ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #140 : C - The Money of Soul and Possibility Control ด้วยอำนาจแห่งเงินตรา

    • อัปเดตล่าสุด 18 ก.ค. 54


     

    C - The Money of Soul and Possibility Control เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ออกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ 2011 ซึ่งตอนแรกผมไม่ค่อยสนใจมากนัก หากแต่หลังจากที่ออกตอนที่ 2 ผมก็รู้สึกอยากติดตามกับการ์ตูนเรื่องนี้ แม้ว่ากลิ่นอายของการ์ตูนจะเป็นแนวเซอร์ไวเวอร์ประเภทโปเกมอนมากพอสมควร และไม่ได้ดูแล้วรู้สึกตื่นเต้นไปกับความซับซ้อนในการต่อสู้ในเกมมากนัก  แต่กระนั้นการ์ตูนเรื่องนี้ก็สามารถสื่อให้ผู้ชมได้เห็นความหลงไหลในอำนาจของเงินได้ตามจุดประสงค์ของผู้ผลิตได้แล้ว

     

      

    C - The Money of Soul and Possibility Control

     

    C-The Money of Soul and Possibility Control แปลเป็นไทยแบบตรงๆ ล่ะก็ “C-เงินและจิตวิญญาณของความเป็นไปได้” เป็นการ์ตูนผลิตโดยสตูดิโอม้าน้ำ(Tatsunoko Production) สตูดิโอที่เก่าแก่ที่อดีตเคยมีอนิเมชั่นดังๆ อย่าง สาวเหมียวยอดนินจา-Samurai Pizza Cats (1990),  Neon Genesis Evangelion (1995) กำกับโดยเคนจิ นากามูระ ฉายในปี 2011 มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ตอน(ถือว่าน้อยมาก น่าจะมีมากกว่านี้ )

    C-The Money of Soul and Possibility Control เป็นการ์ตูนที่เกี่ยวกับมิติโลกคู่ขนานแห่งหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “ย่านธุรกิจการเงิน” หรือโลกแห่งเงินตรา โดยมิติดังกล่าวมีอยู่ทุกประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่น โดยมิติดังกล่าวอยู่เบื้องกลังในการช่วยเหลือญี่ปุ่นจากการล่มสลายทางการเงิน แต่อย่างไรก็ตามชีวิตความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นก็ไม่ดีขึ้นมากนัก ปัญหาว่างงาน อาชญากรรม การฆ่าตัวตาย และความสิ้นหวัง ยังคงมีอยู่เนื่องๆ จนเป็นปกติชาชิน จนหลายคนไม่ได้สังเกตหรือรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

    ในระหว่างนั้นเองพระเอกนาม “คิมิมาโระ” ที่เป็นนักศึกษาที่เป็นนักเรียนทุนที่มีความฝันก็คือการใช้ชีวิตที่มั่งคงแบบสามัญชน เขาถูกเลี้ยงดูโดยน้าหลังจากการที่แม่ของเขาตายและพ่อของเขาหายตัวไป และนั้นเองทำให้คิมิมาโระต้องใช้ชิวิตอย่างยากลำบากในเมืองใหญ่ ที่เขาต้องแบ่งเวลากับเรียนและการไปทำงานพิเศษ จนไม่ได้มีเวลาคบกับเพื่อน อีกทั้งผู้หญิงที่เขาแอบชอบก็ไปคบกับแฟนที่มีฐานะร่ำรวยกว่า(ประเด็นนี้การ์ตูนไม่ได้เน้นมากนักทำให้ไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับผู้หญิงของคิมิมาโระชอบมากนัก) จนทำให้เขาแอบน้อยใจเป็นบางครั้ง จนกระทั้งวันหนึ่งเขาได้พบชายปริศนาคนหนึ่งช่อ “มาซาคากิ” ที่เขาเสนอเงินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง พร้อมกับข้อเสนอให้เขาร่วมแข่งขันเกม(หรือลงทุน)ในมิติย่านธุรกิจการเงิน โดยการแข่งขันนั้นจะเป็นการต่อสู้ตัวต่อตัวเพื่อแย่งเงินจากฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุด(โดยต้องสู้สัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างต่ำ) ซึ่งเขาจะได้สินทรัพย์(หรืออนาคต)เปลี่ยนมาเป็นคู่หูหรือตัวแทนในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม ในรูปลักษณ์ต่างๆ โดยการต่อสู้แต่ละครั้งพวกเขาจะมี “เงิน” และ “อนาคต” มาเป็นหลักประกัน ซึ่งหากชนะก็จะได้เงินไมดาส(ปลอม)มาใช้จ่ายเป็นทวีคูณ หากแต่เมื่อแพ้ขึ้นมาจะส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ในโลกแห่งความจริง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียง ครอบครัว คนใกล้ตัว ฐานะการเงิน ฯลฯ ไปด้วย ซึ่งหากล้มละลายขึ้นมาทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างในโลกแห่งความจริงจะพังพินาศลงทันที และนั้นเองทำให้คิมิมาโระจำเป็นต้องปกป้องอนาคตน้อยๆ ของเขากับการแข่งขันครั้งนี้ ท่ามกลางความกังวลจิตใจของเขาว่า “เขามาที่นี้เพื่ออะไร?

      

    โยกะ คิริมาโระ (Yoga Kimimaro) นักศึกษาชั้นปีที่สองที่มหาลัยเศรษฐศาสตร์ อายุ 19 ปี ที่ต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย โดยมีความฝันก็คือมีการบ้านพร้อมภรรยาและลูกและอยู่กันอย่างมีความสุข หากแต่เขาได้ชายลึกลับเข้าสู่ย่านธุรกิจการเงินและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก “ผู้ประกอบการ” ที่ต้องเข้าร่วมแข่งขันกับคู่ต่อสู้คนอื่นในโลกมิติแห่งนี้ และเขาก็ถูกทาบทามให้เข้าร่วมกิลด์ของมิคุมิ โดยต่อมาเขาก็ได้ทราบข่าวว่าพ่อของเขาเคยอยู่ในย่านดังกล่าวแต่พ่ายแพ้และฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้คนรอบข้างเดือดร้อน ความจริงแล้วฝีมือการต่อสู้ของเขาไม่ค่อยได้เรื่องนัก(พูดง่ายๆ กากสุดๆ) ซึ่งสาเหตุที่เขารอดมาได้ก็เพราะสินทรัพย์ “มาซู” เกือบทุกครั้ง ซึ่งภายหลังเขาไม่ได้เห็นมาซูเป็นสินทรัพย์ หากแต่มองมาซูเป็นเหมือนมนุษย์ นิสัยเป็นคนชอบกังวล ห่วงใยคนอื่น และชอบตามน้ำไปเรื่อยๆ

