ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องจริงทะลุโลก (Of The World)

    ลำดับตอนที่ #7 : 10 หายนะของโลกอีก 70 ปีข้างหน้า ใต้แนวคิดนักวิทยาศาสตร์(?)

    • อัปเดตล่าสุด 26 พ.ย. 51


    ในทศวรรษที่ผ่านมามี เหตุการณ์ร้ายๆ มากมายที่เกิดขึ้นกับโลกทั้ง ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อย่างเช่น แผ่นดินไหวที่ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ คร่าชีวิตมนุษย์หลายแสนคนในเอเชีย และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์อย่างการก่อการร้ายด้วยการจี้เครื่องบินโดยสารพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดในนิวยอร์ก ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์หลายพันคนเสียชีวิต

     

    วันสิ้นโลก

    โลกจะอวสานอย่างไร บ้างเชื่อว่าโลกจะถึงกาลอวสานแบบไม่ทันตั้งตัว บ้างทำนายว่าชีวิตบนโลกจะตายอย่างช้าๆ ขณะที่พวกมองโลกแง่ดีหน่อยเชื่อว่า ถึงอย่างไรก็คงหาทางเอาชนะปัญหาได้โดยวิวัฒนาการไปสู่สายพันธุ์อื่นๆ

    เซอร์มาร์ติน รีส์ ศาสตราจารย์ด้านจักรวาลวิทยา นักดาราศาสตร์ประจำราชสำนัก และยังเป็นนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นผู้ประพันธ์เรื่อง Our Final Century ด้วย เขาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อกังวลใจของมนุษย์ในเรื่องนี้ว่า มนุษย์มีโอกาส 50-50 ที่จะผ่านศตวรรษที่ 21 ไปโดยไม่มีภยันอัตรายใดๆ มาแผ้วพาน

    "หายนะทางธรรมชาติบางอย่าง เช่น แผ่นดินไหว อุกกาบาตพุ่งชนโลก ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เหมือนที่เป็นมา ขณะที่ภัยคุกคามอื่นๆ อันเป็นผลจากโลกาภิวัตน์เริ่มหนักหน่วงขึ้น แต่ตอนนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาภัยที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ด้วยเช่นกัน" เซอร์มาร์ตินกล่าว

    ถ้าเป็นเช่นนั้น ภัยร้ายแรงที่สุดที่คุกคามมนุษยชาติคืออะไร แล้วเราจะรับมือได้หรือไม่ ต่อไปนี้เป็นการสอบถามความคิดเห็นของ 10 นักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอันตรายที่น่ากลัวที่สุดเขาคิดว่าจะเกิดขึ้นกับโลก และสังคมจะได้รับผลกระทบอย่างไร ต่อมาจะเป็นการประเมินภัยคุกคามเป็นสองแนวทาง

    อันดับแรกเป็นโอกาสที่จะเกิดภัยคุกคามในช่วงอายุขัยของเรา (ในช่วง 70 ปีข้างหน้า) และประการที่สอง เป็นระดับอันตรายที่จะมีผลต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์หากเกิดหายนะภัยขึ้นมา (คะแนนเต็ม 10 หมายถึงระดับที่ทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ ลงมาจนถึงระดับ 1 หมายถึงแทบจะไม่มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์เลย

     

    1.       การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

    นิค บรูค ผู้ช่วยวิจัยอาวุโสจากศูนย์วิจัยสภาพเปลี่ยนแปลงของอากาศไทนดัล ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยอีสต์แองเจียล สหราชอาณาจักรอังกฤษ ให้ความเห็นว่า

    "ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ปัญหาภาวะเรือนกระจกจะทวีความรุนแรงขึ้น และอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียส อากาศร้อนระดับนี้ถือว่าสูงกว่าที่โลกเคยเผชิญเมื่อหนึ่งล้านห้าแสนปีก่อน สิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้อากาศในหลายภูมิภาคของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลก

    และทำให้ระบบสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันพังทลายไปทั่ว ตามมาด้วยการอพยพของผู้คนจำนวนมหาศาล และเกิดปัญหาขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากร เนื่องจากพื้นที่ที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของมนุษย์จะเริ่มเหลือน้อยลง ผมไม่คิดว่า อากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ไปหรอกนะ แต่แน่นอนว่ามันจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างหนัก"

    - โอกาสที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสในอีก 70 ปี (เป็นระดับที่พิจารณาว่าเป็นอันตรายต่อสหภาพยุโรป) : เป็นไปได้สูง

