ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #50 : Sora no Otoshimono อะไรหล่นมาจากฟากฟ้า (ว่าด้วยมุกตลกการ์ตูนญี่ปุ่น)

    • อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 54


    Sora no Otoshimono นั้นเป็นการ์ตูนที่ผมดูหลายรอบมาก เนื่องจากเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่ตรงกับคุณสมบัติของผมทุกประการ คือพระเอกอ่อนแอ, นางเอกเก่ง(ระดับเทพเจ้า), ตัวละครน้อย, ดำเนินเรื่องสนุกสนาน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ผมจะเขียนถึงการ์ตูนเรื่องนี้ว่าอะไรดี อย่างแรกที่ผมคิดคือพระเอกการ์ตูนเรื่องนี้มีส่วนคล้ายกับโนบิตะในเรื่องโดเรมอนมาก ทั้งคู่ต่างต้องการความสงบสุข และไม่ใช้เทคโนโลยีหรือพลังอำนาจที่ได้ครอบครองโลกหรือหาประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด หากพระเอกสองเรื่องอยากครอบครองโลกนั้นแทบที่ว่าแค่ออกคำสั่งก็สามารถทำได้โดยไม่ยาก แต่ทั้งสองกลับมาใช้สนองความต้องการที่แสนธรรมดาของตัวเองเท่านั้น

     


    Sora no Otoshimono  

    มีอีกชื่อหนึ่งว่า What Fell from the Sky

    อมิเนชั่น 13 ตอนจบ(คาดว่าเป็นภาคแรก คงมีภาค 2 ตามมา)

    แนว ตลก, ฮาเร็ม, โรแมนติก, แฟนตาซี
    ดูคลิปที่ http://www.nung-dee.com/catalog.php?idp=2651
    ฟังเพลงและดูเรื่องย่ออมิเนชั่นได้ที่ http://randomc.animeblogger.net/2009/10/05/sora-no-otoshimono-01/
    อ่านการ์ตูนได้ที่ http://www.onemanga.com/Sora_no_Otoshimono/1/

     

                    Sora no Otoshimono  เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเขียนโดยซูจี (Suu Minazuki) เปิดตัวในนิตยสาร Ace (นิตยสารรายเดือนของญี่ปุ่น) วาดครั้งแรกพฤษภาคม 2007 – ยังไม่จบ และโด่งดังมาก ถูกสร้างเป็นนิยาย (1 กุมภาพันธฺ 2010) 1 เล่ม ยังไม่จบ และอมิเนชั่น 13 ตอนจบ(4 ตุลาคม 2009- 27 ธันวาคม 2009)

    Sora no Otoshimono นั้นเป็นเรื่องราวของเด็กมัธยมแสนจะธรรมดาคนหนึ่ง(จริงหรือ??)ชื่อโทโมกิ ซากุราอิ  ผู้ถือคติ “ความสงบสุขนั้นต้องมาก่อน” แต่ว่าคนรอบๆ ตัวเขานั้นจะมีคนเพี้ยนๆ(รวมทั้งตัวเขาด้วย) ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนเด็กสาวสมัยเด็กของเขาที่มักต่อยเขาราวกับฤทธิ์หมัดดาวเหนือ, รุ่นพี่แว่นที่ชอบเก็กหล่อขรึมแต่การกระทำนี้หลุดโลก, หรือประธานนักเรียนผู้น่ากลัวที่ชอบสรรหาแต่เรื่องปวดหัวแก่เขาเป็นประจำ

    แต่เรื่องแบบนี้เทียบไม่ได้ เมื่อโทโมกิรู้ตัวว่า จู่ๆ เขาได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของสิ่งเหนือธรรมชาติ เขาพบว่าหลาย ๆวันมานี้มักฝันถึงผู้หญิงแปลกหน้าคนหนึ่งที่มีปีกขนาดใหญ่อยู่กลางหลังมาขอร้องให้เขาช่วยอยู่บ่อยๆ  แต่เมื่อเขาตื่นขึ้นมาเขากับจำหน้าเธอไม่ได้ แถมเขายังร้องไห้โดยไม่รู้สาเหตุอีกด้วย และชีวิตของเขาก็ยุ่งเหยิงอีกครั้งเมื่อเขาพบสิ่งมีชีวิตลึกลับไม่สามารถระบุได้ว่ามันคืออะไร หล่นมาจากท้องฟ้า สิ่งมีชีวิตเป็นผู้หญิงสวยนาม ฮิคารอส  เธอเรียกโทโมกิว่า “มาสเตอร์” เธอมาที่นี้เพื่อเป็นข้ารับใช้เขา??

