ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #94 : Lucky Star คุโรไมตี้ฉบับโมเอะ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 12.06K
      11
      18 ก.ย. 53

     

    การ์ตูนเรื่องต่อไปนี้ได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่น แม้ในประเทศไทยไม่ค่อยนิยมนัก หากแต่ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมักมีตัวละครเรื่องนี้มาประดับหรือเป็นตัวชูโรงอยู่บ่อยครั้งด้วย เป็นเพราะอะไรการ์ตูนพวกนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงที่ญี่ปุ่น และโมโอะคืออะไรกันแน่ ? เชิญอ่านความคิดเห็นของคนธรรมดา ที่ไม่ใช้นักจิตวิทยา หรือนักวิเคราะห์ ได้เลยครับ

     

     
    Lucky Star

    คอมมาดี้, ชีวิตประจำวัน(วันต่อวัน)

     

    การ์ตูนที่ผมจะเขียนถึงบทความนี้คือ “ลักกี้สตาร์” นั่นเอง ผมว่าคนที่ชอบการ์ตูนญี่ปุ่น(โดยเฉพาะโอตากุสายพันธุ์ไทย) หรือสังคมเน็ตการ์ตูนคงรู้จักเรื่องนี้แน่นอน ถ้าไม่มีใครรู้จักนี้(โดยเฉพาะคนที่อ้างว่าเป็นโอตากุ) ผมว่าบ้านของคนนั้นคงอยู่ป่าเขาไม่ก็ไม่มีไฟฟ้าชัวร์

    สาเหตุที่โอตากุพวกบ้าการ์ตูนต้องรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือ มันเป็นการ์ตูนที่สร้างบรรทัดฐาน “ความน่ารัก” ความโมเอะในญี่ปุ่น ถ้าเปรียบกับการค้นพบของโลกแล้วละก็ การ์ตูนเรื่องนี้ถือว่าเป็นการ์ตูนจุดกำเนิดโมเอะเลยทีเดียว

    ลัคกี้สตาร์นั้นผมแทบไม่ต้องบอกรายละเอียดเลยว่าเป็นการ์ตูนอะไร เพราะในวีกีพีเดียนั้นได้กล่าวมาอย่างละเอียดยิบ  ดังนั้นผมจะเขียนให้เข้าใจง่ายๆ ละกันลักกี้สตาร์เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นสี่ช่องจบ ผลงานของโยชิมิสึ คางามิ(Yoshimizu Kagami) ลงต่อเนื่องในนิตยสารคาโดคาว่าโช คอมมิค จนกระทั้งเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ทำให้ได้ลงนิตยสารอื่นๆ และโด่งดังจนถูกทำเป็นอนิเมชั่น เกม นิยายไลน์โนเวล และสินค้ามากมายตามมา

               ในเนื้อหาการ์ตูนลักกี้สตาร์นั้นเป็นเรื่องราวชีวิตของสี่สาวนักเรียนชั้นมัธยมปลายของญี่ปุ่นที่มีลักษณะบุคลิกแตกต่างกันออกไป(ตอนหลังๆ ก็เริ่มเป็นเรื่องราวตัวละครอื่นๆ พาเหรดมาเพียบ แต่หลักๆ สี่สาวนี้ก็เด่นอยู่ดี) ในโรงเรียนญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่ถูกกำหนดว่าอยู่ในเมืองคาซึคาเบะ จังหวัดไซตามะ (เป็นบ้านเกิดชินจังด้วยน่ะ) โดยตัวละครหลักคือ อิซึมิ โคนาตะ นักเรียนหญิงที่สุดแสนจะเตี้ยแต่โครตน่ารัก ที่เป็นผู้เลิศทั้งในด้านกีฬาและค่อนข้างฉลาด(แม้ความฉลาดของเธอจะผิดประเภทก็เถอะ) แต่เธอกลับเป็นโอตากุตัวแม่ ที่ไม่เข้าชมรมสังกัดไหนเลย เพราะมันทำให้เธอเสียเวลาดูการ์ตูน และเล่นเกม(จีบหญิง +18) ที่เธอมักทำกิจกรรมเหล่านี้ที่บ้านของเธอ

                    เนื้อหาของการ์ตูนเริ่มต้นด้วยวันแรกที่เธอเข้าชั้นมัธยมปลาย และเธอก็เริ่มพูดคุยเรื่องเล่าเปื่อยตามประสาผู้หญิงกับกลุ่มเพื่อนๆ ที่ประกอบไปด้วย อิซึมิ โคนาตะ, ฮิอิรากิ คางามิ, ฮิอิรากิ สึคาสะ และ ทาคาระ มิยูกิ และเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินต่อไป(พวกเธอก็จะเปลี่ยนระดับชั้นไปด้วย) ตัวละครจะเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นไปเรื่องการพูดคุยและการใช้ชีวิตประจำวันรอบตัวของตัวละครนั้นๆ ไม่เน้นไปที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นหลัก ส่วนในอนิเมชั่นมีการเพิ่มมุกล้อเลียนการ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามา

                    
                   
    จุดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี้คือตัวละครในเรื่องน่ารักมากๆ

                    ผมติดใจคำว่า “น่ารัก” เหลือเกิน ญี่ปุ่นนั้นสามารถใช้คำว่า “น่ารัก” มาใช้ในสื่อต่างๆจนกลายเป็นอุตสาหกรรมโด่งดังไปทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นนั้นรู้จุดการดึงความน่ารักมาใช้อย่างประสิทธิภาพ

                    ความน่ารักนั้นเป็นแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และรูปแบบการวิเคราะห์พฤติกรรมทางจิตที่ปรากฏครั้งแรกโดย คอร์นราด โลเรนซ์ (Konrad Lorenz)นักสัตววิทยาชาวออสเตรีย โดยความน่ารักในสื่อได้ทั้งกายภาพและจิตใจ เช่นทางกายภาพทารกขนาดเล็กที่มีหัวใหญ่ ตาใหญ่ จมูกเล็ก ตัวอ่อนนุ่ม ส่วนทางจิตใจก็มีชอบเล่นสนุกสนาน โดยบุคลิกทั่วไปมักตอบสนองความน่ารักได้โดยทันทีที่เห็น

                    และหลักการความน่ารักกลายเป็นสิ่งที่ตลาดสินค้าญี่ปุ่นนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปของคนหรือสัตว์ในสินค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร ของเล่น และที่น่าสังเกตคือสินค้าเหล่านี้มักมีเหล่ามาสคอต(ตัวนำโชค หรือตัวละครของผลิตภัณฑ์นั้น)โผล่มาจุดเด่น เช่น โปเกมอน ฮัลโหลคริตตี้

                    ญี่ปุ่นนั้นรู้จักหลักการความน่ารักนี้เมื่อไม่นานเองครับ มันเริ่มขึ้นเมื่อปี 1970 ในรูปแบบการเขียนอักษรญี่ปุ่นนั่นเอง โดยมันมีที่มาจากสาววัยรุ่นหลายคนใช้ดินสอกดไส้เล็กเขียนตัวหนังสือด้านข่าง แต่ปรากฏว่าดินสอที่ว่าไม่เหมาะในการเขียนภาษาญี่ปุ่นที่แตกต่างกันในความหนาและแนวตั้ง ทำให้พวกผู้หญิงพวกนี้แก้ปัญหานี้โดยการใช้สัญลักษณ์แทนโดยการเพิ่มภาพเล็กลงในการเขียนด้วย เช่นรูปหัวใจ รูปดาว ใบหน้ายิ้ม และตัวอักษรแปลกๆ(กำเนิดอีโมครั้งแรกของโลกเลยน่ะนั้น) ซึ่งรูปแบบเหล่านี้ได้รับความนิยมมากจนลามไปถึงสุดจดงาน ข้อสอบ จนเป็นเหตุทำให้ถูกสั่งห้ามไม่ให้เขียนอักษรแบบนี้ในโรงเรียน ต่อมาในระหว่างปี 1980 ความน่ารักเริ่มมีบทบาทในนิตยสารและการ์ตูน โดยถูกนำมาใช้ในการบรรจุหีบห่อและการโฆษณา และแล้วความน่ารักก็เริ่มกลายเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและเอกลักษณ์ประจำชาตินับแต่นั้นเป็นต้นมา หากคุณไปญี่ปุ่น คุณจะพบความน่ารักทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ รัฐบาลแห่งชาติ หรือสำนักงานเมืองต่างความน่ารักทั้งสิ้น เช่น การแต่งตัวให้น่ารักด้วยแฟชั่นที่โลกนี้ไม่มีที่ไหนเหมือน(เช่น โลลิต้า) อุปกรณ์ห้องครัวยังมีความน่ารักเจือปน หรือแม้กระทั้งสถานีตำรวจหรือสถานีโทรทัศน์ยังมีมาสคอตน่ารักมาเป็นจุดเด่นหรือประชาสัมพันธ์ หรือแม้กระทั้งเครื่องบิน All Nippon Airways Boeing 747 ยังมีลวดลายเป็นโปเกมอน

                    มีคำหนึ่งที่อยู่คู่กับความน่ารักก็คือโมเอะ(Moe) อันหมายถึงความรักความชอบที่มีต่อตัวละครในมังงะ อนิเมชั่น หรือวิดีโอเกม นอกจากนี้ยังเป็นคำอุทานเมื่อเห็นตัวละคร(ที่ส่วนมากเป็นผู้หญิง)ว่า “น่ารัก” จังเว้ย โดยสาวๆ นั้นจะต้องอยู่ในสภานะที่เป็นที่ชื่นชอบ สาวแว่น ชุดว่ายน้ำ หูหมา ทำท่าทำทางน่ารัก