    - ระดับอันตราย : 6

     

    2.       การเสื่อมสภาพของเทโลเมียร์

    เรนฮาร์ด สตินด์ล แพทย์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา บอกว่าสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์มี "นาฬิกาแห่งวิวัฒนาการ" อยู่ในตัวเวลาของนาฬิกาชีวภาพนี้จะเดินผ่านจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นการเดินถอยหลังจนถึงเวลาที่นำไปสู่ยุคสูญพันธุ์อย่างเลี่ยงไม่ได้

    "เทโลเมียร์สเป็นส่วนปลายที่ปิดโครโมโซมมีอยู่ในสัตว์ทุกตัว ถ้าไม่มีเทโลเมียร์สแล้ว โครโมโซมอาจไม่มั่นคง แต่ละครั้งที่เซลล์แบ่งตัวมันจะไม่ก๊อบเทโลเมียร์สอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และตลอดชั่วอายุของเราเทโลเมียร์สจะหดสั้นลง สั้นลง เนื่องจากเซลล์เพิ่มจำนวนตัวเอง ในที่สุดแล้ว เมื่อมันหดสั้นจู๋ เราก็เริ่มมีโรคที่เกี่ยวกับชราภาพมาคุกคาม อย่างเช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ

    "อย่างไรก็ดี การหดสั้นของเทโลเมียร์สไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่จนตายเท่านั้น แต่ทฤษฎีของผมคือ ความยาวของเทโลเมียร์สที่ส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งก็ยังมีขนาดหดสั้นลงด้วยเช่นกัน

    สะท้อนถึงกระบวนการชราภาพของแต่ละคน และเมื่อเทโลเมียร์สถูกส่งผ่านมาเป็นพันรุ่นมันจะเริ่มกร่อนจนถึงระดับวิกฤติ เมื่อถึงวันนั้นเราจะพบว่าโรคที่เกี่ยวกับคนชราจะระบาดไปทั่วตั้งแต่อายุยังน้อย จนสุดท้ายจะทำให้เกิดภาวะประชากรขาดแคลน การกร่อนของเทโลเมียร์สอาจใช้อธิบายการสูญพันธุ์ของมนุษย์บางสายพันธุ์ได้ อาทิ นีแอนเดอร์ธัล โดยไม่ต้องเอาปัจจัยภายนอกอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมาพิจารณา"

    โอกาสที่จะเกิดภาวะประชากรลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้น้อย

    ระดับอันตราย : 8

     

    3.       การระบาดของเชื้อไวรัส

    ศาสตราจารย์มาเรีย แซมบอน นักไวรัสวิทยาและหัวหน้าห้องปฏิบัติการเชื้อไข้หวัดใหญ่ของสำนักงานป้องกันสุขภาพแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ มองว่า "เมื่อปลายศตวรรษก่อน เกิดการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง 4 รอบ พร้อมกับการระบาดของเชื้อเอชไอวีและซาร์ส การระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกจะเกิดขึ้นทุกรอบร้อยปี และคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอย่างน้อยอีกครั้งในอนาคต ณ ขณะนี้

    เชื้อที่สร้างความหวาดวิตกมากที่สุดคือเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 ที่ระบาดในไก่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าไวรัสตัวนี้เรียนรู้วิธีการส่งเชื้อจากคนสู่คนแล้ว การระบาดจะแพร่ลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี ค.ศ. 1918 ได้คร่าชีวิตประชากรโลกไปแล้ว 20 ล้านคน ภายในปีเดียว มากกว่าคนที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งด้วยซ้ำไป หากเกิดการระบาดอีกครั้งตอนนี้ก็คงส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่า"

    "ไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่ว่าจะฆ่าทุกชีวิตที่มันเข้าไปอาศัยอยู่ ดังนั้น จึงไม่สามารถทำลายมนุษย์จนสูญพันธุ์ แต่มันจะส่งผลกระทบรุนแรงเป็นเวลาหลายปีทีเดียว เราไม่สามารถเตรียมตัวได้อย่างสมบูรณ์เพื่อรับมือกับผลที่เกิดจากน้ำมือธรรมชาติ โดยเนื้อแท้แล้ว ธรรมชาติเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพตัวจริง"

    โอกาสที่จะเกิดการระบาดของไวรัสในอีก 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้สูง

    ระดับอันตราย :3

     

    4.       การก่อการร้าย

    ศาสตราจารย์พอล วิลคินสัน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำศูนย์ศึกษาการก่อการร้าย และความรุนแรงด้านการเมือง มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ สหราชอาณาจักร ให้ทัศนะว่า