      

    มาซู(Mashu) ทรัพย์สินของคิมิมาโระ ที่ใช้อนาคตของเจ้าตัวเปลี่ยนมาเป็นมอนสเตอร์สาวน้อยทรงผมทวินเทลคอยช่วยเหลือปกป้องคิมิมาโระในการต่อสู้ มีพลังทำลายล้างสูงด้วยการปล่อยพลังล้างจนฝ่ายตรงข้ามพินาศในครั้งเดียว มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น และมองคิมิมาโระเป็นคนน็อตหลวมๆ ซึ่งในช่วงหลังๆ มาซูเริ่มสนใจในตัวคิมิมาโระและเริ่มที่จะทำตัวเหมือนมนุษย์ ซึ่งตอนแรกเริ่มจากชอบราเม็ง(ทั้งที่ไม่ทราบความหมายว่า “ของกิน”) ซึ่งคิมิยามาโยะเชื่อว่ามาซูก็คือลูกสาวของเขาในอนาคต

      

    โซอิจิโร่ มิคุมิ(Souichirou Mikuni) ผู้รับผิดชอบสูงสุดของเงินกองทุนรัฐบาล ควมตุมสินทรัพย์และถือหุ้น จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากกว่ารัฐบาลของญี่ปุ่น ส่วนในโลกแห่งเงินตราเขาเป็นผู้นำกิลด์ที่มีอิทธิพลสูง เขาสนใจตัวคิมิมาโระเพราะมีส่วนคล้ายเขายามหนุ่ม โดยพยายามชักชวนให้คิมิมาโระเข้าร่วมกิลด์ของเขาเพื่อมีจุดมุ่งหมายของคิมิมาโระเพื่อชนะฝ่ายตรงข้ามโดยให้อัตรากำไรขั้นต้น(ให้ฝ่ายตรงข้ามแพ้น้อยที่สุด)จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อโลกแห่งความจริงมากนัก ในโลกแห่งความจริงมิคุมิเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งที่ต้องสืบทอดกิจการของพ่อจนต้องเลิกวงดนตรี และต่อมาก็ขัดแย้งกับพ่อที่ไม่ใช้เงินรักษาน้องสาวที่กำลังป่วยของเขา หลังจากได้เขาได้เข้าโลกแห่งเงินตราเขาก็เอาเงินที่ได้จากการเอาชนะเอาไปซื้อบริษัทของพ่อที่ล้มละลายจากวิกฤตทางการเงิน จนเขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ดังกล่าว

      

    คิว(Q) สินทรัพย์ของมิคุมิ ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกแห่งการเงินของญี่ปุ่น ชอบกินเงินไมลาส(เงินปลอม)เป็นอาหารว่าง มีความเหมือนมนุษย์พอๆ กับมาซู แต่นิสัยออกมาเงียบๆ ไม่ค่อยพูด และเหมือนจะง่วงอยู่บ่อยๆ มีความสามารถคือสามารถเคลื่อนไหวได้เองโดยไม่มีคำสั่งของเจ้าของได้ และมีพลังโจมตีคือกินทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าได้

      

    มาซาคากิ(Masakaki) ชายลึกลับจากโลกแห่งเงินตราที่มีหน้าที่เชิญชวนคนมาเล่นเกมในโลกแห่งเงินตรา และทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร แนะนำผู้เล่น และขับไล่ผู้เล่นที่ล้มละลาย โดยในโลกแห่งเงินตราทุกประเทศล้วนมิซาคากิเป็นตัวของตัวเอง โดยแตกต่างเพียงแต่ชุดเท่านั้น โดยชุดเด่นก็คือหมวกทรงสูงและไม้เท้า

       

    เจนิเฟอร์ ซาโต้ (Jennifer Sato) เจ้าหน้าที่ที่ทำง่านให้กับ กองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ (IMF) ที่มีการตรวจสอบด้านการเงินในโลกแห่งเงินตรา นิสัยชอบกินขนมและอาหารตลอดเวลา ที่เธอสนใจคิมิมาโระที่มีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับมิคุมิ เธอเลยพยายามให้มิคุมิเป็นพันธมิตรกับเธอในการหยุดยั่งการใช้เงินไมลาส(ปลอม)จำนวนมากมาลงทุนในโลกแห่งความจริง หากแต่สุดท้ายเธอก็แพ้และล้มละลาย แต่กระนั้นเธอยังมอบสินทรัพย์ให้มิคิริมาโระก่อนที่เธอจะหายไป(เป็นตัวละครอีกตัวที่ผมชอบครับ)

     

    อิคุตะ ฮานาบิ(Ikuta Hanabi) เพื่อนร่วมห้องมหาลัยและเพื่อนที่ดีที่สุดของคิมิมาโระ นิสัยดี คอยช่วยเหลือคิมิมาโระอยู่เสมอๆ แม้เธอจะมีแฟนแล้ว แต่คิมิมาโระก็ยังแอบชอบเธออยู่ แต่น่าเสียดายคือบทของเธอค่อนข้างน้อยไปหน่อย

     การ์ตูนเรื่องนี้เต็มไปด้วยคำศัพท์และกติกาในการต่อสู้ครับ มีทั้งศัพท์เฉพาะและศัพท์การเงิน ทั้งๆ ที่ฉากต่อสู้นั่นไม่ได้เน้นเรื่องพวกนี้สักเท่าไหร่แท้ๆ เห็นมีแต่ปล่อยพลังใส่กันเสียมากกว่า

    Financial District หรือย่านธุรกิจการเงิน เป็นสถานที่เหล่านักลงทุนทำธุรกรรม(ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม)โดยการใช้เงินไมดาสสัปดาห์ละครั้ง และบางครั้งก็มีเหล่านักลงทุนเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงการพนันผล เลือกข้างผู้ที่ได้เปรียบเกือบให้ฝ่ายที่ตนเลือกได้เปรียบการต่อสู้ ว่ากันว่าย่านธุรกิจการเงินดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของโลกละและมีอยู่ทุกประเทศ หากย่านดังกล่าวล้มละลายประเทศของย่านธุรกิจนั้นก็ล้มละลายไปด้วย

