ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #54 : Adit Bow [เอดิท โบล] ; เด็กล้างจานผู้ยิ่งใหญ่

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 176
      0
      9 ส.ค. 55

    ลิงก์นิยาย http://writer.dek-d.com/half_blood/story/view.php?id=161127

               ความรู้สึกแรกเมื่อได้อ่านชื่อเรื่อง Adit  Bow [เอดิท โบล] ; เด็กล้างจานผู้ยิ่งใหญ่ นิยายของ ~นางฟ้าซาตาน~ คือ นิยายเรื่องนี้น่าจะมีความแตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ ในเด็กดี ที่มักจะวางตัวละครเอกในนิยายให้เป็นคนที่มีความสามารถมาตั้งแต่ต้น  ในแบนเนอร์ของนิยายเรื่องนี้ที่นักเขียนนำมาฝากไว้ ระบุเพียงว่า “คนที่ต่ำต้อยในสายตาใครๆอย่างเธอ จะต่อสู้เพื่อฝันและการยอมรับได้มั้ย..” จึงเข้าใจว่า จะได้อ่านเรื่องราวชีวิตของเด็กล้างจานที่ไต่เต้าขึ้นมาจนได้รับการยอมรับในสังคม

              ทว่าเมื่อได้เข้ามาอ่านนิยายเรื่องนี้จริงๆ ก็ปรากฏว่าเนื้อเรื่องของนิยายผิดไปจากความคาดหวังประมาณครึ่งหนึ่ง ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่านักเขียนแต่งได้ไม่ดี แต่ข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้นไม่ชวนให้คิดว่าจะได้อ่านนิยายแนว “แฟนตาซีโรงเรียน” ผมกลับจินตนาการว่าจะได้อ่านเรื่องราวของเด็กล้างจานในร้านอาหารที่ไต่เต้าจนได้เป็นเจ้าของภัตตาคารอะไรทำนองนั้น แต่ก็ปรากฏว่านิยายเรื่อง เอดิท โบล คือนิยายแนวแฟนตาซีโรงเรียนเต็มตัว  หากจะต้องแนะนำการประชาสัมพันธ์นิยายออนไลน์แล้วล่ะก็ ผมคิดว่าผู้เขียนน่าจะต้องระบุแนวเรื่องให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อป้องกันความผิดหวังของผู้ที่อยากอ่านนิยายแนวอื่นมากกว่าแนวแฟนตาซี

              อย่างไรก็ตาม เนื้อหาโดยรวมของ Adit  Bow [เอดิท โบล] ; เด็กล้างจานผู้ยิ่งใหญ่ ก็ยังคงเป็นไปตามคำแนะนำเรื่องในแบนเนอร์ คือเป็นเรื่องราวของสาวน้อยชื่อ เอดิท โบล เธอเป็นเด็กล้างจาน ที่ต้องการการยอมรับ ด้วยการสอบเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ที่ชื่อเฮอร์เซโกวีน่า ซึ่งเป็นโรงเรียนของชนชั้นสูง เธอจึงได้รับการดูถูกเหยียดหยาม อีกทั้งยังสอบตก ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าโรงเรียนถึงสามครั้งกว่าจะผ่านในครั้งที่สี่

              สิ่งที่เอดิท โบล ทำให้ผมแปลกใจ คือ ถึงแม้เธอจะมีนิสัยและท่าทางที่แข็งกร้าว และไม่ยอมลดละความพยายาม แต่การที่นักเขียนบอกว่า การเข้าเรียนที่โรงเรียนนี้เป็นความฝันของเธอ ก็ยังไม่รู้สึกว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการสอบครั้งแรกถึงครั้งที่สาม เกิดจากความต้องการของมารดา (เอ็มม่า โบล) ที่จะใช้ข่าวของเธอในการประชาสัมพันธ์โรงแรม ที่ในนิยายเรียกว่าโรงเตี๊ยม (คำเรียกดังกล่าวก็เป็นอีกอย่างที่แปลกใจ เพราะเป็นแนวแฟนตาซีตะวันตกเต็มตัว ไม่ใช่นิยายจีน)  ความต้องการของเอดิทที่จะสอบเข้าเฮอร์เซโกวีน่าหรือเฮอร์เซนด้วยตนเองเพิ่งจะมีในการสอบครั้งที่สี่ ซึ่งเท่าที่อ่านทำให้เข้าใจว่า การสอบครั้งที่สี่เป็นความไม่ยอมแพ้ของเอดิท มากกว่าจะเป็นความฝันของเธอ  หากผู้เขียนต้องการให้การเข้าเรียนที่นี่เป็นความฝันของเธอ ก็น่าจะให้เหตุผลในการสอบเข้าทั้งสี่ครั้ง (หรือสามครั้งหลัง) มาจากความต้องการของเธอเองมากกว่าที่จะเป็นของมารดา

