คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #316 : Re:Monster กองทัพที่ดีเริ่มมาจากระเบียบวินัย
เมื่อวันก่อนได้ดูภาพยนตร์ซีรีย์ สปาตาคัส ซึ่งดัดแปลงจากชีวิตจริงสปาตาคัส (120-70ปีก่อนคริสตกาล) เป็นทาสชาวธเรสที่ถูกขายเป็นนักสู้แกลดิเอเตอร์มที่ทนต่อการกดขี่เป็นทาสของโรมันไม่ไหว เลยรวบรวมทาสมาก่อกบฏโรมัน และสามารถเอาชนะทำโรมันหลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายกองทัพของเขาก็พ่ายแพ้ต่อโรมันที่นำโดยมาร์คัส ลิสินัส คราสซุส แม้ว่าหลังแพ้ศึกไม่มีใครทราบว่าสปาตาคัสเป็นตายร้ายดียังไง แต่ทาสที่ถูกจับได้ถูกตรึงไม้กางเขาทั้งหมด
เรื่องของสปาตาคัสนั้นก็มีด้านดีและด้านไม่ดี ด้านดีคือสปาตาคัสเป็นแบบอย่างของชายคนหนึ่งที่ต่อต้านความกดขี่ความไม่เป็นธรรม และต่อกรกับอาณาจักรยิ่งใหญ่อย่างโรมันแบบไม่กลัวเกรง ต่อสู้อิสรภาพ จนทำให้อาณาจักรยิ่งใหญ่ตะหนักถึงความเป็นมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามด้านไม่ดีสปาตาคัสก็มีอยู่มากเพราะวิธีการของเขาคือการใช้ความรุนแรงปะทะกับความรุนแรง เมื่อเขาตบก็เอาคืนสิบเท่า สปาตาคัสได้ปล่อยให้พรรคพวกตนเองทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมาย ปลุก ชิง ปล้นฆ่า ข่มขืน และพยายามทำสิ่งที่ใหญ่เกินตัว (คือต้องการฆ่าโรมัน) แทนที่จะสร้างสันติ สร้างฐานะให้พรรคพวกตนเองสูงขึ้น แต่ทำให้พวกตนตกต่ำลง สุดท้ายสปาตาคัสสร้างศัตรูมากเกินไปจนโดนไล่บี้ นำไปจุดจบที่โหดร้ายในที่สุด
หนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้สปาตาคัสผิดพลาดก็คือกองทัพที่ไร้ซึ่งระเบียบวินัย สปาตาคัสไม่สามารถจัดการบริหารจัดการคนจำนวนมากได้ คิดแต่จะบุกชิงทรัพยากรคนอื่น พอหมดก็ไปหาที่ปล้นใหม่ โดยที่ไม่หาจุดยุทธศาสตร์ปักหลักปักฐานระยะยาว ทำสงครามแล้วไม่สามารถหากองกำลังมาทดแทนได้ ผิดจากกองทัพของโรมเป็นทหารอาชีพผ่านการฝึก มีกระบวนทัพที่มีแบบแผนต่างจากพวกทาส แม้ทัพของสปาตาคัสจะมีจำนวนมาก แต่ต่างคนต่างสู้ ทำงานไม่เป็นทีม สุดท้ายก็พ่ายแพ้ย่อยยับ
กองทัพที่ดีต้องเริ่มจากวินัย กฎระเบียบกองทัพ การจัดสรรทรัพยากร มากกว่าการวางกลยุทธ์ หรืออาวุธ เพราะหากไม่มีระเบียบวินัย กองทัพก็ไม่เชื่อใจเรา ไม่ทำตามคำสั่งเรา อ่อนแอ กลัวตาย ต่อให้มีสิบกุนซือที่ฉลาดมากเหลือล้นหากกองทัพไร้ซึ่งระเบียบวินัยก็ยากที่จะชนะศึก
