ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #326 : Kami-sama no Iutoori II เกมพระเจ้าสั่งตาย ภาค 2

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 7.68K
      1
      2 ก.พ. 58

    ครั้งหนึ่งผมเคยพูดถึง Kami-sama no Iutoori II หรือ เกมพระเจ้าสั่งตาย  เป็นการ์ตูนแนวเซอร์ไววัสเกมแห่งความตาย การ์ตูนที่มีธีมเนื้อเรื่องง่ายๆ คือเหล่าผู้เล่นต้องเล่นเกมเดิมพันชีวิต หากชนะได้ไปต่อ (ไปเกมที่ยากกว่า) แต่หากแพ้ก็หมายถึงตาย

    จุดเด่นของการ์ตูนแนวเกมแห่งความตายเรื่องนี้คือ คนอ่านคาดเดาอะไรไม่ได้ แม้ว่ายังคงเป็นแนวเกมแห่งความตายทีเกมก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรนัก แต่ด้วยมุกที่สดใหม่  ฉากตายของตัวละครแบบรั่วๆ ยิ่งตอนแรกเต็มไปด้วยความโหด มัน ฮ่า  เดาทางไม่ได้ มันสนุกจนได้ลุ้นว่า ใครจะรอด (แน่นอนว่าพระเอกรอดแน่นอนอยู่แล้ว แต่เหล่าตัวประกอบ ตัวที่เราอวยอกเหนือจากพระเอกต่างหากว่าจะรอดหรือเปล่า) รวมไปถึงเกมใหม่ถัดไป มันจะเป็นเกมอะไร ทำให้น่าติดตามมากขึ้น

                 ริวิวเรื่องนี้ได้ที่ http://writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=125456&chapter=166

    แต่…….หลังจากที่อวยมาระยะหนึ่ง จู่ๆ  เกมพระเจ้าสั่งตายก็จบแบบไม่ทันตั้งตัว และไม่ใช่ตอนจบที่ดีมากนัก ค่อนไปทางเลวร้ายด้วยซ้ำ เพราะเป็นการจบเหมือนตัดจบ จบเต็มไปด้วยคำถาม จบแบบปาหมอน แถมฉากจบคือฉากพระเอกถูกเกมลงโทษโดยไม่รู้ว่าพระเอกจะรอดชีวิตหรือไม่

                แน่นอนว่ามันเต็มไปด้วยคำถาม เกิดอะไรขึ้น? พระเอกจะรอดหรือไม่ และจุดสิ้นสุดของเกมแห่งความตายนี้เป็นยังไง ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้คงเป็นปริศนาที่ยังไม่มีคำตอบ

                อย่างไรก็ตาม หลังจบภาคแรกแบบ งง ภาคสองก็ตามมาในเวลาไม่นานนัก  หากแต่สิ่งท่หลายคนคาดหวังกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเอาไว้....

     

     

    Kami-sama no Iutoori II

     

    Kami-sama no Iutoori II เป็นการ์ตูนแนวเซอร์ไววัสเกมแห่งความตาย ภาคต่อของ Kami-sama no Iutoori  ลิขสิทธิ์โดยวิบูลย์กิจ โดยภาคสองเรียกเกมเทวดา โครงการ 2

                แม้จะเรียกภาคสอง แต่เนื้อเรื่องไม่ใช่ต่อจากภาคแรก   เพราะเนื้อหาภาคสองยังอยู่ช่วงเวลาเดียวกับภาคแรก เริ่มในตอนเช้าวันเดียวกับตอนเช้าของภาค 1 แต่จะโฟกัสดำเนินเรื่องในมุมมองพระเอกคนใหม่ คือนาย อาคาชิ อุชิมิสึ และพรรคพวกใหม่ที่ไม่ได้ไปโรงเรียนของเช้าจุดเริ่มต้นของภาค 1

    เชื่อว่าหลายคนที่อ่านภาคแรกคงแอบหงุดหงิดใจแน่นอน เพราะแทนที่จะทราบคำตอบสักทีว่าพระเอกภาคแรกรอดหรือไม่รอด กลายต้องมารออีกว่าเมื่อไหร่เนื้อเรื่องภาคสองจะเชื่อมต่อภาคแรก (แม้จะมีพวกพระเอกภาคแรกโผล่มานิดๆ หน่อยๆ ก็เถอะ)

