คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #1 : Unit 1 : Introduction to Biology (Part I )
Unit 1 : Introduction to Biology
ชีววิทยา (Biology) คำว่าชีววิทยามาจากรากศัพท์ ภาษากรีก 2 คำ คือ ไบออส (Bios) หมายถึง ชีวิต และโลกอส (Logos) แปลว่า การศึกษา หรือความรู้
ชีววิทยาจึงเป็นการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างประชากรสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกลุ่มต่างๆ การศึกษาลักษณะรูปร่าง การดำรงชีวิต และการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิต
นอกจากนี้ชีววิทยายังครอบคลุมถึง การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในระดับโมเลกุล อะตอมที่เป็น องค์ประกอบทางเคมีของเซลล์ รวมถึงการศึกษาเรื่องปฏิกิริยาเคมีและพลังงานที่เกิดขึ้น ในร่างกายสิ่งมีชีวิตอีกด้วย จะเห็นได้ว่าชีววิทยานั้นเกี่ยวข้องกับความรู้ต่างๆหลายสาขา ทั้งทางด้านเคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่สามารถประยุกต์นำมาใช้อธิบายหรือจำลองความเป็นไปของสิ่งมีชีวิต ทั้งหลาย เพื่อตอบปัญหาต่างๆที่มนุษย์สงสัย เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตได้
ความสำคัญของชีววิทยา
1.ด้านโภชนาการ การเลือกชนิดของอาหาร การบริโภคอาหารให้ถูกสัดส่วน การเพิ่มผลผลิตอาหาร การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ โดยอาศัยความรู้ในสาขาพันธุศาสตร์ ชีวเคมีและ โภชนาการ ฯลฯ
2.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข การดูแลรักษาร่างกาย การป้องกันโรคและการรักษาโรค ซึ่งชีววิทยาเป็นพื้นฐานสำคัญในทางแพทยศาสตร์และสาธารณสุข
3.การควบคุมศัตรูพืชและสัตว์ โดยอาศัยความรู้ทางชีววิทยาในสาขาอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา โดยเฉพาะการควบคุมศัตรูพืช และสัตว์โดยวิธีทางชีววิธี (Biological Control)
4.การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการป้องกันมลภาวะของสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากร ให้คุ้มค่าและใช้ได้นานโดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
5.การพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น พืชผัก ธัญพืช ที่ใช้บริโภคและส่งเป็นสินค้าออก การใช้พลังงานทดแทน เช่น มูลสัตว์ ซากสัตว์ ใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ อ้อยและมันสำปะหลังใช้ผลิตแอลกอฮอล์ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความรู้พื้นฐานทาง พฤกษศาสตร์และสาขาอื่น ๆ ทางชีววิทยาร่วมกัน
สาขาวิชาย่อยของชีววิทยา
Acarology | ศึกษาเกี่ยวกับเห็บและไร (วิทยาเห็บไร) |
Anatomy | ศึกษาเกี่ยวกับกายวิภาค โครงสร้างของสิ่งมีชีวิต (กายวิภาคศาสตร์) |
Biochemistry | ศึกษาเกี่ยวกับสารชีวโมเลกุล และกระบวนการ Metabolism (ชีวเคมี) |
Botany | ศึกษาเกี่ยวกับพืช (พฤกษศาสตร์) |
Cytology | ศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ (เซลล์วิทยา) |
Ecology | ศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ (นิเวศวิทยา) |
Entomology | ศึกษาเกี่ยวกับแมง (กีฏวิทยา) |
Embryology | ศึกษาเกี่ยวกับตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตและการพัฒนาการของตัวอ่อน (คัพภะวิทยา) |
Evolution | ศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการ |
Genetics | ศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม (พันธุศาสตร์) |
Histology | ศึกษาเกี่ยวกับเนื้อเยื่อ (มิญชวิทยา) |
Helminthology | ศึกษาเกี่ยวกับหนอนและพยาธิ |
Ichthyology | ศึกษาเกี่ยวกับปลา (มีนวิทยา) |
Malacology | ศึกษาเกี่ยวกับหอย (สังขละวิทยา) |
Mammalogy | ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม |
Microbiology | ศึกษาเกี่ยวกับจุลชีพ แบคทีเรีย ไวรัส (จุลชีววิทยา) |