    Entre หรือผู้ประกอบการ ภาษาโปเกมอนก็คงเป็นเทนเนอร์มั้ง โดยผู้ประกอบเหล่านี้จะเป็นผู้ได้รับเลือกเข้ามาในย่านธุรกิจการเงิน โดยการยอมรับรับเงือนไขในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามสัปดาห์และหนึ่งครั้ง เพื่อเงินรางวัลซึ่งเป็นเงินไมดาส(เงินปลอม)เพื่อไปใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นฝ่ายแพ้ขึ้นมาจะทำให้สูญเสียสิ่งมีค่า(คนรัก, ชีวิตความเป็นอยู่)รวมไปถึงอนาคต และหากล้มละลายขึ้นจะถูกขับไล่ไปจากย่านธุรกิจทางการเงินทันที

    Asset หรือสินทรัพย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ร่วมต่อสู้กับผู้ประกอบการ โดยเชื่อว่าสินทรัพย์ดังกล่าวก็คือตัวแทนของอนาคต ที่ทำให้ผู้ประกอบการเงินสามารถเข้าสู่ย่านธุรกิจการเงินได้  โดยเวลาต่อสู้ผู้ประกอบสามารถออกคำสั่งให้สินทรัพย์โจมตีฝ่ายตรงข้าม และสามารถใช้เงินวางเดิมพันให้สินทรัพย์เหล่านี้มีพลังโจมตีหรือใช้พลังวิเศษต่างๆ ได้ โดยการโจมตีของสินทรัพย์เรียกว่า "Flations" และมีการแบ่งประเทศการโจมตีสามระดับโดยใช้พลังงานที่เรียกว่า "Micro", "Mezzo" และ"Macro และนอกจากนี้ยังมีพลังโจมตีพิเศษที่เรียกว่า "Cannibalization" และผู้ประกอบการจะมีสินทรัพย์กี่ตัวก็ได้คือสามารถเรียกมาหลายตัวแต่ใช้ได้ครั้งละตัวเท่านั้น  โดยมูลค่ารวมสินทรัพย์ทั้งหมดจะแสดงในจอแสดงผลขนาดใหญ่ที่ตั้งบนย่านธุรกิจการเงินซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

    Deal การต่อสู้ระหว่างผู้ประกอบการและสินทรัพย์ของพวกเขา โดยมีเวลาแข่งขันแต่ละนัดให้ 666 วินาที(11นาที 6 วินาที) พร้อมกับเสียงบอกสถานะและความเสียหายที่มีผลกระทบว่าเงินไมดาส(เงินปลอม)เพิ่มหรือสูญหายไปกับการต่อสู้นี้เท่าไหร่ เป้าหมายของการสู้คือทำกำไรจากคู่ต่อสู้ โดยต้องโจมตีใส่ผู้ประกอบการเท่านั้นถึงจะได้เงินกำไร โดยหากหมดเวลาใครที่มีเงินทุนมากกว่าจากการต่อสู้ก็ชนะ โดยผู้ประกอบการแต่ละคนมีส่วนร่วมในการต่อสู้อย่างน้อยสัปดาห์ล่ะครั้ง แต่กระนั้นก็สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการจ่ายเงินครึ่งหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังมีกฎจุกจิกนอกเหนือจากนั้นมากมาย ซึ่งผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก

    Midas Money เงินไมดาส หรือก็คือเงินปลอมนั่นเอง โดยเป็นเงินที่ใช้กันในย่านธุรกิจการเงิน นอกจากนี้เงินดังกล่าวยังมีการไหลเวียนใช้ในโลกแห่งความจริงด้วย โดยภายนอกเหมือนจะเป็นเงินธรรมดา หากแต่ถ้าเป็นผู้ประกิอบการจากย่านธุรกิจการเงินจะเห็นเงินดังกล่าวเป็นสีดำ ซึ่งหากใช้เงินดังกล่าวในโลกแห่งความจริงอาจส่งกระทบต่ออนาคตและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการใดที่มีบัตรเครดิตสีดำจะสามารถผลิตเงินไมดาสจำนวนมากได้โดยแลกกับอนาคตของผู้ประกอบการนั่นๆ

      

    ในแง่ความรู้สึกของผมหลังจากได้ดูการ์ตูนเรื่อง C - The Money of Soul and Possibility Control ความคิดแรกที่ผมคิดแว่บมาก็คือ “เสียดาย” ทั้งที่วัตถุดิบที่นำเสนอนั้นมาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่พลาดก็คือในช่วงท้ายตอนฉากจบของเรื่องที่ผมดูแล้วไม่ถูกใจเสียเลย ผมอุตส่าห์รอมาหลายวันเพื่อดูซับไทย โดยไม่อ่านสปอยหรือดูซับอังกฤษ แต่เมื่อทำออกมารู้สึกผิดหวังกับฉากจบที่ค่อนข้างคลุมเครือของมัน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจำนวนตอนที่น้อยเกินไปของมัน หรือมันไม่ค่อยได้รับความนิยม(ในญี่ปุ่น) หรือเปล่า?

    แต่กระนั้นการ์ตูนเรื่อง C ก็เป็นหนึ่งในการ์ตูนอนิเมชั่นที่ผมก็สามารถติดตามตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยไม่มีการกดข้ามแต่อย่างใด เริ่มจากสิ่งที่ผมชอบในการ์ตูนเรื่องนี้ คือเพลงไตเติ้ลเปิดเรื่องทำได้ลื่นหู การดำเนินเรื่องของมันก็ทำออกมาอย่างแนบเนียนเล่นกับสิ่งที่ใกล้ตัวของเรา มาผสมกับโลกอีกมิติหนึ่ง  หรือข้อคิดคติประจำใจทำได้ออกมาน่าสนใจ ด้านภาพและการเคลื่อนไหวทำออกมาทันสมัย โลกต่างมิติที่สวยงามฉูดฉาดเหมือนเป็นโลกแฟนตาซีจริงๆ ความคิดสร้างสรรค์ โดยมีลูกเล่นคือการสอดแทรกคำบรรยาย(คำพูด)ระหว่างผู้ประกอบการและสินทรัพย์ที่เป็นแบบแถบบรรยายด้านข้างกรอบดิจิดอตสีดำทำได้แปลกแนวดี ฉากต่อสู้การต่อสู้แบบเซอร์ไวเวอร์ การใช้มอนสเตอร์สู้กันก็ทำได้สนุก สวยงาม มีเสียงแทรกบรรยายชื่อท่าเหมือนคุณได้ดูเกมไฟติ้งดีๆ เรื่องหนึ่ง

