงคิดหาวิธีจะล้มล้างรัฐบาลโดยไม่ให้เสียเลือดเนื้ออีกครั้ง และสิ่งที่เรียวมะคิดได้ในตอนนั้นก็คือ “การถวายอำนาจคือแก่จักรพรรดิ” ให้โชกุนถวายอำนาจการบริหารบ้านเมืองให้แก่จักรพรรดิ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย  เพราะคนเรามีอำนาจแล้วย่อมที่จะไม่อยากสูญเสียอำนาจ อีกทั้งหากโชกุนยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการปกครองโตกุกาวะที่มีมานานหลายร้อยปีไปด้วย

    เพื่อที่ความคิด “การถวายอำนาจคืนแก่จักรพรรดิ” เรียวมะได้กระทำการบ้าบิ่นอีกครั้ง เมื่อเขาต้องทำให้แคว้นโทสะบ้านเกิดขึ้นเขาซึ่งเป็นแคง้นสำคัญของประเทศญี่ปุ่นเวลานั้นบังคับให้โชกุนถวายอำนาจคืนจักรพรรดิ  ซึ่งเขาต้องคุยกับบุคคลที่เขาเกลียดสองคนคือ “ท่านโยโด” กับ “โชจิโร่” คนที่ทำให้เพื่อนรักของเขาคือทาเคชิและอิโซต้องถูกประหารชีวิต และทำให้ชีวิตในวัยเด็กของเขาในโทสะต้องเศร้าหมอง

    พอดีเวลานั้นโชจิโร่ได้มาที่นางาซากิเพื่อเปิดการค้าขายกับแคว้นซัตสึมะและต่างชาติ ซึ่งเมื่อมาถึงโชจิโร่ก็แปลกใจมากว่าคนที่นี้เอาแต่พูดถึงเรียวมะ ทั้งๆ ที่โทสะแล้วเรียวมะเป็นเพียงซามูไรต่ำต้อยและเป็นโรนินที่หนีจากแคว้นตนเอง (แถมเขาเองก็มีความแค้นกับเรียวมะติดตัวอีก) แต่สำหรับคนนางาซากิแล้วเรียวมะคือคนกลางที่ไว้ใจได้ อีกทั้งยังเป็นคนเก่งเรื่องการเดินเรือและการค้า และเมื่อโชจิโร่ได้ยินก็เกิดความสนใจ จึงอยากพูดคุยกับเรียวมะเป็นการส่วนตัว จนเกิดเหตุการณ์การเจรจาเซย์ฟูเทย์เกิดขึ้น

                  

                 เรียวมะต้องอธิบายโกโต้ โชจิโร่ให้เห็นผลดีในการล้มเลิกการปกครองระบอบรัฐบาลทหารของโชกุน และจัดตั้งสภาบริหารการปกครองโดยให้ไดเมียวจากแคว้นต่างๆ มีส่วนร่วมในการปกครองเพื่อทัดเทียมต่างชาติ โดยมีแคว้นโทสะเป็นแกนนำ ผลก็คือโชจิโร่เห็นว่าแคว้นโทสะได้รับประโยชน์มีแต่ได้กับได้จึงให้ความร่วมมือกับเรียวมะ ส่งผลทำให้เรียวมะก็ได้กับแคว้นโทสะอย่างสมเกียรติ์เพื่อไปเจรจากับท่านโยโด หากเป็นเมื่อก่อนสมัยทาเคชิอยู่กับท่านโยโดคงไม่เป็นแบบนี้แน่ เพราะท่านโยโดยังคงบ้ายศและไม่กล้าหักหลังรัฐบาลอยู่ หากแต่ตอนนี้รัฐบาลเสื่อมถอย บ้านเมืองควรมีเปลี่ยนแปลงแล้ว โยโดจึงเห็นด้วยกับเรียวมะเช่นกัน

                    หากแต่อย่างไรก็ตามเรียวมะก็ไม่ได้อยู่กับครอบครัวในแคว้นโทสะนานนัก เพราะเขาต้องเดินทางไปเกียวโตเพื่อหว่านล้อมหาแนวร่วมตามแคว้นต่างๆ รวมไปถึงต้องไปแก้ต่างคดีฆาตกรรมกลาสีเรือชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ทางการกล่าวหาว่าคนของกลุ่มไคเอ็นไตของเรียวมะเป็นฆาตกร และต่อมาเรียวมะก็มุ่งหน้าไปเกียวโตเพื่อไปหว่านล้อมข้าราชการชั้นสูงเพื่อบีบบังคับให้โชกุนยอมมอบอำนาจคือจักรพรรดิ เรียวมะจำเป็นต้องแข่งกับเวลาเพราะตอนนี้แคว้นโจชูกับแคว้นนัตสึมะเตรียมทำสงครามนองเลือดกับรัฐบาลโตกุกาวะอีกครั้ง ถึงขั้นเคลื่อนพลพร้อมที่จะบุกนยึดเมืองหลวง