     

    โทโมกิ ซากุราอิ(Tomoki Sakurai) เด็กรูปร่างประถมแต่เป็นเด็กมัธยมธรรมดาตัวเตี้ยคนหนึ่ง(จริงหรือ??) ผู้ถือคติ “ความสงบสุขนั้นต้องมาก่อน” เขาไม่ต้องการอะไรมากกว่าชีวิตที่สงบสุขและเงียบสงบ เขาอาศัยอยู่ในชนบทที่มีแต่ทุ่งนา ผู้คนเป็นมิตร และจิตแข็ง(เพราะต่อให้เกิดเรื่องเหนือธรรมชาติขึ้นมา ผู้คนก็ไม่สนใจหรือแปลกใจแต่อย่างใด) แต่ชีวิตของโทโมกิต้องเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อเขาพบฮิคารอส เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “แองเจิ้ลรอยด์” สัตว์เลี้ยงที่ทำตามแต่คำสั่งของเจ้าของ(มาสเตอร์เท่านั้น) โดยหล่นมาจากโลกเบี้องบน เขาจำเป็นต้องเลี้ยงดูและสั่งสอนฮิคารอสให้รู้จักเรื่องราวของโลกเบี้องล่าง(โลกมนุษย์) และชีวิตให้มากขึ้น นอกจากนี้เขายังต้องเลี้ยงดู “นิมพ์” แองเจิ้ลรอยด์อีกตัวที่ถูกส่งตัวมาเพื่อนำฮิคารอสกับไปโลกเบื้องบน เขาพยายามทำลายกฎเกณฑ์ของแองเจิ้ลรอยด์ในเรื่องการทำตามคำสั่งของมาสเตอร์ โดยให้ความสำคัญในเรื่องเสรีภาพและความอิสระในการตัดสินใจของตัวบุคคล

     

    โทโมกิ ซากุราอิมีด้านมืดอีกอย่างหนึ่งที่คนรอบๆ ตัวเขาต้องเอื้อมระอา เมื่อเขาเกิดการหื่น ทะลึ่ง เขาจะมีเวอร์ชั่นหนึ่ง(ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่เห็นประจำกว่าตัวตนจริงอีก) ที่คิดแต่เรื่องในร่มผ้า และรสนิยมแปลกแหวกแนว เก็บอาการไม่อยู่ และมีบ่อยครั้ง(หลายตอน)เขามักขอฮิคารอสช่วยความปรารถนาเรื่องหื่นๆ เขาเป็นให้เป็นจริง แต่อย่างไรก็ตามหากตัดเรื่องหื่นออกไป โทโมกิจะเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนไหวและดีงามคนหนึ่งทีเดียว

     

    โซฮาระ มิสิกิ (Sohara Mitsuki) เพื่อนในวัยเด็กของโทโมกิ ที่บ้านอยู่ใกล้ติดกัน เธอมักไปบ้านเขาเพื่อปลุกเขาในตอนเช้าประจำ อดีตเคยเป็นเด็กอ่อนแอและป่วยประจำจึงทำให้มีเพื่อนน้อย จึงสนิทกับโทโมกิคนเดียวเท่านั้น เธอมักอิจฉาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโทโมกิและฮิคารอส แต่ก็ไม่ได้รังเกียจฮิคารอส โดยทั่วไปเธอมักใช้ท่า “คาราเต้สับ” กับโทโมกิเวลาเขาแสดงอาการหื่นเป็นประจำ และดูเหมือนเธอมักกังวลเรื่องหน้าอกที่มักใหญ่ขึ้นทุกวัน นิสัยโดยทั่วไปของเธอจะเป็นแบบแม่บ้านแม่เรือน เอาใจใส่คนอื่น

     

    สึงาตะ เอชิโร่(Eishirō Sugata) ประธานชมรมโลกใบใหม่ เป็นรุ่นพี่ของโทโมกิอัจฉริยะแต่มักทำตัวแปลกๆ ชอบค้นคว้าโลกใบใหม่ เขาอาศัยในเต็นท์ใกล้แม่น้ำ เป็นเพื่อนวัยเด็กกับรุ่นพี่ประธานนักเรียน และทั้งคู่มีฝีมือต่อสู้สูงมักปะมือเป็นประจำ ภายนอกเหมือนเด็กดูดีเยือกเย็นเงียบขรึมจนดูน่ากลัว แต่ความจริงแล้วเขาก็มีนิสัยน่าคบและเข้ากันได้ดีกับโทโมกิ

     

    มิคาโกะ ซัทสึคิทาเนะ(Mikako Satsukitane) ประธานนักเรียนในโรงเรียนที่โทโมกิเรียน เธอเป็นเพื่อนสมัยเด็กกับสึงาตะ เอชิโร่ แต่ดูเหมือนว่าทั้งสองจะมีอะไรมากกว่านั้น ดูเหมือนเธอจะเป็นลูกสาวยากูซ่าท้องถิ่น ฉลาด สวย และชอบมักวางแผนร้ายๆ เล่นสนุกแกล้งโทโมกิให้ปวดหัวประจำ

     

    ฮิคารอส(Ikaros) เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับมีปีกขนาดใหญ่อยู่กลางหลังที่เรียกตัวเองว่า “แองเจิ้ลรอยด์” ประเภทสัตว์เลี้ยง รุ่นอัลฟ่า ดูภายนอกเป็นผู้หญิงหุ่นดี เงียบๆ สีหน้าเรียบเฉย ที่ดูแล้วเศร้าภายใน จุดเด่นคือปลอกคอที่มีโซ่ติดอยู่  เธอทำสัญญาผูกมัดกับโทโมกิด้วยโซ่ที่มองไม่เห็น(สามารถปรากฏหรือทำให้หายไปได้) แล้วเธอก็เรียกโทโมกิว่า “มาสเตอร์” และบอกว่าเธอถูกส่งมาเพื่อให้มาสเตอร์พึงพอใจ หากมาสเตอร์จะสั่งอะไรเธอจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สามารถทำความปรารถนาใดๆ เป็นจริงได้ตามความต้องการโดยใช้การ์ดเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างได้ ดังนั้นโทโมกิจำต้องไตร่ตรองให้ดี ถ้าคำพูดเขาผิดแม้แต่นิดเดียวเธออาจลบมนุษย์หรือทำลายล้างใบนี้ได้เลย เพราะฮิคารอสจะไม่ลังเลแม้แต่น้อย ขอเพียงมันออกมาจากปากมาสเตอร์ของเธอ

