ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    100 อันดับ โลกต้องจารึก

    ลำดับตอนที่ #116 : (ปริศนาโลกตะลึง) ย้อนรอยนอสตราดรามุส (Nostredame) ตอนที่ 2 คำทำนาย

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.14K
      0
      23 มี.ค. 50



    ย้อนรอยนอสตราดามุส

      
              
                    มีตำนานเล่าขานต่อๆ กันมาว่า ในช่วงนี้ นอสตราดามุส มีความสามารถในการทำนายทายทักดวงชะตาราศีของใครต่อใครได้แล้ว ว่ากันว่า ในระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยวอยู่ในประเทศอิตาลีนั้น วันหนึ่ง ได้เดินสวนทางกับนักบวชคริสต์รูปหนึ่งซึ่งขณะนั้นมีหน้าที่เป็นเพียงคนเลี้ยงสุกรในวัด เพียงมองเห็นครั้งแรกกเท่านั้น ก็สามารถทราบในทันทีว่า ต่อไปในอนาคตจะได้เป็นพระสันตะปาปาเขาจึงคุกเข่าลงที่โคลนเฉอะแฉะกลางถนนแสดงการคารวะพลางกล่าวกับนักบวชรูปนี้ด้วยคำขึ้นต้นว่า " ข้าแต่องค์พระสันตะปาปาผู้ศักดิ์สิทธิ์ "

                    นักบวชที่ว่านี้ คือ เฟริช เปอเรตตี ซึ่งต่อมาได้เป็นองค์ประมุขของศาสนจักรโรมันคาทอลิก เมื่อปี ค.ศ. 1589 อันเป็นช่วงหลังจากที่นอสตราดามุสเสียชีวิตไปนานแล้ว

      
                 
    ล่วงรู้ชะตากรรมของหมู

                    อีกเรื่องหนึ่งเล่ากันสนุกๆ ว่า นอสตราดามุสได้พบกับขุนนางคนหนึ่งที่เมืองฟลอแร็งวิลล์ หลังจากที่ได้สนทนากันแล้ว พอทราบว่าเป็นหมอดู จึงอยากจะทดสอบความสามารถให้เห็นดำเห็นแดงกันไปเลย ขุนนางเมืองฟลอแร็งวิลล์ ได้ทำการทดสอบ โดยขอให้ทำนายอนาคตของลูกสุกรทั้งสองตัวของเขา ที่กำลังนอนดูดนมแม่อยู่ที่สนามหญ้าในบ้าน ซึ่งนอสตราดามุสทำนายว่าท่านขุนนางจะได้รับประทานเนื้อสุกรตัวสีดำ ส่วนลูกสุกรตัวสีขาวจะถูกสุนัขคาบไปกิน ทันทีที่ได้ฟังคำทำนาย ขุนนางต้องการลบล้าง จึงได้เชิญนอสตราดามุสให้อยู่รับประทานอาหารเย็นที่บ้าน แล้วแอบไปกระซิบคนครัวให้จับลูกสุกรตัวสีขาวมาฆ่า เพื่อทำอาหารเย็นเลี้ยงนอสตราดามุส คนครัวก็ได้จัดการตามที่ท่านขุนนางสั่ง คือ นำลูกสุกรตัวสีขาวมาฆ่า แต่ในขณะที่กำลังเตรียมจะชำแหละเนื้อเพื่อปรุงเป็นอาหารเย็นอยู่นั้น มี สุนัขของเพื่อนบ้านตัวหนึ่งมาแอบคาบสุกรตัวนั้นวิ่งหนีเข้าป่าไป คนครัวตกใจมาก เกรงว่าจะถูกขุนนางผู้เป็นนายดุจึงไปจัดการฆ่าลูกสุกรตัวสีดำมาทำอาหารเย็นแทน