Morphology | ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและสัณฐานของสิ่งมีชีวิต |
Ornithology | ศึกษาเกี่ยวกับนก (ปักษีวิทยา) |
Paleontology | ศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ (บรรพชีวินวิทยา) |
Parasitology | ศึกษาเกี่ยวกับพยาธิ ปรสิต (ปรสิตวิทยา) |
Physiology | ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของโครงสร้างร่างกาย (สรีรวิทยา) |
Taxonomy | ศึกษาเกี่ยวกับการจัดจำพวกของสิ่งมีชีวิต (อนุกรมวิธาน) |
Zoology | ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ (สัตววิทยา) |
คุณสมบัติของสิ่งมีชีวิต
1.มีโครงสร้างและการทำหน้าที่อย่างเป็นระบบ (Organization) โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจะมีการทำงานประสานกันตั้งแต่ระดับหน่วยย่อยภายในเซลล์ (organelle) กลุ่มเซลล์ (tissue) และอวัยวะ (organ) ต่างๆ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
2. มีการรักษาสมดุลภายในร่างกาย (homeostasis) การรักษาสมดุลภายในร่างกาย เช่น ระดับอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรด-เบส (pH) และความเข้มข้นของสารต่างๆให้อยู่ ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์
3. มีการปรับตัว (adaptation) สิ่งมีชีวิตพยายามปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เช่น การเปลี่ยนสีของผิวหนังในสัตว์เลื้อยคลานเพื่ออำพรางศัตรู การที่ปลามีรูปร่างเพรียวไม่ต้านกระแสน้ำ การลดรูปของใบจนมีลักษณะคล้ายเข็มในต้นตะบองเพชรเพื่อลดการสูญเสียน้ำ การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเป็นไปก็เพื่อเพื่อให้สามารถอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่และสามารถสืบทอดลูกหลานต่อไปได้นั่นเอง
4. มีการสืบพันธุ์และถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม (reproduction and heredity)
สิ่งมีชีวิตต้องสามารถสืบพันธุ์ได้เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ไม่ให้สูญสิ้นไป โดยอาจอาศัยวิธีสืบพันธุ์โดยอาศัยเพศ (sexual reproduction) หรือไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองวิธีก็ได้ เมื่อมีการสืบพันธุ์สิ่งมีชีวิตจะถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานโดยอาศัยสารพันธุกรรมซึ่งได้แก่ DNA และ RNA ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวเก็บรหัสทางพันธุกรรมของรุ่นพ่อ-แม่ไว้นั่นเอง
5. มีการเจริญเติบโตและพัฒนารูปร่าง (growth and development) ในสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว หลังจากมีการสืบพันธุ์ให้ลูกหลานแล้ว เซลล์ลูกเริ่มแรกจะมีขนาดเล็กหลังจากได้รับสารอาหารจะมีการ เจริญเติบโตขยายขนาดใหญ่ขึ้นและพัฒนาจนเป็นเซลล์ที่พร้อมจะสืบพันธุ์ได้ (mature cell) ในสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์จะมีกระบวนการเจริญเติบโตและพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเซลล์ (cell differentiation) เพื่อให้เหมาะกับการทำหน้าที่แต่ละอย่า
6. ต้องการพลังงาน (energy) และสร้างพลังงาน สิ่งมีชีวิตต้องการพลังงานเพื่อนำมาสร้างสาร ATP (Adenosine Triphosphate) โดยผ่านกระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) ATP เป็นสารที่ใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆภายในร่างกายสิ่งมีชีวิต เช่น การสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต การเคลื่อนไหว ฯลฯ พลังงานที่สิ่งมีชีวิตต้องการดังกล่าวอาจได้มาจากแหล่งต่างๆ เช่น พืชได้พลังงานจากแสงอาทิตย์ สัตว์ได้พลังงานจากปฏิกิริยาเคมีของสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ไวรัสได้พลังงานจากสิ่งมีชีวิตอื่น
::: อ่านต่อใน Unit 1 : Introduction to Biology (Part II) :::
ความคิดเห็น