                    ในที่สุดท่านโยโดก็เขียนฏีกาถวายให้โชกุนเพื่อให้คืนอำนาจแก่จักรพรรดิ ส่วนโกโต้ก็ไปเกียวโตเพื่อไปร่วมประชุมปรึกษาให้ความคิดเห็นต่อท่านโชกุนในการตัดสินใจคืนอำนาจแก่จักรพรรดิ ว่ากันว่าเรียวมะได้ตอบให้โกโต้ว่าหากโชกุนปฏิเสธ ให้ท่านจงคว้านท้องต่อหน้าที่ประชุมนั้น ส่วนเขาและกลุ่มไคเอ็นไตจะรอสังหารโชกุนที่นอกปราสาทนั้นเอง แล้วเราไปเจอกันในโลกหน้า

                    เมื่อโชกุนได้อ่านฏีกาของท่านโยโดก็คิดอย่างนัก อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วโชกุนก็ตัดสินทำตามคำขอเหล่านั้นด้วยการมอบอำนาจการบริหารประเทศคืนให้จักรพรรดิ ส่งผลทำให้กองทัพแคว้นชูและซัตสึมะต้องหยุดการรุกรานลงไปด้วย

                    หลังจากนั้น เรียวมะก็ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดอีกครั้ง ด้วยการส่งร่างรายชื่อสมาชิกคณะรัฐบาลใหม่ แจกจ่ายไปยังผู้นำแคว้นต่างๆ  (ใครจะคิดล่ะครับซามูไรชั้นผู้น้อยที่ไม่มียศอะไรเลยจะกล้าออกความเห็นแก่คนใหญ่คนโต) แต่ที่น่าแปลกคือไม่มีชื่อของเรียวมะในรายชื่อสมาชิกคณะรัฐบาลแม้แต่น้อย เนื่องจากเรียวมะมีความฝันว่าเขาอยากพาครอบครัวออกเดินทางรอบโลก (แบบอุ้ยเสียวป้อ??)

                    ก่อนถึงวาระสุดท้ายของเรียวมะไม่กี่วัน เรียวมะก็ร่างนโยบายบริหารประเทศขึ้น ที่น่าแปลกคือร่างนโยบายนั้นตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐบาลไม่ได้ใส่ชื่อคนเอาเอาไว้ หากแต่เขียน “......” แทน ซึ่งว่ากันว่าเรียวมะต้องการให้คนใหญ่คนโตถกเถียง (คงอยากให้มีตัดสินให้มีการเลือกแบบเสียงค่อนข้างมากแบบประชาธิปไตย)

                    ในภาพยนตร์เรียวมะ จะเห็นชาวบ้านในท้องถนนเต้นไปเต้นมาเหมือนมีเทศกาล ความจริงแล้วชาวบ้านไม่ได้ยินดีเรื่องโชกุนถวายอำนาจแม้แต่น้อย เพราะว่าตอนนั้นเศรษฐกิจฐี่ปุ่นย่ำแย่ข้าวของขึ้นราคา ประกอบกับระบบการปกครองแบบโชกุนล่มสลาย คนส่วนใหญ่เหมือนสูญเสียจุดยืน คิดไม่ออกว่าอนาคตต่อไปจะเป็นยังไง เลยแต่แบบบ้าๆ กลางถนนไม่อายคน ผู้ชายแต่งกิโมโนผู้หญิง ตีกลองร้องแบบบ้าคลั่ง จนกลายเป็นเหตุจลาจลที่กว่าจะสงบก็กินเวลาหลายเดือน

                     
                 
    สิ่งที่เรียวมะทำทั้งหมดเพื่อช่วยญี่ปุ่นพ้นภัย หากแต่สิ่งที่เรียวมะคิดไม่ถึง (หรือคาดไว้แล้ว) ว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ โดยเฉพาะพวกรัฐบาลคนใหญ่คนโตที่สูญเสียอำนาจของตนลง การทำแบบนี้ทำให้หลายงานที่ไม่มีประโยชน์ปลดตำแหน่ง ทำให้หลายคนในตอนนี้อยากฆ่าเรียวมะเป็นอย่างมาก แม้แต่คนโทสะก็ไม่พอใจเรียวมะ แม้กระทั่งกีดกันไม่ให้เรียวมะเข้าจวน