     ความน่ารัก ญี่ปุ่นรู้สึกจะแตกฉานมากกว่าใครเขาเพื่อน เพราะพวกเขาได้นำหลักการนี้สร้างตัวละครเด็กวัยกระเตาะ (มักเป็นผู้หญิง) ที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ ต้องพึ่งพาคนอื่น ทำให้ผู้ชมการ์ตูนอยากปกป้องดูแล จนถึงขั้นหลงรัก โดยการ์ตูนที่ใช้หลักการโมเอะได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ Lucky Star

                    อย่างที่บอกว่าการ์ตูน Lucky Star มีตัวละครหลายตัว หากแต่กระนั้นตัวละครที่คนส่วนมากรู้จักกันหลักๆ มีเพียง 4 ตัวละคร และสี่ตัวละครที่ว่านั้นได้กลายเป็นบรรทัดฐานโมเอะในเวลาต่อมา ว่าถ้าอยากโมเอะต้องออกแบบคาแร็คเตอร์แบบลัคกี้สตาร์น่ะ แม้แต่วิกีพีเดียยังชูฮกให้เลย คิดดูล่ะกัน

               

    อิซึมิ โคนาตะ (Izumi Konata) เด็กสาวตัวเตี้ย ผมยาว เก่งกีฬาทุกชนิดแต่เรื่องการเรียนนี้ค่อนข้างแย่เพราะค่อนข้างเบื่อง่ายชอบหลับในห้องเรียนเสมอ และเป็นโอตากุตัวแม่เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากพ่อ ชอบอยู่กับบ้านเล่นเกมออนไลน์ เกมจีบสาว หรือไปงานโดจินประจำ ด้านนิสัยเป็นคนอารมณ์ดี เข้าหาคนอื่นได้ง่าย ชอบพูดคุยเรื่องการ์ตูนและเรื่องไร้สาระกับเพื่อนร่วมชั้นเสมอ

    ทำไมเธอถึงโมเอะ? โอตากุหญิงที่น่ารักที่สุดในโลก 2D ด้วยดวงตาเหมือนง่วงนอน ไฝที่ตาซ้าย ปากแบบแมว ผมยาวและตัวเตี้ยบอบบาง(แต่ความจริงแล้วแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ) ทำให้เธอดูเหมือนลูกแมวตัวน้อยๆ ที่แสนอยากจะปกป้อง ถูกอกหัวใจชาวโอตากุเป็นอย่างยิ่ง ถ้าผมจำไม่ผิดในวันวาเลนไทน์หรือวันคริสต์มาส(รวมไปถึงงานวันเกิดตัวละครและตัวโอตากุเอง)พวกโอตากุมักเอารูปของเธอมาตั้งอยู่ตรงหน้าและฉลองกับเธออย่างเงียบๆ ตามลำพัง เสพโลก 2D ส่วนตัวอย่างสุขสมอารมณ์หมาย.......ส่วนในเว็บยูธูปนั้นโคนาตะถูกนำมาล้อเลียนอย่างสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็น

    เคยต่อสู้พระเจ้าฮารุฮิอย่างดุเดือด ด้วยท่าไม้ตายลำแสงโอตากุ(เกมบ้าอะไรว่ะ ตัวละครเยอะซิบ)

    http://www.youtube.com/watch?v=YMzNchzGLug

    และในอนิเมชั่นเธอยังแต่งกายเป็นฮารุฮิสร้างความน่ารักในใจของคนหลายๆ คน(สาเหตุก็ง่ายๆ เพราะคนพากษ์โคนาตะเป็นคนเดียวกับคนที่พากษ์ฮารุฮินั่นแหละ)

    http://www.youtube.com/watch?v=SJw7H4Uhe7o

    และทวงท่าที่หลายคนจดจำมาที่สุดคือท่า “สุโค่ย” ที่หลับตาเป็นรูป >w< และยกนิ้วโป้งทั้งสองข้าง

    http://www.youtube.com/watch?v=nTMXXd6bNfM

      

    คางามิ ฮิอิรากิ(Kagami Hiiragi)  พี่สาวฝาแฝดของคาสะ อยู่ห้องตรงข้ามกับโคนาตะ เป็นสาวเก่งในเรื่องการเรียน แต่ฝีมือการทำอาหารห่วยสนิท ในด้านนิสัยคือเป็นสาวซึนเดระเต็มขั้นที่ปากไม่ตรงกับใจ มักพูดขัดคอโคนาตะประจำ ทำให้เหมือนเป็นคู่ปรับโคนาตะหากแต่สิ่งหนึ่งที่เธอเหมือนกับโคนาตะ คือเธอชอบเล่น วิดีโอเกม เหมือนกัน แต่เล่นคนละประเภทกันกับโคนาตะ คากามิชอบเล่นเกมประเภทเดินยิงด้านข้าง และนอกจากนั้นยังชอบอ่านหนังสือพวกไลท์โนเวลและพยายามชักชวนคนอื่นๆมาอ่าน และเรื่องนี้ก็ทำให้เธอถูกโคนาตะโมเมว่าเป็นโอตาคุอยู่เนืองๆ

