คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #14 : ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2
ไทยกับสงครามโลกครั้งที่2
สงครามโลกครั้งที่๒เกิดขึ้นในยุโรป ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส ประกาศสงครามกับเยอรมนีแล้วเลยลุกลามเป็นสงครามโลก
ทางด้านเอเชียญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ต่อมาวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔กองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานีและสมุทรปราการ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะฮาวาย, ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายูและโจมตี สิงคโปร์ทางเครื่องบิน
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ของร้องรัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษและขอให้ระงับการต่อต้านของคนไทยเสีย คณะรัฐมนตรีโดยมี จอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่นเพื่อรักษาชีวิต และเลือดเนื้อของคนไทย ไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อ วันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
ภาพ จอมพลเเปลกพิบูลสงคราม
สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์จะสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา (The Greater East Asia Co-prosperity Sphere) ทั้งในทางวัฒนธรรมการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่างๆในเอเชียโดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ
ในระยะเริ่มแรกของสงครามกองทัพญี่ปุ่นมีชัยชนะทั้งทางบกทางเรือ และทางอากาศทำให้รัฐมนตรีบางคนเห็นควรให้ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาด้วยคิดว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม ไทยจึงได้ประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ระหว่างสงครามนั้นญี่ปุ่นได้โอนดินแดนบางแห่งที่ยึดได้จากอังกฤษคืนให้แก่ไทย คือรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และ สองรัฐในแคว้นไทยใหญ่ คือ เชียงตุงและเมืองพาน
ญี่ปุ่นแพ้สงครามเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ รัฐบาลไทยประกาศว่าการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและความประสงค์ของประชาชนชาวไทย ไทยต้องปรับความเข้าใจกับสัมพันธมิตรสหรัฐอเมริกามิได้ถือไทยเป็นศัตรูตามประกาศของรัฐบาล สหรัฐอเมริกาโดยนายเจมส์ เบิรนส์ (James Byrnes) รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแต่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายเออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin) ไม่ยอมรับทราบการโมฆะของการประกาศสงครามง่ายๆลง วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๙ (เวลา นั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็น หัวหน้า รัฐบาล ) ผู้แทนไทยได้ลงนามกับผู้แทนอังกฤษที่สิงคโปร์ความตกลงนี้เรียกว่า "ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย" ที่สำคัญคือไทยต้องคืนดินแดนของอังกฤษที่ได้มาระหว่างสงคราม ให้ข้าวสารโดยไม่คิดเงินถึง ๑.๕ ล้านตัน และต้องชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ
ไทยจึงได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการ เช่น ทำสัญญาทางไมตรีกับจีน (หลังสงครามจีนเป็นมหาอำนาจเพราะเป็นฝ่ายชนะสงครามด้วยสัญญานี้เป็นสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับจีนทั้งๆที่ได้มีไมตรีกันมานานนับร้อยๆปี) ไทยยอมคืนดินแดนที่เราได้มาจากอนุสัญญากรุงโตเกียว หลังสงครามอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส
การที่ไทยเอาตัวรอดได้ทั้งๆที่อยู่ในฝ่ายประเทศแพ้สงครามนี้ เพราะขบวนการเสรีไทยมีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมากทำให้ประเทศสัมพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเห็นใจเมืองไทย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาได้ประท้วงการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยและได้รวบรวมคนไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น
ภาพ กลุ่มขวบนการเสรีไทย
ในอังกฤษก็มีขบวนการเสรีไทยเช่นเดียวกันติดต่อกับหน่วยพลพรรคใต้ดินประเทศไทยซึ่งมีนาย ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้าเสรีไทย พลพรรคทั้งหลายเตรียมที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นตามวันเวลาที่นัดหมายพร้อมๆกัน
หลังสงครามโลกครั้งที่๒ ไทยได้ร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรีอันมีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นหัวหน้าตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๓ รัฐบาลไทยยอมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหารจากสหรัฐอเมริกา และใน พ.ศ.๒๔๙๘ ก็ได้ร่วมมือกับประเทศอื่นๆรวม ๘ ประเทศจัดตั้งองค์การป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกโดยย่อว่า องค์การซีโต หรือ สปอ. (SEATO-South East Asia Treaty Organization)
นอกจากนั้นไทยยังเป็นภาคีสมาชิกของแผนการ โคลัมโบ (Columbo Plan) ของประเทศในเครือจักรภพอีกด้วย (แผนการโคลัมโบเป็นโครงการเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านเทคนิคและด้านเศรษฐกิจของประเทศในเครือจักรภพเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ นอกจากประเทศในเครือจักรภพซึ่งมีอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะช่วยเหลือประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน และ ลังกา แล้วต่อมาได้มีประเทศต่างๆเข้ามาสมทบอีก คือ เขมร ลาว เวียดนาม พม่า เนปาล อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ภูฏาน อัฟกานิสถาน หมู่เกาะมัลดีฟ และ สหรัฐอเมริกา )
ผลของสงครามกับประเทศไทย
1. ไทยต้องส่งทหารไปช่วยญี่ปุ่นรบ
2. ได้ดินแดนเชียงตุง และสี่จังหวัดภาคใต้ที่ต้องเสียแก่อังกฤษกลับมา แต่ต้องคืนให้เจ้าของเมื่อสงครามสงบลง
3. เกิดขบวนการเสรีไทย
4. ไทยได้รับเกียรติเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
ความคิดเห็น