                    เรียวมะได้ไปพักที่ร้านโอมิยะขายโซยุ (ปัจจุบันร้านดังกล่าวก็ยังคงอยู่  แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ที่เดิม เพราะที่เดิมเป็นน้านสะดวกซื้อ และข้างบนยังมีการจำลองห้องที่เรียวมะถูกสังหารอยู่) ว่ากันว่าก่อนวันสุดท้ายของเรียวมะคอนโด้ อิซามิ หัวหน้าซินเซ็นฯ ได้มาหาเรียวมะเพื่อเตือนว่าตอนนี้พวกเขากำลังตามล่าเรียวมะอยู่ ขอให้รีบย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ซะ แต่เรียวมะยังคงยืนยันว่าจะอยู่ร้ารนเทราดะต่อ

                    และด้วยความไม่กลัวตายนี้เอง ก็ได้เกิดเรื่องขึ้น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1867 ในตอนเย็น นากาโอกะ ชินทาโร่เพื่อนร่วมสาบานของเรียวมะก็ได้มาหาเพื่อถกเถียงเรื่องการเมือง จนกระทั้งเวลาประมาณ 2 ทุ่มกมีคนกลุ่มหนึ่งได้มาขอพบเรียวมะ พอคนรับใช้กำลังขึ้นเพื่อเพื่อบอกให้เรียวมะรู้ก็ถูกคนกลุ่มนั้นใช้ดาบฟันข้างหลังตาย และกลุ่มดังกล่าวก็บุกเข้าห้องเรียวมะและจัดการฟันเรียวมะแบบไม่ทันตั้งตัว ดาบแรกฟันที่เหนือหน้าผากของเรียวทะ จนแทบล้มทั้งยืน ส่วนชินทาโร่พยายามต่อสู้แต่ก็แพ้โดนฟันหลายแผล และเมื่อกลุ่มคนเห็นว่าทั้งสองคงไม่รอดแน่แล้วจึงจากไป ทิ้งเรียวมะและชินทาโร่ที่เลือดท่วมใกล้ตายอยู่เบื้องหลัง เรียวมะเสียชีวิตจากที่เกิดเหตุ (ในขณะอายุ 31 ปี) ส่วนชินทาโร่เสียชีวิตในวันต่อมา ส่วนมือสังหารปัจจุบันไม่ทราบว่าเป็นใคร ว่ากันว่าเป็นชินเซ็นกุมิซึ่งภายหลังคอนโด้ผู้นำของกลุ่มได้พ่ายแพ้แก่ซัตสึมะและโจชูได้ถูกประหารชีวิตเพราะเชื่อว่าเป็นคนสังหารเรียวมะ หรือไม่ก็เป็นกลุ่มสนับสนุนโชกุนอีกหลายกลุ่มแต่ทว่าจนบัดนี้ก็ไม่มีใครทราบฆาตกรตัวจริงแต่อย่างใด

                    อย่างไรก็ตาม การตายของเรียวมะได้ทำให้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เมื่อแคว้นโจชูและแคว้นซัตสึมะก่อสงครามบากุฟุนำไปสู่การสิ้นอำนาจโตกุกาวะที่ครอบงำญี่ปุ่นนานกว่า 400 ปีและถวายอำนาจคืนพระจักรพรรดิในการปฏิรูปเมจิ ทำให้ญี่ปุ่นยังคงเป็นญีปุ่นจนถึงทุกวันนี้

                       

                    นี่คือเรื่องราวคราวๆ ประวัติชีวิตที่ผสมกับเรื่องจริง เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และตำนานเรื่องเล่าของเรียวมะที่กลมกลื่นแม้คนไม่เข้าใจประวัติญี่ปุ่นสามารถเข้าใจและอินกับเนื้อเรื่องไม่ยาก และรับได้กับตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์โลดแล่นในภาพยนตร์เรียวมะที่ทำออกมาได้มีชีวิตชีวา  ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยประวัติชีวิตของบุคคลสำคัญคนดูแทบรับไม่ได้กับการทำออกมาแบบรับไม่ได้ สาเหตุไม่ใช่อยู่ที่ความถูกต้องประวัติศาสตร์ หากแต่อยู่ที่ความรู้สึกจิตใจของผู้ดูว่ารับได้ส่วนหนึ่งหรือเปล่าเสียมากกว่า อย่างภาพยนตร์บางระจัน แม้ว่าเนื้อหาภาพยนตร์จะออกมาไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ แต่กระนั้นการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์ทำให้ผู้ดูรู้สึกอินกับเนื้อเรื่อง ได้อารมณ์ของความรักชาติ ไม่ได้ยัดเยียดความมั่ว เพียงแค่นี้ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่อยู่ในหัวใจคนชมได้ไม่ยาก

