ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    วิจารณ์นิยาย

    ลำดับตอนที่ #51 : Mystic War ศึกมนตรามหาเวท ภาค เปิดตำนานมหานครแห่งคำสาป

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 226
      0
      12 ม.ค. 54

      

    นิยายแฟนตาซีของ [M]ysticz  เรื่อง  Mystic War ศึกมนตรามหาเวท  นับเป็นนิยายเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง  เพราะขณะนี้เพิ่งจะนำเสนอภาคหนึ่ง คือ  ภาคเปิดตำนานมหานครแห่งคำสาป  และเพิ่งโพสต์ถึงตอนที่ 14 เท่านั้นเอง  ในภาคนี้เป็นเรื่องของข้อพิพาทระหว่างมหานครใหญ่ของแห่งในโลก ซึ่งเป็นปรปักษ์กันมาตลอด   คือ มหานครยูเร  ที่ส่งกำลังมาทวงถามแหวนสำคัญของตนที่หายไปจากมหานครแกรนด์เอสต้า เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ ลุค หัวหน้าศาสตราแห่งศิลาธาตุ ของสภาการปกครอง ต้องกลายเป็นเด็กและเข้าเรียนที่โรงเรียนเวทมนตร์ยูเรพาเลซ ของมหานครยูเร  เพื่อปฏิบัติภารกิจแก้แค้นต่อไป

                ในขณะที่อ่านชื่อเรื่องและบทนำก็คิดว่านิยายแฟนตาซีเรื่องนี้จะหลีกหนีเรื่องราวของโรงเรียนเวทมนตร์พ้น  แต่เพียงแค่บทที่ 3 เรื่องก็กลับวกเข้าสู่แนวโรงเรียนเวทมนตร์อีกครั้ง  แม้ว่าครั้งนี้  [M]ysticz  จะสร้างความแตกต่างด้วยการให้ ลุค ตัวละครเอกเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องกลับมาเป็นเด็กอีกครั้ง   แต่การทำเช่นนี้ไม่อาจนับว่าแตกต่างมากนัก  เพราะวิธีการดังกล่าวก็นับว่าเป็นที่นิยมในหมู่นักเขียนแฟนตาซีคนอื่นๆด้วยเช่นกัน  จึงอยากเห็นว่า  [M]ysticz   จะมีวิธีการใดที่จะทำให้นิยายเรื่องนี้แหวกแนวไปจากนิยายแฟนตาซีแนวโรงเรียนที่นิยมเสนอกันอยู่

    ด้วยเหตุที่ว่านิยายเรื่องนี้เพิ่งดำเนินไปแค่ช่วงต้นเรื่องเท่านั้น  จึงยังไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ให้เห็นในหลากหลายประเด็นได้  ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะประเด็นที่เด่นชัดและมีมุมมองที่น่ากล่าวถึง  ประเด็นแรกคือ  สภาการปกครอง  เนื่องจากในช่วงต้น [M]ysticz  สร้างเงื่อนไขเกี่ยวกับสภาการปกครองว่ามีหน้าที่ค้ำจุนความยุติธรรม และกลั่นกรองข่าวสารสำคัญจากทั่วโลก  และทำหน้าที่เชื่อม 2 มหานครที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน  คือมหานครแกรนด์เอสต้า และ มหานครแห่งยูเร จนดูประหนึ่งว่า สภาการปกครองเป็นหน่วยงานกลางระหว่างมหานครทั้งสอง   แต่เมื่ออ่านต่อไปกลับรู้สึกว่า  สภาการปกครองมิได้เป็นกลางอย่างแท้จริง  แต่กลายเป็นหน่วยงานหนึ่งของมหานครแกรนด์เอสต้าไป  จึงไม่ทราบว่า [M]ysticz มีความต้องการจะให้สภาการปกครองอยู่ในฐานะใดกันแน่ 