    นอกจากนี้ ความเป็นเด็กล้างจานของเธอก็ยังมีข้อกังขาอยู่ เพราะเป็นถึงลูกสาวเจ้าของโรงแรม จะมีหน้าที่เป็นเด็กล้างจานเท่านั้นหรือ  หากผมเป็นเอ็มม่า คงจะให้เอดิทต้องฝึกงานหลายอย่างมากในโรงแรมเพื่อจะรับช่วงต่อจากตนเอง และคงจะให้เอดิทได้ออกหน้าในสังคมด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าจะให้ลูกสาวของตนเองต้องเป็นที่ดูถูกเหยียดหยาม ทั้งในเหตุผลทางธุรกิจและความเป็นแม่ (ที่ไม่มีพ่อช่วยเลี้ยงอีกด้วย)  จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่ทำให้เอ็มม่าอยากให้ลูกสาวของตนเป็นเด็กล้างจาน และไปสมัครสอบเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ หากจะให้เอดิทไปสอบเข้าจริงๆ ก็น่าจะเป็นเพราะอยากให้ลูกสาวของตนได้ดี มากกว่าที่จะเป็นแผนการตลาด ดังที่นักเขียนกล่าวอ้าง

    ด้วยความที่นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องของชนชั้นล่างที่ไปสอบเข้าโรงเรียนเวทมนตร์ชั้นสูง จึงอดเปรียบเทียบกับ “หัวขโมยแห่งบารามอส” ไม่ได้ เรียกได้ว่านิยายเรื่องนี้มีกลิ่นของ “หัวขโมยแห่งบารามอส” อยู่ค่อนข้างมากทีเดียว ทั้งในด้านของความเป็นชนชั้นล่างที่ต้องไปอยู่ในโลกของชนชั้นสูง ความรู้สึกเวลาอ่านที่รื่นไหล และมีลักษณะเหมือนกับอ่านนิยายแปล แต่เอดิท โบล เองก็มีความแตกต่างจากหัวขโมยแห่งบารามอสอยู่ที่ลักษณะของโรงเรียนที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นบ้านหรือหอ และดูเหมือนว่านักเขียนจะเน้นให้เอดิทต้องเจ็บตัวในการเรียนแทบจะทุกวิชา นอกจากวิชาปรัชญา ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ ที่จะให้ตัวละครเอกมีฝีมือมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้อ่านได้พยายามร่วมไปกับเอดิท ก็ถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของนิยายเรื่องนี้ทีเดียว  นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่มาเพิ่มเสน่ห์ให้กับเรื่องคือ มหาดเล็กของเอดิทที่มีชื่อว่าลิตเติลสปูน ซึ่งเหมือนกับเธอคือเป็นชนชั้นล่างที่ต้องดิ้นรนเช่นกัน และเป็นคนที่มีความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อย นักเขียนสามารถแต่งให้เห็นถึงบุคลิกของลิตเติลสปูน หนุ่มน้อยที่ทำงานในหน้าที่อย่างตั้งใจ และมีความน่าเอ็นดู ได้อย่างเห็นภาพ ถือได้ว่าเป็นสีสันอย่างหนึ่งของเรื่องนี้