    "สังคมทุกวันนี้มีความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น เพราะกลุ่มที่อาฆาตมาดร้ายสามารถหาวัสดุที่จะนำมาใช้ก่อการได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีและความวชาญในการสร้างอาวุธทำลายสูง การก่อการร้ายที่ส่งผลให้เกิดการล้มตายเป็นจำนวนมากในปัจจุบันคืออาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมี การปล่อยเชื้อบางอย่างเป็นจำนวนมากๆ อย่างเช่น แอนแทรกซ์ ไวรัสฝีดาษ อาจส่งผลกระทบอย่างมหาศาล และการติดต่อสื่อสารระหว่างพรมแดนในยุคใหม่จะทำให้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว

    "ในสังคมเปิด ซึ่งเราสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ เราไม่สามารถจะหยุดยั้งการจู่โจมได้เลย และมีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะเกิดการโจมตีขึ้นสักแห่งในโลกในชั่วอายุของเรานี้"

    โอกาสที่จะเกิดการโจมตีด้วยการก่อการร้ายครั้งใหญ่ในช่วง 70 ปีหน้า : เป็นไปได้สูงมาก

    ระดับอันตราย : 2

     

    5.       สงครามนิวเคลียร์

    พลอากาศเอกลอร์ด การ์เดน โฆษกกระทรวงกลาโหมประจำพรรคเสรีประชาธิปไตยแห่งสหราชอาณาจักร และผู้แต่งหนังสือเรื่อง Can Deterrence Last ?

    "ในเชิงทฤษฎีแล้ว สงครามนิวเคลียร์อาจทำลายความรุ่งเรืองของมนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติ ผมคิดว่าอันตรายดังกล่าวอาจผ่านพ้นไปแล้ว ปัจจุบัน มีจุดที่อาจก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์อยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ตะวันออกกลาง อินเดีย-ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ แน่นอนว่าเกาหลีเหนือเป็นจุดที่น่าวิตกมากที่สุด

    เนื่องจากมีกองทัพรูปแบบเก่าพร้อมจะลั่นไกก่อสงครามได้โดยไม่ตั้งใจ แต่ผมอยากที่จะเชื่อว่ายังมีอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่ เนื่องจากเราได้พัฒนาระบบระหว่างประเทศที่ยับยั้งการใช้อาวุธนิวเคลียร์

    "ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ในระดับโลกนั้นต่ำมาก แม้ว่ายังมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีประเทศนอกคอก หรือพวกหัวรุนแรงอยู่ก็ตาม"

    - โอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ใน 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้ต่ำ

    - ระดับอันตราย : 8

     

    6.       อุกกาบาตชนโลก

    โดนัลด์ เยาแมนส์ ผู้จัดการสำนักงานโครงการวัตถุใกล้โลกของนาซา จากห้องปฏิบัติการระบบขับเคลื่อนไอพ่นในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ มีความเห็นว่า "ความเสี่ยงที่เราจะตายจากอุกกาบาตพุ่งชนเปรียบคร่าวๆ เหมือนกับโอกาสที่เราจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก อุกกาบาตที่จะทำให้ความรุ่งเรืองของมนุษย์ต้องสูญสิ้นนั้นต้องเป็นอุกกาบาตที่มีขนาดกว้าง หรือยาวประมาณ 1.5 กม.

    เราคาดกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกล้านปีโดยเฉลี่ย อันตรายที่เกี่ยวข้องกับอุกกาบาตชนโลกนั้นรวมถึงปริมาณฝุ่นจำนวนมหาศาลที่ลอยขึ้นไปในอวกาศจนปิดกั้นไม่ให้แสงแดดส่องลงมาบนพื้นโลกนานหลายสัปดาห์ ซึ่งจะมีผลต่อต้นไม้และพืชไร่ ที่ค้ำจุนสิ่งมีชีวิต

    อาจจะเกิดไฟไหม้ทั่วโลกอันเป็นผลมาจากความร้อนพุ่งออกมาจากใต้พื้นโลก และยังเกิดฝนกรดที่สร้างความเสียหายอย่างหนัก ผลกระทบดังที่เอ่ยมานี้แม้จะเกิดในช่วงระยะเวลาสั้น ดังนั้น สิ่งมีชีวิตที่สามารถปรับตัวเองได้ดีที่สุดอย่างแมลงสาป และมนุษย์ เป็นต้น ยังมีชีวิตอยู่รอดได้"