    ประเด็นที่สอง คือ  การสร้างปริศนา และการใช้คำทำนายมาเป็นตัวดำเนินเรื่องสำคัญ  เพื่อสร้างความน่าตื่นเต้น  ขณะเดียวกันก็ชวนให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้และใคร่ติดตาม  นับตั้งแต่ปริศนาการหายไปของแหวนแห่งยูเร  ว่าแท้ที่จริงแล้วใครเป็นผู้ขโมยไป หรือว่าคำทำนายแห่งเทพเจ้าว่า  ศาสตร์เวทที่คิดขึ้นใหม่ศาสตร์ใดที่จะเป็นกุญแจสำคัญของสงครามทั้งหมด  หรือคำทำนายที่อ่านได้จากหินทำนายที่ว่า สงครามระดับโลกจะถือกำเนิดขึ้น  จากบุคคลผู้มีอำนาจที่กุมพลังของเครื่องรางแห่งวิญญาณเอาไว้  การสูญเสียและหายนะจะตามมา  แต่บุคคลผู้ถูกเลือกจะต้องเสียสละชีวิตเพื่อให้โลกของเราปกติดังเดิม  แม้ว่า [M]ysticz   จะสามารถสร้างปริศนาและคำทำนายที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเขารีบเฉลยปริศนาและบอกใบ้คำสำคัญในคำทำนายต่างๆ เร็วเกินไป  จนทำให้ผู้อ่านไม่ต้องรอลุ้นหรือคาดเดามากเท่าใดนัก  เช่น ผู้ที่ขโมยแหวนแห่งยูเรไปก็คือ คริสเตียน  อัครเสนาบดีของมหานครยูเร  ศาสตร์เวทอันใหม่ คือ ศาสตร์เวทแห่งกาลเวลา  และผู้ที่ถูกเลือกก็คือ ลุค   โดยส่วนตัวเห็นว่า  [M]ysticz   ไม่ควรรีบเฉลย แต่สามารถที่จะพัฒนาปริศนาและคำทำนายต่างๆเหล่านี้ต่อไปได้อีกระยะหนึ่งก็จะช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและติดตามอ่านงานต่อไปอย่างใกล้ชิดได้  ขณะเดียวกันอาจจะสร้างทางแยกต่างๆ เพื่อหลอกให้ผู้อ่านคาดเดาไปยังบุคคลหรือปริศนาอื่นๆ จนพัฒนาไปจนถึงจุดสูงสุดของเหตุการณ์ก่อนแล้วค่อยเฉลยก็ยังไม่สายเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านสนุกไปกับการคาดเดา และการพยายามไขปริศนาด้วยตนเองมากกว่านี้

    ประเด็นที่สาม คือ การสมเหตุผล  ในเรื่องพบว่ามีเหตุการณ์บางตอนที่ยังไม่สมเหตุผลอยู่  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การที่สังฆราชแห่งมหานครยูเรยังคงเก็บความลับว่าผู้ใดเป็นผู้ขโมยแหวนแห่งยูเรไป  ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรายงานต่อพระราชาให้ทราบ เพราะผลกระทบที่จะเกิดตามมานั้นสร้างความหายนะและความเสียหายให้แก่ราชอาณาจักรได้  ขณะเดียวกันผู้ที่ขโมยไปก็เป็นถึงผู้ที่มีอำนาจและกุมกำลังส่วนหนึ่งไว้  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นคนสำคัญที่พระราชาของมหานครยูเรให้ความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย  โดยส่วนตัวเห็นว่า  หากคริสเตียนเป็นผู้ขโมยและทราบว่าสังฆราชรู้ความลับนี้ของตน  เขาน่าที่จะฆ่าสังฆราชปิดปากไปเลย  หรือไม่ก็คุมขังไม่ให้สังฆราชได้พบกับพระราชาอีกต่อไป   เพราะเขาต้องทำให้แน่ใจว่าการกระทำของเขายังไม่ถูกเปิดเผยในเร็ววันนี้

