ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #77 : ใต้เงาซากุระ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 147
      0
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/Farra_jung/story/view.php?id=781151


    ใต้เงาซากุระ

                นิยายเรื่องใต้เงาซากุระเขียนจบในส่วนภาคแรกซึ่งมีเจ็ดตอนและภาคสองเขียนถึงตอนที่สิบสี่ ใต้เงาซากุระเป็นเรื่องราวความรักของฮาระ อิชิกิ(นางเอก) กับ นิชิดะ  ฮิโรทากะ(พระเอก) สองหนุ่มสาวจากตระกูลซามูไรที่มีหน้ารับผิดชอบต่อตระกูลซามูไรของตนเองและการรับใช้นายอย่างภักดีตามแบบวิถีแห่งซามูไร การดำเนินเรื่องอยู่ภายใต้สงครามเก็นเปน ซึ่งเป็นสงครามการแก่งแย่งชิงอำนาจของขุนนางตระกูลต่างๆ รวมถึงการพยายามรักษาอำนาจและสถานภาพของจักรพรรดิญี่ปุ่น ภาคแรกเป็นการดำเนินเรื่องราวความรักที่สดใส มิตรภาพระหว่างเพื่อน และความรักสามเส้าระหว่างพระเอก นางเอก และโซตะ บุตรชายคนเล็กแห่งตระกูลซามูไรโอโนะ ในภาคสองของนิยายมีความเข้มข้นขึ้น แม้ว่าความรักของอิชิกิและฮิโรทากิจะสมหวังและได้แต่งงานกัน แต่สิ่งนั้นอยู่ท่ามกลางความสูญเสียทั้งของตระกูลฮาระและนิชิดดะจากสงครามเก็นเปน และอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามาเพื่อที่จะพิสูจน์ความรักของพระเอกและนางเอกมีต่อกันและการร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคของทั้งสองจะมีเรื่องราวความน่าประทับใจอย่างไร และจุดจบความรักของพระเอกและนางเอกเป็นอย่างไรเราคงต้องติดตามกันต่อไป

                ผู้เขียนดำเนินเรื่องจากภาคแรกและภาคสองมาถึง 21 ตอนแล้ว เรื่องน่าจะดำเนินมาถึงกลางเรื่องแล้ว แต่การดำเนินเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้ช้ามาก ไม่เห็นพัฒนาการด้านความรัก ความเข้าใจ การฝ่าฟันปัญหาของพระเอกและนางเอกเท่าไรนัก ผู้เขียนยังคงเพิ่งดำเนินโครงเรื่องหลักที่ให้พระเอกและนางเอกต้องฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาร่วมกันท่ามกลางสงครามเก็นเปน และอุปสรรคและปัญหาที่ผู้เขียนผูกปมกลับส่งผลให้คนรอบข้างเจ็บปวดเสียมากกว่าตัวละครเอกเสียอีก เช่นเมื่อบิดาของนางเอกเสียชีวิตจากการทำสงคราม ผู้เขียนได้บรรยายเน้นย้ำว่าแม่ของนางเอกเศร้าโศกเสียใจถึงต้องลาบวชชี ในขณะที่นางเอกซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวและใกล้ชิดกลับทั้งผู้เป็นพ่อและแม่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบนี่เลย หรือความขัดแย้งในชีวิตสมรสของนิชิดะ คาสึโนริ น้องชายของพระเอก กับ มิยาบาระ นานาเสะ จนถึงการตายของคาสึโนริ ซึ่งผู้เขียนตั้งปมปัญหาว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากทั้งพระเอกและนางเอก แต่พระอกและนางเอกไม่ตระหนักว่าความสูญเสียนั้นเกิดขึ้นเพราะมีเหตุมากจากตนเองด้วย ประเด็นนี้ผู้วิจารณ์ยังไม่แน่ใจว่าผู้เขียนจะเก็บให้เป็นปมปัญหาในตอนต่อไปหรือไม่