                    ทำไมเธอถึงโมเอะ? ด้วยทรงผมทวินเทล(แกะสองข้าง)ผูกริบบิ้น ดวงตาดุ และซึนเดระ กลายเป็นที่นิยมในหมู่โอตากุอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นบรรทัดฐานว่าด้วยสาวซึนเดระต้องไว้ผมทวินเทลมันจะถึงเข้ากัน อีกทั้งเธอยังเป็นหนึ่งในสาว 2 D สาวกโอตากุโหวตว่าอยากจะจัดงาน(คริสต์มาส วาเลนไทน์ งานวันเกิด) กับเธอมากที่สุด

               

    สึคาสะ ฮิอิรากิ (Tsukasa Hiiragi) สึคาสะเป็นน้องสาวฝาแฝดของคางามิ เธออยู่ห้องเรียนเดียวกันกับโคนาตะ การเรียนและกีฬาเธอแทบจะเรียกได้ว่าไม่เอาถ่าน แต่ถ้าเป็นเรื่องทำอาหารล่ะถือได้ว่าชำนาญเลยทีเดียว เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี แต่ค่อนข้างเป็นคนขี้อาย บ้านเป็นศาลเจ้า ทำให้เธอมักสวมชุดศาลเจ้า

    ทำให้เธอกับพี่มักสวมชุดมิโกะศาลเจ้าทำงานในช่วงที่มีเทศกาลสำคัญเสมอ

    ทำไมเธอถึงโมเอะ? สัจธรรมของคาแร็คเตอร์ที่ว่าตัวละครที่แปดคู่แฝดนิสัยต้องแตกต่างกันสุดขั้ว คนหนึ่งเข้มแข็ง อีกคนขี้อาย(หากแต่ลักกี้สตาร์ไม่ได้วางบรรทัดฐานอันนี้ แต่มันเริ่มดังจาก To Heart2) และรู้สึกว่าโอตากุจะชอบคาแร็คเตอร์ที่ดูขี้อายและขี้เกรงใจดั่งที่เห็นคาแร็คเตอร์แบบนี้ในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

              หลักฐานที่ลัคกี้สตาร์มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของญี่ปุ่น เนื่องจากศาลเจ้าที่ฝาแฝดอาศัยอยู่นั้นคือศาลเจ้าศาลเจ้าฮิอิรากิ ถูกกำหนดว่าเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง นั่นคือ ศาลเจ้าวาชิโนะมิยะ(Washinomiya Shrine) ศาลเจ้าชินโตที่เก่าแก่ที่สุดในแถบภูมิภาคคันโต ที่อยู่ในไซตามะ  เป็นศาลเจ้าที่ผ่านร้อนผ่านหนาวรุ่น ที่ของมีค่าเช่นพระพุทธรูปโบราณมากมาย ในช่วงปีใหม่ศาลเจ้าแห่งนี้มีคนมาขอพรรับปีใหม่กว่า 100,000 คนมากที่สุดในญี่ปุ่น หากแต่เมื่อลัคกี้สตาร์ดังก็ทำให้ศาลเจ้าแห่งนี้มีผู้มาเยี่ยมชมกว่าสามแสนและเพิ่มขึ้นทุกปี

              

              ศาลเจ้าแห่งนี้ได้กลายเป็นศาลเจ้าที่เป็นที่สักการะบูชาของชาวโอตาคุ จนกลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งใหม่ โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อฉากที่ฝาแฝดฮิอิรากิคนพี่และคนน้องแต่งชุดมิโกะออกมาทำงานในช่วงมีเทศกาลในศาลเจ้าและปรากฏในฉากเพลงต้นเรื่อง หลังจากนั้นเป็นต้นมาโอตากุน้อยใหญ่จะต้องมาสักการะบูชาสักครั้งในชีวิต มีการแต่งชุดคอสเพลย์ ป้ายคำอธิฐานก็วาดรูปตัวการ์ตูนต่างๆ มากมาย(และคำขอแต่ละอย่างค่อนข้างแปลก เช่น ขอให้โคนาตะเป็นภรรยาของฉัน”) นอกจากนี้ยังมีสินค้าลักกี้สตาร์มากมายมาวางขาย(สมัยก่อนเป็นสินค้าท้องถิ่น) ฯลฯ โดยจุดที่นิยมที่สุดคือด้านหน้าศาลเจ้าในมุมถนนหน้าร้านค้าคนที่มามักเต้นเลียนแบบท่าทางในการ์ตูนและถ่ายคลิปหรือรูปเก็บไว้เสมอ