    ประเด็นต่อไปคือ  [M]ysticz  ให้ความสำคัญกับภาษาบรรยายมาก  ซึ่งเห็นได้ถึงความพยายามในการเขียนบทบรรยาย ทั้งในส่วนของการบรรยายตัวละคร  ฉาก และสถานการณ์ต่างๆ  การเน้นความสำคัญในประเด็นนี้ของ [M]ysticz  ช่วยให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการตามได้ไม่ยากนัก  และบางครั้งยังช่วยให้ผู้อ่านรู้สึกประหนึ่งว่ามีส่วนร่วมชมเหตุการณ์นั้นด้วยตนเอง  โดยเฉพาะการบรรยายฉากสถานที่และฉากการต่อสู้ต่างๆ   อย่างไรก็ดีภาษาบรรยายที่ใช้บางตอนยังไม่ลงตัวนัก  เพราะบางประโยคก็เยิ่นเย้อเกินความจำเป็น  เช่น อาณาจักรเริ่มถูกก่อร่างสร้างขึ้นตามการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของมนุษย์ผู้มีความคิดอันซับซ้อนตามรอยหยักของสมอง และได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา  ซึ่งความที่ต้องการเสนอในที่นี้น่าจะตัดคำว่า ตามรอยหยักของสมอง ออก  ทั้งนี้เพราะ [M]ysticz  ใช้ประโยคประโยคยาวเกินไป  ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้รูปของประโยคความซ้อน ที่มีประโยคขยายจำนวนมาก  จนบางครั้งบอกไม่ได้ว่าประโยคขยายที่เขียนนั้นต้องการจะขยายคำใดหรือความใดในประโยคก่อนหน้านั้น   เช่น  ....กำลังแก้ปัญหาที่ถาโถมเข้ามาจนแทบจะระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ   ในตอนนี้ไม่เข้าใจว่า [M]ysticz   ต้องการจะใช้คำว่า  ระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ เพื่อขยายคำใดในประโยคข้างต้น  หากจะให้แนะนำวิธีแก้ง่ายที่สุดคือ  ควรแต่งเป็นประโยคความเดียวที่กระชับและได้ใจความก็จะช่วยสื่อความได้ชัดเจนมากขึ้น 

     ในขณะเดียวกันก็มีหลายตอนที่เลือกใช้คำไม่เหมาะกับบริบทที่บรรยาย เช่น เหงื่อที่ก่อขึ้นมาเต็มหน้า  ควรเปลี่ยนเป็น  เหงื่อที่ผุดขึ้นมาเต็มหน้า   พรายตาลงมา (พราย แปลว่า  ผีชนิดหนึ่ง หรือ ต่อมน้ำเล็กๆ ที่กระจายพุดขึ้นมาในน้ำ)  ควรเปลี่ยนเป็น  ปรายตาลงมา  ลุคทำเสียงอื้ออึงตามมา (อื้ออึง  แปลว่า สนั่น  ดังลั่น  เอิกเกริก )  ควรเปลี่ยนเป็น ลุคทำเสียงอื้ออ้าตามมา  (เป็นฉากที่ลุคเพิ่งได้สติ)  นิ่วคิ้วติดกัน  (นิ่ว  แปลว่า ทำหน้าย่นขมวดคิ้วแสดงอาการโกรธหรือเจ็บปวด)  หากจะใช้ นิ่ว ต้องใช้ว่า  นิ่วหน้า  หรือถ้าต้องการเน้นที่คิ้วก็ควรเปลี่ยนเป็น  ขมวดคิ้วติดกัน หรือ ย่นคิ้วติดกัน   เสียงคุยซอกแซก (ซอกแซก แปลว่า  เสาะค้น  ดั้นด้นไปเรื่อยๆ )  ควรเปลี่ยนเป็น เสียงคุยจ้อกแจ้ก (จ้อกแจ้ก แปลว่า เสียงของคนมากๆ ที่ต่างคนต่างพูดกันจนฟังไม่ได้ศัพท์)  ลุคถามด้วยเสียงสั่นคลอน  ควรเปลี่ยนเป็น  ลุคถามด้วยเสียงสั่นเครือ (สั่นเครือ แปลว่า เสียงที่สั่นพร่า)  อยากสั่งสอนซะให้กำราบนัก (กำราบเป็นคำนาม  แปลว่า ทำให้เข็ดหลาบ ทำให้กลัว  ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ขยายกริยา สั่งสอน ในประโยคนี้ได้  ถ้าต้องการใช้คำนี้ต้องใช้ว่า  อยากกำราบนัก)  ควรใช้คำว่า อยากสั่งสอนซะให้หลาบจำนัก หรือ  อยากสั่งสอนให้เข็ดหลาบนัก  และในบางครั้งก็ใช้ลักษณะนามผิด  เช่น  ยอดสูงหลายต้น  บ่งบอกว่าเป็นปราสาทตั้งอยู่  โดยทั่วไป  ยอดปราสาทจะใช้ลักษณะนามว่า ยอด ไม่ใช่ ต้น  นอกจากนี้ยังมีคำหนึ่งที่  [M]ysticz   นิยมใช้และมักใช้ผิดเสมอ คือ คำว่า คราบ เพราะนิยมใช้บรรยายลักษณะเสื้อผ้าของตัวละครเสมอ เช่น นั่งเรียงรายอยู่ในคราบของชุดฟอร์มนักเรียน  โดยปกติคำว่า คราบ ที่ใช้ประกอบเสื้อผ้ามักจะมีนัยของการปลอมตัว  เช่น อยู่ในคราบโจร   หรือบรรยายเปลือกนอกที่เห็น  ซึ่งมักจะต่างจากเนื้อแท้ที่เป็น  เช่น คนบาปในคราบของนักบุญ   จึงไม่นิยมใช้ในการบรรยายการแต่งกายปกติทั่วไป   ในกรณีนี้เห็นว่า  [M]ysticz  สามารถแก้ไขข้อบกพร่องในประเด็นนี้ด้วยการอ่านงานเขียนของนักเขียนรุ่นครูให้มากขึ้น  ก็จะช่วยให้ [M]ysticz  เห็นวิธีการใช้คำและสำนวนที่ถูกต้องจากภาษาของนักเขียนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