การจัดระเบียบวินัยกองทัพนั้นเป็นศิลปะขั้นสูงอย่างหนึ่ง เพราะมีความละเอียดอ่อน แม้จุดเล็กๆ ก็อย่าละเลย ไล่ตั้งตัวผู้ หน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา การวางกฎระเบียบ สิ่งเหล่านี้สมควรต้องเรียนรู้ และเราสามารถนำไปดัดแปลงเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้
มีตัวอย่างที่ดีในการจัดระเบียบวินัยกองทัพ และการ์ตูนที่ผมมานำเสนอนั้น คือเรื่อง Re:Monster ซึ่งหลายคนอาจอ่านเอาสนุกเอามัน ทั้งๆ ที่หากมองไปลึกๆ แล้วพระเอกเรื่องนี้มีแนวคิดจัดระเบียบวินัยกองทัพได้อย่างน่าสนใจ เพราะเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย สู่กองทัพที่แข็งแกร่งในอนาคตข้างหน้า
Re:Monster
Re:Monster เป็นการ์ตูนแฟนตาซี ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งชื่อโทโมคุอิ คานาตะ ผู้ที่มีความสามารถพิเศษคือ “กินแล้วเก่ง” กล่าวคือเมื่อเขากินสิ่งอะไรก็ตามที่กินได้ ก็จะได้สกิลหนึ่งหรือสองอย่างติดตัวมาด้วย เช่นกินงูพิษก็จะได้สกิลต้านพิษเป็นต้น ยิ่งกินมากก็ยิ่งเก่งมาก และด้วยความสามารถดังกล่าวทำให้กลายเป็นบุรุษที่แข็งแกร่งในปฐพี
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของชายที่แข็งแกร่งกลับจบชีวิตด้วยสาวน้อยลึกลับที่ตัวเองไว้เนื้อเชื่อใจประดุจน้องสาวของตัวเองอย่างง่ายดาย ไม่สมศักดิ์ศรีคนแกร่งที่สุดในโลกเลยแม้แต่น้อย
ระหว่างที่โทโมคุอิกำลังนึกเสียใจในความประมาทของตนใครอยู่นั้น เมื่อรู้ตัวอีกทีก็พบว่าตนเองได้เกิดใหม่ในร่างก็อบลิน และชื่อใหม่ว่า ก็อบโลว์
ก็อปลินเป็นสิ่งมีชีวิตที่พบมากในแฟนตาซี ที่อ่อนแอ เก่งกว่าสไลม์นิดเดียว น้อยมากที่จะรอดชีวิตจนโตเต็มวัย แต่อย่างไรก็ตามโชคดีที่พระเอกมีสกิลกินแล้วเก่งติดตัวมาด้วย และยังมีความรู้จากชาติที่แล้วอยู่ ซึ่งทำให้พระเอกไม่ได้จิตตกอะไรมากนัก และเขาก็พยายามที่จะใช้ชีวิตอยู่รอดจากโลกอันโหดร้ายนี้ให้ได้ และแล้วการชีวิตใหม่ของโทโมคุอิในร่างของก็อบลินจึงเริ่มขึ้น...
Re:Monster หรือ Reincarnated: Monster เป็นนิยายฮิตเงียบๆ ที่เริ่มมาจากนิยายในเน็ต (นิยายออนไลน์ เว็บบอร์ดอะไรก็ว่าไป) ก่อนที่จะถูกรวมเล่ม และมังงะอย่างเป็นทางการ โดยเป็นผลงานของ ผู้แต่ง: Kanekiru Kogitsune และ ผู้วาดภาพ: Kobayakawa Haruyoshi ถ้าถามว่าเรื่องนี้มีสิทธิเป็นนิยายในไทยไหม? คำตอบผมว่าคงยากมาก ถึงยากมาก เพราะมันเป็นแนวแหวกจริงๆ และสำนวนเนื้อหาผมว่าสำนักพิมพ์คงไม่ชอบสักเท่าไหร่ เพราะไม่คิดว่าจะขายได้
การดำเนินเรื่องของนิยายจะเป็นรูปแบบของไดอารี่ หนึ่งบทต่อหนึ่งวัน ไล่ตั้งแต่พระเอกเป็นก็อบลินตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง ก่อนที่จะกลายเป็นจอมมารโตเต็มวัย (Vajrayaksa Overlord) ที่น่าสะพรึงกลัว