              ตอนแรกคนของศาลเจ้าและคนท้องถิ่นกังกลเหมือนกันที่เหล่าโอตากุแห่ออกมาจำนานมากเกินไป หากแต่ในเวลาต่อมาคนในพื้นที่ก็ปรับตัวได้และใช้จุดนี้ในการหากำไรจากการเข้าชม มีการจัดไกด์ท่องเที่ยวโดยนักพากษ์เสียงฝาแฝดฮิอิรากิ(หรือคนเลียนเสียง)เป็นไกด์ด้วย

               

             ทาคาระ มิยูกิ (Takara Miyuki)สาวแว่นบ้านรวย ฉลาด ใจดี มนุษย์สัมพันธ์ดี เป็นหัวหน้าห้องและเพื่อนสนิทในกลุ่มโคนาตะ ที่มักถูกล้อเลียนว่าเป็นสาวแว่น เพราะสายตาของเธอก็สั้นกว่า 0.1 และมีนิสัยเปิ่นๆ เป๋อๆ เป็นบางครั้ง

              ทำไมเธอถึงโมเอะ? เธอเป็นถูกวางรากฐานกำหนดตายตัวของสาวแว่นอย่างแท้จริง แม้มีสาวแว่นก่อนหน้าเธอก็ตาม แต่ก็เทียบไม่ได้กับเธอคนนี้ เนื่องจากการแสดงออกของเธอเปิ่นโก๊ะอย่างแท้จริง จนกลายเป็นบรรทัดฐานว่าสาวแว่นจะต้องเปิ่นน่ารัก หน้าอกต้องใหญ่ และส่วนใหญ่ต้องเป็นหัวหน้าห้อง(ไม่ก็ประธานนักเรียน) เหมือนมิยูกิดังกล่าว

               สาวแว่นนั้นญี่ปุ่นเรียกว่า Meganekko(มาจากคำว่า Megane แว่น และ ko หญิงสาว) และที่น่าสนใจคือสาวแว่นนั้นไม่ค่อยเป็นนางเอกในการ์ตูนเรื่องอื่นๆ สักเท่าไหร่ แต่กระนั้นการ์ตูนทุกเรื่องจะต้องมีสาวแว่น  ซึ่งส่วนมากสาวแว่นจะต้องอยู่ในสถานะหนึ่งด้วยถึงจะโมเอะสำหรับโอตากุ เช่น Meido(แม่บ้าน) หรือ Seifuku(ชุดนักเรียน) และบ่อยครั้งที่สาวแว่นจะปรากฏในเด็กรับใช้

               พฤติกรรมส่วนมากของสาวแว่นก็คือหนอนหนังสือ หากแต่การ์ตูนแอ็คชั่นหลายเรื่องมักกำหนดนิสัยสาวแว่น ในฐานะเลขาเจ้าแห่งข้อมูล ผู้มีความลับที่ซุกซ่อนอยู่ และเธอต้องมีความเคารพต่อผู้มีอำนาจ        ปล. หนุ่มแว่นเรียกว่า Megane otoko หรือ Meganedanshi ส่วนคน(โอตากุ)ที่ชอบสาวแว่นเรียกว่าลัทธิสาวแว่น(Glasses fetishism)

                 

                ก่อนที่ลักกี้สตาร์จะโด่งดังนั้นตอนแรกมาในรูปแบบการ์ตูน 4 ก่อน โดยคนเขียนได้สัมภาษณ์เมื่อการ์ตูนนี้ดังว่าเขาไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะดัง ไม่ได้กำหนดอะไรเป็นพิเศษ เขาแค่เอาบุคลิกตัวละครที่คิดว่าเหมาะสมไปใส่โน้นใส่นี้เท่านั้น และเมื่อลักกี้สตาร์ออกวางขายมันก็ขายหมดอย่างรวดเร็ว ในเดือนเมษายน 2008 ห้าเล่มแรกของลักกี้สตาร์มียอดขายรวม 1.8 ล้านชุด

               ลักกี้สตาร์กลายเป็นปรากฏการณ์ที่โด่งดังในทันทีที่ญี่ปุ่น นักวิเคราะห์ต่างประเทศได้วิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ประสบผลสำเร็จนั้นมีความคล้ายคลึงกับโตเกียวอนิเมชั่น-สุซึมิยะ ฮารุฮิ(คือเนื้อเรื่องสบายๆ ตัวละครโมเอะ) แต่ต้องยอมรับว่าลักกี้สตาร์นั้นค่อนข้างแตกต่างจากฮารุฮิโดยสิ้นเชิง ปัจจัยคือความไม่ซ้ำซาก บวกกับคาแร็คเตอร์ของตัวละครนั้นดันถูกอกถูกใจกับรสนิยมของโอตากุ แม้มุกการ์ตูนส่วนใหญ่จะเข้าใจยาก ไม่ได้ระเบิดก๊ากขำกลิ้ง หรือบั่นทอนปัญญาชนิดติดดิน แต่ผู้สร้างฉลาดมากในการเอาใจบรรดาโอตากุ ด้วยการเซอร์วิต(Fan service) อย่างชาญฉลาด รู้ว่าจุดไหนควรเซอร์วิต ไม่ควรเซอร์วิต ส่วนในอนิเมชั่นนั้นมีวิเคราะห์ว่าการ์ตูนเน้นจุดศูนย์กลางผู้ดูที่โอตากุมากกว่าจะเน้นคนดูที่เป็นคนธรรมดา

