ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #80 : My Bad Boy พิสูจน์รักพิกัดหัวใจนายตัวร้าย

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 124
      0
      10 ก.ย. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/time11/story/view.php?id=750577

    นิยายหวานแหววของ
    time_koi เรื่อง  My Bad Boy พิสูจน์รักพิกัดหัวใจนายตัวร้าย  ยังคงไม่แตกต่างจากนิยายแนวนี้เรื่องอื่นมากนัก  เพราะนำเสนอเรื่องราวรักสามเส้าระหว่างเดย์  มิ้ง และ บัตเตอร์  ที่ยังคงให้เดย์ พระเอกเป็นตัวละครในลักษณะ bad boy และเพลย์บอยที่เป็นที่หมายปองของหญิงสาวทั่วๆ ไป  แต่กลับมาตกหลุมรักและมาหยุดความรักของตนที่มิ้งนางเอกของเรื่อง  ขณะที่นางเอกเองก็เป็นสาวสวยที่เพิ่งเคยมีความรักเป็นครั้งแรก  และได้มอบหัวใจและความรักทั้งหมดของตนให้กับพระเอก แต่มีเหตุให้ต้องเข้าใจผิดกัน จนต้องเศร้าเสียใจกับความรักที่มอบให้พระเอกไปจนหมดหัวใจแล้ว  ขณะที่บัตเตอร์ พระรองยังคงเป็นชายหนุ่มแสนดีที่รักนางเอกมาก  แม้ว่าจะรู้ว่าหัวใจของนางเป็นของคนอื่น  แต่เขาก็ยังคงห่วงใยและมาอยู่เคียงข้างนางเอกทุกครั้งที่ทุกข์ใจและเสียใจ  ซึ่งในที่สุดเรื่องคงจะลงเอยว่าพระเอกและนางเอกคงสามารถปรับความเข้าใจกันได้และรักกันต่อไป

    แม้ว่า  My Bad Boy พิสูจน์รักพิกัดหัวใจนายตัวร้าย  จะโพสต์ไปจนถึงตอนที่ 18 แล้ว  แต่ดูเหมือนว่าผู้แต่งอาจจะมิได้วางโครงเรื่องไว้ล่วงหน้า  เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่าเรื่องจะเบี่ยงเบนไปจากความตั้งใจเดิมของผู้แต่ง  หากพิจารณาทิศทางของเรื่องจากชื่อเรื่องและคำโปรยแนะนำเรื่องที่ time_koi นำเสนอไว้  เรื่องควรที่จะเน้นไปที่เดย์เป็นสำคัญ  เพราะเดย์เป็นผู้ที่พูดประโยคที่อยู่ในส่วนแนะนำเรื่องนี้ว่า “ในเมื่อเธอเลือกฉันแล้ว  เพราะฉะนั้น  เธอต้องมองแต่ฉันคนเดียว  ห้ามมอง ห้ามยุ่ง ห้ามสัมผัส ผู้ชายอื่น >> ฉันไม่ชอบ << และ My Bad Boy ที่จะต้องเป็นผู้ถูกพิสูจน์หัวใจ ในเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้นเดย์เช่นเดียวกัน  แต่ตลอดตั้งแต่ต้นเรื่องบทบาทของเดย์ดูจะน้อยเกินไป  จนดูเหมือนว่าเขาเป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่งที่ไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก  ขณะเดียวกันเนื้อเรื่องก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ สนับสนุน หรือร่วมคลี่คลายให้ชื่อเรื่องชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของ “My Bad Boy” หรือ การพิสูจน์รักของนายตัวร้ายแต่อย่างใด   ทั้งนี้เพราะ time_koi ไปให้ความสำคัญกับเรื่องราวของบัตเตอร์มากกว่า  จนดูประหนึ่งว่าบัตเตอร์จะกลายเป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก  ซึ่งทำให้เรื่องแทบจะเบี่ยงไปเป็น “My Good Boy”  แทน  จนผู้อ่านเกือบจะลืมเดย์และหันไปเทคะแนนสงสารและเห็นใจให้กับบัตเตอร์เกือบหมดแล้ว   จึงเสนอให้ time_koi  ลองกลับไปพิจารณาเรื่องอีกครั้งว่า  ขณะนี้เรื่องดำเนินไปในทิศทางที่ตนต้องการหรือไม่  และแท้ที่จริงแล้วตั้งใจว่าจะให้ตัวละครใดเป็นตัวละครหลักในเรื่องกันแน่  แล้วค่อยปรับแก้ทิศทางของเรื่องให้ตรงตามความตั้งใจของตนต่อไป