                    ในขณะที่นอสตราดามุสกับขุนนางกำลังนั่งรับประทานอาหารเย็นมื้อนี้อยู่นั้น ทางฝ่ายขุนนางเจ้าของบ้านก็ได้ทำท่ากระหยิ่มยิ้มย่อง กล่าวว่า เนื้อที่เขากับนอสตราดามุสกำลังรับประทานอยู่นี้ คือ เนื้อของลูกสุกรตัวสีขาวที่ทำนายว่าจะถูกสุนัขคาบไปกิน นอสตราดามุสยิ้มอย่างผู้ชนะและยืนยันกับเจ้าของบ้านว่าเป็นเนื้อของลูกสุกรตัวสีดำ เพื่อพิสูจน์ความจริงกัน ท่านขุนนางจึงได้เรียกคนครัวมาสอบถาม แล้วคนครัวก็ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ผู้เป็นนายฟัง จึงเป็นอันว่าคำทำนายของนอสตราดามุสในครั้งนี้ถูกต้องอย่างแม่นยำ เหมือนมองเห็นอนาคตได้ด้วยตาทิพย์


                   ทำนายอนาคตของนโปเลียน

                    
                   
    อีกตำนานหนึ่งที่ว่า นอสตราดามุสเคยเข้าไปพักอยู่ในโบสถ์เตซิอัง ในเมืองออร์วัล อันเป็นย่านที่อยู่ของชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเบลเยี่ยม ทั้งนี้เพราะในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีผู้พบหนังสือคำโคลงคำพยากรณ์ของ นอสตราดามุสอยู่ในโบสถ์แห่งนี้สองเล่ม ซึ่งเขียนคำทำนายไว้ว่า จอมจักรพรรดินโปเลียน จะเรืองอำนาจในฝรั่งเศส

                    เล่มหนึ่งมีชื่อว่า " Prophecy of Philip Olovarius " ระบุไว้ว่าตีพิมพ์ในระยะหลัง คือ ราวปี ค.ศ. 1810 นายนอร์ มังค์ พระอาจารย์ที่ปรึกษาและพระสหายของพระเจ้านโปเลียนแห่งฝรั่งเศส อ้างว่า พระเจ้านโปเลียนทรงนำหนังสือคำทำนายเล่มนี้พกติดตัวอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนังสือคำทำนายเล่มที่สองชื่อ " The Prophecy of Orrval " ระบุว่าตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1544 แต่ความเป็นจริงน่าจะตีพิมพ์เมื่อราวปี ค.ศ. 1839

                    นักวิเคราะห์ผลงานของนอสตราดามุสหลายคน รวมทั้งบาร์แรสต์และ อาเบ ตอร์เน ชาวิญญี ได้ยืนยันว่า หนังสือทั้งสองเล่มนี้นอสตราดามุสเป็นผู้เขียนเอง แต่เมื่อพิจารณาดูรูปแบบการเขียนที่ปรากฏไม่น่าจะใช่ ส่วนที่กล่าวว่านอสตราดามุสเคยไปพักอยู่ที่เมืองออร์วัลนั้น ก็เป็นเพียงตำนานเล่าขานต่อๆ กันมา ปราศจากหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรสนับสนุน

                    จึงมีทางเป็นไปได้ว่า หนังสือทั้งสองเล่มนี้ผู้อื่นเป็นผู้เขียนขึ้น แต่แอบอ้างเอาชื่อของนอสตราดามุส เพื่อให้คำทำนายในหนังสือของตนน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

                   

                    ปราบโรคระบาด

                     
                   
    เมื่อถึงปี ค.ศ. 1554 นอสตราดามุสได้ไปตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เมืองมาร์แซย์ โดยพักอยู่กับ หลุยซ์แซร์เรอในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น มณฑลโปรวองซ์ได้ประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งซีซาร์บุตรชายของนอสตราดามุส ได้เล่ารายละเอียดไว้ในหนังสือชื่อ (
    Histories de Provence ) ว่าผลของอุทกภัยทำให้กาฬโรคระบาดหนักยิ่งกว่าเดิมอีกเท่าตัว เพราะเชื้อโรคแพร่ระบาดไปกับศพเน่าที่ลอยไปตามน้ำ