    สิ่งที่ผมชอบในการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือเสน่ห์ของตัวละคร ซึ่งผมไม่รู้ว่าตัวละครบางตัวนั้นมีอิทธิพลจากเทพนิยาย Alice in Wonderland หรือเปล่า? เพราะบางตัวออกแบบคุ้นๆ เหลือเกิน แต่กระนั้นตัวละครที่ผมชอบมากที่สุดในการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือคู่ของคิมิมาโระและมาซู ซึ่งถือว่าเป็นคู่พระเอกและนางเอก(??) คู่แรกที่ทำให้ผมชอบพร้อมๆ กันได้(ปกติมีแต่แบบชอบนางเอกเป็นหลัก)

                    และส่วนที่น่าเสียดายในการ์ตูนเรื่องนี้คือ การ์ตูนดังกล่าวมีจำนวนตอนน้อยเกินไป ด้วยจำนวนเพียงแค่ 11 ตอน ผมขอบอกว่ามันน้อยมากกับไอเดียการ์ตูนน่าสนใจ ฉากต่อสู้ก็เร้าใจ  การดำเนินเรื่องน่าติดตามและเนื้อหาข้อคิดดีๆ แบบนี้ ทำให้อารมณ์ของผู้อ่านที่มีต่อการ์ตูนเรื่องนี้เกิดสะดุดอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งเสียดายมาก น่าจะทำได้ 24 ตอนขึ้น ขนาดดิจิมอน โปเกมอนเนื้อหาธรรมดายังทำเกิน 20 ตอนเลยพับผ่า ผมเชื่อว่าสาเหตุที่จำนวนตอนน้อยนั้นอาจเป็นเพราะกระแสการ์ตูนที่ไม่ได้ค่อยดังนัก และเป็นออริจินัลทำให้ไม่ได้รับการตอบสนองนักในเรื่องจำนวนผู้ดู(ไม่แน่ หากกระแสที่ญี่ปุ่นดี เราอาจได้เห็นอีกในซีซั่นสองก็เป็นไปได้)

                    และด้วยจำนวนตอนน้อยนี้เอง ทำให้สิ่งที่ผมคาดหวังจะเห็นกับการ์ตูนเรื่องนี้ ไม่มีอย่างช่วยไม่ได้ อย่างประเด็นเกี่ยวกับตัวละครบางตัวที่น่ามี แต่การ์ตูนกลับไม่ได้เน้นมากนัก เช่น ความรักของคิริมาโระที่รักข้างเดียวกับฮานาบิ ที่ไม่มีฉากความรักเลย(น่าเสียดายมากตรงจุดนี้) หรือประเด็น แฟนของฮานาบิเป็นคนยังไง(แต่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึง ปรากฏตอนเดียวและไม่พูดถึงอีกเลย ราวกับว่าฮานาบิไม่มีแฟนดังกล่าว(ถ้าฮานาบิเลิกแฟนหันมาชอบคิริมาโระแทนผมจะสะใจมาก และอวยการ์ตูนนี้อย่างสูง)

                    อีกส่วนที่น่าเสียดายของการ์ตูนเรื่องนี้คือฉากต่อสู้ ที่อุตส่าห์มีศัพย์เฉพาะและศัพท์การตลาดมากมายเข้ามาช่วยเสริม ไม่ว่าจะเป็น การโอนหุ้น การวางเงินเดิมพัน ซึ่งผมหวังว่าน่าจะมีการลูกเล่นพลิกล็อกในฉากต่อสู้มากกว่านี้ แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย เพราะฉากต่อสู้เน้นปล่อยพลังท่าเดียว ปล่อยพลังตามความรุนแรงสามระดับ(พลังพิเศษอีกหนึ่ง) และจบในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นใครจะเห็นการ์ตูนเรื่องนี้เต็มไปด้วยกลโกงอัจฉริยะ จำพวกเกมหลอกเกมลวงนี้เลิกหวังไปได้เลย

    สุดท้ายที่ผมเสียดายมากๆ คือฉากจบของเรื่อง ตอนแรกผมชอบมากกับฉากต่อสู้ระหว่างคิริมาโระกับมิคุมิที่ทำออกมาได้ยิ่งใหญ่(น่าเสียดายที่ไม่มีเหล่าตัวประกอบมาเป็นผู้ดูด้วยจะได้ช่วยเพิ่มระดับให้คิริมาโระเป็นฮีโร่มากขึ้น) คิวก็มีบทบาทเต็มกับความสะใจ หากแต่ตอนท้ายเรื่องกลับทำอย่างรวบรัด เกินไป อีกทั้งยังคลุมเครือ ตีความได้หลากหลาย(ส่งผลทำให้มีความเห็นมากมาย) กล่าวคือคิมิมาโระสามารถทำชนะมิคุมิและได้กำไรจนสามารถเปลี่ยนปัจจุบันให้กลายเป็นอนาคต และเมื่อคิมิมาโระกลับไปยังโลกแห่งความจริงพบว่าญี่ปุ่นกลับมาเหมือนเดิมหากแต่ใช้เงินดอลลาร์ใช้จ่ายแทนเพราะค่าเงินเยนมีค่าเท่ากับ 0 (ซึ่งหากเป็นโลกแห่งแห่งความจริงแบบเรานั้นไม่มีทางสงบสุขแบบนี้หรอก ดูอย่างกรณี ซิมบับเว)  อย่างไรก็ตามก็ยังมีสิ่ งที่ยังไม่สามารถอธิบายเต็มมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น ตัวตนของคิริมาโระก็ไม่ตอบชัดเจนว่า เขาอยู่ในฐานะอะไรในโลกอนาคตนั้น? หลังจากนั้นเขาจะเป็นอย่างไร เขาจะกลับไปเข้าเรียนได้หรือไม่? ครอบครัวเขาเป็นอย่างไร?  ตัวละครอื่นๆ ไปอยู่ไหนทำอะไรบ้างในตอนนี้ ซึ่งเป็นปกติของการฉากจบการ์ตูนทั่วไป หากแต่เรื่องเหล่านี้การ์ตูนกลับไม่กล่าวถึง และไม่มีจุดต่อยอดเลยว่าการ์ตูนจะซีซั่นสองต่ออีกหรือเปล่า?

