ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #97 : Demon Prince ผมนี่แหละจะเป็นราชาปีศาจ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 94
      0
      12 มี.ค. 56

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/trekker/story/view.php?id=767642

     

                นวนิยายแฟนตาซีเรื่อง Demon Prince  ผมนี่แหละจะเป็นราชาปีศาจ ผลงานของ Ureion ซึ่งเพิ่งจะโพสต์ถึงตอนที่  12  เป็นเรื่องราวของ เทรส  เอฟราลอฟ เจ้าชายลำดับ 3 ของราชวงศ์เอฟราลอฟ  ราชวงศ์แห่งผู้กล้าที่ปราบ
    ซอรันจ้าวปีศาจและผนึกซอรันไว้   แต่เจ้าชายเทรสกลับเป็นผู้ที่ปลดปล่อยซอรันโดยบังเอิญ  ซอรันจะยึดร่างของเทรสเพื่อจะกลับมาเป็นจ้าวปีศาจอีกครั้ง  แต่กลับกลายเป็นว่าร่างของเทรสคือสัญลักษณ์ของผู้กล้า   ที่สามารถสะกดซอรันให้อยู่ในร่างของเขาได้อีกครั้ง  เมื่อเป็นเช่นนี้  เทรสจึงมีความคิดอยากจะเป็น “ราชปีศาจ”  โดยอาศัยพลังปีศาจของ
    ซอรันกรุยทาง  เขาจึงหนีออกจากพระราชวัง  และเปลี่ยนชื่อเป็นทรอนโลดแล่นไปในโลกกว้าง   เพื่อสั่งสมประสบการณ์และสะสมกำลังเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นราชาปีศาจต่อไป

                แม้ว่า Demon Prince  ผมนี่แหละจะเป็นราชาปีศาจ  จะมีโครงเรื่องหลัก (main plot) เกี่ยวกับเทรสและเส้นทางของการจะขึ้นเป็นราชาปีศาจที่เด่นชัด   แต่ในเรื่องนี้ก็มีโครงเรื่อยย่อย (sub plot) ที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเทรส  เรื่องของรีลกับเส้นทางของการเป็นผู้กล้า
    เอลล่า คู่หมั้นสาวของเทรสที่ทั้งคู่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  แต่เมื่อทั้งคู่มาพบกันในครั้งนี้  เอลล่ากลับติดตามทรอน (ชื่อปลอมของเทรส) โดยไม่คาดสายตา  เพียงต้องการให้เขาขอโทษเธออย่างจริงใจ  ลิซ่า  สาวน้อยกำพร้าลูกครึ่งปีศาจที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว  และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเทรส   ในเรื่องนี้ 
    Ureion สามารถที่จะผสานโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องย่อยต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล   ขณะเดียวกันโครงเรื่องย่อยๆ จำนวนมากเหล่านี้ยังช่วยสนับสนุนโครงเรื่องหลักให้เด่นชัด น่าสนใจ และน่าติดตามมากขึ้นด้วย

                นอกจากนี้  Ureion  ยังเพิ่มความน่าติดตามของเรื่องด้วยการสร้างปริศนาและความลับไว้เป็นระยะๆ  เพื่อกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ให้กับผู้อ่านที่จะติดตามต่อไปว่าปริศนาเหล่านี้จะคลี่คลายอย่างไร  และความลับที่ปกปิดไว้จะเปิดเผยอย่างไร  ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเอลล่าเมื่อ 8 ปีก่อนที่เธอไม่อยากกล่าวถึง  เหตุใดเจ้าชายเทรสถึงต้องถูกแยกออกจากพระมารดาเพื่อให้มาใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง  สิ่งสำคัญที่พวกคีลอฟต้องการคืออะไร  ซึ่งทำให้ฝ่ายเซฟิมแห่งราชวงศ์เอฟราลอฟเกรงว่าพวกเขาจะเอาชีวิตของเจ้าชายเทรสมาเป็นเครื่องต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาครอบครอง   อีกทั้งในตอนจบแต่ละตอน  Ureion  ยังสามารถทิ้งท้ายไว้อย่างน่าติดตาม   และกระตุ้นให้ผู้อ่านรอคอยที่จะอ่านตอนต่อไป   เช่น เปิดตัวละครใหม่ๆ บางตัวที่น่าสนใจ   ฉากการต่อสู้ที่ฝ่ายพระเอกกำลังจะเพลี่ยงพล้ำ   เปิดปริศนาหรือคำถามที่จะต้องรออ่านเฉลยในตอนต่อไป   