มีคนบางคนวิจารณ์สำนวนการเขียนนิยายอย่างกับบันทึกจูนิเบียว และถ้าถามความรู้สึกผมอ่านนิยายในเน็ต ผมก็ตอบว่าคล้ายๆ ในนิยายในเว็บเด็กดี คือสำนวนง่ายๆ เขียนไม่กี่หน้าก็จบตอน (เท่าที่ผมดูการแปลมา ไม่รู้ว่านิยายเป็นเล่มสำนวนจะเขียนบรรยายจะละเอียดขึ้นหรือเปล่า) แต่จุดเด่นของนิยายเน็ตของญี่ปุ่นคือมันน่าติดตาม วางไอเดียน่าสนใจดี และที่สำคัญคือสนองเนิร์ดผู้เขียน และทำให้ผู้อ่าน (ที่มีความเนิร์ดเหมือนกัน) เกิดความสนุกระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ในนิยายยังมีส่วนผสมของแนวออนไลน์ กับ RPG เข้าไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น เลเวลอัฟ, เลื่อนขั้น, เลื่อนคลาส, วิวัฒนาการ ไปจนถึงสกิล ทำให้บางอย่างดูแปลกๆ ไม่เข้ากันตามความรู้สึกของผมมากมาย (เช่น พวกตัวเอกแปลงร่างง่ายๆ แบบนี้เรอะ อย่างกับโปเกมอน)
แม้นิยายและมังงะจะบอกว่าเป็นแนวแฟนตาซีฮาเร็ม แต่ความจริงแล้วมันก็ไม่ใช่แนวฮาเร็มสายหลัก แม้ว่าในเรื่องพระเอกก็อปลินของเราจะมีเมียหลายคน (อีกทั้งกิ๊กอีกต่างหาก) แถมมีลูกมากมายหลายคนด้วย แต่กระนั้นในแง่ของความเป็นฮาเร็มแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เน้นอีเวนท์ ปักธงสาวๆ อะไรมากนัก เพราะประเด็นของเรื่องเน้นการพัฒนากองทัพ การใช้ชีวิตประจำวันอะไรมากกว่า และบทสาวๆ ก็ไม่ได้เด่นมากมาย
ดังนั้นใครอยากเสพแฟนตาซีฮาเร็มที่มีอีเวนท์ปักธงสาวๆ แบบฟิน ข้ามไปเลยครับ
และใครที่ไม่ชอบนิยายแนวดำเนินเนิ่บๆ เน้นเก่งเลเวล ตีมอน อัฟเกราะ โดยไม่เน้นเนื้อเรื่องกู้โลก ปราบจอมมาร ก็ข้ามไปเลยครับ
ยอมรับว่าตอนแรกผมไม่สนใจเรื่องนี้เลย ใครเขาอยากดูเกาะชีวิตก็อปลิน
การดำเนินนิยายช่วงแรกๆ ยังไม่มีอะไรหวือหว่า มันเหมือนสารคดีเกาะติดชีวิตของก็อปลิน กล่าวคือ เนื้อหาเป็นพระเอกเกิดใหม่ในร่างของก็อปลิน ซึ่งหากพูดถึงก็อปลินแล้วมันก็คือสิ่งมีชีวิตที่กากที่สุดอันดับต้นๆ ของแฟนตาซี เป็นขนมให้ผู้กล้าได้ยำ เก็บเลเวลในช่วงตอนต้น ด้วยความที่มีรูปร่างตัวเล็กน่าเกลียด ทำให้เป็นมอนสเตอร์ที่หลายคนไม่ค่อยอวยมากนัก ไม่ว่าตำนานไหนๆ ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเป็นมิตรกับมนุษย์เลยสักนิด
ดังนั้นช่วงแรกๆ ผมก็ไม่ได้อวยนิยายหรือการ์ตูนเรื่องนี้เลย (ผมดูการ์ตูนก่อน) แต่ยอมรับว่ามันน่าสนใจ เพราะเราได้เห็นวิถีชีวิตของก็อปลินว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ใช้ชีวิตยังไง กินอาหารอะไรบ้าง และที่น่าตกใจคือการสืบพันธุ์ของก็อปลินที่จับผู้หญิงมนุษย์จำนวนมากมากักขังเพื่อให้ก็อปลินที่เป็นผู้ชาย
