ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #82 : TNE Santa Clause ลำนำพันธะซาตาน = ความสุขที่นำมาโดยซาตาน (?)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 118
      0
      27 ก.ย. 55

     ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/thaipadit/story/view.php?id=826098

    นิยายเรื่อง TNE Santa Clause ลำนำพันธะซาตาน = ความสุขที่นำมาโดยซาตาน (?) ของคุณไทยประดิษฐ์ ผู้วิจารณ์ยังไม่เข้าใจความหมายที่ผู้เขียนต้องการสื่อถึงชื่อเรื่อง TNE Santa Clause ลำนำพันธะซาตาน = ความสุขที่นำมาโดยซาตาน (?) Santa ที่ใช้เป็นชื่อเรื่องนั้นผู้เขียนเขียนผิดหรือไม่ คำที่ถูกคือ Satan ซึ่งในเรื่องซาตานจะเป็นผู้ที่จะนำความสุขมาให้กับโลก ส่วน THN Santa Clause ลำนำพันธะซาตานซึ่งชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยนั้นไม่สัมพันธ์กัน  คุณไทยประดิษฐ์เขียนนิยายเรื่องนี้มาถึงตอนที่ 15 ซึ่งรวมกับบทนำอีกหนึ่งบทก็เป็น 16 ตอน นิยายเรื่องนี้เป็นแนวแฟนตาซีโดยเริ่มต้นจากการที่ใจกลางของโลกระเบิด ซึ่งส่งผลทำให้มิติของโลกที่แบ่งออกเป็นสามส่วนเชื่อมต่อกัน มิติทั้งสามได้แก่ มิเดิลเอิร์ธ  มนุษย์ และ ลูซิเฟอร์ โดยที่พวกมิเดิลเอิร์ธเป็นผู้วิเศษที่สามารถใช้คาถาเวทมนตร์ มนุษย์เป็นผู้ที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน และพวกลูซิเฟอร์เป็นสัตว์หรือปีศาจร้ายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสองกลุ่มแรก แต่เมื่อมิติของโลกเชื่อมเข้าด้วยกันทำให้ตัวละครทั้งสามกลุ่มต้องมาอาศัยร่วมกันบนโลก โดยที่มนุษย์เป็นกลุ่มที่เสียเปรียบเนื่องจากไม่มีเวทมนตร์และไม่มีพลังเท่าลูซิเฟอร์ จนในที่สุดมนุษย์ถูกลูซิเฟอร์ยึดครองดินแดนที่อยู่อาศัย จนต้องมีการต่อสู้ระหว่างพวกมนุษย์กับลูซิเฟอร์ สุดท้าย “อีวาน ไอย์ คราเนสตร้า” ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ที่มีความสามารถทั้งด้านการต่อสู้และสติปัญญา เมื่อเห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะต่อสู่กับลูซิเฟอร์ได้ เขาจึงได้คิดวิธีที่จะเอาชนะเดวิทราชันย์แห่งลูซิเฟอร์ โดยการทำพันธะสัญญาวิญญาณที่เรียกว่า satan’s contract โดยที่อีวานนั้นจะยอมสละชีวิตของตนเองเพื่อให้วิญญาณของตนเองเป็นทาสรับใช้ตระกูลของราชันย์ไปตลอดกาล โดยที่ราชันย์แห่งลูซิเฟอร์จะต้องให้สัญญาต่อมนุษย์สามข้อ ซึ่งจะทำให้มนุษย์สามารถที่จะอาศัยอยู่บนโลกอย่างปลอดภัย จากพันธะสัญญาวิญญาณดังกล่าวทำให้มนุษย์สามารถที่จะดำเนินชีวิตอยู่บนโลกได้อย่างปลอดภัยปราศจากการุกรานของลูซิเฟอร์ และได้ยกย่องอีวานว่าให้เป็นบรรพบุรุษที่กล้าหาญ และเรียกดินแดนที่มนุษย์อาศัยอยู่ว่าจักรวรรดิอีวาน และเรียกสถานศึกษาว่า อุดมศึกษาอีวาน เพื่อเป็นเกียรติให้กับอีวาน แม้ว่าราชันย์แห่งลูซิเฟอร์จะให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่รุกรานอาณาจักรมนุษย์ แต่ยังมีลูซิเฟอร์บางกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์  มนุษย์จึงยังต้องร่วมมือปกป้องจักรวรรดิอีวาน โดยการที่สมัครเข้าไปเป็นนักรบเพื่อปกป้องจักรวรรดิอีวานซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่และเกียรติประวัติ  และนี่เองเป็นที่มาของการที่ ลูซลีฟ เกวินล์ อทิต์มิตร มนุษย์โลกผู้ต้องการเข้าไปเป็นนักรบผู้ปกป้องจักรวรรดิอีวาน โดยมีโลกิ ฮาเดล ลูซิเฟอร์ ซึ่งเป็นลูซิเฟอร์พวกซาตานเข้ามาเป็นช่วยเหลือลูซลีฟในการที่จะเข้าไปเป็นนักรบปกป้องจักรวรรดิอีวาน และเมื่อทั้งสองผ่านการคัดเลือกให้เข้าไปเป็นนักรบผู้คุ้มครองจักรวรรดิอีวาน ต้องไปศึกษาการเป็นนักรบที่เตรียมอุดมอีวาน และได้ไปพบกับ ดรอย เท็กซ์ ดรากูนีส์ และ แพนเธอร์ บี.เค คอมมอน ซึ่งผู้อ่านต้องติดตามว่าผู้เขียนจะให้การดำเนินเรื่องต่อไปเป็นอย่างไร