    ในบทต้นๆ เห็นว่า  time_koi  ยังคงเน้นไปที่บทสนทนามากกว่าบทบรรยาย  แต่ในบทหลังๆ ก็เริ่มเห็นพัฒนาการในการเขียนที่มีบทบรรยายมากขึ้น  ซึ่งบทบรรยายและบทสนทนาที่นำเสนอก็ช่วยสนับสนุนให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิด  และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เรื่องราวของมิ้งและบัตเตอร์  เช่นเดียวกับการใช้อีโมติคอนที่บทแรกๆ ดูเหมือนว่าจะมีอีโมติคอนอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นอาจเป็นเพราะ time_koi ต้องการแสดงความสดใสของชีวิตวัยรุ่นของตัวละคร  เมื่อตัวละครเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตมากขึ้น  และการปรับเปลี่ยนสภาวะทางอารมณ์มากขึ้น และบ่อยครั้งที่เหตุการณ์และปัญหาที่ตัวละครเผชิญบีบคั้นให้ตัวละครต้องถูกกดดันให้แสดงสภาวะทางอารมณ์ก็ยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น    ในเนื้อเรื่องก็แทบจะไม่มีอีโมติดคอนปรากฏให้เห็นอีกเลย   ซึ่งอาจนับว่าเป็นนัยที่แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่เติบโตขึ้นของตัวละครในทางหนึ่งด้วย

    สำหรับปัญหาสำคัญของเรื่องที่พบ  ซึ่ง time_koi  จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจังคือ  ปัญหาในเรื่องการสะกดคำ  เพราะในเรื่องนี้มีคำผิดเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย  สาเหตุแรกคือ  การใช้สระสลับกัน  ไม่ว่าการใช้    ี  สลับกับ    ิ  เช่น  เดิน เขียนเป็น เดีน  เปิด เขียนเป็น  เปีด  เริ่ม  เขียนเป็น  เรี่ม  เพิ่ง  เขียนเป็น  เพี่ง  เขิน เขียนเป็น เขีน  เลิก เขียนเป็น  เลีก  กรี๊ด  เขียนเป็น  กริ๊ด  เพี้ยง  เขียนเป็น  เพิ้ยง  การใช้   ืและ   ึ  สลับกัน เช่น  ซึ้ง  เขียนเป็น ซื้ง  ขึ้น  เขียนเป็น  ขื้น  ดื่ม  เขียนเป็น  ดึ่ม  ลืม  เขียนเป็น  ลึม  การใช้   ุ และ   ู  สลับกัน  เช่น มุม เขียนเป็น มูม 

    สาเหตุประการที่สองคือ  การใช้พยัญชนะสลับกัน  โดยเฉพาะ ช สลับกับ ซ เช่น  ซกมก  เขียนเป็น ชกมก ซุบซิบ  เขียนเป็น ชุ๊บชิ๊บ  ซ้ำหน้า เขียนเป็น  ช้ำหน้า   ซุกซน  เขียนว่า  ชุกชน  แผ่ซ่าน  เขียนว่า  แผ่ช่าน  ซวย  เขียนว่า  ชวย  ซ้ำๆ  เขียนว่า  ช้ำๆ   ซักครั้ง  เขียนว่า  ชักครั้ง  ซะ  เขียนว่า  ชะ  ซึม  เขียนว่า  ชึม  ซับ  เขียนเป็น  ชับ  ซีด  เขียนเป็น  ชีด  ซุกหน้า  เขียนเป็น  ชุกหน้า  เชิญ  เขียนเป็น เซิน    