                ปล. Fan service หมายถึง ฉากที่เอาใจแฟนๆการ์ตูนที่เป็นผู้ชาย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง โดยฉากที่ออกมากส่วนมากจะเป็นตัวละครตัวการ์ตูนที่เป็นผู้หญิงอยู่ในสถานะหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมถูกอกถูกใจหรือตื่นเต้น โดยสถานะของผู้หญิงสื่ออกมานั้นจะกระตุ้นทางเพศผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เช่นใส่ชุดว่ายน้ำแล้วกล้องซูมไปที่หน้าอกหญิงสาวกำลังเด้ง!! ฉากเปลือย ลมลามกพัดกกระโปรงผู้หญิง ฉาก อาบน้ำที่เป็นอาหารตา หากกระนั้นฉากที่ว่าไม่ลามกจนเกินขอบเขต โดยจะมีอะไรบางอย่างปกปิดของสงวนผู้หญิงเหล่านี้ไว้(เช่นไอน้ำ แสงศีลธรรม)

                

                    แม้ความดังการ์ตูนเรื่องนี้จะโด่งดังไปทั่วญี่ปุ่น แต่สำหรับไทยนั้นออกมาในแบบเงียบๆ เสียมากกว่า เนื้อจากเนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้เฉพาะกลุ่มจริงๆ

                    ครั้งแรกที่ผมรู้จักลัคกี้สตาร์นั้น ผมซื้อมังงะลิขสิทธิ์สยาม โดยไม่รู้ว่ามันเป็นการ์ตูนดังมาก่อน เมื่อเปิดดูครั้งแรกด้วยมุกแรกที่หลายคนรู้จักกัน คือ มุกอันไหนหางหรือหัว? เมื่อฉากโคนาตะกำลังรับประทานขนมปังสอดไส้รูปหอยปูเสฉวนเป็นอาหารกลางวันอยู่นั้น จู่ๆ เธอก็สงสัยอะไรบางอย่าง เธอหันไปถามสึคาสะเพื่อนของเธอว่า

    “ไอ้ช็อกโกแลตโคโรเน็ตเนี้ยเค้าทานส่วนไหนก่อน?

    สึคาสะไม่คาดคิดกับคำถามที่ดูไร้สาระอันนี้ แต่เธอก็พยายามที่จะตอบ เธอคิดชั่วครู่หนึ่งก่อนที่จะตอบว่า “ส่วนหัวล่ะมั้ง

    โคนาตะตอบเหรอ ก่อนที่จะถามกลับว่า “ส่วนไหนหัวล่ะ?

    จากนั้นมุก”อันไหนหางและหัว?” ก็กินเนื้อที่เป็น 2 หน้า และเหล่าสาวๆ ก็ถกเถียงด้วยหัวข้อว่าควรกินขนมปังแบบนี้ยังไงให้สะดวก ในอนิเมชั่นนี้บทสนทนาแบบนี้กินไป 1/3 ส่วนของตอน พร้อมกับความรู้สึกของคนดูอนิเมชั่นว่า “มันขำตรงไหน?” หรือไม่ก็ความรู้สึกว่า “ตรูทนกับบทสนทนานี้ได้ไงเนี้ย?

    ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าลักกี้สตาร์เป็นการ์ตูน 4 ช่องจบ รแบ่งช่องแบบนี้มักใช้มุกเบาๆ ที่มักจะทำให้เราหัวเราะ(หรืออมยิ้ม)กันในช่องสุดท้าย(เพราะความจริงปรากฏในช่องสุดท้ายนั้นเอง) ถ้าความยาวของการ์ตูนสี่ช่องไม่พอ มักจะมีช่องซ้ำ 1 หรือ 2 ช่อง อาจจะมีช่องซ้ำ 3 ถึง 5 ช่อง (หากเกินเหตุการณ์สุดวิสัยที่ช่วยไม่ได้จริงๆ) ก็จะกลายเป็น 8 ช่อง ซึ่งมีเนื้อเรื่องต่อกัน แต่ที่แปลกคือลัคกี้สตาร์นั้นมุกค่อนข้างเข้าใจยาก แม้ว่าความจริงจะปรากฏในช่องที่ 4 แล้วก็ตามก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันขำตรงไหน  เท่าที่ผมอ่านมังงะมาประมาณ 6 เล่ม ผมดูแล้วไม่มีมุกไหนเลยที่เกี่ยวกับการ์ตูนหรืออนิเมชั่นการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ที่เอามาล้อเลย