    นิยายเรื่อง “TNE Santa Clause ลำนำพันธะซาตาน = ความสุขที่นำมาโดยซาตาน (?)” ของคุณไทยประดิษฐ์เป็นแนวแฟนตาซี การต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนของเหล่ามนุษย์ ดูเหมือนว่าการดำเนินเรื่องหลักนั้นเป็นการเข้าไปเป็นนักรบเพื่อปกป้องจักรวรรดิอีวาน  แต่การดำเนินเรื่องยังมีความสับสนและไม่ชัดเจน เริ่มที่การทำพันธสัญญาระหว่าง   อีวาน กับ เดวิทราชันย์แห่งลูซิเฟอร์ ซึ่งเป็นพันธะสัญญาที่มีความสำคัญ แต่ผู้เขียนกลับให้เดวิททำพันธะสัญญาอย่างง่ายดาย และที่สำคัญพันธะสัญญานี้เป็นประโยชน์ให้กับพวกมนุษย์มากกว่าฝ่ายลูซิเฟอร์  และไม่ได้อธิบายขยายความว่าการที่วิญญาณของอีวานไปรับใช้ราชันแห่งลูซิเฟอร์นั้นต้องเสียสละและต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง ซึ่งนี่เป็นจุดหนึ่งที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนยังขาดความหนักแน่นที่จะสร้างจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพื่อที่จะให้ผู้อ่านติดตามอ่านนิยายเรื่องนี้ต่อไป