                    เรื่องราวของเรียวมะยังคงตำนานที่น่ายังคงสนุกน่าติดตามอยู่เสมอ จากเด็กขี้แย ที่ไม่มียศศักดิ์ สามารถกลายเป็นคนที่คนทั้งประเทศต้องจับตามอง ทำไมเรียวมะจึงกลายเป็นคนที่ประสบผลสำเร็จสูง สามารถ บรรลุเป้าหมายที่ตนต้องการ สิ่งแรกที่เรียวมะมีก็คือมีความพยายามมุ่งมั่นพยายาม แม้ว่าจะประสบความผิดหวังหรือความสูญเสียเรียวมะก็ไม่ท้อถอย ยังคงมีจิตใจเข้มแข็งอยู่เสมอ

                    สาเหตุต่อมาที่ทำให้เรียวมะประสบความสำเร็จก็คือ การมีความคิดที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่ยึดติดอยู่กับที่ สวนกระแสของสังคมมีหัวการค้าและมีอิสระในความคิด เพื่อทำให้องค์กรมุ่งไปสู่ความสำเร็จ มีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ทุกสถานการณ์

                    เรียวมะเป็นคนที่มีบุคลิกความเป็นผู้นำ มีเพื่อนฝูง สามารถเข้าหากลุ่มบุคคลทุกชนชั้นอย่างเป็นการกันเอง ทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน พ่อค้า ชาวต่างชาติ ซามูไร ทำให้เรียวมะมีเพื่อนมากมาย และให้ความสำคัญต่อเพื่อน เพราะเรียวมะเชื่อว่าคนเรานั้นล้วนมีหน้าที่สำคัญ งานแต่ละอย่าง ไม่เพียงที่จะสำเร็จเพียงคนเดียว หากไม่ร่วมมือกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เพื่อนในกลุ่มเรียวมะ รักและเคารพเรียวมะมาก ขนาดคนที่ฉลาดและมีความสามารถที่สุดในกลุ่มอย่าง มุตสึ มุเนะมิตสึ (ซามูไรหนุ่มจากแคว้นคิชู สมุห์บัญชีของกลุ่ม ผู้ที่ต่อมาจะกลายเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพาณิชย์) ยังนับถือและให้ความช่วยเหลือเรียวมะทุกอย่าง ทำให้เรียวมะคิดจะทำอย่างไรก็สำเร็จลุล่วงได้ดี

                    แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคือการเจรจาของเรียวมะในการบรรลุวัตถุประสงค์ ที่เรียวมะมีชั้นเชิงในการเจรจา ไม่ว่าการรู้ฝ่ายตรงข้ามมีนิสัยยังไง เป็นต้นว่าโกโต้เป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง เรียวมะจะต้องทำให้โกโต้อยู่ในสถานะเดียวกับเขา และอธิบายผลประโยชน์ที่มีแต่ได้ให้โกโต้ฟังจนสามารถเปลี่ยนใจในที่สุด   อย่างไรเรียวมะต้องมีความกล้ามากๆ และต้องเตรียมตัวตายด้วย หากฝ่ายตรงข้ามไม่ฟังเหตุผลของเรียวมะ

                    สำหรับผู้สนใจเรื่องของเรียวมะ สามารถติดตาม ภาพยนตร์เรียวมะ จอมคนพลิกแผ่นดินได้ตามเว็บฉายภาพยนตร์ทั่วไป แม้ตอนจะยาวมากกว่า 40 ตอน แต่ก็น่าติดตามและสนุกไม่แพ้ของไทยแน่นอน สำหรับการ์ตูนนั้น O~i!  Ryoma แบบอนิเมะเคยฉายในช่อง 9 สมัยก่อน (ถ้าจำไม่ผิดตอนเย็น วันพุธ) แอต่เนื้อหาอนิเมะนั้นเน้นเรื่องเรียวมะในวัยหนุ่มที่กำลังสับสนชีวิตมากกว่า และเมื่อออกจากแคว้นโทสะเนื้อเรื่องก็ตัดทอนอย่างน่าใจหาย ส่วนมังงะนั้น O~i!  Ryoma มีแบบไม่มีลิขสิทธิ์สามารถค้นหาตามร้านหนังสือมือสอง ถ้าจำไม่ผิดมี 6-7 เล่ม จบ ซึ่งเนื้อหาจะมีฉากโหด เลือดสาด สยอง ขนลุกพอสมควรตามสไตล์ของคนเขียน (แต่น้อยกว่าอาซูมิ) เอาเป็นว่าใครสนใจเรื่องของเรียวมะก็ลองค้นข้อมูลหรือดูภาพยตร์แล้วแต่ความสะดวก แลัวคุณจะสามารถดูกินทามะหรือการ์ตูนที่มีฉากหลังปลายยุคเอโดะได้สนุกและรู้เรื่องขึ้น เชื่อผมสิ และสุดท้ายนี้ขอขอบคุณบทความ Japanist Monthly : ซากาโมโต เรียวมะที่ผมรู้จัก  (เรื่องโดย : Bix Mouth ) ที่ผมได้เอาเนื้อหาบางส่วนมาเขียนครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×