    หลังๆ ฮิคารอสจะเริ่มอยากเป็นมนุษย์ และมีอารมณ์ของมนุษย์ ในที่สุดเธอก็แอบตกหลุมรักโทโมกิ ด้วยเหตุนี้แม้ภายนอกฮิคารอสจะเหมือนผู้หญิงเงียบๆ ที่ไร้อารมณ์ แต่เธอจะแสดงอาการโกรธเกรี้ยวทันทีที่มาสเตอร์ของตนโดนทำร้าย โดยเรื่องราวจะดำเนินชัดเจนว่าฮิคารอสนั้นไม่ใช้สัตว์เลี้ยงอัลฟ่าธรรมดา เพราะอดีตนั้นเธอเป็นเทพแห่งหายนะที่ถูกกล่าวขนามว่า “ราชินีอุรานุส” เมื่อเธออยู่โหมดออกศึก ดวงตาของเธอจะเป็นสีแดงและปีกจะเปลี่ยนแปลงสภาพพร้อมสู้รบเรียกว่าปีกอัลเทมิส ความเร็วเพิ่มขึ้น(เกิน 15 มัค) มีอาวุธเป็นธนูเพลิงอพอลโล(ชื่ออาวุธทั้งหมดเป็นชื่อเทพเจ้ากรีก) ที่มีพลังสามารถทำลายล้างโลกได้ในพริบตา ส่วนคำว่าฮิคารอสเป็นชื่อตัวละครตัวหนึ่งของเทพนิยายกรีก

     

    นิมพ์(Nymph) แองเจิ้ลรอยด์อีกตัวที่ ปรากฏตัวที่บ้านโทโมกิและอาศัยอยู่ถวาร เธอถูกส่งตัวมาเพื่อนำฮิคารอสกลับไปโลกเบื้องบน แต่เธอมีประสิทธิภาพน้อยกว่าฮิคารอสจึงไม่สามารถพากลับไปได้ แต่เธอก็มีความสามารถพิเศษคือสามารถเข้าระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างง่ายดายและเก่งวิเคราะห์คำนวณกว่าฮิคารอส

    นิมพ์มีมาสเตอร์อยู่ที่โลกเบื้องบน(โลกใบใหม่) แต่เจ้านายคนนี้มีนิสัยโหดร้าย และทำร้ายนิมพ์ประจำ ทำให้ภายนอกนิมพ์เป็นเหมือนสาวซึเดเระที่ออกอาการหยิ่งๆ และมองมนุษย์เหมือน “แมลง” แต่ภายหลังพวกโทโมกิได้ตัดโซ่ข้ารับใช้โลกเบื้องบนออก นิมพ์เลยยอมรับโทโมกิเป็นนายใหม่ของเธอ และหลังๆ เธอก็แอบชอบโทโมกิ

    คำว่า “นิมพ์” เป็นชื่อของนางไม้ ซึ่งสิงสถิตย์อยู่ตามริมแม่น้ำ ต้นไม้ ภูเขา ในเทพนิยายโบราณของกรีก เป็นนางไม้ที่ไม่พิสมัยสวมเสื้อผ้าอาภรณ์เพราะถือว่ามาจากความคิดของมนุษย์ แต่กระนั้นพวกเธอก็มีนิสัยขี้อาย หากรู้ว่าชายคนไหนแอบมองพวกเธอ พวกเธอจะแปลงร่างเป็นหน่อไม้หลบซ่อนทันที นอกจากก็มีคุณสมบัติอื่นๆ  เช่น ร้องเพลงไพเราะมาก และมีความสวยงามมากจนเป็นที่ต้องตาต้องใจของหมู่เทพที่มักลงมาเกี้ยวพาราสีและสมสู่กับนางขนาดเทพเจ้าสูงสุดอย่างซุสและไดโอนิซุส(เทพแห่งไวน์)ยังหลงไหล และพวกเธอยังคงไร้ความเดียงสาตลอดกาล ขนาดเทพซุสที่เจ้าอารมณ์โมโหยังให้อภัยกับความไร้เดียงสาของพวกนาง          

    อันมนุษย์เรานั้นจำเป็นต้องการมุกตลกเพื่อให้หัวเราะคลายเครียด โดยนักจิตวิทยาบำบัดคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า อารมณ์ขันจะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ในร่างกายซึ่งไม่ใช่แนวความคิดใหม่เนื่องจากในคัมภีร์ไบเบิ้ลได้กล่าวไว้ว่า “A merry heart doeth good like a medicine” หรือหัวใจที่เบิกบานจัดเป็นยารักษาโรคที่ดี”……

    เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง การหัวเราะทำให้เกิดการคลายเครียดได้ มีการพิสูจน์เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว โดยเมื่อคุณเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มที่มีชื่อว่า neuroendocrin ได้แก่epinephrine, cortisol,dopac ซึ่งจะทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง และมีการพิสูจน์แล้วว่าการหัวเราะจะช่วยลดการหลั่งของฮอร์โมน ในกลุ่มนี้ได้

     

    จริงอยู่ Sora no Otoshimono เป็นการ์ตูนตลก แต่คำว่าตลกนั้นมันมีหลายประเภท เช่น ตลกแบบหรรษาครอบครัวไม่มีพิษมีภัย, ตลกแบบสังคม, ตลกแบบโหด, ตลกแบบร้ายๆ และตลกแบบแนวทะลึ่ง

    Sora no Otoshimono อยู่ประเภทตลกแนวทะลึ่ง

    การ์ตูนญี่ปุ่นส่วนมากตลกแนวทะลึ่งนั้นค่อนข้างนิยมในการ์ตูนเลิฟคอมมาดี้ ฮาเร็ม  ประเภทตัวเอกมีนิสัยคิดแต่เรื่องใต้ร่มผ้า มุกส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องการการลวนลามผู้หญิง อย่างจับหน้าอก, ดูผู้หญิงอาบน้ำ, เปลือยให้ผู้หญิงดู, เปิดกระโปรงดูกางเกงใน เป็นต้น

    มนุษย์โดยเฉพาะผู้ชายมักชอบมุกตลกแนวทะลึ่ง ส่วนสาเหตุนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บกด การอยู่ในกาลเทศะที่อยากจะระบายออก หรือจะเป็นความสนใจเพศตรงข้ามที่เราอยากจะทำเรื่องพวกนั้นบ้าง แต่เราไม่สามารถทำได้เนื่องด้วยจริยธรรมและกฎหมาย ดังนั้นมุกตลกแนวนี้จึงตอบสนองได้เป็นอย่างดีในเรียกเสียงหัวเราะ

    ทำไมมุกตลกทะลึ่งลามกถึงทำให้หัวเราะ เนื่องจากมุกตลกนี้เป็น การเล่นตลกกับสามัญสำนึก โดยการเล่นตลกประเภทนี้มักจะให้มุกเรื่องสังคมไม่ควรเปิดเผย,ต้องห้าม หรือเป็นเรื่องเพ้อฝัน เป็นไปไม่ได้ แต่นำเอาเรื่องพวกนี้มาเล่น ทำการแหวกกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักความเป็นจริง ทั้งหมดนี้เป็นตามหลักทฤษฏีจิตวิทยาทั้งสิ้น โดยการเล่นมุกตลกนั้นมีหลายอย่าง หลายแบบ แต่ทั้งหมดนั้นมีหลักการเดียวกัน คือการแหวกกรอบที่วางไว้ โดยทั่วไปมุกตลกนั้นจะเอาเรื่องราวต่างๆ มาล้อเลียนให้ความหมายเปลี่ยนไป ทำให้เรื่องที่เสนอผิดจากความหมายโดยทั่วไปคาดไม่ถึง

    อย่างที่ว่าอารมณ์ขันเกิดจากการสร้างสิ่งที่ผิดแผกแตกต่างไปจากความรู้สึกนึกคิดของบุคคล หรือคนในสังคมนั้นๆ ยกตัวอย่าง จะเห็นได้ว่า Sora no Otoshimono ได้ สร้างพระเอกกลายเป็นตัวตลกในอีกเวอรชั่นหนึ่งที่เรียกว่า “เวอร์ชั่นทะลึ่ง” คนเขียนได้เปลี่ยนให้โทโมกิ เด็กมัธยมที่ดูเหมือนเป็นคนอ่อนโยนและไม่มีพิษมีภัยกลับกลายเป็นหนุ่มหื่นในเวอรชั่นตัวเตี้ย(ซึ่งคนที่ได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้เห็นโทโมกิเปลี่ยนรูปร่าง ลักษณะ ก็รู้ทันทีเลยว่าอีกไม่นานจะมีมุกตลกเกิดขึ้นแล้ว เพราะตัวละครเวอร์ชั่นนี้จะทำท่าทีที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ ทำตัวสัปดน สองแง่สองง่าม อนาจาร และลามก ที่ดูแล้วน่าถีบน่าตืบน่ารักน่าชังอย่างจงใจ

     

    เวอร์ชั่นทะลึ่งของโทโมกิที่หัวโตตัวเล็กแขนและขาสั้นเรียกว่า สัดส่วน SD (Super Deformation) หมายถึงการย่อรูปร่างของตัวละครให้ดูน่ารักหรือตลกขึ้น โดยเพิ่มสัดส่วนของศีรษะแต่ลดขนาดร่างกายลงจนผิดจากสัดส่วนของคน เพื่อให้คล้ายกับคนตัวเล็ก โดยที่มาของคำนี้มาจากโมเดลกัมดั้ม