                ความน่าสนใจประการต่อไป คือ การสร้างตัวละคร  โดยเฉพาะกลุ่มตัวละครหลักๆ ที่ทยอยเปิดตัวมาตั้งแต่ต้นเรื่อง  ตัวละครแต่ละตัวต่างมีลักษณะเฉพาะตนที่โดดเด่น  และยังคงลักษณะเฉพาะเหล่านั้นไว้อย่างเหนียวแน่นและชัดเจน  ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านจดจำ เข้าถึงตัวละครเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี  ไม่ว่าจะเป็นเทรส  เจ้าชายที่ฉลาดหลักแหลม  ไร้พลังเวท  ต้องอาศัยพลังปีศาจจากซอรัน ไว้ผมปกปิดใบหน้าที่หล่อเหลาของตน และแต่งตัวปอนๆ   จนคนส่วนใหญ่ที่เห็นเขาต่างดูถูก  เพราะคิดว่าเป็นขอทาน   การที่ซอรันที่มีพลังปีศาจที่สูงส่ง  แต่ไม่สามารถที่จะสำแดงตัวเองได้  ต้องรอจนกระทั่งเทรสหมดสติไปก่อน  รีล ชายหนุ่มหล่อเหลา  แต่หย่อนมารยาท  โดยเฉพาะมารยาทบนโต๊ะอาหาร  แต่มีฝีมือสูงส่งและเปี่ยมด้วยพละกำลัง  อีล ผู้ติดตามปกป้อง อารักขาเอลล่า ที่มีฝีมือฉกาจ และซื่อสัตย์อย่างยิ่ง  ลิซ่า  สาวน้อยลูกครึ่งปีศาจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง  และ เอลล่า  สาวสวย ร่ำรวย  ไม่เคยตกระกำลำบาก  ใจอ่อน เอาแต่ใจตัวเองเป็นที่สุด  และตามคอยเฝ้าเทรสทุกฝีก้าว  เพราะกลัวเขาจะหาทางหนีไปจากเธอ  แม้ว่า Ureion  จะมีตัวละครเด่นๆ อยู่หลายตัว   แต่ก็ยังคงเฉลี่ยบทบาทให้กับตัวละครทุกตัวได้อย่างทั่วถึง  และให้แต่ละตัวต่างก็มีบทบาทในเรื่องในทุกตอน  โดยไม่ทอดทิ้งตัวละครตัวหนึ่งตัวใดไปเลย

                แม้ว่า Ureion จะสร้างความน่าติดตามและความตื่นเต้นในเรื่องด้วยฉาก  สถานการณ์  และสร้างตัวละครใหม่ๆ ที่กลายมาเพื่อนในกลุ่มเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ  ซึ่งในทางหนึ่งกลวิธีเช่นนี้กระตุ้นให้ผู้อ่านกระหายใคร่รู้ว่าเรื่องราวจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป  เพราะว่าผู้อ่านไม่สามารถคาดเดาทิศทางเรื่องได้เลย  แต่ในอีกทางหนึ่ง Ureion ก็ต้องพึงระวังด้วยเช่นกันว่า  การสร้างความน่าสนใจของเรื่องด้วยการเปิดตัวละครใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นนี้อาจะทำให้เรื่องนี้มีตัวละครจำนวนมากเกินความจำเป็น  และในตอนท้ายๆ อาจจะต้องประสบปัญหาที่จะต้องพยายามกำจัดตัวละครที่ไม่ค่อยมีความสำคัญออกไปจากเรื่องก็เป็นได้ 

                Ureion  นับว่ามีความสามารถในการบรรยาย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากการต่อสู้  ที่บรรยายได้อย่างละเอียด  ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายอาวุธ  พลังเวทที่ตัวละละครใช้  และขณะที่ฉากต่อสู้ทวีความรุนแรงและดุเดือดขึ้น  ก็บรรยายได้อย่างกระชับ  ฉับไว   ซึ่งการบรรยายเช่นนี้ช่วยเสริมอารมณ์ผู้อ่านขณะอ่านได้  จนผู้อ่านสามารถจินตนาการหรือสร้างภาพการต่อสู้ราวกับกำลังชมการต่อสู้เหล่านั้นด้วยตาตนเอง  ส่วนบทสนทนาก็ทำได้เป็นอย่างดี  เพราะบทสนทนาที่ใช้ช่วยขับเน้นให้ผู้อ่านรับรู้ถึงอุปนิสัย และช่วยสร้างบุคลิกลักษณะของตัวละครแต่ละตัวให้เด่นชัดมากขึ้น