                    นอสตราดามุสต้องการทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนเพื่อรักษาคนไข้ที่เป็นโรคนี้ ซึ่งแตกต่างจากแพทย์คนอื่นๆ ที่พากันกลัวตามหลบหนีออกไปจากเมืองมาร์แซย์ พร้อมกับคนไข้ที่พอมีกำลังวังชาเดินได้ ซึ่งการกระทำของแพทย์ดังกล่าว กลับยิ่งทำให้กาฬโรคระบาดไปถึงเมืองอื่นๆ ที่พวกเขาอพยพคนไข้เข้าไปอยู่

                    ในสมุดบันทึกความจำที่บันทึกกันไว้ในสมัยนั้น กล่าวกันว่า กาฬโรคระบาดหนักที่สุดใน เมื่อเอ็กซ์ เมืองเอกของมณฑลโปรวองซ์ เจ้าหน้าที่จึงได้ส่งคนไปตามนอสตราดามุส เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1455 นอสตราดามุสได้เดินทางไปตามคำเรียกร้องของเจ้าหน้าที่และก็เป็นแพทย์เพียงผู้เดียวที่ไม่ยอมอพยพหนีไปอยู่ที่เมืองอื่น ตลอดระยะเวลาที่โรคยังระบาดในเมืองนี้ นอสตราดามุสทำงานอยู่ท่ามกลางคนป่วย โดยไม่ประหวั่นพรั่นพรึงอันตรายจากการติดเชื้อจากคนป่วย ให้การรักษาเยียวยาโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก และได้แนะนำให้ประชาชนในเมืองเอ็กซ์พยายามอยู่ในที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์และดื่มแต่น้ำสะอาดเท่านั้น

                    เมื่อนอสตราดามุสเดินทางไปถึงเมืองเอ็กซ์ใหม่ๆ นั้น ประชาชนต่างแสดงออกถึงความรู้สึกหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เช่น ในกรณีของคนไข้หญิงรายหนึ่ง ได้จัดการเย็บถุงเตรียมเอาไว้ห่อศพของตัวเอง ด้วยเกรงว่าเมื่อตามแล้ว จะไม่มีใครเย็บให้ นอสตราดามุสได้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงานของเขาที่เมืองเอ็กซ์นี้ไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า " Moultes Opuscules " โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่ 8 ได้เขียนบรรยาย ถึงเหตุการณ์ในเมืองนี้โดยเฉพาะ

      
                 
    คิดค้นสูตรยาป้องกันกาฬโรค

                    
                   
    นอสตราดามุสได้คิดค้นสูตรยาเม็ดป้องกันกาฬโรคขึ้นมาขนานหนึ่ง เรียกกันในสมัยนั้นว่า "ยาเม็ดดอกกุหลาบ" ยาขนานนี้ มีเครื่องปรุงประกอบด้วยสมุนไพรชนิดต่างๆ ในการปรุงยาขนานนี้ มีกรรมวิธีที่สลับซับซ้อน คือดอกกุหลาบที่จะนำมาใช้ปรุงยาจะต้องไปเก็บก่อนรุ่งอรุณเมื่อได้ดอกกุหลาบครบตามจำนวนแล้วก็นำไปให้คนป่วยเป็นโรคอมไว้ตลอดเวลา

                    ในการปรุงยาขนานนี้ มีกรรมวิธีที่สลับซับซ้อน คือดอกกุหลาบที่จะนำมาใช้ปรุงยาจะต้องไปเก็บก่อนรุ่งอรุณเมื่อได้ดอกกุหลาบครบตามจำนวนแล้วก็นำโขลกให้ละเอียด นำไปคลุกเคล้ากับผงเครื่องปรุงสมุนไพรอีก 5 อย่างที่ได้บดไว้ และในตอนนี้ต้องระวังไม่ให้เครื่องปรุงยาถูกอากาศ จากนั้นก็นำเครื่องยาที่เคล้ากันดีแล้วไปปั้นเป็นลูกกลอน นำไปให้คนป่วยเป็นโรคอมไว้ตลอดเวลา      นอสตราดามุสบรรยายสรรพคุณยาเม็ดดอกกุหลาบนี้ว่า นอกจากจะใช้ป้องกันกาฬโรคแล้ว ยังมีสรรพคุณใช้ระงับกลิ่นปากและกลิ่นเหม็นที่ออกมาพร้อมกับลมหายใจและก็ยังช่วยป้องกันโรคฟันผุไม่ให้ลุกลามได้อีกด้วย