     
                    ในส่วนความลับที่ซ่อนอยู่ในอนิมเช่น(เช่นเลขจำนวนเฉพาะต่างๆ นาๆ) หรือจุดตีความ(เป็นต้นว่า อนาคตของมาซูคืออะไร) ยังจะมีมากมาย แต่ผมไม่สนใจที่จะค้นหามากนัก ผมว่ามันยุ่งยากที่เก็บไปคิดให้หนักสมอง ผมมักเลือกในการตีความง่ายๆ ตามแบบฉบับของผมเสียมากกว่า อีกทั้งสิ่งที่ทำให้ผมสนใจการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็คือข้อคิดที่ผุ้ผลิตต้องการจะสื่อมากกว่า

                    ข้อคิดสำคัญของการ์ตูนที่ต้องการจะสื่ออันดับต้นๆ  ก็คือ อำนาจของเงิน เงินคือสิ่งที่คนในสังคมได้สมมุติขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อการแลกเปลี่ยน มนุษย์เรารู้จักการแลกเปลี่ยนสิ่งของด้วยเงินตรามาช้านาน บางทีมันอาจอยู่คู่กับวิวัฒนการของมนุษย์ต้องแต่แรกเริ่มด้วยซ้ำ สมัยก่อนมนุษย์เราใช้วิธีแลกเปลี่ยนสิ่งของที่มีค่าเท่ากัน ต่อมาก็หันมาใช้เปลือกหอย อัญมณี ก่อนที่พัฒนามาเป็นเหรียญและธนบัตรใช้จนถึงปัจจุบัน และในอนาคตข้างหน้าอาจมาเป็นจ่ายเงินด้วยบัตรหรือบาร์โค๊ตตามร่างกายก็เป็นไปได้

                    ทุกวันนี้ ไม่ว่าใครก็ต้องยอมรับว่า เงินมีความสำคัญต่อมนุษย์ ไม่ว่าคนจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจหรือสังคมแบบใด ยอมต้องอาศัยเงินเป็นประการสำคัญ เพราะเงินช่วยอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยน การผลิต และการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ให้แก่มนุษย์   และที่สำคัญเงินยังสื่อให้เห็นเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ประเทศจะเจริญได้ขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนค่าเงินระหว่างประเทศ ตลาดส่งออก การจ้างแรงงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับเงินเป็นหลัก            และสำหรับมนุษย์คนหนึ่งแล้ว เงินยังนำมาซึ่งความมั่งคงในชีวิตของคนเรา การสร้างครอบครัว  ความต้องการความบันเทิง การเลือกงาน ความเป็นอยู่ ความสุขทางกายและใจ ล้วนต้องใช้เงิน เรียกว่ามีเงินไว้อุ่นใจ ยิ่งมากยิ่งดี

    แต่ในขณะเดียวกัน เงินก็สามารถนำความทุกข์ของเราได้เช่นกัน เมื่อคนเราหวังพึ่งเงินมากเกินไป หากแต่รายจ่ายมากกว่ารายรับ เมื่อทุกสิ่งซื้อมาด้วยเงิน เมื่อขาดเงิน สิ่งเหล่านี้ก็หายไปอย่างง่ายดาย นำมาซึ่งความทุกข์ใจจนมีความรู้สึกอย่างได้เงิน เงินจำนวนมากๆ และได้มาอย่างง่ายๆ โดยไม่เปลืองแรง จนเกิดกิเลส ตัณหา อุปาทาน คนเราจะหาวิธีทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน แม้วิธีจะผิดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ปล้น ขโมยของ ต้มตุ๋น การพนัน ฯลฯ จะเรียกว่าเงินเปลี่ยนนิสัยคนหน้ามือเป็นหลังมือก็ไม่ผิดนัก


                  นี้คือสิ่งสอดแทรกในการ์ตูน
    C - The Money of Soul and Possibility Control แม้ในช่วงท้ายเรื่องจะเน้นเศรษฐกิจภาวะเงินเฟ้อหรือเรื่องประเทศล้มละลาย แต่กระนั้นในช่วงตอนที่ 1-7 เป็นเรื่องมนุษย์คนหนึ่งกับเงินล้วนๆ ที่สังคมญี่ปุ่นนั้นเป็นสังคมแห่งเงินตรา เศรษฐกิจดี แต่สภาพสังคมเสื่อมถอยทุกวัน ปัญหาหลายอย่างไม่แก้ไข ไม่ว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ ราคาสินคาแพงขึ้นทุกวัน ปัญหาว่างงาน ปัญหาที่อยู่อาศัย ล้วนเป็นปัญหาเกี่ยวกับเงินทั้งสิ้น

     นักลงทุนจำนวนมากที่เข้ามาในย่านธุรกิจการเงิน ทำการแข่งขันกับฝ่ายตรงข้ามเพราะความโลภอยากได้เงิน ส่วนหนึ่งก็เพื่อก็ทำเพื่อลูกเมีย หรือส่วนรวม แต่ส่วนมากทำเพื่อตนเองมากกว่า สู้ชนะก็ดีไป หากแพ้ก็สูญเสียอะไรบางอย่างในอนาคตไป แต่ที่เลวร้ายที่สุดถึงขั้นล้มละลาย ส่งผลกระทบต่อ(โลกแห่งความจริงไปด้วย อย่างตอนแรกที่นักลงทุนคนหนึ่งเป็นหนุ่มตกงานที่ต้องการเงินมาใช้จ่าย ยอมลงทุนสู้ในย่านธุรกิจการเงินเพราะต้องการเงิน เพราะเป็นวิธีที่ง่ายแต่ความเสี่ยงสูง แต่เขากลับลงทุนเพราะเชื่ออาศัยโชคลาง สุดท้ายก็สู้แพ้ ล้มละลายชนิดเรียกว่าหมดอนาคตไม่สามารถตั้งตัวได้อีก ทางออกก็คือฆ่าตัวตาย บางคนชนะได้เงินไมดาส หรือบ้านเราเรียกว่าเงินปลอมเป็นรางวัล แน่นอนว่ามันผิดกฎหมายแต่กระนั้นพวกเขากลับใช้แบบไม่รู้สึกรู้สมเพื่อตนเองไม่สนส่วนรวม  ผลคือเศรษฐกิจญี่ปุ่นย่ำแย่หนักไปใหญ่ คนแบบนี้ไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่น มันมีอยู่ทุกที่แม้แต่ในบ้านเรา  ไม่เว้นแม้แต่คนรวยหรือคนจน