    เดี๋ยวนี้มุกการ์ตูนภาคต่อก็มามุกแบบนี้แหละครับ จบแบบ งง แล้วมาต่อภาคสอง (ในเวลาไม่นาน)  แล้วภาคสองก็ดำเนินเรื่องพระเอกอีกคน ส่วนจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับภาคแรก หรือหลายปีต่อมาก็ว่ากันไป

    โดยภาคแรก Kami-sama no Iutoori เป็นเรื่องของทาคาฮาตะ ชุน ซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมปลายธรรมดาที่เบื่อชีวิตในแต่ละวันของตนเอง แต่เช้าวันหนึ่งก็มีตุ๊กตาล้มลุกโผล่มาฆ่าทุกคนในชั้นเรียน ทำให้ชีวิตธรรมดาของชุนต้องเปลี่ยนไป และต่อมาเขาก็ได้พบกับเพื่อนๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และต้องเสี่ยงตายเล่นเกมเพื่อเอาชีวิตรอดไปด้วยกัน ซึ่งซุนก็เป็นพระเอกตามฉบับเกมแห่งความตายทั่วๆ ไป คือเป็นคนดี ชอบช่วยเหลือเพื่อน เห็นใครเดือดร้อนหากช่วยได้ก็ช่วย และมักทำเรื่องเสี่ยงๆ เพื่อชนะเกม ฯลฯ   

    สำหรับภาคสองนี้ก็ยังคงเป็นพระเอกที่มีลักษณะนิสัยเหมือนภาคแรก เพียงแต่คราวนี้แตกต่างกันตรงนี้มีการเพิ่มปม เอาไว้ด้วย โดยพระเอก อาคาชิ อุชิมิสึ เด็กมัธยมปลายที่ทิ้งความฝันการเป็นนักฟุตบอล  ทำให้เพื่อนสมัยเด็กของเขาชื่อ อาโอยามะ ไม่พอใจที่อาคาชิทิ้งความฝันที่พวกเขาอุตส่าห์สร้างร่วมกันขึ้นมาอย่างง่ายดาย ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมาทาคาชิก็เลยโดดเรียน (งอน) โดยหารู้ไม่ว่านั้นเป็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนชีวิตของอาคาชิไปตลอดกาล เพราะหลังจากที่ทาคาชิโดดเรียนไม่ถึงนาทีเกมแห่งความตายจากภาคแรกก็เริ่มต้นขึ้น

     

     

    อาคาชิพระเอกภาคสอง

     

    หลังจากที่ทาคาชิโดดเรียนแล้วกลับบ้าน เขาก็พบข่าวว่าที่โรงเรียนของเขาได้เกิดคดีฆาตกรรมสังหารหมู่เกิดขึ้น เด็กทั้งโรงเรียนเกือบทั้งหมดเกือบฆ่าตาย และคนที่รอดมาได้มีเพียง 3 คนเท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คืออาโอยามะ

    อาคาชิได้ยินข่าวนี้แทบช็อก เขาอยากพบกับอาโอยามะอีกครั้ง เพื่อปรับความเข้าใจ และกลายเป็นเพื่อนอีกครั้ง และค่ำคืนวันนั้นจู่ๆ ก็มีรูปปั้นพูดได้ ขยับได้ มาที่บ้านของอาคาชิ โดยบอกให้เขาไปกับมันเพื่อไปเล่นเกมแห่งความตาย