    SD นั้นปรากฏในมุกการ์ตูนญี่ปุ่นหลากหลาย ทั้งตลกและไม่ตลก ใช้ได้กับทุกตัวละคร ทุกเรื่อง จนเรียกว่าควบคู่กับการ์ตูนญี่ปุ่นเสียแล้ว เรามักคุ้นเคยสัดส่วนตัวละครผิดเพี้ยน หัวโตแต่ตัวเล็กจากตัวละครที่ชื่อซุปเปอร์แมนจากเรื่องดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่(Dr. Slump)  ที่วาด อากิระ โทริยามา ที่จงใจวาดซุปเปอร์แมนให้แหวกแนวอย่างจงใจ ตัวจริงของซุปเปอร์แมนต้นฉบับดั้งเดิมนั้นที่สูงล่ำกล้ามเป็นมัดๆ มีนิสัยกล้าหาญช่วยเหลือผู้อื่น กลับกลายเป็นคนตัวเตี้ยหัวโต นิสัยเห็นแก่ตัว ขี้ขลาดใจปลาสิว สิ่งเหล่านี้หลักการมุกตลกการสร้างสิ่งที่ผิดแผกแตกต่างไปจากความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นเอง

    เวอร์ชั่นทะลึ่งของโทโมกิ SD แล้วทำให้ผู้ชมอินกับตัวเอกคนนี้ ว่ามีนิสัยหื่นชัดๆ แต่แล้วคนเขียนก็ได้หักหน้าผู้ชมอีกครั้ง เมื่อใช้โทโมกิเวอรชั่นปกติ ปล่อยมุกตลกทะลึ่ง

     

    ภาพบน จากตอน 11 (หนังสือการ์ตูน)หากไม่อ่านตัวหนังสือ คงคิดว่าเป็นฉากซึ้ง ประเภทมิตรภาพ  แต่หากได้อ่านเนื้อหาฉากนี้แล้วจะพบว่าความจริงมันไม่ใช้ฉากซึ้งแสดงถึงมิตรภาพแต่อย่างใด แต่เป็นฉากที่โทโมกิชักชวนรุ่นพี่วางแผนเข้าโรงอาบน้ำเพื่อดูสาวๆ อาบน้ำ!! นี้แหละคือหลักการวางกฎเกณฑ์หักมุมแนวคิดของคนดู

    แม้ว่าจะถึงฉากโทโมกิพูดซึ้งๆ กับฮิคารอสแล้วก็ตาม แต่คนดูก็ยังขำอยู่

     

    ภาพบน จากตอน 11 หน้า 36 มันซึ้งก็จริงอยู่ แต่โทโมกิพูดซึ้งกับฮิคารอส ตอนที่เขาโนจับได้ว่าแอบเข้าโรงอาบน้ำฝั่งหญิง แล้วโดนผู้หญิงรุมกระทืบ จนโดนลงโทษขัดพื้นโรงอาบน้ำ ดังนั้นแม้ว่าโทโมกิจะทำซึ้งขนาดไหน แต่คนดูก็ไม่สามารถสละภาพโทโมกิหนุ่มน้อยลามกไปจากสมองได้ ดูแล้วก็หัวเราะอยู่ดี(สำหรับผม)

    ยกตัวอย่างเช่น หม่ำ จ๊กม๊ก ผู้ชมอินกับบทบาทของเขาคือตลก ไม่ว่าอยู่เฉยๆ นั่งเฉยๆ แสดงท่าทางอะไร คนชมก็ตลก แม้แต่ฉากเศร้า ฉากซ้ำ อย่างในหนังเรื่องมือปืนโลกพระจันทร์ แทนที่จะสื่อให้เศร้าตัวละครที่แสดงโดยหม่ำ ผู้ชมกับหัวเราะอย่างไม่รู้เหตุผล ทั้งๆ ที่มันไม่ขำสักนิด อันเนื่องจากเราไม่สามารถสละตัวตนตลกของหม่ำได้

    โทโมกิ SD จึงเป็นกลไกทางจิตวิทยามุกตลกทุกประการ เนื่องด้วยการกระทำที่ขาดๆ เกินๆ หรือผิดไปจากปกติที่ไม่มีมนุษย์ธรรมดาที่ไหนทำกัน กลายเป็นตัวตลกชูโรง โดดเด่นกว่าใครๆ ในเรื่องทั้งหมด ส่วนตัวละครอื่นๆ เป็นเพียงตัวเสริมเพื่อให้โทโมกิเล่นมุกเท่านั้น

    นักจิตวิทยาเคยบอกไว้ว่ามุกตลกที่ปล่อยแล้วคนอื่นหัวเราะที่สุดนั้นจะต้องเป็นมุกที่หักล้างความคิดของผู้ฟังลง บางทีมันอาจไร้เหตุผล  ขัดแย้งกับสามัญสำนึก  ไม่สามารถอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้

    นอกเหนือจาก โทโมกิ SD การ์ตูน Sora no Otoshimono ยังมีกระบวนการจิตวิทยามุกตลกสอดแทรกเขาไปอีก

     

    จากตอน 12 หน้า 5  เมื่อฮิคารอสไปโรงเรียน และอยู่ห้องเดียวกับโทมิกิ และคุณเธอก็โชว์ปีกใหญ่ออกมา หากในโลกแห่งความจริงคุณคิดอย่างไร จู่ๆ ก็มีมนุษย์ประหลาดเข้าร่วมเรียนกับเรา แน่นอนเราก็คิดๆ ว่ามันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ คุณโวยวาย ร้องเรียกหาตำรวจ ว่าจู่ๆ มีสัตว์ประหลาดอยู่ใกล้ตัวเรา มันจะมาฆ่าเราหรือเปล่าก็ไม่รู้?