                    ที่นอสตราดามุสเข้าใจว่า คนเป็นกาฬโรคเพราะอยู่ในที่ซึ่งอากาศไม่บริสุทธิ์นั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกับการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งค้นพบว่า กาฬโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่ระบาดอยู่ในภาคใต้ของฝรั่งเศส ในสมัยของนอสตราดามุสนั้น เป็นโรคที่ติดเชื้อมาจากหมัด

                    อย่างไรก็ตาม นอสตราดามุสได้ชื่อว่า เป็นแพทย์ที่มีความสามารถเป็นเยี่ยมเหนือแพทย์คนอื่นๆ ที่สามารถพิชิตกาฬโรคลงได้อย่างราบคาบ เมื่อการระบาดของกาฬโรคยุติลงแล้ว ทางรัฐสภาเมืองเอ็กซ์สำนึกในคุณความดี จึงประชุมลงมติให้บำนาญตลอดชีวิตแก่เขา

                    แต่งงานครั้งที่สอง

                    หลังจากเมืองเอ็กซ์ปลอดจากกาฬโรคแล้ว นอสตราดามุสได้ออกเดินทางต่อไปที่เมืองซาลอง เมื่อไปถึงก็พบว่าเป็นเมืองที่ร่มรื่นน่าอยู่ จึงตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในเมืองนี้ แต่อยู่ได้ไม่ทันไร ทางเมืองลีอองส์ได้ส่งคนมาตามให้ไปช่วยรักษาโรคไอกรน ซึ่งระบายอย่างหนักในเมืองนี้ หลังจากปราบโรคไอกรนเสร็จแล้ว ก็กลับไปอยู่ที่เมืองซาลองอีกครั้งหนึ่ง

                    การกลับไปเมืองซาลองครั้งนี้ นอสตราดามุสไม่ได้กลับไปตัวเปล่า ทว่ามีทรัพย์สินเงินทองติดตัวได้ด้วยมากมาย ซึ่งเป็นทรัพย์สินเงินทองที่ประชาชนชาวเมืองลีอองส์มอบให้เขาด้วยเสน่หาและสำนึกในพระคุณที่รักษาโรคให้ ที่จริงแล้วทรัพย์สินเงินทองที่เขานำติดตัวไปเมืองซาลองนั้นเป็นส่วนที่เหลือจากที่ได้บริจาคให้แก่คนยากคนจนในเมืองลีอองส์ก่อนจะจากมา

                    เรื่องราวเกี่ยวกับความโอบอ้อมอารีของนอสตราดามุสที่มีต่อคนยากจนเช่นนี้ แม้ว่าจะได้ข้อมูลมาจากตำนานที่เล่าขานสืบๆ กันมา แต่ก็มีเค้าประเด็นความจริงอยู่มากทีเดียว

                    หลังจากกลับคืนสู่เมืองซาลองในครั้งหลังนี้แล้วนอสตราดามุสได้แต่งงานกับนางแอนน์ ป็องสาร์ท เกอเมลล์ เศรษฐินีหม้ายเมืองซาลองนั้นเอง ปัจจุบัน ทะเบียนสมรสของคนทั้งสองถูกเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งเมืองนี้

                    ในทะเบียนระบุว่า แต่งงานกันเมื่อ ค.ศ. 1547 นายทะเบียนที่รับจดทะเบียนชื่อ นายเอเดียน โฮซีเอ ส่วนบ้านที่เคยพักอยู่กับครอบครัวในช่วงบั้นปลายของชีวิต ปัจจุบันยังอยู่ที่ ย่านปัวส์ซองเนอรี เมืองซาลอง