    อาคาชิเชื่อว่าเขาจะได้พบอาโอยามะอีกครั้ง เขาจึงตกลงไปกับรูปปั้นประหลาดนั้น หากแต่ก็พบ่าเขาไปคนละที่กับอาโอยามะอยู่  รูปปั้นได้พาเขาเข้าไปในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่กมโหฬารกลางท้องฟ้าที่ถูกเรียกว่า "ถังขยะ" ที่ข้างในนั้นมีโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียน (แม้บางคนมองไม่ออกว่าเป็นเด็กนักเรียนก็ตาม)  และที่โรงเรียนแห่งนั้นมีเด็กชายลึกลับคนหนึ่งที่ได้บอกกับเด็กทุกคนว่า พวกเขาคือเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียน (เด็กเก็บตัว, เด็กออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานบ้าน, เด็กเกเร, เด็กโดดเรียน ฯลฯ) และพวกเขาต้องเล่นเกมแห่งความตายของเขา เพื่อคัดเลือกเป็นเด็กของพระเจ้า (โครงการ 2) ไปเล่นเกมสู้กับเด็กของพระเข้า (ภาคแรก) ต่อไป และนี่คือเกมแห่งความตายที่อาคาชิต้องเล่น!

      


    มุกนี้ไม่ตกใจแล้วละ
     

    ในช่วงแรกๆ ของ Kami-sama no Iutoori   ถือ  ว่าเป็นการ์ตูนที่มีเสียงตอบรับดีพอสมควรจากคนอ่าน ทั้งๆ ที่ไม่นึกฝันเหมือนกันว่ามันจะตอบรับดีถึงเพียงนี้ และตามสูตรหากการ์ตูนตอบรับดีเนื้อหาการ์ตูนก็ต้องยาวไปด้วย  แต่ปัญหาก็คือในการดำเนินเรื่องของภาคหนึ่งนั้นมันไม่เหมาะสำหรับการยืดเรื่อง ไม่เหมาะเป็นการ์ตูนยาว ประกอบกับคนเขียนหมดมุก (?) ผลก็คือตัดจบภาคแรก แล้วทำภาคสองใหม่เพื่อให้เนื้อเรื่องยืดให้กลายเป็นการ์ตูนยาวๆ ซึ่งถือว่าเป็นสูตรที่พบเห็นในการ์ตูนญี่ปุ่นในเวลานี้

    มุกภาคต่อที่เราเห็นบ่อยๆ

    -ภาคต่อ ต่อจากภาคแรกห่างกันไม่กี่ปี ดังๆ ก็ To Love Ru

    -ภาคต่อ ต่อจากภาคแรกห่างกันหลายปี แต่พระเอกคนเดิม

    -ภาคต่อ ต่อจากภาคแรกห่างกันหลายปี แต่พระเอกคนละคน ส่วนใหญ่เป็นทายาทพระเอกจากภาคแรก ในการ์ตูนญี่ปุ่นมุกนี้พบเห็นบ่อยครั้ง จำพวกการ์ตูนดังอดีตมีภาคต่อ เช่น โรงเรียนลูกผู้ชาย เป็นต้น

    -ภาคต่อ แต่ไม่ได้ต่อจากภาคแรก แต่เป็นการย้อนอดีต ก่อนจะถึงภาคแรก (ดังๆ ก็สตาร์วอร์)

    -ภาคต่อ แต่อยู่ช่วงเวลาเดียวกับภาคแรก และโฟกัสไปที่พระเอกอีกคน

                เรามักได้ยินบ่อยๆ เรื่องภาคต่อ บ้างก็บอกว่า สนุกขึ้น, มันขึ้น, ตัวละครเยอะขึ้น, ตัวละครใหม่ แต่เชื่อเถอะครับว่า ภาคต่อมันเป็นดาบสองคม มันมีทั้งดีและไม่ดี ด้านดีคือมันมันช่วยขยายความ ขยายโลกให้กว้างใหญ่ขึ้น สนุกขึ้น ได้อารมณ์ความรู้สึกเพื่อนเก่ากลับมาอีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็มีอารมณ์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิมเข้ามาด้วย

    แต่อย่างไรก็ตาม ภาคต่อใช่ไม่ดีเสมอไป  มันก็เหมือนดาบสองคม คือถ้าดีก็ดีไปเลย แต่ถ้าไม่ดี มันจะกลายเป็นสิ่งที่เลวร้าย จนหลายคนรับไม่ได้  อย่างภาพยนตร์ภาคต่อเจ๊งมานักต่อนักแล้ว  ในวงการการ์ตูนดังๆ เองก็ก็กรณีอย่าง ซิตี้ฮันเตอร์ที่กลับมาภาคต่อที่สร้างความรับไม่ได้กับผู้คนไปทั่ว คินนิคุแมน แม้ว่ะเป็นการ์ตูนดังแต่ภาคสองแป๊กสนุกเพราะกระแสการ์ตูนมันชาไปนานแล้ว