    ผู้เขียนเลือกเขียนนิยายแนวย้อนยุคโดยเลือกที่จะใช้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงสงครามเก็นเปนเป็นฉากหลังที่สำคัญ และให้การฝ่าฟันความรักของพระเอกกับนางเอกเป็นตัวดำเนินเรื่องที่สำคัญ ผู้วิจารณ์ต้องชมผู้เขียนว่า การเขียนเรื่องย้อนเวลา วัฒนธรรม วิถีชีวิต ของคนชาติอื่นซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากต้องมีการค้นคว้าข้อมูล ศึกษา เพื่อที่จะทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และนำมาเขียนเป็นนิยาย ในส่วนนี้ผู้เขียนศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดีมาก แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องตระหนักว่าตนเองกำลังเขียนนิยาย การเขียนนิยายไม่ควรใส่เชิงอรรถ ดังนั้นข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้า ศึกษามาทุกอย่างนั้นควรจะแทรกข้อมูลความรู้เหล่านี้กลมกลืนเป็นเนื้อเรื่องเดียวกับนิยาย ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต การแต่งกาย อาวุธ ข้าวของเครื่องใช้ และอาหารการกิน ข้อปกพร่องในประเด็นที่ผู้เขียนควรปรับแก้ เช่น ผู้แต่งสามารถที่จะอธิบายความเป็นมาและการดำเนินของสงครามเก็นเปนนี้ได้ในฉากต่างๆ ของนิยาย หรือจะให้ตัวละครเป็นผู้เล่า หรือสนทนากับตัวละครอื่นเกี่ยวกับสงครามนี้ก็ได้ การที่ผู้เขียนใช้เชิงอรรถในการอธิบายความทำให้เสียอรรถรสในการอ่านอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการอ่านบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ต้องมาตามอ่านเชิงอรรถอธิบายซึ่งอยู่ในช่วงท้ายสุดทำให้การอ่านสะดุดไม่ต่อเนื่อง บางครั้งต้องยอมรับว่าไม่ได้ตามไปอ่านในเชิงอรรถที่ให้ไว้ จึงอยากให้ผู้เขียนปรับปรุงในส่วนนี้ ทั้งนี้เข้าใจว่าผู้เขียนเสียดายข้อมูลที่ค้นคว้ามา แต่ต้องไม่ลืมว่าข้อจำกัดในการแต่งนิยาย คือการสกัดบางส่วนที่ค้นคว้ามาเพื่อสร้างความสมจริงให้กับเรื่องเท่านั้น มิใช่นำเสนอความจริงทั้งหมดที่ค้นคว้ามาได้จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้ามาไม่ได้นำมาใช้เพื่อการเขียนนิยายเรื่องนี้อย่างเต็มที่

    รูปแบบการเขียนบรรยาย กับ การสนทนา ผู้เขียนมักจะเว้นบรรทัดแยกจากกัน ซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสับสนหลายครั้ง จึงเห็นว่าหากเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันผู้เขียนไม่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ก็ได้ เพราะจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเป็นส่วนที่ขึ้นบรรทัดใหม่เป็นความที่แยกออกจากกันไม่เกี่ยวข้องกัน และหากยังเป็นการบรรยายเรื่องเดียวกันอยู่ก็ไม่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่ เนื่องจากจะทำให้การอ่านขาดอรรถรส เพราะถูกขัดจังหวะและทำให้การอ่านขาดเป็นช่วงๆ

    จุดอ่อนอีกจุดประการหนึ่งคือ การเขียนบรรยายฉากและบรรยากาศ เนื่องผู้เขียนบรรยายฉากและสถานที่ต่างๆ น้อยมากทำให้ผู้อ่านไม่สามารถสร้างจินตนาการได้ว่าเรื่องนั้นดำเนินในสถานที่มีลักษณะเช่นไร เช่นทะเลโอซึ่งเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของทั้งพระเอกและนางเอก แต่ผู้เขียนบรรยายสถานที่แห่งนี้น้อยมากจนไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสถานที่อันน่าประทับใจและเป็นฉากที่มีความสำคัญของนิยายเรื่องนี้  นอกจากนี้ยังรวมถึงการบรรยายลักษณะท่าทาง การแต่งกาย เสื้อผ้า ทรงผม การแต่งหน้า เครื่องประดับต่างๆ ของตัวละครที่มีการบรรยายน้อยเช่นกัน จึงอยากให้เพิ่มรายละเอียดในการบรรยายในส่วนนี้เข้าไปจะช่วยให้ผู้อ่านใกล้ชิดและมีความรู้สึกร่วมกับนิยายเรื่องนี้ได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนบรรยายได้เป็นอย่าดีคืออารมณ์ของตัวละคร ที่ผู้เขียนอาจเน้นและให้ความสำคัญมาก