พูดง่ายๆ วิถีชีวิตก็อปลินก็ กิน ขี้ บี้ นอน ไม่แตกต่างอะไรกับสัตว์ทั่วไป ตัวไหนอ่อนแอก็ตาย ตัวไหนเก่งก็รอด ตัวที่เก่งต้องเรียนรู้ปรับตัวและฝึกฝนให้เก่งเพื่ออยู่รอดชีวิตบนโลกใบนี้
แน่นอนว่าหากเราเป็นคนธรรมดาเกิดในร่างก็อบลินมันคงจิตตกน่าดู แต่พระเอกเรื่องนี้ทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และพยายามปรับตัวใช้ชีวิตในโลกอันโหดร้ายนี้ จากก็อปลินกระจอกงอกง่อยสามารถพัฒนาตนเองแข็งแกร่ง และกลายเป็นผู้นำเผ่าอสูรเทพๆ ในเวลาต่อมา
ความสนุกของ Re:Monster ไม่ได้อยู่ที่การดำเนินเรื่องซับซ้อน แต่อยู่ที่การใช้ชีวิตประจำวันของพระเอกที่เริ่มการเติบโต เก่งของเรื่อยๆ อย่างช้าๆ (ในด้านอัพเลเวล ไม่ใช่การพัฒนาด้านจิตใจ) จนเกิดอาการเสพติด ว่าต่อไปพระเอกจะเก่งขนาดไหน และจะเป็นยังไงต่อ
และนอกเหนือจากการพัฒนาความสามารถของพระเอกแล้ว สิ่งที่สนุกคือการจัดการอัฟเกรดกองทัพก็อบลิน ที่ตอนแรกๆ เป็นเพียงกลุ่มก็อบลินเล็กๆ สู่กองทัพอสูรคลาสโหด ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความสามารถของพระเอก และการใช้หลักระเบียบกองทัพต้องมีวินัยมาใช้ล้วนๆ ซึ่งหากสังเกตดีๆ จะพบว่าพระเอกเริ่มใช้ตั้งแต่ออกล่าสัตว์ครั้งแรกเลยทีเดียว
ก่อนที่จะพูดพื้นฐานการสร้างระเบียบกองทัพ เราต้องพูดถึงผู้นำ หรือพระเอกของเราก่อน หากผู้นำเข้มแข็ง กองทัพย่อมแข็งแกร่งตาม ซึ่งพระเอกเรื่องนี้จะว่าไปก็ไม่ได้เป็นกุนซือที่อัจฉริยะแต่อย่างใด แต่ก็มีความฉลาดแกมโกง มีการปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ มีกลยุทธ์ อีกทั้งชาติที่แล้วก็เป็นมนุษย์สุดแกร่ง คงเรียนรู้การเป็นผู้นำกลุ่ม กิลด์อะไรบ้าง ซึ่งพระเอกนำความรู้เหล่านี้มาใช้ปรับปรุงกลุ่มก็อบลินของตนเองและมันก็ใช้ได้ผล
ที่น่าสนใจคือ พระเอกเรื่องนี้ไม่ได้เป็นคนมีคุณธรรม ไม่ได้เป็นพระเอกรักความดี เกลียดชังความชั่ว เหมือนพระเอกแฟนตาซีทั่วๆ ไป แต่เป็นพระเอกที่มีความเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีปะปนกัน เป็นประเภทที่ว่า ใครดีก็ดีตอบ ใครชั่วก็จะโต้กลับเอาคืนเป็นสิบเท่า เป็นคนที่เก่ง เอาตัวรอดได้
เจ้านายและลูกน้อง ตอนแรกๆ ที่พระเอกอยูในร่างก็อบลินนั้นแสนอ่อนแอ พระเอกเริ่มต้นด้วยการพยายามรู้จักสภาพร่างกายของตนเองว่ามีขีดจำกัดมากน้อยขนาดไหน และเมื่อถึงเวลาออกล่าเหยื่อ พระเอกได้หาปาร์ตี้ (คู่หู) มาเป็นกำลังช่วยการล่า เพราะพระเอกคิดว่าสองหัวดีกว่าหัวเดียว และเอาไว้เป็นไม้กันหมาได้ และนั้นเองทำให้พระเอกรู้จักกับ “ก็อบคิจิ” ซึ่งเป็นมือขวาของพระเอกในเวลาต่อมา