                    แม้ว่าคนประเภทข้างต้นจะมีอยู่ในโลกย่านธุรกิจการเงินจำนวนมาก แต่กระนั้นเหากตัดเรื่องเงินออกแล้วจะพบว่าในโลกดังกล่าวก็ยังมีบุคคลดีที่น่าเคารพนับถือจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะนักลงทุนที่คิริมาโระได้พบล้วนแต่เป็นคนดี แม้จะมีบ้างที่พวกเขามาโลกแห่งนี้เพื่อต้องการเงิน แต่สาเหตุที่ต้องการก็เพราะการต้องการเลี้ยงดูครอบครัว หรือช่วยเหลือสังคม แต่บุคคลที่คิริมาโระเจอมาบ่อยที่สุดคือคู่ต่อสู้ที่เป็นผู้แพ้ที่ดี จากการที่เห็นหลายตัวอย่าง เช่น คู่ต่อสู้คนแรกของคิริมาโระที่ไม่ผูกใจเจ็บในการแพ้ให้กับเขาซ้ำยังชวนไปกินข้าวคุยด้วยกันอย่างสนิทสนม หรือจะเป็น อาจารย์ในมหาลัยคิริมาโระที่แพ้ในการประลองจนถึงขั้นล้มละลาย สูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง จนคิริมาโระเป็นห่วงกลัวอาจารย์จะโกรธเขา จนต้องไปขอโทษ แต่ปรากฏว่าอาจารย์คนดังกล่าวไม่ได้โทษคิริมาโระเลยว่าเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้ล้มละลาย เขาให้เหตุผลว่าควรโทษตนเองมากกว่าจะโทษคนอื่น  ยอมรับซะตากรรมที่อยู่เบื้องหน้า ผมดูแล้วประทับใจเป็นอย่างมาก ช่างเป็นฉากผู้แพ้ที่งดงามจริงๆ  ไม่เหมือนใครบางคนที่รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง แพ้แล้วพาล โทษโน้นโทษนี้ ยกตัวอย่างเช่น สโมสรฟุตบอลอาร์เจนติน่าริเวอร์เพลส บอลแพ้ แต่คนกลับไม่โทษ โทษกรรมการ ลุกลามพาลก่อจลาจลระรานเขาไปทั่ว

    พูดง่ายๆ คือ แม้การ์ตูนเรื่องนี้จะเป็นแนวต่อสู้เซอร์ไวเวอร์ แต่กระนั้นก็ไม่มีตัวร้าย ตัวโกง เลวทรามโหดร้ายแต่อย่างใด ส่วนมากมักมาแบบพวกสีเทาๆ  แม้กระทั้งคนที่หลายคนคิดว่าเป็นคนโลภฟันเคลือบทองอย่างทาเคตาซากิ  ยังสอนคิริมาโระเลยว่าสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่เงิน แต่คือความเชื่อมั่น หากมีความเชื่อมั่นมา ไม่ว่าเงินจำนวนเท่าไหร่ก็หาได้ ผมฟังแล้วประทับใจดีเหลือเกิน

                     
                   
    อย่างที่ผมบอกข้างตน ผมชอบคู่พระนางการ์ตูนเรื่องนี้เหลือเกิน ดูแล้วน่ารักหรือค้ำคอดี ขอเริ่มจากคิริมาโระ ซึ่งผมชอบพระเอกแนวแบบนี้ครับ คนธรรมดาแสนธรรมดา ไม่มีอะไรโดดเด่น ไม่ได้เก่งกาจ หรืออัจฉริยะแต่อย่างใด แต่กระนั้นพระเอกคนนี้ได้กลายเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องอย่างไม่น่าเชื่อ และเขาเป็นอีกผู้หนึ่งที่กอบกู้โลก ซึ่งเป็นอะไรที่สุดยอดมากสำหรับผม

                    คิริมาโระนั้นเปรียบเสมือนวัยรุ่นญี่ปุ่นทั่วไป โดยการ์ตูนกำหนดให้เขาเป็นนักศึกษามหาลัยเฮเซ คณะเศรษฐศาสตร์ แม้เรียนคณะดังกล่าวเขาก็ไม่ได้หวังเป็นนักธุรกิจหรือพนักงานบริษัท หากแต่เขาต้องการจะเป็นข้าราชการธรรมดา มีชีวิตที่เรียบง่าย ตามปรัชญาพอเพียง แม้นิสัยของเขาไม่ฟุ้งเฟือยหรือชอบเงิน แต่กระนั้น เพราะว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขานั้นยากจน ไม่มีพ่อไม่มีแม่ อาที่เลี้ยงดูก็ไม่อยากรบกวน ดังนั้นเขาต้องเรียนไปด้วยทำงานกะกลางคืนไปด้วย ซึ่งปกติไม่มีนักศึกษาที่ไหนทำแบบคิริมาโระ ซึ่งผลก็คือคิริมาโระแบ่งเวลาไม่ค่อยทัน จนทำให้ไม่มีเพื่อนหรือคนสนิทสนม การเรียนเริ่มตกต่ำลงเพราะไม่มีเวลาอ่านหนังสือเรียน