                    ในระยะหลังๆ นี้ นอสตราดามุสใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบส่วนใหญ่จะขลุกอยู่กับการผลิตเครื่องสำอางให้ภรรยาแม่หม้ายของเขาใช้ ซึ่งก็เป็นที่ติดอกติดใจของเธอมาก ดูเหมือนว่าในระยะนี้ จะไม่ได้ใช้ความรู้ทางด้านการแพทย์เพื่อรักษาเยียวยาคนไข้เหมือนในช่วงก่อน ๆ

                    ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงนี้นอสตราดามุสเกิดไม่ถูกกับพวกคาบัง (Cabans) คนพื้นเมืองของซาลองที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก พวกคาบังนี้เกิดขัดแย้งทางด้านศาสนากับพวก ฮอกนอต์ (Houguenot ) ซึ่งเป็นพวกนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายเกิดขัดแย้งกันอยู่นี้ ทางฝ่ายคาบังโจมตีนอสตราดามุสว่าให้การสนับสนุนแก่พวกฮอกือนอต์ ซึ่งก็สร้างความลำบากใจให้แก่เขาอยู่ไม่น้อย

     
                  
    เริ่มเขียนคำทำนายบันลือโลก

                   
                   
    ในช่วงเดียวกัน นอสตราดามุสได้สนอกสนใจในวิชาโหราศาสตร์มากเป็นพิเศษ และ พลังความสามารถในการล่วงรู้ถึงเหตุการณ์ในอนาคตของเขาก็คงจะมีอยู่ต่อไปเพราะว่าในปี ค.ศ. 1550 ปรากฏว่าเขาได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกในชีวิต มีชื่อว่า " ออลมาแน็ค (
    Almanac) " เป็นหนังสือเขียนเป็นคำ โคลงง่ายๆ ทำนายเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศ พืชพันธุ์ธัญญาหาร และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองซาลอง

                    หนังสือออลมาแน็คได้รับความนิยมในหมู่ของนักอ่านมาก มีการตีพิมพ์ออกมาทุกๆ ปี ในช่วงที่นอสตราดามุสยังมีชีวิตอยู่ มองซิเออ ลา กรัว ดือ เมน เขียนถึงหนังสือออลมาแน็คของนอสตราดามุสไว้เมื่อ ค.ศ. 1594 ว่า "ออลมาแน็คเป็นหนังสือที่ประชาชนให้ความเชื่อถือมากเหลือเกิน และเป็นหนังสือที่ขายดีมาก ถึงกับมีพวกมิจฉาชีพ ผู้ไม่มียางอาย ลอกเลียนแบบ แล้วอ้างว่าเป็นต้นฉบับของนอสตราดามุส "

                    น่าจะเป็นเพราะผลแห่งความสำเร็จอย่างงดงามจากการกระทำของหนังสือออลมาแน็คนี่เอง ที่เป็นแรงผลักดันให้นอสตราดามุสหันไปจับงานเขียนหนังสือคำทำนายที่ยากขึ้นไปอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ " Prophecies "

                    นอกจากจะมุ่งมั่นบากบั่นอยู่กับงานเขียนหนังสือ " Prophecies " แล้ว ในช่วงเดียวกันนี้ นอสตราดามุสยังสนใจในงานสร้างสรรค์เพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ ด้วย เช่น ได้สนับสนุน นายอาดัม เดอ ลา คราปอนน์ สถาปนิกและวิศวกรชาวซาลอง ให้ขุดคลองชลประทานเชื่อมแม่น้ำโรนกับแม่น้ำรังช์ เพื่อนำน้ำจากคลองแห่งนี้ไปแก้ปัญหาความแห้งแล้งในพื้นที่เพาะปลูกในอาณาบริเวณรอบๆ เมืองซาลอง