ตรงออกล่าครั้งแรก พระเอกเริ่มใช้วิชาการการจัดการบริหารบุคลากรเป็นครั้งแรก เมื่อล่ากระต่ายมีเขา (ฮอร์นแร๊บบิท) พระเอกเห็นก็อบคิจิเป็นก็อบลินที่ไร้สมอง แต่ก็เชื่อฟัง พระเอกจึงแจกแจงหน้าที่ให้มือขวาให้ปฏิบัติตาม จนการร่วมมือประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พวกเขาสามารถล่ากระต่ายมีเขาได้เป็นครั้งแรก
แม้ก็อบอิจิจะเป็นทั้งมือขวา และเพื่อน แต่พระเอกก็ไม่ได้ให้ก็อบอิจิมีฐานะเสมอกับตน พระเอกต้องอบรมสั่งสอนก็อบคิจิให้รู้จักที่ฐานะของตนเอง รู้จักต่ำที่สูง ด้วยการตัดเตือน และทำโทษ ซึ่งก็อบอิจิที่ไม่ค่อยฉลาดอยู่แล้วก็เชื่อฟัง เข้าใจดี แต่ในขณะเดียวกันพระเอกก็ไม่ได้ลงโทษเกินกว่าเกิด ก็ให้ผลตอบแทนตามผลงานให้ด้วย นี่คือการจัดการบุคลากรครั้งแรกของพระเอก (ในร่างก็อบลิน)
จากก็อบลินกลายเป็นสาวสวยแวมไพร์ เพื่อนสมัยเด็กพระเอก
แบ่งหน้าที่ พระเอกและก็อบคิชิได่กลายเป็นคู่หูนักล่า ทำให้ก็อบลินตัวอื่นๆ สนใจ ระหว่างนั้นเองพระเอกก็ได้รู้จักก็อบลินตัวเมียตัวหนึ่งชื่อ “ก็อบมิจัง” ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเพื่อนสมัยเด็กและเมีย (หลวง) ของพระเอก ซึ่งพระเอกรับก็อบมิจังเข้ากลุ่มล่าสัตว์ด้วยกัน ในตอนนั้นเองพระเอกได้กำหนดหน้าที่ตำแหน่งของก็อบมิจังให้เป็นกองหลัง ทำหน้าที่เป้นพลโจมตีระบะล สาเหตุก็คือก็อบมิจังมีประสบการณ์ล่าสัตว์ต่ำ และอ่อนแอ ดังนั้นจึงเหมาะในการต่อสู้ระยะไกล ส่วนแนวหน้าเป็นพระเอกและก็อบคิชิที่มีประสบการณ์และพละกำลังที่ดีกว่า
ไม่ว่าจะเป็นกองทัพเล็กหรือใหญ่ควรกำหนดหน้าที่ของลูกทัพชัดเจน ว่าอยู่ตำแหน่งใด เป็นพลอะไร หากกองทัพไร้ซึ่งระเบียบแบบแผนก็ไม่สามารถสั่งการปรับกระบวนทัพได้ หากกองทัพศัตรูมีการสื่อสารที่ที่ดีกว่า มีกองทัพที่เหนือกว่า
รู้หลีกเป็นหลีก จะเห็นว่าพระเอกรู้เรื่องความแตกต่างระหว่างก็อบลินและเหยื่อที่ถูกล่าโดยชัดเจน ดังนั้นพระเอกจึงเน้นการล่าแบบกลุ่มมากกว่าที่จะล่าคนเดียว และเมื่อมีจำนวนเยอะต่อให้ศัตรูฝ่ายตรงข้ามเก่งยังไง หากมันอยู่คนเดียว พวกพระเอกก็สามารถจัดได้อย่างง่ายดาย
จะเห็นว่าการล่าสัตว์แต่ละครั้งพระเอกไม่ได้ล่ามั่ว แต่ใช้กลยุทธ์ด้วย เช่น มีตอนหนึ่ง เจอ “ออร์ค” (ในเรื่องจะเป็นมนุษย์ครึ่งคนครึ่งหมู) เดินอยู่ในป่าคนเดียว พระเอกจะสำรวจให้แน่ใจว่ามันมีตัวเดียวแน่หรือเปล่า และเมื่อแน่ใจออร์คอยู่ตัว ก็เริ่มการล่าจัดการได้