                ภาคต่อเกิดขึ้นมาจากความประสบความสำเร็จจะภาคแรก แน่นอนโจทย์ของมันที่ต้องแบกรับก็คือ จะทำอย่างไรให้ภาคสองดีกว่าภาคแรก ซึ่งหากภาคสองตีโจทย์ไม่แตกสิ่งที่ตามมาคือกระแสด้านลบของเหล่าแฟนๆ แถมไปทำลายความดีที่สะสมของภาคแรกอีกต่างหาก

    แล้วกรณี Kami-sama no Iutoori ภาค 2 ละเป็นยังไง? ดีกว่าภาคแรกหรือเปล่า?  ผมก็ตอบแบบปะปนกันครับ คือมีส่วนที่ชอบ และไม่ชอบ แต่โดยภาพรวมแล้วยังน่าติดตามอยู่ครับ อย่างน้อยก็ตอนที่ผมเขียนบทความนี้นะ

    ก็อย่างที่บอก Kami-sama no Iutoori ภาค 2 เกิดมาจากภาคแรกประสบความสำเร็จแบบเซอร์ไพร์ และต้องการขยายจักรวาลให้กว้างๆ แต่ปัญหาคือภาคแรกมันหมดโอกาสที่จะยืด (ถ้าให้เดาคนแต่งเองก็คงไม่คิดว่าจะมีภาคต่อ และจะจบไม่กี่เล่มด้วย) หมดโอกาสสร้างมุกใหม่ๆ ผลคือคนเขียนตัดจบ (หรือง่ายๆ อยากจะยืดเรื่องให้มันยาวขึ้น)  แล้วมาต่อภาค 2 ให้มันยาวๆ ไปซะเลย เชื่อเถอะครับว่าจุดประสงค์ไม่ใช่อธิบายปริศนาที่หลายคนคาใจจากภาคแรกหรอก  ดีไม่ดีบทเฉลยออกมาคงไม่ถูกใจหลายคนด้วยซ้ำ

    สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ภาคสองคือ  ภาคสองความสดใหม่ของเนื้อเรื่องอาจไม่เท่าภาคแรก เพราะคนอ่านเขาต่างจับทางได้หมดแล้ว อย่างภาคแรกของเรื่องนี้คือ การเปิดตัวแบบโหดเลือดสาดไม่รู้ตัว ความ งง ของเนื้อหาจะไปทิศทางใด ตัวละครที่นึกว่าจะเป็นตัวเอกแต่ออกไม่กี่บทก็ตายอย่างรวดเร็วแบบไม่ตั้งตัว และตัวละครที่หลายคนอวยคิดว่าจะเป็นนางเอกก็ตายแบบช็อกคนดู

    แน่นอนว่าตัวคนแต่งเองก็เข้าใจข้อนี้ดี มันเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเซอร์ไพร์เช่นเดียวกับภาคแรก เพราะคนอ่านเขารู้มุกทันแล้ว ว่าคนแต่งมาแนวนี้แน่นอน แถมภาคสองนี้มีความยาว (จำนวนตอน-รวมเล่ม) มากกว่าภาคแรกอีก (ภาคแรก 4 เล่มจบ)  ดังนั้นสิ่งที่คนเขียนก็คือการวางบท การสร้างตัวละครให้มีมิติเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งภาคแรกไม่ได้เน้นเรื่องพวกนี้สักเท่าไหร่

    ดังนั้นผมจึงมองว่า ภาคสองนั้นจะเน้นไปที่บทละคร ความสัมพันธ์ตัวละครมากกว่า การดำเนินเรื่องครับ ซึ่ง ภาคแรกเน้นเรื่องแปลกใจ-ประหลาดใจให้คนอ่านเซ็งจิตมากกว่า และบทตัวละครค่อนข้างแบนไปนิด  