    แต่การ์ตูนก็คือการ์ตูน การ์ตูน Sora no Otoshimono ได้ทำให้เรื่องเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา คนในห้องของโทโมกิเห็นฮิคารอสแทนที่จะตกใจแต่กลับกลายเป็นว่ารับได้กับภาพที่เห็นและไม่กี่ชั่วครู่ทุกคนก็แค่ฮิคารอสเป็นเพียงผู้หญิงธรรมดาเท่านั้น โดยไม่สนปีกที่อยู่ด้านหลังเธอแต่อย่างใด หรือแม้ตอนอยู่ข้างนอกชาวบ้านก็ไม่แปลกใจสักนิดที่เห็นคนมีปีกบินท้องฟ้าได้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นทุกเชื่อวัน ส่วนคนที่ไม่รับกับเหตุการณ์ดังกล่าวคือโทโมกิว่าทำไมคนรอบตัวเขาถึงมองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

      นี้แหละคือการเล่นมุกทางจิตวิทยาแบบไม่จำเป็นต้องมีเหตุมีผล ไม่ต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องเหล่านี้

    หากใครบางคนที่ดู Sora no Otoshimono ไม่ตลก หรือบ่นว่ามุกซ้ำๆ ซาก ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร  เพราะมุกตลกนั้นใช่ว่าจะง่าย ปล่อยออกมาแล้วคนที่ได้ดูได้ฟังต้องขำทุกคนนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่ตลก อย่างที่บอก มุกตลกนั้นเป็นมุกที่หักล้างความคิดของผู้ฟังลง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการยากที่จะสรรหาเอามาเล่น ตรงกับ มุกตลกจำเจ ที่มีโครงสร้างนึกออกง่ายและทีเด็ดที่รู้อยู่แล้ว นอกเหนือจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับเพศของผู้ฟังว่าเป็นเพศไหนซึ่งปกติเพศหญิงจะรับไม่ได้กับการ์ตูนแนวทะลึ่ง, เกินเขตศิลธรรมไหมเช่นเอามุกสาวประเภทสองมาล้อเลียนแน่นอนต้องไม่มีคนชอบแน่นอน,หรือเป็นสติปัญญาของคนฟังคนดูว่าเข้าใจในมุกนี้ไหม


             หากจะดู
    Sora no Otoshimono แบบมีข้อคิด ก็ขอให้เน้นดูอมิเนชั่นตอนที่ 1 และ 13 (ในหนังสือการ์ตูนก็ตอน 1-2 และ 15 โดยตอน 13 อมิเนชั่น เป็นเรื่องของนิมพ์แต่ต้องเอาหลายๆ ตอนมาประกอบกัน คุณจะหลงรักตัวละครนี้อย่างแรง)  ที่จริงๆ ก็ดีทุกตอนแหละครับ เพียงแต่อยากให้เข้าถึงอารมณ์ก็ต้องดูตอนแรกและตอนจบ            

    แนวทางการเขียนของนักเขียนนี้จะออกมาแนวพระเอกธรรมดาแต่ไปประสบพบเหตุการณ์หนึ่งจนเขาพิเศษกว่าคนอื่นๆ หรือเรื่องราวเหนือธรรมชาติ แต่ที่น่าสังเกตคือแต่ละเรื่องนั้นแฉกแนวอย่างสิ้นเชิง คือจากเรื่องโรแมนติกเศร้าๆ พอมาเขียนเรื่องที่สองกลับกลายเป็นดาร์คแฟนตาซีแบบสะพรึงกลัว ทำให้มองได้ว่าคนเขียนคนนี้สามารถเขียนการ์ตูนเปลี่ยนแนวได้อย่างลงตัว(ผิดกับนักเขียนบางคน เปลี่ยนแนวแล้วไม่ได้เรื่องเลย)

    เรื่องแรกคือ ผู้กอบกู้ที่รัก (Watashi No Meshia Sama) เป็นเรื่องราวของยูมิกิ ชินยะพระเอกที่ไม่เอาไหน เงียบๆ และมีความทรงจำไม่ดีในสมัยเด็ก แต่ต่อมาเขาก็เกิดหลงไปโลกเวทมนต์ และเลือกให้กอบกู้ต่อสู้กับเหล่าสัตว์ประหลาด โดยมีผู้ช่วยเป็นเหล่าสาวๆ ทั้งหลาย แต่แนวเรื่องนั้นค่อนข้างจะเศร้าซึ้งมากกว่าตลกทะลึ่ง(สำนักพิมพ์สยาม 13 เล่มจบ )