                    ผมสรุปได้ว่ามุกของลัคกี้สตาร์ค(มังงะ) ไม่ได้ขำระเบิดก๊าก ขำกลิ้งฮ่าตกเก้าอี้แบบแบ็คแฮมเพนเกิลเจ้าปัญหา หรือว่ามุกแป๊กแบบขายหัวเราะมหาสนุก หากแต่มุกนั้นเหมือนคุโรไมตี้เสียมากกว่า ลัคกี้สตาร์นั้นใช้มุกบั่นทอนปัญญาจับเรื่องราวชีวิตประจำวันหรือสิ่งแวดล้อมทั่วไปมาสนทนา รวมทั้งเสียดสีโอตากุอย่างสนุกสนาน แม้ว่าเรื่องสนทนานี้จะไร้สาระก็ตาม และแต่ละมุกนั้นผู้อ่านจะต้องเข้าใจในลักษณะนิสัยของตัวละครนั้นๆ ด้วย เช่นโคนาตะเป็นโอตากุที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเรียน เวลาคุยกับเพื่อนว่าเมื่อวานเธออ่านหนังสือเรียนทั้งคืนแต่เพื่อนกลับไม่เชื่อในเรื่องที่เธอพูดเลยสักนิด การ์ตูนไม่ได้อธิบายว่ามุกนี้ขำตรงไหนหรือสาเหตุพฤติกรรมของบางตัวละคร ดังนั้นหน้าที่ในการตีความจริงเป็นหน้าที่ของคนดู (ดังนั้นจริงไม่ต้องแปลกใจที่มักมีการแนะนำตัวละครในการ์ตูนแทรกทุกเล่มด้วย)

                    

                    ลัคกี้สตาร์เล่มแรกผมอ่านเข้าใจหมดทุกมุก แต่หลังจากเล่มอื่นเป็นต้นมาผมก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่า “มุกที่ต้องการสื่ออยู่ตรงไหน?” และมีหลายมุกที่ผมต้องขมวดคิ้วหาว่ามุกมันอยู่ตรงไหน(เฉพาะในมังงะ) แต่กระนั้นแม้จะไม่เข้าใจมุกก็ไม่ได้ส่งผลต่อเนื้อเรื่องโดยรวมแต่อย่างใด

                    ในอนิเมชั่นของลักกี้สตาร์คมีส่วนผสมคล้ายกับการ์ตูนเรื่อง Seitokai no Ichizon บวกกับ Azumanga Daioh ที่สนทนาระหว่างกลุ่มของตัวละครและแต่ละฉากก็สอดแทรกมุกการ์ตูนดัง(ของญี่ปุ่น)ต่างๆ ใครไม่เข้าใจมุกก็ช่างหัวมันเพราะจุดประสงค์คือให้คอโอตากุถกเถียงหรือสนทนาว่ามุกนั้นมาจากเรื่องนี้น่ะ อื่มใช้ได้เข้ากันดีนะเนี้ยเป็นต้น ดังนั้นแน่นอนเลยว่าลัคกี้สตาร์อนิเมชั่นเป็นการ์ตูนมุกที่ค่อนข้างเข้าใจยากแน่นอน  

    สำหรับรายละเอียดของอนิเมชั่นนั้นมีคนเขียนแบบละเอียดยิบไว้แล้วว่ามุกไหนเป็นมุกไหนบ้าง ซึ่งสามารถดูได้ที่

    http://iitaihaudai.exteen.com/20070522/lucky-9734-star-1

    ในด้านภาพการนำเสนอของอนิเมชั่นนั้นแสดงให้เห็นเลยว่าการ์ตูนเรื่องนี้ใช้ความน่ารักมาใช้อย่างชาญฉลาด คนพากษ์เสียตัวละครได้ให้เสียงตัวละครแต่ละตัวน่ารักมาก ข้อดีของการ์ตูนเรื่องนี้คือไม่จำเป็นต้องใช้เอ็ฟเฟคสุดอลังการดาวล้านดวง เพราะว่าไม่มีฉากต่อสู้ หรือฉากดาวถล่ม เพียงเน้นนำเสนอภาพตัวละครที่ทำท่าทางน่ารักขนาดใหญ่เต็มเจอ แค่นี้ก็ถูกอกถูกใจโอตากุที่ดูแล้ว

    ในด้านการวิจารณ์ต่างประเทศนั้นส่วนใหญ่เป็นไปในทางไม่ดี(ให้คะแนน 5 เต็ม 10)สักเท่าไหร่นัก แต่เขาวิเคราะห์ไว้ว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้ดำเนินชีวิตเหมือนชีวิตเด็กมัธยมปลายทั่วไป มีการเปลี่ยนห้อง ไม่ได้มีช่วงเวลาหยุดอยู่กับที่เหมือนโดเรมอนหรือโคนัน  แต่กระนั้นที่น่าเบื่ออยู่เหมือนกัน็มีหลายช่วงทน

      