     เมื่อผู้เขียนเข้าสู่เรื่อง ผู้วิจารณ์เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการให้พันธะสัญญาระหว่างอีวานกับเดวิทเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่อง แต่เมื่อผู้เขียนกล่าวถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการเชื่อมโยงผลของพันธะสัญญาต่อโลกมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งผู้วิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า การเชื่อมโยงกันนั้นยังขาดตอนและไม่เชื่อมต่อกันจนทำให้เรื่องที่เกี่ยวกับปัจจุบันเป็นคนละเรื่องกับปฐมบทที่ผู้เขียนได้ตั้งประเด็นไว้ การที่ผู้เขียนได้สร้างพันธะสัญญาฉบับใหม่ระหว่างลูซลีฟ (นางเอก) กับ โลกิ(พระเอก)ขึ้นมา ซึ่งเป็นพันธะสัญญาที่มีความคลุมเครือเช่นเดียวกันว่าทำไมจะต้องทำพันธะสัญญาดังกล่าวด้วย (ซึ่งผู้เขียนอาจจะมีคำตอบอยู่แต่ยังไม่ได้เขียน) นอกจากนี้จากบทเริ่มต้นผู้เขียนแยกตัวละครของเรื่องเป็นสามกลุ่ม คือ มิเดิลเอิร์ธ มนุษย์และลูซิเฟอร์ โดยที่แต่ละพวกนั้นมีลักษณะที่โดดเด่นในแต่ละด้าน แต่ในเรื่องตัวละครหลัก คือ ลูซลิฟ ซึ่งเป็นมนุษย์ กลับเป็นผู้ที่มีเวทมนตร์ และในจักรวรรดิอีวานนั้นเต็มไปด้วยผู้ที่ใช้เวทมนตร์ ซึ่งผู้เขียนได้เขียนไว้ตั้งแต่ในบทนำว่า มนุษย์เป็นพวกที่ไม่มีเวทมนตร์เหมือนพวกมิดเดิลเอิร์ธและไม่มีพละกำลังเหมือนลูซิเฟอร์ และที่สำคัญตัวละครที่ปรากฏในจักรวรรดิอีวานโดยเฉพาะการแข่งขันเพื่อเข้าไปเป็นนักรบของจักรวรรดิอีวานเป็นพวกลูซิเฟอร์เกือบทั้งหมด และตัวละครหลักที่ผู้เขียนเปิดมาทั้ง 4 ตัว คือลูซลีฟ โลกิ ดรอย และ แพนเธอร์ สร้างความสับสนให้ผู้วิจารณ์ว่า โลกิซึ่งเป็นลูซิเฟอร์และยังมีสถานะเป็นซาตานถึงสามารถที่จะเข้ามาคัดเลือกเป็นนักรบแห่งจักรวรรดิอีวานได้ และโดยเฉพาะ ดรอย ซึ่งมีบิดาเป็นข้าราชการแห่งจักรวรรดิอีวาน แต่เป็นลูซิเฟอร์และมีสถานภาพซาตานด้วย จุดนี้ทำให้ผู้วิจารณ์ไม่เข้าใจว่าในจักรวรรดิอีวานนั้นไม่ใช่มีเฉพาะมนุษย์อาศัยอยู่เท่านั้นหรือ แล้วทำไมถึงให้พวกลูซิเฟอร์จะเข้ามาปกป้องจักรวรรดิอีวานซึ่งเป็นประเด็นที่มีความขัดแย้ง ผู้เขียนควรให้ความสำคัญในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่และตัวละครให้มีความเชื่อมโยงกันและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน  เพื่อที่จะให้ผู้อ่านเชื่อในสิ่งที่ผู้เขียนขึ้นมา

     ยังมีประเด็นที่ลูซลีฟสามารถที่จะเป็นนักรบผู้ปกป้องจักรวรรดิอีวาน ในเมื่อโลกิเป็นผู้ที่สะสมชิปได้คะแนนสูงจึงสามารถไปเป็นนักรบ แต่ลูซลิฟไม่ได้สะสมชิป ซึ่งยังขาดเหตุผลที่จะอธิบายว่าทำไมลูซลิฟถึงเข้าไปเป็นนักรบของจักรวรรรดิอีวานได้ซึ่งผู้เขียนควรจะอธิบายประเด็นนี้ให้ชัดเจน เพราะทำให้ผู้วิจารณ์เข้าใจว่าลูซลีฟเป็นนักรบแห่งจักรวรรดิอีวานอยู่แล้ว แต่เมื่ออ่านต่อไปก็พบว่าลูซลีฟก็เพิ่งเข้ามาเป็นนักรบแห่งจักรวรรดิอีวานเช่นเดียวกับโลกิ ซึ่งการดำเนินเรื่องหลังจากที่นักรบใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกได้เข้าไปฝึกฝนหรือศึกษาที่เตรียมอุดมศึกษาอีวานนั้น ดูเหมือนว่าผู้เขียนดำเนินเรื่องโดยอาจได้รับอิทธิพลจากเรื่องแฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ ซึ่งผู้วิจารณ์เห็นว่าเป็นการดำเนินเรื่องที่ไม่น่าสนใจ เพราะว่าเหตุการณ์ต่างๆ ของเรื่องนี้ดูจะไม่แตกต่างจากเรื่อง แฮร์รี่ พ๊อตเตอร์เลย การที่ผู้เขียนเลือกแนวเรื่องไปในทางนี้กลับสร้างความสับสนให้กับผู้วิจารณ์อย่างยิ่งว่าทำไมเตรียมอุดมอีวาน ซึ่งเป็นสถานศึกษาของมนุษย์กลับเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเวทมนตร์ ซึ่งขัดแย้งกันว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้ที่ไม่มีเวทมนตร์และพละกำลัง แต่มีเพียงวิถีแห่งจิตที่จะบันดาลให้ทุกอย่างเป็นจริงได้ ซึ่งผู้เขียนต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อในเรื่องที่เกิดขึ้น