    ตัวละครภาค 2 ยังให้อารมณ์เดิมๆ จากภาคแรกครับ เรียกว่าถอดด้ามกันมาเลย อย่างพระเอก อาคาชิก็ถอดมาจาก ซุนพระเอกภาคแรก ที่มีนิสัยรักเพื่อน เสียสละ ต้องการให้ทุกคนรอดตามสไตล์พระเอก ส่วนรองพระเอกภาคสองกมี ็มี็มี อุชิมิสึ คิโยชิโร่ ที่เหมือน อามายะ ทาเครุ จากภาคแรก ที่ดูเป็นตัวอันตราย แต่เก่งกาจ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยภาคสองมีเนื้อเรื่องยืดขึ้น ทำให้บทตัวละครเยอะขึ้นด้วย  ทำให้ อาคาชิ และ คิโยชิโร่ดูแล้วผูกพันขึ้น พระเอกภาคสองพบกับเรื่องเศร้าโศกเสียใจมากขึ้น ขณะที่คิโยชิโร่เองก็ก็ไม่ได้เป็นวายร้ายแบบแบนๆ  เพราะช่วงหลังๆ เห็นชัดเจนว่าเขารักเพื่อน ยอมตายแทนเพื่อนเลยก็มี

     ท่ามกลางฉากตัวละครตายแบบใบไม้ร่วง ตายดี ตายสบาย ตายอนาถ เชื่อเถอะครับ มันคือสไตล์ของการ์ตูนเรื่องนี้ ภาคแรกตัวละครตายรั่วๆ ภาคสองก็ตายยิ่งกว่า แม้ตอนแรกๆ เหมือนตัวละครตายไม่เท่าไหร่ แต่ตอนหลังนี้ตายรัวๆ เหมือนภาคแรก และเหมือนเดิม ตัวละครเหมือนจะมีตัวละครหลัก มีการระลึกชาติ อุตส่าห์มีบทซึ้งๆ แต่สุดท้ายก็ตายอนาถอยู่ดี

     

     

    ทาคาฮาชิ เพื่อนสมัยเด็กพระเอก แต่ดูเหมือนไม่ชอบพระเอก เลยตายอนาถ

    (ตามสูตรเกมแห่งความตาย ผู้หญิงคนไหนไม่ชอบพระเอกตายแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์)

     

    อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางตัวละครตายรัวๆ เหล่านี้ ก็ยังมีหลายตัวละครที่ผมดูแล้วรู้สึกผูกพันอยู่บ้าง โดยเฉพาะเหล่าฮาเร็มพระเอกนี้แหละ ภาคแรกไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ภาคสองนี้ฮาเร็มชัดๆ แม้ว่าจะเป็นฮาเร็มชิบหายวายวอด คนชอบพระเอกไม่ตายดีก็เถอะ แต่อย่างน้อยก็ยังทำให้ผมฟินบ้าง

    คนแรก ทาคาฮาชิ เพื่อนสมัยเด็กพระเอก ที่ดูไม่ออกตกลงชอบพระเอกหรือเปล่า แต่ดูแล้วคงไม่ชอบพระเอกเธอเลยตายอนาถแบบบทน้อยทันทีทันใด

     

     

    โมจิดะ รุย เด็กสาวเก็บตัวที่พึ่งรู้จักพระเอกและเริ่มชอบพระเอก แต่ตายอย่างอนาถกลางคัน

     

     

    คนที่สอง โมจิดะ รุย เด็กสาวที่เก็บตัว ที่อุตส่าห์วางบทราวกับนางเอกที่จะรอดด้วยกันกับพระเอก แต่คนอ่านโครตช็อก (หรือเปล่า?) เพราะเธอดันมาตายกลางคัน ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนต่างชอบพอกันแท้ๆ

     

     

    นัทสึคาว่า เมงุ โผล่อย่างกับตัวประกอบแต่ตอนหลังกลายเป็นตัวละครหลักซะงั้น

     

    คนที่สาม นัทสึคาว่า เมงุ เด็กสาวมาดคุณหนูที่เหมือนเป็นเด็กมีปัญหา โผล่ออกมาด้วยคาแร็คเตอร์บ้านๆ หากแต่หลังรุยถูกฆ่า เธอก็ได้กลายเป็นนางเอก (?) เต็มตัว  ส่วนตัวแล้วผมชอบเธอนะ แบบตอนแรกๆ แข็งๆ บทเหมือนจะตายเหมือนตัวละครอื่น  ไม่มีวี่แววเป็นตัวละครหลักแม้แต่น้อย แต่สุดท้ายเธอก็เป็น