                นอกจากนี้  [M]ysticz   ยังมีข้อบกพร่องที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งคือ การสะกดคำ  เนื่องจากพบว่ามีคำสะกดผิดค่อนข้างมาก  ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ  ประการแรกคือ รีบเขียน  จึงกดแป้นพิมพ์พลาด เช่น  เหล่านั้น เขียนเป็น เล่านั้น  พัด เขียนเป็น พัก    มาด  เขียนเป็น  มาก  ไอ้บ้า เขียนเป็น ไอบ้า  อัครเสนาบดี  เขียนเป็น  อัครเสนบาดี  ประการต่อมา คือ  เลือกใช้คำผิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพ้องเสียง  เช่น  ดูดซับ  เขียนเป็น  ดูดสับ  ร่วง (แปลว่า  หล่น) เขียนเป็น ล่วง (แปลว่า  ผ่านจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง)  เช่น ร่วงไหลลง   ประธาน (แปลว่า  ผู้กระทำ) เขียนเป็น  ประทาน  (แปลว่า ให้) ทลาย (แปลว่าอาการที่สิ่งซึ่งเป็นกลุ่มก้อนแตกหักหรือพังกระจัดกระจาย) เขียนเป็น ทะลาย (ช่อผลของหมากมะพร้าวที่ออกเป็นกลุ่มรวมกัน) และ ลอย (แปลว่า  ปล่อยให้ไปตามน้ำหรืออากาศ) เขียนเป็น รอย  (แปลว่า  ลักษณะที่เป็นเส้นหรือเป็นริ้ว) เช่น ลอยปลิวออกมา  ประการสุดท้าย คือ  ไม่ทราบว่าคำที่ถูกต้องเขียนอย่างไร  เช่น  เวท เขียนเป็น  เวทย์  ชำแหละ เขียนเป็น  ชะแหละ  โธ่เอ๊ย  เขียนเป็น  โถ่เอ่ย   ตวาด  เขียนเป็น
    ตะหวาด  สุญญากาศ  เขียนเป็น  สูญญากาศ  เหรอ / หรือ  เขียนเป็น หรอ  เถลไถล  เขียนเป็น  เถรไถร  ตอกย้ำ  เขียนเป็น  ตรอกย้ำ  พิรุธ  เขียนเป็น  พิรุจ    ไซคลอปส์  (ถ่ายเสียงมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า
    Cyclops) เขียนเป็น ไซครอป และ  สมาธิ  เขียนเป็น  สมาธิท 