    การที่ผู้เขียนได้รับแนวการการเขียนจากเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่ใช่ข้อเสียหายอะไร แต่ผู้เขียนต้องนำแรงบันดาลใจ แนวทางที่ได้จากเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์มาสร้างการเขียนงานที่เป็นแนวทางของตนเอง ซึ่งการที่ผู้เขียนนำตัวละครเอฟล์ชื่อดอฟปี้จากเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์มาเป็นตัวละครในนิยายเรื่องนี้ หรือการนำฉาก เหตุการณ์จากนิยายเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์มาใช้ในการดำเนินเรื่องทำให้งานของผู้เขียนขาดความน่าสนใจ  ผู้เขียนควรที่จะสร้างตัวละคร ฉากหรือเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมาในบริบทของนิยายที่ผู้เขียนได้ตั้งโครงเรื่องไว้ ซึ่งจะทำให้งานของผู้เขียนเป็นที่สนใจและน่าติดตามยิ่งขึ้น

    ปัญหาของผู้เขียนที่ผู้วิจารณ์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องแก้ไขคือ การเขียนบทบรรยายที่ผู้เขียนไม่ใช้ตัวเชื่อมทั้งที่เป็น บุพบท หรือ สันธาน ในการเชื่อมคำกับคำ คำกับประโยค หรือประโยคกับประโยค ซึ่งทำให้การสื่อความหมายไปยังผู้อ่านนั้นคลาดเคลื่อน หรือผู้อ่านต้องใช้ความตั้งใจและความพยายามในการอ่านเป็นอย่างมาก ผู้วิจารณ์ขอยกตัวอย่างในย่อหน้าแรกของตอนแรก ปฐมบท....โลกพิฆาต ซึ่งการที่ผู้เขียนไม่มีตัวเชื่อมทั้งบุพบทและสันธาน ทำให้ในย่อหน้าแรกนี้มีการอธิบายด้วยวลีเป็นจำนวนมาก (วลีคือประโยคที่ไม่สมบูรณ์) ซึ่งส่วนใหญ่จะขาดประธานของประโยค ผู้วิจารณ์ต้องใช้ความพยายามอ่านหลายครั้งจึงจะเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะอธิบาย ซึ่งจึงขอที่จะแก้ไขย่อหน้านี้เพื่อให้สื่อความที่ผู้วิจารณ์คิดว่าผู้เขียนต้องการสื่อ โดยที่ตัวที่ขีดเส้นใต้นั้นเป็นสิ่งที่ผู้วิจารณ์แก้ไข ส่วนตัวที่วงเล็บนั้นเป็นส่วนที่ตัดออกหรือเขียนผิด

    “ นับตั้งแต่ดาวเคราะห์ (เคราะ)สีฟ้านามว่าโลกเข้าสู่สภาวะ แพ้ภูมิตัวเองโลก เกิดการระเบิดบิ๊กแบงครั้งใหญ่ที่ใจกลางโลก การระเบิดครั้งนี้ทำให้มิติของโลกทั้งสาม (3 โลก) เชื่อมเข้าหากัน คือ มิดเลเอิร์ท มนุษย์และลูซิเฟอร์   ลูซิเฟอร์เป็นเผ่าพันธุ์(สัตว์โลก) ผู้ครองแผ่นดินซึ่งเปรียบเหมือนสัตว์เดรัจฉาน(สัตว์เดรฉาน) ในสายตาของพวกมิดเดิลเอิร์ธและมนุษย์(ลูซิเฟอร์)  มนุษย์นั้นไม่มีเวทมนตร์(มนต์)เหมือน(เช่น)พวกมิดเดิลเอิร์ธ และยังไร้กำลังดั่งพวกลูซิเฟอร์ ท่ามกลางสงครามแย่งชิงดินแดนครั้งใหญ่แม้มนุษย์จะเป็นเผ่าพันธุ์ที่(ชั่ง(ช่าง)ดู)อ่อนแอ และเป็นฝ่ายเสียเปรียบเผ่าพันธุ์ทั้งสองอยู่มาก แต่ในความอ่อนแอนั้นได้(กลับ)ซ่อนพลัง(มหา)อำนาจที่ทั้งสองเผ่าพันธุ์ต่างวิตก พลังอำนาจที่ซ่อนอยู่ในเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นคือวิถีแห่งจิตอันเป็นขุมพลังอันบริสุทธิ์และสามารถบันดาลทุกอย่างให้เป็นไปดัง(ได้ดัง)ใจคิด และที่สำคัญขุมพลังอำนาจนี้มีอยู่เฉพาะในเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้น(ที่จำกัดเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ถือครอง) แต่(ดัง)โชคชะตานั้นกลับเข้าข้างพวกลูซิเฟอร์ซึ่งเป็นผู้มาใหม่ เพราะมีเพียง(สัตว์โลกในนามว่า)มนุษย์ในยุคนี้ไม่กี่คนที่มีความสามารถดึงวิถีแห่งจิตออกมาใช้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์ในยุคแรกเริ่มจึงมีชีวิตอยู่(เป็นอะไรที่)บนความสิ้นหวัง”