และนอกจากนี้หากพระเอกเจอศัตรูที่เหนือกว่า พระเอกจะไม่ตะบี้ตะบันโจมตีทันที แต่จะกลับไปเก็บเลเงล ประสบการณ์ให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะกลับมาล่าก็ยังไม่สาย สิ่งเหล่านี้สำคัญเป็นสิ่งสำคัญเพราะหากพลาดขึ้นมาจากผู้ล่าก็จะกลายเป็นผู้ถูกล่าได้
ก้าวสู่อำนาจ หลังจากพระเอกกับก็อบคิชิเหนือกว่าก็อบลินรุ่นเดียวกัน และไม่นานก็กลายเป็นผู้นำของกลุ่ม (จำนวนกลุ่มก็อบลินตอนแรกมีประมาท 40 ตัว) สิ่งแรกๆ ที่พระเอกนั้นคือการสอนให้ก็อบลินตัวอื่นๆ รู้จักการล่า จากนั้นก็ทำการฝึกฝนให้พวกก็อบลินแข็งแกร่ง ซึ่งการฝึกของพระเอกนั้นหนัก เข้มงวด แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากฝึกเสร็จพระเอกจะชมลูกสมุนทุกครั้ง พร้อมกับทำอาวุธให้ สิ่งเหล่านี้คือการเป็นผู้นำที่ดี หมั่นฝึกฝนลูกน้องตลอดเวลา รู้จักชม รู้จักให้ ซื้อใจลูกน้อง ไม่ใช่เบ่งอำนาจอย่างเดียว
คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ ในสามก๊ก แม้ว่าโจรโพกผ้าเหลืองจะมีทหาร และบุคลากรเก่งๆ มากมาย แต่เพราะการจัดการกองทัพไม่ดี จนพวกทหารขาดระเบียบวินัยทำให้ย่อยยับในตอนท้าย ส่วนสปาร์ตาคัสเองก็เช่นกันแม้จะมีคนมากมายแต่สุดท้ายพินาศเพราะการทรัพยากรไม่พอ
มากคนก็มากความ ยิ่งคนมากเรื่องก็เยอะ การจัดสรรทรัพยากรก็ยากขึ้นด้วย คนมากแต่ไม่มีคุณภาพก็ย่อมไม่ใช่กองทัพที่ดี กองทัพที่ดีไม่ใช่อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณภาพ แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม
พระเอก Re:Monster เองก็ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ แม้ว่าก็อบลินจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีคุณภาพมากนัก (และเป็นปกติของก็อปลินที่ต้องบี้แล้วขยายพันธุ์) หากแต่สำหรับพระเอกแล้วมองการร์ไกลมากกว่านี้ เพราะตอนนี้กลุ่มก็อบลินของเขายังไม่มีทรัพยากรดีๆ และหากเพิ่มจำนวนก็อบลินมากเกินไป อาจไปแตะตาเผ่าอื่นเห็นว่าเป็นภัยคุกคามแล้วยกทัพมาบุกได้ ซึ่งตอนนี้กลุ่มพระเอกยังไม่พร้อมที่จะรับมือ และนั้นเองทำให้พระเอก ยึดเรื่องคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ ยังไม่เพิ่มปริมาณ เน้นคุณภาพ เน้นการฝึกฝนลูกน้อง ค่อยเป็นค่อยไป วางหลักฐานให้แข็งแกร่งก่อน