                    นอสตราดามุสไม่เพียงแต่บริจาคเงินก้อนมหึมาเพื่อช่วยเหลือโครงการนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ให้กำลังใจและให้คำแนะนำบางประการแก่นายคราปอนน์ตลอดเวลาอีกด้วยปัจจุบัน คลองส่งน้ำแห่งนี้ยังคงถูกใช้ประโยชน์ทางด้านการชลประทานอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้

                    นอสตราดามุสกล่าวไว้ในหนังสือ " Prophecies " ว่า เขาได้ทำการดังแปลงห้องๆ หนึ่ง ที่ชั้นบนสุดในบ้านที่เมืองซาลอง ให้เป็นห้องศึกษาค้นคว้าตำราทางไสยศาสตร์โดยจะเข้าไปนั่งอยู่ในห้องนี้ตามลำพังในตอนกลางคืน

                    นอสตราดามุสเปิดเผยในหนังสืออีกเล่มหนึ่งว่า ได้เผาตำราทางไสยศาสตร์หลายต่อหลายเล่มทิ้งในทันทีที่ได้ศึกษาค้นคว้าเสร็จ จึงทำให้เกิดความสงสัยกันว่า เพราะเหตุใดคนที่เป็นนักปราชญ์อย่างเขาจึงไม่รักและเสียดายหนังสือดีๆ เหล่านี้ เหตุผลสำคัญที่ต้องเผาตำรับตำราทางไสยศาสตร์เหล่านี้ทิ้ง ก็เพราะเกรงกลัวว่า เจ้าหน้าที่ของฝ่ายศาสนจักรคาทอลิก อาจจะเข้ามาตรวจค้นภายในบ้านแล้วพบตำราต้องห้ามเหล่านั้นเข้า

                    ตำราสำคัญเล่มหนึ่ง ที่นอสตราดามุสนำมาใช้ศึกษาค้นคว้าทางไสยศาสตร์ คือ หนังสือชื่อ " De Mysterils Egyptorum " พิมพ์ที่เมืองลีอองส์ เมื่อ ค.ศ.1547

     
                  
    ได้ศิษย์เอก

                   
                  
    ในปี ค.ศ. 1554 นอสตราดามุสได้บุคคลสำคัญคนหนึ่งมาเป็นศิษย์เอก ชื่อ ดร. ฌอง-เอเมอส์ เดอ ชาวิญญี ดร.ผู้นี้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ เป็นถึงนายกเทศมนตรีเมืองโบน แต่ยอมสละตำแหน่งอันทรงเกียรติออกมาเป็นศิษย์ของเขา เพียงเพื่อต้องการศึกษาวิชาโหราศาสตร์และดาราศาสตร์

                    เมื่อมารสมัครเป็นศิษย์ของนอสตราดามุสนั้น ดร. ชาวิญญีมีอายุเพียง 30 ปี แต่เป็นผู้มีคุณวุฒิทางการศึกษาสูงเด่นมาก คือ สำเร็จปริญญาเอกถึงสองสาขา ได้แก่ สาขาเทววิทยา และสาขานิติศาสตร์ ซึ่งคนที่ยังหนุ่มแน่นและมีความรู้สูงอย่างนี้ หากให้ทำงานอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นที่หวังได้ว่าอนาคตจะต้องรุ่งโรจน์ก้าวไปได้มาก แต่เขากลับยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อประสงค์เพียงต้องการสนองความอยากรู้อยากเห็นของตนเท่านั้น

                    สาเหตุที่ ดร.ชาวิญญี ตัดสินใจมอบตัวเป็นศิษย์ขงนอสตราดามุส ก็เพราะได้แรงกระตุ้นมาจากคำพูดของกวีประจำราชสำนักผู้หนึ่ง ชื่อ ฌอง เดอร่าต์ ซึ่งเป็นบุคคลที่เลื่อมใสศรัทธาในผลงานของนอสตราดามุสในผลงานของนอสตราดามุสเป็นอย่างมาก กวี ฌอง เป็นระดับปัญญาชนคนหนึ่งในสมัยนั้นซึ่งนอกจากจะเป็นกวีประจำราชสำนักแล้วก็ยังดำรงตำแหน่งเป็น ศาสตราจารย์สาขาวิชาภาษากรีกประจำอยู่ที่วิทยาลัย กอลแลช เดอ ฟรังซ์ อีกด้วย