    การใช้ ร และ ล  สลับกัน เช่น ผละ  เขียนเป็น  ผระ ลิ่ว  เขียนเป็น  หริ่ว  เปลี่ยน เขียนเป็น  เปรี่ยน  เหลือ  เขียนเป็น  เหรือ  เถลไถล เขียนเป็น เถรไถร ลิ้มรส  เขียนเป็น  ริ้มรส  ลูบไล้  เขียนเป็น  ลูบไร้  เครียด  เขียนเป็น  เคลียด  ช่วยเหลือ  เขียนเป็น  ช่วยเหรือ  รายล้อม  เขียนเป็น  รายร้อม ลำคอ  เขียนเป็น รำคอ รอบ เขียนเป็น ลอบ บ้าคลั่ง  เขียนเป็น  บ้าครั่ง   หลับ  เขียนเป็น   หรับ รวม  เขียนเป็น  ลวม  หลอก เขียนเป็น   หรอก  ล่วงล้ำ  เขียนเป็น ร่วงล้ำ  รวมตัว  เขียนเป็น  ลวมตัว เหล้า  เขียนเป็น  เหร้า คลอเบ้า  เขียนเป็น   ครอเบ้า  เหลือง  เขียนเป็น   เหรือง เคลิบเคลิ้ม  เขียนเป็น  เคริบเคริ้ม ไหล่  เขียนเป็น  ไหร่ ทะเลาะ เขียนเป็น  ทะเราะ ปลง เขียนเป็น  ปรง  ไหล  เขียนเป็น  ไหร  กำเริบ  เขียนเป็น  กำเลิบ ระทึก  เขียนเป็น  ละทึก  ลุล่วง  เขียนเป็น  ลุร่วง หลุกหลิก เขียนเป็น  รุกริ๊ก   เบื้องล่าง  เขียนเป็น  เบื้องร่าง เล็ดรอด เขียนเป็น  เร็จรอด  อันตราย เขียนเป็น  อันตลาย

    การเขียนสลับพยัญชนะตัวอื่นๆ อีกประปราย  เช่น  ส่ายหัว  เขียนว่า ฉ่ายหัว  ชงัก  เขียนเป็น  สงัก  ฉับ  เขียนเป็น ชับ  ฉะนั้น เขียนเป็น ชะนั้น    ใหญ่  เขียนเป็น ใหย่  เข่า  เขียนเป็น  เค่า  ฆ่า  เขียนเป็น  ข้า  ฉิบเป๋ง  เขียนเป็น
     ชิ๊บเป๋ง  เศษแก้ว  เขียนเป็น เสธแก้ว 

    สาเหตุประการที่สาม  คือ การใช้วรรณยุกต์  โดยเฉพาะวรรณยุกต์ตรี หรือไม้ตรี  เช่น  มั้ง เขียนเป็น มั๋ง  แล้ว เขียนเป็น   แล๊ว  ม้ากมาก  เขียนเป็น   ม๊ากมาก แว้บ  เขียนเป็น   แว๊บ ยะ เขียนเป็น ย๊ะ  วู้บ เขียนเป็น วู๊บ  น้า  เขียนเป็น  น๊า  คร้าบ เขียนเป็น  คร๊าบ  สำหรับกฎช่วยจำง่ายๆ ของการใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวา คือ ใช้กับอักษรกลางเท่านั้น  ซึ่งอักษรกลางประกอบไปด้วยพยัญชนะ 9 ตัวเท่านั้นคือ ก จ ด ต ฎ ฏ บ ป อ (ไจิกเ็กายเ็กายากโอ่ง)  พยัญชนะตัวอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ใช้รูปวรรณยุกต์ตรีและจัตวาไม่ได้

    นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้วรรณยุกต์สลับกันด้วย เช่น มิ่งขวัญ  เป็น มิ้งขวัญ  หมกมุ่น  เขียนเป็น หมกหมุ้น  อุ๊ย  เขียนเป็น  อุ๋ย  นั่ง  เขียนเป็น  นั้ง ค่อม  เขียนเป็น  ค้อม นุ่ม  เขียนเป็น  นุ้ม  อ้าว  เขียนเป็น  อ่าว  นี่  เขียนเป็น  นี้  เอ๊ะ  เขียนเป็น  เอ๋ะ  เยี่ยม  เขียนเป็น  เยี้ยม  แผ่ซ่าน  เขียนเป็น  แผ่ซ้าน จั๊กจี้  เขียนเป็น  จั๊กจี๊

    สาเหตุประการที่สี่  คือ การใช้คำควบกล้ำ  พบว่าคำควบกล้ำเขียนผิดเป็นจำนวนมาก  เพราะว่าคำที่ควรมี ร หรือ ล ควบกล้ำก็ไม่ใส่  แต่คำที่ไม่ควรมีก็กลับเพิ่ม ร หรือ ล เข้าไป  เช่น  ตั้งเค้า  เขียนเป็น  ตั้งเคร้า  กลับบ้าน เขียนเป็น  กับบ้าน  พร้อม  เขียนเป็น  พ้อม  กึ่ง  เขียนเป็น  กรึ่ง  เพราะ  เขียนเป็น  เพาะ  เกาะ  เขียนเป็น  เกราะ  ก้าว  เขียนเป็น  กล้าว  ปกคลุม  เขียนเป็น  ปรกคลุม ศักดิ์ศรี  เขียนเป็น ศักศี  ทะแม่งๆ เขียนเป็น  ทะแมร่งๆ   ตี  เขียนเป็น  ตรี  ขรึม  เขียนเป็น  ขึม  ปกป้อง  เขียนเป็น  ปรกป้อง ผล็อยหลับ เขียนเป็น  ผอยหลับ กระเพราะ เขียนเป็น  กระเพาะ กะพริบ  เขียนเป็น  กระพริบ  ก้อง  เขียนเป็น  กล้อง ตะกุกตะกัก เขียนเป็น  ตระกุกตระกัก  ริมฝีปาก  เขียนเป็น  ริมฝรีปาก  ผุด  เขียนเป็น  ผรุด  แพ (ขนตายาวเป็นแพ) เขียนเป็น  แพร  กะทันหัน  เขียนเป็น  กระทันหัน  ขอบตาคล้ำ เขียนเป็น  ขอบตาค้ำ  กลางเกง  เขียนเป็น  กางเกง 