    อีกประเด็นหนึ่งที่ติดใจมากขณะที่อ่าน คือวุฒิภาวะของลุค  จะเห็นว่าก่อนที่ลุคจะต้องกลายเป็นเด็ก  เขาเป็นถึงหัวหน้าศาสตราแห่งศิลาธาตุ  ของสภาการปกครอง  ซึ่ง  [M]ysticz  เองก็บรรยายว่าผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเข้าไปทำงานในที่แห่งนี้ก็ยากลำบากมาก เพราะต้องคัดมาจากคนจำนวนมาก   ดังนั้น  ผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าศาสตราเวทหน่วยต่างๆ ก็ยิ่งต้องเป็นผู้ที่เก่งและมีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง  เพราะหน้าที่นี้มีอำนาจสั่งการ และป้องกันให้เกิดความเสียหายขึ้นด้วย  แต่เมื่อลุคต้องกลายมาเป็นเด็ก  เขาไม่ได้แสดงทั้งศักยภาพและวุฒิภาวะที่แสดงให้เห็นว่าเขามีคุณสบัติเหมาะสมกับตำแหน่งที่ได้รับ  เนื่องจากเขามักโวยวาย  ตีตนไปก่อนไข้  โดยปกติเขามักอะเอะอะโวยวายต่อว่าเมลานี่  ผู้ซึ่งปลอมตัวมาเป็นครูเพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ด้วย  แท้ที่จริงแล้ว  เมลานี่เป็นลูกสาวประธานสภาที่ปรึกษาและเป็นเพื่อนร่วมงานที่รู้จักลุคเป็นอย่างดี  ลุคไม่ค่อยแสดงให้เห็นว่า  เขาได้คิดทบทวนถึงเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญอย่างมีสติ  ทั้งยังแสดงอาการขลาดกลัวให้เห็นอยู่ตลอด  เช่น  ขณะที่จะเทียร์ เจส และ กรูเน่  กำลังถูกคริสเตียนใช้พลังมนตราแห่งกาลเวลา  ลุคก็ไม่กล้ามอง  เอาแต่ก้มหน้าร้องไห้  จนอาจกล่าวได้ว่าวุฒิภาวะของลุคต่ำกว่าเด็กที่อายุน้อยกว่าเสียอีก  ไม่ว่าจะเป็น กรูเน่  เจส หรือ เทียร์  เพื่อนร่วมโรงเรียนเวทมนตร์ยูเรพาเลซของเขาเสียอีก  เพราะมีเหตุการณ์หลายตอนที่แสดงให้เห็นข้อเปรียบเทียบเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่ทั้งสี่คนต้องเผชิญหน้ากับเหล่าไซคลอปส์  เมื่อต้องทดสอบเข้าโรงเรียนในด่านแรก  ขณะที่ทุกคนเตรียมจับอาวุธพร้อมต่อสู้  ลุคกลับกระสับกระส่ายจนเดินไม่รู้ทิศทาง และตกใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับไซคลอปส์จำนวนมากนี้  แม้ว่า [M]ysticz   จะให้เหตุผลไว้แล้วว่าพลังเวทของเขาที่เคยมีลดลง  ทำให้เขาไม่อาจใช้พลังได้เท่าเดิมก็ตาม  แต่บางครั้งการแสดงออกของเขาก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงศักดิ์ศรีของหัวหน้าศาสตราศิลาธาตุและแสดงถึงวุฒิภาวะที่สูงกว่านี้  เช่น หากเปลี่ยนจากการร้องไห้เพราะคิดว่าตนเองไม่สามารถสู้ได้  เป็นจำต้องร้องไห้เพราะเจ็บใจที่ไม่อาจใช้พลังได้ดังใจคิด  ก็น่าจะสมเหตุผลและแสดงถึงความแข็งแกร่งของลุคได้มากกว่านี้   เพื่อให้เข้าใจในประเด็นนี้อย่างชัดเจน  อยากให้  [M]ysticz   ลองอ่านงานที่ตัวเอกซึ่งเป็นผู้ใหญ่ต้องกลายเป็นเด็กก็น่าจะช่วยได้  เช่น  Dragonball GT ซึ่งเป็นภาคที่พระเอกกลายเป็นเด็ก หรือ  ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน

    ในเบื้องต้นอยากให้  [M]ysticz    แก้คำผิดที่ปรากฏก่อน   ขณะเดียวกันก็ลองย้อนกลับไปอ่านทวนเรื่องที่นำเสนอมาทั้งหมดอีกครั้ง  ก็จะช่วยให้พบข้อบกพร่องบางประการที่อาจจะอ่านข้ามไปได้ชัดเจนขึ้น  ขณะเดียวกันก็อยากให้อ่านงานของนักเขียนรุ่นครูที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับแล้วให้มากขึ้น  ก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการเลือกใช้คำและสำนวนที่ถูกต้องและเหมาะสมได้   เนื่องจากในขณะนี้ข้อด้อยดังกล่าวนับว่าลดทอนความถูกต้องสมบูรณ์ของเรื่องลงอย่างน่าเสียดาย

     

    ------------------------

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×