                    ดร.ชาวิญญี เป็นตัวอย่างของศิษย์ที่มีความกตัญญูกตเวทีต่ออาจารย์หลังจากที่นอสตราดามุสเสียชีวิตไปแล้ว ดร.ชาวิญญีก็ไม่เคยลืมบุญคุณ เข้าได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับอาจารย์ไว้หลายเล่ม นอกจากนั้น ก็ยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการเรียบเรียงหนังสือคำทำนาย ชื่อ " Prophecies " ซึ่งตีพิมพ์เป็นฉบับสมบูรณ์เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1568

                    นับตั่งแต่ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามจากการเขียนหนังสือ " ออลมาแน็ค " ดังกล่าวมาข้างต้นนั้นแล้ว เขาได้เริ่มจับงานเขียนด้านอื่นๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดหยั่ง เป็นต้นว่างานเขียนสูตรยารักษาคนไข้และสูตรเครื่องสำอางต่างๆ รวมทั้งได้ตีพิมพ์หนังสือ " Horus Apollo " ที่แปลจากภาษากรีกเป็นภาษาฝรั่งเศส จนในที่สุด เมื่อปี ค.ศ. 1552 ก็ได้พิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อ " Traite des Pardemens "

                    มื่อถึงปี ค.ศ. 1554 นอสตราดามุสได้ญาณพิเศษสามารถล่วงรู้ว่าจะเกิดยุคเข็ญในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝรั่งเศส มิหน่ำซ้ำก็ยังเกิดอาเพศหลายอย่างเป็นลางบอกเหตุว่าสิ่งที่เขารู้เห็นด้วยญาณพิเศษนี้จะต้องเกิดขึ้นจริง ดังที่ ซีซาร์บุตรชายของนอสตราดามุส เขียนไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ " Histoire de Provence"ว่า

                    "ในปี ค.ศ.1554 มีเหตุอาเพศหลายอย่างอุบัติขึ้นเป็นลางร้ายในประเทศฝรั่งเศส ที่สำคัญ ก็คือ บรรดาทารกที่เกิดใหม่มีร่างกายพิกลพิการ เช่น ในปลายเดือนมกราคมของปีนี้ ที่เมืองเซนาส์มีทารกคนหนึ่งเกิดมามีร่างกายประหลาด เป็นเด็กสองหัว หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ราวกับเป็นลูกปิศาจมาเกิด บรรดาโหรผู้เชี่ยวชาญในการทำนายทายทักเหตุการณ์ในอนาคต เมื่อเห็นทารกร่างกายประหลาดคนนี้ ต่างก็ทำนายตรงกันว่า จะมีเหตุเภทภัยเกิดกับประเทศฝรั่งเศส นอกจากมีเด็กประหลาดเกิดที่เมืองเซนาส์แล้วอีก 6 สัปดาห์ต่อมาที่บริเวณใกล้ๆ เมืองซาลอง ก็ยังมีแม่ม้าตัวหนึ่งตกลูกออกมาเป็นสัตว์ประหลาดมีหัวสองหัว จากการที่มีมนุษย์และสัตว์ประหลาดเกิดมาเช่นนี้ นอสตราดามุสได้ประมวลเหตุการณ์แล้วทำนายว่า จะเกิดปัญหาการแตกแยกครั้งร้ายแรงในประเทศฝรั่งเศสในอนาคต"

                    ในกาลต่อมา ปรากฏว่า คำทำนายของนอสตราดามุสเป็นจริง คือ ประชาชนฝรั่งเศสเกิดการแตกแยกกัน เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางด้านศาสนา จนกระทั่งเกิดสงครามกลางเมืองถึงสามครั้ง ก่อนที่ พระเจ้าฮังรี เดอนาวาร์เรอ จะเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสต่อจากราชวงศ์ใหม่เข้าปกครองประเทศฝรั่งเศส