    แม้ว่านิยายเรื่องนี้จะเน้นเรื่องความรักระหว่างพระเอกและนางเอก แต่ผู้เขียนกลับให้ความสำคัญกับตัวละครอื่นมากกว่าและบรรยายตัวละครอื่นๆได้ดี เช่นนี้กลบบทบาทของพระเอกและนางเอก จนรู้สึกว่าบทบาทของพระเอกในเรื่องมีน้อยไปหรือไม่ เนื่องจากผู้เขียนให้พระเอกเป็นซามูไรในตระกูลเก่าแก่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบที่สำคัญมากมาย แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะบรรยายรายละเอียดต่างๆ ว่าพระเอกทำอะไรบ้างจะเห็นได้ว่ามีเพียงการอธิบายว่าพระเอกต้องไปออกรบเป็นประจำตามคำสั่งของขุนนางที่ตระกูลตนเองจงรักภักดี และมีหน้าที่รับผิดชอบใดภาระการทำงานอื่นๆ ของพระเอกที่ดูกลายเป็นความลับไปเพราะแม้แต่นางเอกผู้เป็นภรรยาร่วมทุกข์ร่วมสุขยังไม่รู้ ซึ่งประเด็นนี้เองที่เป็นข้อขัดแย้งของเรื่องนี้ เพราะผู้เขียนให้นางเอกซึ่งเป็นคนในตระกูลซามูไรและได้รับการฝึกฝนอย่างซามูไร แต่กลับไม่มีส่วนร่วมหรือรับรู้ในหน้าที่การงานของผู้เป็นสามีรวมถึงความเป็นไปของบ้านเมือง แม้ว่าผู้เขียนอธิบายไว้แล้วว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องบ้านเมืองหรือภาระหน้าที่การงานของผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีข้อย้อยแย้งขึ้นกับตัวนางเอกเสนอที่จะไปออกรบกับสามี แม้ว่าผู้เขียนจะให้นางเอกจะได้รับการฝึกอย่างซามูไร แต่ไม่ได้เกริ่นนำมาก่อนว่านางเอกมีความสนใจในด้านการทำสงคราม รู้กลยุทธ์ทางด้านสงครามหรือการเมือง แม้แต่แรงผลักดันที่ให้นางเอกต้องการออกรบร่วมกับสามี ทำให้ผู้วิจารณ์ยังไม่เห็นเหตุผลที่นางเอกจะขอออกรบร่วมกับพระเอก การที่นางเอกขอร่วมออกรบจึงเป็นการดำเนินไปตามโครงเรื่องหลักที่ผู้เขียนได้วางไว้เท่านั้น

    ประเด็นที่ผู้เขียนต้องระวังคือการใช้คำ โดยเฉพาะคำที่ใช้แสดงในการลำดับญาติ ข้อผิดพลาดเช่น การที่หลานชายของนางเอกซึ่งเกิดจากพี่ชายคนโตเรียกนางเอกว่า “ท่านน้า” ตามการลำดับญาติน้องของพ่อไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เรียกว่า “อา” เพราะฉะนั้นลูกของพี่ชายนางเอกจะต้องเรียกนางเอกว่า “ท่านอา” ซึ่งอาจะเติมเป็น “ท่านอาหญิง” ก็ได้ และ อีกจุดหนึ่งในคืนวันแต่งงานระหว่างชิอากิกับฮิโรทากะ ฮิโรทากะเรียกคาซากิ ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตชิอากิว่า “ท่านพี่เขย” คาซากินั้นมีศักดิ์เป็น “พี่ภรรยา” ของฮิโรทากิ แค่คำว่าพี่เขยเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลที่เป็นสามีของพี่สาว