    สาเหตุประการสุดท้าย คือ  ไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องสะกดอย่างไร  เช่น ครุ่นคิด เขียนเป็น  ขุ่นคิด รสเยี่ยม  เขียนเป็น  รถเยี่ยม  น่ารัก  เขียนเป็น  หน้ารัก พฤติกรรม เขียนเป็น  พึดติกรรม พิจารณา  เขียนเป็น  พิจรณา  สรรพนาม เขียนเป็น  ชัพนาม  เหตุผล  เขียนเป็น  เหตุพน สถานการณ์  เขียนเป็น  สถานะการณ์  บรรยากาศ  เขียนเป็น  บัลยากาศ  พึมพำ  เขียนเป็น  พรึมพรัม โทรศัพท์  เขียนเป็น  โทรศับ  อรุณสวัสดิ์  เขียนเป็น  อารุณสวัส  อร่อย เขียนเป็น  อะร่อย ไอศกรีม  เขียนเป็น  ไอศครีม แคว้ก  เขียนเป็น  แขล๊วง โต๊ะ  เขียนเป็น  โตะ  สนิท  เขียนเป็น  ชนิด  ชีวิต  เขียนเป็น
    ชีวิด  อธิบาย  เขียนเป็น  อะธิบาย คณะ  เขียนเป็น  คะนะ  โชคดี  เขียนเป็น  โชกดี ขนมขบเคี้ยว เขียนเป็น  ขนมครบเครียว  โรงพยาบาล  เขียนเป็น  โรงพระยาบาน  สัมผัส  เขียนเป็น  สัมพัด  สำลัก  เขียนเป็น  สัมลัก  นอนซม  เขียนเป็น  นอนโซม  จินตนาการ เขียนเป็น จินนาการ  เสียฟอร์ม  เขียนเป็น  เสียฟรอม  ต่างๆ นานา  เขียนเป็น  ต่างๆ นาๆ  แน่น  เขียนเป็น  แหน้น  กีตาร์  เขียนเป็น  กีต่า  กุญแจ  เขียนเป็น  กุลแจ แลบ  เขียนเป็น แล็ฟ  แทรก เขียนเป็น  แซก  เข้มแข็ง  เขียนเป็น  เข้มแขง  ตรวจ  เขียนเป็น  ตรว  นิดหน่อย เขียนเป็น  นิทหน่อย  ประสาน  เขียนเป็น  ประสาร  หยิบ  เขียนเป็น  ยิบ  หนังสือ  เขียนเป็น  หังสือ  เลข  เขียนเป็น  เลก  เคร้าเตอร์  เขียนเป็น  เค้าท์เตอร์  กังวล  เขียนเป็น  กังวน   ทิศ  เขียนเป็น  ทิตย์  กะจิตกะใจ เขียนเป็น กะจิดกะใจ  ภายใน  เขียนเป็น  พายใน  ทาน  เขียนเป็น  ทาร ฉลอง เขียนเป็น  ฉะลอง  ทะนุถนอม  เขียนเป็น  ถนุถนอม สรรหา  เขียนเป็น  สันหา ของขวัญ  เขียนเป็น  ของขวัน  คว่ำ  เขียนเป็น  คว้ม  สูดน้ำมูก  เขียนเป็น  สูบน้ำมูก  พะรุงพะรัง  เขียนเป็น  มะลุงมะลัง  สะกด เขียนเป็น  สกด ยางแตก  เขียนเป็น  อยางแตก  อุปกรณ์  เขียนเป็น  อุปกร  มารยาท  เขียนเป็น  มารญาด หรือ มาละญาติ  เอนดู  เขียนเป็น  เอ็นดู  ซ่อม  เขียนเป็น  ส้อม  บันได  เขียนเป็น  บรรได    เกร็ง  เขียนเป็น  เกรง  โจทก์  เขียนเป็น  โจต  กำลัง เขียนเป็น กลัง

    ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า time_koi  ควรที่จะใส่ใจและให้ความสำคัญกับการสะกดคำให้มากกว่านี้ โดยอาจจำเป็นต้องตรวจสอบการสะกดคำต่างๆ กับพจนานุกรมอยู่เสมอ  ขณะเดียวกันก็ควรอ่านหนังสือให้มากขึ้น  เพราะการอ่านนับเป็นทางลัดที่ช่วยให้ได้เรียนรู้การเขียนคำที่ถูกต้องอีกทางหนึ่งด้วย   การเขียนคำผิดเป็นจำนวนมากเช่นนี้ลดทอนความน่าสนใจของเรื่องลงอย่างน่าเสียดาย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านบางคนไม่เลือกอ่านงานเรื่องนี้ต่อไป  แม้ว่าเนื้อเรื่องจะสนุกหรือชวนติดตามสักเพียงใดก็ตาม

     

    --------------------------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×