    ผู้วิจารณ์จะยกตัวอย่างการที่ผู้เขียนนำประโยคสองสองประโยคมารวมกันโดยที่ไม่ใช้สันธานเชื่อมประโยคเข้าด้วยกัน “ลูซลีฟกำหนดจิตระลึกถึงกระเป๋าสามมิติของตัวเอง ค้นหาสิ่งของที่ต้องการ......” ประโยคแรกนั้นเป็นประโยคที่มีใจความสมบูรณ์คือมีประธาน+กริยา+(กรรม) รวมถึงส่วนขยายส่วนต่างๆของประโยค “ลูซลิฟกำหนดจิตระลึกถึงกระเป๋าสามมิติของตัวเอง” แต่ประโยคที่สองซึ่งเป็นเพียงวลี “ค้นหาสิ่งของที่ต้องการ...” จะเห็นว่าวลีนี้ไม่มีประธาน การที่ผู้เขียนจะให้ทั้งสองประโยคเชื่อมกันจนเป็นเนื้อความเดียวกันที่ต่อเนื่อง ผู้เขียนต้องใช้สันธานเชื่อมประโยคทั้งสองคือ “เพื่อ” จะทำให้รวมเป็นประโยคเดียวที่ให้ความสมบูรณ์ทั้งสองประโยค  “ลูซลีฟกำหนดจิตระลึกถึงกระเป๋าสามมิติของตัวเองเพื่อค้นหาสิ่งของที่ต้องการ......” หรือหากผู้เขียนไม่ชอบการใช้ตัวเชื่อมผู้เขียนต้องทำประโยคหลังคือ “ค้นหาสิ่งของที่ต้องการ...” ให้สมบูรณ์โดยการเติมประธาน “ลูซลีฟ” หรือ “เธอ” นอกจากการเชื่อมประโยคกับประโยคแล้ว การเชื่อมการเชื่อมคำกับคำ และคำกับประโยคก็เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง “ ไม่นานแผนที่ก็ปรากฏเส้นทางระหว่างเธอที่ร้าน ร้านหัวใจหยดหมึกจนไปถึงเจ้าตัวสิ่งของที่ต้องการหา”  ประโยคนี้อ่านแล้วไม่สามารถที่จะสื่อความหมายได้เพราะผู้เขียนไม่ได้เชื่อมสองส่วนเข้าด้วยกันคือ “ร้านหัวใจหยดหมึก”กับ “เธอ” จึงต้องเติมบุพบทเชื่อม “ไม่นานแผนที่ก็ปรากฏเส้นทางระหว่างที่ที่เธออยู่ ร้านหัวใจหยดหมึกจนไปถึงเจ้าตัวสิ่งของที่ต้องการหา” ซึ่งจะได้ใจความที่ถูกต้องตามที่ผู้เขียนต้องการที่จะสื่อมากกว่า นอกจากนี้ยังมีการบรรยายบทสนทนาซึ่งผู้เขียนมักใช้การบรรยายที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนา และหากอ่านผ่านๆ จะทำให้คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนา เช่น การสนทนาระหว่างโลกิกับลูซลีฟ เมื่อโลกิซักถามลูซลีฟว่า “ฉันไม่เข้าใจอยู่ดีแหละอธิบายละเอียดๆ กว่านี้ได้ไหม” กลัวดอกพิกุลจะร่วงจากปากรึไง ถ้าตัดเครื่องหมายคำพูดออก ทั้งหมดนี้เป็นบทสนทนาที่อยู่รวมกันได้ ซึ่งการบรรยายบทสนทนาต้องสร้างความกระจ่างให้กับบทสนทนานั้น การที่ผู้วิจารณ์เน้นในเรื่องประเด็นการเขียนเพื่อสื่อความที่ถูกต้องไปยังผู้อ่าน เพราะว่าการที่ผู้เขียนเขียนแล้วไม่สามารถที่จะสื่อความหมายออกไปให้ผู้อ่านเข้าใจได้ตามที่ผู้เขียนต้องการได้นั้นถือว่าเป็นข้อพกพร่องที่สำคัญในการเขียนนิยาย

