6 โมงเช้า 24 มกราคม 2543 รถบัสสาย 18 จากบ้านห้วยสุด อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองขณะผ่านบ้านหวายน้อย ต.สวนผึ้ง มีผู้โดยสารชาย 2 คนขึ้นมาบนรถ ก่อนจะชักปืนจ่อศีรษะ "พินิจ ปองมณี" คนขับแล้วส่งสัญญาณให้อีก 8 คนที่ซุ่มอยู่ในป่าข้างทางติดอาวุธสงครามครบมือกระโจนขึ้นรถอย่างพร้อมเพรียง ก่อนจะตะบึงด้วยความเร็วสูงมุ่งสู่ รพ.ศูนย์ราชบุรี
เมื่อรถจอดนิ่งสนิทคนร้ายได้ใช้ปืนจี้ รปภ. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ผู้ป่วย และญาติ รวมถึงผู้โดยสารที่ติดมากับรถบัส เข้าไปอยู่ในห้องโอพีดี คนร้ายอีกส่วนแยกไปติดตั้งระเบิดเคลย์โมตามประตูทางเข้าและกำแพงโรงพยาบาล
พ.ต.อ.ศักดิ์ชัย ตันบุญเอก ผกก.สภ.เมืองราชบุรี รายงานเหตุให้ พล.ต.ต.ฉลอง สนใจ ผบก.ภ.จว.ราชบุรี และนายโกเมศ แดงทองดี ผู้ว่าฯ ราชบุรี แล้วนำกำลังตำรวจกว่า 100 นายอาวุธครบมือ สมทบกับกองกำลังทหารค่ายภานุรังษี ปิดล้อมโรงพยาบาล กองกำลังก็อดอาร์มี่ยิงปืนเข้าใส่ ขู่จะกดระเบิด ทหารและตำรวจจึงต้องถอยร่นออกมาตั้งรับใหม่
พล.ต.ท.อนันต์ เหมทานนท์ ผบช.ภ.7 พล.ต.ต.กิตติ สินธุสุวรรณ รอง ผบช.ภ.7 ร่วมประชุมกับนายโกเมศ ระหว่างนี้มีพยาบาลภายในโรงพยาบาลคอยรายงานความเคลื่อนไหวให้ทราบเป็นระยะๆ ทำให้ทราบว่าตัวประกันถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกถูกคุมตัวอยู่ที่วิทยาลัยพยาบาลด้านทิศใต้ อีกส่วนอยู่ห้องตรวจคนไข้นอก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยและญาติที่กระจายอยู่ตามตึกต่างๆ ร่วม 1,000 ชีวิต
นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี หารือกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย สั่งเสริมกำลังอีก 300 นาย วางแผนร่วมกับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผบ.ตร. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผบ.ทบ. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ นายกร ทัพพะรังสี รมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี่ ได้แก่
1.ให้รัฐบาลไทยหยุดใช้ปืน ค 120 มม. ยิงชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดนและให้รับรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย 2.ให้รัฐบาลไทยหยุดช่วยเหลือทหารพม่าที่มาใช้ดินแดนไทยมาต่อสู้กับชนกลุ่มน้อย 3.ให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือผู้อพยพบ้านบ่อหลี 4.ให้รัฐบาลไทยกดดันรัฐบาลพม่าให้ยอมรับชนชาติกะเหรี่ยง และ 5.ให้รัฐบาลไทยลงโทษทหารไทยที่สั่งให้ยิงฐานกำลังของตน
ระหว่างนี้มีการยิงปืนขู่เป็นระยะๆ กดดันไม่ให้ตำรวจ-ทหารเคลื่อนไหว ต่อมาสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เมื่อกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี่ยอมปล่อยตัวประกันเด็ก สตรี และคนชราที่ป่วยออกมารักษา กระทั่งบ่าย 2 โมง กองกำลังก็อดอาร์มี่ร้องขอช่างภาพโทรทัศน์ช่อง 7 สี เพื่อประกาศเจตนารมณ์ให้สาธารณชนได้รับรู้ โดย พ.จ.อ.ชาลี ศรีเพ็ง ได้รับหน้าที่บันทึกภาพหัวหน้าชุดปฏิบัติการชื่อ "หนุ่ย" หรือ "ปรีดา" ผู้ก่อการร้ายเพียงคนเดียวที่พูดไทยได้และยังเป็น 1 ในกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูที่ยึดสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย
เมื่อความมืดโรยตัวเข้าครอบคลุม นักรบพระเจ้าเปลี่ยนเสื้อผ้าจากลายพรางมาเป็นชุดผู้ป่วย เพื่อให้ตำรวจทหารแยกแยะไม่ออก ป้องกันการจู่โจมและปิดประตูหน้าต่าง ไฟฟ้า ไม่ให้สังเกตเห็นความเคลื่อนไหวภายใน
ระหว่างนี้ทางการไทยได้วางแผนเตรียมจัดการขั้นเด็ดขาด เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อจะไม่เป็นผลดี กองกำลังผสมชุดปฏิบัติการนเรศวร 261 ของ ตชด. หน่วยอรินทราช 26 ของ บช.น.และชุดปฏิบัติการ 90 จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ค่อยๆ คืบคลานเข้าประจำจุดอย่างเงียบเชียบและรัดกุม รอคอยคำสั่งปฏิบัติการ เน้นความรวดเร็วและแม่นยำ ที่สำคัญต้องไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจาก 10 ชีวิตของผู้ก่อการร้าย
แผนปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 3 ชุด ชุดแรกพลร่มป่าหวายทำหน้าที่จู่โจม โดยประกบคนร้ายแบบ 2 ต่อ 1 พร้อมชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ชุดที่ 2 ปิดล้อมอาคารและสนับสนุนปฏิบัติการ หากมีคนร้ายเล็ดลอดออกมา ชุดที่ 3 ปิดล้อมอยู่ด้านนอก คอยคุ้มกันและสนับสนุนการจู่โจม
แล้วเหตุการณ์ระทึกขวัญที่ล่วงเลยมากว่า 22 ชั่วโมงก็มาถึงจุดสิ้นสุดตอนตีห้าครึ่ง ปฏิบัติการสายฟ้าแลบก็เปิดฉากขึ้น ท่ามกลางความเงียบสงัด เสียงระเบิดแบบไร้สเก็ดกว่า 20 ลูก ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ เปลวไฟพวยพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่ รพ.ศูนย์ราชบุรี ที่แสงไฟสปอตไลท์จับอยู่ เสียงปืนและระเบิดกัมปนาทไปทั่วทั้งตัวเมืองราชบุรี ผสานเสียงกรีดร้องของตัวประกัน ที่ก้มหมอบตามเสียงกำชับของชุดปฏิบัติการ ส่วนเบื้องบนก็มีเฮลิคอปเตอร์คอยบินวนฉายสปอตไลท์สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่จู่โจม
โรงพยาบาลกลายเป็นสมรภูมิเลือด เสียงปืนที่ดังทิ้งจังหวะ 1 ชุด 3 นัด เงียบลงตอน 6 โมง 10 นาที ทหาร-ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ปรากฏร่างนักรบก็อดอาร์มี่ 9 คน นอนเรียงรายจมกองเลือดใกล้ๆ กัน ส่วนรายที่ 10 เสียชีวิตคาห้องน้ำ หลังหลบหนีออกมาจากการปะทะ ทั้งหมดถูกยิงที่ศีรษะในลักษณะเผาขนและเสียชีวิตทันที
เหตุการณ์วันนั้นไม่มีใครได้รับอันตราย จะมีก็เพียงกะเหรี่ยงก็อดอาร์มี่ทั้ง 10 ชีวิตที่ด่าวดิ้นลง พร้อมกับความทรงจำของเจ้าหน้าที่และตัวประกัน ที่เผชิญหน้ากับเหตุการณ์อย่างยากจะลืม
กรุ่นควันปืน
พจนีย์ ใจเย็น พยาบาลวิชาชีพ ประจำห้องฉุกเฉิน รพ.บ้านโป่ง เป็นอีกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ยึด รพ.ศูนย์ราชบุรี เล่าว่า ได้รับฟังสถานการณ์ตั้งแต่เช้า กระทั่งบ่าย 3 โมง เธอและเพื่อนจำนวนหนึ่งอาสาเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รอบๆ โรงพยาบาลเต็มไปด้วยตำรวจ ทหาร สื่อมวลชน และผู้คนที่มาติดตามสถานการณ์ สภาพเต็มไปด้วยความวุ่นวาย รถพยาบาล รพ.บ้านโป่ง จอดอยู่สนามกีฬาฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาล เช่นเดียวกับรถกู้ชีพอีกกว่า 10 คัน