ฉันคือผู้นำ กฎระเบียบกองทัพ และการลงโทษ ตอนที่ขงเบ้งยังไม่ได้เป็นกุญซือให้เล่าปี่นั้น กองทัพเล่าปี่ค่อนข้องวิกฤต จำนวนทหารน้อย และการจัดการกองทัพเองเน้นแบบธุรกิจครอบครัวเล่าปี่ กวนอู เตียวอุย อย่างไรก็ตามหลังจากขงเบ้งมาจัดการ ขงเบ้งได้วางระเบียบเป็นแบบแผนมากขึ้น เข้มงวดมากขึ้น มีกลยุทธ์อะไรมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน
อย่างไรก็ตาม ตอนแรกๆ ขงเบ้งเองก็ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของใครมากนัก หลายคนไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อในตัวของเบ้ง เพราะขงเบ้งไม่มีประวัติการทำงานอะไรเลย พึ่งเริ่มงานจัดการกองทัพด้วยซ้ำ และนั่นเองทำให้ขงเบ้งขอเล่าปี่ให้ตนเองมีสิทธิกองทัพคนเดียว และแสดงให้ทุกคนเห็นว่าตนคือผู้นำ ด้วยการกำหนดบทลงโทษแบบไม่เว้นหน้าแม้จะเป็นลูกรัก เด็กเส้นก็ตาม ยกตัวอย่าง ขงเบ้งลงโทษกวนอู, ลงโทษม้าเจ๊ก จนหลายคนนับถือ ยอมรับ เชื่อฟัง
การลงโทษนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อบ้าอำนาจอย่างเดียว เพราะหากลงโทษโดยไม่มีเหตุผลจะส่งผลร้ายมากกว่าส่งผลดี ดังนั้นการลงโทษต้องมีเหตุผล มีไว้เพื่อลงโทษคนที่ทำผิดกฎ ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม (กองทัพ) หากไม่จัดการก็เท่ากับว่าสังคม (กองทัพ) ยอมรับการกระทำความผิดดังกล่าว ทำให้เกิดคนทำผิดตามมามากมายเพราะเอาแบบอย่าง
เหล่ากิ๊กพระเอก (ทั้งเมียหลวง และเมียน้อย)
จะเห็นว่าพระเอกเรื่อง Re:Monster มีนิสัยเข้มงวดโหดอยู่ระดับโหด ไม่ไว้หน้าใครหน้าไหนทั้งสิ้น หากใครผิดกฎที่เขาตั้งเอาไว้ คนผิดจะถูกลงโทษทรมานยิ่งกว่าตายเพื่อไม่ให้ใครเอาเยี่ยมอย่าง โดยเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดคือวันที่เหล่าก็อบลินรุ่นพี่กลับมาจากการเดินทาง และพวกเขาได้จับมนุษย์ผู้หญิง 5 คนติดมือมาด้วย (ซึ่งต่อมาผู้หญิงมนุษย์ทั้งหมดก็กลายเป็นกิ๊กของพระเอก)
ตามปกติแล้ว พวกมนุษย์ผู้หญิงทั้ง 5 คนจะต้องโดนเหล่าก็อบลินลงแขกแล้วให้กำเนิดก็อบลินออกมา ตามประสาเชลยทาสกาม แต่อย่างไรก็ตาม พระเอกมองการณ์ไกลกว่านั้น เพราะไม่อยากเพิ่มขยายก็อบลิน และเห็นว่ามนุษย์ผู้หญิงมีประโยชน์ (ต้องการทราบข่าวสารโลกภายนอก, และการใช้ประโยชน์จากคลาสของพวกเธอเพื่อกลุ่มของพระเอก)
ตอนแรกพระเอกพยายามขอมนุษย์ผู้หญิงจากรุ่นพี่ โดนชี้แจงเหตุผล แน่นอนว่ารุ่นพี่มีหรือจะให้ อ้อยเข้าปากช้างแล้วมีหรือจะคายให้คนอื่น เมื่อตกลงกันไม่ได้ พระเอกเลยจัดการชัดรุ่นพี่ ยึดอำนาจเป็นผู้นำกลุ่มก็อบลินแต่เพียงผู้เดียว (และได้พวกสาวๆ เป็นของแถมด้วย)