    เรื่องต่อมาคือ JUDAS เป็นเรื่องตัวเอกที่ชื่อจูดัส ที่ผู้สาปไม่สามารถสัมผัสคนได้ ซึ่งเขาจะต้องใช้ร่างอีฟแทนตัวเองหยิบยื่น “ความตาย” ให้แก่ผู้คนจนครบ 666 คน จะกลับคืนร่างมนุษย์ ซึ่งเป็นแนวดาร์คแฟนตาซีแนวน่ากลัวเป็นหลัก (สยาม 5 เล่ม จบ ดูเหมือนว่าจบแบบค้างๆ)

     ดูเหมือนว่าคนเขียนจะสอดแทรกฉากซึ้งดราม่าเรียกน้ำตาเก่งมาก เพราะว่าทั้งสองเรื่องออกแนวเศร้าๆ หดหู่ Sora no Otoshimono ก็เช่นกัน แม้ว่าเป็นการ์ตูนตลกทะลึ่ง แต่หากมานับจริงๆ ก็ทะลึ่งไม่กี่ฉาก เพราะภายใต้ลายเส้นสะอาดตาสดใจ ฉากแอ็คชั้นที่อลังการนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นฉากเรียกน้ำตา ฉากซึ้ง ดราม่า ฉากประทับอยู่มากมาย โดยแต่ละตอนมีสิ่งเหมือนกันคือมีฉากทะลึ่งตอนต้น และหักหลังด้วยฉากตอนท้ายคือดราม่าที่เรียกน้ำตาหนักหน่วง

     

    ตอนที่ 1 “A Naked King (Hero) Arises in the World!” (อมิเนชั่น) เป็นตอนที่โทโมกิพบฮิคารอส และได้รู้ความสามารถฮิคารอสมีความสามารถจะทำอะไรก็ได้ตามใจเขาที่ปรารถนา โดยเพียงออกคำสั่งจากปากโทโมกิคำเดียว ฮิคารอสจะจัดการตามความประสงค์ โดยไม่สนว่าคำสั่งนั้นมันจะถูกต้องศีลธรรมหรือไม่ก็ตาม

    โทโมกิก็เหมือนกับมนุษย์โดยทั่วไป ที่ความต้องการไม่มีวันสิ้นสุด สิ่งที่มนุษย์ต้องการอย่างแรกคือ เงิน(ร่ำรวย) เมื่อได้เงิน(ร่ำรวย) ก็อยากได้แฟนสวย(โทโมกิเลือกลวนลามสาวๆ โดยไม่ถูกจับได้มากกว่า) เมื่อได้ตามประสงค์ ก็อยากกินอาหารหรู ฯลฯ และเมื่อความประสงค์ทั้งหมดเติมเต็มจนหมดสิ้นจนไม่มีอะไรอยากได้ สิ่งสุดท้ายที่มนุษย์ต้องการสุดท้ายคือ “ครองโลก”

    โทโมกิหลุดปากว่า “อยากครองโลก” สำหรับฮิคารอสแล้วถือว่าเป็นคำสั่งที่จริงจัง ฮิคารอสจัดการความปรารถนาให้เป็นจริง โดยจัดการลบคนที่ไม่ยอมรับโทโมกิเป็นผู้ปกครองโลกออกให้หมด

    โทโมกิตกใจกับสิ่งที่เกิดตรงหน้า มนุษย์รอบๆ ตัวหายไปจนหมดสิ้น ยกเว้นตัวเขาคนเดียวในโลกใบนี้ เขาจึงขอร้องให้ฮิคารอสยกเลิกคำสั่งนี้

    “ยกเลิกได้ไหม?”โทโมกิขอร้องฮิคารอส

    ฮิคารอสปฏิเสธ โดยบอกว่าคำสั่งออกมาแล้ว ยกเลิกไม่ได้

     

    หากพิจารณาดูแล้ว ข้อคิดของมันคือ เพียงคำสั่งเดียวเพียงคนๆ หนึ่งอาจเปลี่ยนแปลงโลกได้และเมื่อออกคำสั่งไปแล้วยากที่จะยกเลิกมันได้เพราะผลที่ออกมายากที่จะแก้ไขให้เป็นดั่งเดิมได้ ยกตัวอย่าง เช่น คำสั่งผู้นำสหรัฐที่ออกคำสั่งบุกประเทศอิรัก เพียงคำสั่งเดียวก็ได้เปลี่ยนแปลงประเทศอิรักเป็นประเทศแห่งไฟสงคราม หลายฝ่ายต่างโจมตีว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่คำสั่งออกมาแล้ว และผู้ที่อยู่ในอำนาจก็ปฏิบัติตามคำสั่งแล้วไม่สามารถยกเลิกได้(สหรัฐใช้เทคโนโลยีการทหารที่ทันสมัยโจมตีอีรัก)

    โทโมกิก็เหมือนโนบิตะจากเรื่อง “โดเรมอน” โทโมกิเปรียบเทียบเหมือนโนบิตะ คือสัญลักษณ์ของ ผู้อ่อนแอ และไม่ฉลาดนัก เมื่อได้ฮิคารอส เขาก็เหมือนมนุษย์ที่พึ่งเทคโนโลยี(พลังของฮิคารอส) ที่สามารถเติบเต็มความปรารถนาที่ไม่สิ้นสุดของตัวเองได้ โดยไม่สนกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ของจักรวาล ก่อนที่ตอนที่1 จะจบลง โดยผลเสียของเทคโนโลยีที่ออกจากคำสั่งของเขาโดยไม่ยั้งคิด