                    ในช่วงที่เกิดอาเพศมีมนุษย์และสัตว์ประหลาดมาเกิด นอสตราดามุสอยู่ในระหว่างเขียนหนังสือคำทำนายชื่อ "Prophecies" ซึ่งมีคำทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะอุบัติขึ้นในโลกในแต่ละยุคสมัย จวบจนกระทั่งถึงวันอวสานของโลก

            ชาวิญญี ได้เขียนถึงหนังสือคำทำนายเล่มนี้ว่า

                    "นอสตราดามุสเขียนคำทำนายเหตุการณ์ของโลกเสร็จแล้วก็เก็บเอาไว้ ยังไม่ยอมตีพิมพ์ออกเผยแพร่เพราะเห็นว่าเนื้อหาสาระในคำทำนายจะกระทบกระเทือนต่อผู้อื่น แต่ในที่สุดมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสงเคราะห์ต่อชาวโลก จึงได้ตีพิมพ์ออกสู่สายตาของสาธารณชน ผลที่ออกมา ก็คือ คำทำนายเหล่านี้เกิดโด่งดังขึ้นมา จนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชา โจษขานและพูดกันติดปากในหมู่ประชาชนชาวฝรั่งเศสและชาวต่างประเทศ "

                    หนังสือคำทำนาย " Prophecies " เริ่มตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1555 ที่เมืองลีอองส์ ประเทศฝรั่งเศสเป็นฉบับที่พิมพ์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แบ่งคำทำนายออกเป็นหมวดๆ เรียกว่า เซ็นจูรี (Century) ที่มีครั้งหนึ่งร้อยบท เซ็นจูรีที่ 1 เซ็นจูรีที่2 เซ็นจูรีที่ 3 ส่วนในเซ็นจูรีที่ 4 มีเพียง 53 บท ในฉบับที่พิมพ์ครั้งแรกนี้ นอสตราดามุสเขียนคำอุทิศความดีของหนังสือให้แก่ซีซาร์บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของเขา

                    ต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1557 ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มคำทำนายลงไปในเซ็นจูรีที่ 4 จนครบบริบูรณ์ และมีการเพิ่ม เซ็นจูรีที่ 5 เซ็นจูรี่ 7 พิมพ์ลงในเล่มด้วย เฉพาะเซ็นจูรี่ที่ 7 เท่านั้นที่มีคำทำนายยังไม่ครบสมบูรณ์

                    ที่ใช้คำว่า " เซ็นจูรี " นั้น ไม่ได้มีความหมายว่า " ร้อยปีหรือศตวรรษ " อย่างภาษาที่เข้าใจกันในปัจจุบัน ทว่าเป็นการเรียกคำโคลงคำทำนายที่แยกออกไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละร้อยคำโคลง ร้อยคำโคลงจัดเป็นหนึ่งเซ็นจูรี นอสตราดามุสตั้งใจไว้ว่าเขียนให้ครบ 10 เซ็นจูรีซึ่งก็จะทำให้คำทำนายรวมทั้งสิ้น 1,000 บท แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ จึงไม่ยอมเขียนเซ็นจูรีที่ 7 ให้จบสมบูรณ์ ปล่อยให้คาราคาซังอยู่เช่นนั้น และมีหลักฐานจากที่ต่างๆ ระบุว่า เขาตั้งใจเริ่มเขียนเซ็นจูรีที่ 11 และเซ็นจูรีที่ 12 ต่อไป แต่มาเสียชีวิตลงไปก่อน

                    คำโคลงต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคำทำนาย เขียนโดยวิธีวางตัวอักษรสลับที่ปนเปกันไปจนยุ่งเหยิง ภาษาที่ใช้ซับซ้อน ยากต่อการนำมาแปล


    (ติดตามตอนต่อไป+ + )

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×