                ทว่านวนิยายเรื่องนี้มีข้อด้อยที่เห็นชัดใน 2  ประการ คือ  Ureion  มักจะสอดแทรกการอธิบายความหมายของคำบางคำลงไปในเรื่อง  โดยใช้คำว่าหมายเหตุก่อนที่จะอธิบายความหมายของคำนั้นๆ โดยแทรกลงไประหว่างที่เรื่องกำลังดำเนินอยู่  ซึ่งทำให้ข้อความในส่วนนี้แปลกแยกจากเนื้อเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่  ในทางหนึ่งการแทรกหมายเหตุในเรื่องสามารถกระทำได้  โดยแทรกในลักษณะของเชิงอรรถท้ายเรื่อง  หรืออีกวิธีหนึ่งที่เหมาะสมมากกว่า คือ พยายามหาทางแทรกความหมายดังกล่าวไว้ในเนื้อเรื่อง  โดยเพิ่มคำอธิบายดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง  เช่น อาจจะให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งไม่รู้จักสิ่งนั้น และถามเป็นคำถามขึ้นมา  และให้ตัวละครตัวหนึ่งตัวใดอธิบายให้ฟัง  หรือการแทรกคำอธิบายเป็นส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผู้เขียนก็ได้ 

                ข้อด้อยประการที่สอง คือ คำผิด  ซึ่งมีทั้งที่เขียนผิด  เช่น บังลังก์  เขียนเป็น บังลังค์ กะเทาะหิน เขียนเป็น เทาะหิน  ศีรษะ เขียนเป็น ศรีษะ  เฮ้  เขียนเป็น  เห้  เฮ้ย เขียนเป็น เห้ย  กะทันหัน เขียนเป็น กระทันหัน ฮะๆ เขียนเป็น หะๆ ผลาญ เขียนเป็น พลาญ พนักงาน เขียนเป็น  พนังงาน  โคตร  เขียนเป็น  โครต ม้าง หรือ มั้ง เขียนเป็น ม๊าง  ปีติ  เขียนเป็น  ปิติ  โห เขียนเป็น โหว เคาน์เตอร์  เขียนเป็น  เคาเตอร์ เฮ้อ  เขียนเป็น เห้อ  เปอร์เซ็นต์  เขียนเป็น เปอเซนต์  เฮ เขียนเป็น  เห   เวทมนตร์  เขียนเป็น  เวทมนต์  กะพริบตา   เขียนเป็น  กระพริบตา  กำลัง เขียนเป็น กับลัง เหลาะแหละ  เขียนเป็น  หละแหละ ร้อนรน  เขียนเป็น  ร้อนลน  สงสัย  เขียนเป็น  สงใส  เกล็ดน้ำแข็ง  เขียนเป็น  เกร็ดน้ำแข็ง (เกร็ด ใช้กับ  เกร็ดความรู้) ข้าวบ่าย  เขียนเป็น ข่าวบ่าย  การใช้คำพ้องเสียงผิด  เช่น  เพิ่งตื่น (เพิ่ง  มักใช้นำหน้าคำกริยา  หมายถึง  ดำเนินกริยานั้นไปไม่นาน)   เขียนเป็น  พึ่งตื่น  (พึ่ง หมายถึง  อาศัย  พักพิง)    การใช้คำผิดความหมาย  เช่น  แสงสว่างสีดำ  (สีดำคือส่วนที่ทึบแสง  ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดแสงสว่างได้)  ถ้าบรรยายสีดำ  ควรใช้ว่า  เงาสีดำ  สำรอกเลือดออกมา  (สำรอก  หมายถึง ขย้อนออกจากปาก ส่วนใหญ่จะใช้ขยายความกริยาของสัตว์)  ควรใช้ว่า  กระอักเลือดออกมา (กระอัก หมายถึง  ทะลักออกจากคอ)   คุ้มครองเจ้าชายเหลาะแหละ (เหลาะแหละ  หมายถึง ไม่จริงจัง  ไม่แน่นอน  เอาแน่ไม่ได้) ควรใช้เป็น  คุ้มครองเจ้าชายหละหลวม (หละหลวม หมายถึง สะเพร่า  มักง่าย)  เห (เห  หมายถึง  เบน เฉ)  หากต้องการใช้เพื่อแสดงความแปลใจควรใช้ว่า เอ๊  (เอ๊ เป็นคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงความ สงสัย ไม่แน่ใจ)  และการใช้ลักษณะนามผิด  เช่น  แครอทสองผล  ควรใช้ว่า  แครอทสองหัว

                อย่างไรก็ดี  นวนิยายเรื่องนี้นับว่ามีความน่าติดตาม  ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเรื่องให้คาดเดาไม่ได้ว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด   ตัวละครที่มีสีสันโดดเด่นเฉพาะตัว   และเรื่องยังเต็มไปด้วยอารมณ์ที่ครบรส ไม่ว่าจะเป็นความสนุก  ความตื่นเต้นในการผจญภัยและต่อสู้  ความรัก  ความโศกเศร้า  ความลึกลับด้วยปมปริศนา และความตาย    หาก  Ureion  แก้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในเรื่องได้  ก็จะช่วยให้นวนิยายเรื่องนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากขึ้น

     

    ---------------------------------------------------------

                

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×