    - โอกาสที่โลกจะถูกอุกกาบาตพุ่งชนใน 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้ปานกลาง

    - ระดับอันตราย : 5


    7. หุ่นยนต์ครองโลก

    ฮันส์ โมราเวก ศาสตราจารย์จากสถาบันหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ในเมืองพิตต์สเบิร์ก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "ระบบการควบคุมด้วยหุ่นยนต์มีความสลับซับซ้อนในการประมวลผลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุกปี หรือทุกสองปี แต่ความซับซ้อนของมันตอนนี้ยังอยู่ในระดับแค่สัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้าความสามารถในการคิดซับซ้อนของหุ่นยนต์จะไล่ตามทันมนุษย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 ผมทำนายว่า จะมีหุ่นยนต์ที่มีพลังสมองทัดเทียมมนุษย์ โดยจะสามารถคิดในเชิงนามธรรม และแสดงความเห็นได้

    "เครื่องจักรที่มีสติปัญญาเหล่านี้เราจะเป็นคนเลี้ยงดู และมันจะเรียนรู้ทักษะของเรา รับรู้เป้าหมายและคุณค่าของเรา และเราอาจรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ดูแลเราในบ้านเท่านั้น

    แต่ยังสามารถทำงานที่ซับซ้อนที่ปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความสามารถของมนุษย์ เช่น การวินิจฉัยโรค และการให้คำแนะนำในการรักษา หรือบำบัด หุ่นยนต์จะเป็นทายาทสืบทอดของมนุษย์ และจะเสนอโอกาสที่ดีที่สุดให้เรากลายเป็นอมตะได้โดยการถ่ายโอนข้อมูลของตัวเราเองไปใส่ไว้ในหุ่นยนต์ที่มีความสามารถล้ำหน้า"

    - โอกาสที่จะมีหุ่นยนต์ที่มีความสามารถทางปัญญาเป็นเลิศใน 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้สูง

    - ระดับอันตราย : 8

     

    8.       แรงระเบิดจากรังสีคอสมิกจากการระเบิดของดาว

    เนียร์ ชาวีฟ อาจารย์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยฮิบรู ในเยรูซาเล็ม อิสราเอล กล่าวว่า ทุกสองสามทศวรรษ ดาวขนาดใหญ่ที่อยู่ในจักรวาลทางช้างเผือกจะหมดพลังงานและเกิดระเบิดขึ้น ซึ่งเรียกว่า ซูเปอรโนวา รังสีคอสมิก (อนุภาคพลังงานระดับสูงอย่าง รังสีแกมมา) จะแผ่รังสีออกไปทุกทิศทาง

    ฃและถ้าโลกอยู่ในวิถีของรังสี จะทำให้เกิดยุคน้ำแข็งขึ้น ถ้าโลกมีอากาศที่หนาวเย็นอยู่แล้ว รังสีคอสมิกจากการระเบิดของดาวอาจทำให้โลกกลายเป็นไอติม และอาจทำให้สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ สูญพันธุ์ โลกมีความเสี่ยงสูงเมื่อโคจรผ่านเกลียวของดาราจักรทางช้างเผือก ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดซูเปอร์โนวามากที่สุด การระเบิดซูเปอร์โนวาจะเกิดขึ้นทุก 150 ล้านปี

    ดัชนีบ่งชี้สภาพอากาศยุคบรรพกาลแสดงให้เห็นว่าโลกเคยผ่านยุคน้ำแข็งมาแล้ว โดยพบน้ำแข็งจำนวนมากที่ขั้วโลก และน้ำแข็งหลายชิ้นมีอายุอยู่ในช่วงดังกล่าว

    "เราใกล้จะโคจรออกจากเกลียวแขนซากิตทาริอุส-คารินาของดาราจักรทางช้างเผือก และโลกควรมีสภาพอากาศร้อนขึ้นในสองสามล้านปี แต่ในอีก 60 ล้านปี เราจะเขาไปสู่เกลียวแขนเพอร์ซีอุส ยุคน้ำแข็งก็จะกลับมาอีกครั้ง"

    - โอกาสที่โลกจะเผชิญกับซูเปอร์โนวาใน 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้น้อย

    - ระดับอันตราย : 4

     

    9.       ภูเขาไฟระเบิด

    ศาสตราจารย์ บิล แมคกุยรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติเบนฟิลด์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน และยังเป็นสมาชิกคณะทำงานศึกษาภัยธรรมชาติของโทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ พูดถึงเรื่องนี้ว่า "โดยเฉลี่ยแล้วทุก 50,000 ปี โลกจะเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง

    ซึ่งจะส่งเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ถูกพ่นออกมาจะปกคลุมพื้นที่ราว 1,000 ตารางกิโลเมตร ทวีปที่อยู่ใกล้เคียง จะเต็มไปด้วยเถ้าถ่าน และก๊าซซัลเฟอร์จะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นม่านกรดซัลฟูริกคลุมรอบโลก ทำให้แสงแดดไม่สามารถส่องลงมายังพื้นโลกได้ กลางวันจะดูไม่ต่างไปจากกลางคืนวันเพ็ญ

    "ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ ขึ้นอยู่ว่าเกิดขึ้นที่ไหน และก๊าซลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศนานแค่ไหน เมื่อประมาณ 26,500 ปีมาแล้ว ภูเขาไฟเตาโปของนิวซีแลนด์เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง

    ทว่าความเสียหายครั้งสำคัญจากภูเขาไฟระเบิดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ คือภูเขาไฟ โทบา บนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย เมื่อ 74,000 ปีก่อน เนื่องจากเกิดระเบิดใกล้กับเส้นศูนย์สูตรทำให้ก๊าซกระจายไปยังซีกโลกเหนือและใต้อย่างรวดเร็ว เมื่อศึกษาแกนน้ำแข็งทำให้รู้ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว 5-6 ปีหลังจากนั้น โดยพื้นที่แถบเส้นทรอปิคมีสภาพเย็นเป็นน้ำแข็ง

    "โอกาสที่จะเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่เป็นไปได้มากกว่าอุกกาบาตขนาดใหญ่ชนโลก 12 เท่า แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในชั่วอายุคนปัจจุบันนี้มีเพียง 0.15% ส่วนสถานที่ที่ควรจับตาดูคือ บริเวณที่เคยเกิดระเบิดในอดีต เช่น เยลโล่สโตน ในสหรัฐ และโทบา แต่พื้นที่บริเวณอื่นในโลกที่น่ากังวลมากกว่าคือ อาจเกิดภูเขาไฟระเบิดรุนแรงในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่นบริเวณป่าฝนอะเมซอน"

    - ความเป็นไปได้ที่จะเกิดภูเขาไฟระเบิดรุนแรงใน 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้สูงมาก

    - ระดับอันตราย : 7

     

    10.   โลกจะถูกหลุมดำดูด

    ริชาร์ด วิลสัน ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์จากศูนย์วิจัยมัลลินก์ครอดต์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า ประมาณ 7 ปีก่อน ห้องปฏิบัติการแห่งชาติบรูคเฮฟเวนในนิวยอร์กได้สร้างเครื่องชนไอออนหนักที่เรียกว่า Relativistic Heavy Ion Collider ขึ้นมาเนื่องจากมีความกังวลว่า สสารที่มีความหนาแน่นอาจก่อรูปขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในสมัยนั้นจัดว่าเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างขึ้นมา

    เพื่อให้ไอออนทองคำชนกันด้วยแรงมหาศาล ซึ่งอาจทำให้เกิดความหนาแน่นพอที่จะทำให้เกิดหลุมดำขึ้นมาได้จากพลังที่ดูดสสารข้างนอก ห้องแล็บบรูคทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่า เครื่องเร่งปฏิกิริยาตัวใหม่นี้จะทำให้เกิดหลุมดำขึ้นและทำให้โลกอวสานได้หรือไม่

    "เมื่อดูจากข้อมูลที่เราได้ศึกษาจากหลุมดำที่อยู่นอกอวกาศ เราได้ทำการคำนวณเพื่อศึกษาว่าเครื่องเร่งอนุภาคของบรูคเฮฟเวนจะสามารถทำให้เกิดหลุมดำได้หรือไม่ ซึ่งเราค่อนข้างแน่ใจว่า การทดลองในห้องแล็บจะไม่ทำให้เกิดหลุมดำ และโลกจะไม่ถูกกลืนหายไปจากการชนของอนุภาคเหล่านี้

    - โอกาสที่โลกจะถูกหลุมดำกลืนใน 70 ปีข้างหน้า : เป็นไปได้น้อยอย่างยิ่ง

    - ระดับอันตราย : 10

     

    http://www.artsmen.net/content/show.php?Category=warmingboard&No=5299

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    นักเขียนปิดการแสดงความคิดเห็น
    ×