    รายละเอียดเรื่องเรียนแต่ละวิชาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักเขียนใส่ใจ ในวิชาเวทมนตร์ นักเขียนได้ให้ภาพของการเริ่มต้นศึกษาเวทมนตร์ที่น่าสนใจและแปลกใหม่สำหรับเวทมนตร์ที่มีพื้นฐานจากธาตุ ที่ให้ไปเริ่มต้นจากธาตุที่ถูกเก็บไว้ในขวดแก้ว ธาตุเหล่านั้นมีสีสันและความเคลื่อนไหวไปตามเอกลักษณ์ของตนเอง ต้องขอยอมรับว่าผมไม่เคยอ่านพบการเรียนเวทมนตร์เช่นนี้ที่ใดเลย และต้องการที่จะอ่านวิธีการเรียนเวทมนตร์ในเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ น่าเสียดายว่าเมื่อเอดิทเกือบจะถูกธาตุไฟฆ่า ทำให้การเรียนเวทมนตร์ต้องหยุดชะงักไป  ขณะที่วิชาต่อสู้ป้องกันตัว ก็ให้รายละเอียดของการที่ต้องฝึกฟันหุ่นไม้ได้อย่างน่าสนใจ มีการอธิบายสาเหตุที่ผู้ฝึกการต่อสู้ต้องฝึกฟันหุ่นไม้ซ้ำๆ ว่ามีความจำเป็นอย่างไร ในขณะที่อาจารย์ผู้สอนไม่ยอมบอกสาเหตุนั้น กลับต้องเป็นเพื่อนในชั้นเรียนที่มาอธิบายแทน ก็ทำให้รู้สึกเหมือนชมภาพยนตร์กำลังภายในแบบคลาสสิกที่อาจารย์เอาแต่สั่งโดยไม่เคยอธิบายเหตุผล

    อีกเรื่องหนึ่งคือการเลี้ยงและควบคุมม้า นักเขียนได้ให้ภาพที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของม้าแต่ละตัว โดยเฉพาะตัวเด่นคืออัสลานและแบล็คไฟร์นั้นเห็นภาพชัดเจนมาก ตลอดจนสภาพของคอกม้าและตลาดขายม้า และวิธีการดูแลรักษาม้า ก็ทำให้รู้สึกว่าผู้เขียนเรื่องนี้ “ทำการบ้าน” มาดีมาก นอกจากนี้ยังมีการบรรยายการแต่งกายของตัวละครแบบต่างๆ ที่มีรายละเอียดของเสื้อผ้าชิ้นต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีเช่นกัน

    อีกประเด็นหนึ่งที่อยากกล่าวถึงคือชื่อสถานที่ในเรื่องนี้เป็นชื่อที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เฮอร์เซโกวีน่า (อดีตหนึ่งในหกสาธารณรัฐของยูโกสลาเวีย มีชื่อเต็มว่าบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา) และไฮเดนเบิร์ก (เมืองหนึ่งในเยอรมนี) ผมมีความเห็นว่าหากไม่ได้ตั้งใจให้เรื่องนี้เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ก็น่าจะตั้งชื่อเมืองใหม่เลย  แต่อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวว่าโลกของเอดิท โบล คือโลกสมมติที่สถานที่ต่างๆ เหล่านั้น “บังเอิญชื่อเหมือน” ผมก็คงจะโต้แย้งอะไรไม่ได้

    สิ่งที่อยากชื่นชมนิยายเรื่องนี้อีกประการหนึ่งคือความน่าติดตาม เพราะนักเขียนได้ทิ้งปมให้ผู้อ่านใคร่รู้อยู่หลายปม ตั้งแต่ ใครคือบิดาของเอดิท เพราะเหตุใดธาตุไฟจึงพยายามฆ่าเธอ ความฝันเมื่อหลับของเอดิทที่เห็นแสงสีแดง และเวทมนตร์ครันทาราคืออะไร มีความพิเศษอย่างไร เป็นต้น  ผมหวังว่านักเขียนคงจะคลี่คลายปมเหล่านี้ได้อย่างสมเหตุสมผล และน่าจะค่อยๆ สางปมเหล่านี้ไประหว่างทาง มากกว่าที่จะเป็นการเฉลยรวดเดียวตอนจบ เพราะผู้อ่านก็จะมีความสนุกจากการร่วมไขปริศนาในเรื่องไปด้วย

    ด้านคำผิดที่ปรากฏในเรื่องนี้มีไม่มากนัก เช่น ฉัน เขียนเป็น ชั้น จอมเวท เขียนเป็น จอมเวทย์ เป็นต้น สำนวนแปลกๆ เช่น เคาะประตูจนมือจะเป็นม่าย น่าจะเป็น เคาะประตูจนมือจะเป็นง่อย มากกว่า  นอกจากนั้นเป็นคำที่ไม่ตั้งใจพิมพ์ผิด เช่น เปลื้อน ที่ถูกคือ เปื้อน เป็นต้น จึงขอให้นักเขียนแก้ไขและตรวจทานให้ถูกต้อง ก็จะทำให้นิยายเรื่องนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีก

     

    -------------------------
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×