    คำผิด นิยายเรื่องนี้มีคำที่เขียนผิดอยู่มาก แต่คำที่เขียนผิดอย่างร้ายแรงคือ “จักรวัฏอีวาน” ที่ต้องบอกว่าร้ายแรง เพราะผู้วิจารณ์เข้าใจว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะเขียน “จักรวัฏ” แทนคำว่า “จักรวรรดิอีวาน” มีข้อผิดใหญ่ๆ คือหนึ่งความหมายของคำ และสองการออกเสียง ความหมายของคำ คำว่า “จักรวรรดิ” กับ “จักรวัฏ” มีความหมายที่แตกต่างกัน จักรวรรดิ หมายถึงดินแดนที่มีผู้ปกครองหรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Empire ส่วนจักรวัฏนั้นเป็นการนำศัพท์สองคำมารวมกัน คือ จักร +วัฏ จักร(อ่านว่า จัก) นั้นหมายถึงอาวุธที่มีลักษณะกลมแบนซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธของพระวิษณุ ส่วน วัฏ (อ่านว่า วัด) การหมุนรอบเป็นวงกลมหรือวงจรนั้นเอง คำว่าจักรวัฏ จึงแปลว่า จักรที่หมุนรอบเป็นวงกลม คำที่ถูกต้องในการเรียกดินแดนที่มีผู้ปกครองนั้นต้องใช้คำว่า “จักรวรรดิ” เท่านั้น ส่วนที่สองการอ่านออกเสียง  คำว่า “จักรวรรดิ” อ่านออกเสียงว่า จัก-กระ-หวัด ส่วน “จักรวัฏ” อ่านว่า จัก-วัด เพราะเป็นการนำคำนามสองคำรวมรวมกัน ไม่ใช่การสนธิคำในแบบภาษาบาลีสันสกฤตจึงไม่มีการอ่านเชื่อมคำอย่างที่ผู้เขียนต้องการให้อ่านเป็น จัก-กระ-หวัด ส่วนคำผิดอื่นๆ เช่น อาดรู อาดูร, ทุ้มเท ทุ่มเท, แผนดิน แผ่นดิน, กระจ่อย กระจ้อย, เยาว์ชน เยาวชน, ชั่วร์กัปชั่วร์กัลป์ ชั่วกัปชั่วกัลป์, เกรียรติ  เกียรติ, สัจจธรรม สัจธรรม,    สำผัส สัมผัส, ถ้อย ถ้วย, พืชพัน พืชพันธุ์, อักขร อักขระ, กริท กริช, ฉ้อฉน ฉ้อฉล, พันธะเสร่แครง พันธะเส็งเคร็ง,        เสียวนาที เสี้ยวนาที, นายท้าน นายท่าน, นาฬิกาล นาฬิกา (ผู้วิจารณ์ไม่แน่ใจว่าผู้เขียนจะให้เป็นคำนามเฉพาะหรือไม่), ตรงนั้ย ตรงไหน, คุณสมบัต คุณสมบัติ, คทา คฑา, ศักร์ศรี ศักดิ์ศรี, มนต์คลัง มนตร์ขลัง, สามห้าว สามหาว, ยาหมดริด ยาหมดฤทธิ์, สายตางงเงีย สายตางัวเงีย, วิ่งกู่ วิ่งกรู, ลุกหน้า รุกหน้าหรือรุดหน้า, กระหรัตเพชร กะรัตเพชร, ทุ้ม ทุ่ม, กำชับเสื้อโค้ท กระชับเสื้อโค้ท, เหลกลาน แหลกลาน, ตังตระง่า ตั้งตระหง่าน, นานทีมีหน นานทีปีหน, สัญญา สัญญาณ, ถะนอม ถนอม กฏ กฎ (กฎหมาย กฎระเบียบ),    ลายลักอักษร ลายลักษณ์อักษร,  ฟุกหน้า ฟุบหน้า นอกจากคำผิดแล้ว และในการบรรยายผู้เขียนไม่ควรจะใช้ “มัน” เป็นสรรพนามแทนคน ซึ่งควรจะใช้ เขา เธอ ชายผู้นั้น ผู้หญิงคนนั้น หรือใช้ชื่อของคนคนนั้นแทนจะดีกว่า

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×