                    ความสนุกสนานของลัคกี้สตาร์ คือการได้เห็นการดำเนินชีวิตของกลุ่มนักเรียนหญิง(โดยไม่มีตัวละครนักเรียนชายมาเจือปน)ในโรงเรียนชั้นมัธยมปลายของญี่ปุ่นซึ่งถ้าผมจำไม่ผิด การ์ตูนลัคกี้สตาร์เป็นการ์ตูนแรกเลยที่มีการดำเนินเรื่องแบบนี้ คือการ์ตูน 4 ช่องที่เน้นตัวละครหญิงดำเนินเรื่อง ส่งผลให้อนาคตมีการ์ตูนหลายเรื่องใช้แนวนี้ออกมามากมาย อย่าง K-on, Azumanga Daioh, Hidamari Sukecchi  เป็นต้น

    พูดง่ายๆ การ์ตูนเรื่องนี้โอตากุไม่ได้ซื้อเพราะว่ามันมีมุกตลกแปลกใหม่ หากแต่ซื้อเพราะความอัจฉริยะของคนเขียนที่สามารถนำวัฒนธรรมน่ารักของญี่ปุ่นมาใช้อย่างชาญฉลาด สร้างตัวละครที่กลายเป็นขวัญใจของผู้ดูได้ ตัวละครมีความสมดุล แม้ว่าช่วงหลังๆ จะมีตัวละครผู้หญิงหลายตัวเพิ่มขึ้นมาและอาจทำให้ผู้ดูที่ชอบตัวละครสี่สาวหงุดหงิดไปบ้าง(โดยเฉพาะผม)  ผมเชื่อว่าหลายคนแทบไม่สนใจมุกการ์ตูน หากแต่เพียงแค่เห็นตัวละครสาวๆ ก็พอใจแล้ว โดยเฉพาะโคนาตะที่ไม่แปลกใจเลยว่าเธอคือหนึ่งตัวละครสุดฮิตที่ใครๆ ต่างหมายปองไม่แพ้สุซึมิยะ ฮารุฮิ  และสาวๆ ในเรื่องนั้นต่างน่ารัก น่าจดจำ ทุกคน

    จุดเด่นของอนิเมชั่นเรื่องนี้คงจะเห็นไม่เกินดนตรีเพลงประกอบที่ฟังแล้วติดหู เพลงบางเพลงล้อเลียนการ์ตูนดังหลายเรื่อง เช่นเพลง "Hare Hare Yukai" หรือ "Dadadadada" ที่โคนาตะล้อเลียนอย่างน่าเอ็นดู จึงไม่แปลกอะไรที่ยูธูปหรือเว็บไซด์ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตนำมาเล่นจนไม่รู้เบื่อ แต่ปัญหาคือมันมีฉากที่เหมาะสมหรือที่สอดแทรกเพลงประกอบเหล่านั้น ในเว็บต่างประเทศนั้นให้คะแนนผ่านหากแต่คะแนนที่ได้ขี้เหล่นิดหน่อย โดยเขายกสถานการณ์อย่างเพลง "Hare Hare Yukai" ที่นาตะล้อเลียนฮารุฮิ หากแต่เพลงดังกล่าวเป็นช่วงสั้นๆ ถือว่าจัดการฉากไม่ดีนัก

    หลายคนอาจจะไม่ชอบแนวนี้ อาจไม่ประทับใจเมื่ออ่านครั้งแรก หรือคนที่ไม่ชอบฟังพวกผู้หญิงสนทนากันยิ่งไม่ชอบใหญ่ บางคนถึงกับตั้งแง่ว่าการ์ตูนเรื่องนี้น่าเบื่อที่สุดเท่าที่คุณดูมา ในขณะที่บางกลุ่มกับหัวเราะท้องแข็ง บางคนเอามาเป็นมุกในการ์ตูนเป็นบทสนทนาเพื่อนฝูง(อันไหนหัวอันไหนหาง) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน คุณจะต้องรู้จุดประสงค์ของการ์ตูนเรื่องนี้ว่าเขาทำเพื่อเฉพาะกลุ่มจริงๆ(อย่าไปสนใจเรตหนังสือว่า เหมาะแก่บุคคลทั่วไป) คุณจำเป็นต้องเป็นโอตากุและต้องรู้มุกการ์ตูนหลายเรื่องก่อนจะดูการ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องนี้ อีกทั้งการดำเนินเรื่องนั้นจบในตอน ไม่สามารถทำให้ผู้ดูเกิดอาการเสพติดว่าตอนต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นได้

    โดยรวมแล้วลัคกี้สตาร์นั้นอาจไม่ใช้การ์ตูนที่ดีในใจของใครหลายๆ คน แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ได้วางบรรทัดฐานอะไรหลายอย่างแก่การ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งวัฒนธรรม การสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การพัฒนาลายเส้น ทำให้ตัวละครในการ์ตูนญี่ปุ่นโมเอะน่ารักจนถึงทุกวันนี้

     + +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×