                    คิริมาโระเริ่มรับรู้ถึงอำนาจของเงิน เมื่อเขารับเชิญโดยเพื่อนร่วมห้องสองคนให้ออกไปดื่มเลี้ยงพูดคุยกัน แต่เขาปฏิเสธเพราะว่าติดงานพิเศษ อีกทั้งผู้หญิงที่แอบชอบดันไปมีเพื่อนใหม่ที่รวยกว่าเขา ทำให้เขารู้สึกน้อยใจตนเองว่าทำไมเราไม่รวยแบบเขาคนนั้นบ้างน่ะจะได้เหมือนคนอื่นเสียอีก และนั้นเองทำให้มาซากิเข้ามาในชีวิตของคิริมาโระ พร้อมกับข้อเสนอที่หลายคนไม่สามารถปฏิเสธได้ หากแต่ตอนแรกเขาไม่สนใจข้อเสนอของมาซากิ แต่ก็ยังไม่ปฏิเสธ จนกระทั้งเขาพบว่าเงินในบัญชีเขาเพิ่มขึ้นถึงห้าแสนเยนโดยไม่ทราบที่มา(มาแบบการ์ตูนเกมหลอกเกมลวง) ซึ่งคิริมาโระกังกลกับเงินจำนวนนี้มากจึงพยายามหาคนมาปรึกษาแต่กระนั้นเนื่องด้วยไม่มีพ่อแม่ ดังนั้นเขสาขึงปรึกษากับเพื่อนที่ทำงานในงานพิเศษด้วยกัน แน่นอนว่าคำตอบของเพื่อนดังกล่าวล้วนมาแนวเดียวกัน คือใช้เงินจำนวนนั้นเอง และคิริมาโระก็ได้ทำตาม ส่งผลทำให้เขาเข้ามาย่านธุรกิจการเงินแบบไม่เต็มใจดังกล่าว

                    คิริมาโระนี้มาแบบพระเอกที่ผมชอบพอดีเลยครับ ว่าพระเอกแนวแบบนี้จะเหมาะกับแนวเซอร์ไวเวอร์มากครับ ดูแล้วได้อารมณ์ดี ประมาณว่าพระเอกธรรมดาสามารถโครตพวกเซียนหรือพวกเก่งกว่า และกลายเป็นฮีโร่กอบกู้โลกนี้มันเป็นอะไรที่สุดยอด

    ท่ามกลางสังคมที่หลงใหลอำนาจเงิน คิริมาโระยังคงทำตัวติดดินอยู่อย่างนั้น เนื่องเพราะนิสัยไม่หลงใหลไปกับเงิน แม้ว่าจะมีเงินมากจากการแข่งมากมายแค่ไหนเขาก็ยังคงไม่ฟุ่มเฟือยหรือไม่ใช่เงินดังกล่าวเลย(เพราะเขาเกลียดเงินไมดาสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว) เขายังคงทำงานกะสองคืนอยู่อย่างเดิม แต่งตัวแบบไม่หรูหรา และสิ่งที่ผมชอบคือ จิตใจอ่อนโยน ขี้สงสารของคิริมาโระนี้แหบะที่เขามักเป็นห่วงคนอื่นเสมอ ห่วงแม้แต่คนที่แพ้เขา หรือห่วงคนที่แอบชอบทั้งที่คุณเธอไม่ได้ชอบเขาสักนิด เวลาเขาเห็นอะไรกระทบต่อโลกแห่งความจริง เขาก็ตามไปดูเธอด้วยความเป็นห่วง  แต่เธอกลับลืมเขาซะงั้น ตรงจุดนี้ผมเสียดายนะครับหากคิริมาโระสมหวังความรักตรงนี้ ผมจะอวยสุดๆ ไปเลย

    คิริมาโระนี้ถือว่าเป็นพระเอกแบบปถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้เก่งอะไรเลย หลายครั้งที่ชนะเพราะโชคช่วย หรือมีคู่หูที่เก่งเทพ แถมเป้าหมายก็ไม่ชัดเจน ตอนแรกมาแบบเรื่อยเปือย หรือไม่ก็โวยวายเรื่องเงินไมดาสเป็นของปลอมและรับไม่ได้ด้วยซ้ำ พอเจอมิคุมิก็ไปตามน้ำ  กว่าที่จะกำหนดเป้าหมายได้นี้ก็ปาไปถึงตอนที่ 9 เมื่อเขาพบว่ามิคุมิทำให้ปัจจุบันย้ำแย่ด้วยการใช้อนาคตมาผลิตเงินไมดาส ทำให้อนาคตของญั่ปุ่นมืดมนไปด้วย ทำให้คิริมาโระตัดสินใจที่จะต่อสู้มิคุมิในที่สุด แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ การ์ตูนก็พยายามดำเนินเรื่องเรื่องการพัฒนาจิตใจของคิริมาโระอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นนิสัยขี้เป็นห่วงคนอื่น การมองคนอื่นด้านเดียว(ตอนแรกเขามองพ่อว่าหน้าเงิน ภายหลังก็รู้ว่าพ่อของเขาพยายามเพื่อครอบครัวแต่มาแพ้เสียก่อนเลยจำเป็นต้องตัดขาดครอบครัวไม่ให้เดือดร้อนไปด้วย) หรือปรัชญาเรื่องการเงินต่างๆ

    และที่สำคัญหรือสิ่งที่การ์ตูนต้องการนำเสนอก็คือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคิริมาโระและมาซู

      

    มาซู เป็นสินทรัพย์ของคิริมาโระ โดยนำหลักการ Moe anthropomorphism มาใช้ ทั้งที่มาซูไม่ใช่มนุษย์เป็นเพียงอนาคตที่มีรูปร่างเป็นสาวน้อย ตัวเล็ก ทรงผมทวินเทลที่ไม่ได้ซึนสักเท่าไหร่ แต่อารมณ์ร้อน ชอบใช้ความรุนแรง ซึ่งนิสัยแตกต่างจากคิริมาโระโดยสิ้นเชิง เพราะว่าคิริมาโระนั้นเรื่อยเปื่อยใจเย็นกว่า ทำให้มาซูต้องดุว่าคิริมาโระอยู่บ่อยๆ โดยรวมแล้วมาซูมีความแตกต่างจากสินทรัพย์ตัวอื่นๆ ที่ส่วนมากมักมีรูปร่างไม่เหมือนมนุษย์และไม่มีความนึกคิดเป็นของตัวเอง อีกทั้งมาซูยังมีความสนใจการเรียนรู้และเริ่มแสดงออกเหมือนมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีอารมณ์ความรู้สึก  กินอาหาร มีความรัก โกรธคนอื่น รู้จักการเรียนรู้มีเจตจำนงเป็นของตนเอง จนทำให้คิริมาโระเกิดความรู้สึกชอบมาซูและปฏิบัติกับมาซูเหมือนมนุษย์คนหนึ่งมากกว่าสินทรัพย์