     

    ตัวประกอบ

     

    คนที่สี่ โฮชิคาว่า เมย์  คนนี้โครตน่าสงสาร เพราะชอบพระเอกตั้งแต่ตอนแรกเลย แต่บทบาทของเธอเป็นได้แค่นางรอง  แถมตายอนาถแบบน่าเศร้าอีกต่างหาก เป็นอีกคนที่ตายแล้วพระเอกปวดใจ

     

    ถ้าถามในฐานะคนชอบฮาเร็ม ผมรับได้ไหม ผมก็ตอบว่ารับได้ครับ เพราะมันแนวเกมแห่งความตายอยู่แล้ว มันต้องมีอะไรให้เห็นบ้าง (ถ้าคนที่ชอบพระเอกรอดหมด คงจะแปลกละ และยกเป็นเทพแห่งฮาเร็มไปเลยดีกว่า) และอย่างน้อยพวกเธอก็ไม่ซ้ำรัก เพราะตอนท้ายพระเอกก็บอกว่าชอบพวกเธอนะ และไม่รู้ว่าตอนที่เขียนบทความจะมีสาวคนไหนชอบมาชอบพระเอกอีกบ้าง

                สำหรับตัวเกมแห่งความตาย ที่เป็นจุดแข็ง Kami-sama no Iutoori แม้จะไม่ใช่เกมที่แปลกใหม่อะไรมากนัก แต่มีจุดเด่นคือ มันเป็นเกมที่โครตยาก หากสมมุติว่าเราอยู่ในเหตุการณ์ในการ์ตูน และต้องมาเล่นเกมแบบนี้ เป็นเราคงทำไม่ได้ ตายแน่นอน ซึ่งภาคสองความรู้สึกแบบนี้ก็กลับมาอีกครั้ง เพียงแต่ในความรู้สึกของผมไม่ค่อยโหดเท่าภาคแรก แม้ตัวเกมเหมือนจะเน้น บุ๋น, บู๊, ดวง แต่ส่วนใหญ่เน้นบู๊มากกว่า (ยกเว้นเกมหยิบทรายที่เป็นแนวสมาธิ บุ๋น)  บางเกมยืดหลายเล่มมาก (โดยเฉพาะเกมปราบผีในโรงเรียน ออกไปทางบู๊มากกว่า ยิ่งช่วงหลังๆ กลายเป็นแนวพลังพิเศษปราบศัตรูซะงั้น)   และทุกเกมล้วนสอนให้เรารู้จักความสามัคคีในกลุ่ม    เพราะอย่างน้อยเราก็สามารถเอาชนะได้ หากรู้จักร่วมมือกับคนในกลุ่ม

    สรุป ภาพรวมแล้ว Kami-sama no Iutoori II มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน ดีคือ บทตัวละครเยอะขึ้น มีมิติมากขึ้น มีการพัฒนาการตัวละคร และที่ดีคือตัวละครผู้หญิงที่มีบทบาทมากขึ้น พร้อมกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน ที่ลุ้นว่าตัวละครที่เราชอบจะตายหรือไม่ (แม้จะเป็นลางแล้วว่าตายชัวร์ก็ตาม) ส่วนด้านไม่ดีคือมีบางส่วนที่ยืดมากเกินไป (แต่เข้าใจเพื่อปูตัวละคร และการสูญเสียตัวละครหลักด้วย) และไม่ได้พูดถึงรอยต่อ ขยายความ สิ่งที่ขาดหายจากภาคแรกมากนัก (กว่าจะพูดถึงก็ปาไปช่วงหลังๆ โน้นแหละ) จนผมมองว่าภาคสองเป็นเพียงต้องการให้เนื้อหามันยืดยาวเท่านั้น

     

    หากถามตามความรู้สึกผมแล้วผมยังชอบมังงะภาคแรกมากกว่านะ

     

     

     

     

     

     

     

     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×