"เกือบตีห้า เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกนักข่าวให้เข้าไปในสนามกีฬา เพื่อรับฟังแผนช่วยเหลือตัวประกัน ตอนนั้นฉันก็คิดแบบนั้น แต่ระหว่างรอเปลี่ยนเวรระเบิดลูกแรกก็ดังขึ้น ตอนแรกคิดว่าเป็นของคนร้าย พอเห็นเจ้าหน้าที่กรูเข้าไปในโรงพยาบาลเลยเข้าใจว่าฝ่ายเราเข้าจู่โจม"
พจนีย์ยอมรับว่าวินาทีนั้นเกิดความกลัวอย่างมาก ความชุลมุนเกิดขึ้นทั่วบริเวณ ทั้งนักข่าว เจ้าหน้าที่ และรถพยาบาลต่างวิ่งกันสับสน แผนการที่เตรียมไว้แต่แรกมีอุปสรรค ไม่สามารถเข้าประจำจุดได้ ภาพที่เห็นมีเพียงแสงจากปลายกระบอกปืน เสียงปืนและเสียงหวีดร้องของตัวประกัน ภาพความวุ่นวายยุติลงพร้อมกับเสียงหยุดยิง เธอและพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งจึงถูกส่งเข้าไปนำตัวผู้บาดเจ็บออกมา โดยพจนีย์ถูกส่งเข้าไปรับเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ถูกยิงหน้าอก นอนรอความช่วยเหลืออยู่หน้าห้องห้องหนึ่ง
"ตอนนั้นวุ่นวายไปหมด ในโรงพยาบาลก็วุ่นไม่แพ้กัน เจ้าหน้าที่ตรึงกำลังไว้ทั่วบริเวณ อีกส่วนให้ความคุ้มกันแพทย์และพยาบาล ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ข้างในมืดมาก เพราะถูกตัดไฟมานานหลายชั่วโมง มองไม่ค่อยเห็นอะไรเลย พอปฐมพยาบาลให้ผู้บาดเจ็บเสร็จก็ลำเลียงขึ้นรถฉุกเฉินไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้เคียง"
ประวัติ 'นักรบพระเจ้า'
ตั้งแต่ปี 2530 นักศึกษาและประชาชนชาวพม่าเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลทหารเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงถูกกวาดล้างอย่างหนัก ต้องหลบหนีมาอาศัยอยู่กับชนกลุ่มน้อยตามแนวตะเข็บชายแดน บางส่วนหนีเข้ามาฝั่งไทย ด้วยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์นักศึกษาพม่าขึ้นที่บ้านมณีลอย ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534
ต่อมาปี 2538 กองกำลังกะเหรี่ยงกู้ชาติเคเอ็นยูถูกทหารพม่าตีแตกออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มหนึ่งใช้ชื่อว่า "ก็อดอาร์มี่" หรือนักรบพระเจ้า มีผู้นำเป็นเด็กแฝดลิ้นดำ 2 คน คือ จอห์นนี่และลูเธอร์ ฮะทู ซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มนักศึกษาพม่าศูนย์มณีลอย เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลพม่า เช่น บุกยึดสถานทูตพม่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ยึด รพ.ศูนย์ราชบุรี ปี 2543 และมีความพยายามอีกหลายครั้ง
กระทั่งวันที่ 16 มกราคม 2544 สองเด็กแฝดลิ้นดำพร้อมลูกน้องเข้ามอบตัวต่อทางการไทย สุดท้ายทางการไทยจึงสั่งปิดศูนย์ในปี 2545 โดยนักศึกษาบางส่วนถูกส่งตัวไปยังประเทศที่สาม ที่เหลือถูกส่งไปอยู่ศูนย์อพยพบ้านถ้ำหิน เพื่อรอส่งตัวไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม
ความคิดเห็น