จากนั้นพระเอกตั้งกฎห้ามก๊อบลินแตะต้องผู้หญิงมนุษย์แม้แต่ปลายเล็บ แน่นอนว่าทำให้ก็อบลินตัวอื่นๆ ไม่พอใจ จนกระทั่งวันหนึ่งพวกก็อบลินรุ่นพี่ที่ไม่ยอมรับกฎพระเอกตั้งรอให้พระเอกนอนหลับ แล้วจ้องไปข่มขืนพวกผู้หญิง หากแต่พระเอกรู้สึกตัวเสียก่อนจึงจัดการลงโทษก็อบลินที่ผิดกฎอย่างโหดเหี้ยม ต่อหน้าทุกคนในกลุ่ม เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยมอย่าง ส่วนรุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้าทำผิดถูกลงโทษระดับ และนั้นทำให้ไม่มีใครกล้าหื่อพระเอก และปฏิบัติตามกฎพระเอกชนิดไม่กล้าขัด และนั้นทำให้กลุ่มก็อบลินของพระเอกก้าวขึ้นสู่การมีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
เส้นแบ่งระหว่างกองทัพทหาร กับกองโจรมันมันเบาบางเพียงแค่เส้นผม ระเบียบวินัยคือสิ่งที่กำหนดว่าจะเป็นกองทัพทหาร หรือจะเป็นกองโจร หากขาดศีลธรรมและคุณธรรม ปล้าฆ่า ฆ่าเพื่อความสนุก ข่มขืนผู้หญิง ก็เป็นเพียงแค่กลุ่มโจรสันดานเท่านั้น
พระเอกเรื่องนี้มีแนวคิดจัดการบุคลากรที่น่าสนใจ และมีเหตุผลเพียงพอที่จะเป็นชายที่ได้ฮาเร็ม ก็เขาหน้าตาดี ทั้งฉลาด ทั้งเก่ง ให้ความสำคัญกับสาวๆ เท่ากันนี้หว่า ไม่รักได้ไง ถือว่าเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนรสชาติบ้างก็ถือว่าไม่เลว (แต่ก็ไม่ได้เก่งเวอร์แบบพระเอกจัมป์)
อย่างไรก็ตาม นี่เพียงเป็นแค่จุดเริ่มต้นของ Re:Monster ซึ่งยังมีเรื่องราวอีกมากที่พระเอกกับพรรคพวกต้องเผชิญ และหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าพระเอกค่อนข้างเป็นมนุษย์ที่มีความเด็ดขาดพอสมควร หากใครที่คิดจะทำร้ายตนและพรรคพวกตนแล้วละก็จุดจบที่ยิ่งกว่าตายของผู้คิดร้ายนั้นรออยู่ (เป็นต้นเหตุการณ์ที่พวกพระเอกจัดการพวกเอลฟ์ ถือว่าเป็นจุดน่ากลัวของเรื่อง ชนิดว่าแฟนๆ เอลฟ์รับไม่ได้เลยทีเดียว)
อย่าเอาความเลวของเจ้าหมอนี้มาใช้ละกัน
(จากเรื่อง Kuroinu Kedakaki Seijo wa Hakudaku ni Somaru ถ้าผมเป็นหมอนี้นะ เก็บเหล่าเจ้าหญิงเอาไว้คนเดียว)
Re:Monster เป็นแนวที่น่าสนใจ แม้แนวเรื่องยังคงเป็นเรื่องของกลับชาติมาเกิดในโลกแฟนตาซี ที่ปัจจุบันเห็นในพล็อตนิยายญี่ปุ่นค่อนข้างมาก หากแต่เรื่องนี้มาเปลี่ยนอะไรแปลกๆ สักหน่อยเป็นมนุษย์เกิดใหม่เป็นก็อบลิน (แต่สุดท้ายก็อัฟคลาสเป็นจอมมารเท่ๆ อยู่ดี) ทำให้ดูน่าสนใจ และโดดเด่นกว่านิยายแนวอื่นๆ ส่วนเนื้อหาแรกๆ เป็นการเก็บเลเวล เหมือนกับเล่นเกม มากกว่าแนวการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ดูแปลกๆ บ้าง (ซึ่งผมเคืองเรื่องอัฟคลาสนี้แหละ) กว่าจะเข้าสู่การมหากาพย์การต่อสู้กับศัตรูคงต้องทนอ่านนานพอดู
ความคิดเห็น