    นอกจากนี้ผู้เขียนยังสับสนกับคำที่ใช้เรียกที่พักอาศัย เนื่องจากผู้เขียนใช้ทั้ง คฤหาสน์ เรือน ปราสาท ตำหนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงคำเหล่านี้มีลักษณะการใช้ในเฉพาะความหมายที่ต่างกันคือคฤหาสน์ใช้เรียกที่อยู่อาศัยของขุนนาง ซึ่งในคฤหาสน์จะมีที่พักแยกออกเป็นส่วนต่างๆ ส่วนนี้เรียกว่าเรือน ส่วนปราสาทเป็นที่อยู่อาศัยของจักรพรรดิ เชื้อพระวงศ์ โชกุน เช่นเดียวกันจะมีส่วนที่พักอาศัยแยกออกเป็นส่วนๆ เรียกว่าตำหนัก  ผู้เขียนต้องระวังในส่วนนี้ด้วย

    การใช้คำอธิบายขยายความของผู้เขียน ผู้วิจารณ์สังเกตว่าผู้เขียนมักจะมีคำขยายที่ไม่เข้ากัน เช่น ดวงตาประกายระริก เมื่อผู้เขียนใช้คำว่าริกขยายคำว่าประกายแล้ว ความหมายที่ออกมาไม่ใช่หมายถึงความสว่างสดใสอย่างที่ผู้เขียนต้องการแต่เป็นว่าดวงตาที่สว่างที่ไม่อยู่นิ่ง ผู้เขียนยังใช้คำว่า กริ่งเกรง เพื่อเลี่ยงใช้คำว่าเกรงกลัว เกรงขาม แต่ความหมายนั้นมีความหนักแน่นไม่เท่ากับสองคำหลัง และผู้เขียนยังมักใช้กริยา “ตวัด” กับอากัปกริยาที่ต้องเคลื่อนที่ เช่น ตวัดตา ตวัดตัวขึ้นหลังม้า ตวัดดาบ ผู้เขียนควรจะเลือกใช้คำอื่นที่มีความหมายที่เหมือนกัน ใกล้เคียงกัน และให้ความหมายที่ถูกต้องกว่า เพราะไม่ใช้คำว่าตวัดตา หรือตวัดตัว แต่ตวัดใช้กับดาบ ดังนั้นควรใช้ เหลือบตา ปรายตา สะบัดตา หรือ เหวี่ยงตัวขึ้นหลังม้า ในส่วนการเขียนคำผิดมีน้อยมากซึ่งผู้เขียนได้ตรวจทานมาเป็นอย่างดี

                สิ่งที่ผู้วิจารณ์อยากแนะนำในการเขียนนิยายย้อนยุคว่า ถ้าหากผู้เขียนได้เก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่เขียนมาเป็นอย่างดีแล้ว ผู้เขียนไม่ต้องกลัวในการนำข้อมูลต่างๆ มาเขียนเป็นนิยายในแนวทางของตัวเอง การจะสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่เพื่อให้สัมพันธ์กับบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ หรือจะสร้างเหตุการณ์ใหม่ให้มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องมีความสอดคล้องกัน เป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้ผู้อ่านเชื่อ คุณอสิริยาผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ยังมีความกลัวในประเด็นนี้อยู่มากจึงได้บรรยายเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เป็นเชิงอรรถอธิบาย ผู้เขียนควรจะนำข้อมูลและข้อเท็จจริงในอดีตมาหลอมรวมกับจินตนาการของตนเองเพื่อสร้างงานเขียนที่มีคุณภาพในด้านบันเทิงและยังให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย หากทำได้สมดุล งานเขียนนั้นจะเป็นงานเขียนที่มีคุณภาพได้ไม่ยาก

     

                             

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×