    มาซูนี้ถือว่าเป็นตัวละครที่ตีความมากที่สุดในการ์ตูนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวตนของมาซูนี้คืออะไรกันแน่? แม้ว่าการ์ตูนจะนำเสนอว่ามาซูนั้นก็คือลูกสาวของคิริมาโระในอนาคต แต่นั้นเป็นเพียงความคิดของคิริมาโระมากกว่า ทำให้หลายคนไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นนี้มากนัก บางคนก็บอกว่าเป็นลูกหลานมากกว่า แต่ตามความรู้สึกผมแล้วผมเชื่อว่ามาซูก็คือลูกสาวของคิริมาโระเพราะหากคิดแบบนี้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะแน่น(ค้ำคอ)กว่า ดูแล้วได้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่ามาซูนี้ถูกสร้างจากอนาคตที่แสนธรรมดาของคิริมาโระ คือปรารถนาการสร้างครอบครัวที่มีความสุข เพื่อชดเชยสิ่งที่เขาไม่มีในวัยเด็ก ซึ่งน่าแปลกตรงที่อนาคตของคิริมาโระก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย เหมือนความฝันของคนธรรมดาทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ แต่ทำมาซูถึงได้ร้ายกาจนัก มีพลังทำลายศัตรูได้อย่างง่ายดายในครั้งเดียว  โดยความลับความแข็งแกร่งของมาศซูนั้นก็ได้สอนอะไรหลายเรื่องแก่ผู้ดู ไม่ว่าจะเป็น ความแข็งแกร่งของมาซูที่เกิดจากความนึกคิดของตนเอง  กระตือรือร้น ความตั้งใจจริง การลงมือทำ การสนับสนุนของผู้อยู่เคียงข้าง ความเชื่อมั่นของและกัน ที่สำคัญคือจงเชื่อมั่นในอนาคตของตนเองก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและหนักแน่น แม้ว่าอนาคตของเราจะธรรมดา แต่กระนั้นมันก็เป็นอนาคตที่มีความสุข อยู่อย่างพอเพียง ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์เรา

    และสิ่งที่ทำให้ผมชอบการ์ตูนเรื่องนี้มากที่สุด ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างมาซูและคิริมาโระ ที่มีอะไรหลายอย่างให้ตีความได้หลากหลาย ที่ตอนแรก ๆ คิริมาโระกับมาซูมาแนวคู่หูร่วมต่อสู้เสียมากกว่า ต่างฝ่ายปกป้องกันและกัน และเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นทั้งคิริมาโระกกับมาซูก็เริ่มมีความสัมพันธ์กันในลักษณะคนสำคัญซึ่งกันและกัน คิริมาโระปกป้องมาซุ ส่วนมาซูก็อยู่เคียงข้างและเคารพการตัดสินใจของคิริมาโระในช่วงที่จิตใจยังสับสนและไม่สามารถปรึกษากับใครได้ แม้มาซูจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตและไม่ใช่มนุษย์ แต่สิ่งที่แสดงออกนั้นคิริมาโระยังตกใจเลยว่าเธอนั้นมีความเป็นมนุษย์มากกว่ามนุษย์แท้ๆ เสียอีก ส่งผลทำให้ช่วงหลังๆ คิริมาโระเปิดใจมาซูมากยิ่งขึ้น

                   มีหลายฉากในการ์ตูนเรื่องนี้ที่ผมชอบ โดยเฉพาะฉากที่คิริโนะเผาเงินไมดาสนี้เป็นอะไรหลายอย่างที่สะใจมาก หรือจะเป็นฉากที่มาซูสู้กับคิว ก่อนปิดท้ายเมื่อมาซูจูบคิริมาโระก่อนที่จะหายไปที่ทำได้ค้ำคอดี(หากกรณีที่มาซูคือลูกสาวของคิริมาโระ)

    และขอคิดสุดท้ายก็คือการตัดสินใจของคิริมาโระที่สวนกระแสต่อความรู้สึกหลายคนเมื่อคิริมาโระทำการขัดขวางมิคุมิที่พยายามผลิตเงินไมดาสจำนวนมากเพื่อนำมาช่วยประเทศญี่ปุ่นให้คงสภาพปัจจุบันเอาไว้ โดยไม่สนว่าอนาคตข้างข้างหน้าเป็นอย่างไร อันนี้ผมตีความว่า คิริมาโระนั้นให้ความสำคัญต่ออนาคตมากกว่าปัจจุบัน จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อเราทำปัจจุบันเละเทะทำลายอนาคตของผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ความมั่นใจของมิคุมิที่คิดว่าฃตนเองคือผู้กอบกู้ญี่ปุ่นให้พ้นภัย สามารถควบคุมการกระทำของตนเองได้ แต่ไม่สามารถควบคมสิ่งกระทบจากภายนอกได้ว่ามันจะมารูปแบบไหน ต่อให้เราจะมีประสบการณ์ทางการเงินมากมายแค่ไหน สุดท้ายความคาดการณ์ของเขาก็ผิดพลาด ผลคือคนรอบข้างเดือดร้อนและมันก็ย้อนกับมาตัวเอง  ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากการกระทำความตัวเราเอง

      

    สรุปคือการ์ตูน C - The Money of Soul and Possibility Control เป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่สอนอะไรมากกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ และการต่อสู้ที่น่าตื่นเต้น มันยังสอนให้เราให้เราเป็นคนดีในสังคม จงอย่าหลงใหลอำนาจของเงินทอง ให้ความสำคัญต่อครอบครัวและคนรอบข้าง ที่พวกเขานั้นมีค่ามากกว่าเงินทอง หากเราหลงแต่เงินทองหรือทำผิดพลาดอะไรไปคุณอาจเสียสิ่งที่คุณรักอย่างไม่มีหวนกลับ อีกทั้งบางทีคนที่อยู่ใกล้ตัวเราอาจไม่สนเงินทอง ขอแค่คุณอยู่กลับเขาสักนิด เอาใจเขาเสียหน่อยสุดท้ายเราก็มีความสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองซื้อหา

     

    “จงเชื่อมั่นในตนเองและ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”+ +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×