    ฮิคารอส(และโดเรมอน)ก็เปรียบเสมือนเทคโนโลยีที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีต้องห้ามที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ในโลกแห่งความจริงเทคโนโลยีต้องห้ามเหล่านี้ก็คือ นิวเคลียร์, โคลนนิ่ง, จีเอ็มโอ ความจริงเทคโนโลยีต้องห้ามในโลกแห่งความจริงนี้ถูกจำกัดโดยการเมือง ศาสนา และเชื้อชาติ หากแต่กรณีของฮิคารอส(โดเรมอน) นั้นไม่ปฏิเสธข้อจำกัดนี้โดยสิ้นเชิง

    แต่ตอนจบตอนที่ 1 กลับกลายเป็นว่าทั้งหมดกลายเป็นความฝัน เพราะฮิคารอสทำตามปรารถนาโทโมกิให้ความจริงว่านี้เป็นเพียงฝันร้าย เปรียบเสมือนความจริงนี้เป็นความฝัน เป็นอนิจจังของโลกที่ไม่สามารถเป็นไปได้

     

    (ผมชอบฉากจบที่ฮิคารอสตอน 1 เอาปีกโอบเจ้านายของตน ดูแล้วชอบจริงๆ แม้ว่าโทโมกิจะเป็นเจ้านายที่ไม่เอาไหน ด้อยกว่าฮิคารอสในทุกเรื่อง แต่โทโมกิมีสิ่งที่ฮิคารอสไม่มีนั้นก็คือ “จิตใจและอารมณ์ของมนุษย์” และฮิคารอสต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งนี้)

     

    แม้หลายๆ ตอนโทโมกิจะเหมือนโนบิตะ คือ “ไม่เข็ด” แม้เทคโนโลยีนั้นทำให้เขาได้รับผลเสียมากกว่าผลดี แต่โทโมกิก็ยังใช้เทคโนโลยีต่อไป หากแต่กรณีของโทโมกิจะแตกต่างจากโนบิตะนิดหนึ่งตรงที่เขาพยายามสอนฮิคารอสให้รู้จักชีวิต เข้าถึงจิตใจของมนุษย์ สอนให้เป็นผู้หญิงธรรมดา รู้จักความรัก รู้ว่าสิ่งไหนดีไม่ดี (เทคโนโลยีในด้านดี, จริยธรรมควบคู่กับวิทยาศาสตร์) ที่เห็นเด่นชัดระหว่างโทโมกิมองฮิคารอสก็คือตอนที่ 13(อมิเนชั่น) ที่ฮิคารอสสารภาพว่าเป็นเครื่องจักรสังหาร(เสมือนนิวเคลียร์) แต่โมโมกิไม่ใส่ใจ เพราะตอนนี้เขาคือมนุษย์ที่รู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม แม้ว่าเทคโนโลยีนั้นมันจะร้ายแรงเท่าใดก็ตาม เขาก็สามารถใช้เพื่อก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมได้


            
         (ปล. ตอนที่ 10 มีทั้งซึ้งและฮ่าอย่างมาก โดยเฉพาะเพลงจุกเสียวซ่านของโทโมกินี้ฮ่าจริงๆ ผับผ่า รู้สึกว่าจะชื่อเพลง “Perky Nipples” ก่อนตบท้ายด้วยเพลงเพราะๆ ของฮิคารอสที่ผมชอบมากๆ ในเพลง “fallen down”)


                    สรุป Sora no Otoshimono ทั้งหนังสือและอมิเนชั่นนั้นมีความสนุกไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ด้วยเนื้อเรื่องลื่นไหล ภาพสวยงาม ตัวละครน่ารักน่าชัง แถมเพลงจบตอนที่เปลี่ยนทุกตอนไม่ซ้ำแบบอีกด้วย(บางเพลงก็ฮ่า บางเพลงก็ซึ้ง บางเพลงก็ทำนองแบบเพลงการ์ตูนสมัยก่อน)  แม้จะมีมุกทะลึ่งไปบ้าง(หลายคนชอบใจมุกกางเกงในบินได้) แต่กระนั้นก็ถูกตบท้ายด้วยดราม่าเข้มข้น ระหว่างโทโมกิกับเหล่าสาวๆ ในเรื่อง แม้ว่าอมิเนชั่นนั้นจะจบใน 13 ตอน แต่คาดว่าจะมีภาค 2 ต่อแน่นอน เพราะคำตอบปริศนาอื่นๆ ยังไม่ได้ถูกเผย ใครชอบแนวหนุ่มน้อยแสนอ่อนแอแต่เป็นที่รักของสาวๆ ก็อยากขอให้แนะนำได้ดูได้เสพกัน

    สำหรับเรื่องราวของมุกตลกของญี่ปุ่นนั้นยังไม่จบนะครับ ยังมีอีก เพราะว่ามุกตลกนั้นมีหลายแบบ หลายเรื่องที่จะกล่าวถึง ซึ่งตอนหน้าก็จะว่าเรื่องมุกตลกในการ์ตูนญี่ปุ่นในเรื่อง “พระเจ้าจอร์ดมันยอดมาก” พรุ่งนี้แน่นอน

    + +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×